“กัลยา” : หมายเรียกทางไกลจากสุไหงโก-ลก

ในช่วงปี 2563-2564 ระหว่างที่บรรยากาศการเมืองของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และประเด็นในการเคลื่อนไหวก็ขยับขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน “กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทั้งการไปเข้าร่วมการชุมนุม และการโพสต์ข้อความลงโซเชียลเหมือนเช่นคนอื่นๆ แต่รู้ตัวอีกทีก็มีหมายเรียกฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ไปถึงที่บ้านแล้ว
“กัลยา” อายุ 27 ปีในวันที่ได้รับหมายเรียก เป็นพนักงานบริษัทเอกชน อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี “กัลยา”ชื่นชอบทั้งเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็ก ชอบอ่านหนังสือหาความรู้รอบตัว “กัลยา” สนใจในด้านการเมืองมากขึ้นเมื่ออยู่มัธยมและมีความฝันอยากจะเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ แต่ครอบครัวก็ยังมีความเชื่อที่ทำให้รู้สึกกังวลว่า หากเรียนด้านนิติศาสตร์แล้วว่าความชนะคดีแต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้อาจจะทำให้โดนฆ่าได้ “กัลยา” จึงเลือกเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการเมืองการปกครองแทนเพื่อความสบายใจของครอบครัว
ในช่วงชั้นปีสามของการเรียนมหาวิทยาลัย “กัลยา” มีโอกาสได้เข้าเรียนวิชาการปกครองกับอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ทำให้ได้รับรู้ข้อดีข้อเสียของการเมืองไทยและมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยผ่านข้อสอบที่อาจารย์ให้ในห้องเรียน การเข้าเรียนวิชานี้จึงเปรียบเหมือนเป็นการเปิดมิติใหม่ให้เธอเข้าสู่โลกที่ติดตามการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น และติดตามเรื่อยมา

ไม่ทันได้ตั้งตัว

หมายเรียกจากตำรวจส่งไปถึงบ้านของ “กัลยา” ในวันที่ 6 มิถุนายน 2564 หมายเรียกออกโดยพ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งระบุให้ผู้ต้องหาต้องไปรายงานตัวยังสุไหงโก-ลกในวันรุ่งขึ้น (7 มิถุนายน 2564) ตั้งแต่เรียนจบเธอก็ทำงานและอยู่ที่นนทบุรีมาตลอด การเรียกให้ต้องเดินทางไกลไปรายงานตัวนั้นเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปริเริ่มแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ไปเริ่มที่สภ.สุไหงโก-ลก คดีนี้สืบเนื่องมาจากการโพสต์รูปภาพหรือข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์สี่ข้อความ 
“กัลยา” กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองว่า ตอนที่รู้ว่าได้รับหมายเรียกในคดีนี้ก็เกิดความตกใจเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันรู้ตัว แต่ก็ยังคงคิดว่าทุกอย่างแก้ไขได้ไม่ได้เสียใจอะไร 
“ถามว่าทำใจได้ไหม มันทำใจไม่ได้หรอก แต่คือ ณ ตอนนั้นมันก็ต้องยอมรับให้ได้ เราจะมานั่งเครียดตลอดเวลามันก็ไม่ได้ เพราะชีวิตมันต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มันต้องแก้ไขไปทีละอย่าง” เธอกล่าว
“กัลยา” ยังกล่าวต่อว่า ตัวเธอวางแผนว่าจะสอบเข้ารับราชการในอนาคต แต่ก็เกิดความกังวล ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าจะส่งผลต่อการสมัครเข้ารับราชการมากน้อยแค่ไหน ในตอนนี้มีสิทธิสอบแล้วแต่ถ้าสอบผ่านแล้วมีการเรียกบรรจุราชการขึ้นมา แล้วกรรมการตรวจสอบพบว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ก็อาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถรับราชการได้

เมื่อพ่อแม่ใจสลาย

เนื่องจากทะเบียนบ้านของ “กัลยา” ยังอยู่ที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด และหมายเรียกก็นำส่งจากสุไหงโก-ลก ไปยังบ้านตามทะเบียนบ้านของเธอ ผู้ที่ได้รับหมายฉบับนี้ คือ “พ่อกับแม่” แม้ทั้งพ่อกับแม่จะมีทัศนคติทางการเมืองที่ตรงกับลูก แต่หมายเรียกในคดีใหญ่และเป็นคำสั่งให้ต้องเดินทางไกลก็ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของครอบครัวเป็นธรรมดา
“ตำรวจมาที่บ้านสี่ถึงห้าคน เขาพูดดีหมดนะ เขาบอกให้ใจเย็นๆ มันเป็นหมายเรียกไม่ใช่หมายจับแต่เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก เพราะในมาตรา 112 มันเขียนว่า อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี แม่เราก็ตกใจ เขาอายุ 60 กว่าแล้ว เขาก็ช็อค กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ตลอด เราก็ต้องตั้งสติแล้วบอกให้แม่ใจเย็นๆ พ่อก็ไม่พูดอะไรเลย โทรมาให้กำลังใจเราแต่ ณ จุดๆ นั้นเรารู้ว่าเขาใจสลาย กลัวลูกติดคุก” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เล่า
“นอกจากคนที่มาแจ้ง ก็มีพ่อแม่ เพื่อนที่สนิทกับแฟนที่รู้ว่าเราโดน มันเป็นคดีอาญายอมความไม่ได้ เราไม่อยากให้ใครมาเครียดกับเรา แค่พ่อแม่ก็มากพอแล้ว ตอนนี้ก็คือบอกพ่อแม่ว่าคดีจบแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่จบ เพราะอยากให้เขาสบายใจ”

4 ข้อความพาดพิงกษัตริย์ฯ

ข้อความที่เป็นเหตุทำให้ “กัลยา” ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) มาจากการโพสเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ซึ่งข้อความแรกมาจากการคอมเมนท์ในเพจแนะนำหนังเรื่อง The Treacherous ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลีที่มีพฤติกรรมไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนและหมกหมุ่นแต่เรื่องเพศ โดยเธอแสดงความคิดเห็นไปว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” คอมเมนต์ของเธอมีคนกดถูกใจเป็นจำนวนมากและยังเป็นท็อปคอมเมนท์ของโพสต์นั้นอีกด้วย
หลังจากนั้นจึงมีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นมาคอมเมนต์กล่าวหาทำนองว่า เธอต่อว่าพระมหากษัตริย์ของไทย ทำให้รุ่นน้องของ “กัลยา” ไปรุมต่อว่าบุคคลนั้น จนเป็นเหตุความขัดแย้งขึ้น เธอคาดการณ์ว่า เหตุการณ์นั้นอาจทำให้คนที่มาคอมเม้นต์ต่อกันบนเฟซบุ๊กไม่พอใจ และเก็บรายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กเรื่อยๆ จนกระทั่งไปแจ้งความกับตำรวจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ผู้กล่าวหาคดีนี้ ชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งนอกจากคดีนี้แล้วยังเป็นผู้ริเริ่มกล่าวหาคดีมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจภูธรสุไงโก-ลก นี้ไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย
อีกข้อความหนึ่ง เป็นรูปภาพที่ “กัลยา” โพสต์ลงเฟซบุ๊กตั้งแต่แบบสาธารณะจากการไปร่วมกิจกรรมชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นภาพถ่ายที่มีข้อความสเปรย์พ่นไว้บนพื้นถนน ซึ่งมีคนกดถูกใจเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ “กัลยา” ยังดูดำเนินคดีจากการแชร์อีกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในวันที่เจ้าหน้าที่มีการยิงกระสุนยางครั้งแรก โดยใช้แคปชั่นว่า “กระสุนพระราชทานเข้าหนึ่ง” และอีกครั้งเป็นการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วบรรยายว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 สิแล้วจะเล่าให้ฟัง”

1,206 กม. จากกรุงเทพไปสุไหงโก-ลก

เนื่องจาก “กัลยา” ได้รับหมายวันที่ 6 มิถุนายนแต่หมายให้ไปรายงานตัวในวันรุ่งขึ้นจึงทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ทันวันดังกล่าว ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประสานงานขอเลื่อนนัดหมายไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 แทน “กัลยา” เล่าว่า ครั้งแรกที่เดินทางไปยังสุไหงโก-ลกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหานั้นกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะช่วงนั้นโควิดยังระบาดหนักทำให้สนามบินนราธิวาสปิด เธอจึงต้องนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพไปลงสนามบินหาดใหญ่ไปกับเพื่อนและแฟนรวมสามคน แล้วเช่ารถขับไปสุไหง-โกลกตั้งแต่เวลาตีสามเพื่อไปให้ทันเวลานัดหมายในตอนเช้า ทำให้หมดค่าใช้จ่ายไปกว่าสองหมื่นบาท
แม้ในตอนนี้สนามบินนราธิวาสจะเปิดแล้ว แต่การเดินทางไปที่นั่นก็ยังส่งผลกระทบในด้านการทำงาน เพราะว่า “กัลยา” เองไม่ได้เปิดเผยถึงเรื่องการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กับที่ทำงาน ทำให้การไปรายงานตัวในคดีแต่ละครั้ง “กัลยา” ต้องลาป่วยหรือลาโดยไม่รับเงินเดือนเพื่อเดินทางไปรายงานตัว การเดินทางไปยังพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศแต่ละครั้งก็ต้องลางานสามวันเพื่อเดินทางไปหนึ่งวัน และเดินทางกลับอีกหนึ่งวัน เพราะสนามบินนราธิวาสมีเที่ยวบินแค่ไฟลท์เดียวต่อวัน และปกติบินแค่วันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยนัดครั้งต่อไปคือวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพื่อสืบพยาน
เมื่อสอบถามไปยังท่าทีของตำรวจ “กัลยา” ตอบกลับมาว่า “ตำรวจดีทุกคน เขาคิดเห็นเหมือนเรานะ เขามองว่าเด็กสมัยนี้หูตาสว่างแล้ว ไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อน ตำรวจทุกคนพออ่านสำนวนอ่านข้อความของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพักหรือที่ศาลนราธิวาส เขาส่ายหัวแบบเหมือนรู้ว่าเราโดนแกล้ง เขารู้สึกว่ามันไม่เข้าข่าย ตอนแรกเรามองว่าสามจังหวัดชายแดนใต้มันน่ากลัว เราไม่เคยไป แต่พอไปถึงตำรวจพูดดีหมดเลย ตำรวจที่ศาลเอาใจช่วยเป็นกำลังใจให้ เพราะว่าในขณะที่เขาทำหน้าที่เขาก็พูดไม่ได้ เขาก็ได้แต่เอาใจช่วยเป็นกำลังใจให้”
ครั้งแรกที่ไปรายงานตัว เป็นการไปตามหมายเรียกก็จริง แต่พอไปถึงตำรวจก็พาตัวไปเข้ากระบวนการฝากขังแล้ว หากตอนนั้นไม่มีทนายไปด้วยก็อาจไม่สามารถทำเรื่องประกันตัวได้ทัน ในขณะที่ไปรอกระบวนการในชั้นฝากขังก็ต้องไปนั่งรอตรงใต้ถุนศาล ซึ่งข้างๆ กับที่นั่งรอเป็น “ห้องขังที่ห่างแค่เพียงเอื้อมมือ” ที่มีคนอยู่เจ็ดถึงแปดคนเพื่อรอประกันตัว ระหว่างนั้นเธอกินอะไรไม่ลงเลย แม้ว่าจะได้รับกำลังใจดีๆ มาล้นหลามแต่พอเห็นห้องขังก็เกิดความกลัวและกังวลขึ้นมา

ความรู้สึกต่อ 112

ในฐานะหนึ่งในผู้ที่โดนฟ้องด้วยมาตรา 112 “กัลยา” กล่าวว่า รู้สึกเหมือนมาตรานี้สามารถใช้กลั่นแกล้งได้ ใครจะเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ โดยมีโทษทางกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หากคนที่โดนฟ้องด้วยมาตรานี้เกิดความรู้สึกรับไม่ได้อาจจะทำให้คิดสั้นได้ เพราะโทษแรงเท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาทั้งที่เพียงแค่เห็นต่าง คิดต่าง รวมถึงยังแสดงความเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในขณะนี้
นอกจากนี้ “กัลยา” ได้เปิดเผยว่า การโดนคดีมาตรา 112 ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้อุดมการณ์ของเธอเปลี่ยนไป ยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวการชุมนุมอยู่เสมอ เพียงแค่ไม่ได้มีการแชร์หรือไปเข้าร่วมชุมนุมแล้ว ซึ่งการต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นยิ่งทำให้เธอรู้สึกเหมือนโดน “ปิดกั้น” การใช้เสียงของตัวเอง พร้อมทิ้งท้ายว่า “แค่ยกเลิก 112 เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับคนที่โดน ขอแค่นี้”