112 ความเชื่อ ชีวิต ความคิด เรื่องราว

banner copy

ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน กับความฝันที่ยังไม่มีคำแปลภาษาไทย

คำในภาษาเยอรมันที่ยาวที่สุด คือ Rindfleischetikettierungsüberwachungsaufgabenübertragungsgesetz ซึ่งหมายถึง ‘กฎหมายการตรวจสอบฉลากเนื้อ’ คำๆนี้แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์อันน่ารักน่าชังของภาษาเยอรมันที่สามารถนำคำมาต่อกันให้ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความหมายใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 
 
สำหรับเดียร์-รวิสรา เอกสกุล และฟ้า-สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ ข้อความภาษาเยอรมันในแถลงการณ์ที่ทั้งสองร่วมกันอ่านต่อหน้าผู้ชุมนุมหลายพันคนหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เป็นถ้อยคำที่ไม่ยืดยาวเท่าคำข้างต้น แต่มีความหมายหนักแน่นมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งคู่ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ฟรานซิส บุญเกื้อหนุน เด็กเรียนจากเมืองปากน้ำโพกับบททดสอบที่ 110

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร 63 จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมีกำหนดเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่านมาบนถนนที่เต็มไปด้วยผู้ชุมนุมโดยไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้า ผ่านทางแยกนางเลิ้งและทำเนียบรัฐบาลไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมีผู้ชุมนุมอยู่บนถนน ระหว่างผู้ชุมนุมกับขบวนรถพระที่นั่งมีแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยืนกั้นกลางถวายความปลอดภัย ผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกน “ประชาธิปไตยจงเจริญ” บางส่วนชูสัญลักษณ์สามนิ้วขณะที่ขบวนเคลือนผ่าน

ต่อมาในช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยอ้างว่ามีคนพยายามขัดขวางขบวนเสด็จและเข้าสลายการผู้ชุมนุมที่ปักหลักค้างคืนบริเวณทำเนียบรัฐบาล  

หลังจากนั้นมีประชาชนอย่างน้อยสามคนที่น่าจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมถ่ายภาพได้ว่าอยู่ในบริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งวิ่งผ่านถูกออกหมายจับ บุญเกื้อหนุน หรือฟรานซิส นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และอดีตนักกิจกรรมกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายาจากมหาวิทยาลัยมหิดลคือหนึ่งในนั้น 

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ชนินทร์ วงษ์ศรี: ท้ายที่สุดเราอาจไม่ชนะ แต่อย่างน้อยก็ได้สู้

ชนินทร์ วงษ์ศรี หรือ “บอล” นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 20 ปี คือ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ร่วมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่า พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้อำนาจระหว่างทรงประทับที่ประเทศเยอรมันหรือไม่ สำหรับชนินทร์การอ่านแถลงการณ์ครั้งนั้นเป็นเพียงการแสดงออกอย่างสันติซึ่งทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ทว่าสำหรับผู้มีอำนาจ การแสดงออกในประเด็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่โตกว่านั้น

ชนินทร์กับเพื่อนๆ อีก 13 คนที่ร่วมอ่านแถลงการณ์หรือกล่าวคำปราศรัยในวันนั้นต่างถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาร้ายแรงแห่งยุคสมัย ที่ทำให้นักกิจกรรมส่วนหนึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพ แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาว่าพวกเขามีความผิด

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ชุดไทย น้ำปลาร้า มาตรา 112 และชีวิตพลิกผันของ นิว จตุพร

29 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเนรมิตถนนสีลมให้กลายเป็นถนนสายแฟชั่น ด้วยกิจกรรม “รันเวย์ของประชาชน” เดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง ในวันนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมสวมเสื้อผ้าแฟนซีสอดคล้องการเมืองมาประชันกัน 

นิว หรือจตุพร การ์ดอาสา We Volunteer – Wevo ที่เราคงคุ้นตาในภาพผู้ร่วมกิจกรรมร่างเล็ก ไว้ผมตัดสั้นในชุดไทยสีชมพู พร้อมด้วยร่มสีแดงและเสียงตะโกนทรงพระเจริญ เธอคือหนึ่งในคนที่ไปร่วมกิจกรรมในวันนั้น ส่วนสาเหตุที่เลือกใส่ชุดไทยสีชมพูไปวาดลวดลายบนพรมแดง เพราะคิดว่าชุดไทยคือเสื้อผ้าที่ใครๆก็สวมใส่ได้ 

หลังเข้าร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง นิวยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปร่วมชุมนุมและทำหน้าที่การ์ดอาสาจนกระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 พี่ที่รู้จักบอกเธอว่า ‘มีคนแต่งตัวเลียนแบบบุคคลสำคัญในงานเดินแฟชั่น แล้วโดนคดีมาตรา 112’ นิวคิดว่าเธอไม่ได้แต่งตัวเลียนแบบใคร คงไม่น่าจะมีอะไร แต่เมื่อดูชื่อในข่าวเธอกลับพบว่าเป็นชื่อของเธอ แม้จะเผชิญข้อหาที่หนักหน่วงทั้งที่ชีวิตเพิ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ถึง 25 ขวบปี แต่นิวก็ยังมีพลังใจที่เข้มแข็งยังคงมาร่วมการชุมนุมต่างๆในฐานะการ์ดอาสา และหากจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี นิวคิดว่าเธอได้เตรียมตัวไว้พร้อมรับสถานการณ์ระดับหนึ่งแล้ว 

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ลูกเกด ชลธิชา : จดหมายถึงกษัตริย์และการตอบกลับด้วยมาตรา 112

หากพูดถึงนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหาร 2557 ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด น่าจะเป็นหนึ่งรายชื่ออันดับต้นๆที่ฝ่ายความมั่นคงจับตามองด้วยความระแวดระวัง ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 หรือประมาณ 2 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จัดกิจกรรม “ปิคนิค อ่านกวี ดูหนังรัฐประหาร” ที่ลานหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนั้นลูกเกดก็ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยเมื่อถูกบังคับให้ยุติกิจกรรมลูกเกดจึงพยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าไม่ให้จัดอย่างน้อยๆก็ขอให้เธอกับเพื่อนๆได้แจกจ่ายขนมที่เตรียมมาให้กับคนที่มาร่วมกิจกรรมเสียก่อนจนเกิดกรณีที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามายื้อแย่งแซนด์วิชไปจากเธอ 

ลูกเกดเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นระยะตลอดเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจ เช่น เคลื่อนยไหวในโอกาสครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร เคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญของคสช.และเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 แม้จะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องแต่ลูกเกดก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จนกระทั่งมาถึงปี 2563 เธอเป็นหนึ่งในคนที่เขียนจดหมายน้อยถึงพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในที่สุด

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ซัน วัชรากรไชยแก้ว: หลังบ้านแนวร่วมธรรมศาสตร์กับความหวังที่ไม่เคยเหือดแห้ง

“ซัน” วัชรากร ไชยแก้ว คือหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่สาธารณะอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จักหน้าตาของเขา ทว่าเขาคือหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนแนวร่วมฯ กับเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานประสานงานต่างๆ ซันเปิดเผยว่าเขาชอบทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่าจะออกไปยืนอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ แต่เมื่อเพื่อนของเขาทั้งเพนกวิ้นและรุ้งถูกจองจำ เขาก็ตัดสินใจออกมาอยู่บนเวทีในการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ในฐานะผู้อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในเขตอธิปไตยของตน

ครั้งนั้นซันแค่คิดว่าเพื่อนเขาหลายคนถูกคุมขัง เขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเพื่อนและการไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมันก็น่าจะเป็นการนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยไปบอกให้โลกได้รับรู้ ทว่าการอ่านแถลงการณ์เพียงไม่กี่นาทีในวันนั้นก็ทำให้ซันต้องถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่นั่นก็ไม่อาจพราก “ความหวัง” ที่จะเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้นไปจากมโนสำนึกของเขาได้ และคำๆ นี้ก็ถูกพูดซ้ำๆ ตลอดบทสนทนากับเขา 

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ป้ายผ้าลำปาง กับความฝันที่อยากเห็นประเทศดีขึ้น

ปลายปี 2563 ปรากฏประโยคนี้บนป้ายผ้าดิบ ตัวอักษรที่เขียนด้วยสีดำและแดงบนผ้าที่แขวนบนสะพานรัษฏาภิเษก จังหวัดลำปาง แต่ไม่นานหลังจากนั้น หมายเรียกตามกฏหมายอาญา มาตรา112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ก็ถูกส่งถึงกลุ่มนักกิจกรรมในจังหวัดลำปางทั้งห้าคน

ช่วงเช้าของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 อากาศที่ลำปางค่อนข้างเย็น ‘จอร์จ’ หรือพินิจ ทองคำ แกนนำกลุ่มพิราบขาว และ ‘โม’ หรือภัทรกันย์ แข็งขัน สองผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มารับผู้เดินทางจากไอลอว์ เพื่อพาพักผ่อนยามเช้า ก่อนจะต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านโดยการพาไปรู้จักกับเมืองลำปาง คดีมาตรา 112 และเรื่องราวของพวกเขากันมากขึ้น

 นักกิจกรรมลำปางที่โดนคดีมาตรากฏหมายอาญา 112 นั้นมีทั้งหมดห้าคน แต่หนึ่งในนั้นไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตน เราจึงรวบรวมเรื่องราวการพูดคุยกับทั้งสี่คนเอาไว้ ก่อนวันที่ 21 เมษายน 2564 ทั้งห้าคนจะเดินทางเข้าพบอัยการที่จังหวัดลำปาง ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า คดีที่มีข้อหาเช่นนนี้จะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการบ้าง

อ่านต่อ >>> ที่นี่

จาก 112 – 110 ชีวิตติดเลขท้ายของเอกชัย หงส์กังวาน

หากจะพูดถึงอดีตนักโทษ 112 ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงทศวรรษที่ 2550 แล้วยังคงโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองยุคปัจจุบันเชื่อว่าชื่อของเอกชัย หงส์กังวานน่าจะเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายๆคนได้ยินหรือเคยเห็นผ่านข่าว หลังพ้นโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 เอกชัยก็กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง บุคลิกโผงผางและความดื้อดึงของเขากลายเป็นภาพจำที่สังคมมีต่อชายคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาเอาเพลง “ประเทศกูมี” ไปเปิดให้ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นอย่าง อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ฟังที่หน้ากองทัพบกช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 หรือตอนที่เขาพยายามจะนำนาฬิกาไปมอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วงที่กระแสข่าว”นาฬิกายืมเพื่อน” กำลังเป็นที่สนใจของสังคม

ด้วยการเคลื่อนไหวเกาะกระแสแบบกัดไม่ปล่อยนี้ก็อาจทำให้หลายคนมองว่า เอกชัยเป็นคนบ้าการเมือง แต่ก็คงจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่าความ”บ้าการเมือง”ของเอกชัยเกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากการรัฐประหารอย่างการยกเลิก “หวยบนดิน” ถึงวันนี้เอกชัยในวัย 46 ปียังคงต้องวนเวียนขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยข้อหาใหม่อย่าง ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีจากกรณี “ขบวนเสด็จ” ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมคณะราษฎร 14 ตุลาคม 2563

แม้จะเผชิญกับข้อหาหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เขาเคยเจอ  แต่เอกชัยก็ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติโดยไม่คิดหลบหนีพร้อมทั้งยังเริ่มทำงานอดิเรกใหม่ที่หลายคนคงจะคาดไม่ถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการนัดเอกชัยพร้อมผู้ต้องหาคนอื่นๆอีกห้าคนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ “กังวลไปมันก็ไม่ได้ประโยชน์ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด”

อ่านต่อ >>> ที่นี่

ชีวิตสายบู๊บนถนนที่อยากทำเพื่อ “ช่วยคน” ของ “ตี้ พะเยา”

“ตี้ พะเยา” เป็นฉายาของนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาคนหนึ่งที่ปรากฎตัวขึ้นมาบนเวทีการเมืองเมื่อปี 2563 ท่ามกลางกระแสการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ และตัวละครหนุ่มๆ สาวๆ มากหน้าหลายตา ชื่อจริงของเธอ คือ วรรณวลี ธรรมสัตยา เธอได้รับโอกาสสัมผัสประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีมาตรา 112 เพราะศาลไม่ให้ประกันตัว และต้องอยู่ในเรือนจำ 11 วัน ระหว่างวันที่ 27 เมษยน 2564 ก่อนได้ประกันตัวในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564

นับถึงวันที่เข้าเรือนจำเป็นครั้งแรก เธออายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ สาขาอาชีวอนามัย ซึ่งเธอสมัครเข้าโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยที่จะได้เรียน “คู่ขนาน” สองวิชาไปพร้อมกัน และเธอเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ไปด้วย หากเรียนจบได้ตามตารางที่วางไว้ก็จะได้ปริญญาตรีสองใบพร้อมกัน นอกจากนี้เท่าที่มีเวลาว่างเธอยังไปสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้อีกด้วย

 ตี้เป็นคนรูปร่างผอมบาง แต่งตัวทะมัดทะแมง พูดจาเสียงดังโผงผางตรงไปตรงมา เธอนิยามตัวเองว่า เป็นคนชอบ “สายบู๊” มีบุคลิกเป็น “พี่ใหญ่” ที่คอยดูแลคนอื่น โดยทำงานร่วมกันกับน้องๆ ในทีมที่ตั้งขึ้นในนามกลุ่ม “ราษฎรเอ้ย” ซึ่งตั้งขึ้นโดยเธอและน้องๆ 3-4 คน มีที่มาจากคำพูดติดปากเวลาปราศรัย เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จัดชุมนุมโดยไม่เน้นคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่จะทำในเวลาที่กระแสไม่ดี หรือในจังหวะที่คนอื่นไม่ได้ทำอะไร

อ่านต่อ >>> ที่นี่

หน้ากากขาว กูKult และชีวิตที่ยากจะถึงฝันของนรินทร์

นรินทร์ ชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังหน้ากากขาวมักแบกเสื้อสกรีนข้อความ กูKult ไปขายในพื้นที่การชุมนุมซึ่งตัวเขาเองก็ใส่เสื้อลายเดียวกันนั้นไปในพื้นที่การชุมนุมด้วย บางคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานานก็รู้ความเป็นมาเป็นไปของเสื้อของเขาและซื้อมาใส่ แต่คนที่ตามการเมืองรุ่นใหม่ๆ หรือคนมีอายุที่นิยมเสพย์ข่าวการเมืองจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่เฟซบุ๊กก็อดถามนรินทร์ไม่ได้ว่าไอ้คำว่า กูKult นี่มันคืออะไร ทว่าในขณะที่ใครหลายคนงงว่า กูKul คืออะไร คนที่รู้จักมันดีคงหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จับตาดูความเคลื่อนไหวของเพจดังกล่าวด้วยความไม่สบายใจ กระทั่งในเดือนกันยายน 2563 หลังการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ไม่กี่วันเจ้าหน้าที่ก็นำกำลังเข้าจับกุมนรินทร์ถึงที่บ้าน หลังปรากฎภาพบุคคลที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเป็นนรินทร์นำสติกเกอร์โลโก กูkult ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่หน้าศาลฏีกาใกล้พื้นที่การชุมนุม 

จนถึงบัดนี้นรินทร์ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไปแล้วสามคดี ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะเชื่อว่าเขาเป็นแอดมินเพจเสียดสีการเมืองชื่อดัง ทว่านรินทร์ติวเตอร์อิสระผู้มีความฝันจะเป็นนักวิชาการด้านคณิตศาสตร์ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นแอดมินของเพจ กูKult เขาเพียงแต่เป็นแฟนคลับของเพจคนหนึ่ง ที่นำโลโกของเพจไปทำเป็นของที่ระลึกมาขายให้คนที่สนใจเพื่อหารายได้ และเขาก็เชื่อว่าปรัชญาของเพจ กูKult คือ “ทุกคนเป็นแอดมิน” เหมือนที่ครั้งหนึ่งผู้ชุมนุมเคยใช้สโลแกน “ทุกคนคือแกนนำ” ก่อนหน้านี้นรินทร์เลือกที่จะเก็บเรื่องคดีของเขาไว้เงียบๆ แต่ด้วยพัฒนาการที่น่ากังวลบางอย่างนรินทร์ตัดสินใจตอบรับคำเชิญของไอลอว์มาเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง

อ่านต่อ >>> ที่นี่