ผู้แทนไทยแจงกลางวง UPR แก้ 112 เป็นเรื่องของสภา นานาชาติห่วงใช้กฎหมายขวางการแสดงออก

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คณะผู้แทนไทยนำโดยธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ซึ่งเป็นกลไกลภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 193 ประเทศจะต้องเข้าร่วมโดยแต่ละรอบจะมีระยะห่างสี่ปีครึ่ง โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามแล้วที่ไทยจะต้องชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาติสมาชิกสหประชาชาติ และต้องรับฟังข้อเสนอจากชาติสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ
ภายใต้กลไก UPR ประเทศที่ถูกทบทวนสถานการณ์จะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองนำเสนอต่อที่ประชุม ส่วนภาคประชาสังคมก็จะจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อให้ชาติสมาชิกอื่นๆได้รับทราบข้อเท็จจริงอีกด้านและนำไปประกอบการทำข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อรัฐบาลไทย ขณะที่ประเทศที่ถูกประเมินจะมีทางเลือกว่าตกลงจะนำข้อเสนอแนะนั้นไปปรับใช้ หรือเพียงแค่รับทราบข้อเสนอแนะก็ได้
ในกลไก UPR ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาของไทยในปี 2554 และ 2559 ประเด็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาติสมาชิกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง โดยมีข้อเสนอแนะตั้งแต่การให้ปรับแก้ไขลดโทษ ไปจนถึงการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) อย่างไรก็ตาม ผู้แทนไทยก็ไม่เคยรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง
รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุมในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ระบุว่าไทยพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตาม SDG เช่น ประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นอย่างโคกหนองนา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รายงานของรัฐบาลไทยกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้นก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย
ในการแถลงด้วยวาจาโดยธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ในส่วนของข้อแนะนำของชาติสมาชิกที่มีต่อรัฐบาลไทย มีทั้งการสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย การแสดงความกังวลต่อการที่คณะรัฐมนตรีอนุมติร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ ส่วนประเด็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ได้รับการพูดถึงหลายครั้ง เช่น  รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเลิกอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ สาธารณรัฐไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม
รัฐบาลลักเซมเบิร์กแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รัฐบาลมาลาวีแนะนำให้รัฐบาลไทยอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ราชอาณาจักรเบลเยียมแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลไทยจับกุมผู้ชุมนุมและแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) แนะนำให้รัฐบาลไทยปรับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและประกาศใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย เป็นต้น
ในการตอบด้วยวาจารอบแรก ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศไทยกล่าวว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของไทยให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น กฎหมายจึงมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันและความมั่นคงของชาติ ส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมายนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณา
ผู้แทนไทยกล่าวต่อว่ารัฐบาลต้องหาจุดที่สมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการปกป้องประมุขแห่งรัฐและความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในไทยมีเสรีภาพในการรายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบ มาตรการใด ๆ ที่เข้าไปแทรกแซงการรายงานนั้นก็เป็นไปเพื่อป้องกันการขยายตัวของข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมเสริมต่อด้วยว่า กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาซึ่งประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้แทนทางการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคม
ส่วนในการตอบกลับรอบที่สอง ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงกำไรว่า เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างความโปร่งใสของการดำเนินงานของภาคประชาสังคม โดยร่างกฎหมายในตอนนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติรับหลักการเท่านั้น ในตอนนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับประกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพ
ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่าไทยได้มีการแก้ไขมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และก่อนที่จะดำเนินการการสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ใด ๆ จะมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการก่อนเสมอ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้เปิดศูนย์ต้านข่าวปลอมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม
ทั้งนี้ การชี้แจงของผู้แทนไทยเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันนี้ในเวทีนานาชาติเกิดขึ้นพร้อมกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อซึ่งหนึ่งในนั้นคือการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง