1882 1481 1389 1814 1236 1332 1238 1297 1784 1683 1301 1563 1312 1808 1604 1225 1775 1621 1346 1441 1493 1487 1015 1315 1258 1525 1079 1451 1515 1950 1766 1605 1883 1705 1660 1812 1920 1883 1083 1734 1196 1903 1347 1669 1613 1982 1795 1920 1812 1906 1771 1624 1016 1625 1706 1443 1618 1178 1699 1827 1466 1690 1394 1937 1233 1677 1560 1694 1808 1677 1678 1415 1464 1259 1440 1475 1895 1166 1774 1495 1946 1011 1472 1081 1024 1793 1877 1998 1800 1504 1344 1146 1143 1528 1415 1926 1193 1866 1643 ข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใหม่ ให้อำนาจ กสทช. สั่ง ISP “ตัดเน็ต” ผู้โพสสร้างความหวาดกลัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใหม่ ให้อำนาจ กสทช. สั่ง ISP “ตัดเน็ต” ผู้โพสสร้างความหวาดกลัว

 
1889
 
 
29 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวากลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สํานักงาน กสทช.) แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider-ISP) ทราบ เพื่อตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP address) พร้อมให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต แก่เลขท่ีอยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที  
 
หมายความว่า ให้อำนาจเพิ่มกับ กสทช. และสร้างหน้าที่ให้กับบริษัทเอกชนที่เป็น ISP เช่น ทรู เอไอเอส หรือ ทรีบอร์ดแบรนด์ ตัดการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่กำลังใช้หมายเลขไอพีดังกล่าว ถ้าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาตที่ออกให้ และให้กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เช่น เพิกถอนการออกใบอนุญาต
 
นอกจากนี้ ยังให้สำนักงาน กสทช. ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดข้อ 1 ยังคงมีโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
 
เหตุผลประกอบที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนดนี้ คือ มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการรักษาสุขภาพของประชาชนโดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฉุกเฉินให้วิกฤติยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง และมีความรับผิดชอบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม ในสถานการ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด
 
ข้อกำหนดฉบับนี้ อ้างว่าออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ มาตรา 9(3) ซึ่งกำหนดว่า
 
“(๓) ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่อ อื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้ เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร”
 
หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9(3) ก็อาจมีความผิดและมีโทษตามมาตรา 18 แต่มาตรา 9(3) ไม่ได้ให้อำนาจในการสั่ง “ตัดอินเทอร์เน็ต” หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพราะอำนาจดังกล่าวอยู่ในมาตรา 11(5) เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งอำนาจเช่นนี้จะมีขึ้นได้ต่อเมื่อเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเท่านั้น ขณะออกข้อกำหนดฉบับนี้ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินธรรมดา นายกรัฐมนตรีจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรา 9(3) ออกคำสั่งให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลใดได้
 
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนดูที่มาของคณะกรรมการ กสทช. พบว่าตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 คสช. ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหาคัดเลือกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจพิเศษ "มาตรา 44" ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 เพื่อระงับการสรรหากรรมการกสทช. เพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลง ถึง 2 ครั้ง ในปี 2558 และ ปี 2559 และใช้อำนาจพิเศษเพื่อต่ออายุให้คณะกรรมการกสทช. อีก 1 ครั้ง ในปี 2561
 
นอกจากนี้ กระบวนการสรรหากสทช. ชุดใหม่ก็ถูก "สภาแต่งตั้ง" ของคสช. ล้มอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อปี 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่เสนอมาแบบยกชุด 1 ครั้ง และครั้งที่สอง เมื่อปี 2564 หลังวุฒิสภามีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ทำให้การสรรหาคณะกรรมการกสทช. ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ต้องสิ้นผลไป และทำให้คณะกรรมการกสทช. ที่ได้รับการต่ออายุมาตั้งแต่ปี 2561 ยังคงต้องรักษาการในตำแหน่งต่อ
 
โดยผลงานของคณะกรรมการกสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดในยุคคสช. คือ มีการลงโทษสื่อที่นำเสนอข่าวในประเด็นการเมืองอย่างน้อย 59 ครั้ง ยกตัวอย่าง Voice TV ที่ถูกกสทช. ลงโทษมาแล้วอย่างน้อย 21 ครั้ง มีทั้งการเตือน ปรับ และระงับการออกอากาศ เป็นต้น
 
 
1890
 
ปัญหาของการ “ตัดเน็ต” โดยพิจารณาจาก IP Address
 
ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่มีสาระสำคัญห้ามนำเสนอข่าว ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้สํานักงาน กสทช. แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider-ISP)  เพื่อตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP address) พร้อมให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต แก่เลขท่ีอยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที
 
ที่อยู่ไอพี (IP address) เป็นหมายเลขที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จัดสรรให้กับผู้ใช้บริการ (user) เพื่อใช้ระบุที่ตั้งบนอินเทอร์เน็ต เปรียบเสมือนกับ “เลขที่บ้าน” ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ส่งจดหมายหากันได้ถูกบ้าน ที่อยู่ไอพีมีลักษณะเป็นตัวเลข 4 ชุด ระหว่างชุดคั่นด้วยจุด เช่น 103.55.143.10 หรือชุดข้อมูล 8 ชุด คั่นด้วย : เช่น 2001:0db8:0000:0000:0000:8a2e:0370:7334”
 
เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะทางไวไฟหรือเสาสัญญาณโทรศัพท์ ISP จะจัดสรรที่อยู่ไอพีมาให้ชุดหนึ่ง การใช้งานแต่ละครั้งอาจจะได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน ทุกคนไม่ได้มีที่อยู่ไอพีประจำตัวที่ใช้อย่างถาวรเช่นเดียวกับเลขที่บ้านหรือหมายเลขตัวถังรถยนต์ 
 
การเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแต่ละครั้ง จะถูกบันทึกไว้ทุกๆ กิจกรรม เช่น ถ้าหากผู้ใช้ A ใส่ที่อยู่เว็บไซต์ ilaw.or.th และกด enter เพื่อเข้าถึงหนึ่งครั้ง คำสั่งเรียกข้อมูลก็จะถูกส่งออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของ A ไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูลของเว็บไซต์ iLaw ระบบของเว็บไซต์จะบันทึกข้อมูลว่ามีการสั่งเรียกข้อมูลจากที่อยู่ไอพีที่ A ใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือถ้าหากผู้ใช้ B โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กหนึ่งครั้ง ข้อมูลก็จะวิ่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊ก และบันทึกว่า มีการข้อมูลส่งมาจากที่อยู่ไอพีที่ B ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
 
แต่การที่ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสั่งให้ กสทช. ตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์​แล้วส่งให้ ISP เพื่อหา IP Address และระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตกับที่อยู่นั้น มีลักษณะเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพแบบ “เหมารวม” และอาจกระทบกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือกระทบสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องเกินความจำเป็น จนอาจมีผลร้ายได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
1. หมายเลข IP Address ที่ ISP จัดสรรให้แต่ละครั้งจะใช้กับ user แต่ละบัญชี ไม่ได้ให้กับ “คน” แต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น สำหรับบ้านที่ต่ออินเทอร์เน็ตด้วยระบบ Wifi เครื่องเร้าเตอร์แต่ละตัวจะใช้ IP Address ร่วมกัน ไม่ว่าใครก็ตามในบ้านหลังนั้นที่ต่อ Wifi ผ่านเร้าเตอร์ตัวนี้ก็จะเป็นผู้ใช้ IP Address หมายเลขเดียวกัน หากมีหนึ่งคนในบ้านที่โพสข้อความบางประการแล้ว กสทช. เห็นว่าเป็นการกระทำความผิด จึงให้ ISP ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็จะกระทบกับคนอื่นๆ ในบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย


 
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่หมายเลข IP Address มีไม่เพียงพอจะแจกจ่ายให้กับทุกคน  ISP จึงอาจจัดสรรให้กับ user รายใหญ่ๆ เช่น จัดสรรให้กับหน่วยงานราชการ จัดสรรให้กับผู้ดูแลตึกขนาดใหญ่ แล้วให้ผู้ดูแลไปจัดระบบการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการภายในต่ออีกชั้นหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยระบบภายในก็จะติดต่อกับ ISP ด้วยที่อยู่ไอพีเดียวกัน หากระงับการใช้หมายเลข IP Address ก็อาจกระทบต่อผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากๆ พร้อมกันได้

 
2. หากมีคนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮกเข้ารหัสได้ และใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลอื่นอยู่ตลอด ก็จะปรากฏเป็นผู้ใช้งานหมายเลข IP Address ของเจ้าของตัวจริง และถ้าหากผู้ที่เข้าใช้งานโดยไม่มีสิทธิโพสข้อความบางประการแล้ว กสทช. เห็นว่าเป็นการกระทำความผิด จึงให้ ISP ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็จะกระทบกับเจ้าของ IP Address ตัวจริงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย


 
ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ นพวรรณ เป็นจำเลยถูกฟ้องว่า โพสข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยมีหมายเลข IP Address เป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหมายเลขที่สมาชิกหลายคนใช้ร่วมกันทั้งบ้าน ศาลพิพากษาว่าลำพังที่อยู่ไอพีพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/27

 
3. เนื่องจากหมายเลข IP Address ที่ user เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช. ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า และส่งให้ ISP ล่าช้า จนกระทั่ง ISP ระงับสั่งการให้บริการอินเทอร์เน็ตจริง แต่ในทางปฏิบัติ หมายเลข IP Address นั้นๆ ก็อาจจะกลายเป็นหมายเลขของ user คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปแล้ว ส่วนผู้ที่โพสข้อความที่อาจเป็นความผิดจริงๆ ก็ได้หมายเลขอื่นไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น การสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยพิจารณาหมายเลข IP Address อย่างเดียวอาจกระทบกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และเกิดปัญหาอื่นตามมาได้มาก

 
4. การใช้งานอินเทอร์เน็ตของแต่ละบุคคลมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย นอกจากพูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว ยังต้องใช้เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ยิ่งในสถานการณ์โควิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความหมายถึงการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีน ลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาจากรัฐ ใช้สั่งซื้ออาหารและของใช้จำเป็น และการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วด้วย การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตทันทีย่อมกระทบถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ กระทบต่อสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการติดต่อสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ด้วย
 


ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและข้อมูลสับสน ประชาชนบางคนอาจ “ผิดพลาด” นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่เมื่อได้ตรวจสอบและรับทราบสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็สามารถย้อนกลับไปแก้ไข หรือลบ หรือนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่ทำไปแล้วได้ แต่หากการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตถูกระงับแล้ว ก็เท่ากับตัดช่องทางที่บุคคลนั้นจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ตัดช่องทางที่จะได้รับการตักเตือนหรือส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้ตรวจสอบ หรือหากได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องแล้วก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขข้อมูลที่นำเสนอไปก่อนหน้าได้ แต่การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุคคลไม่ได้มีผลระงับการเข้าถึงข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนไปแล้ว 
 
การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยพิจารณาเพียงหมายเลข IP Address จึงอาจสร้างผลกระทบได้มาก และให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับการสร้างบรรยากาศที่ต้องการสื่อสารด้วยข้อมูลที่เป็นจริง

 

ชนิดบทความ: