1552 1264 1967 1593 1004 1740 1594 1735 1705 1560 1376 1186 1935 1595 1936 1109 1936 1144 1164 1978 1104 1219 1134 1973 1084 1144 1727 1396 1741 1718 1280 1164 1200 1118 1046 1533 1814 1849 1708 1787 1353 1252 1262 1742 1640 1680 1285 1136 1153 1850 1351 1351 1135 1112 1020 1634 1831 1454 1534 1095 1655 1094 1620 1426 1485 1974 1659 2000 1524 1637 1011 1919 1157 1934 1568 1866 1805 1164 1190 1198 1868 1510 1497 1320 1623 1566 1228 1475 1856 1076 1439 1648 1902 1669 1403 1767 1039 1797 1787 สรุปสถานการณ์ปี 2557 5/5 : เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชน และอื่นๆ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 5/5 : เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชน และอื่นๆ

ปี 2557 ประเทศไทยเปิดศักราชด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรง โดยเฉพาะการนำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง นำไปสู่การควบคุมสื่อของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน สำหรับฝ่ายรัฐ กสทช. ยังคงควบคุมการทำงานของสื่ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ก็พยายามกดดันแทรกแซงการทำงานของสื่อทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อให้นำเสนอข้อมูลตามความเชื่อทางการเมืองของกลุ่มตน 
 
สถานการณ์คุกคามสื่อรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อกองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และได้ออกประกาศควบคุมสื่อ ห้ามก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของกองทัพ ทำให้สื่อไม่มีอิสระในการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน จากนั้นอีกสองวัน กองทัพประกาศยึดอำนาจการปกครองและส่งกำลังเข้าควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ออกประกาศให้ปิดวิทยุขนาดเล็กที่ยังไม่มีใบอนุญาตทั่วประเทศ และปิดกั้นการเข้าถึงสื่ออนไลน์ทั้งวิธีการ "บล็อค" และการขอความร่วมมือ 
 
การออกประกาศควบคุมสื่อของกองทัพอย่างน้อย 8 ฉบับ ปฏิบัติการเยี่ยมเยียนสื่อของเจ้าหน้าที่ทหาร และการละเมิดน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จยังทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวจนบางสื่อเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง จนกระทั่งสิ้นปีบรรยากาศแห่งการละเมิดเสรีภาพสื่อและประชาชนก็ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง
 
เก็บตกเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร (1) : กสทช. ยังใช้อำนาจอย่างต่อเนื่อง
 
9 เมษายน 2557 กสทช. เปิดศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย โฆษณาเกินจริง พร้อมจับตารายการที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
12 เมษายน 2557 กสทช. สั่งถอดรายการ "ทุกข์ปัญหามีคำตอบ" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม H Plus ดำเนินรายการโดย คฑาพล แก้วกาญจน์ ผู้อ้างว่าเป็นเพอร์ซิอุส เนื่องจากมีข้อความที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
 
เก็บตกเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร (2) : การคุกคามการทำงานของสื่อโดยประชาชนด้วยกันเอง
กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. เป็นตัวแสดงที่มีบทบาทมากในการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร กลุ่ม กปปส. ซึ่งมีมวลชนสนับสนุนจำนวนมากประกาศปิดกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องการจัดการปกครองรูปแบบใหม่ การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมก็มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อการทำงานอย่างอิสระของสื่อมวลชน
 
16 มกราคม 2557 เกิดเหตุทำร้ายร่างกายฐานิส สุดโต ช่างภาพของเครือเนชั่น ที่บริเวณการชุมนุมของ กปปส.ที่สวนลุมพินี 
 
24 กุมภาพันธ์ 2557 หลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. นำมวลชนปิดทางเข้าออกหน้าสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี พร้อมปราศรัยว่า จะปักหลักค้างคืน จนกว่าจะให้ชาวนาออกรายการของวอยซ์ทีวี เพื่อชี้แจงความจริง
 
4 มีนาคม2557 หลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. พร้อมผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อยื่นหนังสือขอให้สำนักงาน กสทช. ระงับการออกอากาศช่องเอเชียอัพเดต เนื่องจากนำเสนอข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง และปลุกระดมมวลชนให้เกิดความเข้าใจผิด 
 
