บทเรียนจาก 6 ตุลาฯ เมื่อ “พลังฝ่ายขวา” ที่อ้างสถาบันกษัตริย์ ต้องการหยุดความเปลี่ยนแปลง

51543368570_ba3afd6721_k
เมื่อหนึ่งในสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรคือข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาเลือกเคลื่อนไหวอย่างตรงไปตรงมาและต่อเนื่องผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงยกระดับการควบคุมการแสดงออก โดยประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ถูกนำกลับมาใช้ดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางที่สุด ส่งผลให้นับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 – 29 กันยายน 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 144 คน จาก 144 คดี ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 68 คดีที่ประชาชนด้วยกันเป็นผู้ริเริ่มคดี
แม้คดีบางส่วนจะเป็นการริเริ่มโดย ‘พลเมืองดี’ ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือข้อความ แต่ก็มีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้ริเริ่มคดีดำเนินการในลักษณะกลุ่มหรือองค์กร http://freedom.ilaw.or.th/node/940 เช่น ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือศชอ. และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ซึ่งการดำเนินการสอดส่องหาตัวผู้โพสต์เนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์และนำหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ ขณะที่บางกรณีก็มีกิจกรรมของฝ่าย “ปกป้องสถาบันฯ” ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ อาทิ การรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้แสดงความคิดเห็นจากช่องทางออนไลน์ แล้วส่งไปให้เจ้าตัวคล้ายจะสื่อสารว่า กำลังถูกจับตาอยู่ นอกจากนั้นก็ยังมีกรณีที่กลุ่มคนดังกล่าวไปรวมตัวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน เช่น กลุ่ม ศปปส. ที่นัดหมายไปชุมนุมในวันที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมจนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกัน 
ปรากฎการณ์ของฝ่าย  “ปกป้องสถาบันฯ” หรือฝ่าย Royalist ที่เกิดขึ้นในปี 2563 และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดูจะคล้ายคลึงกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเกิดกรณีสังหารผู้ชุมนุมในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันแสดงออกในลักษณะต่อต้าน ฝ่ายที่จัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหาร รวมถึงเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมในมิติต่างๆ 
แม้ในช่วงก่อนการสังหารประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา กรรมกร และชาวนา จะไม่ได้มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2563 แต่ด้วยบรรยากาศการเมืองโลกที่อยู่ในยุคสงครามเย็น ความนิยมในการปกครองรูปแบบคอมมิวนิสต์ได้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุปลุกระดมอย่างเป็นระบบในหมู่กลุ่มพลังที่เคลื่อนไหวต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาและแนวร่วม โดยที่บุคลากรของภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว จนนำมาสู่เหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ภาพรวมการเมืองบนท้องถนนหลัง 14 ตุลาคม 2516

การชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2516 ส่งผลให้ถนอม กิติขจร ผู้ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งแต่ปีเดือนธันวาคม 2506 พ้นจากตำแหน่งและต้องออกนอกประเทศ สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนถนอม


การสิ้นสุดของระบบเผด็จการทหารนำไปสู่การเมืองระบบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบพลเรือน ความคับข้องใจต่างๆ และพลังทางการเมืองได้ถูกปลดปล่อยออกมา (ประจักษ์ หน้า97) บรรยากาศทางการเมืองที่ถูกเปิดเสรีหลังถนอมออกจากตำแหน่งทำให้ท้องถนนถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงออกถึงความเดือดร้อนประเด็นอื่นๆ มากกว่าแค่การเรียกร้องประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ปัญหาสภาพการจ้างงาน ค่าจ้าง ค่าแรง เริ่มถูกนำมาสู่ท้องถนน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การนัดหยุดงานได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกร้องการปรับปรุงสภาพการจ้างงานอย่างเป็นระบบ

จากปี 2514 และ 2515 ที่ถนอมปกครองประเทศมีการนัดหยุดงาน 27 และ 34 ครั้ง ตามลำดับ มาเพิ่มเป็น 357 และ 241 ครั้ง ในปี 2517 และ 2518 ตามลำดับ (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 83) ขณะที่ขบวนการชาวนาเองก็มีการเคลื่อนไหวใหญ่ อาทิในเดือนมิถุนายน 2517 ชาวนา 2000 คน เดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพ หลังจากนั้นขบวนการชาวนายังมีการรวมตัวด้วยการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเองด้วย (ประจักษ์ หน้า 99)

