1360 1486 1783 1144 1889 1371 1366 1309 1591 1773 1292 1567 1914 1761 1641 1056 1613 1658 1415 1451 1474 1975 1651 1843 1282 1016 1554 1997 1889 1314 1467 1530 1914 1475 1991 1632 1749 1304 1891 1642 1763 1746 1240 1785 1499 1658 1469 1046 1376 1712 1447 1831 1950 1596 1282 1012 1896 1360 1501 1264 1243 1967 1110 1094 1534 1853 1149 1177 1819 1940 1011 1144 1710 1042 1649 1211 1229 1604 1190 1827 1505 1705 1364 1755 1656 1282 1646 1573 1931 1568 1923 1472 1957 1492 1776 1870 2000 1936 1456 ถอดประสบการณ์ตำรวจชั้นผู้น้อยคุมม็อบ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกและลดพลังประเด็นขับไล่ประยุทธ์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ถอดประสบการณ์ตำรวจชั้นผู้น้อยคุมม็อบ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกและลดพลังประเด็นขับไล่ประยุทธ์

 
 
18 กรกฎาคม 2564 เยาวชนปลดแอกและเครือข่ายนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, ลดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อมารับมือกับโควิด 19 และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นให้หลังการปะทะที่กระทรวงสาธาณสุข ผู้จัดการชุมนุมจึงวางทีมดูแลผู้ชุมนุมและป้องกันไม่ให้มีการปะทะที่หน้าแนวตำรวจ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจก็เริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ, แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง
 
เมื่อความรุนแรงของรัฐเปิดฉากขึ้น มีผู้ชุมนุมบางส่วนตอบโต้ตำรวจด้วยขวดน้ำบ้าง หนังสติ๊กบ้าง การปะทะในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว วันถัดมาปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่ม We Volunteer โพสต์ข้อความว่า หากผู้ชุมนุมที่ไม่เอาสันติวิธี ต้องการปะทะตำรวจอย่างเดียว เมื่อรัฐรุนแรงมาพร้อมจะตอบโต้ให้ประกาศแยกการชุมนุมต่างหากเลย ผู้ชุมนุมที่เน้นแนวทางสันติวิธีจะได้ไม่เผลอไปเข้าร่วมด้วย
 
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ เราชวนพูดคุยถึงความรู้สึกของ “มนุษย์” ที่อยู่หน้าแนวปะทะแต่ละครั้งว่า มีความคิดเห็นอย่างไร ในตอนนี้เป็นการพูดคุยกับ ‘เอ’ ตำรวจชั้นผู้น้อยที่เคยมาทำหน้าที่ดูแลการชุมนุมไม่น้อยกว่าสี่ครั้ง
 
 
1913
 

 

เมื่อตำรวจภูธรต้องรับบท “คนคุมม็อบ”

 
‘เอ’ เคยมารับหน้าที่ “คุมม็อบ” ช่วงปลายปี 2563 สี่ครั้ง ในช่วงดังกล่าวจะมีการเกณฑ์ตำรวจตามสถานีต่างๆมาดูแลการชุมนุม เกณฑ์คัดเลือกคือ อายุไม่เกิน 35 ปี สถานีตำรวจนครบาลจะมีกำลังพลใหม่ทุกปีจึงสามาถใช้กำลังพลอายุน้อยได้ แต่ในต่างจังหวัด สถานีตำรวจบางแห่งมีกำลังพลน้อย ทำให้บางครั้งต้องส่งนายตำรวจอายุมากมาช่วยดูแลการชุมนุม หลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของตำรวจสน.ธรรมศาลา นครปฐมวัย 47 ปี ซึ่งมารับหน้าที่ดูแลการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เขามองว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติ มีการจัดหาแพทย์มาตรวจสุขภาพให้แก่ตำรวจ
 
แม้จะมีเหตุการเสียชีวิตของตำรวจ ในสถานีตำรวจที่เขาสังกัดมีกำลังพลน้อยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บางครั้งตำรวจที่มีอายุมากก็ยังคงต้องลงพื้นที่ชุมนุม ในการเกณฑ์กำลังแต่ละครั้งก็ค่อนข้างเห็นใจเพื่อนร่วมงานที่ปกติแล้วทำงานลักษณะธุรการ ไม่ได้ทำงานลงพื้นที่และไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือการชุมนุมนัก
 
 

รับมือชุมนุม ปรับรูปแบบตามสถานการณ์และความจำเป็น

 
ลักษณะการรับมือการชุมนุมแต่ละครั้ง ตำรวจจะเริ่มจากการหาข่าวว่า วันใดจะมีการชุมนุมและวางแผนจัดหากำลังพล กรณีของเขาที่สังกัดต่างจังหวัดจะรู้ล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยสามวัน เมื่อรู้แล้วว่าจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจกลุ่มนี้จะไม่ปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นเลย เว้นแต่ภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น การรับเสด็จ กรณีที่นัดหมายกระชั้นชิดมักจะใช้ตำรวจในกรุงเทพฯเป็นหลัก แต่มีหนึ่งครั้งที่ทราบข่าวไม่ถึง 48 ชั่วโมงและเมื่อเดินทางถึงต้องลงพื้นที่เลย
 
การนัดชุมนุมแบบฉับพลัน ทำให้ผู้วางแผนประเมินสถานการณ์ไม่ถูก ใช้วิธีเกณฑ์กำลังพลเข้ามาและให้ไปพักตามสถานที่ราชการที่ห่างจากจุดชุมนุม กรณีที่รู้ว่า เวลา 14.00 น.ของพรุ่งนี้จะมีการชุมนุม  เช้าวันถัดมาจะต้องเข้ามาในเมืองเพื่อเตรียมพร้อมแล้ว ตอนแรกๆที่จัดแบ่งกำลังจะมีการจับสลากกันเพื่อแบ่งภารกิจ เขาบอกว่า กองร้อยไหน “โชคดี” ก็ได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีม็อบ เช่น บริเวณกระทรวงศึกษาธิการที่จะไม่มีการชุมนุมหรือหากมีจะเป็นการชุมนุมกลุ่มนักเรียน ส่วนกองร้อยไหน ”โชคร้าย” ก็ได้ไปอยู่ตรงที่ที่มีการชุมนุมใหญ่และอาจต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม
 
‘เอ’ บอกว่า ช่วงแรกจะมีกองร้อย “โชคร้าย” ที่ไม่ได้รับการฝึกต้องไปอยู่แนวหน้า ทำให้รับมือไม่ค่อยดีนัก จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีการเรียกมาฝึก เขาเองยังเคยถูกเรียกมาฝึกให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆในการควบคุมฝูงชนเพิ่มเติม เดิมมีการใช้โล่และกระบอง แต่ตอนนี้ก็มีการฝึกยิงตาข่ายระยะไกลเพื่อจับกุม ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม ตำรวจใช้ในการจับกุมผู้ต้องหาทั่วไป แต่วิธีนี้ไม่เคยนำมาใช้ในการชุมนุมเลย ระยะต่อมาตำรวจมีการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วมาเผชิญหน้ารับมือกับผู้ชุมนุม เมื่อถามว่า ชุดเคลื่อนที่เร็วดุกว่ากองร้อยปกติหรือไม่ เขาตอบว่า ชุดเคลื่อนที่เร็วจะมีแบบแผนและปฏิบัติตามแบบแผนอย่างเคร่งครัดมากกว่า
 

ประสบการณ์สวมเสื้อเหลืองคุมม็อบราษฎร 14 ตุลาฯ

 
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นครั้งแรกที่ ‘เอ’ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลการชุมนุมของคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล วันนั้นมีการชุมนุมของคนหลายกลุ่มทั้งฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างคณะราษฎรและฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนาและสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ รวมทั้งขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ที่จะผ่านถนนราชดำเนินกลาง
 
ในวันนั้น ‘เอ’ ได้รับการสั่งการให้สวมเสื้อเหลืองมารอที่ถนนราชดำเนินกลาง เขาบอกว่า เขาเป็นตำรวจชุดแรกๆที่มาถึง เขาคิดแค่ว่า ไม่เป็นไรได้รับคำสั่งให้สวมเสื้อเหลืองและมาที่ชุมนุม แต่ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมเข้ามาต่อว่าเขาและเพื่อนๆ ตอนนั้นเขาค่อนข้างไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก แต่ความรู้สึกที่ได้รับจากการต่อว่าคือ ผู้ที่มาต่อว่าจัดให้เขาเป็นศัตรู และผลักให้เขาเป็นคนเลว “ในใจคือ อย่างน้อยก็คงไปอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่า จะคิดว่าเดี๋ยวกูจะจับมัน คิดว่า ไปนั่งเล่นโทรศัพท์ นั่งกินลูกชิ้นไป”
 
เมื่อสวมเสื้อเหลืองแล้วมีปัญหาในลักษณะนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เปลี่ยนเป็นชุดควบคุมฝูงชนแทน เขามองว่า ตำรวจส่วนมากไม่ได้มองว่า วันนี้จะมาจับหรือมาใช้กำลังเป็นการมาตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและทำให้จบไปในแต่ละวัน สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องตำรวจรับรู้และเขารู้ดีว่า หากสังคมนี้เปลี่ยนแปลงตำรวจก็ได้ประโยชน์นั้นเช่นกัน
.
“ผมเชื่อว่า ตำรวจ 80 เปอร์เซนต์ไม่ได้มีความคิดว่า จะจับมัน จะตีมัน ใจคืออยากทำให้จบๆไป อยากกลับบ้าน ตอนที่เจอใจผมเต้นรัวเลยว่า เหี้ยอะไรว่ะเนี่ย เราโดนฝึกให้เจอคนด่า แต่เราเจอในภาวะที่เราจับเขา แต่ตอนเหตุการณ์นั้นคือ ยังไม่ได้จับหรือทำอะไรเลย”
 
“ตำรวจไม่ได้ว่าจะมีอารมณ์ว่าจะต้องจัดการมัน รู้สึกว่า อยากกลับบ้าน ทุกคนพูดถึงแต่วันกลับบ้าน เบี้ยเลี้ยงคือได้วันละ 200 บาท แต่ค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อีกอย่างคือ เรารู้แล้วว่า ตอนท้ายมันจะเป็นอย่างไร เรารู้ว่า เขาเรียกร้องและมีผลดีกับเราอย่างไร”
 

เหตุกระทบใจตำรวจ : การต่อว่า, ขบวนเสด็จและม็อบ16กรกฎา

 
การเผชิญหน้ากับประชาชนครั้งนั้นทำให้ ‘เอ’ สร้างความรู้สึกไม่ดีอย่างมาก “ตอนนั้นคิดจะลาออกด้วยซ้ำไป โดนชี้หน้าด่า ผมยึดมั่นนะว่า ตำรวจบ้านนอกรับใช้ประชาชนมากกว่า เราอยู่ต่างจังหวัดอยู่กินข้าว เช้ามาก็ไปกินน้ำชากับชาวบ้าน เราอยู่กับชาวบ้านตลอด”  ขณะที่วันเดียวกันยังมีเหตุการณ์ที่กระทบใจตำรวจหลายนาย กรณีขบวนเสด็จผ่านผู้ชุมนุมมาที่แยกพาณิชยการและนางเลิ้ง  ‘เอ’ บอกว่า ตำรวจหลายนายมีปฏิกิริยาที่รับไม่ได้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทำนองว่า กระทบใจ แต่เขา ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงตอนเกิดเหตุด้วยมองว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นการถวายความปลอดภัยของตำรวจก็มีช่องโหว่ด้วยเช่นกัน
 
อีกเหตุการณ์ที่เขารับไม่ได้คงเป็นเหตุการณ์วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่างและม่อน-ธนเดช ศรีสงคราม นัดรวมตัวเพื่อขอความชัดเจนเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ดีแก่ประชาชนกับอนุทิน ชาญวีรกูล เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมขอให้อนุทินชี้แจงต่อผู้ชุมนุมจะเป็นทางใดก็ได้ เช่น จดหมายหรือคลิปวิดีโอภายในเวลา 17.00 น. เมื่อถึงเวลาไม่มีคำตอบ มวลชนจึงตั้งแถวเข้าไปที่แนวตำรวจ มีการผลักดันและกระทืบไปที่แนวโล่ของตำรวจ
 
ระหว่างนั้นมีการจับกุมไบร์ท-ชินวัตรและผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่ง ต่อมาตำรวจได้สั่งการให้ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมม่อน-ธนเดช ระหว่างที่จับกุมนั้นมีมวลชนวิ่งเข้าไปช่วยเหลือ ผลักดันจนนำตัวออกมาได้ ตำรวจนอกเครื่องแบบนายนั้นล้มลงไป มีกลุ่มบุคคลเข้าไปกระทืบและหนึ่งคนคว้าวัตถุลักษณะคล้ายก้อนหินเดินเข้าไปด้วย ไม่แน่ชัดว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบได้รับบาดเจ็บจากวัตถุดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นกลุ่มตำรวจเข้ามาห้ามไว้
 
“ผมรู้สึกว่า รับไม่ได้ มันเรียกร้องด้วยความรุนแรง บางครั้งตำรวจอาจจะเคยไปยืนในม็อบ[ร่วมชุมนุม]ด้วยซ้ำ สิ่งที่สัมผัสได้คือรู้สึกอันตราย ทำไมมาประท้วง...ไม่ใช่อารมณ์ความโกรธนายกฯ แต่มันคือความคึกคะนอง”
 
‘เอ’ เล่าว่า ตอนที่เขาไปอยู่แนวหน้าและต้องเจอกลุ่มคนที่เขาให้นิยามลักษณะว่า เป็น “เด็กช่าง” เช่นกรณีของการชุมนุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ทำให้เขารู้สึกกลัวและตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้กำลังเช่นนี้ เขามองการชุมนุมว่า ครั้งนี้มันไม่เหมือนกับการชุมนุมของนักศึกษาในปี 2519 แล้วที่ตำรวจมองว่า นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์จะต้องจัดการให้ได้ แต่เขายอมรับว่า มีตำรวจอีกไม่น้อยเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้คิดเช่นเขา
 
เขาเล่าประสบการณ์ของตำรวจรุ่นพี่ที่ต้องรับมือชุมนุมในปี 2556 เวลานั้นชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันดีกับตำรวจมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องยางพารา ครั้งนั้นคือฝันร้ายของตำรวจในพื้นที่ กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่า ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลและเป็นที่ระบาย มีบางกลุ่มที่ต้องการทำให้ตำรวจไม่สามารถ “ทำอะไรได้อีก”  จึงเกิดเหตุการณ์เผารถตำรวจและติดตามไปที่บ้านของตำรวจ ตอนนั้นตำรวจในพื้นที่ถูกคุกคามอย่างหนัก ไม่สามารถใส่เครื่องแบบเดินได้ ซึ่งในความเห็นของเขาต่างจากกลุ่ม “เด็กช่าง” ที่เผชิญหน้ากับตำรวจในลักษณะ “คึกคะนองแล้วจบ แต่ไม่ได้นึกว่า แกนนำและภาพลักษณ์การชุมนุมเสียหายแค่ไหน”
 

ความรุนแรงไร้ประโยชน์ เบี่ยงประเด็นการไล่ประยุทธ์

 
ในระยะหลังตำรวจมักจะหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาแม้เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่อย่างคาร์ม็อบของสมบัติ บุญงามอนงค์ ตำรวจไม่ได้นำแนวปฏิบัติในการประกาศข้อกฎหมายผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่มาใช้และตั้งแนวป้องกันพื้นที่ปกป้องของรัฐไว้ ‘เอ’ ตั้งข้อสังเกตว่า การเฉยของตำรวจอาจจะต้องไปดูเปรียบเทียบกับงบประมาณในการควบคุมฝูงชน และอารมณ์ของสังคม เขามองว่า “พอปะทะกันคนก็ยิ่งโกรธ อย่างตอนนั้นฉีดน้ำ คนก็ยิ่งโกรธ คนออกมากขึ้น” จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเป็นการดำเนินคดีตามหลังแทน
 
'เอ’ บอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมไม่เป็นประโยชน์ ยิ่งรุนแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าทางรัฐบาล ผู้ชุมนุมมาไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาล แต่เมื่อเกิดความรุนแรงกลายเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมแทน