บาส มงคล: สองคดี 27 ข้อความ หลังเปิดตัวอดอาหารหน้าศาล

ในเดือนเมษายน 2564 ระหว่างที่ผู้ต้องหาและจำเลยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ทนายอานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ ฯลฯ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยคดีมาตรา 112 ชายหนุ่มวัย 28 ปี เดินทางจากบ้านที่จังหวัดเชียงรายมาที่หน้าศาลอาญาด้วยตัวคนเดียวและกระเป๋าเป้หนึ่งใบ เพื่อมาปักหลักเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคนโดยการ “อดอาหาร” เดินตามพริษฐ์ที่กำลังอดอาหารอยู่ในเรือนจำเช่นกัน
บาสมาปักหลักอยู่หน้าศาลอาญา และวางแผนจะอยู่ยาว โดยไม่มีเพื่อนมาด้วย ไม่มีเครื่องนอน ไม่มีเต้นท์หรือมุ้ง ไม่มีป้ายบอกว่าเขากำลังประท้วงอะไร เขานั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์คนเดียวจนเริ่มมีคนรู้เรื่องของเขาและมีสื่อมาสัมภาษณ์บ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนแวะเวียนมาให้กำลังใจเขาเป็นระยะทั้งคนที่มีจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน และเจ้าหน้าที่ศาล กับตำรวจ บาสนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาได้เพียงสามวัน ตำรวจจากสน.พหลโยธิน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บริเวณนั้นก็นำหมายจับคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาแสดงจากนั้น และส่งตัวเขากลับจังหวัดเชียงรายทันที ทำให้การประท้วงอดอาหารของเขาสิ้นสุดลงเร็วกว่าที่เขาตั้งใจไว้
หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนเมษายน แม่ของเพนกวินประกาศจะโกนศีรษะเพื่อประท้วงการปฏิเสธสิทธิการประกันตัวของศาล บาสตัดสินใจว่า จะลงมากรุงเทพอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาไม่มีโอกาสกลับมาที่กรุงเทพอีก เพราะในวันเดียวกับที่เขาไปซื้อตั๋วรถโดยสารก็มีตำรวจมาที่บ้านของเขาพร้อมกับแสดงหมายจับศาลจังหวัดเชียงรายในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี
แม้จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วสองคดี และในคดีแรกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดรวม 25 กรรม จากการโพสต์และแชร์เนื้อหาบนเฟซบุ๊ก 25 ครั้ง แต่บาสยังยืนยันที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ฯ ต่อไปโดยเฉพาะประเด็นที่สาธารณะอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเขาเชื่อว่าในโลกสมัยใหม่ทุกสถาบันที่มีความเกี่ยวพันกับสาธารณะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้

วัยเยาว์ที่โลดโผน

แม้ว่าชีวิตของบาสเมื่อโตขึ้นจะอาศัยอยู่ในย่านชนบทของจังหวัดเชียงรายที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 50 กิโลเมตร แต่เขายังคงนิยามตัวเองว่าเป็น “คนกรุงเทพ” เพราะในวัยเยาว์บาสใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ
“พ่อผมเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี แม่เป็นคนเชียงราย แต่ตัวผมนิยามตัวเองว่าเป็นคนกรุงเทพ ผมเกิดและเติบโตที่นั่น เรียนหนังสือที่นั่น”
วันเกิดของบาส คือ วันครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชดำเนินในปี 2535 หรือเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ตัวบาสเองก็รู้สึกแปลกใจเมื่อได้รู้เรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนใจการเมือง
“ชีวิตในวัยเด็กของผมไม่ราบรื่นนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของผมเอง หลังผมเรียนจบชั้นม.ต้น ผมก็ไปเรียนต่อระดับปวช.ที่ไทยวิจิตรศิลป์ ตัวผมเองเป็นคนตัวขาวๆเล็กๆ จึงมักจะถูกคนที่ตัวใหญ่กว่าแกล้ง สิ่งที่ผมทำเพื่อเซฟตัวเองคือการไปเข้ากลุ่มกับพวกที่เป็นหัวโจกหน่อย สุดท้ายก็เลยไปร่วมก๊วนตีรันฟันแทงจนต้องออกจากวิลัยฯ หลังจากนั้นผมก็กลับมาเรียนกศน.จนกระทั่งได้วุฒิม.6”
ชีวิตการเรียนของบาสจะไม่เดินไปตามความคาดหวัง ไม่มีโอกาสได้เรียนระดับชั้นสูงๆ เพื่อจะหางานทำที่ดีๆ ในอนาคต ทำให้บาสต้องเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตและการทำงานตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ ประสบการณ์การทำงานหลากหลายตั้งแต่เด็กทำให้บาสโตมาแบบเป็นคน “หนักเอาเบาสู้” ทำงานได้หลายอย่างและยืนบนลำแข้งของตัวเองได้
“ผมผ่านการทำงานหลายอย่าง ตอนเรียนม.1 ผมเคยไปช่วยงานที่อู่ซ่อมรถของป้า พอช่วงปิดเทอมม. 2 ขึ้น ม. 3 ก็ไปทำงานในร้านเสต็ก ตอนเข้าไปทำผมก็กะว่าแค่ไปเป็นเด็กเสริฟเพราะตอนนั้นตัวเองก็ไม่มีประสบการณ์ แต่ปรากฏว่าคนทำเตา (ทำสเต็ก) เขากำลังจะลาออกเลยจับผมไปหัดทำสเต็กแทนทั้งที่ผมไม่มีประสบการณ์ ผมทำที่ร้านสเต็กได้ประมาณเดือนสองเดือนก็ต้องออกเพราะโรงเรียนจะเปิดเทอมแล้ว พอขึ้นปวช. ผมก็ยังมีโอกาสไปทำงานเป็นคนทำอาหารประจำเตาร้อนที่ร้านอาหารญี่ปุ่น”
“จริงๆที่บ้านผมก็ไม่ได้ขัดสนอะไรหรอกแต่ที่บ้านไม่ได้เลี้ยงลูกแบบตามใจ อยากได้อะไรพิเศษต้องหาเอา ตอนผมเรียนประถมก็ยังเคยช่วยแม่ที่มาเปิดร้านขายอาหารเหนือที่กรุงเทพด้วย”
“ด้วยความที่ผมชอบฟังเพลงร็อคพวก Nirvana, Oasis, Led Zeplin หรือวง Queen ผมเลยหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านขายเสื้อยืดลายวงดนตรีร็อคที่ตลาดรถไฟศรีนครินทร์ ขายได้พักหนึ่งก็เจ๊งต้องปิดร้านเพราะตอนนั้นผมก็ไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ ผมเลยปรับมาขายออนไลน์อย่างเดียวแล้วก็ขายมาจนถึงทุกวันนี้ (พฤศจิกายน 2564)”

จาก Ignorance สู่สภาวะ “ตาสว่าง” ด้วยความบังเอิญ

“ตอนเรียนม.ต้นจนถึงปวช. ผมเป็นพวก ignorance ไม่สนใจอะไรนอกจากชีวิตตัวเอง ช่วงปี 51 ที่มีม็อบพันธมิตร มีเพื่อนมาชวนผมไปชุมนุมบอกว่า ได้ตังด้วยนะ แต่ผมก็ไม่ได้ไป ต่อมาก็มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง พ่อผมที่เป็นคนเสื้อแดงก็ไปร่วมชุมนุม แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้ไปเพราะไม่รู้จะไปทำไม ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะตัวผมถูกหล่อหลอมมากับวัฒนธรรมแบบให้ข้อมูลด้านเดียวเลยไม่ได้คิดจะตั้งคำถามอะไร”
บาสเล่าถึงเรื่องความสนใจทางการเมืองของเขาที่เริ่มจากเป็นคนไม่สนใจอะไร ไม่เหมือนนักกิจกรรมทางการเมืองหลายๆ คนที่เริ่มสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่ยังเด็ก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้บาสเริ่มสนใจทางการเมืองกลับเป็นข้อมูลและรูปภาพบางส่วนที่เขาบังเอิญไปเปิดเจอในคอมพิวเตอร์ของคนรู้จักที่มีภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ สิ่งที่เขาเห็นทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามว่า มีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอเพราะเขาไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน
“คนรู้จักผมเขาเป็นพวกเนิร์ด ผมบังเอิญไปขอยืมใช้คอมเขาแล้วผมก็เจอข้อมูลอะไรที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมก็แบบ เชี่ย มีแบบนี้ด้วยเหรอวะ หลังจากนั้นผมก็เลยเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันฯจากอินเทอร์เน็ตมาอ่าน ต้องบอกว่าผมเริ่มสนใจประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯมาก่อนจะสนใจเรื่องการเมืองเสียอีก ครั้งหนึ่งผมเคยหลุดพูดอะไรบางอย่างกับคนรู้จักแล้วเค้าบอกว่า พูดแบบนั้น ตายได้นะ ผมก็แบบ เฮ้ย ทำไมมันขนาดนั้น ก็เลยยิ่งอยากรู้ยิ่งหาอะไรอ่านมากขึ้น”
“พอเริ่มอ่านมากขึ้นผมก็เริ่มไปอ่านเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ต่างๆ อย่างเหตุการณ์เดือนตุลา ผมจะสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลามากกว่า 14 ตุลานะ คือเ หตุการณ์อย่าง 14 ตุลากับพฤษภาทมิฬเนี่ยเราพอได้ยินกันมาบ้าง แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคือแทบไม่ถูกพูดถึงเลย
หลังจากนั้นผมเริ่มหาหนังสือ หาซีดีเหตุการณ์มาดู ผมก็สงสัยว่าทำไมต้องทำอะไรป่าเถื่อนกันขนาดนี้ ทั้งทารุณศพ ทั้งล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง แล้วผมก็หาอะไรอ่านต่อไปจนรู้เรื่องราวว่าคนที่เป็นนักวิชาการเก่งๆ อย่างอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) อาจารย์สุรชาติ (บำรุงสุข) หรืออาจารย์สุธรรม (แสงประทุม) อย่างอาจารย์สมศักดิ์ที่พูดเรื่องสถาบันฯ ผมเพิ่งเริ่มมาอ่านตอนแกโพสต์เฟซบุ๊กแล้วแต่ไม่ทันสมัยแกเล่นบอร์ดฟ้าเดียวกัน”

