ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112 สิงหาคม-กันยายน 2564 เมื่อการชุมนุมร้อนแรง คดีความก็มากขึ้น

หลังกิจกรรมทางการเมืองหยุดไปชั่วขณะจากการระบาดระลอกสี่ของโควิด 19 ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่พบผู้ติดเชื้อหลักหมื่นต่อวัน แต่วิกฤติการณ์โรคระบาดก็ยิ่งเปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะรับมือกับปัญหาและการไม่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนทำให้ถึงจุดหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่ยังไม่บรรเทาการแสดงออกเพื่อขับไล่รัฐบาลก็เดินหน้าต่อไป พร้อมกับระลอกใหม่ของการไล่จับกุมผู้ประท้วงและการดำเนินคดีทางการเมืองในเดือนกันยายน –  ตุลาคม 2564 
เพื่อรำลึกวันครบรอบหนึ่งปีของการนำเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเดือนสิงหาคม กิจกรรมทางการเมืองและการ “ยืนยันดันเพดาน” ก็กลับมาเดินหน้า เริ่มจากการชุมนุม “แฮร์รี่พ็อตเตอร์2” ตามมาด้วยการชุมนุมครั้งอื่นๆ ที่เกิดเหตุปะทะกันรุนแรงซำ้ๆ หลายครั้งจนขยายตัวไปสู่การชุมนุมที่ไม่สงบ และการเพิกถอนประกันตัวผู้ชุมนุมด้วยข้อหามาตรา 112 การออกหมายเรียกผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนกระทั่งเกิดคดี “เผารูป” ขึ้นอีกหลายครั้งในเดือนกันยายน
ช่วงเวลาสองเดือนนี้ การบังคับใช้มาตรา 112 “คึกคัก” ขึ้นอีกครั้ง ขณะที่แกนนำชุมนุมจำนวนหนึ่งก็ทยอยถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคนหน้าใหม่ที่ไม่ใช่แกนนำชุมนุมได้รับหมายเรียก ถูกจับกุมและดำเนินคดี จากคดีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ การเข้าร่วมการชุมนุม และการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รวมแล้วเกิดคดีใหม่ขึ้นในช่วงสองเดือนนี้ไม่น้อยกว่า 20 คดี

คดีใหม่ ให้กับผู้ต้องหาหน้าเก่า

การดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อผู้ปราศรัยในการชุมนุมยังเดินหน้าไป 28 สิงหาคม 2564 บิ๊ก เกียรติชัย สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท จากการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่สกายวอล์ปทุมวันถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์และกล่าวถึงรัชกาลที่ 7 
9 กันยายน 2564 วรรณวลี หรือตี้ พะเยา และเบนจา สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.พญาไท ในคดีเดียวกันกับบิ๊ก เนื้อหาในการปราศรัยที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาของตี้ วรรณวลี สามารถสรุปใจความได้ว่า เวลามีสงคราม สู้รบกัน มีการเจ็บการตาย คนที่ได้รับการยกย่องเชิดชูกลับเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่บรรพบุรุษที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป เนื้อหาถูกแจ้งข้อกล่าวหาของเบนจา คือ การพูดถึงว่ากษัตริย์ปล่อยให้มีการทำรัฐประหารหลายครั้งทั้งๆที่สามารถเลือกจะไม่ให้ทำก็ได้ ทำให้ตี้ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สี่ เบนจา เป็นคดีที่ห้า เกียรติชัย เป็นคดีที่สอง ในคดีนี้ทั้งสามคนไม่ถูกควบคุมตัว
อานนท์ นำภา เข้ารายงานตัวที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 จากเหตุการปราศรัยในม็อบ “แฮร์รี่พ็อตเตอร์2” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 และถูกตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเป็นคดีที่ 13 ของเขา ก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ระหว่างอยู่ในเรือนจำมีตำรวจไปแจ้งข้อหาเพิ่มอีกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 จากการโพสข้อความบนเฟซบุ๊ก เป็นคดีที่ 14 ของเขา 
ธนกร หรือเพชร เยาวชนนักกิจกรรม ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองนนทุบรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 จากการปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 คดีนี้ครั้งแรกเพชรถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 แต่ต่อมาอัยการสั่งให้เพิ่มข้อหามาตรา 112 เข้ามาด้วย เพชรจึงถูกเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมหลังผ่านไปหนึ่งปีแล้ว ซึ่งกลายเป็นคดีที่เจ็ดของเขา 
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดเผยทางทวิตเตอร์ว่า เขาได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกสองหมาย หนึ่งในนั้นเป็นหมายเรียกในคดีเดิมของ สน.นางเลิ้ง ซึ่งธนาธร ถูกดำเนินคดีจากการไลฟ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีน และอีกคดีหนึ่งยังไม่ทราบเหตุแห่งคดีที่แน่ชัด เนื่องจากธนาธรเดินทางไปแข่งวิ่งที่ประเทศฝรั่งเศสจึงเลื่อนกำหนดการรายงานตัวไปก่อน และยังไม่มีข่าวความคืบหน้าว่า เขาไปรายงานตัวแล้วหรือไม่ และคดีที่สน.พหลโยธินนั้นเกิดจากเหตุใด 

คดีใหม่ ให้กับผู้ต้องหาหน้าใหม่

คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับ “คนหน้าใหม่” หรือคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำจัดการชุมนุมอยู่แล้ว และคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีข้อสังเกตว่าคดีที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์ นอกจากจะมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหาและยังมีประชาชนฝั่งตรงข้ามทางการเมืองเป็นผู้กล่าวหาริเริ่มคดีด้วย ตัวอย่างเช่น
27 สิงหาคม 2564 ธนาธร หรือฮ่องเต้ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ จากเหตุการปราศรัยหลังเสร็จกิจกรรม Car Mob ล้านน้าต้านศักดินา ที่ลานสามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 และมีการเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10 
15 กันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าได้ “ชัยชนะ” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 32 ปี ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวจากบ้านพัก ในช่วงเช้าราว 8.00 น.  ตำรวจควบคุมตัวชัยชนะไว้ที่ สภ.ลี้ เป็นเวลา 1 คืน ก่อนส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจาก สภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาบริเวณจังหวัดนครปฐม เพื่อนำตัวไปไปยังจุดหมาย คือ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา คือ การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ โดยมีทั้งข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ข้อความระบุว่า “ควรมิควรแล้วแต่กระโปก ว่าซั่น” พร้อมแนบข่าวเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์, ข้อความวิพากษ์วิจารณ์โครงการศาสตร์พระราชา และการแสดงความคิดเห็นข้อความใต้โพสต์ของผู้อื่น เกี่ยวกับการสั่งทหารฆ่าประชาชน ผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งกล่าวโทษไว้หลายคดีที่สภ.เมืองสุไหงโก-ลก ชัยชนะมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท
22 กันยายน 2564 สุพิชฌาย์ หรือเมนู เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่มาพร้อมกับครอบครัว เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่สภ.เมืองหาดใหญ่ เหตุแห่งคดีเกิดจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “เด็กเปรต” โดยกล่าวหาจากเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 รวมทั้งการยัดเยียดเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาในหนังสือเรียน 
23 กันยายน 2564 อัครสร หรือ อั่งอั๊ง เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จากการโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์บัญชี @AngAngOpilan เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงเหตุปะทะระหว่างกลุ่มราษฎร และตำรวจบริเวณหน้าศาลอาญา แม้ภายหลังเจ้าตัวได้ลบข้อความไปแล้ว คดีนี้แน่งน้อย อัศวกิตติกร จากศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือศชอ. เป็นผู้กล่าวโทษ 
29 กันยายน 2564 รักชนก หรือ “ไอซ์” สมาชิกกลุ่ม “คลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย” เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากการทวีตข้อความ 2 กรณี ได้แก่ กรณีวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวีตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์ คดีนี้มณีรัตน์ เลาวเลิศ เป็นผู้กล่าวโทษ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปจำนวนคดีที่รับผิดชอบเมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว 144 คน จาก 144 คดี 
คดีของเหล่า “คนหน้าใหม่” ส่วนใหญ่เมื่อผู้ต้องหาไปรายงานตัวแล้ว ตำรวจใช้ดุลพินิจไม่ควบคุมตัว เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเสร็จก็ให้กลับบ้านได้เลย ยกเว้นบางคดี เช่น คดีของธนาธร ที่ตำรวจส่งตัวไปฝากขังเลย แต่ศาลก็ยังอนุญาตให้ประกันตัว ตรงกันข้ามสำหรับคดีคนที่โดดเด่นในฐานะผู้ปราศรัยในการชุมนุม กลับถูกเพิกถอนการประกันตัว

เพิกถอนประกันตัว เครื่องมือสำคัญหวังหยุดข้อเรียกร้อง

ต้นปี 2564 ระหว่างที่กระแสการชุมนุมกำลังจะเริ่มกลับมาผู้ปราศรัยในการชุมนุมที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 17 คน ต้องเข้าเรือนจำเป็นระยะเวลาสั้นยาวต่างกัน ตัวอย่างเช่น อานนท์ นำภา, เพนกวิ้น พริษฐ์, ไผ่ จตุภัทร์, ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกศาลสั่งให้คุมขังเนื่องจากไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563, แอมมี่ ไชยอมร ไม่ได้ประกันตัวในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์, จัสติน ชูเกียรติ ไม่ได้ประกันตัวในกรณีติดสติ๊กเกอร์ที่พระบรมฉายาลักษณ์, ฟ้า พรหมศร ไม่ได้ประกันตัวในคดีการชุมนุมหน้าศาลธัญบุรี ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการติดคุกด้วยมาตรา 112 โดยยังไม่มีคำพิพากษาทั้งหมด แต่หลังเข้าเรือนจำอยู่พักหนึ่ง แต่ละคนก็ทยอยได้ประกันตัว พร้อมศาลกำหนดเงื่อนไขในรายละเอียดให้แตกต่างกัน
และเมื่อพวกเขาส่วนใหญ่ยังคงเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมในฐานะผู้ปราศรัยต่อ แม้ศาลจะไม่ได้กำหนดห้ามแต่ก็กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาต้องกลับเข้าเรือนจำไปอีกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564
9 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์ เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง หลังทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับในข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังเข้ารายงานตัว พนักงานสอบสวนทำการฝากขังจตุภัทร์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 11 สิงหาคม 2564 อัยการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว ในคดีจากการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ศาลให้เพิกถอนการประกันตัวเดิม โดยเห็นว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อศาลอาญาว่า จะไม่ไปก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมืองอีก แต่มีพฤติการณ์ร่วมทำกิจกรรมทำให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายเป็นอย่างมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ใช้เส้นทางสัญจรถนนหลวง อีกทั้งในสถานการณ์ขณะนี้ที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หลายครั้งจริง
ต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวจตุภัทร์ใหม่ ศาลมีคำสั่งในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ว่า “แม้จตุภัทร์จะไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขของศาล แต่หลังจากได้รับประกันตัวได้เข้าร่วมชุมนุมหลายครั้งจนถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดี ในการชุมนุมบางครั้งมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม บางครั้งมีการสาดสีใส่สถานีตำรวจหรือที่ทำการพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย พอจะถือได้ว่าเป็นการก่อภยันตรายประการอื่นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (3)” 
9 สิงหาคม 2564 ตำรวจนำตัวผู้ต้องหา 9 คน รวมทั้งเพนกวิ้น พริษฐ์มาส่งศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อขอฝากขัง โดยถูกตั้งข้อกล่าวหามั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลธัญบุรีสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะเดียวกันที่ศาลอาญามีการไต่สวนเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวกรณีของเพนกวิ้น ในคดีการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยภายหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งว่า การกระทำของเพนกวิ้นมีเจตนาด้อยค่าหรือลดคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะมีผลเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ในที่สุด อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งศาลเคยตักเตือน และกำชับ ผ่านผู้กำกับดูแลมาแล้ว จึงให้เพิกถอนการประกันตัว 
แม้ต่อมาในคดีของศาลธัญบุรีจะสั่งให้ประกันตัวทั้งเพนกวิ้นและผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีเดียวกันเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ทำให้ผู้ต้องหาคนอื่นๆ อีก 5 คนได้ปล่อยตัว แต่เนื่องจากเพนกวิ้นติดคำสั่งของศาลที่ให้เพิกถอนการประกันตัวในคดีการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 จึงยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และถูกย้ายไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพตามเขตอำนาจของคดีที่ถูกคุมขัง
อย่างไรก็ดี บางกรณีศาลก็ไม่ได้สั่งให้เพิกถอนประกันตัวตามที่ได้รับคำร้องเสมอไป 21 กันยายน 2564 ศาลอาญาธนบุรีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 ของ “จัสติน” ชูเกียรติ และ “ตี้ พะเยา” วรรณวลี จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 และยังนัดไต่สวนกรณีอัยการขอให้ศาลเพิกถอนประกันวรรณวลีเนื่องจากการเข้าร่วมปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” 24 มิถุนายน 2564 หลังไต่สวนแล้วศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน เพราะไม่ปรากฏว่าวรรณวลีได้กระทำผิดเงื่อนไขของสัญญาประกันซ้ำอีก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้โอกาสวรรณวลีต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ศาลจึงได้กล่าวตักเตือนให้วรรณวลีปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด

“เผารูป” ระบาด คดีพุ่งตามมา

เดือนกันยายน 2564 เกิดเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 อย่างน้อยสี่แห่ง ได้แก่ 12 กันยายน ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณทางลงทางด่วนดินแดงถูกเผาระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส เจ้าหน้าที่ดับไฟได้ทัน, 13 กันยายน พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกเผา, 14 กันยายน ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ใกล้กับแยกดินแดง และการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สถูกเผา ทุกเหตุการณ์มีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมและตำรวจสามารถติดตามจับกุมได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
พฤติกรรมการเผา บางกรณีตำรวจเลือกตั้งข้อหาและดำเนินคดีในฐาน “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 มีโทษจำคุกหกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับ 10,000-140,000 บาท ซึ่งเป็นข้อหาที่ตรงตัวกับรูปแบบของการกระทำ แต่บางคดีตำรวจก็ตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ด้วย ซึ่งมีโทษหนักกว่า คือ จำคุกระหว่าง 3-15 ปี ไม่มีโทษปรับ
14 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. ด.ช.นัท (นามสมมติ) อายุ 14 ปี ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบราว 5-6 นาย เข้าควบคุมตัวที่หมู่บ้านย่านพระราม 2 ขณะกำลังเตะฟุตบอลเล่นกับเพื่อนๆ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุมและทำให้เกิดเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางลงด่วนดินแดง ก่อนจะนำตัวไปที่สน.ดินแดง ตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ มั่วสุมก่อความวุ่นวาย ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
17  กันยายน 2564 ช่วงค่ำถึงดึก ชุดสืบสวน สน.ดินแดง และกองบังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น. เข้าจับกุมประชาชน 3 ราย ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน ศาลเยาวชนฯ และศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 3 ราย โดยศาลอาญาให้ติด EM พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาทั้งสองกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น. วันต่อมา อธิคุณ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันกับสามคนแรก ขณะนอนอยู่ในบ้านที่ อ.บางปะอิน รวมเป็นคนที่สี่จากเหตุเดียวกัน 
17 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่นได้นำหมายค้นพร้อมหมายจับเข้าทำการตรวจค้นห้องพักของผู้ต้องสงสัย 2 จุด และสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ คือ เจมส์ และ บอส (ชื่อเล่น) โดยทั้งคู่มีความผิดในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์  ซึ่งต่อมาศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ หลังจากนั้นวันที่ 25 กันยายน อัครเดช ผู้ที่ถูกกล่าวหาอีกคนหนึ่งเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในกรณีที่เกิดขึ้นที่ขอนแก่นตำรวจตั้งข้อกล่าวหาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ยังไม่ดำเนินคดีตามมาตรา 112
นอกจากนี้ยังมีคดีมาตรา 112 จากเหตุการณ์ “เผา” อีกคดีหนึ่งที่เริ่มต้นคดีในเดือนกันยายน คือ กรณีของพิทยุตม์ อายุ 23 ปี ลูกจ้างบริษัทเอกชนชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเดินทางไปที่ สภ.หนองหาน จ.อุดรธานีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีวางเพลิงเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลแห่งหนึ่งในคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเพียงข้อหาเดียว แต่เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ อัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม