เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะใช้คุมโรค กลายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีปิดปากเยาวชน

ปี 2563-2564 เป็นช่วงที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงออกอย่างเข้มข้ม ทั้งการตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา กฎระเบียบในโรงเรียน และประเด็นโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอนาคตของพวกเขา แม้พวกเขายังอายุไม่ถึง 18 ปี ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็มีสิทธิที่จะแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันคุ้มครองสิทธินี้ และหากมีการกระทำบางอย่างที่ฝ่าฝืนกฎหมายบางข้อ ก็ต้องดำเนินคดีด้วยกระบวนการสำหรับเด็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขเยียวยา ให้โอกาสเรียนรู้ ไม่ใช่มุ่งเอาผิดลงโทษ
สิทธิของเด็กในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child, 1989) ที่ระบุว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่จำกัดเขตแดน ไม่ว่าจะโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปศิลปะหรือผ่านสื่อใดๆ ตามที่เด็กเลือก”
ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยังระบุด้วยว่า ความคิดเห็นของเด็กจะต้องได้รับการรับฟังอย่างสมเหตุสมผล และรัฐจะต้องเคารพต่อสิทธิเด็กที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา และรัฐภาคีต้องยอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่อาจจำกัดสิทธิเหล่านี้ นอกเหนือจากข้อจำกัดที่กำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับกฎหมายและที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติหรือความปลอดภัยของประชาชน ความสงบเรียบร้อย การคุ้มครองด้านสาธารณสุขหรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ
ระหว่างที่คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองประเทศไทยก็อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด19 และการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการประกาศข้อกำหนดที่เขียนชัดเจนว่า “ห้ามการชุมนุม” ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคระบาด ทำให้รัฐมีเครื่องมือที่นำมาให้หยุดยั้งการแสดงออกในทางที่ตรงข้ามกับรัฐ และรัฐก็มีท่าทีที่ “แข็งกร้าว” ต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ การชุมนุมในทิศทางที่ตรงข้ามกับรัฐก็นำไปสู่การดำเนินคดีได้เสมอ
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 18 กันยายน 2564 มีเยาวชน หรือ ผู้ที่อายุต่ำกว่าปี 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไม่น้อยกว่า 183 คน และในจำนวนนี้มีเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 158 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
โดยตัวอย่างของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่

1) ภูมิ – คณพศ

เยาวชน อายุ 16 ปี เคลื่อนไหวร่วมกับ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” โดยเริ่มต้นจากประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักเรียน หลักสูตรการสอน และกฎระเบียบในโรงเรียน ก่อนจะขยับมาจับประเด็นทางการเมือง และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 บนท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 
ภูมิ – คณพศ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่
๐ คดีจากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 #15ตุลาไปราชประสงค์ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
๐ คดีจากการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่สี่แยกราชประสงค์ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

2) พลอย-เบญจมาภรณ์

เยาวชน 16 ปี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนักเรียนเลว ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งเป็นกลุ่ม “ไพร่พล” โดยเริ่มมาเคลื่อนไหวจากประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน อาทิ การบังคับใส่เครื่องแบบ หรือการบังคับตัดผม และออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเคยออกมาเคลื่อนไหวประท้วงที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องวัคซีนสำหรับนักเรียน
พลอย-เบญจมาภรณ์ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่
๐ คดีจากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 #15ตุลาไปราชประสงค์ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
๐ คดีจากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 #ม็อบ24มิถุนา “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” จัดโดยกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มราษฎร 
๐ คดีจากการสาดสีและพ่นเสปรย์รูปปั่นในกระทรวงสาธารณสุขยามวิกาล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่นำโดยกลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋ว 

3) มิน-ลภนพัฒน์

เยาวชน อายุ 18 ปี เป็นอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ก่อนจะมาตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว” โดยเริ่มจากเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน อาทิ การบังคับใส่เครื่องแบบ หรือการบังคับตัดผม และออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในม็อบ ผูกโบว์ขาวที่รั้วกระทรวง และออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์
มิน-ลภนพัฒน์ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1 คดี ได้แก่
๐ คดีจากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 #15ตุลาไปราชประสงค์ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

4) มีมี่-ณิชกานต์

เยาวชน อายุ 17 ปี เคยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และออกมาเคลื่อนไหวรวมถึงปราศรัยเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยปัจจุบันได้ทำเพจเฟสบุ๊กกับเพื่อนในชื่อ Feminist FooFoo ที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ และร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักเรียนเพื่อต่อต้าน ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์
มีมี่ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 3 คดี
๐ คดีจากการปราศรัยและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 #ม็อบ25ตุลา ที่จัดโดยกลุ่มราษฎร 
๐ คดีจากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 #ม็อบ24มิถุนา “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ที่นำโดยกลุ่มราษฎร 
๐ คดีจากการสาดสีและพ่นเสปรย์รูปปั่นในกระทรวงสาธารณสุขยามวิกาล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่นำโดยกลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋ว 

