วิเคราะห์คำประกาศตำรวจ อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโรค แต่สั่งห้ามชุมนุมเพื่อ “คุมม็อบ”

ตั้งแต่ปี 2563-2564 เกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 1,500 ครั้งทั่วประเทศ การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ นอกรั้วสถานศึกษาจะอยู่ภายใต้กติกาของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ก็ทำให้เข้าสู่ช่วงเวลายกเว้นที่พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไม่ได้บังคับใช้ เป็นเวลากว่าปีครึ่งที่การชุมนุมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามข้อกำหนดและประกาศฉบับ ต่างๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาด โดยอาศัยอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
แทบทุกครั้งที่มีการชุมนุมบนพื้นที่สาธารณะ ก่อนเริ่มการชุมนุมจะมีภาพตำรวจจากสถานีตำรวจที่รับผิดชอบในท้องที่นั้นถือเครื่องขยายเสียงมายืน “ประกาศ” อ่านข้อความในกฎหมายฉบับต่างๆ ให้ผู้ชุมนุมได้ทราบทั่วกัน ในการชุมนุมบางครั้งที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มาก และไม่มีความเสี่ยงว่าจะฝ่าฝืนข้อห้ามใดๆ ตำรวจก็อาจใช้ลำโพงตัวเล็กๆ ที่เตรียมมาเอง แต่บางครั้งที่สถานการณ์ตึงเครียดตำรวจอาจใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ หรือรถเครื่องเสียงเพื่อประกาศให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากได้ยินโดยกว้างขวาง เท่าที่ติดตามสังเกตการณ์ตำรวจทุกคนที่รับหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องเสียงจะเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อาจเป็นผู้กำกับการสน.ในพื้นที่ หรือรองผู้กำกับฯ และใช้น้ำเสียงที่สุขุม สุภาพ ใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวัง เมื่อประกาศเสร็จก็ปิดเครื่องเสียงและออกจากพื้นที่ไป
ภาพการปรากฏตัวของตำรวจในเครื่องแบบสีกากีแต่งชุดเต็มยศจากสถานีในท้องที่เพื่อมาประกาศแจ้งก่อนเริ่มกิจกรรม หากได้เห็นครั้งแรกๆ อาจให้ความรู้สึกถึงการแสดงอำนาจข่มขู่ เพื่อสร้างอุปสรรคและความหวาดกลัวในที่ชุมนุม แต่เมื่อพบเห็นบ่อยๆ ก็พอจะคุ้นชิน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แทบไม่ได้สนใจฟังประกาศของตำรวจอีกต่อไป

กฎหมายบังคับให้ต้องแจ้งเตือนก่อน จึงดำเนินการขั้นต่อไปได้

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 21 กำหนดว่า กรณีที่การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด หรือให้เลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด หากประกาศแล้วผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟังถึงจะมีอำนาจไปร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้สั่งเลิกการชุมนุมนั้น ถ้าหากตำรวจไม่ได้ประกาศให้ถูกต้องตามขั้นตอนก่อนก็จะไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง และหากศาลแพ่งสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว มาตรา 23 ก็ยังไม่ให้ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ทันที แต่สั่งให้ตำรวจต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อน และห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต หากทำตามขั้นตอนนี้แล้ว เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศแล้วยังมีผู้ชุมนุมไม่ยอมแยกย้าย มาตรา 24 จึงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมได้
นอกจากนี้ตามหลักสากล แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ข้อ 6.3.3 ยังกำหนดหน้าที่สำหรับเจ้าหน้าที่ไว้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ควรเริ่มจากการระบุตัวผู้ใช้ความรุนแรงและแยกออกจากผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้การชุมนุมหลักเดินต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ใช้ต่อเป้าหมายเป็นคนๆ ต้องทำหลังจากประกาศแจ้งเตือนอย่างเหมาะสมแล้ว เว้นแต่ว่าการประกาศเตือนอาจทำให้เสียเวลาและเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือกลายเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมควรจะมีเวลาที่จะปฏิบัติตามประกาศนั้นๆ และมีพื้นที่หรือเส้นทางปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุมที่จะเคลื่อนย้ายออก
“law enforcement agencies should seek to identify any violent individuals and isolate them from the other participants. This may enable the main assembly to continue. If these targeted interventions are ineffective, law enforcement officials may employ weapons that target groups rather than individuals (such as water cannon or tear gas) after having issued an appropriate warning, unless giving the warning would cause a delay that would either risk causing serious injury or, in the circumstances, be futile. In addition, participants in the assembly should be given time to obey the warning and a safe space or route for them to move to shall be ensured.” 
หากเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยไม่มีประกาศแจ้งเตือนก่อน ย่อมขัดต่อหลักการสากลในการควบคุมดูแลการชุมนุม ดังนั้น การประกาศจึงเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญที่ตั้งฐานอำนาจของตำรวจก่อนจะดำเนินการขั้นตอนต่อๆ ไปได้ ในการชุมนุมแทบทุกครั้งตำรวจจึงเริ่มจากการปรากฏตัวออกมาประกาศก่อนตั้งแต่ต้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นกระบวนการควบคุมดูแลการชุมนุมในส่วนของตัวเองให้สมบูรณ์ และหากต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปก็สามารถทำได้ทันที

ช่วงต้นของการชุมนุมในปี 2563 ตำรวจไม่ได้ประกาศห้าม

การชุมนุมในปี 2563 ปะทุขึ้นตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2563 ก่อนการระบาดของโควิดระลอกแรก และกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2563 ในช่วงเวลานี้เป็นกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งการชุมนุมในรั้วสถานศึกษาเป็นเสรีภาพที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตราบใดที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ก็ไม่มีกฎหมายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ไม่ต้องทำตามเงื่อนไขของตำรวจ 
และต่อมาเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ก็มีผลเป็นการยกเว้นการบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การชุมนุมในช่วงเวลานี้จึงไม่พบเห็นตำรวจปรากฏกายในเครื่องแบบมาแทรกแซงหรือประกาศห้ามการชุมนุม 
แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และข้อกำหนด ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ระบุว่า ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติช่วงแรกของการระบาดก็ไม่มีใครจัดการชุมนุมขึ้น ต่อมาในช่วงกลางปี 2563 เมื่อไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดในระดับที่น่ากังวล การบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ก็ไม่ได้จริงจังนัก ตำรวจมักไม่ได้นำมาเป็นเหตุที่จะสั่งห้ามการชุมนุม หรือสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยตรง
ตัวอย่างเช่น 
การชุมนุม “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจปรากฏตัวมาประกาศก่อนเริ่มกิจกรรม ซึ่งเนื้อหาที่ประกาศไม่ได้ห้ามการชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีใจความดังนี้ 
“จากสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามนะครับ ต้องขออนุญาตกราบเรียนประชาสัมพันธ์ตามข้อกฎหมายครับ ถือว่าเป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามปกติครับ เนื่องจากอาศัยความตามมาตรา 9 นะครับ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนะครับ ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือว่ารวมกลุ่มทำกิจกรรมอันเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคนะครับ ดังนั้น กราบเรียนทุกท่านท่ีทำกิจกรรมให้สวมหน้ากากแล้วก็เว้นระยะห่างนะครับ ในส่วนประการที่สองครับ ใคร่ขอความกรุณาในการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนทั่วไปได้สัญจรตามปกตินะครับ แล้วก็ถ้าหลีกเลี่ยงได้ขอความกรุณาอย่าลงบนผิวจราจรนะครับ ส่วนประการที่สามนะครับ หากผู้ทำกิจกรรมทุกท่านเห็นว่ามีบุคคลน่าสงสัย แปลกปลอมเข้ามา ไม่รู้ว่าเป็นใคร สามารถที่จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบทุกท่านนะครับเข้าไปตรวจสอบได้ หวังว่านะครับ ขอความกรุณาทุกท่านร่วมกิจกรรมกันภายใต้กรอบนะครับ แล้วก็ขอความเห็นใจและเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านนะครับ กราบขอบพระคุณครับ”

ประยุทธ์เปลี่ยนใจ ขอใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดีกว่า

แม้จะมีข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค แต่เมื่อประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นเดือน ความเสี่ยงต่อการแพร่โรคจึงไม่เป็นสาระสำคัญ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ระหว่างที่การชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว และตำรวจไม่มีกฎหมายในมือจะใช้งานได้โดยตรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 สั่งใหม่ว่า ในระหว่างที่ยังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่นี้ การชุมนุมใดๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และมาตรการป้องกันโรคของทางราชการ ซึ่งการออกข้อกำหนดเช่นนี้ยังมีปัญหาในการตีความอีกมาก เพราะเท่ากับว่า เป็นการออกข้อกำหนดมายกเว้นพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3(4) มีผลให้มาตรการควบคุมโรคต่างๆ และเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ถูกใช้บังคับไปในเวลาเดียวกัน การเขียนเช่นนี้อาจผิดหลักกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้
การออกข้อกำหนดที่ผิดหลักการทำให้เกิดความสับสน และผู้จัดการชุมนุมส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็รับเอามาปฏิบัติแล้ว หลังวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เราจึงมักเห็นภาพตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงก่อนเริ่มการชุมนุม โดยหยิบเอาเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสั่งให้เลิกการชุมนุม
ตัวอย่างเช่น
การชุมนุม “สมุทรปราการจะดีดนิ้วไล่เผด็จการ” ที่หอชมเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ตำรวจอ้างว่าผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน จึงสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่ได้สั่งให้เลิกการชุมนุมในวันนั้น โดยมีใจความ ดังนี้
“กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้องทุกท่านนะครับ ผมขออนุญาตสั้นๆ นิดเดียวนะครับ กระผมพ.ต.ท.ธวัชชัย จงยิ่งเจริญ สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการนะครับ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาชี้แจงและประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายให้ทุกท่านทราบนะครับ การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยประกาศต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ ถือว่าการกระทำดังกล่าวคือการชุมนุมสาธารณะนะครับ ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้เชิญชวนให้มาชุมนุมหรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมยังไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ ทำให้การชุมนุมของท่านในครั้งนี้ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระผมจึงขอประชาสัมพันธ์มาให้ทุกท่านทราบ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ครับ ก็ สำหรับทุกท่านนะครับที่ผมได้ประชาสัมพันธ์ไป ใครมีข้อสงสัยก็ขอเรียนเชิญที่ทางโรงพักนะครับ ให้มาแจ้งกับทางโรงพักให้เรียบร้อยนะครับ ขอบคุณครับ”
การชุมนุม “26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน” เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่นัดหมายบริเวณแยกสามย่านก่อนเดินเท้าไปยังสถานทูตเยอรมัน 5 ตำรวจอ้างเหตุการไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และสั่งให้เลิกการชุมนุมในทันที
“การชุมนุมนะครับ ก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนะครับ แต่ก็ต้องโดยสงบและปราศจากอาวุธนะครับ และก็ต้องไม่ก่อความเดือดร้อน หรือปิดถนน หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนเกินสมควรนะครับ และที่พี่น้องกำลังชุมนุมอยู่นี้นะครับ พี่น้องนะครับ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะนะครับ ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุมนะครับ ซึ่งก็เป็นการเข้าข่ายการฝ่าฝืนตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะนะครับ มาตรา 10 นะครับ เพราะฉะนั้นอาศัยอำนาจตามกฎหมายนะครับ เป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบนะครับ ก็ขอให้พี่น้องนะครับ พี่น้องทั้งหลายนะครับ ขอให้ยุติการชุมนุมนะครับ เลิกการชุมนุมนะครับ ภายในเวลา 17.30 น. นะครับ ซึ่งเจ้าพนักงานก็จะได้ดำเนินการบันทึกภาพนะครับ บันทึกเก็บหลักฐานต่างๆ นะครับ เพื่อดำเนินการต่อไปนะครับ ก็ย้ำเตือนมานะครับ ก็อย่าให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนเกินสมควรนะครับ อย่าปิดถนนนะครับ อย่าทำลายทรัพย์สินของทางราชการนะครับ แล้วก็อย่า แล้วก็ให้เลิกนะครับ ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งพื้นที่ถนนนี้ พระรามสี่นะครับ เป็นพื้นที่สาธารณะนะครับ ภายใน 17.30 น. นะครับ ขอบคุณมากครับ”
แต่การชุมนุมในปี 2563 ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แม้ตำรวจจะประกาศแจ้งให้เลิกแล้วผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก ก็ไม่ได้เป็นเหตุนำไปสู่การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว

โควิดระลอก 2-3-4 การชุมนุมแบบไหนก็ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้หมด

ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดของโควิด 19 ระลอก 2 เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 จนเข้าช่วงปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอาศัยอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนด ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ข้อกำหนดฉบับนี้กลายเป็นหลักที่ใช้เป็นฐานการสั่งห้ามชุมนุมต่อมาแทบทุกครั้ง แม้การชุมนุมส่วนใหญ่ก็นัดหมายกันในสถานที่เปิดโล่งเป็นการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธไม่ได้ขัดแย้งต่อข้อกำหนดดังกล่าว แต่ตำรวจก็เอาข้อห้ามนี้มาเป็นเหตุประกาศให้เลิกการชุมนุมหรือเข้าสลายการชุมนุม
ทันทีที่เข้าสู่ปี 2564 ก็เห็นแนวโน้มการใช้กำลังควบคุมการชุมนุมของตำรวจที่เปลี่ยนแปลงไปมาก การพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112 เป็นสิ่งที่ตำรวจไม่ยอมให้เกิดขึ้นในการรชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2564 กลุ่มการ์ดปลดแอกนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำกิจกรรมสัญลักษณ์ด้วยการเขียนป้ายข้อความเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 112 โดยใช้ผ้ายาว 112 เมตร เริ่มกิจกรรมไปเพียงไม่นาน ผู้ชุมุนมมีไม่มากนัก ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ายึดป้ายผ้าและจับกุมตัวผู้ชุมนุมทันที พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวภายหลังว่า การจัดกิจกรรมวันนี้ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุม 2 คน ที่ฝ่าฝืนจัดชุมนุมซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นการเปิดปีใหม่ที่ชัดเจนว่า ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และโรคระบาดนั้นจะถูกนำมาใช้ “คุมม็อบ”
หลังจากนั้นการใช้กำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตำรวจระมัดระวังตัวที่จะทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน คือ ก่อนการสลายการชุมนุมต้องประกาศแจ้งให้ทราบก่อน และเนื่องจากการชุมนุมส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพโดยสงบปราศจากอาวุธ ข้ออ้างที่ตำรวจใช้ประกาศให้เลิกการชุมนุมจึงไม่มีอย่างอื่นนอกจากการหยิบเอามาตรการควบคุมโรค และข้อห้ามตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเหตุในการประกาศให้เลิก
ตัวอย่างเช่น
การชุมนุม “นับหนึ่งถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเดินขบวนไปที่ศาลหลักเมือง ซึ่งปลายทางการชุมนุมเป็นพื้นที่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง จึงคาดหมายได้ว่าตำรวจต้องปกป้องพื้นที่ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีข้อกฎหมายใดกำหนดให้พื้นที่บริเวณนั้นต้องห้ามชุมนุม ตำรวจจึงประกาศให้เลิกการชุมนุมโดยอ้างเรื่องมาตรการควบคุมโรคตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนที่เหตุการณ์ในวันดังกล่าวนำไปสู่การใช้แก๊สน้ำตา และใช้กำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าปราบปรามจับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ปรากฏเหตุการณ์จับกุมตัวทีมแพทย์อาสา หรือ #ตำรวจกระทืบหมอ และการใช้ความรุนแรงอีกหลายกรณี
“ประกาศจากสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง เรื่องให้ยุติการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ตามที่มีกลุ่มคณะราษฎรได้มีการนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้มีการเคลื่อนมวลชนในลักษณะรวมกลุ่มมุ่งหน้าเข้าในพื้นที่เขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือการกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ในเขตพื้นที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศกำหนดประกอบข้อกำหนดฉบับที่ 17 และ 18 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ข้อ 3 และข้อ 4 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความแออัด ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ที่ประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่กำหนดไว้ตามข้อกำหนดฉบับที่ 18 หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ต้องระวางโทษ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จึงให้ยุติการชุมนุมนับตั้งแต่เวลานี้ ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดต่อไป ประกาศ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564”
การชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ช่วงเย็นนัดหมายที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ซึ่งไม่มีกฎหมายอื่นที่กำหนดห้ามหรือจำกัดการชุมนุม ตำรวจจึงประกาศข้อห้ามตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งอาจเป็นอำนาจเดียวที่ตำรวจมีอยู่ กิจกรรมในวันดังกล่าวไม่ถูกขัดขวางด้วยการใช้กำลังแต่ภายหลังผู้ปราศรัย 11 คนก็ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งใจความในการประกาศของตำรวจมีดังนี้ 
“เรียนพี่น้องนะครับ ผมผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันนะครับ กองบัญชาการตำรวจนครบาลนะครับ ขอประกาศข้อกำหนดตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้อ 1 ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ให้สวมเมื่ออยู่นอกเคหสถานเพื่อลดความเสี่ยง ในการแพร่ระบาดของเชื้อ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อ 3. การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป นายกรัฐมนตรีนะครับ และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 33 ข้อ 8 การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ดำเนินการโดยจัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน กรณีเกิน 50 คน แต่ไม่เกิน 500 คน ให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงานนะครับ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นะครับ ประกาศ ณ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใครฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้บัญชาการทหารสุงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง จึงขอประกาศมาให้พี่น้องทราบโดยทั่วกันนะครับ ขอบคุณครับ”

อ้างข้อห้ามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะไม่มีกฎหมายอื่นให้อ้างแล้ว

ภายใต้การใช้ข้อกำหนด และประกาศต่างๆ ที่อาศัยอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายอื่นๆ ที่ใช้ในสถานการณ์ปกติก็ถูกบังคับใช้ควบคู่กันไปด้วยได้ ยกเว้นพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ไม่บังคับใช้ ดังนั้น หากการรชุมนุมของผู้ชุมนุมมีแนวโน้มไม่ใช่การชุมนุมที่สงบ หรือมีการใช้ความรุนแรง สร้างความเสียหาย ผิดต่อกฎหมายอื่น เช่น การชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่แยกดินแดงหลายครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 เมื่อตำรวจประกาศให้เลิกการชุมนุมก็สามารถอ้างพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลรวมทั้งข้อกฎหมายที่ฝ่าฝืนได้เลยโดยไม่ต้องหยิบยกข้ออ้างเพื่อควบคุมโรคมาใช้อีก
หรืออีกตัวอย่างเช่น
การชุมนุม “คาราวานรีเด็ม” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนขบวนไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังอยู่ตามมาตรา 112 ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมได้เตรียมมะเขือเทศ ไข่ และสี มาแจกจ่ายให้ขว้างปาใส่ป้ายศาลอาญา โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างข้ามรั้วเข้าไปหาแนวตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่อยู่ภายในรั้วศาลอาญา รวมทั้งมีการขว้างควันสีข้ามเข้าไป ตำรวจจึงประกาศให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ได้อ้างถึงมาตรการควบคุมโรคระบาด โดยมีใจความดังนี้ 
“เรียนพี่น้องประชาชน ที่ร่วมชุมนุมอยู่บริเวณหน้าศาลอาญาในขณะนี้อีกครั้งนะครับ การกระทำของท่านถือว่าจงใจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของท่านในขณะนี้ไม่เป็นผลดี และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านยังไม่หยุดการดำเนินการเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินการตามยุทธวิธี เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ ขอยืนยันว่ายุทธวิธีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้มิได้มีเจตนาที่จะทำร้ายประชาชน แต่เพียงเพื่อดำเนินการให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยเท่านั้น พี่น้องสื่อมวลชนได้โปรดบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ถึงการกระทำของพี่น้องประชาชนที่กระทำอยู่ในขณะนี้เพื่อเป็นพยานหลักฐาน ว่าการกระทำของท่านจงใจและเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายโดยชัดเจน ท่านใดที่ประสงค์เดินทางออกจากพื้นที่นี้ ขอให้ท่านเดินทางกลับได้เลยครับ ลำดับต่อไปเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายและดำเนินการตามยุทธวิธี ท่านใดรู้สึกไม่ปลอดภัยท่านเดินทางกลับได้เลยครับ”
ส่วนการชุมนุมอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่ผู้ชุมนุมเพียงมารวมตัวกันโดยไม่มีการขว้างปา และไม่มีสาเหตุใดที่ตำรวจจะอ้างเพื่อให้เลิกการชุมนุมได้ ตำรวจจึงต้องนำมาตรการที่ออกมาเพื่อควบคุมโรค มาใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศให้เลิกชุมนุมแต่ละครั้ง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า หากไม่มีข้อกำหนดข้อห้ามที่ออกมาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหล่านี้อยู่แล้ว ตำรวจก็ไม่อาจหาเหตุตามกฎหมายใดมาสั่งหรือประกาศแจ้งให้เลิกการชุมนุมได้อีก
ตัวอย่างเช่น 
การชุมนุม “ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา” วันที่ 6 มีนาคม 2564 โดยกลุ่มรีเด็ม  นัดหมายที่ห้าแยกลาดพร้าวและเดินขบวนไปที่ศาลอาญา เมื่อขบวนการถึงที่หน้าศาลอาญาแล้วและกำลังจะทำกิจกรรมกัน ตำรวจที่อยู่ด้านในศาลอาญา พร้อมเครื่องเสียงขนาดใหญ่ก็ประกาศให้เลิกการชุมนุมโดยอ้างมาตรการควบคุมโรคเป็นหลัก โดยมีใจความดังนี้
“สวัสดีพี่น้องประชาชนผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าศาลอาญาเวลานี้ ผมพ.ต.อ.ประสบโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับสน.พหลโยธิน นะครับ ขออนุญาตทำความเข้าใจ สื่อสาร และขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนที่รวมกันอยู่ ณ เวลานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนะครับ มีความเข้าใจและความเคารพในการใช้สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกทางความคิด การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองสามารถกระทำได้ซึ่งได้รับการรับรองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งในขณะนี้ยังคงอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มีข้อกำหดนตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 โดยห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดของโรคโควิด19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การชุมนุมและการทำกิจกรรมของทุกท่านในขณะนี้เข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่มีการรวมคนมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เจ้าหน้าที่จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ทำกิจกรรมและร่วมชุมนุมในขณะนี้ ได้โปรดปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และปฏิบัติตามข้อกำหนดตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ หากท่านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป ขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่านนะครับ พื้นที่ที่ท่านยืนอยู่บริเวณนี้ อยู่หน้าศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาเองมีข้อกำหนดนะครับ ข้อกำหนดของศาลระบุเงื่อนไขการปฏิบัติตัวต่างๆ ไว้ ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงให้วางข้อกำหนดต่อไปนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา หรือบริเวณรอบอาคารศาลอาญา … หรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ ส่งเสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียง … หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการส่งเสริม ยั่วยุ จงใจ สนับสนุนการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในบริเวณศาล หรือบริเวณโดยรอบศาลอาญา เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือ และขอทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกท่านนะครับ อย่างที่ได้กล่าวไป การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทุกท่านที่ชุมนุมอยู่ในขณะนี้ รับรู้ รับทราบ และพึงตระหนักนะครับ เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือนะครับ ให้อยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย อย่ากระทำการใดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบนะครับ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย … อย่าได้ปีนหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรุกล้ำเข้ามาในเขตศาลอาญาโดยเด็ดขาด ขณะนี้หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจพี่น้องประชาชน ทุกท่านอยู่ในความสงบเรียบร้อยดี ขอให้อยู่ในลักษณะแบบนี้นะครับ เจ้าหน้าที่ขอยืนยันว่าจะควบคุมสถานการณ์เท่านั้น ขอท่านอย่าได้กระทำการใดตามที่กล่าวไป…”
การชุมนุม “เดินทะลุฟ้าคืนอำนาจประชาชน” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 เมื่อขบวนเดินจากจังหวัดนครราชสีมามาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะปักหลักชุมนุมปิดถนนในช่วงเย็น ตำรวจก็เข้ามาห้ามไม่ให้ชุมนุมและมีการเจรจากัน ซึ่งตำรวจประกาศให้เลิกการชุมนุมอ้างมาตรการควบคุมโรค โดยมีใจความดังนี้ 
“หวัดดีครับ ขอประกาศให้ทราบได้นะครับ ขณะนี้นะครับ ทุกท่านนะครับ ได้กระทำผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากยังมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนะครับ เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 นะครับ หรือโควิด2019 นะครับ ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 นะครับ โดยพลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนะครับ ประกาศนี้นะครับ ห้ามทุกท่านนะครับ มิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมพลที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และอาจเป็นสาเหตุที่ก่อเกิดโรคโควิด19 ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสสัมผัสกันได้โดยง่าย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนะครับ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ ขอเรียนพี่น้องอีกครั้งนะครับ ให้ทำการยุติการชุมนุม ณ เวลานี้นะครับ ขอบคุณครับ”