การรวมตัวของกลุ่มพลังที่เคยถูกมองว่าเป็นคนชั้นล่างของสังคมทั้งชาวนาและกรรมกรสร้างความไม่พอใจให้กับผู้เสียผลประโยชน์ เช่น เจ้าของที่ดินรู้สึกไม่พอใจกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจก็รู้สึกไม่พอใจที่ไม่สามารถใช้แรงงานราคาถูกได้เหมือนในยุครัฐบาลทหาร (ประจักษ์ หน้า 99 – 100) ขณะที่บริบทการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านก็มีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ (กรุงพนมเปญแตกและเขมรแดงเข้าสู่อำนาจในเดือนเมษายน 2518 ขณะที่ในลาว ขบวนการปะเทดลาวก็สามารถยึดอำนาจการปกครองและประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2518)

การที่กลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยม (มักถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์) เช่น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดนิทรรศการจีนแดงในเดือนมกราคม 2517 (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 70) รวมถึงการนำหนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์และหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามกลับมาพิมพ์ใหม่ (ประจักษ์ หน้า 97) ได้สร้างความกังวลให้กับฝ่ายความมั่นคง เมื่อกลุ่มพลังทั้งขบวนการ “นักศึกษา กรรมกร และชาวนา” ร่วมกันเคลื่อนไหวในลักษณะ 3 ประสาน พวกเขาก็ถูกฝ่ายตรงข้ามทั้งฝ่ายความมั่นคงและกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมองในฐานะภัยคุกคามที่ต้องจัดการ นำไปสู่การก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวที่ชูแนวคิดอนุรักษ์นิยม โต้กลับขบวนการสามประสานนักศึกษา ชาวนา กรรมกร 
ในขบวนการอนุรักษ์นิยมก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีผู้เล่นคนสำคัญ ดังนี้

กลุ่มนวพล

นวพล หมายถึงพลังใหม่ หรือพลังที่เก้า เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวตอบโต้ขบวนการนักศึกษาในระดับจังหวัด โดยเน้นทำงานกับบุคลากรหน่วยงานรัฐและกลุ่มธุรกิจในระดับจังหวัด (ประจักษ์ หน้า 105 – 106) กลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เช่น พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมทหาร และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เสนาธิการกอ.รมน.มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกลุ่ม 
พล.อ.วัลลภ เคยอธิบายเหตุผลในการจัดตั้งกลุ่มนวพลว่า ชาติจะอยู่รอดด้วยสถาบัน “วัดกับวัง” จึงต้องระดมประชาชนป้องกันสองสถาบันหลักนี้ ขณะที่วัฒนา เขียววิมล ซึ่งมักเป็นวิทยากรของกลุ่มระบุว่า “นวพลคือพลังใหม่ 3 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 83) สำหรับวิธีการทำงานและหาสมาชิก กลุ่มนวพลจัดโครงสร้างคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยให้สมาชิกไปขายแนวคิดและหาสมาชิกเพิ่มอีก 10 คน โดยกลุ่มนวพลอ้างว่า มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน (ประจักษ์ หน้า 106) 
อย่างไรก็ตาม ธงชัย วินิจจะกูล ระบุไว้ในหนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok ว่าไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่านวพลมีกำลังถึง 1 ล้านคนตามที่กล่าวอ้าง การชุมนุมใหญ่ที่วัฒนาอ้างก็เป็นการชุมนุมร่วมกับกลุ่มอื่นๆ แต่ไม่พบว่าวัฒนาและกลุ่มนวพลเคยจัดชุมนุมเอง นอกจากการชุมนุมกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 15,000 คน 

ลูกเสือชาวบ้าน 

ก่อตั้งในปี 2514 โดยพ.ต.อ.สมควร หริกุล เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อโต้กลับการรบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยเชื่อว่าความสำเร็จของพคท.เกิดจากการแทรกซึมไปในหมู่บ้านโดยที่คนในหมู่บ้านให้การสนับสนุน รัฐไทยจะต้องทำลายการสนับสนุนของชาวบ้านในพื้นที่ พ.ต.อ.สมควรจึงพัฒนาแนวคิดในการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

สมาชิกกลุ่มลูกเสือชาวบ้านจะต้องเข้าค่ายฝึกอบรมให้มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สมาชิกของลูกเสือชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนในช่วงอายุวัยกลางคน สมาชิกลูกเสือชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมยังจะได้รับผ้าพันคอกับเข็มกลัดด้วย (ประจักษ์ หน้า 112) ในวันที่ 19 มีนาคม 2515 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้า ทอดพระเนตรกิจกรรม ลูกเสือชาวบ้านที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4 (ปัจจุบัน คือ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24) ค่ายเสนีย์รณยุทธ อุดรธานี โดยครั้งนั้นรัชกาลที่เก้าทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้าน ไว้ในพระราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานผ้าผูกคอพระราชทานลูกเสือ ชาวบ้าน และพระราชทานธงประจำรุ่น ให้แก่ลูกเสือชาวบ้านทุกรุ่นด้วย