5) เตอร์-มกรพงษ์

เยาวชน จากกลุ่ม Korat Movement เริ่มมาสนใจการเมืองหลังการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 เนื่องจากเห็นถึงความไม่โปร่งใสของกระบวนการการเลือกตั้ง ก่อนจะขยับมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยทางการเมืองและร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ 
เตอร์-มกรพงษ์ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 3 คดี
๐ คดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 จัดโดยกลุ่ม Korat Movement 
๐ คดีจากการชุมนุมหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 จัดโดยกลุ่ม  Korat Movement 
๐ คดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 จัดโดยกลุ่ม  Korat Movement 

6) ธีรยุทธ และ ภัทราพร

เยาวชนอายุ 15 และ 17 ปี เป็นนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มภูเก็ตปลดแอกและคณะราษฎรภูเก็ต
ธีรยุทธ และ ภัทราพร ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1 คดี
๐ คดีจากการร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 คาร์ม็อบภูเก็ต #บีบให้เทือน ซึ่งจัดโดยกลุ่มภูเก็ตปลดแอกและคณะราษฎรภูเก็ต 

7) เพชร-ธนกร

เพชร เริ่มมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เป็นเยาวชน และแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) โดยเขาเริ่มต้นจากการเข้าร่วมการชุมนุม และยกระดับมาเป็นผู้ปราศรัยในเรื่องปัญหาในระบบการศึกษาไทย และการไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการ และสิ่งที่แลกมาคือการที่เขากลายเป็นเยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และเป็นเยาวชนอีกรายที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 จากการปราศรัย
เพชร-ธนกร ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 2 คดี
๐ คดีจากการร่วมชุมนมและปราศรัย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 #ม็อบ1พฤศจิกา จากแยกอุดมสุขเดินขบวนไปยังสี่แยกบางนา 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุมและปราศรัย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 #ม็อบ16มกรา ที่สามย่านมิตรทาวน์ เรียกร้องปล่อย #การ์ดปลดแอก 

8) สายน้ำ-นภสินธุ์

เยาวชน 16 ปี เริ่มต้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย ก่อนจะมาเป็นทีมการ์ดให้กับกลุ่ม “แนวร่วมศาลายาเพื่อประชาธิปไตย” เขาเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแต่งกายด้วยเสื้อครอปท็อป (Crop Top) ร่วมการชุมนุม 
สายน้ำ-นภสินธุ์ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 5 คดี
๐ คดีจากการร่วมชุมนม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน ชุมนุมหน้าวัดแขก สีลม 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุมให้กำลังใจ “เดฟ ชยพล” เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2564 #ม็อบ28กุมภา เดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปกรมทหารราบที่ 1 ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 #ม็อบ18กรกฎา ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก 
๐ คดีจากการสาดสีและพ่นเสปรย์รูปปั่นในกระทรวงสาธารณสุขยามวิกาล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่นำโดยกลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋ว 

9) ภูมิ หัวลำโพง

เยาวชนนักเคลื่อนไหว อายุ 17 ปี เริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการเป็นการ์ดในการชุมนุม โดยเขาได้เข้าร่วมการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง และเป็นเสมือนหน่วย “แนวหน้า” ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมที่ผ่านมา ภูมิถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา อาทิ มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม หรือ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน รวมถึงข้อหาอย่าง ร่วมกันมั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 
ภูมิ หัวลำโพง ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 11 คดี
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 #ตามหานาย ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ซึ่งจัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 #คณะราษฎรอีสาน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ซึ่งจัดโดยกลุ่มราษฎร 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 #ม็อบย่างกุ้ง ขายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้ง ของกลุ่มการ์ด WeVo 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุมให้กำลังใจ “เดฟ ชยพล” เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
๐ คดีจากการร่วมชุ่ม เมื่อวันที่ 1 และ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน้าสถานทูตเมียนมา เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 #ม็อบ13กุมภา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจัดโดย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2564 #ม็อบ28กุมภา เดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปกรมทหารราบที่ 1 ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 #ม็อบ2พฤษภา คาราวานรีเด็ม คาร์ม็อบจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปศาลอาญา ซึ่งจัดโดยกลุ่ม REDEM 
๐ คดีจากการร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 #ม็อบ7สิงหา โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมรื้อทำลายป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

10) เสกจิ๋ว

เยาวชน อายุ 15 ปี เริ่มสนใจการเมืองจากการเล่นทวิตเตอร์ ก่อนจะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมปราศรัยในเวทีย่อย หรือ เวทีเปิดของกลุ่มนักเรียนเลว และเวทีรถขยายเสียงของคนเสื้อแดง 
เสกจิ๋ว ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1 คดี
๐ คดีจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 #ม็อบ20มีนา #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งจัดโดยกลุ่ม REDEM