มาตรา 112: ทางเลือกและทางออกของสังคมไทย

ปัญหาจากตัวบทกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ทำให้ขอบเขตการตีความเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้กฎหมายที่ควรจะมีหน้าที่ในการผดุงความยุติธรรม กลับกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง 
ดังนั้น คำถามสำคัญแห่งยุคสมัย คือ เรามีทางออกหรือทางเลือกในสถานการณ์นี้หรือไม่
ในบทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลและอยากชวนทุกคนทบทวนข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เท่าที่ปรากฏออกมาสู่สาธารณะ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่ข้อยุติและแนวทางแก้ปัญหาความอยุติธรรมในนามของความจงรักภักดี
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเสนอแนวทางหลายแบบ มีทั้งยกเลิกและให้แก้ไข โดยฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปแทน นำเสนอโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ใกล้เคียงกับ ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง ผ่าน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ส่วนฝ่ายที่เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ยังแบ่งออกเป็นอย่างน้อยสามกลุ่ม ได้แก่ ‘กลุ่มนิติราษฎร์’ นำโดยคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา, ‘คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.)’ ที่ถูกตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และ ‘พรรคก้าวไกล’ ซึ่งยื่นเสนอเข้าสู่สภาในปี 2564 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของฝ่ายที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 มีคล้ายกันคือ การปรับบทลงโทษให้เบาลงและไม่มีโทษขั้นต่ำ อีกทั้งกำหนดให้สำนักงานราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษหรือดำเนินคดีแทนพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ในข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์และก้าวไกล เสนอให้มีเหตุยกเว้นโทษและยกเว้นความผิดเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกด้วย

สมศักดิ์ – ไชยันต์ – แนวร่วม มธ.: ‘ยกเลิกมาตรา 112’

ข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 เริ่มปรากฎครั้งแรกในในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เมื่อปี 2553 ถูกเสนอโดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยข้อเสนอดังกล่าวถูกนำมาพูดอย่างเป็นทางการอีกครั้งในงานเสวนาเรื่อง ‘สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีเดียวกัน โดยสมศักดิ์ได้กล่าวในเชิงสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 อีกทั้งแนะนำให้ดูแนวทางของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและการดูแลของรัฐบาล พร้อมทั้งให้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระจักรพรรดิ เพื่อยืนยันความเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้ว่าข้อเสนอของสมศักดิ์จะถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่สุดโต่งในทางการเมือง แต่ก็มีนักวิชาการซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือ กษัตริย์นิยม (Royalist) อย่างไชยันต์ ไชยพร ที่สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน โดยเขาเห็นว่าไม่ควรจำกัดการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้น ในทางหนึ่งก็ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน เพียงแต่การจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวนั้น ควรจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ต่อมาในปี 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมประกาศ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยหนึ่งในข้อเสนอนั้นคือการยกเลิกมาตรา 112
จุดเด่นของข้อเสนอนี้คือ การยืนยันถึงความเท่าเทียมและความเสมอภาคของบุคคล ที่จะได้รับการคุ้มครองในเกียรติยศ ชื่อเสียง ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในสถานะใดก็ตาม แต่การคุ้มครองนั้นจะต้องไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจนเกินสมควร (ยกตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 330 ของไทย ที่คุ้มครองการติชมเพื่อความเป็นธรรม หรือ การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ)
แต่ฝ่ายที่เห็นค้านกับข้อเสนอนี้ มองว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ควรได้รับการคุ้มครองที่มากกว่าบุคคลธรรม และการยกเลิกมาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา อาจจะทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน เนื่องจากต้องเข้ามาเป็นผู้เสียหายในคดีด้วยตนเอง 

คอป: ‘แก้ไขบทลงโทษ – ให้เลขาธิการสำนักพระราชวังฟ้องแทน’

หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก และเกิดเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในสังคมไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา โดยมี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุงและปรมาจารย์ด้านกฎหมายเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีความเห็นในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองว่า ควรมีการแก้ไข ‘มาตรา 112’ โดยให้คงบทบัญญัติไว้เหมือนเดิม เพียงแต่แก้บทลงโทษให้เบาลง ดังนี้
๐ มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยการแก้ไขดังกล่าวเป็นการยกเลิกโทษขั้นต่ำและลดจำนวนโทษสูงสุด จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 3-15 ปี เป็นจำคุกไม่เกิน 7 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่าการสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง หรือ หมายความว่าอำนาจในการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นต้องผ่านการเห็นชอบจากเลขาธิการพระราชวังเสียก่อน
จุดเด่นของข้อเสนอนี้คือ การพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เกี่ยวกับมาตรา 112 ได้แก่ ปัญหาการมีอัตราโทษที่สุด กับ ปัญหาที่ใครก็สามารถฟ้องร้องกันก็ได้ทำให้เกิดการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกัน แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังมีจุดอ่อนที่ไม่มีกลไกการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

นิติราษฎร์ – ก้าวไกล: ‘ย้ายหมวด – ลดบทลงโทษ – เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด – ให้ราชเลขาฯ ฟ้องแทน’

สำหรับข้อเสนอแนวทางสุดท้ายเป็นข้อเสนอที่พยายาม ‘ประนีประนอม’ กับทั้งสองแนวทางข้างต้น โดยยังคงการคุ้มครองสถานะพิเศษให้กับตำแหน่งประมุขของรัฐ แต่ให้การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ ซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับการแก้ไขกฎหมายในปี 2477 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
โดยข้อเสนอของกลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มคณะนิติราษฎร์ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญ 7 ข้อ คือ
๐ ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
๐ เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
๐ แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
๐ กำหนดโทษโดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดไม่เกิน 1-3 ปี (แล้วแต่กรณี)
๐ เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
๐ เพิ่มเหตุยกเว้นโทษกรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๐ กำหนดให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น
ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ได้มีการจัดทำเป็นร่างกฎหมาย และมีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถร่วมกันเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณาได้ ซึ่งในท้ายที่สุดข้อเสนอนี้ก็ได้ยื่นเข้าสู่สภาด้วยรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 38,281 รายชื่อ 
ทว่าประธานรัฐสภา ‘สั่งจำหน่ายเรื่อง’ โดยให้เหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ดังนั้นประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ ทำให้กฎหมายตกไปโดยไม่ผ่านกระบวนการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 
ต่อมาในปี 2564 พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกจำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทหลายมาตรา รวมถึงมาตรา 112 โดยมีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกับร่างแก้ไขกฎหมายของกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ต่างกันที่บทลงโทษเพียงเล็กน้อย ดังนี้
๐ ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๐ ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี ความพยายามแก้ไขดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดหมายนัก เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแจ้งกับพรรคก้าวไกลว่า ข้อเสนอดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกนำเข้าบรรจุเป็นวาระการพิจารณา แต่ทว่า นั้นก็เป็นเพียงข้อจำกัดจากการตีความกฎหมายและข้อบังคับตามอุดมการณ์ทางการเมือง หากวันหนึ่งวันใดที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง และทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า กฎหมายมาตรา 112 เป็นปัญหา เมื่อนั้นกระบวนการแก้ไขหรือยกเลิกก็จะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง