กฎหมายไม่ได้ห้ามชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ตำรวจจะอ้างโควิด หยุดขบวนไม่ได้

หลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 มีการออกข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำกัดจำนวนคนเมื่อทำกิจกรรมรวมตัวอยู่บ้าง ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น และในระหว่างนี้พ.ร.บ.ชุมนุมฯซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่จัดการชุมนุมถูกงดเว้นการบังคับใช้ และข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้กำหนดหน้าการชุมนุมในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจห้ามการเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลและไม่สามารถใช้กำลังหรือสิ่งกีดขวางมาขัดขวางผู้ชุมนุมได้ หากการชุมนุมดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค เช่นมีการจัดระยะห่างระหว่างบุคคล

24 มิถุนายน 2564 กลุ่ม “ประชาชนคนไทย” และกลุ่ม “ไทยไม่ทน” ก็นัดชุมนุมเพื่อเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ไปไม่ถึงเพราะตำรวจตั้งแถวสกัดกั้นพร้อมรั้วลวดหนามบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ ซึ่งห่างจากรั้วทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพียงเล็กน้อย ผู้ชุมนุมไม่ต้องการปะทะ จึงไม่ได้ฝ่าแนวตำรวจเข้าไปให้ถึงรั้วทำเนียบรัฐบาล 

2 กรกฎาคม 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายการชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา ที่สี่แยกอุรุพงษ์ เพื่อเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล และประกาศจะเปิดตลาดราษฎร ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

3 กรกฎาคม 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ นัดหมาย Car Mob ชวนคนขับรถยนต์ไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและบีบแตรไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่ม “ไทนไม่ทน” ก็นัดหมายรวมตัวที่สะพานผ่านฟ้า ก่อนเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดียวกัน

และเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 ครบรอบ 1 ปีกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth ได้จัดการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการนัดหมายกิจกรรมชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00 น. โดยเป้าหมายหลักคือการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล 

รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังสูญเสียความนิยมและความชอบธรรมจากการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 ก่อให้เกิดกระแสการโจมตีและขับไล่รัฐบาลชุดนี้ที่พยายามทำเหมือนว่ามีที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลนี้ก็ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ #พรกฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคโควิด19 ต่อเนื่องยาวนานกว่าหนึ่งปี รวบอำนาจการบริหารงานจากกระทรวงต่างๆ เข้ามาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีทีท่าว่าจะต้องต่อเนื่องไปยาวนานเท่าใด
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3(6) กำหนดไว้ว่า เมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะไม่ถูกนำมาบังคับใช้ ดังนั้น การควบคุมดูแลการชุมนุม จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม 10 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม การสัมมนา หรือการประชุมในช่วงระยะเวลานี้ โดยวิธีการทำงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป 
โดยข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 กำหนด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
เมื่อไม่มีกฎหมายใดที่บังคับใช้อยู่ที่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการชุมนุมเรื่องสถานที่ชุมนุม รวมถึงไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่หวงห้าม การที่ตำรวจจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตั้งแถว หรือวางสิ่งกีดขวาง เพื่อห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินไปยังสถานที่บางแห่ง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายของสถานที่ชุมนุม คือ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด และเป็นศูนย์รวมอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับประชาชนที่ต้องการแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้อง
การชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ตำรวจประกาศข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ชุมนุมทราบ และอ้างอำนาจตามข้อกำหนดฉบับต่างๆ เพื่อควบคุมการชุมนุม ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้มีขึ้นเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด19 จึงไม่มีเหตุผลที่จะนำข้อกำหนดและข้อห้ามต่างๆ มาเป็นข้ออ้างเพื่อห้ามการชุมนุมเฉพาะพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล หรือห้ามการเคลื่อนขบวนผ่านบางเส้นทาง และเปิดให้เคลื่อนขบวนไปเส้นทางอื่นได้