ในนามของความสงบเรียบร้อย จากเพจโพสต์รูปม็อบสู่เพื่อนร่วมทางพลเมืองผู้ “ไม่เรียบร้อย”

แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีการออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมโดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 แต่ความไม่พอใจต่อสภาวะเศรษฐกิจและการบริหารประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีนทำให้ผู้คนเลือกที่จะลงสู่ท้องถนนโดยไม่หวั่นเกรงต่อโทษทางอาญาที่อาจตามมา
ความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมืองยังทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ที่ครั้งหนึ่งมีเพดานอยู่ที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทลายลง ผู้มีอำนาจรัฐที่มุ่งหวังจะดำรงรักษาสถานภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนในช่วงชั้นต่างๆ ให้เหมือนเดิมจึงใช้วิธีกดปราบอย่างหนัก จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
นับจากเริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือคดีของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศฉบับต่างๆ ที่ออกมาโดยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และติดตามรวบรวมข้อมูลได้อย่างน้อย 483 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,171 คน
ขณะที่คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง 8 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปแล้วอย่างน้อย 150 คน จาก 151 คดี ขณะที่ห้าปีในยุครัฐประหาร คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน
ผู้แสดงออกทางการเมืองที่ถูกรัฐจัดการด้วยกระบวนการทางกฎหมายไม่เพียงต้องแบกรับภาระในการหาเงินมาประกันตัวหรือต่อสู้คดี หากแต่ยังต้องแบกรับต้นทุนอื่นๆ ที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงิน เช่น เวลากับโอกาสในการประกอบอาชีพ สุขภาพกายและสุขภายใจที่จะได้รับผลกระทบเพราะการถูกคุมขัง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับคนในครอบครัวหรือญาติ โดยเฉพาะกรณีที่คนที่ถูกจับกุมตัวเป็นคนที่รับผิดชอบหารายได้ให้ครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ เพจ “ในนามของความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นผู้ดูแล “กองทุนนิรนาม” และ “กองทุน ดา ตอร์ปิโด” ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “เพื่อนร่วมทาง” ของนักเคลื่อนไหวที่ถูกรัฐดำเนินคดี “เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ทั้งการช่วยเหลือเงินประกันตัว และค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี เช่น ค่าเดินทางไปกลับศาลและค่าปรับ รวมถึงค่าอาหารของผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ
นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายในนามของความสงบเรียบร้อยยังทำหน้าที่เป็น “เพื่อน” ของผู้ต้องขังและญาติของผู้ต้องขังคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองด้วยการไปเยี่ยมเยียนหรือโทรศัพท์ไปพูดคุยตามโอกาส รวมถึงยังนำเสียงของพวกเขาออกสู่โลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งเสียงของเขามักไม่มีคนได้ยิน

ในนามของความสงบเรียบร้อย: จุดเริ่มต้นคือเพจโชว์รูป

เพจในนามของความสงบเรียบร้อยสร้างขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2561 จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เวลา 13.07 น. เพจมีผู้ใช้เฟซบุ๊กติดตาม 31,449 บัญชี “แอดมินเอ” ผู้สร้างเพจและหนึ่งในผู้ดูแลเพจระบุว่าจริงๆ แล้วเพจในนามของความสงบเรียบร้อยตั้งขึ้นเพื่อโพสต์รูปภาพบันทึกเหตุการณ์ในยุค คสช. รวมถึงภาพการชุมนุมในที่ต่างๆ เท่านั้น
ในช่วงปี 2561 มีการชุมนุมของกลุ่ม”คนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้นำนานาชาติว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 “แอดมินเอ” ซึ่งทำงานด้านวิชาการมีโอกาสไปถ่ายภาพการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงใช้เพจในนามของความสงบเรียบร้อยเป็นพื้นที่สื่อสารเรื่องราวและภาพถ่ายของพวกเขา
การทำงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำ ทำให้แอดมินเอมีโอกาสพูดคุยกับอดีตนักโทษคดีมาตรา 112 ที่พ้นโทษออกมาแล้วจำนวนหนึ่งรวมถึง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 15 ปี เรื่องราวบางส่วนของดาตอร์ปิโดจึงถูกนำมาบอกเล่าบนเพจด้วย
ส่วนที่แอดมินเอเลือกตั้งชื่อเพจว่า “ในนามของความสงบเรียบร้อย” ก็เป็นเพราะ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งและอดีตนักโทษคดีมาตรา 112 ที่เธอรู้จักล้วนถูกรัฐไทยดำเนินคดีในฐานะบุคคลผู้เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ก็น่าสนใจว่าการตั้งชื่อแบบนี้ก็ทำให้มีผู้ติดตามเพจบางคนทักมาด่าเพราะเข้าใจผิดว่าเพจนี้สนับสนุนการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อความสงบเรียบร้อย
นับจากการสร้างเพจในเดือนสิงหาคม 2561 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพจในนามของความสงบเรียบร้อย ทำหน้าที่ในฐานะเพจภาพถ่ายที่คอยเก็บตกใบหน้าและชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่ถูกละเลยโดยแสงสปอตไลท์เพราะพวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียง
เพจในนามของความสงบเรียบร้อย มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม” ถูกจับกุมตัว เนื่องจากเขียนข้อความวิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมือง ซึ่งก่อนถูกจับนิรนามมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ติดตามประมาณ 130,000 บัญชี
“แอดมินเอ” ระบุว่าก่อนที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์นิรนามจะถูกจับกุมตัว เธอในฐานะนักวิจัยเคยติดต่อขอสัมภาษณ์ทำให้มีโอกาสรู้จักตัวตนที่แท้จริงของนิรนาม หลังมีโอกาสพบกันแอดมินเอรู้สึกกังวลใจมาตลอดเพราะความ “เข้มข้น” ของเนื้อหาบนทวิตเตอร์ของนิรนามน่าจะไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายความมั่นคง
แม้นิรนามจะระบุว่าเขาปิดบังตัวตนอย่างดีและบัญชีทวิตเตอร์ก็มีความปลอดภัยในแง่ของการปกปิดตัวตนในระดับที่ดี อย่างน้อยก็เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น แต่เธอก็รู้ว่าสิ่งที่นิรนามมั่นใจว่าปลอดภัยจริงๆ แล้วการสืบหาตัวตนก็ไม่ยากเย็นเกินไปสำหรับฝ่ายความมั่นคงไทย หลังเธอไปสัมภาษณ์นิรนามได้ประมาณหนึ่งเดือนก็มีข่าวว่าเขาถูกจับกุมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

กองทุนนิรนามจุดกำเนิดจากสถานการณ์วิกฤต

แอดมินเอระบุว่า เธอทราบเรื่องนิรนามในช่วงเย็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยความร้อนใจเธอตัดสินใจขับรถพร้อมกับผู้ช่วยวิจัยของเธออีกสี่คนจากจังหวัดปริมณฑลกรุงเทพจังหวัดหนึ่งไปพัทยาด้วยความเร่งร้อนเพราะกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของนิรนาม ด้วยความรีบทั้งเธอและผู้ช่วยวิจัยเดินทางไปพัทยาโดยแทบไม่มีเสื้อผ้าสำรองหรือของใช้ส่วนตัวสำหรับค้างคืนติดไปด้วย
เมื่อไปถึงที่สถานีตำรวจนิรนามถูกสอบสวน ขณะที่แอดมินเอและผู้ช่วยวิจัยของเธอได้พบและพูดคุยกับพ่อกับแม่ของนิรนาม เบื้องต้นพ่อกับแม่ของนิรนามเองก็อยู่ในสภาวะงุนงงเพราะไม่เคยรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ แอดมินเอกับทีมงานของเธอจึงอยู่เป็นเพื่อนกับพ่อและแม่ของนิรนามและช่วยประสานงานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ส่งทนายความมาช่วยดูแลคดีในวันรุ่งขึ้น แต่ในคืนเดียวกันเมื่อนิรนามถูกสอบสวนจนเสร็จและถูกนำตัวไปที่ห้องขังของสถานีตำรวจ นิรนามก็แจ้งกับแอดมินเอว่า เขารับสารภาพไปแล้วว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์และเป็นผู้ทวิตข้อความจริง แอดมินเอจึงบอกนิรนามว่าเดี๋ยวทนายมาให้ลองปรึกษาและหาทางออก
วันรุ่งขึ้นนิรนามถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดพัทยาและศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนิรนาม ระหว่างที่แอดมินเอกับทีมงานขับรถกลับเข้ากรุงเทพเธอขบคิดและปรึกษากับทีมงานที่ไปด้วยกันจนสุดท้ายเธอตัดสินใจว่าจะต้องช่วยครอบครัวนิรนามหาเงินมาใช้สำหรับประกันตัวนิรนามเพิ่มเนื่องจากครั้งแรกยื่นหลักทรัพย์ไป 100,000 บาท แล้วศาลยกคำร้อง
แอดมินเอขอร้องให้เพื่อนที่เป็นนักวิชาการที่เป็นที่รู้จักยอมรับในสังคมสองคนช่วยเปิดบัญชีที่จะใช้สำหรับการระดมทุน เนื่องจากนักวิชาการทั้งสองคนพอจะรับสถานการณ์ได้บ้างหากต้องเผชิญการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่พ่อและแม่ของนิรนามไม่พร้อมจะรับสถานการณ์ตรงนั้น และด้วยกระแส #saveนิรนาม ที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกทวิตเตอร์ ทางเพจสามารถระดมทุนเพื่อใช้ในการประกันตัวนิรนามได้ 1,575,072.67 บาท และได้ประกาศยุติการระดมทุนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16.21 น. และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทางเพจก็โพสต์ภาพสลิปการโอนเงินก้อนแรกจำนวน 510,000 บาท ไปที่บัญชีของคุณพ่อนิรนามเพื่อนำมาใช้วางต่อศาล ซึ่งต่อมาปรากฎว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้นิรนามปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงิน 200,000 บาท
เนื่องจากกองทุนนิรนามเป็นกองทุนที่ถูกระดมมาเพื่อชั่วเหลือนิรนามเป็นการเฉพาะ ทางเพจในนามของความสงบเรียบร้อยจึงไม่ได้นำเงินที่ระดมได้ออกมาใช้ แต่จะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายทางคดีของนิรนามทั้งค่าเดินทางไปกลับศาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางคดี โดยแอดมินเอระบุว่า หลังจากคดีของนิรนามยุติเงินที่เหลือทั้งหมดจะมอบให้ครอบครัวของนิรนามต่อไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงกลางถึงปลายปี 2563 มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ทางเพจในนามของความสงบเรียบร้อยจึงเห็นสมควรที่จะนำเงินบางส่วนของกองทุนนิรนามมาใช้ช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกด้วย
เนื่องจากกองทุนนิรนามเป็นกองทุนที่วัตถุประสงค์เฉพาะคือการระดมเงินช่วยเหลือนิรนาม กองทุนนิรนามจึงจำกัดขอบเขตการให้ความช่วยเหลืออย่างแคบ คือจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเงินประกันตัว ซึ่งเมื่อคดีถึงที่สุดจะได้รับเงินคืนจากศาลเท่านั้น ส่วนข้อกล่าวหาจะจำกัดอยู่เฉพาะกรณีการถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การเมืองหรือสถาบันฯ บนโลกออนไลน์ จนถูกดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลักษณะเดียวกับที่นิรนามถูกดำเนินคดีเท่านั้น กรณีถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ 116 โดยมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงด้วยก็ยังถือว่าอยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ โดยนอกจากนิรนามแล้วที่ผ่านมาเพจในนามของความสงบเรียบร้อยยังเคยใช้เงินจากกองทุนนิรนามจำนวน 100,000 บาท วางต่อศาลเพื่อขอประกันตัวศุภกร จำเลยที่ถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์บนโลกออนไลน์ในเดือนธันวาคม ปี 2563

กองทุน ดา ตอร์ปิโด เพราะประเทศนี้เสรีภาพมีราคา

13 ตุลาคม 2563 คณะราษฎรอีสานเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเตรียมร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่พวกเขาเริ่มตั้งเวทีปราศรัยวอร์มเครื่องเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวผู้ชุมนุมในพื้นที่ไปรวม 21 คน
หลังการจับกุมทนายความท่านหนึ่งได้ประสานมายังแอดมินเอเพื่อขอยืมเงินจากกองทุนนิรนามมาใช้ในการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 21 คน แอดมินเอจำเป็นต้องปฏิเสธไปเนื่องจากเงินที่ระดมทุนมาใช้ในกองทุนนิรนาม ผู้บริจาคตั้งใจจะให้ความช่วยเหลือกับนิรนามเท่านั้น การนำเงินมาใช้อาจผิดวัตถุประสงค์
แม้จะปฏิเสธการให้ยืมเงินกองทุนนิรนาม แต่แอดมินเอก็เห็นว่าสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาคดีราฎรอีสานก็มีความจำเป็นเร่งด่วนไม่น้อย เธอจึงตัดสินใจใช้บัญชีที่เปิดขึ้นในช่วงที่จัดพิธีณาปณกิจศพดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด นักเคลื่อนไหวยุคหลังการรัฐประหาร 2549 และอดีตนักโทษคดีมาตรา 112 เป็นช่องทางในการระดมทุนแทน
ดารณีได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเดือนสิงหาคม 2559 หลังรับโทษจำคุกเป็นเวลา 8 ปี เมื่อพ้นโทษแอดมินเอและทีมผู้ช่วยวิจัยของเธอมีโอกาสพูดคุยกับดารณีอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากดารณีถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นประเด็นที่แอดมินเอและผู้ช่วยวิจัยของเธอกำลังทำการศึกษา
ระหว่างที่ดารณีพยายามประกอบอาชีพขายตรงสินค้าหลังพ้นโทษ ทางเพจในนามของความสงบเรียบร้อยก็เคยเปิดพื้นที่ให้ดารณีใช้เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าด้วย หลังดารณีพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคมะเร็งตัวเธอและทีมงาน รวมทั้งคนรู้จักผลัดกันไปเยี่ยมและดูแลดารณีเป็นระยะจนกระทั่งอาการป่วยของเธอเข้าสู่ระยะสุดท้ายแอดมินเอและผู้ช่วยของเธอร่วมทำความฝันสุดท้ายของดารณีให้เป็นจริงด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด” ซึ่งดารณีใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเขียนขึ้นเพื่อเล่าถึงการต่อสู้ทางการเมือง รวมทั้งคดีมาตรา 112 ของตัวเอง
เพจในนามของความสงบเรียบร้อยช่วยดารณีดำเนินการจัดพิมพ์จนหนังสือออกจากโรงพิมพ์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 โดยก่อนหน้านั้นทางเพจเปิดสั่งจองหนังสือของดารณีราคาเล่มละ 112 บาท โดยรายได้ทั้งหมดจากการขายหนังสือเล่มแรกแอดมินเอให้ผู้สั่งจองหนังสือโอนเงินตรงเข้าบัญชีของดารณีเพื่อให้เธอนำไปใช้ระหว่างการรักษาตัวเลย ดารณีซึ่งเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคมจึงมีชีวิตอยู่ทันเห็นหนังสือของเธอฉบับแรกตีพิมพ์
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ดารณีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แอดมินเอรับหน้าที่จัดการทรัพย์สินของดารณีส่งมอบให้ญาติ รวมทั้งเป็นผู้จัดการพิธีศพของดารณี แอดมินเอยังปรับปรุงหนังสือของดารณีตีพิมพ์เป็นครั้งที่สองเพื่อเป็นของที่ระลึกในพิธีณาปนกิจของดารณีตามความปรารถนาสุดท้ายของเจ้าตัวด้วย หลังจัดพิธีศพของดารณีแล้วเสร็จบัญชีที่ใช้ในการรับบริจาคและใช้จ่ายในพิธีศพยังคงอยู่ในความดูแลของแอดมินเอกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง
หลังได้รับการประสานจากทนายในเดือนตุลาคม 2563 เธอจึงตัดสินใจนำบัญชีนี้มาเปิดระดมทุนเพื่อใช้ในการประกันตัวผู้ที่ถูกจับกุมในวันที่ 13 ตุลาคม ด้วยเหตุนี้กองทุนดา ตอร์ปิโดจึงถือกำเนิดขึ้นแทนการใช้เงินของกองทุนนิรนามที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อช่วยนิรนามเป็นหลัก
16 ตุลาคม 2563 เพจในนามของความสงบเรียบร้อยโพสต์ภาพบัญชีที่เคยใช้รับบริจาคช่วงพิธีศพของดารณีพร้อมประกาศเปิดตัวกองทุนอย่างเป็นทางการว่า
