กองทุนราษฎรประสงค์ – เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว

แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีการออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมโดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 แต่ความไม่พอใจต่อสภาวะเศรษฐกิจและการบริหารประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีนทำให้ผู้คนเลือกที่จะลงสู่ท้องถนนโดยไม่หวั่นเกรงต่อโทษทางอาญาที่อาจตามมา ความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมืองยังทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ที่ครั้งหนึ่งมีเพดานอยู่ที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทลายลง ผู้มีอำนาจรัฐที่มุ่งหวังจะดำรงรักษาสถานภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนในช่วงชั้นต่างๆ ให้เหมือนเดิมจึงใช้วิธีกดปราบอย่างหนัก จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 
นับจากเริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือคดีของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศฉบับต่างๆ ที่ออกมาโดยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และติดตามรวบรวมข้อมูลได้อย่างน้อย 483 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,171 คน  ขณะที่คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง 8 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปแล้วอย่างน้อย 150 คน จาก 151 คดี  ขณะที่ห้าปีในยุครัฐประหาร คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน 
ปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงกับความต้องการหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มักต้องวางเงินประกันในหลักแสน กองทุนราษฎรประสงค์คือหนึ่งในกองทุนที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยในคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการแสดงออกบนโลกออนไลน์ ก่อนที่จะถูกคุมขัง ทนายอานนท์ นำภา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศระดมทุนโดยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่เมื่อทนายอานนท์ถูกดำเนินคดีมากขึ้นและถูกคุมขังเป็นเวลานานในช่วงต้นปี 2564 จึงมีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก “กองทุนราษฎรประสงค์” เป็นช่องทางสื่อสารและระดมทุนอย่างเป็นทางการ 

จุดเริ่มต้นการระดมเงินประกันตัวประชาชนในคดีการเมือง

ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ระบุว่า แนวคิดเรื่องการระดมทุนประกันตัวผู้ต้องขังและคดีการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 แล้ว ครั้งนั้นทนายอานนท์ ซึ่งเพิ่งเป็นทนายความใหม่ๆ ได้ร่วมกับเพื่อนทนายจัดตั้งสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง โดยชื่อราษฎรประสงค์นำมาจากชื่อแยกราชประสงค์ สถานที่ที่มีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 แต่เปลี่ยนคำว่า “ราช” เป็น “ราษฎร” เพื่อให้ชื่อมีความหมายว่า “เจตจำนงค์ของประชาชน” 
ไอดาระบุว่าในยุคนั้น (ช่วงหลังการสลายการชุมนุมปี 2553) ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรแบบศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับไม่ค่อยมีทนายความด้านสิทธิมนุษยชนอยากออกตัวมาทำคดีการเมืองในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเหลืองแดง อานนท์จึงจัดตั้งสำนักกฎหมายดังกล่าวขึ้นและเปิดระดมทุนจากประชาชนเพื่อใช้ทำคดีรวมทั้งใช้วางเป็นเงินประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีบางส่วนด้วย
อย่างไรก็ตามสำนักกฎหมายดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานนักเพราะทรัพยากรที่มีไม่พอ ทนายอานนท์จึงตัดสินใจว่าความให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีต่อไปในฐานะทนายความอิสระ พอมาถึงช่วงของการรัฐประหาร 2557 ทนายอานนท์ออกมาร่วมกิจกรรม “เลือกตั้งที่ลัก” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ร่วมกับนักกิจกรรมอีกสามคนได้แก่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ครั้งนั้นทั้งสี่คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนในศาลทหาร ทนายอานนท์จึงใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาประกาศระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำมาใช้เป็นเงินประกันตัวเขากับผู้ต้องหาที่เหลือ ซึ่งปรากฎว่าในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนมีคนโอนเข้ามาในบัญชีราวแปดแสนบาท    

ไม่ใช่เงินบริจาคแต่เป็นม็อบอีกแบบหนึ่ง

ไอดาระบุว่าบัญชีที่ใช้ในการระดมทุนครั้งนั้นเป็นบัญชีที่เปิดโดยใช้ชื่อคนสามคนได้แก่ตัวเธอ ทนายอานนท์ และคนรู้จักของเธออีกคนหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือในเงินแปดแสนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคของผู้บริจาครายย่อยคนละร้อยสองร้อย จะมีหลักพันหรือหลักหมื่นแทรกมาบ้างแต่ไม่มากนัก
ไอดามองว่าการที่คนจำนวนมากร่วมโอนเงินแม้เพียงหลักร้อยเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในขณะนั้น (ปี 2558 ซึ่ง คสช.ปกครองโดยใช้อำนาจพิเศษทั้งการเรียกคนปรับทัศนคติและออกกฎห้ามชุมนุมทางการเมือง) ค่อนข้างปิด คนไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก บางคนจะออกไปชุมนุมก็ไม่อยากถูกดำเนินคดี การบริจาคเงินประกันตัวจึงเป็นเสมือน “ม็อบ” รูปแบบหนึ่งคือแทนที่คนจะลงถนนก็ร่วมสนับสนุนเงินประกันซึ่งไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายแทน
ทนายอานนท์โพสต์ข้อความระดมทุนในวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 20.00 น. พอถึงเช้าวันถัดมาที่เขามีกำหนดเข้ารายงานตัวกับตำรวจและต้องไปที่ศาลทหาร มีเงินโอนมาที่บัญชีที่ใช้ระดมทุนประมาณแปดแสนบาท แต่ปรากฎว่าในวันนั้นศาลทหารไม่อนุญาตให้ฝากขัง เพราะเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสี่คนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เงินที่ระดมทุนมาจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีประชาชนกลุ่มอื่นถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและต้องการนำหลักทรัพย์ไปใช้ประกันตัว ทนายอานนท์จึงเริ่มนำเงินที่ระดมมาเพื่อใช้ในคดีตัวเองมาใช้ประกันตัวผู้ต้องหาคนอื่นๆ โดยก่อนใช้เงินเขามักจะโพสต์ข้อความขอความเห็นบนเฟซบุ๊กของตัวเองก่อนเพราะถือว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของเขาแต่เป็นเงินบริจาคของประชาชน 
เมื่อมีคนถูกดำเนินคดีมากขึ้นจนเงินที่ระดมมาครั้งก่อนๆ ไม่เพียงพอ ทนายอานนท์ก็จะใช้เฟซบุ๊กของเขาระดมทุนเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือบัญชีโดยนำทนายอีกคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือจำเลยคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 หลายคดีมาเป็นผู้ถือบัญชีร่วมแทนคนรู้จักของไอดาอีกคนหนึ่งเพื่อความสะดวก   

