ความสุขเดียวของเรา ตอนถูกขังคือการที่เราได้หลับและได้ฝัน – ต๋ง ทะลุฟ้า

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้า นำโดยไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นัดรวมตัวที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่คืนรถเครื่องเสียงที่ถูกยึดในช่วงค่ำวันที่ 1 สิงหาคมหลังคนขับรถเครื่องเสียงคันดังกล่าวถูกสกัดจับหลังไปร่วมการชุมนุมที่กองบังคับการตชด.ภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรีที่ถูกควบคุมตัวระหว่างร่วมชุมนุมคาร์ม็อบในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ระหว่างที่กลุ่มทะลุฟ้ากำลังชุมนุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติด เจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าส่วนหนึ่งไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าบางส่วนที่ไม่ได้ถูกจับ ติดตามไปสมทบกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถุกคุมขังทั้งหมด ผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปราศรัยและมีการนำสีแดงไปสาดใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ไปร่วมการชุมนุมด้วยโดยในวันนั้นเธอมีบทบาทในการปราศรัยบนรถเครื่องเสียงระหว่างที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเคลื่อนขบวนจากสโมสรตำรวจไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวคนที่ถูกจับจากการชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติด หลังทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับ เธอเข้ามอบตัวที่สภ.คลองห้าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุในวันที่ 9 สิงหาคม ศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ฝากขังเธอและมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวของเธอในวันเดียวกันโดยอ้างเหตุว่า 

ผู้ต้องหากระทําการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คํานึงถึงความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ในภาวะที่เกิดการระบาดของ COVID-19 หากปล่อยชั่วคราวไป เชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

+++จุดเริ่มต้นของ “ต๋ง ทะลุฟ้า”+++

“ตอนนี้เราอายุ 22 ปี แล้ว กำลังเรียนชั้นปี 4 สาขาการท่องเที่ยว ที่ราชมงคลธัญบุรี ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองอะไรหรอก แต่เราก็ตั้งคำถามกับเรื่องวัฒนธรรมหรือปัญญาอื่นๆอย่างความล่าช้าของระบบราชการหรือความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข กระั่งมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ช่วงปี 2563 เราถึงเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาลัย พอเริ่มทำกิจกรรมเราก็ได้ได้รู้จักกับเพื่อนนักกิจกรรมมหาลัยอื่นๆ รวมถึงไผ่ ด้วย” 

“เราเองเคยได้ยินเรื่องของไผ่มาบ้างแล้ว ตอนที่เราเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆไผ่ก็เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่เราประทับใจ พอได้รู้จักกันก็เลยมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน เรามาทำกิจกรรมกับไผ่อย่างจริงจังก็ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ไผ่มีกำหนดเข้าพบอัยการเพื่อรายงานตัวในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เราเลยเข้าร่วมกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” เดินเท้าจากโคราชมากรุงเทพเพื่อส่งไผ่เข้ารายงานตัว แล้วพอไผ่เข้าเรือนจำเราก็ได้มาร่วมตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าด้วย”

“หลังจากไผ่ถูกขังเราก็มาร่วมตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าตรงทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่หมู่บ้านจะถูกสลายพวกเราก็จัดกิจกรรมกันทุกวัน เราเองก็ได้กลายเป็นทีมงานทะลุฟ้า บางวันก็รับหน้าที่เป็นวิทยากรในงานเสวนาประจำวันของกลุ่ม หลังตั้งหมู่บ้านได้เกือบๆสองอาทิตย์หมู่บ้านทะลุฟ้าก็ถูกสลายแต่กลุ่มทะลุฟ้าก็ยังทำกิจกรรมต่อเนื่องเรื่อยมา เราเองช่วยงานต่างๆของกลุ่มรวมถึงขึ้นปราศรัยเวลามีม็อบด้วย สำหรับม็อบวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ไปชุมนุมหน้าตชด. เราก็รับหน้าที่ผู้ปราศรัยแต่ไม่ได้ไปปาสีกับเขา”

+++ถูกออกหมายจับและถูกปฏิบัติในลักษณะคุกคามโดยเจ้าหน้าที่+++

“ตามจริงมีข่าวออกว่างวดนี้จะมีคนถูกออกหมายจับทั้งหมดเก้าคน แต่ไม่รู้ว่าใครบ้างและเราก็ไม่รู้ว่าจะโดนไหม ที่บ้านก็บอกเราว่าไม่มีหมายส่งมา ถ้าเราไม่ได้ขอให้พี่ทนายช่วยเช็คกับตำรวจก็จะไม่รู้เลยว่าเรานั้นก็เป็นหนึ่งในเก้าคนที่ถูกออกหมายจับ พอเรารู้ว่าถูกออกหมายจับก็คุยกันว่าจะไปรายงานตัวและไม่มีแผนจะหลบหนีแต่อย่างใด แล้วเราก็โพสต์แจ้งข่าวในเฟซบุ๊กกะในช่องทางโซเชียลของเราว่าจะไปรายงานตัวและไม่มีความคิดที่จะหลบหนี”

