มาตรา 112 ใช้แตกต่างกันไปตามสถานการณ์การเมือง

แม้ในทางกฎหมาย องค์พระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐและอยู่พ้นไปจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่การเกิดขึ้นของคดีมาตรา 112 กลับดูจะมีความสัมพันธ์อยู่ไม่น้อยกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความเข้มข้นหรือตึงเครียดขึ้น การชุมนุมประท้วง การแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะตามมา และนำมาซึ่งปริมาณคดีความ

ระลอกที่ 1 “ยุคปราบเสื้อแดง” ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึง การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ คปค. นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวิตร โดยในคืนนั้นพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระราชินี ภาพข่าวที่ออกมาประกอบกับการใช้ “สีเหลือง” เป็นสีของการชุมนุม และคำขวัญ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีผลโดยตรงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดการชุมนุมล้อมรัฐสภา และถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ ในเหตุการณ์ดังกล่าวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “โบว์” หนึ่งในผู้ชุมนุมเสียชีวิต ในเวลาต่อมาสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง โดยที่พ่อของผู้เสียชีวิตก็เปิดเผยว่า พระราชินีทรงรับสั่งกับเขาว่า ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
ในเวลาต่อมาผู้ชุมนุมกลุ่มที่เคยออกมาต่อต้านการรัฐประหาร 2549 รวมตัวกันเป็นขบวนใหญ่ ใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. และใช้ “สีแดง” เป็นสัญลักษณ์ แม้ว่าแกนนำกลุ่มนปช. หลีกเลี่ยงการปราศรัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในขบวนของคนเสื้อแดงเองก็มีความหลากหลายและเวทีย่อยที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมใหญ่ของนปช.บางครั้งก็มีการปราศรัยในลักษณะที่ทำให้มีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112
ในปี 2552-2553 ขบวน “คนเสื้อแดง” นัดชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กำลังทหารและกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมทั้งสองครั้งจนมีผู้เสียชีวิต 99 คน ในการใช้กำลังทหารรัฐบาลขณะนั้นอ้างว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมมี “ขบวนการล้มเจ้า” อยู่ร่วมด้วย การกวาดจับคนด้วยคดีมาตรา 112 จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการสลายการชุมนุม
บริบทการเมืองในช่วงเวลานั้น การขยายตัวของพื้นที่อินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก ยูทูป ยังช่วยเพิ่มช่องทางให้ทุกคนมีช่องทางสำหรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ง่ายขึ้น และขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีมากขึ้นด้วย
ไอลอว์บันทึกข้อมูลคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตั้งแต่หลัง 19 กันยายน 2549 จนถึง 22 พฤษภาคม 2557 ได้อย่างน้อย 36 คน มีทั้งคดีที่เกิดจากการปราศรัยในการชุมนุมทางการเมือง และคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่ออนไลน์ ตัวอย่างเช่น
ดารณีหรือ ‘ดา ตอปิโด’ อดีตผู้สื่อข่าวมีเดียพลัส เป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมเวทีการชุมนุมที่สนามหลวงและร่วมขึ้นปราศรัยเป็นระยะ ดารณีขึ้นปราศรัยในการชุมนุมอย่างเผ็ดร้อนและเป็นเหตุให้เธอถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ว่าปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์และสมาชิกพระราชวงศ์
หลังถูกจับกุมในวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ดารณีพยายามยื่นขอประกันตัว แต่ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ดารณีสู้คดีจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 15 ปี จากการปราศรัยสามครั้ง โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “ต้องลงโทษสูงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น” ดารณีถูกคุมขังตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 สิงหาคม 2559 ซึ่งเธอเข้าเกณ์ได้รับการปล่อยตัวหลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปรวมระยะเวลาจำคุก 8 ปี เศษ
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยนำคำพูดของดารณีไปกล่าวซ้ำบนเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 สนธิต่อสู้คดีโดยอ้างเหตุว่า เขาไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ต้องการประจานดารณี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสนธิในเดือนกันยายน 2555 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า สนธิมีความผิด หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกากลับคำพิพากษา ให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า สนธิเพียงแต่สรุปสาระสำคัญจากคำปราศรัยของดารณีและยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี จึงถือว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
สุชาติ นาคบางไทร เป็นชื่อที่ใช้ในแวดวงนักเคลื่อนไหวของวราวุธ ฐานังกรณ์ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ตั้งแต่ยุคที่เวทีคือเก้าอี้หนึ่งตัวและเครื่องเสียงเป็นเพียงโทรโข่ง
คดีของสุชาติมีมูลเหตุมาจากการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 สุชาติถูกกล่าวหาว่าปราศรัยในลักษณะใส่ความให้พระราชินีในรัชกาลที่ 9 เสียหาย เขารับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 3 ปี จากโทษเต็ม 6 ปี สุชาติถูกคุมขังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ก่อนมาได้รับการปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม 2555
อำพล หรือ “อากง” ชายอายุ 61 ปี ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความ SMS ไปที่เบอร์โทรศัพท์ของเลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวม 4 ข้อความ อำพลถูกจับกุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังในชั้นสอบสวนเป็นเวลาสองเดือนจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2553 จึงได้รับการประกันตัวช่วงสั้นๆ ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2554 เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องอำพลก็ไม่เคยได้รับการประกันตัวอีกเลย จนศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 20 ปี เขาเสียชีวิตในเรือนจำ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
คดีของอากงมีประเด็นต่อสู้ในเรื่องพยานหลักฐาน ที่ฝ่ายโจทก์ใช้ “หมายเลขอีมี่” หรือหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์เป็นหลักฐานสำคัญ โดยไม่มีพยานหลักฐานว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความด้วยตัวเองจริงและไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอำพลเป็นผู้มีความเชื่อทางการเมืองร่วมกับแนวทางใด ด้วยอัตราโทษจำคุกที่ศาลวางไว้สูง ความไม่มั่นคงของพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการเสียชีวิตในเรือนจำ คดีนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง
ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นแอดมินของเว็บไซต์ นปช.USA เขาถูกบุกจับที่บ้านในวันที่ 1 เมษายน 2553 ระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดง ธันย์ฐวุฒิถูกกล่าวหาว่า บนเว็บไซต์มีข้อความเข้าข่าวผิดมมาตรา 112 และเป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ที่ยินยอมให้ผู้อื่นเผยแพร่เนื้อหาข้อความอื่นอีก หนึ่งในข้อความที่ธันย์ฐวุฒิถูกกล่าวหาพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจมีการสลายการชุมนุม ธันย์ฐวุฒิต่อสู้คดีโดยไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ศาลพิพากษาให้จำคุกรวม 13 ปี เบื้องต้นธันย์วุฒิประสงค์จะต่อสู้คดีต่อในศาลชั้นอุทธรณ์แต่ก็เปลี่ยนใจถอนอุทธรณ์และเลือกที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ เขาได้ปล่อยตัวในเดือนกรกฎาคม 2556
สุรภักดิ์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง สุรภักดิ์ต่อสู้ว่าเขาไม่ใช่ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว แต่การจับกุมเขาเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งโดยมีคนที่เห็นต่างทางการเมือง ระหว่างการต่อสู้คดีเขาไม่ได้ประกันตัว ต้องอยู่ในเรือนจำนานกว่าหนึ่งปี จนกระทั่ง 31 ตุลาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แม้อัยการโจทก์จะอุทธรณ์ แต่ทั้งศาลอุทธรณ์​และศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้อง

ระลอกที่ 2 “ยุค คสช.” ตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง ต้นปี 2561

หลังยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. บริหารประเทศโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึกและ “มาตรา 44” การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นภารกิจที่ คสช.ให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ ดังที่ระบุในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 ตอนหนึ่งว่า
” …คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้องเทิดทูนดำรงรักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง…”
ในช่วงเวลา 2 ปีแรกของ คสช. เป็นช่วงเวลาแห่งการ “กวาดล้าง” กลุ่มบุคคลเป้าหมายที่ถูกจับตาจากฝ่ายทหารอยู่แล้ว การจับกุมใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เอาคนที่ถูกจับไปเค้นข้อมูลในค่ายทหาร 7 วัน และยังใช้ศาลทหารพิจารณาคดีมาตรา 112 ของพลเรือน ทำให้มีคนต้องเข้าเรือนจำจำนวนมาก
ส่วนช่วงระหว่างปี 2559-2560 มีเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 และพระราชพิธี สิ่งที่ คสช. ทำ คือ การ “ขึงเส้น” ของการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ “เพดานต่ำ” ที่สุด และเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างที่สุด โดยการจับกุมดำเนินคดีไม่เว้ยแม้แต่ผู้ป่วยทางจิต จนไม่เหลือพื้นที่สำหรับบทสนทนาในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางสาธารณะเลย
ไอลอว์บันทึกข้อมูลคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงต้นปี 2561 ได้อย่างน้อย 98 คน โดยวิธีการที่ คสช. ใช้ในการกวาดล้างที่โดดเด่น มีดังนี้

1. เรียก “กลุ่มเป้าหมาย” เข้าสอบในค่ายทหาร

ตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ คสช. ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลสำคัญทั้งนักการเมือง นักเคลื่อนไหว เข้าไปรายงานตัว และกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืน อดีตนักโทษคดีมาตรา 112 เช่น สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ธันย์ฐวุฒิ, วราวุธ ต่างถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง ฉบับที่ 5/2557 รวมทั้งนักวิชาการหรือนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่เคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ด้วย เช่น วรเจตน์ ภาคีรัตน์จากคณะนิติราษฎร์, สุดา รังกุพันธ์ จากกลุ่มปฎิญญาหน้าศาล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ถูกเรียกและเข้ารายงานตัวในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เขาถูกคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน ก่อนถูกนำตัวมาตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ที่สน.โชคชัยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557, พันทิวา ภูมิประเทศ หรือ ทอม ดันดี นักร้องที่เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดง ถูกทหารบุกไปจับตัวถึงที่บ้านแม้จะประสานเรื่องการเข้าพบคสช.ไว้แล้ว และถูกดำเนินคดีจากการปราศรัย 4 ครั้ง
นอกจากนี้ คสช. ยังเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องกับละครเวทีเสียดสีการเมือง “เจ้าสาวหมาป่า” มาสอบสวนด้วย เพื่อเชื่อมโยงหาตัวผู้เกี่ยวข้อง และหลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ก็จับกุมปติวัฒน์ และภรณ์ทิพย์ มาดำเนินคดีมาตรา 112

2. การปราบปรามเครือข่ายรายการวิเคราะห์การเมืองใต้ดิน

รายการวิเคราะห์การเมืองของ “บรรพต” เป็นหนึ่งในรายการที่มีคนให้ความสนใจติดตามไม่น้อย คลิปแรกสุดมีคนคลิกเข้าฟังแล้วมากกว่าแสนครั้ง ซึ่งผู้ใช้ชื่อว่าบรรพตผลิตคลิปมากกว่า 400 ตอน
เฉลียว ซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อถูกดำเนินคดีเป็นคนแรกโดยเขาถูก คสช. เรียกรายงานตัวตามคำสั่งฉบับที่ 44/2557 หลังเข้ารายงานตัวเฉลียวถูกพาไปตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำคลิปเสียงของ “บรรพต” อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์4share ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 จากนั้นวันที่ 25 มกราคม 2558 อัญชัญ ข้าราชการวัยใกล้เกษียณถูกจับกุมที่บ้านพักย่านฝั่งธน และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่นำกำลังไปจับกุมธารา พ่อค้าขายอาหารเสริมออนไลน์ที่นำคลิปของบรรพตไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของตัวเอง และนับจากวันที่ 25 มกราคม จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องหาในคดีเครือข่ายบรรพตเพิ่มเติมอีก 12 คน จนกระทั่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ตำรวจเปิดเผยว่าสามารถจับกุม “ดีเจบรรพต” ได้ ชื่อจริงของเขาคือหัสดินทร์
นอกจากรายการวิเคราะห์การเมืองใต้ดินอย่าง “บรรพต” แล้ว รายการวิเคราะห์การเมืองใต้ดินอื่นๆ ก็ถูกปราบปรามโดย คสช. ด้วย อย่างรายการ “คฑาวุธ นายแน่มาก” ก็ยุติการเผยแพร่เนื่องจากชื่อของคธาวุธปรากฎบนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 และคฑาวุธตัดสินใจเข้ารายงานตัว เขาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปีก่อนได้รับการลดโทษเหลือ 5 ปี คฑาวุธได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน 2559

3. การดำเนินคดีกับผู้ป่วยทางจิต

ในภาวะที่สังคมตกอยู่ภายใต้ความกลัวต่อมาตรา 112 คนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงกล้าแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ คือ คนที่ไม่กลัว ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีความเข้าใจข้อเท็จจริงบางอย่างคลาดเคลื่อนไป มีอย่างน้อย 11 คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุคนี้ ที่แพทย์ตรวจพบว่ามีอาการป่วยทางจิต เป็นโรคจิตเภท ตัวอย่างเช่น
“ธเนศ” ผู้ป่วยคนแรกที่ถูกจับกุมในปี 2557 เขาเล่าว่า ได้ยินเสียงแว่วข้างหูให้ส่งอีเมลขอให้ “ช่วยคนเสื้อแดง” ที่มีลิงก์เชื่อมไปยังเนื้อหาบนเว็บไซค์อีกแห่งหนุ่ง ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน
“เสาร์” เชื่อว่าตนสามารถติดต่อกับรัชกาลที่เก้าได้ผ่านทางโทรทัศน์ จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ฤาชา เชื่อว่ามีพระแม่ธรณีมาอยู่ในร่างของตัวเองและใช้ร่างกายตัวเองทำเนื้อหาโพสบนเฟซบุ๊ก, ชาติชาย และสรรเสริญ นำเอกสารที่อ้างว่าได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอทำพิธีต่ออายุให้รัชกาลที่เก้า

4. ใช้มาตรา 112 เพื่อหวังผลอื่นทางการเมือง

ภายใต้รัฐบาล คสช. มาตรา 112 ถูกใช้ดำเนินคดีเกิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อหวังสร้างทิศทางข่าว หรือสร้างภาพลบต่อผู้ที่ต่อต้าน คสช. ดังนี้
ฐนกรถูกจับกุมตัวในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 หนึ่งวันหลังประชาชนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมนั่งรถไฟไป “ส่องโกงอุทยานราชภักดิ์” ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสข่าวการทุจริตในหมู่ทหารกำลังหนาหู ฐนกรถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้แชร์แผนผังผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริต เป็นข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 แต่หลังถูกจับกุมเข้าค่ายทหารแล้ว ทหารตรวจค้นเฟซบุ๊กเขาและเพิ่มข้อหามาตรา 112 จากการกดไลค์เพจเฟซบุ๊ก และเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวในช่วงแรก แต่เมื่อคดีโอนกลับมาศาลปกติ พิพากษาให้ยกฟ้อง
พัฒน์นรีเป็นแม่ของสิรวิชญ์หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 สิรวิชญ์ ถูกจับกุมดำเนินคดีหลายครั้งแต่ยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว สำหรับตัวของพัฒน์นรี เธอประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดๆ แต่ในเดือนสิงหาคม 2559 เธอถูกออกหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเธอสนทนากับบุคคลหนึ่ง โดยตอบข้อความว่า “จ้า” คดีนี้พิจารณาช้าๆ ที่ศาลทหาร ก่อนย้ายมาศาลอาญา และพิพากษายกฟ้อง
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไป “ชูสามนิ้ว” ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไผ่ถูกดำเนินคดีหลายครั้งจากการทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร รวมทั้งรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 แต่ไม่อาจหยุดความเคลื่อนไหวของเขาได้ เดือนธันวาคม 2559 ไผ่แชร์บทความจากบีบีซีไทย เป็นเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ทหารที่ขอนแก่นไปขอออกหมายจับและเขาถูกจับกุมทันที ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน ช่วงท้ายของยุค คสช. ไผ่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรอีกเพราะต้องอยู่ในเรือนจำ
แล้ววันหนึ่งทิศทางก็เปลี่ยน
สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 เปลี่ยนไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ชนิดกลับตาลปัตรโดยขาดคำอธิบายทางกฎหมายรองรับ
คดีที่มีชื่อเสียง คือ กรณีส.ศิวรักษ์ อภิปรายในงานเสวนาเกี่ยวกับพระนเรศวรมหาราช แล้วต้องคดีมาตรา 112 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีในวันที่ 7 มกราคม 2561 ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่ใช่เพราะการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
29 มีนาคม 2561 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี 112 ของทอม ดันดี จากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูน แม้ว่าตัวเขาจะให้การรับสารภาพ ต่อมา 29 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ทอม ดันดี รับสารภาพอีกหนึ่งคดี โดยให้เหตุผลว่า คำปราศรัยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นยังไม่มีความแจ้งชัดว่าเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้
กรณีของทนายประเวศ ที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 จากการโพสเฟซบุ๊ก 10 ข้อความ และมาตรา 116 อีก 3 ข้อความ ศาลอาญามีคำพิพากษาในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประเวศถูกลงโทษในข้อหามาตรา 116 แต่ศาลไม่ได้กล่าวถึงมาตรา 112 เลย 
ตั้งแต่ปี 2561 มีเพียง “สิชล” ผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกจับกุมในวันที่ 26 กันยายน 2561 ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 แต่ต่อมาอัยการสั่งฟ้องเพียงข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ก็ไม่มีการนำมาตรา 112 มาให้กับใครอีกเลย

ระลอกที่ 3 “ยุคปิดปากราษฎร” ตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

ในปี 2563 สถานการณ์ทางการเมืองทวีความตึงเครียดตั้งแต่ต้นปี การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่งผลให้นักศึกษาตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มจัดการชุมนุมในสถาบันการศึกษาของตัวเอง แต่การชุมนุมต้องพักเป็นช่วงๆ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด
ในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า
…“สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณกำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามกันไปเรื่อย ทุกคนที่มีความรักชาติศาสน์ กษัตริย์ ต้องช่วยกัน”…
การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ นำภา กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมออกแถลงการณ์สิบข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งยึดพื้นที่สนามหลวง ในวันที่ 19 -20 กันยายน 2563
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมหลายกลุ่มมารวมกันในนาม “คณะราษฎร” ยกระดับข้อเรียกร้องเป็น 1) ประยุทธ์ และองคาพยพต้องลาออก 2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้รัฐเริ่มยกระดับควารุนแรงเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม การชุมนุมก็ยังคงดำเนิต่อไปพร้อมๆ กับการยกระดับความเข้มข้นของเนื้อหาและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เกิดการชุมนุมลักษณะ “ทุกคนเป็นแกนนำ” ผู้เข้าร่วมมีอิสระและออกแบบการแสดงออกของตัวเองได้ หลังจากนั้นก็มีการนัดชุมนุมโดยเน้นประเด็นที่สถาบันพระมหากษัริย์โดยตรง เช่น ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ยื่นหนังสือให้สถานทูตเยอรมนีให้ตรวจสอบว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้อำนาจอธิปไตยระหว่างประทับในดินแดนเยอรมันหรือไม่ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ชุมนุมราษฎรสานส์ ส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่สนามหลวง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ประกาศนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก่อนย้ายไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น
ในช่วงปลายปี 2563 พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และพระราชชีนี เสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พร้อมปรากฏตัวทางสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง การเสด็จแต่ละครั้งมีพสกนิกรใส่ “เสื้อเหลือง” รอต้อนรับ มีคลิปพระราชดำรัสชื่นชมประชาชนที่สวมเสื้อสีเหลืองเข้าไปชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมของราษฎรว่า “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศว่า “Thailand is the land of compromise”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยมีความตอนหนึ่งว่า
…ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย
ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาผู้ที่เคยขึ้นปราศรัยในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ทยอยถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนับจนถึง 30 เมษายน 2564 มีผู้ถุกตั้งข้อกล่าวหานี้แล้วอย่างน้อย 88 คน เป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างน้อย 36 คดี เป็นคดีจากการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ เช่น ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ผู้ที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ และตีความไปถึงการกล่าวซ้ำพระราชดำรัส การใส่เสื้อคร็อปท็อป และการแต่งชุดไทยในที่ชุมนุม อย่างน้อย 45 คดี มีผู้ถูกตั้งข้อหาไม่น้อยกว่า 6 คน เป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี
แม้ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่จะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน บางคนต้องถูกส่งฝากขังและประกันตัวต่อศาล แต่อีกหลายคนโดยเฉพาะนักปราศรัยที่มีชื่อเสียงกลับไม่ได้ประกันตัว “ยุคของราษฎร” เป็นยุคสมัยที่การใช้มาตรา 112 ทั้งในแง่ปริมาณ และการตีความกฎหมายน่ากังวลที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน