“ขอบคุณที่ช่วยรับไปซักข้อหา” บทสนทนาระหว่างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับผู้ร่วมคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” 10 กรกฎา

ในรายการคลับเฮาส์เมื่อประมาณสองถึงสามสัปดาห์ก่อน “บิ๊ก” หนึ่งในคนที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ยกมือขึ้นและแชร์ประสบการณ์ว่าหลังจบกิจกรรมคาร์ม็อบ เขาถูกตำรวจสถานีหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่ขบวนเคลื่อนผ่านโทรตามให้ไปจ่ายค่าปรับ โดยสิ่งที่น่าสนใจคือตำรวจพยายามขอให้เขายอมรับความผิดไปซักข้อหาหนึ่ง และเมื่อสมบัติจะจัดคาร์ม็อบอีกครั้งตำรวจนายเดิมก็โทรมาหาเขาว่าจะไปร่วมคาร์ม็อบหรือไม่ หากไปเข้าร่วมหลังจบกิจกรรมก็ขอให้มาพบ แต่เนื่องจากเขาอยู่ระหว่างกักตัวดูอาการโควิด-19 จึงปฏิเสธไปว่าจะไม่ได้ไปร่วมงาน 
จากบทสนทนาที่น่าสนใจในคลับเฮาส์ ไอลอว์จึงติดต่อ “บิ๊ก” เพื่อขอให้บอกเล่าบทสนทนากับนายตำรวจระดับผู้กำกับสถานีท่านนั้นโดยละเอียดเพื่อสะท้อนวิธีคิดและวิธีการที่ตำรวจบางส่วนมีต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลจนได้พบความจริงอันน่าเศร้าที่หลายคนคงพอทราบกันอยู่แล้วว่าในคดีการเมืองกฎหมายก็ไม่สำคัญเท่า “คำสั่งนาย”
คาร์ม็อบและสายจากคนแปลกหน้า
วันที่ 10 กรกฎาคม บิ๊กขับรถไปร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 14.00 น. เมื่อไปถึงเขาก็จอดรถและเดินทักทายถ่ายรูปกับคนรู้จัก โดยไม่ได้ถือป้ายสัญลักษณ์หรือข้อความใดๆ 
“พี่ไปถึงแถวๆ แม็คโดนัลด์ราชดำเนินก็ประมาณบ่ายสองโมง ก็เดินถ่ายรูปแล้วก็ทักทายกับคนรู้จัก พี่ก็พอรู้อยู่ว่าตลอดเวลาที่เดินอยู่แถวนั้นก็จะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบถ่ายรูปไว้ตลอด”
“สำหรับพี่จะถ่ายก็ถ่ายไปพี่ไม่ได้สนอะไร ก็ทักทายคนตามปกติ พอใกล้เวลาเคลื่อนขบวนพี่ก็ใช้โทรโข่งจัดระเบียบว่ารถต้องตั้งแถวยังไง พริตตี้ท้องทำยังไง พอขบวนเคลื่อนพี่ก็ขับรถตามไป 
กระทั่งประมาณบ่ายสามมีโทรศัพท์เข้ามา อ้างว่าเป็นตำรวจอยากให้พี่เข้าไปพบเขาที่สถานี พี่ก็บอกไม่สะดวก อยู่ในกิจกรรม เดี๋ยวเข้าไปวันอื่นได้ไหม เค้าบอกไม่ได้ ให้มาวันนั้นเลยเสร็จกิจกรรมแล้วค่อยเข้ามาก็ได้  แล้วก็กำชับว่าอยากชวนมาคุยเฉยๆ อย่าให้ต้องทำตามขั้นตอนทางกฎหมายเลยเดี๋ยวจะยุ่งยาก 
พอวางหูจากเขาพี่ก็เลยประสานทนายให้โทรไปคุยซึ่งก็ได้ข้อมูลว่าเป็นตำรวจจริงๆ แล้วทนายก็คุยรายละเอียดเรื่องข้อหา”
“พี่ไม่ได้ให้เบอร์เขาหรอกนะ แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาได้เบอร์พี่มาจากไหน แต่คิดว่าสำหรับตำรวจแค่เบอร์โทรศัพท์เขาคงหาได้ไม่ยาก ทนายเขาก็คุยกับตำรวจเรื่องข้อหาเรียบร้อยแล้วก็บอกพี่ไว้เบื้องต้นว่าข้อหาจะประมาณไหน ทนายกำชับพี่ว่าถ้าต่างไปจากที่คุยกันไว้ให้ปฏิเสธแล้วยืนยันว่าจะสู้คดี พี่ก็โอเคพอกิจกรรมยุติตอนสี่โมงพี่ก็บอกตำรวจว่าจะเข้าไปพบ”
ช่วยๆกันไป รับไว้ 1 ข้อหา
เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ “บิ๊ก” ได้พูดคุยกับตำรวจว่าเขาทำอะไรผิด สิ่งที่เขาได้รับทราบจากผู้บังคับบัญชาของตำรวจระดับผู้กำกับสถานีคนนั้น คือเห็นภาพของบิ๊กในพื้นที่การชุมนุมแล้วไม่พอใจ จึงสั่งให้ผู้กำกับต้องดำเนินการบางอย่าง ถึงขั้นต้องพลิกตำรากฎหมายว่าพอจะทำอะไรได้ สุดท้ายหวยก็มาออกที่ข้อหาวางสิ่งกีดขวางบนผิวจราจร ซึ่ง “บิ๊ก” เองก็บอกให้ผู้กำกับปรับเขาในอัตราโทษสูงสุดไปเลยเพื่อจะได้ไปรายงานกับผู้บังคับบัญชา
“พี่ไปถึงโรงพักประมาณสี่โมง ตัวผู้กำกับยังไม่มาแต่ก็ส่งตำรวจคนหนึ่งมาอยู่กับพี่ ประมาณห้าหรือสิบนาทีหลังจากนั้นเขาก็มาแล้วเชิญพี่ไปคุยที่ห้องลงบันทึกประจำวัน พอผู้กำกับมาก็มีลูกน้องเขาตามมานั่งด้วยรวมแล้วประมาณห้าถึงหกคน”
“เค้าก็บอกพี่ว่า ‘นาย’ ของเขาเห็นพี่ในโซเชียล ก็เลย ‘บ๊ง’ มา เขาก็เลยต้องจัดการบางอย่างไม่งั้นก็อาจมีปัญหา ก็เลยเชิญพี่มาคุย ก็ดีแล้วที่พี่มา ถ้าไม่มาเขาก็ต้องทำตามกฎหมาย คงหมายถึงการตั้งข้อหา แล้วเดี๋ยวมันจะยาวก็เลยเชิญมาวันนี้แล้วจะได้จบ”
“พี่ให้ทนายโทรมาประสานไว้ก่อนแล้วก็เลยพอจะรู้ว่ามันจะเป็นไง ทีนี้ทางผู้กำกับกับลูกน้องเค้าที่เป็นพวกร้อยเวรก็เริ่มมาดูกันว่าจะใช้ข้อหาอะไรกับพี่ดี พอถามว่าจะเอาเรื่องกีดขวางการจราจรได้ไหม ร้อยเวรก็บอกว่าไม่ได้เพราะรถพี่ไม่ได้จอดเป็นคันแรก มันก็ติดตามคันอื่นโดยสภาพ จะเอาเรื่อง พ.ร.บ.ความสะอาด พี่ก็ไม่ได้ทิ้งขยะหรือทำอะไร จะเอาเรื่องเครื่องเสียงร้อยเวรก็บอกไม่ได้ เพราะโทรโข่งที่พี่ถือมันเป็นแบบตัวเล็กใส่ถ่านชาร์จไฟไม่ได้ 
สุดท้ายหวยเลยมาออกเรื่องตั้งสิ่งของบนผิวจราจร พี่ก็บอกพี่ไม่ได้ตั้งอะไรบนถนนเลย ผู้กำกับก็บอกประมาณว่า เอาหน่อยน่าข้อหานี้เบาที่สุดแล้ว ปรับไม่เกิน 500 ช่วยกันหน่อย แล้วเขาก็ถามร้อยเวรว่าข้อหานี้โทษปรับตั้งแต่เท่าไหร่ ร้อยเวรบอกไม่มีขั้นต่ำมีแค่ไม่เกิน 500 พี่เลยบอกผู้กำกับว่าเอางี้เพื่อความสบายใจก็ปรับพี่เต็ม 500 ไปเลย จะได้ไปบอก ‘นายของคุณ’ ได้ว่าก็ปรับตามอัตราโทษสูงสุดไปแล้ว ก็ตกลงตามนั้น ผู้กำกับก็ยังพูดขอบคุณพี่ด้วย”
“ถ้าไปดูในเอกสารบันทึกประจำวันวันนั้นคือสั้นมาก บอกแค่ว่าวันที่เท่านี้มีนายคนนี้มาที่ สน. แล้วก็รับสารภาพว่าวางสิ่งของกีดขวางการจราจรเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500 บาท แต่ไม่มีบรรยายเลยว่าไอ้ที่ว่าวางสิ่งของมันคือวางอะไรตรงไหนอย่างไร”
“…เรื่องนี้คงไม่เกิดหากพี่เป็นแค่ผู้ชุมนุมธรรมดา…”  
บิ๊กเล่าย้อนไปว่าแม้ตัวเขาเองจะเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานแล้ว ทั้งไปร่วมชุมนุมและแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ แต่ก่อนที่จะถูกตามตัวไปสถานีตำรวจครั้งนี้ตัวเขาเองไม่เคยถูกเรียกตัวไปพบเจ้าหน้าที่มาก่อน แต่ในช่วงหลังที่บทบาทของเขาเพิ่มขึ้นจากผู้ชุมนุมธรรมดามาเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรในการชุมนุมเขาก็คาดหมายอยู่แล้วว่าไม่ช้าก็เร็วเขาคงต้องเจอกับอะไรซักอย่าง
“พี่เคลื่อนไหวทางการเมืองมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยถูกตำรวจเรียกไปอะไรมาก่อนนะ เพิ่งมามีช่วงหลังๆ ที่พี่เริ่มเข้าไปสนิทกับแกนนำ แล้วก็ช่วยเหลือด้านการเงินให้กับขบวนจำนวนหนึ่ง ตรงนี้มั้งที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็เริ่มจับตาพี่”
“จริงๆ พี่ก็มีเพื่อนเป็นตำรวจ แล้วมีเพื่อนคนนึงอยู่ในหน่วยที่ติดตามนักเคลื่อนไหว มีครั้งหนึ่งเข้าไปประชุมแล้วมีชื่อพี่ โปรไฟล์พี่อยู่ในแฟ้มของทางหน่วย เขาก็บอกพี่ว่า “เบาได้เบา” แต่ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรพี่ยังไม่โดนเรียกแต่ก็เป็นคนที่อยู่ในความสนใจของเขา (ฝ่ายความมั่นคง) แล้ว”
“คือเอาจริงๆที่รัฐมาทำโปรไฟล์พี่แบบนั้นพี่ก็ไม่ได้คิดว่ารัฐเขามองเราเป็นศัตรูหรอก แต่เขาคงมองว่าพี่มีกำลังพอจะสนับสนุนม็อบหรือมีศักยภาพพอจะเข้ามามีบทบาทได้หากแกนนำโดนจับ เขาก็เลยทำเหมือนที่พี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) พูดในคลับเฮาส์วันนั้นคือก่อนจะเด็ดหัวก็ริดใบริดกิ่งไปก่อน”
“พี่เองก็เตรียมใจไว้เหมือนกันว่าพอตัวเองมีบทบาทมากขึ้นมันก็คงมีผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้คงไม่เกิดหากพี่เป็นแค่ผู้ชุมนุมธรรมดา ถ้าแค่ไปชุมนุม ชูสามนิ้ว ถ่ายรูปแล้วกลับบ้านก็คงไม่มีอะไร”  
กระบวนการยุติธรรมกับจุดเริ่มต้นที่บิดเบี้ยว
.
หลังจากรับฟังบทสนทนาว่าหว่าง “บิ๊ก” กับนายตำรวจระดับผู้กำกับ จึงมีคำถามต่อไปว่าจากบทสนทนาทั้งหมดดูเหมือนกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายจะไม่ได้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายได้อย่างไร “บิ๊ก” ก็ตอบความว่าบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นคือเหตุผลที่ทำให้เขายืนยันที่จะสู้ต่อไป
“กฎหมายมันก็คือกฎหมาย และประเทศก็ต้องมีกฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมายมันก็อยู่กันไม่ได้ และเอาเข้าจริงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอเมริกายุโรปถามว่าเรื่องอำนาจอิทธิพลมันมีไหม ก็มี เพียงแต่ถ้าของเขามันมีปัญหาแบบนี้สัก 10% กระบวนการยุติธรรมในบ้านเรามันมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ 60 – 70% อย่างคดีธรรมดาที่ไม่มีเรื่องการเมือง บางทีการรู้จักใคร หรือมีเงินก็อาจส่งผลต่อดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งไอ้ดุลพินิจเนี่ยแหละคือปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย ยิ่งในคดีที่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องยิ่งแย่”
“อย่างตัวพี่เองก็รู้จักตำรวจผู้ใหญ่ มีคอนเนคชันมีอะไร ก็คิดว่าอาจจะมีผลที่ทำให้พี่ไม่ได้โดนอะไรหนัก แต่ลองพี่ไม่รู้จักใครวันนั้น (10 กรกฎาคม) ก็อาจไม่ได้โดนแค่ข้อหาวางสิ่งกีดขวางแล้วปรับ 500 บาท”
.
“เอาจริงๆ ตำรวจเองบางทีก็ไม่ได้อยากดำเนินคดีคนชุมนุมหรอก แต่พอผู้ใหญ่ส่งสัญญามาจะไม่ทำก็ไม่ได้ เราถึงเห็นบางคดีที่เขาตั้งข้อหาแบบที่รู้ว่าเข้าไปชั้นศาลยังไงก็ยก ดูเผินๆ ก็เหมือนช่วยแต่เอาจริงๆ แค่ถูกตั้งข้อหามีคดี ผู้ต้องหาก็ลำบากแล้ว”
“ก็ไอ้ความบิดเบี้ยวนี่แหละที่ทำให้พี่ยังสู้อยู่จนทุกวันนี้ พี่เองก็คงไม่ได้อยู่ไปอีกนาน 10 ปี 20 ปี ก็ไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่สู้ ไม่ทำอะไร สุดท้ายลูกหลานของพี่นี่แหละไม่ต้องมองใครอื่นที่จะต้องมารับกรรม จะช้าจะเร็วถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้ยังไงลูกหลานพี่ก็ไม่พ้นต้องเดือดร้อน ถ้าเราสามารถสู้ให้มันจบที่รุ่นเราได้จริงๆ ถึงวันข้างหน้าลูกหลานเราจะได้เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นไปทำมาหากิน คิดค้นอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่ต้องออกมาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ” 
“ที่สถานการณ์มันมาถึงขั้นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นพี่ยอม เรายอมตอน ปี 49 ปี 53 ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว สำหรับพี่ก็คงสู้ต่อไปจนกว่าตัวเองจะหมดแรง”