18 มีนาคม 2557 แกนนำ กปปส. นำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดตและสถานที่แถลงข่าวของเเนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเเห่งชาติ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่ ไม่ให้ นปช. เช่าสถานที่ 
 
7 พฤษภาคม2557 นิค นอสติทซ์ ช่างภาพชาวเยอรมัน ถูกข่มขู่โดยชาย 3 คน ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญระหว่างรอทำข่าวศาลวินิจฉัยคดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งนิคเข้าใจว่าเป็นการ์ด กปปส. เนื่องจากปรากฏสัญลักษณ์ กปปส. ที่ชายทั้งสาม 
 
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยก่อนการรัฐประหารมีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ 
 
7 กุมภาพันธ์ 2557 มีเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่สถานีวิทยุเพื่อมวลชน เรดการ์ด ของ “โกตี๋” ที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ต่อมา 26 มีนาคม 2557 ที่สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงใน อ.แม่สอด จ.ตาก ของโกตี๋ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงถล่ม พบปลอกกระสุนปืนอาก้าตกอยู่ที่ถนนฝั่งตรงข้ามจำนวน 20 ปลอก มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ถูกยิงแขนขวา
 
24 เมษายน 2557 เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงเครื่องยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 เข้าใส่สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 
การดำเนินงานของสื่อมวลชนภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวและความคาดหวังจากกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่อยากเห็นสื่อที่เป็นกลางกลับทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองและพยายามสร้างภาพลักษณ์ของสถานีให้มีความเป็นกลางทางการเมือง เช่น กรณีของ พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าวช่องโมโน 29 ในเครือโมโนกรุ๊ป ใช้เทปกาวปิดปากตัวเองและถ่ายภาพคู่กับทหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในวันต่อมา ปรากฏว่า บริษัทโมโนกรุ๊ปออกประกาศ ระบุว่าการกระทำของนักข่าวคนดังกล่าวดังเป็นการกระทำและความเห็นส่วนตัว โดยทางบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย และพรทิพย์ ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ท้ายจดหมายยังระบุด้วยว่า ช่องโมโน 29 มีความเป็นกลาง ไม่ได้อิงพรรคการเมืองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
หลังการยึดอำนาจ กองทัพออกประกาศจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน
หลังจากกองทัพบกประกาศใช้ “พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ก็ออกประกาศและคำสั่งเพื่อควบคุมสื่อ โดยระบุเหตุผลในลักษณะเดียวกันว่า “เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อันจะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ” ได้แก่
 
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ฉบับที่ 3/2557 ห้ามนำเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
คำสั่ง กอ.รส.ฉบับที่ 9/2557 เรื่องห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของ กอ.รส. โดยห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท เชิญบุคคลที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงนอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจมีอำนาจระงับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของ กอ.รส.
 
เมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีการออกประกาศที่เกี่ยวกับการขัดขวางเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อและการแสดงออกของประชาชน ได้แก่
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 4/2557 ขอให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทุกช่อง งดรายการประจำของสถานี และถ่ายทอดรายการจากสถานีวิทยุกองทัพบก เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง 
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557  มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับคำสั่งกอ.รส. ฉบับที่ 9/2557ห้ามสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งราชการ และให้อำนาจผู้ว่าฯ และตำรวจ ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการทำงานของ คสช.
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 14 ช่อง และระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย 
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 ให้งดเว้นการนําเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะ เช่น หมิ่นสถาบันฯ ยุยงปลุกปั่นและเป็นภัยต่อความมั่นคงวิจารณ์การทำงานของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ แต่ไม่ได้ระบุโทษของการฝ่าฝืนเอาไว้
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เป็นการนำประกาศฉบับที่ 14 และ 18 มารวมกัน ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภท สัมภาษณ์นักวิชาการ และอดีตข้าราชการจนอาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง พร้อมทั้งห้ามสื่อทุกประเภทนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะเหมือนในประกาศฉบับที่ 18 โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนคือ สั่งระงับการจำหน่ายจ่ายแจกระงับรายการ และดำเนินคดีในความผิดฐานนั้นๆ ตามแต่เนื้อหาของรายการ
 
