มาตรา 112: มรดกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

หากย้อนไปสำรวจประวัติศาสตร์ชาติไทยก็จะพบว่า ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ นั้นมีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพบเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน ‘กฎหมายตราสามดวง’ สมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขตามบริบทและพลวัตรทางสังคมและการเมืองเรื่อยมา จากเดิมที่มุ่งคุ้มครองทั้งตัวพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางตามแบบฉบับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ค่อยๆ ถูกปรับแก้ให้มุ่งคุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
แต่ก็ใช่ว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ทุกครั้งจะเป็นการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไทยเองก็ถูกแทรกแซงและโค่นล้มจากกลุ่มอำนาจเก่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจึงเป็นผลพวงมาจากคณะรัฐประหารหลังการสังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอยู่ในจุดตกต่ำ

ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในยุครัฐจารีตจนถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 1 แม้รัฐไทยจะยังไม่ได้มีความเป็น ‘รัฐชาติ’ หรือมีอำนาจการปกครองเหนือดินแดนและประชากรที่แน่นอน แต่อำนาจภายในรัฐก็ยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่ละเมิดต่อกษัตริย์หรือบารมีของกษัตริย์จะถูกจัดให้เป็นความผิด หรือที่เรียกกันว่า ‘ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่ามาตรา 112 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และถือเป็นความผิดที่เรียกว่า ‘อาชญาหลวง’ หรือความผิดที่หลวง (รัฐ) ต้องเข้ามาจัดการ เพราะถือว่าละเมิดต่อผู้มีสถานะสูงสุดทางสังคม และกระทบกระเทือนต่ออำนาจของผู้ปกครอง
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในยุคดังกล่าวจึงมีการกำหนดความผิดที่หลากหลายและกว้างขวาง อย่างเช่น
๐ พระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ที่กำหนดความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ
๐ พระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 72 ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว
อีกทั้งบทลงโทษในสมัยนั้นก็ถือว่ารุนแรง เช่น ความผิดตามมาตรา 7 มีการกำหนดโทษไว้ 8 สถาน ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ให้ฟันฅอริบเรือน, ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย, ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25-50 ที, ให้จำ(คุก)ไว้เดือนหนึ่งแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (เอาตัวไปทำงานเป็นคนเลี้ยงช้าง), ให้ไหมจัตุระคูร (ให้ปรับ 4 เท่า) แล้วเอาตัวลงเปนไพร่, ให้ไหมทวีคูน (ให้ปรับ 2 เท่า), ให้ไหมลาหนึ่ง, ให้ภาคทัณฑ์ไว ้
หลังสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐไทยมีการปฏิรูปโครงสร้างกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มมีเขตแดนทางอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้นและมีการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย แต่ยังคงรักษาอำนาจสูงสุดให้เป็นของพระมหากษัตริย์ท่ามกลางสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดความผิดและบทลงโทษฐาน “หมิ่นประมาท” ต่อพระมหากษัตริย์ ไว้ในพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 อาทิ
 ๐ มาตรา 4 “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤาสมเด็จพระอรรคมเหษี ฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤาสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ผู้ครองเมืองต่างประเทศ ฤามหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ซึ่งมีทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย ท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควร ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด”
อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่จากการปรับปรุงกฎหมายในยุคดังกล่าวคือ การเปลี่ยนบทลงโทษ จากเดิมที่มีการกำหนดความผิด 8 สถาน ก็แก้เป็นให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี หรือ ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท หรือทั้งจำคุกทั้งปรับ
ต่อมารัฐไทยจัดทำ ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127’ ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรก และได้มีการเขียนบทบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ไว้ในกฎหมาย ดังนี้
 ๐ มาตรา 98  “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทอีกโสดหนึ่ง”
๐ มาตรา 100 “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ในหมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎภายในพระราชอาณาจักรไว้ด้วยว่า
๐ มาตรา 104 “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย

หลังการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยหรือสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 
กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงถูกจำกัดขอบเขตให้คุ้มครองแต่สถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ หรือคุ้มครองชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งประมุขของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปด้วย
โดยในปี 2478 รัฐสภาได้มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 อย่างน้อย 2 มาตรา ได้แก่
หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 100 ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด 
สอง แก้ไขมาตรา 104 (1) เป็น “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี… ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง 
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่ามีการเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการติชมตามปกติวิสัย ภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ความผิดต่อพระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติยกเว้นความผิด
อย่างไรก็ดี ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 กลับไม่ได้ถูกแตะต้อง ทำให้แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร และต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ยังอยู่ แต่ทว่า บรรยากาศของการบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด
ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2482 เป็นคดีที่จำเลยผู้อวดอ้างเป็นผู้วิเศษสามารถชี้ให้พระเจ้าแผ่นดินมากราบไหว้ก็ได้ ทำให้จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตามมาตรา 98 และ 335 เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน แต่สุดท้าย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นแต่คำอวดอ้าง มิได้มีเจตนาที่จะแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
หรือในคดีของ ‘ดร.หยุด แสงอุทัย’ ปรมาจารย์ด้านนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ที่ถูกดำเนินคดีจากเนื้อหาบทความ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” (ตามหลักการ ‘The king can do no wrong’) แต่สุดท้ายตำรวจก็ไม่ดำเนินการต่อโดยแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ หลังยุคเผด็จการทหารไปจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ระบอบประชาธิปไตยก็หาได้มั่นคง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2490 ที่เกิดการรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นต้นมา อำนาจทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎรโดยเฉพาะฝ่ายพลเรือนได้ลดลง ในขณะกลุ่มทหารที่มีแนวคิดอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมกลับเติบโตขึ้น และทำให้เกิดการฟื้นฟูสถานะและบทบาทสถาบันกษัตริย์เพื่อส่งเสริมความชอบธรรมให้กับกองทัพเรื่อยมา
ต่อมาในปี 2499 รัฐสภาได้มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยเปลี่ยนมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ มาเป็นมาตรา 112 และจัดวางความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์จากหมวดประทุษฐร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวมาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรง เป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ และรัฐต้องเข้ามาจัดการเมื่อมีผู้มากล่าวโทษ (แจ้งความ) ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ด้วยบทลงโทษดังนี้
๐ มาตรา 112  “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
แม้ว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่หนทางระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ทว่า ประชาธิปไตยก็ถูกลดทอนและบดขยี้จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและกลุ่มนักศึกษาในข้อหาเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ และนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนจะตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันเดียวกัน
ในยุคนี้เองที่มีการใช้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ในส่วนของอัตราโทษ และกลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่กันในปัจจุบัน (พ.ศ.2564) ดังนี้
 ๐ มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
โดยเบื้องหลังของการแก้ไขเพิ่มโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ คือ การเข้ามาจำกัดอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนนักศึกษาและประชาชน เนื่องจากชนชั้นนำมีความวิตกกังวลต่อแนวคิดหรืออุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เพราะกลัวว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น และก็กลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปี 2564
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เราอาจจะเห็นแล้วว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตามบริบทของสังคม อีกทั้งไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามกับกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2499 ว่าสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันหรือไม่ สมควรแก้ไข ยกเลิก หรือเดินหน้าต่อไปในทิศทางอื่นได้หรือเปล่า
โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนหันมาให้คุณค่ากับความเป็นประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเรื่องสิทธิมนุษยชน