ก่อกำเนิด กองทุนราษฎรประสงค์

ในช่วงปี 2563 ทนายอานนท์ เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้นขึ้นจนตัวเขาเองตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยเสียเองในหลายคดี จึงมีการปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือบัญชีใหม่ ลดผู้ถือบัญชีเหลือสองคนคือตัวของไอดาและชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อความคล่องตัวและเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทนายอานนท์เคยถูกคุมขังไปแล้วช่วงหนึ่งรวมถึงต้องเดินทางไปขึ้นศาลหรือสถานีตำรวจในคดีที่ตัวเองตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
ไอดาระบุว่าก่อนจะถึงปี 2564 การระดมทุนของกองทุนยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์หรือจัดการทำงานในลักษณะ “กองทุน” อย่างเป็นทางการ ในช่วงที่ทนายอานนท์ไม่ถูกคุมขัง เวลาที่ต้องระดมทุนเขามักเป็นคนประกาศระดมทุนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 7 มกราคม 2564 ไอดากับทีมงานตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก กองทุนราษฎรประสงค์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสาร ระดมทุน รวมถึงชี้แจงรายรับรายจ่ายต่อสาธารณะอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อความโปร่งใสและเป็นระบบในการทำงาน หลังจากนั้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2564 ทนายอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำเพราะศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร การเปิดเพจเฟซบุ๊กชองกองทุนในครั้งนั้นจึงนับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญเพราะเป็นการจัดระบบให้กองทุนสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยสถานะเฟซบุ๊กที่กองทุนเขียนขึ้นเพื่อชี้แจงเหตุผลของการเปิดเพจและตั้งชื่อกองทุนนี้ว่ากองทุนราษฎรประสงค์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ตอนหนึ่งระบุว่า
เหตุที่ตัดสินใจใช้ชื่อว่ากองทุนราษฎรประสงค์ ก็เพื่อเป็นการรำลึกกลับไปยังจุดริเริ่มตั้งต้นของแนวคิดจัดตั้งองค์กรทนายความอาสาและการตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเมื่อปี 2553 หลังการสลายการชุมนุมของประชาชนในนามคนเสื้อแดงที่ถนนราชประสงค์ โดยในครั้งนั้นเราใช้ชื่อว่า “ราษฎรประสงค์” เพื่อสะท้อนถึงวาระอันเป็นเหตุตั้งต้นคือการสังหารหมู่ที่ราชประสงค์ และเพื่อบอกถึงพลังของการแสดงเจตจำนงประสงค์ของประชาชนผ่านการระดมเงินประกันตัว ซึ่งความพยายามอย่างมวยวัดในครั้งนั้นค่อยคลี่คลายมาจนในปัจจุบันที่มีการตั้งองค์กรอาชีพทนายความขึ้นมารองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวมทั้งเกิดกองทุนประกันตัวขึ้นมาอีกหลายกองทุนอย่างน่ายินดี และอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้ชื่อดังกล่าวนี้ก็เพราะเห็นถึงความพ้องกันโดยบังเอิญของสปิริตอย่าง “ราษฎรประสงค์” ในวันนั้น กับ “(คณะ)ราษฎร–ประสงค์” ในวันนี้ ” และจากวันที่ 7 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดติดตามเพจกองทุนราษฎรประสงค์ 33922 คน (เวลา 5.03 น.) 
ไอดาระบุด้วยว่าแม้ทนายอานนท์จะต้องเข้าออกในเรือนจำอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะหลังปี 2564 แต่เมื่อไม่ได้ถูกคุมขังเขาก็ยังมีส่วนร่วมกับการทำงานของกองทุนราษฎรประสงค์ โดยหลายๆ กรณีทนายอานนท์ก็เป็นคนประสานงานให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รู้จักกับกองทุนเพื่อรับความช่วยเหลือ

ไม่ว่าจนหรือรวยทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ ไอดาระบุว่าประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองความเสมอภาค มีสิทธิเข้าถึงเงินของกองทุนเพื่อนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัวอย่างเท่าเทียม ไอดาระบุว่าเลือกใช้คำว่าความเสมอภาคแทนคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นเพราะคำว่า “เสมอภาค” เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่า ถ้ามีใครสักคนรณรงค์เพื่อความเสมอภาคแต่ตัวเขาเชื่อมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมเขาก็ยังมีสิทธิเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนนี้ 
สำหรับสถานะทางการเงินของผู้รับความช่วยเหลือ ไอดาระบุว่าไม่ใช่สาระสำคัญที่กองทุนจะนับเป็นเกณฑ์ในการเลือกให้หรือไม่ให้ความช่วยเหลือ บางคนครอบครัวอาจมีฐานะแต่ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีฐานะ นอกจากนั้นการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคไม่เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นประชาชนที่บริจาคเงินก็ประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือกับนักต่อสู้ทุกคนโดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นจะยากดีมีจนอย่างไร และตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเงิน เป็นเรื่องของทางกองทุนที่จะนำเงินไปวางให้ศาลโดยตรง
สำหรับคำถามที่ว่าหากเป็นคดีการแสดงออกทางการเมืองที่มีการใช้กำลังหรือทำลายทรัพย์สินซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ไอดาระบุว่า “ความรุนแรง” เป็นคำที่ต้องหาอาศัยการตีความ สิ่งที่คนหนึ่งมองว่ารุนแรงอีกคนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการแสดงออกโดยสันติก็ได้ กองทุนเพียงแต่ให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัวระหว่างการสู้คดีเท่านั้น สุดท้ายแล้วการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะนำไปสู่คำตัดสินว่าจำเลยถูกหรือผิดอย่างไรข้อนั้นไม่เกี่ยวข้องกับกองทุน ขอเพียงทนายความร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาทางกองทุนก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพราะถือว่าทางทนายความน่าจะคัดกรองผู้รับความช่วยเหลือมาแล้ว ที่ผ่านมาทางกองทุนก็เคยให้ความช่วยเหลือหลักทรัพย์ประกันตัวกับจำเลยที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับทำลายทรัพย์สินแล้ว เช่น จำเลยคดีทุบรถผู้ต้องขัง (กรณีที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งทุบกระจกรถผู้ต้องขังที่พริษฐ์และภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวหลังทั้งสองมีอาการเป็นลมเพราะไม่มีอากาศหายใจเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563)
ไอดาระบุว่าทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเงินที่ใช้ในการประกันตัวเท่านั้น เนื่องจากคนที่มาช่วยงานต่างมาทำในลักษณะอาสาสมัครที่ทุกคนมีงานประจำ การช่วยเหลือเฉพาะเงินประกันที่มีใบเสร็จกำกับชัดเจนยังพออยู่ในวิสัยที่ทีมงานจะบริหารจัดการได้ แต่หากกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านอื่น เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าอาหาร การทำบัญชีก็จะยิ่งซับซ้อนและเกินกำลังของทีมงาน สำหรับตัวเธอเองในบางครั้งก็จะใช้เงินส่วนตัวให้ความช่วยเหลือซื้ออาหารหรือออกค่าเดินทางกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีความเดือดร้อนเป็นรายกรณี โดยระบุว่าการทำลักษณะนั้นจะทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องบัญชีและก็เหมือนเธอได้ร่วมสมทบกองทุนราษฎรประสงค์ด้วยเพียงแต่เธอไม่ต้องบริจาคเงินเข้ากองทุน
จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 กองทุนราษฎรประสงค์มีเงินอยู่ในความดูแลราวแปดล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามศาลและสถานีตำรวจต่างๆ (ในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 กองทุนมีเงินคงเหลือในบัญชี 1,943,814.95 บาท) สำหรับอนาคตหากสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นและคดีทางการเมืองทั้งหมดยุติ ทีมงานก็คุยกันว่าอยากจะเอาเงินไปตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือจำเลยคดีอาญาทั่วไปที่มีฐานะยากจนให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิประกันตัวแต่ดูเหมือนว่ากว่าวันนั้นจะมาถึงคงยังไม่ง่ายนัก
หมายเหตุ
ไอดาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเดือนตุลาคม  2564 ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2564 กองทุนราษฎรประสงค์ได้รับมอบเงินอีกก้อนหนึ่งที่เฟซบุ๊กของทนายอานนท์เคยระดมทุนระหว่างที่เขาถูกคุมขังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของเขาและผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆระหว่างถูกคุมขัง เมื่ออานนท์และผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆที่ถูกคุมขังในครั้งนั้นถูกปล่อยตัวออกมาจนหมด ทนายอานนท์จึงโอนเงินที่เคยระดมทุนส่วนที่เหลือให้กองทุนราษฎรประสงค์ ทางกองทุนจึงนำเงินส่วนนั้นมาใช้เป็นเงินช่วยเหลือผู้ต้องขัง แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการทำงาน ทางกองทุนจึงจะไม่ระดมทุนในส่วนเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังเพิ่มเติม แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นและทีมงานมีความพร้อมก็อาจพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับการวางเงินประกันสูงสุดในคราวเดียว ไอดาระบุว่าจนถึงเดือนตุลาคม 2564 การวางเงินประกันที่ใช้เงินสูงสุดในคราวเดียวคือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ทางกองทุนวางเงินประกันผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า 31 คน ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานฯ และความผิดฐานชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแต่การแพร่ระบาดของโรค 

สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและต้องการรับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ หรือประสงค์จะร่วมสมทบทุนเงินประกันของทางกองทุน สามารถดูรายละเอียดและติดต่อได้ที่เพจ กองทุนราษฎรประสงค์