รวม “ครั้งแรก” ของการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยปี 2564

2564 นับเป็นปีที่สองของการเคลื่อนไหวชุมนุมที่นำโดยคนรุ่นใหม่ ต่อต้านระบอบการปกครองของ คสช.​ การต่อสู้มีความท้าทายมากขึ้นจากข้อจำกัดในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อันทำให้การขยับขยายฐานผู้ชุมนุมบนท้องถนนพบอุปสรรคมากขึ้น และการยกระดับการปราบปรามของรัฐตั้งแต่เริ่มการชุมนุมไปจนหลังการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงเดินหน้าหาวิธีการและรูปแบบเพื่อแสดงออกต่อไป โดยปรับตัวไปตามสถานการณ์ ตามข้อจำกัดและความรุนแรงทางการเมืองที่เสี่ยงต่อชีวิตของผู้ชุมนุม ในปีนี้มี “ครั้งแรก” เกิดขึ้นในการชุมนุมหลายอย่าง เราขอหยิบยกบางส่วนมาไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

การใช้กระสุนยางครั้งแรก

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รีเด็มนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ‘ราบ1’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันดังกล่าวตำรวจควบคุมฝูงชนนำกระสุนยางมาใช้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จากการสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลประกอบพบว่า เวลา 15.10 น. เมื่อผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตำรวจได้ทำการแจ้งเตือนตามขั้นตอนทางกฎหมายก่อนการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 1 ครั้ง เป็นการประกาศข้อกฎหมายเรื่องห้ามการรวมตัวที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  แต่ไม่มีการแจ้งมาตรการและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการสลายการชุมนุม ในระหว่างเดินขบวนแม้ผู้ชุมนุมจะเดินผ่านซอยพหลโยธิน 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำรวจ แต่ตำรวจไม่ได้มีการแจ้งเตือนหรือประกาศข้อห้ามใดๆ ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปถึงหน้าราบ 1 ได้อย่างสะดวก เมื่อผู้ชุมนุมพยายามเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจวางไว้กั้นประตูทางเข้าราบ 1 จากนั้นตำรวจเริ่มสลายการชุมนุมในเวลา 18.02 น. โดยใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เดินแถวขนาบเข้าหาผู้ชุมนุมจากสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งมาจากสโมสรทหารบก บนถนนวิภาวดี อีกฝั่งหนึ่งมาจากด้านหน้ารพ.ทหารผ่านศึก  เวลา 19.20 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนผลักดันแนวตำรวจที่ด้านหน้ารพ.ทหารผ่านศึก เจ้าหน้าที่จึงเริ่มต้นใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม เป็นการยิงกระสุนยางโดยไม่มีการแจ้งเตือนก่อน หลังจากนั้นเวลา 19.40 น. สถานการณ์คลี่คลายลงชั่วคราว ผู้ชุมนุมสังเกตเห็นปลอกกระสุนยางที่ด้านหน้าแนวตำรวจบริเวณซอยพหลโยธิน 2 จึงนำแผงเหล็กไปล้อมไว้  รีเด็มประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 20.00 น. แต่เนื่องจากกองกำลังตำรวจขวางผู้ชุมนุมอยู่ทั้งสองฝั่ง ผู้ชุมนุมจึงมีอุปสรรคในการเดินทางออกจากพื้นที่ และบางส่วนก็รวมตัวกันอยู่บริเวณถนนวิภาวดี ใกล้ราบ1 ต่อมาเวลาประมาณ 21.30 น. ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินทางออกจากพื้นที่แล้วแต่ยังมีหลงเหลืออยู่หลักร้อยโดยรวมตัวกันอยู่บนถนนวิภาวดีขาเข้าฝั่งตรงข้ามราบ1 ตำรวจควบคุมฝูงชนเปิดฉากยิงกระสุนยางอีกครั้ง สายน้ำ เยาวชนวัย 16 ปีบริเวณกลางหลังเพื่อทำการจับกุม สายน้ำเล่าว่า เขาเพิ่งมาถึงพื้นที่ชุมนุมในช่วงเวลา 21.00 น.และข้ามมาที่ฝั่งตรงข้ามราบ 1 ไม่รู้สาเหตุของการใช้กระสุนยางของตำรวจ นอกจากนี้หลังการจับกุมตำรวจยังกระทืบ เตะและใช้กระบองฟาดด้วย การใช้กระสุนยางไม่เป็นไปตามหลักสากลที่ระบุว่า ต้องใช้เฉดาะต่อคนที่ใช้ความรุนแรง กรณีที่กำลังจะเกิดอันตรายต่อตำรวจหรือสาธารณะ โดยเล็งที่ท้องส่วนล่างหรือขา
ในการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 ของรีเด็มที่สนามหลวง นับเป็นครั้งที่สองที่ตำรวจใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุม มีรายงานว่า เยาวชนถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หน้าศาลฎีกา มีสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางสามคนแบ่งเป็นในระดับเหนือเอว คือ ผู้สื่อข่าวประชาไทบริเวณสะบักหลักและผู้สื่อข่าวช่อง 8 บริเวณขมับ และระดับต่ำกว่าเอว คือ ผู้สื่อข่าวข่าวสดบริเวณท่อนขาส่วนบน
ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ยุทธวิธีทำอย่างไรให้มันซอฟท์ลงหรือยังคงทำตามมาตรฐานสากล พล.ต.อ.สุวัฒน์ ตอบว่า “ก็คงต้องไปตามมาตรฐานของเรา อย่างคราวที่แล้วเมื่อวันก่อนเราก็นำตำรวจเข้าสนาม ตรวจสอบเรื่องการใช้อาวุธ เรื่องการยิงปืน ต้องการความแม่นเที่ยงตรงให้มากกว่านี้…เราพยายามทำทุกครั้งให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ทุกครั้งเรามีการทบทวนบทเรียนเรื่องยุทธวิธี เพราะเราต้องพัฒนาคนของเรา ถ้าอะไรผิดต้องแก้ไข เราต้องแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น” หลังจากนั้นตำรวจเริ่มใช้กระสุนยางเป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเรื่อยมา หลายครั้งใช้โดยไม่ประกาศแจ้งเตือนและยังปรากฏการใช้อย่างผิดหลักสากล เห็นจากการชุมนุมที่แยกดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 มีผู้ชุมนุมถูกยิงเข้าที่บริเวณร่างกายส่วนบน กลางขมับ, หน้าผากและกลางหลัง ผู้สื่อข่าวยังได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย มีการยิงกระสุนยางไปถูกประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชุมนุมหรือขับรถผ่าน นอกจากนี้ยังมีการซุ่มยิงหรือยิงกระสุนยางในระยะประชิด

ม็อบเหลือง-แดงหวนจับมือไล่ประยุทธ์

วันที่ 4 เมษายน 2564 เวลา 16.00 น. ที่อนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกกันว่า คนเสื้อแดง ร่วมทำกิจรรมภายใต้ชื่อกลุ่ม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” มีเป้าหมายเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จตุพรให้สัมภาษณ์ว่า การจัดเวทีวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อมาแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง คือ พลเอกประยุทธ์ และที่มาวันนี้ไม่ได้มาในนาม นปช. แต่มาในนามสามัคคีประชาชนฯ เพื่อขับไล่ภัยคุกคาม ตัวแทนมีการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย แม้ว่าผู้ปราศรัยจะมีภูมิหลังเป็นอดีตคนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ กปปส. แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงเป็นอย่างดี
การชุมนุมของกลุ่มไทยไม่ทนฯ มีนักกิจกรรมที่เคยร่วมการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกปปส. เช่น พิภพ ธงไชย, พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และการุณ ใสงาม ขณะที่มีผู้ชุมนุมที่เคยเข้าร่วมกับราษฎร เช่น หมู่อาร์ม ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี, ณัทพัช อัคฮาดและชินวัตร จันทร์กระจ่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนปช. เช่น ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ และยศวริศ ชูกล่อม ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือ ผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมกับการชุมนุมของราษฎรและแนวร่วม สถานการณ์ที่กระอักกระอ่วนเกิดขึ้นในการเคารพธงชาติของเย็นวันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นเช่นเคยที่แกนนำบนเวทีจะยืนตรง ขณะที่ผู้ชุมนุมด้านล่างชูสามนิ้ว อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ แกนนำไทยไม่ทนกล่าวหลังเคารพธงชาติเสร็จว่า ขอไม่ให้ชูสามนิ้วที่นี่ หากอยากจะชูให้ชูกำปั้น ผู้ชุมนุมบางคนไม่พอใจลุกเดินออก ขณะที่เพชร-ธนกร ภิระบัน นักกิจกรรมเยาวชนกล่าวว่า ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยจะไม่มีการกีดกันใครออกจากขบวน ประชาชนด้านหน้าทางเข้าสวนสันติพรเรียกร้องให้ผู้ที่พูดออกมาขอโทษ ก่อนประชาชนร่วมชูสามนิ้วเดินไปยังเวที ต่อมาจตุพรออกมากล่วว่าว่า ศัตรูร่วมของเราคือ ประยุทธ์ จะชูกี่นิ้วก็ได้ ด้านอดุลย์อธิบายว่า เข้าใจผิดเรื่องสามนิ้ว และเพิ่งรู้ว่า ความหมายของสามนิ้วนั้นหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ  จากนั้นกล่าวขอโทษ ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ไทยไม่ทนจัดการชุมนุมอิสระอย่างน้อยเจ็ดครั้ง (ไม่นับการเข้าร่วมกับกลุ่มอื่น) โดยการชุมนุมในเดือนเมษายน 2564 ไทยไม่ทนพยายามจะเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างแกนนำหรือผู้ชุมนุมพันธมิตรและ กปปส. เดิมเข้ากับการเคลื่อนไหวของราษฎรจากการดึงข้อเรียกร้องเรื่องการขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นแก่นหลักในการเคลื่อนไหว ขณะที่ผู้ปราศรัยมีการพูดถึงแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในขณะนั้นและการบังคับใช้มาตรา 112 ด้วย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2564 จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำไทยไม่ทนต้องเข้ารับโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาทอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยไม่ทนค่อยๆ ลดความเข้มข้นลง ขณะที่แกนนำไทยไม่ทนปีกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยและนปช.เดิมมีแนวโน้มเคลื่อนไหวด้วยการร่วมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อย่างไรก็ตามการชุมนุมของไทยไม่ทนสะท้อนความแตกต่างสำคัญ คือ การชุมนุมในระยะแรกเริ่มที่สวนสันติพรสามารถจัดได้ ไม่มีการสกัดกั้นอย่างรุนแรงของตำรวจแต่ยังคงมีการกล่าวหาคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาภายหลัง แต่เมื่อพวกเขาเริ่มเคลื่อนเข้าหาพื้นที่ปกป้องของรัฐอย่างทำเนียบรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับการสกัดกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่ของตำรวจเฉกเช่นเดียวกันกับการชุมนุมที่กลุ่มอื่นต้องเผชิญ

ชุมนุมด้วยรถ เลี่ยงโควิด 19 ครั้งแรก

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โพสต์ข้อความว่า วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.00 น. จะมีกิจกรรมคาร์ม็อบจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อขับผ่านทำเนียบรัฐบาลจะบีบแตรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เขาให้เหตุผลในการจัดกิจกรรมบีบแตรว่า เวลาขับรถไปเจอทางโค้งที่มองไม่เห็นกันหรือมุมอับ คนทั่วไปมักจะบีบแตรเป็นสัญญาณอัตโนมัติ จึงนำมาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มองไม่เห็นอนาคต
ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 มีผู้ชุมนุมใช้รถยนต์มาร่วมกิจกรรมเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง  แม้ว่า ตำรวจปิดเส้นทางผ่านไปทำเนียบรัฐบาล เขาเปลี่ยนปลายทางไปที่แยกราชประสงค์ก่อนจะแยกย้าย และนัดจัดกิจกรรมอีกครั้งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เดินสายไปตามพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากอีกเช่นกัน บก.ลายจุดให้สัมภาษณ์กับข่าวสดว่า คาร์ม็อบออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 และขับไปตามขบวนช้าๆ ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยทั้งในเรื่องโควิด 19 และการขับขี่บนท้องถนน เขาไม่เรียกร้องให้คนที่ไม่มีรถออกมาร่วมกิจกรรม กิจกรรมคาร์ม็อบปลุกกระแสการชุมนุมคู่ขนานเพื่อขับไล่รัฐบาลทั่วประเทศ  โดยไต่สูงขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีหลายจังหวัดนัดหมายเคลื่อนไหวพร้อมกัน ถือเป็นวันที่มีการนัดหมายชุมนุมทั่วประเทศมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 ไม่น้อยกว่า 48 ครั้ง ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทุบสถิติเดิมของวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ซึ่งเคยทำไว้ที่ไม่น้อยกว่า 39 ครั้ง นอกจากนี้วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ยังเป็นการชุมนุมที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.อีกคนหนึ่งประกาศตัวว่า จะเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการร่วมชุมนุมครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อช่วงปลายปี 2563 กิจกรรมคาร์ม็อบจัดขึ้นเรื่อยมาและมีแนวโน้มลดลงในช่วงเดือนกันยายน 2564

เยาวชนเสียชีวิตรายแรกนับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงด้านหน้าสน.ดินแดงในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เสียชีวิตลง เป็นผู้ชุมนุมเยาวชนคนแรกที่เสียชีวิตนับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา
ในวันเกิดเหตุเป็นการนัดหมายชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า โดยนัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเดินเท้าไปที่บ้านพักพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อมาทะลุฟ้าประกาศเปลี่ยนที่หมายไปที่ทำเนียบรัฐบาลและถูกสลายการชุมนุมหลังการพยายามรื้อลวดหนามหีบเพลงของผู้ชุมนุมรายหนึ่งที่บริเวณฟุตบาทข้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมให้ออกจากพื้นที่ กลุ่มทะลุฟ้ายุติการชุมนุมแต่ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนอยู่ในพื้นที่และพร้อมปะทะกับตำรวจ ผู้ชุมนุมบางส่วนกลับไปรวมตัวที่แยกดินแดง เวลาประมาณ 21.00 น. มีรายงานผู้ถูกยิงอย่างน้อยสองคน วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปีที่หน้าสน.ดินแดงและธนพล อายุ 14 ปี หน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 กรณีของวาฤทธิ์ โรงพยาบาลราชวิถีออกประกาศเรื่อง รายงานผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 21.00 น. พบผู้บาดเจ็บเป็นชาย แรกรับหมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ตรวจพบบาดแผลจากกระสุนที่ลำคอด้านซ้าย ทีมแพทย์ทำการปั๊มหัวใจประมาณหกนาที ผู้บาดเจ็บกลับมามีสัญญาณชีพ จากรายงานของกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรรวบรวมหลักฐานจากกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครและคลิปที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ มีประเด็นสำคัญว่า ในวันดังกล่าวผู้ยิงธนพลกระทำกลางถนนในย่านชุมชนและในช่วงที่มีการสัญจรของประชาชนทั่วไปอย่างคับคั่ง ขณะที่กรณีของวาฤทธิ์ปรากฏภาพการยิงจากชั้นล่างและบันไดทางขึ้นชั้นสองของสน.ดินแดงไปยังถนนด้านหน้าของสน. ต่อมาพ.ต.อ. รัฐชัย ศรีวิชัย ผู้กำกับการสน. ดินแดงรับว่า ผู้ที่ยิงจากชั้นล่างเป็นตำรวจ สน.ดินแดงแต่ไม่ได้ใช้กระสุนจริง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงถึงภาพของชายที่ยืนอยู่บนบันไดทางขึ้นชั้นสอง นอกจากนี้ยังพบชายหลายคนที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ “คล้ายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุทำร้ายผู้อื่นหน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 และกลุ่มที่ไล่ยิงหน้า สน.ดินแดง” สวมหมวกกันน็อกเต็มใบอยู่ภายในสน.ดินแดง วันที่ 30 กันยายน 2564 มีรายงานการจับกุมตัวผู้ต้องหายิงวาฤทธิ์ เยาวชนวัย 15 ปีได้แล้ว แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2564 วาฤทธิ์เสียชีวิต หลังรักษาตัวในห้องไอซียูอยู่กว่าสองเดือน เป็นครั้งแรกที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากกระสุนจริง

ไม่ใช่ครั้งแรกของการที่ผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกยิงด้วยกระสุนจริง ที่ผ่านมาเกิดเหตุ “มือมืด” ไม่ทราบฝ่าย ยิงผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริงอย่างน้อยสองครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรนัดชุมนุมติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาและมีการจัดชุมนุมของฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เวลา 20.28 น. ข่าวสดรายงานว่า ที่แยกเกียกกายมีการปะทะระหว่างการ์ดอาชีวะกับคนเสื้อเหลือง มีเสียงดังคล้ายปืนหรือระเบิดดังเป็นระยะ ต่อมาผู้สังเกตการณ์รายงานว่า บริเวณเตนท์พยาบาล มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน มีอาการเช่น บาดเจ็บที่หูและขา บางคนอาการหนักต้องหามออกมา หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มของพวกเขามีคนถูกยิงด้วยกระสุนจริง ทราบในภายหลังว่า ผู้ถูกยิงคือ วันชัย อารีย์ หรือ เก่ง อาชีวะ ถูกยิงเข้าที่ช่องท้อง ครั้งต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 21.00 น. ระหว่างที่ผู้ชุมนุมแยกย้ายเดินเท้ากลับที่พักได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนขับรถจักรยานยนต์ไปที่ด้านหน้าแมคโดนัล ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนใช้ปืนไม่ทราบขนาดยิงใส่ แบงก์ อายุ 17 ปี นักเรียนอาชีวะซึ่งเดินทางมาเป็นการ์ดอาสา เข้าที่ขาได้รับบาดเจ็บ อีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ระหว่างตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มรีเด็มที่สนามหลวงและมีชายฉกรรจ์ดักยิงผู้ชุมนุมสองคนบริเวณเสาชิงช้า รายแรกคือ กล้า ดาพัด อายุ 21 ปี ถูกยิงบริเวณช่องท้องด้านซ้ายใกล้สะโพกและกระสุนฝังอยู่ข้างในและบาส-ประสงค์ หงส์ราช อายุ 22 ปี ถูกยิงตำแหน่งกระสุนที่ฝังอยู่ใกล้กับกระดูกสันหลัง หลังเกิดเหตุต้องเข้ารักษาในห้องไอซียู โดยทั้งสองกรณียังไม่แน่ชัดถึงความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้กระทำผิด

ม็อบยกเลิก 112 ครั้งแรก

วันที่ 31 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น. ที่แยกราชประสงค์ ราษฎรจัดกิจกรรม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” กิจกรรมหลักคือ การเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเป็นการชุมนุมที่หยิบยกมาตรา 112 มาเป็นแก่นหลักในการเรียกร้องเป็นครั้งแรกในปี 2564 การเคลื่อนไหวดังกล่าวสืบย้อนไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แกนนำราษฎร เช่น อานนท์ นำภาและพริษฐ์ ชิวารักษ์ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมและปราศรัย #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และต่อมาในเดือนมีนาคม 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำเพิ่มเติมในคดีเดียวกัน คือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาและไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นักกิจกรรมที่เหลืออยู่ภายนอกเคลื่อนไหวภายใต้ข้อเรียกร้องสำคัญ คือ  “ปล่อยเพื่อนเรา” ศาลต้องปฏิบัติตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาและปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม 2564 ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแทบทั้งหมดพูดเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ไม่ได้ผลักดันข้อเสนอสามข้อเดิมอย่างหนักแน่นเช่นในปีที่ผ่านมา กลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญ คือ ราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, Unme of Anarchy, พลเมืองโต้กลับและพลเมืองเสมอกัน รวมทั้งแนวร่วมราษฎรในต่างจังหวัด โดยพื้นที่ทำกิจกรรมหลักมักจะอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกา, ศาลอาญาและศาลจังหวัดต่างๆ แม้แต่รีเด็มที่แรกเริ่มการเคลื่อนไหวเน้นหนักในประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็หันมาเคลื่อนไหวเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองเช่นกัน เห็นได้จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่ศาลอาญา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในการคุมขังผู้ต้องหาคดีการเมืองรอบที่สอง นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ครั้งนี้ยังมีนักกิจกรรมจากพลเมืองโต้กลับและพลเมืองเสมอกันที่ยังคงจัดกิจกรรมเรียกร้องเรื่องสิทธิประกันตัวเหมือนเช่นที่เคยเป็นช่วงต้นปี ขณะที่กลุ่มอื่นก็เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ สอดรับกันไป จนกระทั่งการเคลื่อนไหวก้าวข้ามประเด็นสิทธิประกันตัว และมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหาที่ทำให้การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถทำได้ และโครงสร้างที่ทำให้ต้องมีคนวนเวียนเข้าเรือนจำครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการเผชิญหน้าและพูดถึงปัญหาสำคัญอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างตรงไปตรงมา และเปิดกิจกรรมเข้าชื่อเพื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ครั้งนี้กลุ่มรณรงค์ที่รับบทบาทนำ คือ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และทะลุฟ้า ทั้งสองร่วมกับเครือข่ายนักกิจกรรมรวมตัวกันในชื่อคณะราษฎรยกเลิก 112 รณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 รวบรวมรายชื่อจำนวน 10,000 คน และนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณายกเลิกมาตรา 112 ต่อไป