กลุ่มกระทิงแดง

ก่อตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2517 โดยพ.อ.สุตสาย หัสดิน ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่หน่วยทหารม้า ม.พัน ๘ จังหวัดนครราชสีมา สุตสายเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนั้นมีความจำเป็นต้องจัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อต้านฝ่ายนักศึกษาที่กำลังเปลี่ยนทิศทางของประเทศ ทำให้สุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 134) กลุ่มกระทิงแดงมีบทบาทหลักในการเคลื่อนไหวต่อต้านการนัดหยุดงานของกรรมกรและการประท้วงของนักศึกษาในเขตเมือง สมาชิกกลุ่มส่วนมากเป็นนักเรียนอาชีวะ นักเรียนมัธยมที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน และอดีตทหารรับจ้างที่ถูกปลดเพราะปัญหาด้านความประพฤติ (ประจักษ์ หน้า 109) 

เผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกระทิงแดงเคยให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 ถึงการทำงานของกระทิงแดงว่า “…จำเป็นต้องใช้ระเบิด เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป”  (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 135) ขณะที่สุตสายกล่าวถึงกรณีที่มีการเชื่อมโยงกลุ่มกระทิงแดงกับความรุนแรงทางการเมืองว่า “ถ้าถามว่ามีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการกระทำของกลุ่มกระทิงแดงหรือเปล่า ก็ต้องมีบ้าง ทำสงครามก็ต้องมีคนตายบ้างนิดๆ หน่อยๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่าลืมว่า มนุษย์ทำสงครามเพื่ออะไร คงไม่มีใครบ้าทำสงครามเพื่อฆ่าใครเล่นง่ายๆ หรอก… สงครามทำขึ้นเพื่อสันติภาพ” 

นอกจากสามกลุ่มข้างต้นยังมีสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเกลียดชังต่อขบวนการนักศึกษา ชาวนา และกรรมกรด้วย เช่น ชมรมวิทยุเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่มีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลาง ผลิตรายการ อาทิ “เพื่อแผ่นดินไทย” โจมตีว่าขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีกรณีที่กลุ่มกระทิงแดงเคยประกาศว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2519 ซึ่งกลุ่มนักศึกษาจะไปชุมนุมต่อต้านสหรัฐอเมริกา ให้นักเรียนอาชีวะรอฟังประกาศจากสถานีวิทยุยานเกราะว่าจะให้ไปรวมตัวที่ใด  (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 142) เท่ากับว่าสถานีวิทยุของรัฐทำงานอย่างเปิดเผยกับกลุ่มพลังฝ่ายขวาในการตอบโต้หรือคุกคามกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม 

รวมถึงหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ที่มีบทบาทในการตีพิมพ์ภาพการแสดงละครเสียดสีกรณีแขวนคอช่างไฟฟ้าที่ไปแจกใบปลิวต่อต้านเผด็จการและนำเสนอเนื้อหาในลักษณะกล่าวหาว่ากลุ่มนักศึกษามีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จนนำไปสู่เหตุการณ์สลายการชุมนุมและสังหารประฃาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

Then and Now ยุทธวิธีเปลี่ยนแต่อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน

ก่อนเกิดกรณีละครแขวนคอ อันเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลุ่มนักศึกษาถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์หมื่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯมาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในปี 2517 วารสารประชาธรรม ของพรรคสัจจธรรม พรรคของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเคยตีพิมพ์บทกลอน “ถึงชาวฟ้าจากข้าชาวดิน” โดยบทกลอนดังกล่าวถูกตีความว่าไปเสียดสีการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ชนบทและนำสิ่งของหรือสัตว์เลี้ยงพระราชทาน โดยกลอนดังกล่าวมีความตอนหนึ่งว่า

ชาวเอ๋ยชาวเขา เจ้าอยู่สูงสง่า เจ้าอยู่บนฟ้า แต่ข้าอยู่บนดิน…เอาวัวมาแจก แบกแกะมาสู่ หาหมูมาให้เลี้ยง  เชอะ! หาเสียงเทวดา 

“ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเสียใจที่ว่า ในการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานสัตว์เลี้ยงต่างๆ แก่ราษฎรนั้น มีผู้เข้าใจว่าพระองค์ไปหาเสียง” ประยูร จรรยาวงศ์ ซึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนล้อกล่าวถึงบทกลอนดังกล่าว จากนั้นจึงมีการจับกุมดำเนินคดีประเดิม ดำรงเจริญ บรรณาธิการของวารสารดังกล่าว แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษายกฟ้องประเดิมในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 132 – 133)  

สำหรับกรณีละครเสียดสีการเมือง จำลองฉากการฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้าที่ออกไปแจกใบปลิวต่อต้านจอมพลถนอมที่กลายเป็นมูลเหตุให้มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมและการสังหารประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทองค์รัชทายาทโดยเจตนาแต่งหน้านักแสดงละครแขวนให้คล้ายกับพระพักตร์ของพระองค์ ได้มีการนำไปพิจารณาในศาลทหารเป็นส่วนหนึ่งของคดี 6 ตุลา แต่คดีดังกล่าวไม่มีข้อยุติทางกฎหมายเพราะรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาใช้ในวันที่ 15 กันยายน 2521 ก่อนที่คดีจะถึงที่สุดแต่ระหว่างนั้นนักศึกษาและผู้ชุมนุมทั้ง 18 คน ต่างถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี 

 บริบทของสถานการณ์ช่วงระหว่างปี 2516 – 2519 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การนำกฎหมายมาใช้โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาไม่เด่นชัดเท่ายุคปัจจุบัน เพราะยุคนั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เมื่อพวกเขาถูกตีตราว่าต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งนัยหนึ่งหมายถึงการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ คำกล่าวหา “ล้มล้างการปกครอง” ก็มักถูกใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังหรือกระทั่งทำร้ายพวกเขา เพลงปลุกใจจากฝ่ายขวาอย่าง “หนักเผ่นดิน” ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกผลิตขึ้นในยุคสมัยนั้น 

45 ปีผ่านไป เพลงหนักแผ่นดินยังคงถูกหยิบยกมาใช้ในการชุมนุมช่วงปี 2563 – 2564 อาทิการชุมนุมของราษฎรใต้ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างที่กลุ่มราษฎรใต้ชุมนุมชูสามข้อเรียกร้อง กลุ่มคนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มราษฎรใต้ก็สวมเสื้อสีเหลืองมาชุมนุมประจันหน้าที่ลานหอนาฬิกาหาดใหญ่พร้อมทั้งเปิดเพลงนักแผ่นดินกลบเสียงปราศรัยของผู้ชุมนุมราษฎรใต้ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของมรดกยุค 6 ตุลาที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่พร้อมจะออกมาต่อสู้กับกลุ่มพลังที่เคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลง

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อพิ้นที่ทางการเมืองถูกเปิดออกหลังถนอมลงจากอำนาจ ทำให้ชนชั้นนำเกิดความรู้สึกตระหนกและไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างเป็นอนุรักษ์นิยมคุ้นเคยกับการใช้อำนาจควบคุมให้ประชาชนภักดีและว่าง่าย (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐและคณะ หน้า 161) ทว่าการเกิดขึ้นของขบวนการสามประสานนักศึกษา ชาวนา และกรรมกรได้เข้าไปสั่นคลอนโครงสร้างสังคมนั้น การสลายการชุมนุมและสังหารประชาชนในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา จึงเป็นไปเพื่อการรักษาโครงสร้างสังคมแบบเดิมไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง

ในยุคการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร โครงสร้างทางสังคมแบบเดิมได้ถูกสั่นคลอนอีกครั้งจากข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องหลัก ข้อเรียกร้องนี้ดูเผินๆ อาจจะแหลมคมกว่าข้อเรียกร้องยุค 6 ตุลา เพราะเป็นเสมือนการไปสั่นคลอนเสาหลักและคุณค่าสูงสุดที่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมยึดถือ แต่ในปัจจุบันแนวคิดสิทธิมนุษยชนได้ถูกสถาปนาเป็นหนึ่งในคุณค่าสากล การใช้วิธีการแบบในสมัย 6 ตุลาจึงเป็นไปได้ยากกว่า กลุ่มพลังฝ่ายขวาจึงเลือกใช้กระบวนการตามกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการจัดการกับผู้บังอาจสั่นคลอนอุดมการณ์ของพวกเขาแทน แต่หากความตึงเครียดทางการเมืองทวีความแหลมคมขึ้นในอนาคต และกลุ่มพลังเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนที่มากเพียงพอ การปัดฝุ่นวิธีการแบบสมัย 6 ตุลาก็ยังอาจเกิดขึ้นได้

เราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ถึงผลงานและความเสียหายที่กลุ่มพลังเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้มาแล้ว ภายใต้การเรียกร้องที่เดินไปข้างหน้าอย่างดุเดือด จึงหวังว่าจะไม่ต้องเห็นวันที่ประวัติศาสตร์ประชาชนซ้ำรอยเดิม 

หนังสืออ้างอิง

ใจ อึ๊งภากรณ์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับรู้ข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. ขบวนการต่อต้านในระยะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย. ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (2551): 88-115.