ประกาศ ฉบับที่ 103/2557 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศฉบับที่ 97 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อผ่อนปรนให้สื่อวิจารณ์ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์การปฏิบัติงานโดยมีเจตนาไม่สุจริตและทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม
 
นอกจากนี้ คสช. ยังออกประกาศที่เกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ด้วย โดยมีทั้งสิ้น2 ฉบับ คือ ประกาศฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความ เชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง และ ประกาศ ฉบับที่ 17/2557 ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตาม ตรวจสอบ และระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
 

130

 

เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (1) : รูปธรรมของการใช้อำนาจทหารเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน

22 พฤษภาคม 2557 คสช.ยึดอำนาจการปกครองและออกประกาศฉบับที่ 4/2557 โดยให้งดรายการประจำสถานีของทุกช่อง เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่คืนวันดังกล่าว ไทยพีบีเอสกลับนำเสนอข่าวสารออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป จนกระทั่งทหารสั่งให้ยุติการออกอากาศรายการข่าวออนไลน์และคุมตัววันชัยตันติวิทยาพิทักษ์รองผู้อำนวยสถานีไปค่ายทหารทันที

 
25 พฤษภาคม 2557 คสช.เชิญผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับ “ร่วมหารือ” ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี 
 
13 มิถุนายน 2557 จำลอง สิงห์โตงาม ผู้อำนวยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ออกคำสั่งให้เจริญศรี หงส์ประสงค์ ผู้อำนวยการส่วนผลิตข่าวและรายการข่าว ช่อง 11 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเผยแพร่เนื้อหาที่ละเมิดประกาศคสช. ฉบับที่ 14 และ 18 ว่าด้วยการห้ามสร้างความขัดแย้งหรือการต่อต้านการปฏิบัติงานของคสช. แต่ต่อมาได้ยกเลิกคำสั่งปลดผู้อำนวยการรายดังกล่าวแล้ว
 
26 กรกฎาคม2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม เนื่องจาก ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2557 ตีพิมพ์ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของคสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศ ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 จึงออกประกาศเป็นการตักเตือนหลังจากนั้น ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 252 ขึ้นปกดำล้วน และหยุดวางจำหน่าย ผู้จัดการสุดสัปดาห์ เป็นเวลา 1 เดือน
 
14 พฤศจิกายน 2557 นายทหารกลุ่มหนึ่งเข้าพบผู้บริหารไทยพีบีเอสเพื่อขอให้ยุติการนำเสนอรายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” หลังจากไม่พอใจวิธีการตั้งคำถามและพูดพาดพิงถึงการรัฐประหารของณาตยา แวววีรคุปต์ผู้ดำเนินรายการ โดยผู้บริหารไทยพีบีเอสยอมทำตามข้อเรียกร้องของทหารและถอดณาตยาจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
15 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างการประชุมของผู้บัญชาการทหารบกที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา ได้เกิดเหตุทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 2 ดึงกระเป๋ากล้องวิดีโอและกระชากตัวผู้สื่อข่าวโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเข้าไปทำข่าวภายในห้องประชุมให้ออกมาจากห้องทันทีโดยไม่ได้พูดหรือบอกกล่าวแต่อย่างใด วันถัดมา กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 ออกหนังสือแถลงการณ์ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นการกระชากผู้สื่อข่าว มีเฉพาะการใช้มือไปสัมผัสกับสายกระเป๋าสะพายกล้องที่คล้องตัวอยู่ และพยายามแจ้งให้นักข่าวหญิงทราบ และออกจากสถานที่ประชุมฯ นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังขอความกรุณาจากสื่อมวลชนให้เสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อมิให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพด้วย 
 
10 ธันวาคม 2557 พชรปพน พุ่มประพันธ์ ผู้สื่อข่าวช่อง 3SD ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว“@Pacharapapon”เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตะโกนห้ามถ่ายภาพและให้หยุดถ่ายขณะที่เจ้าตัวกำลังรายงานสดเกี่ยวกับความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของอนุสาวรีย์ฯ ทั้งนี้ ทหารระบุว่า ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะถ่ายทำรายการได้ 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (2) : บรรยากาศทางการเมืองทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
รูปแบบของการคุกคามเสรีภาพสื่อช่วงหลังรัฐประหารไม่ได้มีแค่การใช้อำนาจรัฐควบคุมสื่อโดยตรงเท่านั้น แต่เมื่อรัฐสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนขึ้นอย่างเป็นระบบผ่านการออกกฎและคำสั่งต่างๆ รวมถึงใช้กำลังทางกายภาพปิดกั้น จับกุมและลงโทษสื่อที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจ ทำให้สื่อจำนวนไม่น้อยเลือกวิธีการเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนจะถูกดำเนินการที่รุนแรงกว่า เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ มีดังนี้
 
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันส่งจดหมายแจ้งสมาชิกวารสารฟ้าเดียวกัน ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ขอชะลอการพิมพ์วารสารฉบับใหม่ โดยระบุว่า หลังการรัฐประหารมีการปิดสื่อและตรวจเนื้อหาอย่างเข้มข้น วารสารฟ้าเดียวกันถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ จนสร้างความหวาดกลัวให้กับทุกส่วนการผลิต เพื่อความปลอดภัยจึงขอชะลอการตีพิมพ์ไปก่อน 
 
10 มิถุนายน 2557 ภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา ยุติผลิตรายการ "Amarin Newsnight" หลังออกอากาศได้หนึ่งสัปดาห์ โดยระบุว่า การรัฐประหารทำให้สถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในสถานีเปลี่ยน จึงขอรักษาจุดยืนและหลักการวิชาชีพ ทางด้านผู้บริหารอมรินทร์ระบุยุติเพราะวิธีคิดต่างกัน และยืนยันว่าจากกันด้วยดี
 
Spokedark.tv ผู้ผลิตอินเทอร์เน็ตทีวีรายการ "เจาะข่าวตื้น" ที่วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีในประเด็นสังคมการเมือง ตัดสินใจหยุดผลิตรายการเจาะข่าวตื้นท่ามกลางบรรยากาศการรัฐประหาร รายการเท่าที่ผลิตออกมาตามข้อตกลงกับลูกค้าก็ต้องเปลี่ยนประเด็นการพูดคุยโดยเน้นข่าวต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาออกอากาศเต็มรูปแบบอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2557 
 
15 สิงหาคม 2557 มติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1774 ประจำวันที่ 15-21 สิงหาคม 2557 ไม่มีวางจำหน่ายในแผงหนังสือ เนื่องจากบทกวีในหน้าท้ายๆ ซึ่งแต่งโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “ระริน มุข” มีสะกดคำผิดหนึ่งจุด ซึ่งอาจทำให้ถูกตีความว่าผิดกฎหมายได้
 
23 พฤศจิกายน 2557 เว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “บางกอกโพสต์” เผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งแรกของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการรัฐประหาร แต่วันต่อมาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกลบหายไปจากเว็บไซต์ โดยวาสนา นาน่วม เจ้าของบทความดังกล่าวชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า บทความดังกล่าวไม่ได้มาจากการให้สัมภาษณ์ของยิ่งลักษณ์ เพียงแต่เป็นการพูดคุยกันและหยิบส่วนที่เป็นเรื่องเบาๆ ว่าชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนไปอย่างไรมาเขียนเท่านั้น เพราะตนทราบดีว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นทางการเมืองได้ 
 
นอกจากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวยังมีรายงานว่าหลังทหารส่งกำลังเข้าควบคุมสื่อขนาดใหญ่ในวันที่ยึดอำนาจ ทหารยังคงแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไว้เฝ้าระวังการทำงานของสื่ออยู่เป็นเวลาหลายเดือน เจ้าหน้าที่ทหารนั่งสังเกตการณ์ประจำอยู่ในห้องกองบรรณาธิการของสื่อบางสำนักด้วย และจะคอยทักท้วงเมื่อมีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลร้ายต่อคสช. 
 
ยังมีรายงานว่ามีการเรียกตัวผู้บริหารและนักข่าวจากสื่อสำนักต่างๆ ให้ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนายทหารระดับสูงเป็นระยะๆ ขณะที่ กสทช. ก็เรียกประชุมผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งโทรทัศน์และวิทยุ มาพูดคุยตักเตือนเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อ คสช. เป็นระยะเช่นกัน แม้การใช้อำนาจออกคำสั่งเพื่อปิดกั้นสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้งยังมีปริมาณเท่าที่สามารถนับได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ภายใต้กรอบที่แคบและอ่อนไหว ย่อมส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างมหาศาล 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (3) : สื่อท้องถิ่นขนาดเล็กต้องปิดตัวตามประกาศ 15/2557 
ภายหลังการรัฐประหาร การควบคุมสื่อท้องถิ่นเป็นไปอย่างเข้มงวดประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นประกาศที่เพ่งเล็งไปที่สื่อท้องถิ่นโดยรูปแบบการควบคุมสื่อท้องถิ่น มีดังนี้
 
มีรายงานจากเกือบทุกพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าตรวจค้นถ่ายรูป และยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางแห่งมีการขอสำเนาบัตรประชาชนและตรวจดีเอ็นเอของผู้เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เช่น วิทยุชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม วิทยุชุมชนในประเด็นศาสนา การกระทำลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เย็นวันที่22 พฤษภาคม ต่อเนื่องเรื่อยมา สื่อบางแห่งถูกทหารเข้าตรวจสอบอยู่เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าได้หยุดออกอากาศแล้วจริงๆตัวอย่างเช่น
 
ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ สถานีวิทยุชุมชนรักเชียงใหม่ 51 เอฟเอ็ม 92.5 เมกกะเฮิร์ตซ์ ของ เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มเสื้อแดงรักเชียงใหม่ 51มีเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าตรวจค้นที่สถานีและถูกปิดตั้งแต่รัฐประหาร ใน จ.ลำปาง ทหารเข้าควบคุมสถานีวิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตยและสถานีวิทยุเสียงประชาชนคนท้องถิ่น คลื่น 96.25 เมกกะเฮิร์ตซ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของ นสพ.ท้องถิ่นสะกิดข่าวด้วย นอกจากนี้ แมพเรดิโอ สถานีวิทยุเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้กับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ทั้งใน อ.แม่สอด และใน จ.เชียงใหม่ ก็ถูกทหารเข้าตรวจค้นทำให้ออกอากาศไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์
 
ภาคอีสาน สถานีวิทยุวอยส์พีเพิ่ลเรดิโอ 100.00 และ 100.75 เมกกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.อุดรธานี ของ อานนท์ แสนน่าน ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย มีทหารบุกเข้าไปตรวจค้นภายในสถานี และยึดอุปกรณ์การออกอากาศ เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร 97.5 เมกกะเฮิร์ตซ์ ที่มีกำลังทหารเข้าไปปิดสถานีตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ทำการรัฐประหาร นอกจากนี้ ที่ จ.อุบลราชธานี “ดีเจต้อย” แกนนำเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบ เล่าว่า หลังการรัฐประหาร มีทหารมาที่สำนักงานเพื่อเชิญไปรายงานตัว และถูกกักตัวเป็นเวลา 6 คืน หลังถูกปล่อยตัวยังคงมีทหารแวะมาที่สำนักงานอยู่เป็นระยะ โดยทุกครั้งที่มาก็จะถ่ายภาพดีเจต้อยคู่กับสำนักงานไว้ด้วย
 
ภาคกลาง สถานีวิทยุชุมชนบางใหญ่เรดิโอ จ.นนทบุรี 99.75 เม็กกะเมกกะเฮิร์ตซ์ ที่แม้จะหยุดออกอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่รัฐประหาร แต่ยังคงมีทหารอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. เข้ามาตรวจค้นสถานี ใน จ.เพชรบูรณ์ ทหารเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนคลื่นไอเดียเรดิโอ 104.25 เมกกะเฮิร์ตซ์ และยึดสิ่งของหลายรายการ ที่ จ.ฉะเชิงเทราสถานีวิทยุชุมชนคนแปลงยาว หลังปิดตัวลงไปไม่นานก็ได้รับอนุญาตจากทหารให้กลับมาออกอากาศต่อได้ แต่ต่อมาก็ถูกทหารอีกหน่วยหนึ่ง ที่ขาดการสื่อสารกันบุกเข้ามามาปิดซ้ำอีกรอบ อ้างว่าไม่เคยมีการอนุญาตให้ออกอากาศได้เลย 
 
ภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี ตำรวจนอกเครื่องแบบจากหน่วยสืบสวนสอบสวนจำนวน 5 นาย บุกตรวจค้นบ้านเช่าของผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุมีเดียสลาตันและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายค้น โดยขอบัตรประชาชนของแต่ละคน พร้อมข้อมูลครอบครัว เพื่อบันทึกข้อมูล ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์สถานีวิทยุชุมชนบ่อนอก ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแวะมาเพื่อตรวจสอบว่าได้หยุดออกอาการแล้วจริงหรือไม่ พร้อมมาถามข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการสถานี
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้ารับฟังการชี้แจง โดยขอความร่วมมือให้งดการนำเสนอข่าวในลักษณะต่อต้านการทำงานของ คสช. ข่าวสารลักษณะปลุกปั่น การต่อต้านของนักศึกษาที่มีความคิดหัวรุนแรง เช่น ที่ จ.พะเยา และ จ.พิษณุโลก
 
หลังประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 สื่อวิทยุชุมชน และเคเบิลท้องถิ่น ที่เคยได้รับการผ่อนผันให้ออกอากาศ โดยกสทช. ต้องปิดตัวลงทั้งหมดทันที สื่อที่ต้องการดำเนินกิจการต่อต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกลับมาออกอากาศใหม่ โดยต้องลงชื่อในข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าจะไม่นำเสนอเนื้อหาในประเด็นที่ขัดแย้งกับ คสช. สื่อหลายแห่งได้รับอนุญาตและกลับมาออกอากาศได้แล้วในปัจจุบัน สื่อหลายแห่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ สื่อหลายแห่งเลือกที่จะไม่ขออนุญาตกลับมาออกอากาศเพราะไม่ต้องการออกอากาศในบรรยากาศเช่นนี้ วิทยุชุมชนหลายแห่งไม่มีกำลังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการขออนุญาตซึ่งตกประมาณ 50,000 บาทต่อแห่ง ทำให้ปัจจุบันสื่อระดับท้องถิ่นมีจำนวนลดลงมาก
 
จากวิทยุขนาดเล็กที่ออกอากาศอยู่ก่อนประกาศคสช. ฉบับที่ 15/2557 กว่า 7,000 แห่ง กลับมายื่นขออนุญาตออกอากาศใหม่ประมาณ 5,300 แห่ง และได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศแล้วประมาณ 3,300 แห่ง
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (4) : ข่าวสารและสีสันบนโลกออนไลน์ที่หายไป
 
หลังสื่อกระแสหลักและสื่อชุมชนถูกปิดกั้นอย่างเข้มงวด สื่อออนไลน์จึงเป็นพื้นที่สุดท้ายสำหรับการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารขณะที่ คสช. ก็อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น Dangdd.com,  uddtoday.net, uddred.blogspot.com,   thaipoliticalprisoners.wordpress.com เป็นต้นเว็บไซต์ที่เป็นสื่อทางเลือก เช่น สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าวประชาธรรม หรือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็ถูกปิดกั้น ที่น่าสนใจคือเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ อย่างเช่น dailymail.co.uk, standard.co.uk หรือ ข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์บางชิ้น ก็ถูกปิดกั้น
 
28 พฤศจิกายน 2557 เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในเว็บไซต์ของHuman Rights Watch องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ขณะที่เว็บไซต์ข่าวกีฬา เช่น  www.livescore.com,  www.atpworldtour.comยังถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง สันนิษฐานว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพนัน ส่วนเว็บไซต์ดูภาพยนตร์ออนไลน์ เช่น www.freemovie-hd.com, www2.siam-movie.com ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ สันนิษฐานว่ามีเหตุผลจากการนำสัญลักษณ์การชูสามนิ้ว จากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ไปใช้เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.
 