“วันที่ไปรายงานตัว (9 กันยายน 2564) ท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจค่อนข้างแย่ มีการนำเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจำนวนมากมาหน้าสถานีตำรวจและมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินมาคุมตัวพวกเราตั้งแต่หน้าทางเข้าแล้วพาเราไปนั่งอยู่ในห้องเล็กๆกับพี่ทนาย 1 คนและน้องปูน (ธนพัฒน์ กาเพ็ง) โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกประมาณ 30 คนอยู่ในห้องกับพวกเรา เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมีท่าทีไม่ดีเลย เช่น มันมีเหตุการณ์ที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่งน่าจะยศใหญ่พอสมควร พูดจาในลักษณะคุกคามทนายของเรา ตอนที่ทนายบอกว่ามาเป็นทนายประจำตัวเรา เขาก็โวยวายว่า อะไร มีหมายแต่งทนายหรือเปล่า ไล่ให้ไปแต่งทนายก่อน เราเลยว่ากลับไปว่าพี่มันไม่ใช่เรื่อง ทนายมันไม่ต้องมีใบแต่ง เขามาตามสิทธิ์ แล้วที่แย่ไปกว่านั้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นี่ทำงานกันค่อนข้างมั่ว อยู่ๆจะมาอ่านหมายจับ ทั้งๆที่พอเรามามอบตัวหมายมันต้องสิ้นผลไปแล้ว เรามาทำตามกระบวนการทุกอย่างแต่เหมือนเขาจัดการกันไม่ลงตัว มันทำให้เห็นว่าตำรวจภูธรหรือตำรวจพื้นที่ไม่ได้มีความชำนาญในการสอบสวนในคดีการเมือง”

“หลังเสร็จขั้นตอนที่สถานีตำรวจ เราถูกส่งตัวไปที่ศาลช่วงบ่ายวันเดียวกันพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนยื่นคำร้องขอฝากขัง ตำรวจคนนั้นก็มีท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรเสียเท่าไหร่ พอไปถึงศาลตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่ามีอะไรน่าห่วง คิดว่าก็คงได้ประกันตัวแหละ ทนายเขาก็บอกว่าเราไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี และยังเป็นนักศึกษาอยู่ เขาน่าจะให้ประกันตัว ตอนไต่สวนกันในชั้นศาล เหตุผลที่พนักงานสอบสวนยกมาอ้างเพื่อขอให้ศาลขังเรามันไม่ได้เกี่ยวกับรูปคดีเลย เขาให้เหตุผลว่าเขาไม่อยากให้เราไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เหตุผลเขามันมั่วไปหมด เขาโยงไปหมด เอางานที่ไม่ได้เกี่ยวกับรูปคดีมาโยง ตอนนั้นเราก็ไม่ได้กังวลกับขบวนการในชั้นศาลเพราะทนายของเราค่อนข้างมีเหตุผลสนับสนุน จนประมาณ 18.00 น. เราก็เริ่มใจไม่ดี เริ่มคิดว่าน่าจะไม่ได้รับการปล่อยตัวแล้วเพราะศาลไม่มีคำสั่งเสียที จนกระทั่ง 21.00 น. ผู้พิพากษามาอ่านคำสั่งผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่าให้ฝากขัง เราก็พยายามแถลงต่อศาลแต่ศาลก็ไม่รับฟัง”

“ถามว่าที่บ้านเราว่ายังไงกับเรื่องนี้ พ่อแม่เราทำงานที่ต่างประเทศตั้งแต่เรายังเด็ก ตอนแรกเขาก็ไม่ได้ตระหนักรู้ปัญหาในไทยเท่าไหร่ ช่วงโควิดระลอกแรกแม่เรากลับมาเปิดร้านอาหารในเมืองไทยแต่มันไปต่อไม่ได้ เขาเลยเริ่มตระหนักรู้มากขึ้นว่าถ้ายังอยู่ในประเทศไทยก็ไม่สามารถส่งเสียลูกได้ ในเรื่องความรู้สึก เขาไม่ได้ห้ามเราในการที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่เขาก็จะเป็นห่วงในฐานะครอบครัวว่าจะโดนอะไรมั้ย เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยโดนจับ มันโดนแค่หมาย ครั้งแรกที่เราโดนหมาย ครอบครัวก็ค่อนข้างจะไม่โอเค แต่เราดื้อจะทำต่อ มันก็ค่อนข้างแย่ที่ทำให้คนในครอบครัวกินไม่ได้นอนไม่หลับไปเลย แม่ก็นอนไม่ได้ เขาร้องไห้ แล้วเราเป็นคนต่างจังหวัด แม่ก็เดินทางจากโคราชมากรุงเทพเพื่อที่จะยื่นประกันตัวเราแต่สุดท้ายศาลยกคำร้อง ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม วันนั้นเราก็เจ็บนะ ครอบครัวเราเดินทางมาไกลแต่ศาลกลับทำแบบนี้”

+++ครั้งแรกในเรือนจำ+++

“หลังศาลไม่ให้ประกันเราก็ถูกพาตัวไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงคลองห้า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจโควิดเราด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งผลออกมาเป็นลบ หลังจากนั้นเราก็ถูกนำตัวไปยังห้องขังซึ่งเป็นห้องขังเดี่ยว เพราะที่ทัณฑสถานนี้ผู้ต้องขังส่วนมากเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติดและคดีลักทรัพย์”

“เราถูกขังเดี่ยว ห้องที่เราอยู่จะค่อนข้างโล่งและกว้าง ภาพมันจะไม่ได้แย่เท่ากับห้องขังตามเรือนจำที่อื่น ส่วนห้องน้ำเขาให้เราอาบน้ำในห้องส้วมเลย ห้องส้วมก็จะเป็นแค่บล็อกก่ออิฐกินพื้นที่ประมาณครึ่งนึงของห้องขัง ผู้คุมจะเอาผ้ามาให้เรากั้นเป็นม่านเวลาอาบน้ำแต่ด้วยสภาวะที่เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เวลาที่เราจะปลดทุกข์มันก็ทำใจลำบากโดยเฉพาะเวลาที่ต้องเข้าห้องน้ำครั้งแรกๆ เราเคยคิดถึงขั้นที่จะไม่เข้าห้องน้ำเลย แต่เราก็ปรับตัวได้  การเอาตัวรอดมันก็ต้องอยู่ให้ได้”

“เรื่องอาหารนี่จริงจังเลย ในนั้นมันเหี้ยมาก มันแย่มากๆสำหรับเรา อาหารในนั้นมันเป็นข้าวแข็งๆ มีต้มผักกับโครงไก่ใหญ่ๆ ไม่ถึง 500 แคลอรี่ บางวันก็ข้าวมีกลิ่นเหมือนใกล้บูด บางวันก็มีมดมาด้วย แม้แต่อาหารที่เราจ่ายด้วยเงินซื้อก็ไม่ได้ดี รู้สึกว่ากินกันตายเฉยๆ มันไม่เหมือนโลกปกติ มันเหมือนโลกมายาที่เลือกอะไรไม่ได้เลย วันไหนมีหมูหลุดมาชิ้นนึงคือสวรรค์แล้ว มันไม่ใช่อาหารเหมือนเป็นก้อนโปรตีนที่ทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้ ตามจริงถ้าเราอยู่ในนั้นต่อเราคิดว่าจะเขียนคำร้องเพื่อเรียกร้องเรื่องอาหารเพราะคนในนั้นส่วนมากก็ไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของตัวเอง”

“การใช้ชีวิตในเรือนจำให้ผ่านไปในแต่ละวันนั้นยากมากๆ ในห้องขังเรามีแค่พัดลมเป็นเพื่อน ได้แต่มองเพดานอยู่ในห้องที่เปิดไฟสว่างตลอด 24 ชั่วโมง ความสุขเดียวที่มีในตอนนั้นจึงคือการได้นอน เราพยายามขอยานอนหลับเพื่อจะได้นอนทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างน้อยๆตอนนอนเราก็ได้ฝันว่าเราได้ไปเที่ยว ได้ไปม็อบ ได้กินในสิ่งที่อยากกิน”

“ทนายสามารถเข้าพบเราผ่าน video conference อย่างเดียวเลย ส่วนญาติกับเพื่อนจะไม่สามารถเข้าพบเราได้ เขาจะให้นั่งรอแค่ข้างหน้า ต้องฝากผ่านทนายเข้ามาคุยเท่านั้น ทนายก็จะมาเล่าเรื่องภายนอกให้เราฟัง อย่างเช่นตอนนั้นมี popcat เขาก็เอามาเล่าให้เราฟัง เราก็แบบ มันเหมือนตอนที่เรายังอยู่ข้างนอกเลยเนอะ”

+++กดทับและตีตรา: สิ่งที่ได้รับจากผู้คุมและนักจิตวิทยา+++

“เจ้าหน้าที่ที่เราพบเจอในเรือนจำจะมีสองส่วนคือผู้คุมกับนักจิตวิทยา เอาเรื่องผู้คุมก่อนปกติผู้คุมชุดหนึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง 10-12 วัน แล้วถึงจะสลับกำลัง ผู้คุมชุดแรกที่ดูแลเราตอนเราเข้ามาใหม่ๆเขาก็ปฏิบัติกับเราโอเคนะ ตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็น แต่ก่อนเราจะได้ประกันตัวถึงเวลาสับกำลังพอดี ผู้คุมชุดใหม่ที่มานี่ไม่ค่อยโอเค อย่างตอนเราขอน้ำร้อน เราก็บอกกับเขาว่าพี่รบกวนขอน้ำร้อนหน่อยนะคะ แต่เขาตอบกลับเราด้วยน้ำเสียงกระแทกแดกดัน เราก็ตกใจว่าแบบ เป็นเหี้ยไรวะ แล้วพอเอาขึ้นมา ห้องที่เราอยู่มันจะเป็นประตูสองชั้น ห้องอื่นอาจจะล็อกแค่ประตูใหญ่แต่ห้องเรามันล็อกประตูในด้วย เขามาถึงก็เคาะกรงด้วยสีหน้าและท่าทางที่ค่อนข้างแย่ แล้วก็พูดกระแทกว่าเปิดประตูสิไรงี้ เราก็บอกว่าเปิดไม่ได้ค่ะ เขาก็เคาะอีกเหมือนไม่ฟังแล้วก็พูดเปิดประตูสิอีก เราก็เลยตะโกนกลับไปว่ามันเปิดไม่ได้ มันล็อกอยู่เห็นมั้ย เขาก็อึ้ง เขาก็คงไม่คิดว่าจะมีคนที่กล้าทำแบบนี้ หลังจากเหตุการณ์นั้นการปฏิบัติตัวของเขาก็เปลี่ยนไป มาเรียกเราหนูบ้างลูกบ้างโน่นนี่ มันแสดงให้เห็นเลยว่าในเรือนจำมันเป็นสังคมที่กดทับมากๆ ถ้าเราไม่สู้ไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ก็จะอยู่ลำบากมากๆในนั้น”

“ในเรือนจำจะมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำตามหน้าที่ได้ในแบบที่มันควรจะเป็น แล้วก็จะมีก็มีเจ้าหน้าที่ที่เอาทัศนคติส่วนตัวมาใส่นักโทษ อย่างเช่นตอนเรามีภาวะซึมเศร้า เราก็ยื่นเรื่องขอพบนักจิตวิทยาในทัณฑสถานเพราะก่อนหน้านี้ที่เราได้พบกับนักจิตวิทยาข้างนอกที่เป็นฝั่งประชาธิปไตย ตอนที่ได้พูดคุยเราก็รู้สึกดีขึ้น เราเลยคาดหวังกับการพบกับนักจิตวิทยาในทัณฑสถาน พอเราได้เจอเขาเราก็อธิบายขั้นตอนทางกฎหมาย เล่าว่าเราโดนอะไรมาบ้าง แต่สิ่งที่นักจิตวิทยาคนนั้นพูดคือ เขาตัดสินเราไปแล้วว่าเราเป็นเด็กที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เขาบอกเราว่าการเมืองในประเทศไทยไม่ได้เป็นการเมืองที่เสรีขนาดนั้น เขาจะสื่อว่าถ้าเราอยู่ต่างประเทศ เราสามารถเรียกร้องประชาธิปไตยได้นะ แต่นี่เราอยู่ประเทศไทยมันยังไม่เสรีขนาดนั้น ซึ่งพอเราฟังจบเรารู้สึกแย่มาก เรารู้สึกว่าเขาไม่มีสิทธิ์มาตัดสินความคิดของคนที่เข้ารับการบำบัด นี่เขาเป็นคนไข้ของคุณนะแต่คุณกลับเอาทัศนคติส่วนตัวทางการเมืองของคุณมาตัดสิน ข้างนอกมันมีสวัสดิการมีสิ่งที่เราเลือกได้น้อยอยู่แล้ว มันเหี้ยอยู่แล้ว แต่ข้างในมันเลือกไม่ได้เลย มันแย่กว่ามาก เรารู้สึกแบบโคตรไม่โอเค แบบมึงเป็นคนเดียวทีรัฐจ้างมา ที่ประชาชนจ่ายเงินภาษีให้แต่ทำไมคุณไม่ทำหน้าที่ให้มันเยียวยาจริงๆ”