เสรีภาพสื่อไทยในสนามการชุมนุมปี 2564

การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ย้อนกลับไปในปี 2563 สื่อมวลชนทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้อาจเคยเป็นสิ่งที่อาจสื่อสารได้ไม่ง่ายนักอย่างเช่น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้ว่า ข้อมูลที่นำเสนอจะถูกคัดกรองและขัดเกลาแล้ว แต่ก็ยังคงแก่นสำคัญอันนำไปสู่การทำความเข้าใจข้อเรียกร้องแห่งยุคสมัย ต่อมาในปี 2564 สื่อมวลชนทวีบทบาทสำคัญอย่างมากเนื่องด้วยสถานการณ์ความรุนแรงและการใช้กำลังอย่างหนักมือของฝ่ายรัฐตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา รวมทั้งรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมดินแดงที่เริ่มมีการใช้สันติวิธีเชิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 

หลักฐานทั้งภาพ, วิดีโอและปากคำจากสื่อมวลชนกลายเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ คอยคลี่คลายข้อเท็จจริงในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ในปีนี้บ่อยครั้งที่สื่อมวลชน ซึ่งมีเครื่องหมายบ่งชี้ชัดเจนต้องตกเป็นเป้าการใช้กำลังจากฝ่ายรัฐ เช่น การถูกยิงด้วยกระสุนยางทั้งระดับต่ำกว่าเอวและเหนือเอวขึ้นไป (อ่านหลักสากลว่าด้วยการใช้กระสุนยาง) รูปรอยของการคุกคามสื่อปรากฏขึ้นในการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ที่สนามหลวง วันดังกล่าวมีสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อยสามคนและในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เยาวชนปลดแอกจัดการชุมนุมใหญ่ครบรอบหนึ่งปี มีสื่ออย่างน้อยสามคนถูกยิงด้วยกระสุนยาง เป็นเหตุให้ทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ไต่สวนในประเด็นดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2564 

แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้ตำรวจระมัดระวังในการสลายการชุมนุม แต่การชุมนุมในเดือนสิงหาคม 2564 ที่แยกดินแดงและพื้นที่เกี่ยวเนื่องยังปรากฏการใช้กำลังต่อสื่อมวลชนระหว่างการสลายการชุมนุม ขณะที่เดือนกันยายน 2564 แนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มจำกัดพื้นที่การรายงานของสื่อทั้งทางพื้นที่และระยะเวลาด้วยข้อกำหนดเคอร์ฟิว, มีการตั้งข้อสงสัยว่า การไลฟ์ของสื่อเป็นการบอกข้อมูลการทำงานของตำรวจกับผู้ชุมนุมและการจับกุมสื่อพลเมือง พร้อมตั้งข้อหาว่า ร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมด้วย ขณะที่สื่อบางเจ้าก็ตกเป็นเป้าจากผู้ชุมนุมเนืองๆ โดยกล่าวหาว่า พวกเขารายงานรายละเอียดการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมให้ตำรวจทราบ

สื่อภาคสนาม: ประจักษ์พยานและผู้คลี่คลายข้อเท็จจริง

หากดูบทบาทของสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม จะพบว่า นอกจากจะนำเสนอข้อเท็จจริงพื้นฐานเกี่ยวกับการชุมนุมแล้ว สื่อมวลชนยังทำหน้าที่รายงานพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐของกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างเช่น การขว้างปาสิ่งของ การใช้พลุ ประทัด ระเบิดเพลิง แต่ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ติดตาม การใช้กำลังของตำรวจในการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยหลายครั้งทำให้พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ อย่างเช่น

  • การใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนจากจุดสูงข่ม
  • การจ่อปืนลูกซองสำหรับกระสุนยางไปที่ร่างกายส่วนบนของผู้ชุมนุม
  • การยิงกระสุนยางในระยะประชิด
  • การใช้กระบองยางตีเข้าที่ท้ายทอยผู้ถูกจับกุมแม้จะไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่
  • การถีบรถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมระหว่างหลบหลีกออกจากพื้นที่

ดังนั้น ในการชุมนุมสาธารณะที่มีความล่อแหลม มีเหตุร้ายแรง หรือมีแนวโน้มจะเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผุ้ชุมนุม จึงจำเป็นจะต้องมีสื่อมวลชนมาทำหน้าที่ตรวจสอบหรือการรายงานข่าวในพื้นที่การชุมนุม เพราะสื่อคือกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ หรือ ทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ต่างๆ กรณีตัวอย่างที่สะท้อนความสำคัญของสื่อ คือ เหตุการณ์รถชนผู้ชุมนุมและรถพลิกคว่ำเมื่อคืนวันที่ 10 กันยายน 2564 อุบัติเหตุแรกรถยนต์ขับชนผู้ชุมนุมมีสื่อพลเมืองอย่างเพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” สามารถถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ได้ ขณะที่เหตุการณ์ที่สอง มีข้อถกเถียงเนื่องจากตำรวจแถลงว่า ผู้ก่อเหตุหรือผู้ชุมนุมนั้นข้ามถนน ทำให้รถเสียหลัก ฝ่ายผู้ชุมนุมปฏิเสธ 

โดยข้อถกเถียงนี้เริ่มต้นจากสื่อของตำรวจอย่าง Police TV ที่รายงานว่า หลังเกิดเหตุผู้ประสบเหตุมาพักที่ด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก และพบว่า มีรถยนต์เบรคกระทันหัน เขาจึงหักหลบและพลิกคว่ำ ต่อมา พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่า รถยนต์ที่พลิกคว่ำนั้นขับมาทางถนนวิภาวดีขาเข้าและพบผู้ก่อเหตุพยายามข้ามเกาะกลางถนนทำให้รถคันดังกล่าวหักหลบเสียหลักพลิกคว่ำจนเกิดเพลิงไหม้ เช้าวันถัดมาทางผู้สื่อข่าวสดทวีตคลิปวิดีโอมุมสูง พบว่า ก่อนเกิดเหตุรถยนต์พลิกคว่ำมีเสียงดังปังเกิดขึ้น และรถยนต์คันดังกล่าวกล่าวได้ตุพุ่งมาชนกับแบริเออร์เกาะกลางถนนวิภาวดี ก่อนจะมีผู้ชุมนุมข้ามถนนมาที่รถที่เกิดเหตุ และตำรวจได้ออกมาจากกรมดุริยางค์พร้อมกับรถฉีดน้ำ ดังนั้น ในเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า ก่อนหน้าการพลิกคว่ำไม่มีการข้ามถนนของประชาชนหรือผู้ชุมนุม 

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ช่วงกลางดึกของวันที่ 12 กันยายน 2564 ตำรวจขับรถผู้ต้องขังฝ่าแนวผู้ชุมนุมมาที่แยกดินแดงและพุ่งเข้าชนเยาวชนอายุ 14 ปีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ครั้งนั้น The Reporters สามารถไลฟ์เหตุการณ์ไว้ได้ จึงเห็นและมีหลักฐานชัดเจนว่า รถยนต์ที่พุ่งชนเป็นรถของตำรวจ แม้จะติดตามตำรวจผู้ที่ขับรถชนได้ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนของคดีดังกล่าว

ที่ผ่านมา แม้ว่าสื่อมวลชนจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หลายครั้ง สื่อจะต้องเจอกับความกดดันจากฝั่งเจ้าหน้าที่ในระหว่างสังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์การชุมนุม ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ระหว่างการผลักดันผู้ชุมนุมออกจากแยกดินแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้กำลังและการยิงกระสุนยางอย่างต่อเนื่องใส่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่เมื่อพบว่ามีสื่อมวลชนคอยถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเปลี่ยนท่าที นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวใส่สื่อมวลชนว่า ให้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ทว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานต่อสาธารณะถึงผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์และผลการสืบสวนว่า ตำรวจนายดังกล่าวถูกยิงด้วยกระสุนจริงและเป็นการกระทำจากผู้ชุมนุมตามที่ประกาศในวันดังกล่าวหรือไม่

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับกรณีที่ธีรนัย จารุวัสตร์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยโพสต์ภาพเอกสารข้อเสนอแนะของตำรวจต่อนักข่าวภาคสนามว่า ควรมีการนำเสนอข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น เป็นฝ่ายโดนกระทำจากผู้ชุมนุม 

ตำรวจ: ผู้สร้างข้อจำกัดในการทำงานให้กับสื่อ

ในการชุมนุมปี 2564 สถานการณ์การชุมนุมมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้มาตรการการสลายการชุมนุมเป็นเครื่องมือหลัก ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็มีปฏิบัติการตอบโต้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ แต่ทว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกับพยายามสร้างข้อจำกัดในการทำงานของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเงื่อนไขเรื่องบัตรประจำตัวสื่อ ปลอกแขนสื่อ การอ้างเรื่องความปลอดภัยและเคอร์ฟิว ไปจนถึงการใช้กำลังข่มขู่กดดันให้สื่อต้องออกจากพื้นที่การชุมนุม

บัตรประจำตัวและปลอกแขน: เงื่อนไขและข้อจำกัดของสื่อ

ปัญหาเรื่องบัตรประจำตัวสื่อมวลชนและปลอกแขน เริ่มกลายเป็นประเด็นหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระชับพื้นที่การชุมนุมและสั่งให้สื่อมวลชนยุติการรายงานข่าวแบบไลฟ์สด พร้อมทั้งทำการตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นการคุกคามสื่อที่เข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว เพราะสื่อย่อมมีเสรีภาพในการทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมและรายงานข่าวได้โดยไม่ถูกคุกคามและจำกัดโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามรัฐธรรมนูญและหลักกติกาสากลระหว่างประเทศ

วันที่ 12 กันยายน 2564  หกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ประสานงานกับตำรวจ และได้รับแจ้งจากพลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรายงานข่าว หรือไลฟ์สดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกัน นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวประกอบด้วยก็จะถือว่าครบถ้วน 

วันที่ วันที่ 15 กันยายน 2564 พ.ต.ท.วชิรพงศ์ แก้วดวง รองผู้บังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า สื่อมวลชนที่มีบัตรอนุญาตทุกคนจะได้รับการผ่อนปรนให้ทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิว และในวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 14.36 น. ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters โพสต์ข่าวเวียนถึงสื่อมวลชนประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า

“ทาง บช.น. ได้พิจารณาอนุญาตให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่สื่อในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (กรณีมีสถานการณ์ชุมนุม) ในพื้นที่ กทม.  โดยสื่อที่จะได้รับอนุญาตจะต้องแสดงเอกสารดังนี้

1.หนังสือขออนุญาตจากต้นสังกัดในการออกมาปฏิบัติช่วงเคอร์ฟิวโดยมีตราประทับของ บช.น.( ฝอ.5 บก.อก.บช.น.)

2.บัตรประจำตัวสื่อมวลชน ที่ออกโดย กรมประชาสัมพันธ์ เท่านั้น

3.บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวของแต่ละสำนักข่าว / ช่องข่าว /สำนักพิมพ์ แล้วแต่กรณี

ในการตรวจสอบ หากสื่อมวลชนรายใดไม่มีเอกสารตามข้อ 1-3 จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่และต้องออกจากพื้นที่ตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่

*กรณีการขออนุญาตตามข้อ 1 ให้สื่อมวลชน ติดต่อขออนุญาต ได้ตั้งแต่วันที่ 17-21 ก.ย.64 หลังจากวันที่ 21 ก.ย.64  ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติพิจารณาตามสมควร”

ด้าน ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ข้อกำหนดนี้จะทำให้สื่อออนไลน์ไม่สามารถทำข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้เนื่องจากไม่มีบัตรสื่อของกรมประชาสัมพันธ์และบัตรของสื่อบางคนก็หมดอายุ ติดขัดในช่วงการทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม นอกจากนี้ไม่มีกฎหมายใดเลยที่บังคับว่า ให้สื่อมวลชนต้องทำบัตรสื่อของกรมประชาสัมพันธ์และถือเป็นเอกสารราชการประเภทหนึ่ง

ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 18.30 น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลชี้แจงว่า บัตรสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์นั้นเป็นเพียงเอกสารประกอบเพื่อยืนยันตัวตน กรณีที่สื่อมวลชนไม่มีบัตรดังกล่าว สามารถใช้บัตรประจำตัวของสื่อและปลอกแขนขององค์กรสื่อเพื่อแสดงตนได้ การขออนุญาตออกนอกเคหสถานสามารถขอที่สำนักงานเขตหรือสถานีตำรวจได้ด้วย

อย่างไรก็ดี หากดูตามระเบียบกรมประชาสัมพันธ์ว่าด้วยการออกบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ปี 2564 จะพบว่า สื่อออนไลน์ที่จะขอยื่นออกบัตรประจำตัวสื่อต้องมีกองบรรณาธิการทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ทางเว็บไซต์โดยมีที่ตั้งสำนักงานชัดเจน และมีการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ที่มีการดำเนินการด้านธุรกิจข้อมูลข่าวสารมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่ออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเป็นสื่ออิสระไร้สังกัดมากขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูล

ประกอบกับการเข้าร่วมสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ เนื่องจากคุณสมบัติของการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานข่าวประจำกองบรรณาธิการไม่น้อยกว่า 20 คน และต้องผลิตเนื้อหาข่าวที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นข่าวที่ผลิตขึ้นเอง (Original content) ไม่น้อยกว่า 50 ชิ้นต่อวัน  ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สื่อออนไลน์บางแห่งและสื่อพลเมืองแทบทั้งหมดที่มีจำนวนกำลังคนทำงานน้อยยังไม่สามารถเข้าร่วมได้ 

ส่วนเรื่องปลอกแขนสื่อ ทางหกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ออกแถลงการณ์ จัดตั้งศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) โดยมีการจัดทำปลอกแขนสัญลักษณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุม แจกให้แก่สื่อมวลชนที่มีต้นสังกัดเป็นสมาชิกของสามองค์กรสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ส่วนกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ให้พิจารณาเป็นกรณีๆไป

นอกจากทั้งสองแล้วสื่อมวลชนบางส่วนในพื้นที่ชุมนุมยังมีการสวมเสื้อกั๊กสีเขียวสะท้อนแสงและติดข้อความว่า “PRESS” ทั้งหมดถูกใช้เป็นเครื่องมือและสัญลักษณ์ในการแสดงตนของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม

ทั้งนี้ ธีรนัย จารุวัสตร์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุในโพสต์เฟซบุ๊กว่า การให้ปลอกสื่อจะต้องพิจารณาให้เฉพาะกับผู้ที่ทำอาชีพเป็นสื่อมวลชนโดยกิจลักษณะเท่านั้น และไม่สามารถให้ปลอกแขนให้กับองค์กรหรือสื่อที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในการชุมนุม เช่น Police TV โดยวันที่ 25 มีนาคม 2564 ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลตกลงกับสื่อไว้ว่า จะไม่ทำปลอกแขนสื่อเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไปเดือนสิงหาคม ปี 2564 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เคยเปิดให้สื่อลงทะเบียนรับปลอกแขนที่จัดทำขึ้นโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปลอกแขนมีสีขาวและมีเลขกำกับสีน้ำเงินขนาดใหญ่เอาไว้ ซึ่งจากรายงานแจ้งผลการพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งศาลแพ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2564 มีสื่อมวลชนมาลงทะเบียนรับปลอกแขนจำนวน 351 คน จำนวนมากที่สุดคือ หน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ 28 คน แบ่งเป็น Police TV 19 คน, Insight Police News 2 คน, ตำรวจเพื่อประชาชน 2 คน, Police Online 2 คน, Police news 2 คน และโปลิศ นิวส์ 1 คน เดิมทีสื่อประชาสัมพันธ์อย่าง Police TV หรืออีกชื่อคือสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นไม่สามารถรับปลอกแขนของหกองค์กรวิชาชีพสื่อได้ การออกปลอกแขนสื่อมวลชนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นการผิดข้อตกลงกับสื่อไว้ในเดือนมีนาคม ปี 2564

ทั้งนี้ การที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลออกปลอกแขนสื่อมวลชนเอง เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในปี 2561 ช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง  กองบัญชาการตำรวจนครบาลเคยให้สื่อมวลชนภาคสนามที่จะลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมเข้ารับปลอกแขนมาแล้ว โดยจะต้องใช้บัตรประจำตัวของต้นสังกัดและบัตรสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์มาใช้ประกอบการพิจารณาขอออกปลอกแขนสื่อ หากไม่มีปลอกแขนนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่รายงานข่าว

เดือนตุลาคม 2564 แม้สื่อมวลชนจะได้รับการอนุญาตให้ทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ แต่ยังคงปรากฏการขอความร่วมมือ เช่น วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่ซอยต้นโพธิ์ ข้างแฟลตห้าชั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นเรื่องเคอร์ฟิว ประชาชนและสื่อมวลชน “ที่ไม่มีความจำเป็น” หลังเวลา 22.00 น. อยากจะให้เดินทางกลับบ้าน อยากให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง กรณีที่อยากจะรายงานเหตุอาชญากรรมก็สามารถติดต่อที่ 191 หรือ 599

เคอร์ฟิวและความปลอดภัย: ข้ออ้างเพื่อให้สื่อออกจากพื้นที่ปะทะ

เคอร์ฟิวและความปลอดภัยเป็นหนึ่งใน “เหตุผล” ที่เจ้าหน้าที่ใช้อ้างเพื่อจำกัดการทำงานของสื่อหรือให้สื่อออกจากพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อรัฐมีการใช้มาตรการสลายการชุมนุม ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2564 มีสื่อมวลชนอย่างน้อยสามคนถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางระหว่างการสลายการชุมนุม ตามมาด้วยวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่มีสื่อมวลชนอีกสามคนถูกยิงด้วยกระสุนยาง นำไปสู่แนวคิดของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของสื่อมวลชนของตำรวจ อ้างเหตุผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง

“สื่อมวลชนจะเห็นว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนอาจจะมีการใช้ความรุนแรง ใช้สิ่งเทียมอาวุธ เกรงว่า พี่น้องสื่อมวลชนจะได้รับอันตราย เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ต่างๆที่เราให้กับสื่อมวลชน พื้นที่ที่เราจัดไว้ให้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยกับพี่น้องสื่อมวลชน อยากจะทำความเข้าใจว่า ครั้งนี้และครั้งต่อๆไปฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลหรืออาจจะเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแจ้งพี่น้องสื่อมวลชนว่า พื้นที่แห่งไหนเป็นพื้นที่ปลอดภัย สัญลักษณ์อะไรเป็นสัญลักษณ์ที่จัดให้พี่น้องสื่อมวลชน” พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7 สิงหาคม 2564

การชุมนุมที่แยกดินแดงเริ่มมีการจำกัดพื้นที่การรายงานของสื่อมวลชนในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ให้สื่อมวลชนรวมตัวกันอยู่แนวหลังตำรวจ แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริงตำรวจไม่สามารถวางแผนผังพื้นที่ปลอดภัยและจำกัดให้สื่อมวลชนอยู่ในที่เฉพาะเจาะจงเนื่องด้วยสถานการณ์แนวปะทะที่เปลี่ยนแปลงโดยตลอด ทั้งยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่สื่อมวลชนมักจะแสวงหาการรายงานข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายเพื่อความสมบูรณ์ของข่าวเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ซึ่งการยืนอยู่หลังแนวตำรวจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 การจำกัดพื้นที่การรายงานข่าวของสื่อมวลชนยังไม่ชัดเจนนัก โดยมากมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตำรวจสลายการชุมนุมจะมีการประกาศให้สื่อที่อยู่ด้านหลังแนวของตำรวจห้ามเดินตามไปใกล้หรือขอผ่านแนวตำรวจไปด้านหน้า เนื่องด้วยเวลาที่มีการเผชิญหน้าตำรวจจะมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมก็มักจะตอบโต้ด้วยสิ่งของที่เตรียมมาเช่น พลุไฟ, ประทัดยักษ์และระเบิดปิงปอง บริเวณนี้จะไม่เห็นความเคลื่อนไหวของสถานการณ์นัก ขณะที่สื่อที่อยู่หน้าแนวตำรวจใกล้เคียงกับผู้ชุมนุมจะเห็นภาพสถานการณ์ของผู้ชุมนุมและตำรวจมากกว่า อย่างไรก็ตามตำรวจอาจมีคำสั่งให้สื่อมวลชนอยู่หน้าแนวตำรวจต้องขึ้นทางเท้าหรือแยกตัวออกจากผู้ชุมนุม อ้างเหตุจำเป็นจะต้องแยกฝ่ายให้ชัดเจน

ระหว่างการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพยายามใช้เครื่องบ่งฝ่ายของผู้สื่อข่าวที่ชัดเจนมาใช้ในการแยกแยะของตำรวจยังไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้สื่อข่าวที่มีเครื่องหมายแสดงตน ปลอกแขนสื่อ, เสื้อสีเขียวสะท้อนแสงและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ของสื่อยังคงตกเป็นทั้งเป้าหมายและลูกหลงของการใช้กำลังสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระสุนยางที่ตามหลักสากลการใช้นั้นจะต้องเล็งยิงไปที่บุคคลที่มีการความรุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่การยิงแบบสุ่มโดยไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด ยกตัวอย่างเช่น

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 มีรายงานว่า สื่อมวลชนที่รายงานข่าวหน้าแนวตำรวจถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อยหนึ่งคน ผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บริเวณดังกล่าวเห็นว่า ตำรวจมีการชี้เป้าการยิงกระสุนยางเข้ามากลางกลุ่มสื่อมวลชน ตามมาด้วยวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ตำรวจยิงกระสุนยางใส่กลุ่มสื่อมวลชนที่กำลังพักหลบฝนอยู่ ทำให้ทั้งหมดต้องวิ่งเข้ามาหลบในอาคารไทยวิวัฒน์ประกันภัย มีรายงานด้วยว่า สื่อมวลชนที่ต่างมีปลอกแขนของสื่อมวลชนพยายามแสดงตัวแล้ว แต่ไม่เป็นผล มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อยสองคน 

วันเดียวกันกองบัญชาการตำรวจนครบาลเริ่มเผยแพร่แนวทางปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะที่เกิดความไม่สงบผ่านทางเฟซบุ๊กของกองบัญชาการฯ ขอความร่วมมือให้ระมัดระวังในการปฏิบัติงาน, สวมใส่ปลอกแขนสื่อและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยตามคำแนะนำของผู้บัญชาการเหตุการณ์ แนวปฏิบัติของสื่อมวลชนยังปรากฏผ่านเพจเฟซบุ๊กของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเรื่อยๆมาในเดือนกันยายน 2564 แต่สื่อมวลชนก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายของกระสุนยางอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2564  ตำรวจยึดพื้นที่แยกดินแดง ทำให้ผู้ชุมนุมอิสระกระจายตัวไปตามพื้นที่อื่นๆ วอยซ์ทีวีรายงานว่า ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่แยกตึกชัย มีการนำสเปรย์พ่นฉีดข้อความประท้วงรัฐบาลตามเสาและสะพานข้ามแยก ต่อมาตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วเคลื่อนขบวนผ่านหน้าศูนย์การแพทย์สมเด็จเทพรัตน์ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ตำรวจยังคงยิงกระสุนยางเข้ามาในกลุ่มสื่อมวลชนที่เหลืออยู่เพียงสี่คน พบว่า มีผู้สื่อข่าวที่มีปลอกแขนสื่อที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลถูกกระสุนยางบริเวณข้อศอก

เดือนกันยายน 2564 สถานการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงเข้มข้นขึ้นตามเจตนารมณ์ของตำรวจที่ต้องการปิดเกมภายในเดือนนี้ เวลาเดียวกันตำรวจเริ่มต้นจำกัดการรายงานข่าวของสื่ออย่างจริงจังด้วยเวลาเคอร์ฟิว ยกตัวอย่างเช่น

วันที่ 9 กันยายน 2564 ที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ประกาศออกคำสั่งให้สื่อที่ติดตามสถานการณ์อยู่บริเวณดังกล่าวขึ้นไปยังทางเท้า หากไม่ปฏิบัติก็อาจจะถูกจับกุมตัวได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมายฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม วันที่ 11 กันยายน 2564 เวลา 21.05 น. หลังเคอร์ฟิวตำรวจประกาศให้สื่อหยุดไลฟ์และมารวมตัวกันบริเวณแยกดินแดง ฝั่งโรงเรียนนิธิปริญญาเพื่อตรวจสอบบัตรสื่อ เวลา 22.50 น. ตำรวจสั่งให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่ดินแดง ระบุว่า ขณะนี้เป็นเวลาเคอร์ฟิวและถ้าไม่ยอมออกจากพื้นที่จะพาตัวไปกรมดุริยางค์ทหารบก  

วันที่ 11 กันยายน 2564 The Standard รายงานว่า เวลา 21.05 น. ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดง ทำให้ผู้ชุมนุมถอยไปรวมตัวกันบริเวณแฟลตดินแดง จากนั้นตำรวจประกาศให้ผู้สื่อข่าวนั่งลง ให้ยุติการไลฟ์สด และทำการตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว

เวลา 22.50 น. ตำรวจประกาศให้สื่อออกนอกพื้นที่ แยกย้ายกลับบ้าน ระบุ “ถ้าไม่ออกจะดำเนินการตามกฎหมาย เราเตือนแล้ว” และ “ให้ท่านกลับเลย เป็นเวลาเคอร์ฟิว เตือนครั้งสุดท้าย ถ้าไม่แยกย้าย คฝ. เชิญตัวไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก” ทำให้สื่อหลายแห่งยุติการไลฟ์

วันที่ 12 กันยายน 2564 เวลา 19.30 น. มีไฟลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนทางด่วนดินแดง มุ่งหน้าดาวคะนอง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่มากับรถของการทางพิเศษพยายามใช้ถังดับเพลิงแต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ระหว่างนี้ทางด่วนเริ่มปิดให้บริการและไม่มีรถยนต์ผ่านด่านเก็บเงินเข้ามาแล้ว ขณะที่สื่อมวลชนจำนวนมากยืนอยู่บนพื้นผิวการจราจรเพื่อเก็บภาพและข้อมูล เท่าที่เห็นไม่พบว่า มีผู้ชุมนุมแสดงตัวบริเวณเสาต้นเพลิง ต่อมาเวลา 19.45 น.ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน และรถฉีดน้ำเข้ามาในพื้นที่บริเวณทางด่วน โดยมีประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงบอกว่า จะมาดับเพลิง ตำรวจและประกาศให้ผู้สื่อข่าวถอยไปชิดแนวรั้วทางด่วนฝั่งวิภาวดีขาเข้า อ้างว่า ตำรวจไม่สามารถแยกระหว่างผู้ก่อเหตุและผู้สื่อข่าวได้ จากนั้นรถฉีดน้ำเริ่มฉีดน้ำดับเพลิงจนสงบ

เวลา 19.51 น. ทางด่วนปิดบริการแล้ว ตำรวจยังอยู่ในพื้นที่และประกาศให้สื่อออกจากพื้นผิวการจราจร ไม่เช่นนั้นจะถือว่า เป็นผู้ก่อเหตุด้วย ถ้าเป็นสื่อต้องอยู่บนฟุตบาท ทำให้สื่อมวลชนต้องข้ามถนนออกนอกทางด่วนไปอีกฝั่งหนึ่ง ต่อมาเวลา 22.05 น. ตำรวจประกาศแจ้งให้สื่อมวลชนกลับบ้าน เนื่องจากเวลาดังกล่าวเป็นเวลาตามที่มีการประกาศเคอร์ฟิว (ห้ามออกนอกเคหสถาน) หลังจากนั้นตำรวจได้เดินเข้าถนนมิตรไมตรีมุ่งหน้าไปยังทางแฟลตดินแดง และสั่งให้สื่อปักหลักอยู่แถวสำนักงานเขตดินแดง

วันที่ 15 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้สื่อมวลชนมารวมตัวกันเพื่อนตรวจบัตรนักข่าวและเอกสารรับรองการทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว จากการตรวจสอบไม่พบผู้สื่อข่าวรายใดถูกจับกุม มีเพียงการตักเตือนผู้สื่อข่าวที่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานนอกเวลา โดยระบุว่า ครั้งต่อไปต้องมี 

เวลาประมาณ 22.00 น. ระหว่างที่เขาขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ใกล้ๆกระทรวงแรงงานเพื่อนำข้าวไปส่งให้ทีมงานที่ถนนมิตรไมตรี ปรากฎว่า มีรถกระบะบรรทุกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่เปิดไฟหน้ารถวิ่งตามเขามาและสั่งให้เขาหยุดรถซึ่งเขาก็ปฏิบัติตาม ในขณะนั้นตัวเขายังใส่เสื้อกั๊กวินมอเตอร์ไซค์อยู่ พรชัยพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า เขาเป็นทีมงานของกะเทยแม่ลูกอ่อนและกำลังจะนำข้าวไปส่งนักข่าว แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรได้แต่นำสายเคเบิ้ลไทร์รัดมือเขาในลักษณะเอามือไพล่หลังแล้วสั่งให้เขานั่งลงบนพื้นถนน โดยก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นตัวเขาและได้ยึดโทรศัพท์มือถือพร้อมทั้งกระเป๋าสตางค์ของเขาไปเพื่อทำการตรวจสอบ 

ถัดมาในเดือนตุลาคม 2564 สถานการณ์คุกคามหรือจำกัดบทบาทของสื่อในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมก็ยังไม่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์และสร้างเงื่อนไขในการทำงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิวอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 จากไลฟ์ The reporters เวลา 22.36 น. ที่ซอยต้นโพธิ์ ข้างแฟลตดินแดง ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วขับจักรยานยนต์และรถกระบะเข้าไปมาปิดถนนด้านหน้าแฟลตและถนนมิตรไมตรีฝั่งตรงข้าม จากนั้นจับกุมชาย 1 คนออกมาจากบริเวณหน้าแฟลตดินแดงพร้อมส่องไฟมาทางผู้สื่อข่าวที่กำลังทำหน้าที่บริเวณเยื้องปากซอยต้นโพธิ์ มีเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงว่า นักข่าวออกไปๆ นักข่าวออกไปให้หมดเลย มีการส่องไฟมาทางผู้สื่อข่าวและตำรวจเดินถือโล่ให้ผู้สื่อข่าวถอยมาบริเวณใกล้กับแฟลตดินแดงแทน ผู้สื่อข่าวถอย

เวลา 23.09 น. ขณะที่ผู้สื่อข่าว The Reporters เดินมาทางอาคารเพชราวุธเพื่อติดตามรถจักรยานยนต์ ตำรวจได้สั่งให้ผู้สื่อข่าวปิดไลฟ์และตรวจสอบรถจักรยานยนต์ มีการอ้างว่า ผู้สื่อข่าวเป็นสายรายงานให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมรู้ความเคลื่อนไหว ซึ่งวันนี้ The Reporters เพิ่งจากไลฟ์ในเวลา 22.36 น. ในช่วงที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาในพื้นที่แฟลตดินแดง หลังจากนั้นตำรวจมีการขอโทษและบอกว่า เป็นการขอความร่วมมือ

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าว ว่า ประเด็นเรื่องเคอร์ฟิว ประชาชนและสื่อมวลชนที่ไม่มีความจำเป็นหลังเวลา 22.00 น. อยากจะให้เดินทางกลับบ้าน อยากให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง กรณีที่อยากจะรายงานเหตุอาชญากรรมก็สามารถติดต่อที่ 191 หรือ 599

การใช้กำลังและการดำเนินคดีกับสื่อ

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา พบว่า ในการชุมนุมที่เจ้าหน้ารัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะการใช้กำลังเข้าผลักดันและการใช้กระสุนยาง พบว่า ปฏิบัติการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ และส่งผลต่อการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ โดยแบ่งรูปแบบของปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

หนึ่ง การใช้กำลังกับสื่อมวลชน ได้แก่

วันที่ 20 มีนาคม 2564 ในการชุมนุมของรีเด็มครั้งที่ 2 ที่สนามหลวง ตำรวจสลายการชุมนุมหลังผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์บริเวณถนนกึ่งกลางสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างจากขอบรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังประมาณ 200 เมตรและเคยเป็นพื้นที่ที่จัดการชุมนุมได้มาแล้วในปี 2563 วันดังกล่าวพบสื่อมวลชนถูกกระสุนยางของตำรวจไม่น้อยกว่า 3 คนคือ ผู้สื่อข่าวช่อง 8 บริเวณขมับขวา, ผู้สื่อข่าวประชาไทที่สะบักหลังและผู้สือข่าวข่าวสดที่บริเวณต้นขา

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ในการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจเริ่มสลายการชุมนุมหลังจากผู้ชุมนุมที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หลังจากผู้ชุมนุมประกาศจะเดินไปทำเนียบรัฐบาลโดยผ่านแนวตำรวจที่ถนนราชดำเนินนอก วันดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อยสามคน คือ ผู้สื่อข่าว Plus Seven, The matter และมติชนทีวี

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ระหว่างการสลายการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกบริเวณแยกดินแดง ฝั่งหน้าคอนโดลุมพินี ถนนอโศก-ดินแดง มีสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ที่มีเครื่องหมายบ่งฝ่ายและอุปกรณ์การทำงานที่ชัดเจนว่า เป็นผู้สื่อข่าวรวมตัวกันดูเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวตำรวจบริเวณแยกดินแดง ตำรวจมีการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์รายงานพร้อมภาพหลักฐานที่เห็นว่า ตำรวจชี้นิ้วให้ยิงกระสุนยางมาทางกลุ่มสื่อมวลชน หลังจากนั้นมีช่างภาพข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางหนึ่งคน 

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระหว่างการสลายการชุมนุมของทะลุฟ้าที่จะเดินไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ1) ผู้สื่อข่าวอิสระคนหนึ่งที่ไม่มีปลอกแขนสื่อเล่าว่า ระหว่างเหตุชุลมุนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาไล่จับผู้ชุมนุม เธออยู่บริเวณเกาะพญาไท เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตีเข้าที่ไหล่ ไม่ทราบชนิดวัตถุ เธอจึงยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบังทำให้ฟิลเตอร์กล้องแตกและเลนส์บุบ เธอระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตือนหรือพูดอะไรก่อนที่จะตี

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่แยกดินแดง เวลาประมาณ 18.00 น. ตำรวจยิงกระสุนยางใส่กลุ่มสื่อมวลชนที่กำลังพักหลบฝนอยู่ ทำให้ทั้งหมดต้องวิ่งเข้ามาหลบในอาคารไทยวิวัฒน์ประกันภัย มีรายงานด้วยว่า สื่อมวลชนที่ต่างมีปลอกแขนของสื่อมวลชนพยายามแสดงตัวแล้ว แต่ไม่เป็นผล มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อยสองคน 

วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณแฟลตแปลง G ถนนมิตรไมตรี เวลา 19.51 น. บริเวณแฟลตดินแดง มีตำรวจควบคุมฝูงชนเดินเข้าหาประชาชนที่ขับรถผ่านมา คนในซอยตะโกนบอกตำรวจว่า ไม่มีสิทธิทำ ตำรวจจึงถอยและปล่อยประชาชนคนดังกล่าวไปแต่ยังปักหลักที่หน้าปากซอย  จากนั้นมีผู้ชุมนุมชูมือเปล่าเดินเข้าไปใกล้ตำรวจ ต่อมาเวลา 20.03 น. ตำรวจยิงกระสุนยางเข้ามาภายในซอยที่ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ มีผู้สื่อข่าวได้ถูกกระสุนยางหนึ่งคน

วันที่ 10 กันยายน 2564 สื่อพลเมืองเพจ Live real ไลฟ์เฟซบุ๊กในช่วงเวลา 22.14 น. บริเวณถนนมิตรไมตรี และระบุว่า เขาถูกยิงด้วยกระสุนยาง

วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 21.06 น. The Reporters รายงานว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางออกจากกรมดุริยางค์ทหารบก ขณะที่สื่ออยู่บริเวณทางเข้าวิทยาลัยการจัดการ เจ้าหน้าที่ประกาศให้นักข่าวออกไป (สื่อบอกว่ากำลังออก) ขณะเดียวกันที่ยิงกระสุนยางออกมา ทำให้สื่อรีบวิ่งออกจากบริเวณดังกล่าว นักข่าวยืนยันว่า ยิงมาที่บริเวณที่นักข่าวอยู่ นักข่าวเสริมว่า พยายามขึ้นไปที่ฟุตบาทและรวมกลุ่มกัน ด้านนพเก้า คงสุวรรณ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสดรายงานว่า ขณะเกิดเหตุมีผู้สื่อข่าวรวมตัวกันประมาณ 50 คน จากนั้นตำรวจออกมาจากกรมดุริยางค์ทหารบกและตะโกนว่า “นักข่าว ถอยออกไป ถอยออกไป” เป็นการประกาศ พร้อมสาดกระสุนยาง ไล่กลุ่มมอเตอร์ไซค์ประมาณ 3-4 คัน

วันที่ 19 กันยายน 2564  เวลา 21.00 น. วอยซ์ทีวีรายงานว่า ผู้ชุมนุมถอยมารวมตัวกันที่แยกตึกชัย มีการนำสเปรย์พ่นฉีดข้อความประท้วงรัฐบาลตามเสาและสะพานข้ามแนก ต่อมาตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วเคลื่อนขบวนผ่านหน้าศูนย์การแพทย์สมเด็จเทพรัตน์ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ตำรวจยังคงยิงกระสุนยางเข้ามาในกลุ่มสื่อมวลชนที่เหลืออยู่เพียง 4 คน พบว่า มีผู้สื่อข่าวที่มีปลอกแขนสื่อที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลถูกกระสุนยางบริเวณข้อศอก

วันที่ 30 ตุลาคม 2564 ระหว่างที่ตำรวจสลายการชุมนุมรำลึกการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ซึ่งถูกยิงที่หน้าสน.ดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 มีตำรวจถือปืนลูกซองเล็งไปที่สื่อมวลชนในระยะประชิด ขณะที่ช่วงดึกบริเวณแยกประชาสงเคราะห์ สื่ออิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางแม้ว่า แสดงตัวเป็นสื่อมวลชนแล้วก็ตาม

สอง การดำเนินคดี ได้แก่

วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. ระหว่างการไลฟ์ที่ถนนมิตรไมตรี ตำรวจตรวจสอบบัตรสื่อของเขา เขาแสดงต่อตำรวจว่า เป็นสื่อจาก “Thaivoice” อย่างไรก็ตามตำรวจทำการจับกุมเขาและกล่าวหาว่า เขาฝ่าฝืนเรื่องข้อห้ามการรวมตัวและการออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน นอกจากโอปอแล้วยังมีการจับกุมแอดมินเพจปล่อยเพื่อนเราอีกหนึ่งคน

วันที่ 15 กันยายน 2564 วันที่ 15 กันยายน 2564 ยังมีกรณีการจับกุมทีมงานไลฟ์กะเทยแม่ลูกอ่อนระหว่างนำอาหารเข้าไปส่งทีมที่กำลังไลฟ์บริเวณถนนมิตรไมตรี

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ตำรวจจับกุมแอดมินนินจา จากเพจ Live Real ระหว่างการไลฟ์สถานการณ์ที่ซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตดินแดง โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ฝ่าเคอร์ฟิว เขารับสารภาพ ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งปรับเป็นเงิน 2,500 บาท

การสกัดกั้นสื่อมวลชนในการรายงานข่าวของผู้ชุมนุม

การชุมนุมที่แยกดินแดง มีผู้เข้าร่วมเป็นเยาวชนจำนวนมาก ทำให้การรายงานข่าวจะต้องระมัดระวังในแง่ของความเป็นส่วนตัวและการระบุอัตลักษณ์ที่ชัดเจนที่แม้ว่า พวกเขาจะไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่ก็อาจจะนำไปสู่รูปแบบการติดตามและคุกคามเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมในการชุมนุมอื่นๆ  ในการไลฟ์ของสื่อมวลชนอาจถูกตั้งคำถามจากผู้ชมและผู้ชุมนุมเองว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นการชี้เป้าและความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมแก่ตำรวจหรือไม่ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ตำรวจมองสื่อพลเมืองและสื่อออนไลน์ เพียงแค่ครั้งนี้เปลี่ยนฝ่ายบ้าง

โอปอ-ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องการรวมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนัยหนึ่งคือ การที่ตำรวจมองว่า เขามาร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊ซด้วยนั้นก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการวิจารณ์ของผู้ชมทางไลฟ์สำนักงานข่าวราษฎรอยู่เนืองว่า ไม่ควรถ่ายผู้ชุมนุมในระยะใกล้ เขาระบุว่า เวลาที่มารายงานข่าวการชุมนุมก็ต้องถ่ายภาพผู้ชุมนุมและในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถยืนห่างได้มากขนาดนั้น 

“ที่ผ่านมาเรื่องการไลฟ์ มีการตั้งคำถามว่า ทำไมไปถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมใกล้ขนาดนั้น เรากำลังหามุมอยู่ จริงๆเราไปถ่ายหน้างานมันก็เห็นตัวผู้ชุมนุมอยู่แล้ว มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหน้างาน ถ้าเราไม่ได้ถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมเราจะไปถ่ายนกถ่ายไม้หรือ เราไมได้ถ่ายแบบเห็นหน้าค่าตา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะชี้เป้าให้ตำรวจ”

สื่ออีกสำนักหนึ่งที่เผชิญกับข้อกล่าวหาการชี้เป้าคือ เนชั่นออนไลน์ ระหว่างการชุมนุมที่แยกดินแดงมีการพูดคุยในหมู่ผู้ชุมนุมทำนองไม่พอใจการไลฟ์ของผู้สื่อข่าวช่องเนชั่นออนไลน์ ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น. หลังตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมตั้งแต่ก่อนเริ่มกิจกรรมผู้สื่อข่าวของเนชั่นออนไลน์เข้ามาในภายหลังที่ตำรวจควบคุมพื้นที่แล้ว มีผู้ชุมนุมกล่าวทำนองว่า ตำรวจใช้รถกระบะเคลื่อนที่เร็วพุ่งเข้าชนผู้ชุมุนม ผู้สื่อข่าวจึงพยายามสอบทานข้อเท็จจริงและนำเสนอปากคำของผู้ชุมนุมและภาพหลักฐานต่างๆ จากนั้นจึงไลฟ์อธิบายเรื่องจุดยืนว่า “ภาพลักษณ์ภาพจำของคุณในอดีตจะเป็นอย่างไรผมไม่รู้ ผมไม่รู้ ผมไม่ได้อยู่ในช่วงนั้น ผมเพิ่งเข้ามาที่เนชั่นออนไลน์ได้หกเดือน และนโยบายของผู้บริหารของเนชั่นชัดเจนว่า เอาความถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่ต้องกลัวซ้ายหรือขวาจะรุมกระทืบ ซ้ายหรือขวาจะรุมด่า แต่ขอยืนหยืนบนหลักจรรยาบรรณ หลักจริยธรรมของสื่อ ผมชัดเจน โดนด่ามาทุกวัน โดนทั้งสองฝั่ง”