“ขอใช้ชื่อบัญชีนี้ว่า ” กองทุน #ดาตอร์ปิโด ” เพื่อรำลึกถึงและสืบสานอุดมการณ์การต่อสู้ของ “ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” ผู้ถูกคุมขังนานถึง 8 ปี ด้วยความผิดฐานละเมิด ม.112 และต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมอันเลวร้ายตลอดช่วงเวลานั้น เงินจากกองทุนนี้จะใช้เพื่อ #ช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เรื่อยมา และ/หรือคดีทางการเมืองอื่น ๆ โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี”
โพสต์ดังกล่าวชี้แจงด้วยว่าก่อนนำบัญชีมาใช้ระดมทุน มีเงินที่คงค้างในบัญชีอยู่เดิม 11,311.15 บาท จากนั้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 หลังประกาศระดมทุนในฐานะกองทุน ดา ตอร์ปิโด เป็นครั้งแรก มีเงินเข้ามาในบัญชีทั้งสิ้น 1,281,984.76 บาท
หลังจากนั้นกองทุนดา ตอร์ปิโด ก็ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองเรื่อยมา และเพื่อความโปร่งใสทางกองทุนจะคอยโพสต์ภาพถ่ายใบเสร็จและหลักฐานการเบิกจ่ายรวมถึงยอดเงินคงเหลือในบัญชีอยู่เป็นระยะ
จากการสำรวจข้อมูลบนเพจ กองทุน ดา ตอร์ปิโดยังคงให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา จำเลย รวมถึงผู้คุมขังในหลายลักษณะ เช่น อัญชัญนักโทษคดีมาตรา 112 ที่ถูกพิพากษาจำคุกในเดือนมกราคม 2564 เป็นเวลา 29 ปี กับ 174 เดือน จากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางกองทุนช่วยเหลือโดยประสานกับญาติของอัญชัญในการซื้อของเยี่ยมเป็นระยะ สนับสนุนค่าเดินทางของนิว จตุพร นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นที่สีลม ในการเดินทางจากจังหวัดมหาสารคามไปจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาทเนวิน ชิดชอบด้วยการโฆษณา จากกรณีแชร์ข้อมูลวิจารณ์การจัดการโควิดที่จังหวัดบุรีรัมย์จากเว็บไซต์คนไทยยูเค นอกจากนั้นยังเคยช่วยพรชัย จำเลยคดีมาตรา 112 อีกคนหนึ่งชำระค่าปรับในความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากการร่วมชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ด้วย นอกจากนั้นในช่วงที่ผู้ชุมนุมถูกจับกุมตัวไปคุมขังที่กองบัญชาการ ตชด.ภาคหนึ่ง ทางเพจยังส่งทีมงานไปซื้ออาหารส่งเข้าไปให้ผู้ถูกควบคุมตัวรับประทานด้วย

ในนามแห่งความสงบเรียบร้อย เพื่อนร่วมทางพลเมืองผู้ไม่เรียบร้อย

การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเป็นหนึ่งหน้าการทำงานของเพจในนามของความสงบเรียบร้อยเท่านั้น เพราะสำหรับแอดมินเอและทีมงานเพจในนามของความสงบเรียบร้อย มิติของความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด การช่วยเหลือด้านการเงินอาจช่วยแบ่งเบาภาระด้านค่าใช้จ่ายให้ผู้ต้องหาและจำเลยที่อยู่นอกเรือนจำ และช่วยให้ผู้ถูกคุมขังสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีขึ้นได้บ้าง แต่หากปราศจากการสื่อสารหรือเล่าเรื่องก็ไม่สามารถคืนตัวตนหรือความเป็นมนุษย์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้
เพจในนามของความสงบเรียบร้อยจึงพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ถูกกระทำจากรัฐที่ทางเพจมีโอกาสพบพานออกสู่สาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมถึงพยายามหาวิธีการสื่อสารที่ทำให้คนในสังคมยังรับรู้ถึงตัวตนและการดำรงอยู่ของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านั้น “คิดถึงกันวันละบาท” น่าจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนวิธีคิดและการสื่อสารของเพจได้ดีที่สุด
“…เมื่อเราโอนเงินบริจาคหนึ่งครั้ง มันคล้ายกับว่าเราได้ทำบางอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มีอะไรจบสิ้นลงเลย พวกเขายังทนทรมานอยู่ในที่คุมขังนั้น นับทุกเวลานาทีรอคอยความยุติธรรม อยากให้พวกเรารู้สึกร่วมไปกับพวกเขา #แบกรับภาระการนับวันนับคืนไปด้วยกัน…” #โอนเงินแค่คนละ1บาทเท่านั้น #แต่ขอให้สละเวลามาโอนทุกวัน #โพสต์กันทุกคืน
ทางเพจชวนประชาชนร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้เฝ้ารออิสรภาพในเรือนจำด้วยการโอนเงินเพียงวันละ 1 บาท ต่อเนื่องกันตลอดระยะเวลาที่นักโทษการเมืองถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้เงินวันละหนึ่งบาทอาจไม่มากมาย แต่การที่ใครสักคนจดจำว่าในขณะที่เขายังใช้ชีวิตตามปกติ ทำงานหรือพักผ่อนกับครอบครัว ยังมีคนถูกคุมขังเพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง
การสละเวลาอันมีค่าในชีวิตที่เร่งรีบมาโอนเงินเพียงวันละหนึ่งบาทให้กับผู้คนที่เขาอาจไม่เคยพบพานหรือรู้จักเป็นการส่วนตัวก็อาจมีค่ามากกว่าการโอนเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองในจำนวนเยอะๆ เพียงครั้งเดียวและเลิกรากันไป เพราะแม้จำนวนเงินจะมากแต่พวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ในความทรงจำและความรับรู้เพียงชั่วเวลาที่ใครสักคนกดโทรศัพท์เพื่อโอนเงิน จากการสืบค้นพบว่าเพจในนามของความสงบเรียบร้อยเปิดระดมทุนวันละบาทรวมอย่างน้อย 64 วัน ตั้งแต่ 13 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2564
นอกจากนี้ทางเพจยังนำเสนอเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดีหรือถูกจองจำ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่แสงไฟจากสื่อใหญ่อาจส่องไปไม่ถึงพวกเขา
ด้วยความที่เพจในนามของความสงบเรียบร้อยทำงานในลักษณะไม่เปิดเผยตัวตน จึงมีคนส่งข้อความในลักษณะตำหนิหรือไม่ไว้ใจมาหลายครั้ง นอกจากนั้นก็ยังเคยมีคนคอมเมนท์หรือส่งข้อความในลักษณะแสดงความไม่พอใจหรือไม่สบายใจกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคนที่ถูกมองจาก “ฝั่งเดียวกัน” ว่าไม่น่าไว้ใจหรือเป็นสายให้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งข้อนี้ทางเพจก็ชี้แจงไปว่า
“…การต่อสู้คดีเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าผู้ต้องหาจะกระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมส่วนตัวอย่างไร พวกเขาก็ควรมีโอกาสได้ต่อสู้คดี การช่วยเหลือของกองทุนฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยืมเงินประกันตัว, การสนับสนุนค่าเดินทาง, และการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินอื่น ๆ ฯลฯ #ไม่ได้หมายความว่าทีมงานเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหาเสมอไป หากคดีนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางการเมือง (ตามวัตถุประสงค์ที่เคยแจ้งไว้) ทีมงานก็จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี “ตามสมควร” และตามหลักฐานการเบิกจ่ายต่าง ๆ…”
เมื่อสอบถามทางเพจในนามของความสงบเรียบร้อยไปว่านับจนถึงเดือนตุลาคม 2564 ทางเพจหรือกองทุน ดา ตอร์ปิโดให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องของไปกี่กรณีแล้ว แอดมินเอได้ให้คำตอบซึ่งอาจเป็นบทสรุปของงานชิ้นนี้ว่า
“จะมานับความทุกข์ร้อนเป็นรายคนมันไม่โอเค กองทุนไม่เคยนับ ต่อให้ช่วยเหลือเล็กน้อยแค่หนึ่งคน แบ่งเบาความกังวลของเขาให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มันก็มากมายมหาศาลแล้ว คนเวลาเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมแบบนี้ โดยเฉพาะคนโนเนม เขาไม่รู้จะไปพึ่งใครจริง ๆ บางทีแค่ช่วยคุยช่วยให้ข้อมูลเขาก็สบายใจขึ้นแล้ว มีแบบนี้ก็เยอะ คือมาถามเพราะไม่รู้และกังวล”
สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและต้องการรับความช่วยเหลือจากกองทุน ดา ตอร์ปิโด สามารถดูรายละเอียดได้ที่เพจ ในนามของความสงบเรียบร้อย