ดูรายงานการปิดกั้นสื่อออนไลน์หลังการรัฐประหาร ได้ที่นี่ >>> http://freedom.ilaw.or.th/blog/OnlineMedia2014
 
บรรยากาศของสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เปลี่ยนไป เฟซบุ๊กเพจที่เคยรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจนหลายแห่งปิดตัวลง เช่น เฟซบุ๊กเพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เป็นต้น นักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์หลายคนหายหน้าไปหรือลดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาลง เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นต้น ทำให้สีสันบนสื่อสังคมออนไลน์ลดลงไปอย่างมาก
 
28 พฤษภาคม 2557 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้ด้วยช่องทางปกติเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐประหารมีคำสั่งให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กชั่วคราวเพื่อระงับเหตุขัดแย้งซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของโฆษก คสช. ที่ปฏิเสธข่าวดังกล่าวต่อมา ปลัดไอซีทีคนดังกล่าวถูก คสช.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง
 
เมื่อการใช้อำนาจปิดกั้นเฟซบุ๊กอาจกระทบกับการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากจนเกินไป คสช. จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการขอความร่วมมือเป็นรายบุคคลแทน
 
4 กรกฎาคม 2557 ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.วารสารฟ้าเดียวกัน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า คสช. โทรมาขอความร่วมมือไม่ให้โพสต์ข้อความใดๆที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด และมีทัศนคติไม่ดีกับคณะรัฐประหารดังนั้น เจ้าตัวจึงขอไม่โพสต์ข้อความที่จะก่อให้เกิดผลลบต่อคณะรัฐประหารต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารโทรมาแจ้งว่าไม่สบายใจและขอให้ลบข้อความที่เล่าเรื่อง “เก็บตกงานพบปะ สนทนา กับนักเขียน ประจักษ์ ก้องกีรติ” บนเพจเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ออกไป โดยข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุถึงความพยายามของทหารที่จะควบคุมสำนักพิมพ์
 
17 พฤศจิกายน 2557 เฟซบุ๊ก “ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร”ประกาศยุติการเคลื่อนไหว โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ทหารใน จ.อุบลราชธานีขอความร่วมมือให้ยุติการเคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่สบายใจต่อการแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กนี้และหากไม่ยุติการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ต่อมา 18 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ทหารโทรมาอีกครั้งโดยขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวของกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีเขื่อนปากมูลเนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม
 
นอกจากการขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊กและลบข้อความทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีกรณีที่ คสช. ขอความร่วมมือให้ประชาชนโพสต์ข้อความตามที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการบนเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกด้วย เช่น กรณีของวิทูวัจน์ ทองบุ หนึ่งในผู้ลงชื่อในแถลงการณ์ไม่ร่วมการปฏิรูปกับรัฐบาลเผด็จการ ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า ภายหลังจากการรายงานตัวและพูดคุยเจ้าหน้าที่ทหารขอให้ยุติการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลและ คสช.มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนอกจากนี้ ยังขอให้โพสต์ข้อตกลงตามเอกสารที่เจ้าหน้าที่บันทึกมาให้ลงบนเฟซบุ๊กของเจ้าตัว สรุปใจความได้ว่า ตนจะยุติการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบทั้งบนท้องถนน และสื่อสังคมออนไลน์ และจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปตามนโยบายของรัฐบาล และตามช่องทางที่รัฐบาลเปิดพื้นที่ 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (5): วงการหนังสือกลายเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ
ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก มีกระแสข่าวตามโซเชียลเน็ตเวิร์คว่าร้านหนังสือคิโนคูนิยะนำหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทย 6 เล่มออกจากชั้นหนังสือ ได้แก่ 1.Democracy & National Identity in Thailand 2.Legitimacy Crisis in Thailand 3.Bangkok May 2010 4.The Simple Truth 5.Making Democracy 6.Free Thai: The New History
 
หลังการรัฐประหารทหารเข้าตรวจค้นร้าน “Book Re:public” ร้านหนังสือใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ทำกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตย เจ้าของร้านเล่าว่า ทหารในเครื่องแบบติดอาวุธเข้ามาถ่ายรูปในร้านและหนังสือที่วางขายเกือบทุกเล่ม และห้ามนำภาพโปสเตอร์ของนักการเมืองและแกนนำคนเสื้อแดงชื่อดังคนหนึ่งมาตั้งบริเวณหน้าร้าน การมาสำรวจร้านของทหารเกิดขึ้นเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง นอกจากนี้ ร้านหนังสือ “ฟิลาเดเฟีย” ใน จ.อุบลราชธานีก็ถูกทางทหารจับตามองเช่นกัน เนื่องจากจุดยืนและการจัดกิจกรรมของร้านในอดีต
 
2 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าประกาศยกเลิก “รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ปีที่ 13 ระบุเหตุผลว่า เพื่อความเหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จึงขอยกเลิกการประกวดดังกล่าว โดยรางวัลพานแว่นฟ้าเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานเขียนวรรณกรรมการเมือง ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย
 
สำหรับงานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นงานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกหลังมีการรัฐประหาร ก็พบการพยายามปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ทหาร โดย บ.ก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เล่าว่า มีทหารขอเข้ามาตรวจค้นบูทของสำนักพิมพ์ตั้งแต่คืนก่อนเปิดงานโดยอ้างว่ามีหนังสือหมิ่นฯ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ติดต่อสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เพื่อขอบันทึกภาพวีดีโอและสังเกตการณ์ในงานพบปะสนทนากับนักเขียนที่จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แต่ทางสมาคมฯ ยืนยันสิทธิในการจัดจำหน่ายหนังสือ และปฏิเสธคำขอร้องของเจ้าหน้าที่ทหาร
 
12 พฤศจิกายน 2557 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าหนังสือ “A Kingdom in Crisis” เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (6) : เมื่ออำนาจเต็มมือ จึงมีการละเมิดหลายรูปแบบ
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินตามนโยบายการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรักษาภาพลักษณ์การคืนความสุขของ คสช. ไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด จึงปรากฏเป็นการใช้อำนาจเข้าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และที่ไม่แน่ชัดว่ามีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่ เช่น
 
การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจในท้องถิ่นตรวจสอบและปลดป้ายการแขวนป้ายประกาศที่แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร การทำงานของรัฐบาล และคสช. เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งเช่น ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี หรือกรณีการแขวนป้ายแสดงข้อความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ คสช. ในยะลา โดยมีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 1 คน 
 
การถ่ายบัตรประชาชนของผู้ชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน และตั้งรางวัลนำจับโดยให้ประชาชนบันทึกภาพผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้าน คสช. ไว้เป็นหลักฐาน หากภาพดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมได้จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 500 บาท เช่น กรณีที่ประชาชนมาชุมนุมที่บริเวณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรณีการรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ซึ่งในงานนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าพื้นที่ทำกิจกรรมและห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมปล่อยลูกโป่งโดยให้เหตุผลว่า เกรงว่าลูกโป่งจะลอยเข้าเขตพระราชฐาน
 
เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย มาสังเกตการณ์และถ่ายรูปผู้มาร่วมทำบุญทุกคนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน
 
เหตุการณ์ที่น่าจดจำคือ เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าตักเตือนพร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบอาชีพเช่น กรณีพ่อค้าขายปลาหมึกทอด ริมถนนทิพเนตร จ.เชียงใหม่ซึ่งสวมเสื้อสีแดงสกรีนภาพใบหน้านายจตุพร พรหมพันธ์ เจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย ขอให้พ่อค้ารายดังกล่าวถอดเสื้อออกโดยไม่มีเสื้อให้เปลี่ยนและยึดเสื้อแดงไปทันที คล้ายกันกับกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ารื้อเต็นท์และยึดสินค้าจากร้านขายผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีชื่อ “@ PAI” ที่มีเจ้าของเป็นแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่และทำโลโก้เป็นรูปการ์ตูนคนหน้าเหลี่ยม คล้ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ ยังมีกรณีของร้านอาหาร “สุดสะแนน” ซึ่งทหารราวหนึ่งร้อยนายพร้อมอาวุธบุกเข้าไปในร้านขณะเปิดทำการเนื่องจากมีรายงานว่าจะมีการจัดงานวันเกิดหม่อมเต่านาแต่ก็ไม่พบการจัดงานดังกล่าวแต่อย่างใด
 
 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก

 

ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: