เงื่อนไขประกันตัว คืออะไร? มีเงื่อนไขแล้วยังไงต่อ?

ในปี 2564 จำเลยคดีมาตรา 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองถูกจับกุม ถูกส่งฟ้อง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวอย่างน้อย 21 คน ก่อนทยอยให้ประกันตัวภายหลัง โดยศาลให้ประกันตัวพร้อมกำหนด “เงื่อนไข” หลายประการ ซึ่งเงื่อนไขบางประการมีลักษณะเป็นเหมือนข้อกำหนดที่ควบคุมพฤติกรรมทางการเมือง เช่น การห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การห้ามร่วมการชุมนุมทางที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย 
ในคดีทั่วไป การพิจารณาให้ประกันตัวของศาล จะเน้นไปที่การพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยว่า จะหลบหนีหรือไม่ จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานทำให้กระบวนการสอบสวนและการพิจารณาคดีเสียหายหรือไม่ และพิจารณาความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัว จนกระทั่งช่วงต้นปี 2564 จึงมีปรากฏการณ์ที่ศาลใช้อำนาจการกำหนด “เงื่อนไข” โดยละเอียดเข้ามาเป็นปัจจัยหลักสำหรับการออกคำสั่งที่อนุญาตให้ประกันตัว นอกจากจะกำหนดเงื่อนไขให้แล้วยังต้องทำการไต่สวนผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนว่า ยินดีจะรับเงื่อนไขด้วยตัวเองหรือไม่ 
อำนาจกำหนดเงื่อนไขของศาลนี้ เป็นอำนาจเดิมที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย เพียงแต่ในการสั่งให้ประกันตัวคดีทั่วๆ ไป ศาลมักไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดเป็นพิเศษ หรือไม่ได้ใช้อำนาจนี้บ่อยนัก
ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขประกันตัว โดยต้องไม่เกินความจำเป็น
อำนาจของศาลที่จะกำหนดเงื่อนไข ประกอบการให้ประกันตัว อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคสาม
มาตรา ๑๐๘ ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้
ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น
และมีกำหนดขอบเขตของเงื่อนไขเอาไว้กว้างๆ ว่า การกำหนดเงื่อนไขจะ “เกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้” ในมาตรา 112 วรรคสาม
มาตรา 112  เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น
ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอย่างอื่นอันพึงมี ต้องมีข้อความดังนี้ด้วย
(1) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน แล้วแต่กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว
(2) เมื่อผิดสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้
ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว หรือผู้ประกันต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้
และยังมีมาตรา 115 ที่ให้อำนาจศาลที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกันตัวในอนาคตได้อีกด้วย
มาตรา 115 โดยความปรากฏต่อมา หรือเนื่องจากกลฉ้อฉลหรือผิดหลง ปรากฏว่าสัญญาประกันต่ำไปหรือหลักประกันไม่เพียงพอ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสม ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงขึ้น หรือเรียกหลักประกันเพิ่ม หรือให้ดีกว่าเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ภายหลังที่มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวแล้ว หากพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจสั่งลดหลักประกันได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่ศาลปล่อยชั่วคราวและคดีขึ้นไปสู่ศาลสูง ศาลสูงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินตามสัญญาประกันหรือเงื่อนไขที่ศาลล่างกำหนดไว้ได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไข อาจถูกเพิกถอนการประกันตัว กลับเข้าเรือนจำ
หากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ประกันตัว ฝ่าฝืนหรือไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งให้ประกันตัว กระบวนการต่อไปจะเป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ฉบับที่แก้ไขเมื่อปี 2562 ข้อ 8 ดังนี้ 
“ข้อ 8 ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติ เช่น ให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานหรือบุคคลตามที่ศาลเห็นสมควร วางข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่อยู่อาศัยหรือการเดินทางออกไปนอกสถานที่อยู่อาศัย วางข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือการงานบางอย่าง หรือวางข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าไปในสถานที่บางแห่งที่อาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอีก เป็นต้น หรือในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็ได้ และหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้
ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับนี้ ให้คำตอบไว้ชัดเจนแล้วว่า หากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะถูกเพิกถอนคำสั่งประกันตัวได้ โดยผู้ที่จะพิจารณาว่า มีการกระทำที่ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ และจะเพิกถอนการประกันตัวหรือไม่ ก็คือศาลเจ้าของคดีที่เป็นผู้สั่งให้ประกันตัวนั่นเอง
ในทางปฏิบัติหากศาลเห็นเองว่า มีพฤติกรรมฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว ศาลอาจออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลเพื่อสั่งเพิกถอนการประกันตัวก็ได้ หรือถ้าคู่กรณี หรือบุคคลอื่นทราบว่า มีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกันตัวก็ได้ โดยสุดท้ายศาลจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจเอง ในกรณีที่ศาลจะพิจารณาเพื่อสั่งเพิกถอนการประกันตัวก็อาจเรียกพยาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้รู้เห็นเหตุการณ์ มาไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามสมควรก่อนออกคำสั่งก็ได้ ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกเรียกให้มาศาลแล้วไม่มา ก็อาจถูกศาลออกหมายจับได้
การเพิกถอนสัญญาประกันตัวเพราะเหตุผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไข เคยเกิดขึ้นในคดีการเมืองมาแล้ว คือ คดีมาตรา 112 ของจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากการแชร์บทความพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 จตุภัทร์ ถูกจับกุมวันที่ 3 ธันวาคม 2559 และศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาทในวันรุ่งขึ้น ต่อมา 19 ธันวาคม 2559 ตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ให้เพิกถอนสัญญาประกันตัว โดยให้เหตุผลในคำร้องว่า หลังจากได้รับการประกันตัว จตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กเยาะเย้ยพนักงานสอบสวน โดยพิมพ์ข้อความว่า “เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” อ่านรายละเอียดคดีนี้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/756
วันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นเรียกตัวจตุภัทร์มาไต่สวน โดยสั่งให้ไต่สวนเป็นการลับ และมีคำสั่งว่า หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่าผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ย อำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ อายุ 25 ปี ย่อมรู้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ตามคำสั่งว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหาย ภายหลังได้รับประกันตัว ประกอบกับนายประกันของผู้ต้องหา ไม่ได้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา
หลังจากถูกเพิกถอนสัญญาประกันตัว จตุภัทร์จึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดีได้ยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้งแต่ศาลไม่เคยอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลย จนกระทั่งตัดสินให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจตุภัทร์ได้ปล่อยตัวเมื่อรับโทษครบกำหนด 
เงื่อนไขต้องชัดเจน เข้าใจได้ ปฏิบัติตามได้ 
ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้อ 8 ยกตัวอย่างของ “เงื่อนไข” ในการให้ประกันตัวไว้หลายประการ ช่วยให้เห็นภาพของอำนาจการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวชัดเจนขึ้น และเห็นถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวด้วย ตัวอย่างของการกำหนดเงื่อนไขในข้อ 8 เช่น การให้รายงานตัว การจำกัดสถานที่อยู่ การห้ามประกอบการงานบางอย่าง เหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่เห็นได้ว่า มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้จำเลยก่อเหตุหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจก่อเหตุผิดกฎหมายได้ และมีความชัดเจนในระดับหนึ่งที่จำเลยจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้ และรู้ได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำใดถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขบ้าง
อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎร” หลายคนในปี 2564 เป็นเงื่อนไขใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อนกับคดีทั่วไป จึงยังมีคำถามถึงขอบเขตการตีความอยู่ว่า การกระทำแค่ไหนเพียงใดจะถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวที่ศาลกำหนด
ตัวอย่างเช่น กรณีของพริษฐ์ หรือเพนกวิ้น ในระหว่างการไต่สวนเรื่องการประกันตัว ทนายความถามว่า หากศาลจะมีเงื่อนไขการประกันตัว อันได้แก่ การไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพนกวิ้นตอบทันทีว่า กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะยอมรับหรือไม่ เพนกวิ้นยังไม่ตอบศาลแต่ปรึกษากับทนายความ ระหว่างนั้นศาลพูดขึ้นทำนองว่า การที่ประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องก็ถือเป็นการใช้สิทธิตามปกติ แต่จำเลยก็น่าจะทราบว่าการรวมตัวลักษณะใดที่เป็นการก่อความวุ่นวาย หลังปรึกษาทนายความเพนกวิ้นแถลงต่อศาลว่าตัวเขายืนยันว่า จะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ และจะไม่เข้าร่วมกับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พร้อมทั้งยืนยันว่า ที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมที่สันติปราศจากอาวุธมาโดยตลอด
จะเห็นได้ว่า กรณีเช่นนี้จำเลยยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำมาตลอดไม่ขัดต่อเงื่อนไขที่ศาลกำหนด แต่ก็เกิดความไม่แน่ใจขึ้นว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า “ไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือ “ไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” นั้นจะตีความอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะตามมาอีกในอนาคต โดยศาลที่สั่งให้ประกันตัว เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตีความ 
และหลังจากได้รับการปล่อยตัว เพนกวิ้นก็ได้โพสเฟซบุ๊ก เขียนนำว่า “สาสน์แรกแห่งอิสรภาพ” ยืนยันเดินหน้าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่ได้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมการชุมนุมใดๆ คนกลุ่มหนึ่งในนาม ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ก็ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออัยการ ให้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัวเนื่องจากมองว่า การโพสเฟซบุ๊กเช่นนั้นพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ 
นับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลได้สั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมืองไปจำนวนมาก พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวให้แต่ละคนซึ่งเงื่อนไขของหลายคนมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง โดยไม่ชัดเจนว่า ศาลมีหลักเกณฑ์ที่จะตัดสินใจกำหนดเงื่อนไขใดให้กับบุคคลใดบ้าง ด้วยเหตุผลใด ตัวอย่างเช่น
กรณีของปติวัฒน์ หรือ หมอลำแบงค์ ซึ่งเป็นจำเลยมาตรา 112 ที่ได้ประกันตัวเป็นคนแรกของคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 จำเลยแถลงต่อศาล และศาลให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามมิให้จำเลยที่ 3 กระทำการในสักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด” 
ต่อมาสมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ ได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ภายใต้เงื่อนไขว่า “ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้จำเลยมาศาลตามนัด หากผิดสัญญาปรับคนละ 200,000 บาท” 
ขณะที่ปิยรัฐ หรือโตโต้ ที่ได้ประกันตัวจากคำสั่งของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้ประกันตัวภายใต้เงื่อนไขว่า “ห้ามผู้ต้องหามีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล” ร่วมกับการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์(EM) 
สำหรับกรณีฟ้า พรหมศร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 โดยระบุในคำสั่งว่า “…อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนได้ ตีราคาประกัน 200,000 บาท กับให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยถือให้คำรับรองของผู้ต้องหาเป็นเงื่อนไขต้องปฏิบัติในการปล่อยตัวชั่วคราว…” ซึ่งก่อนหน้านี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยท้ายคำร้องระบุว่า ผู้ต้องหายังยินยอมให้ศาลกําหนดเงื่อนไขว่า “จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามนัด”  
หรือกรณีล่าสุด อานนท์ นำภา และไมค์ ภาณุพงศ์ จำเลยคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งได้ประกันตัวเป็นชุดสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ได้ประกันตัวภายใต้เงื่อนไขว่า “…อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาไม่ไปกระทำกิจกรรมที่กระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้มาตามศาลนัด”

 

ผู้ต้องหา/จำเลย วันที่ให้ประกันตัว
ห้ามกระทำลักษณะ
เดียวกับที่ถูกกล่าวหา
ตามฟ้องเกี่ยวกับ
สถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก 
 
 
ห้ามเข้าร่วมกิจกรรม
การชุมนุมที่ก่อให้
เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ห้ามเข้าร่วมกิจกรรม
ที่อาจทำให้เสื่อมเสีย
แก่สถาบันพระมหากษัตริย์
ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์
ติดตามตัว (EM)
ปติวัฒน์ หรือ หมอลำแบงค์ 9 เม.ย.  64 / /
จตุภัทร์ หรือ ไผ่
 
23 เม.ย. 64 /
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 23 เม.ย. 64 /
พรพิมล 23 เม.ย. 64
ปิยรัฐ หรือ โตโต้ 5 พ.ค. 64 / / /
ปนัสยา หรือ รุ้ง 6 พ.ค. 64 / /
วรรณวลี หรือ ตี้ 7 พ.ค. 64 / /
พรหมศร หรือ ฟ้า 10 พ.ค. 64 / /
ไชยอมร หรือ แอมมี่ 11 พ.ค. 64 / /
พริษฐ์ หรือ เพนกวิ้น 11 พ.ค. 64 / /
ทนายอานนท์ 1 มิ.ย. 64 / /
ภาณุพงศ์ หรือ ไมค์ 1 มิ.ย. 64 / /