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวของเนชั่นออนไลน์ยังคงทำงานในพื้นที่สนามอย่างต่อเนื่อง มีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและต่อว่าของผู้ชุมนุม วันที่ 11 กันยายน 2564 ระหว่างการไลฟ์สถานการณ์ที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบกร่วมกับสื่อจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวเปลี่ยนวิธีการไลฟ์รายงานข่าวมาเป็นการพูดคุยกับเจ้าของร้านข้าวต้มปลาและผู้ทานอาหารบริเวณหน้าวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลแทน

วอยซ์ออนไลน์รายงานว่า วันที่ 14 กันยายน 2564 เวลา 20.05 น. มีกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 กว่าคนเข้าไปต่อว่าผู้สื่อข่าวจากเนชั่นออนไลน์ ที่ทำการถ่ายทอดสดอยู่บริเวณด้านหน้าปั้มน้ำมันข้างกรมดุริยางค์ทหารบก โดยมีการสอบถามว่า ทำไมถึงพูดจาดูถูกผู้ชุมนุมระหว่างถ่ายทอดสด และมีการโต้เถียงระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้สื่อข่าว ก่อนที่สื่อมวลชนบริเวณใกล้เคียงจะเข้ามาขอให้แยกย้ายออกจากกัน

สื่อพลเมือง: ผู้ถูกหมายหัวเป็นสื่อปลอมและร่วมชุมนุม

วันที่ 13 กันยายน 2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ทางรายการตอบโจทย์ไทยพีบีเอสในช่วงค่ำอ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากสื่อมวลชนว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือมีผู้แอบแฝงมาเป็นสื่อมวลชนปลอมและจะนำผู้ที่แฝงตัวเข้ามาจำนวน 2-3 คนมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยยืนยันว่า สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในระหว่างการเคอร์ฟิวได้แต่ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่คือสื่อไม่มีสังกัด อ้างว่า เป็นสื่อราษฎรบ้าง เป็นสื่อยูทูบเบอร์เล็กๆน้อยๆบ้าง  วันเดียวกันเวลา 21.26 น. ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าสลายการชุมนุมบริเวณซอยมิตรไมตรี 2 ระหว่างนี้มีการขอตรวจบัตรสื่อมวลชน

โอปอ-ณัฐพงษ์ มาลี ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวราษฎร สื่อพลเมืองเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังไลฟ์อยู่ที่ซอยมิตรไมตรี 2 ตำรวจจึงขอตรวจบัตรสื่อ เขาแสดงบัตรจากไทยวอยซ์ จากนั้นตำรวจจึงปล่อยเขาและกลับมาอีกครั้งเพราะติดตามจากไลฟ์ของเพจสำนักข่าวราษฎรและพาตัวเขาไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก ระบุว่า เป็นการตรวจสอบสถานะ เมื่อไปถึงกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจบอกว่า นี่คือการจับกุมและยึดโทรศัพท์ เขาจึงบอกว่า หากจะตรวจสอบโทรศัพท์ให้ตำรวจไปขอศาลออกหมายค้นมาแต่ตำรวจไม่ยอม มีการเจรจาทำนองว่า ถ้าใช้หมายค้นโทรศัพท์ก็จะยึดไปนานหน่อย แต่ถ้าให้ตอนนี้รุ่งเช้าจะคืนให้  เขามองว่า เขาต้องใช้โทรศัพท์ทำมาหาเลี้ยงชีพและบริสุทธิ์ใจจึงยอมให้โทรศัพท์ไปพร้อมกับรหัส 

ต่อมาเขาถูกคุมตัวไปที่สน.พหลโยธิน ระหว่างนี้พบกับแอดมินเพจปล่อยเพื่อนเราด้วย ตำรวจมีการถามประวัติความเป็นมา การศึกษาและรายได้ ทั้งยังบอกว่า รายงานข่าวเบาๆหน่อยนะ ต่อมาพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่า เขามาร่วมชุมนุมและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนหน้านี้การไลฟ์รายงานของโอปอสามารถจับภาพเหตุการณ์สำคัญได้หลายเหตุการณ์ ตั้งแต่พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ระหว่างการสลายการชุมนุม

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าสถิตย์ คำเลิศ ซึ่งเป็นบรรณาธิการและเจ้าของช่องกะเทยแม่ลูกอ่อนที่ไลฟ์สถานการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดงได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.ดินแดงให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มตั้งแต่ห้าคนในเขตที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

นอกจากนี้วันที่ 15 กันยายน 2564 ยังมีกรณีการจับกุมทีมงานไลฟ์กะเทยแม่ลูกอ่อนระหว่างนำอาหารเข้าไปส่งทีมที่กำลังไลฟ์บริเวณถนนมิตรไมตรีและวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ตำรวจจับกุมแอดมินนินจา จากเพจ Live Real ระหว่างการไลฟ์สถานการณ์ที่ซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตดินแดง โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ฝ่าเคอร์ฟิว เขารับสารภาพ ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งปรับเป็นเงิน 2,500 บาท

ทัศนคติของตำรวจที่มีต่อสื่อพลเมืองนั้นชัดเจนว่า เหมารวมสื่อเหล่านี้เป็นผู้ชุมนุม และความพยายามแบ่งฝ่ายยังเผื่อแผ่ไปถึงสื่อออนไลน์อื่นๆด้วย สะท้อนผ่านเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวของ The Reporters ไลฟ์การวางกำลังของตำรวจในพื้นที่แฟลตดินแดง ตำรวจมาถามเขาว่า “เอ็งอยู่ฝั่งไหน” และพาสื่อคนดังกล่าวหลบมุมไปคุยอีกด้านหนึ่งและถามย้ำว่า มึงอยู่ฝั่งไหน ก่อนหน้านี้วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวของ The Reporters ก็เคยถูกกล่าวหาว่า ทำการไลฟ์เพื่อชี้จุดของตำรวจให้ผู้ชุมนุมทราบความเคลื่อนไหว แต่ผู้สื่อข่าวปฏิเสธการกระทำดังกล่าว