2 ปี ในค่ายทหาร

ทหารคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บาสหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง จากการอ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ บาสได้รับรู้ว่าทหารคือตัวจักรสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายๆ ครั้งที่พาประเทศถอยหลัง แต่สิ่งเขาได้รับรู้ผ่านตัวหนังสือก็ยังไม่เท่ากับการที่เขาได้ไปใช้ชีวิตเป็นทหารเกณฑ์ ในช่วงปี 2557-2559
“ผมไม่ชอบทหาร เท่าที่ได้รู้ตั้งแต่ในอดีตทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร การฆ่าประชาชน แล้วไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย ยึดอำนาจแล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง”
“ผมเคยไปเกณฑ์ทหารอยู่ที่ค่ายแถวจังหวัดเพชรบุรี ผมได้รู้ได้เห็นระบบของทหารว่าเป็นยังไง ตั้งแต่ก่อนไปเกณฑ์ทหารข่าวลือเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ถูกทำร้ายจนตายหรือถูกทรมานอย่างทหารเกณฑ์คนหนึ่งที่ถูกล่ามโซ่แล้วหนีมาแจ้งความทั้งๆ ที่โซ่ยังอยู่กับตัวก็เป็นสิ่งเราได้ยินผ่านข่าวกันเป็นประจำ”
“ผมอยู่ที่ค่ายตลอด ไม่ได้ไปบ้านนายกับเขา พวกทหารรับใช้ตามบ้านเนี่ย นายทหารผู้ใหญ่เขาจะมาดู มาเลือก ตั้งแต่ช่วงฝึกทหารใหม่แล้ว เขาจะมาถามเลยว่า ใครมีความสามารถทำอะไรได้ พอขึ้นกองร้อยพวกนี้ก็จะออกไปเลย สำหรับตัวผมเองสองปีในค่ายทหารสิ่งที่ผมเกลียดที่สุด คือ ระบบการลงโทษ มันมีอะไรหลายๆอย่างที่มันเหมือนกดทับเราจนไม่เหลือความเป็นคน ท่าที่ใช้ลงโทษหลายๆ ท่า ผมว่ามันไม่ได้ตั้งใจสร้างพละกำลังอะไรเลย มันเหมือนจะมุ่งทรมานเสียมากกว่า อย่างท่าโหม่งโลกโหม่งจนหัวถลอกหมดแล้ว บางทีบอกให้กัดกรามแล้วก็ต่อยท้อง บางทีก็บอกให้คลานแมว คื อเอาศอกคลานไปตามพื้นจนศอกแตกเลือดไหล ผมว่ามันไม่ใช่”
“ส่วนที่เขาพูดๆกันว่ามีการอมเงินทหารเกณฑ์ อันนี้ผมเคยได้ยิน อย่างตัวผมเองตอนเกณฑ์ทหารได้ประมาณเดือนละ 4000 กว่าบาทก็ไม่รู้โดนหักอะไรไหม”

ปราศรัย ถูกจับตา ก่อนจะถึงวันของมาตรา 112

บาสเริ่มติดตามการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้นในปี 2558 เพราะเห็นข่าวนักศึกษาอย่างรังสิมันต์ โรม หรือจตุภัทร์ หรือไผ่ ออกมาเคลื่อนไหว แต่ขณะนั้นเขายังเกณฑ์ทหารอยู่จึงทำได้แค่ติดตามข่าว หลังปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหารประมาณปี 2559 บาสอยู่กรุงเทพต่ออีกสองปี พอถึงปี 2561 เขาและครอบครัวตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เพราะพ่อของเขาเกษียณอายุและบ้านที่เชียงรายถูกทิ้งร้างไปนานแล้วและไม่มีคนดูแล
“พอถึงปี 63 การชุมนุมเริ่มมากขึ้น การปราศรัยเริ่มทะลุเพดานมากขึ้น มีการพูดเรื่องสถาบันกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเลยตัดสินใจที่จะขอขึ้นปราศรัย ตัวผมเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งไม่ใช่นักกิจกรรม แล้วผมก็ไม่ได้อยู่ในเมือง ไม่ได้มีเพื่อนเป็นนักกิจกรรม สิ่งที่ผมทำ คือ ทักแชทไปที่เพจ เชียงราย No เผด็จการ ซึ่งเป็นเพจที่จัดม็อบ แล้วเขาก็จัดสล็อตเวลาให้แล้วผมก็ได้ขึ้นปราศรัย”
“พูดครั้งแรกไม่กลัวเลย เพราะผมเตรียมสคริปต์ไป ผมอาจจะตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ก็เอาอยู่ ตอนนั้นเรื่องที่ผมพูดก็คือเรื่องสถาบันฯ เพราะบรรยากาศในบ้านเมืองตอนนั้นเหมือนมันเปิดแล้ว พวกน้องๆ นักศึกษาผมก็พูดกันหมด ผมเลยจัดไปแบบเต็มเหนี่ยวเลย”
“ผมรู้เรื่องมาตรา 112 ว่ามันมีอยู่ แต่ผมก็ตัดสินใจปราศรัยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ อย่างตรงไปตรงมา เพราะผมมีความเชื่อในโลกสมัยใหม่ เรื่องทุกเรื่องมันต้องพูดได้ วิจารณ์ได้ และสถาบันฯเอง ก็มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะ เพราะฉะนั้นก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เพนกวินพูดไปขนาดนั้น น้องๆนักศึกษาก็พูดกันแบบทะลุเพดานไปแล้ว ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่พูดตอนนี้ก็ไม่รู้จะพูดตอนไหนแล้ว”
“การขึ้นปราศรัยทำให้ผมเริ่มถูกฝ่ายความมั่นคงจับตา ถูกขึ้น Watch List เริ่มมีคนแปลกหน้ามาที่บ้าน คนแปลกหน้าที่ว่าก็ตำรวจนั่นแหละ มาแบบไม่มีเหตุ แล้วก็อ้างว่ามาเยี่ยมประชาชน ผมก็เลยย้อนเขาไปว่างั้นพี่มาเยี่ยมทุกบ้านหรือเปล่า เขาก็บอกแค่ว่านายสั่งให้มา แล้วก็ขอถ่ายรูปผมกับเพื่อนอีกคนไป แม่ผมมาเล่าให้ฟังด้วยว่าหลังผมขึ้นปราศรัยมีตำรวจมาถามหาผมกับแม่ของผมที่กำลังขายของอยู่ แต่ตอนที่ขึ้นปราศรัยผมก็ยังไม่ถูกดำเนินคดี 112 นะ”

อดอาหารหน้าศาลกับชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

หลังติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากเชียงรายมานาน วันที่ 12 เมษายน 2564 บาสตัดสินใจเดินทางมาหน้าศาลอาญาเพื่ออดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองเพราะเขาได้ทราบข่าวว่าเพนกวินอดอาหารจนมีปัญหาสุขภาพ แม้ก่อนมากรุงเทพครั้งนั้นบาสจะเคยขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ แล้ว บาสยังโพสเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง และก็เป็นที่รู้จักของตำรวจในจังหวัดเชียงรายอยู่แล้ว แต่บาสยังไม่เคยถูกจับกุมหรือดำเนินคดี
“ตอนนั้นเพนกวินอดข้าว ผมแค่อยากลงมาอดเป็นเพื่อนเพนกวิน ลงมานั่งอดอาหารหน้าศาล ผมก็ได้แต่คิดว่าจะทำยังไงให้การอดอาหารของผมเป็นข่าวได้มากที่สุดเพราะเชื่อว่ามันน่าจะสร้างอิมแพคได้บางอย่าง ก็เลยบอกให้พี่คนหนึ่งที่มีคนติดตามบนเฟซบุ๊กเยอะช่วยกระจายข่าวให้แล้วสื่อก็มาทำข่าวกัน แล้วก็มีคนมาให้กำลังใจ”
“ผมได้สามวันเท่านั้นแหละก็มีตำรวจมาอ่านหมายจับให้ผมฟัง เป็นหมายจับคดีมาตรา 112 ที่เชียงราย ผมก็บอกตำรวจที่มาจับว่าผมจะไม่ให้การไม่เซ็นเอกสารอะไรทั้งสิ้น จนกว่าจะถึงเชียงรายและได้พบทนาย ตำรวจสน.พหลโยธินเลยทำบันทึกจับกุมผมแล้วเอาตัวผมขึ้นรถตู้ส่งไปเชียงรายทันที แต่รถจากกรุงเทพไม่ได้ขึ้นไปถึงเชียงรายนะ ไปแค่พิษณุโลกแล้วก็มีฝ่ายสืบจากเชียงรายลงมารับที่พิษณุโลก กว่าจะไปถึงสถานีตำรวจก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน”
“สรุปผมโดนแจ้งม.112 25 กรรม จากข้อความบนเฟซบุ๊กทั้งหมด บางส่วนเป็นการแชร์ข่าวต่างประเทศ บางส่วนเป็นการแชร์โพสต์สมเจียมฯ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ที่โพสต์แบบแรงๆเองก็มีบ้างแต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด ผมไม่ตกใจนะ เอาจริงๆ เฟซผมถ้าเขาจะเล่นก็อาจจะเล่นงานได้มากกว่านี้”
“ผมคิดว่าโลกมันเปิดแล้ว คนมีความตื่นรู้ มีความหวัง ตัวผมเองตอนนี้ยังมีแรง ถ้าผมไม่ทำอะไรเลย แก่ตัวไปมองย้อนกลับมาผมคงตอบลูกตอบหลานไม่ได้ว่าทำไมเราไม่สู้ ตอนนั้นไปทำอะไรอยู่ที่ไหน อีกอย่างผมคิดว่าการที่เขาดำเนินคดีผมเยอะๆ แบบนี้มันยิ่งเป็นการประจานความไร้สาระของกฎหมายนี้”
“เอาจริงๆ ถ้าผมไม่ลงไปเปิดตัวที่กรุงเทพ ผมคงไม่โดนหรอก พอผมลงไปกรุงเทพรอบแรกมีคนสนใจทักมาถามว่าอยากมาด้วย มีสื่อสนใจ เขาก็เลยต้องรีบจัดการ ส่วนครั้งที่สองผมคิดว่ามันจังหวะนรกไปนิด ผมไม่ได้โพสต์อะไรเลย แต่พอกลับจากซื้อตั๋วรถก็มาดักรอที่บ้านเลย เขาคงติดตามความเคลื่อนไหวผมแหละ พอรู้ว่าผมไปซื้อตั๋วรถจะลงกรุงเทพก็เตะตัดขาอย่างแรงด้วยหมายม.112 อีกใบ ครั้งที่สองผมถูกขังอยู่สามสี่วันก็ได้ประกันออกมา ครั้งนี้โดนจากข้อความเก่าอีกสองข้อความ”
“เรื่องติดตามนี่ผมเคยเจอแบบออกจากหมู่บ้านเอาเสื้อมาส่งในอำเภอ ปรากฏว่าผมจอดรถหน้าไปรษณีย์ปุ๊ปมาเลย ตำรวจสามสี่คนเดินมาถาม เป็นไง จะไปไหน ผมก็บอกจะมาส่งไปรษณีย์ มาส่งเสื้อเค้าก็บอกอ๋อดีๆ แล้วก็ยังชวนผมคุยเรื่องลายสักบอกสวยดี อยากจะสักมั่ง เค้าพยายามจะทำเหมือนว่าบังเอิญมาตรงนั้น แต่แบบ ไม่เนียนเลย ผมลงจากรถปุ๊ปเดินตรงมาหาเลย ตรงนั้นมีร้านสะดวกซื้อก็จริงแต่ไม่มีตำรวจคนไหนซื้ออะไรเลย”

ทรัพยากรจำกัด แต่ยังไม่ยอมหยุด

จากนี้ไปบาสมีคดีมาตรา 112 ที่ต้องต่อสู้แล้วอย่างน้อยสองคดี และไม่มีอะไรรับประกันว่าในอนาคตข้างหน้า ข้อความที่เขาเคยโพสต์ในอดีตจะไม่ถูกขุดขึ้นมาเป็นเครื่องมือเล่นงานเขาอีก แต่เขาก็ยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แม้ว่ามันจะทำให้เขาได้รับผลกระทบในชีวิต อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการหางาน รวมถึงโอกาสที่จะถูกจองจำในอนาคตอันใกล้
“หลังถูกดำเนินคดี ผมเคยลองไปสมัครงานอยู่สามสี่ที่ ผมก็บอกเขาไปตรงๆ นะว่าผมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถ้าในอนาคตต้องไปขึ้นศาลหรือไปเจอตำรวจก็อาจจะต้องขอลา สุดท้ายผมก็ไม่ได้งาน คนที่ผมไปสมัครงานเขาไม่ได้มีท่าทีรังเกียจหรืออะไรหรอกนะที่ผมถูกดำเนินคดี 112 เพียงแต่อนาคตผมมันไม่แน่นอน อาจจะถูกเอาเข้าคุกเมื่อไหร่ก็ได้ นายจ้างก็คงไม่อยากเสี่ยง อันนี้ผมก็เข้าใจ ตอนนี้ผมก็เลยหาเลี้ยงตัวด้วยการขายเสื้อไปก่อน (สามารถสั่งซื้อเสื้อของบาสได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา บัสบาส บาสบัส โดยตรง) แต่เศรษฐกิจตอนนี้มันไม่ค่อยดี เสื้อผมเลยขายไม่คล่องเหมือนก่อนหน้านี้”
“ชุมชนที่ผมอยู่มันเล็ก เพื่อนบ้านบางคนก็นินทาทำนองว่า ไอ้บาสพูดแบบนี้ระวังโดนตัดหัว 7 ชั่วโคตร บางคนก็ไปพูดกับพ่อแม่ผมอย่างงั้นอย่างงี้ ญาติๆบางคนก็เหมือนกัน ด่าผมยกใหญ่ แต่พ่อกับแม่ผมเขาเปิดกว้างและให้อิสระทางความคิดกับผม ผมรู้ว่าพ่อก็ห่วงผมนะ แต่ก็เคารพการตัดสินใจของผม”
“ถึงจะโดนคดี จะโดนคนบางคนพูดไม่ดีใส่ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แต่ผมก็จะสู้ต่อไป ผมอาจจะไม่ได้ลงไปเคลื่อนไหวที่กรุงเทพบ่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยระดมทุนลงไปก็โดนด่า ผมเลยเลิกระดมทุนแล้วควักเงินตัวเองไป แล้วตอนนี้ทรัพยากรผมก็ค่อนข้างจำกัด แต่ผมก็จะเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ต่อไป เพราะผมคิดว่ามันก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีพลัง เราเห็นมาแล้วอย่างปรากฏการณ์ #ขบวนเสด็จ หรือปรากฏการณ์ตลาดหลวง ผมคิดว่าการขับเคลื่อนบนโลกออนไลน์มันก็มีพลังไม่แพ้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนนะ ใครสะดวกอะไรก็ทำกันไป การต่อสู้ทางการเมืองมันเป็นการต่อสู้ระยะยาว จะมีเหนื่อยมีท้อมีหยุดพักบ้างก็เรื่องธรรมดา แต่ถ้าไม่หยุดสู้เราก็ยังไม่แพ้”
“ผมคิดว่าเราชนะมายกหนึ่งแล้ว ทุกวันนี้เรื่องสถาบันฯถูกนำมาพูดบนท้องถนนได้แล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนตายนะครับ แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่พูดได้แล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว ข้อมูลข่าวสารมันหาได้ง่ายขึ้น ทุกคนรู้อะไรเป็นอะไร จะปิดบังจะโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียวจากนี้คงไม่ได้แล้ว”