รวมข้อกำหนด-ประกาศที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯระหว่างโควิด 19

51293448863_ee66af2d69_c

วันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ตามมาด้วยข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหลายฉบับ เฉพาะของนายกรัฐมนตรีออกมาแล้ว 25 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประกาศท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ต่างๆ เนื้อหาในข้อกำหนดและประกาศต่างๆเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่วนหนึ่งมีการห้ามรวมตัว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และดุลพินิจของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย

เมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้พ.ร.บ.ชุมนุมฯไมใช้บังคับ ทำให้ข้อกำหนดฯที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นบทกำหนดเรื่องการรวมตัวและชุมนุม ฉบับล่าสุดวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 25 ระบุเกี่ยวกับการรวมตัวในข้อ 4 เรื่อง มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใน (4) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ข้อกำหนดนี้เป็นบทหลักในการประกาศห้ามการรวมตัวหรือชุมนุมของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา จึงรวบรวมข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวไว้ ดังนี้

6 มีนาคม 2563 

ที่เวทีมวยลุมพินี มีการจัดรายการมวย “ลุมพินิแชมเปียนเกริกไกร เกียรติเพชร” ก่อนหน้านี้วันที่ 4 มีนาคม 2563 การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหนังสือขอความร่วมมือนายสนามมวยลุมพินีงดจัดการแข่งขัน แต่การแข่งขันยังคงเกิดขึ้นได้และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่ 1

25 มีนาคม 2563

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

ที่มา :  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/069/T_0010.PDF

3 เมษายน 2563

พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม โดยกำหนด “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”

ที่มา :  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/078/T_0037.PDF

29 เมษายน 2563

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 4 ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกียวข้องประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลายหรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

1 พฤษภาคม 2563

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

23 กรกฎาคม 2563

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ระหว่างนี้จะไม่ใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้การชุมนุมในช่วงเวลานี้เป็นการละเมิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

31 กรกฎาคม 2563 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13  การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกำรจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้ำร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย 

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/174/T_0077.PDF

15 ตุลาคม 2563 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

22 ตุลาคม 2563

ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

25 ธันวาคม 2563

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/302/T_0068.PDF

29 ธันวาคม 2563 

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด…ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/305/T_0059.PDF

3 มกราคม 2564 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 16 ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย 

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/001/T_0001.PDF

7 มกราคม 2564

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 2 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 1 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวดังนี้ 

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/007/T_0028.PDF

29 มกราคม 2564

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 18 ข้อ 1  (2) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดฉบับที่ 16

ข้อ 3 (2) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นที่กำหนดในข้อ 2 ของข้อกำหนดฉบับที่ 16

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/022/T_0043.PDF

3 กุมภาพันธ์ 2563 

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้ 

ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/025/T_0033.PDF

19 กุมภาพันธ์ 2564

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมอยู่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/040/T_0065.PDF

5 มีนาคม 2564 

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุทที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/050/T_0049.PDF

16 เมษายน 2564

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 20 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า “…ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่…” 

29 เมษายน 2564 

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 22 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุเกี่ยวกับรวมตัวในข้อ 3 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสำหรับพื้นที่สูงสุดและเข้มงวดที่มีการรวมตัวของบุคคลมากกว่า 20 คน เหตุยกเว้นเป็นไปตามข้อกำหนดฉบับที่ 20 (กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานีและสมุทรปราการ) 

19 มิถุนายน 2564

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 24 ระบุเกี่ยวกับการรวมตัวในข้อ 4 เรื่อง ห้ามจัดกิจกรรมจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการรวมกลุ่มกันของบุคคลจำแนกตามพื้นที่ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน, พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมห้ามการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คนและพื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/133/T_0001.PDF

26 มิถุนายน 2564

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 25 ระบุเกี่ยวกับการรวมตัวในข้อ 4 เรื่อง มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใน (4) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/140/T_0001.PDF