1133 1459 1515 1501 1176 1739 1183 1724 1549 1805 1440 1528 1150 1692 1949 1333 1629 1770 1207 1422 1510 1670 1640 1252 1214 1545 1223 1021 1536 1235 1279 1567 1360 1052 1607 1951 1636 1811 1014 1464 1120 1882 1081 1717 1615 1102 1519 1803 1005 1446 1330 1731 1016 1241 1604 1258 1715 1067 1042 1413 1736 1553 1185 1133 1211 1804 1975 1508 1075 1021 1455 1404 1420 1966 1255 1121 1895 1245 1029 1270 1958 1783 1608 1924 1039 1363 1225 1664 1237 1108 1007 1483 1904 1982 1107 1173 1325 1997 1247 คดีเสรีภาพปี 2556 : ปีแห่งศาลอุทธรณ์และศาลสูง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดีเสรีภาพปี 2556 : ปีแห่งศาลอุทธรณ์และศาลสูง

เวลาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็วจนใกล้จะหมดปี 2556 แล้ว หากย้อนมองดูสถานการณ์ด้านเสรีภาพนับตั้งแต่มกราคมจนถึงตุลาคม แม้ยังไม่ครบปีแต่ก็พอเห็นได้ว่าปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์เสรีภาพมีความแปรปรวนอย่างมาก นักโทษจากคดีเสรีภาพจำนวนหนึ่งได้รับเสรีภาพทางกาย คือได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังในเรือนจำ ทั้งโดยสู้คดีชนะในศาลชั้นต้นและได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการละเมิดกรณีใหม่ๆ เกิดขึ้น คดีทางการเมืองหลายคดีที่น่าจะจบ เพราะตำรวจสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว แต่สำนักงานอัยการมักมีคำสั่งให้ทบทวนคดี หรืออุทธรณ์คดีต่อ และเมื่อถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ก็มีคำพิพากษากลับ ให้ลงโทษใน “ทุก” คดี 
 
การปิดกั้นเว็บไซต์ การแบนสื่อ การเรียกสื่อไปตักเตือน การตั้งกรรมการตรวจสอบสื่อหลังเสนอประเด็นกระทบความมั่นคง และการฟ้องสื่อ เป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ แก้ในระดับกฎหมายและนโยบายเลยในรอบปีที่ผ่านมา
 
รายงานชิ้นนี้ รวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในปี 2556 (นับตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานเสรีภาพประจำปีฉบับสมบูรณ์ที่จะเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2014 
 
66
 
การบล็อคและแบนสื่อ
การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในประเทศไทย ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของกระทรวงไอซีที นับแต่มกราคมถึงตุลาคม 2556กระทรวงไอซีทีมีคำร้องให้ศาลอนุญาตให้ปิดกั้นเว็บไซต์ทั้งสิ้น 48 ฉบับ ส่งผลให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนทั้งสิ้น 4,587 ยูอาร์แอล โดยยูอาร์แอลร้อยละ 88 เป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ
 
ลักษณะการปิดกั้นเว็บไซต์ในปี 2556 แตกต่างจากปีก่อนหน้า ตรงที่จำนวนเว็บไซต์ที่ขอปิดกั้นในคำร้องแต่ละฉบับมีจำนวนน้อยลง คือเป็นจำนวนหลักสิบหรือสูงสุดที่คำร้องละ 600 URLs ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงหากเทียบกับคำร้องใน 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่คำร้องหนึ่งๆ มีผลให้ปิดกั้นได้คราวละหลายพันยูอาร์แอล อย่างไรก็ดี คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ปิดกั้นเว็บไซต์ได้มีลักษณะแตกต่างจากปีก่อนหน้า ตรงที่ระบุไว้ด้วยว่า หากภายหลังมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ/หรือข้อความในลักษณะเดียวกันซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกไม่ว่าจะในยูอาร์แอลอื่นก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องใหม่
 
สถานการณ์เสรีภาพของสื่อโทรทัศน์ก็น่าจับตามอง เพราะเป็นปีทีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาแสดงแสนยานุภาพหลายอย่าง สถานการณ์วงการทีวีในปีนี้ มีทั้งกรณีที่เจ้าของสถานีสั่ง "ห้ามออกอากาศ" ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเด็ดขาด หรือชะลอการออกอากาศ รวมทั้งการใช้อำนาจของกสทช.สั่งปรับรายการโทรทัศน์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 371 ซึ่งกำหนดขอบเขตเนื้อหาของรายการที่ห้ามออกอากาศ
 
เริ่มตั้งแต่ต้นปี ละคร “เหนือเมฆ 2” ว่ากันว่าเนื้อหาพาดพิงถึงนักการเมืองถูกระงับออกอากาศสามตอนสุดท้ายแบบสายฟ้าแล่บ โดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สั่งระงับเอง ต่อมาในเดือนมีนาคม รายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5” ถูกผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอสสั่งระงับออกอากาศหลังมีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจเนื้อหาของตอนก่อนหน้าที่มีการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่ต่อมาก็นำมาออกอากาศภายหลัง คล้ายกับกรณีรายการ “ฅนค้นฅน ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง” ซึ่งถูกระงับโดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ด้วยเหตุผลว่า รายการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และภายหลังได้ออกอากาศ
 
นอกจากการตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. (หน่วยงานย่อยใน กสทช.) กรณีแรกคือ การสั่งปรับรายการ “ปากโป้ง” ที่ออกอากาศทางช่องของบริษัทอาร์เอสเป็นเงิน 500,000 บาท จากการออกอากาศเทปสัมภาษณ์เด็กออทิสติกที่ถูกครูข่มขืน โดยกสท.เห็นว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม กรณีที่สอง คือ การออกแถลงการณ์ว่าการ์ตูนเรื่อง “ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ภาค 2” ที่ออกอากาศทางช่องแก๊งการ์ตูน มีฉากไม่เหมาะสม ซึ่งกำลังพิจารณาบทลงโทษต่อไป และกรณีที่สาม คือ การเรียกผู้สร้างละครเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ซีรียส์วัยรุ่นชื่อดังทางช่องวันแชนแนลเข้าไปพูดคุยแต่ยังไม่มีคำสั่งอะไรออกมา
 
ด้านวงการภาพยนตร์ไทยมีความครึกครื้น จากเดิมที่ไม่ค่อยพบหนังไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ในปี 2556 มีภาพยนตร์การเมืองออกมาถึงสองเรื่อง และทั้งสองเรื่องก็มีปัญหาต้องเผชิญกับคณะกรรมการภาพยนตร์เช่นกัน เมื่อเดือนเมษายน ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ได้รับคำสั่ง "ห้ามฉาย" ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะกลับคำสั่งในอีกสองวันถัดมาเปลี่ยนให้เป็นเรต “18+” ในเวลาไล่เลี่ยกัน ภาพยนตร์สารคดี "ประชาธิปไทย" ซึ่งกำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ก็ถูกสั่งให้ดูดเสียงออกทั้งหมด 5 จุดที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนจะได้รับเรต “ทั่วไป” 
 
คดีมาตรา 112 ในปีแห่งศาลอุทธรณ์และศาลสูง
ภาพรวมคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากมองย้อนจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองระยะหลัง จะพบว่าช่วงปี 2552-2553 เป็นระยะเวลาที่มีประชาชนถูกฟ้องมาตรา 112 จำนวนมาก หรือเป็นระยะเริ่มต้นของคดี ปี 2554-2555 เป็นปีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาในหลายคดี และปัจจุบัน ปี 2556 ก็ถึงเวลาของศาลอุทธรณ์และศาลสูง 
 
แม้ดูเหมือนบรรยากาศจะคลี่คลายเพราะมีนักโทษทางความคิด 3 ราย ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (วันชัยธันย์ฐวุฒิ-นปช.ยูเอสเอ และ สุรชัย แซ่ด่าน) แต่ความน่ากังวลของคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ ยังมีคดีใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนบรรดาคดีที่พนักงานสืบสวนสอบสวนสั่งไม่ฟ้องแล้วนั้น สำนักงานอัยการก็ยังมีคำสั่งให้ทบทวนข้อมูลเพิ่มเติม หรือคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินแล้วนั้น สำนักงานอัยการจะอุทธรณ์คดี โดยช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยใน “ทุก” คดี
 
การจับกุมผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่ กรณีนายกิตติธน ผู้เล่นเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ตฟรีดอม ถูกกำลังตำรวจเกือบ 20 คันรถบุกเข้าจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่คดีเก่าๆ ที่ค้างอยู่ในชั้นตำรวจหลายปีแล้วก็เหมือนถูกลมอะไรพัดให้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เช่น คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ที่ถูกจับตั้งแต่ปี 2549 สำนักงานอัยการก็เพิ่งสั่งฟ้องในเดือนสิงหาคม คดีก้านธูป นักเรียนที่มีชื่อเสียงในเว็บบอร์ดการเมืองซึ่งเคยถูกแจ้งข้อหาเมื่อปี 2553 แม้พนักงานสืบสวนสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีแล้วแต่สำนักงานอัยการก็สั่งให้ทบทวนโดยให้พนักงานสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม คดีของนายสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปราศรัยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2554 ทางดีเอสไอก็เพิ่งมาแจ้งข้อกล่าวหาในเดือน กรกฎาคม 2556
 
สำหรับคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลสูง ผลออกมาพบว่า มีทั้งกรณีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นเคยให้ยกฟ้องมาเป็นให้ลงโทษ เช่น คดีสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งปราศรัยในการชุมนุมพันธมิตรฯ (จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ได้ประกันตัว) และคดีนพวรรณ-เบนโตะ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท (จำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา ได้ประกันตัว) และกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นสั่งให้จำคุกจำเลย ดังกรณีคดีดา ตอร์ปิโด ซึ่งปราศรัยในที่สนามหลวง (จำคุก 15 ปี ไม่รอลงอาญา ไม่ได้ประกันตัว) และคดีอิบราฮิม นักการหุ้นชาวซาอุดิอาระเบีย ที่แพร่ข่าวหุ้นตก (จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ไม่ได้ประกันตัว)
 
ด้านศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 2 คดี คือ คดีเจ๊แดง โคราช หรือ นางสาวปภัสชนัญญ์ ซึ่งเผาโลงศพที่มีป้ายผ้าข้อความบุคคลชั้นสูง (จำคุก 3 ปี) โดยยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีณัชกฤษ หรือที่รู้จักกันในนาม คดีหมิ่นอดีตกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นการจัดรายการวิทยุกล่าวพาดพิงบรรยากาศสังคมในยุครัชกาลที่ 4 (จำคุก 2 ปี รองลงอาญา)
 
กล่าวได้ว่า ดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลสูงถูกพิพากษาลงโทษในทุกคดี การที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาในคดีสนธิ ลิ้มทองกุล และคดีนพวรรณ-เบนโตะนั้น ลากให้สังคมกลับเข้าสู่ความหวาดกลัวต่อมาตรา 112 มากขึ้น โดยเฉพาะในคดีสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ศาลวางบรรทัดฐานว่า การนำเอาข้อความที่ผิดมาเผยแพร่ซ้ำไม่ว่าด้วยเจตนาใด เมื่อทำให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น ก็เป็นความผิด
 
สำหรับคดีสำคัญที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในปีนี้ เช่น คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข (จำคุก 10 ปี ไม่ได้ประกันตัว) คดีเอกชัย-คนขายซีดี (จำคุก3 ปี ไม่ได้ประกันตัว) ปัจจุบันจำเลยอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และยังมีคดีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง คือ คดียุทธภูมิ-พี่ฟ้องน้อง ทั้งนี้ สำนักงานอัยการก็จะยื่นอุทธรณ์ด้วย
 
คดีหมิ่นประมาท อาวุธเพื่อการปิดปากการตรวจสอบ
การฟ้องหมิ่นประมาทที่ส่งผลต่อการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน พบเห็นได้หลายกรณี ผู้ถูกฟ้องมีตั้งแต่ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และประชาชน ทั้งนี้ ผู้ฟ้องทั้งหมดล้วนเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม ไม่ว่าจะจากฝ่ายรัฐหรือเอกชน ซึ่งข้อหาส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 
 
กลไกตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ขณะเดียวกันก็ท้าทายความกล้าหาญของสื่อที่มุ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา การฟ้องคดีในช่วงปีที่ผ่านมายิ่งตอกย้ำความเสี่ยงของสื่อมวลชนและนักวิชาการที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม ทำให้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นต้นในการตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนถูกคุกคาม
 
น่าสนใจว่า หน่วยงานและองค์กรที่ฟ้องสื่อล้วนเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม อย่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. (หน่วยงานย่อยใน กสทช.) ที่ฟ้องดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ThaiPBS” ซึ่งออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส กรณีที่ดร.เดือนเด่นวิพากษ์วิจารณ์ “ร่างประกาศซิมดับ” ของกทค. ออกรายการที่นี่ThaiPBS สร้างความตื่นตระหนกในวงการวิชาการและสื่อมวลชนอย่างมาก 
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้องสื่อออนไลน์อย่างไทยพับลิกา เว็บไซต์ที่เน้นการทำข่าวเชิงลึก หลังจากที่ไทยพับลิก้าทำสกู๊ปขนาดยาวติดตามความไม่โปร่งใสทางการเงินของสหกรณ์ โดยเว็บไซต์ไทยพับลิก้ามีกองบรรณาธิการขนาดเล็กเพียง 5 คนเท่านั้น แต่คดีนี้ฟ้องกองบรรณาธิการถึง 4 คน และมีคดีที่บริษัทเนเชอรัลฟรุต ฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ ที่เขียนวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของโรงงานสับปะรดกระป๋อง และเผยแพร่งานวิจัยนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้งสองคดีที่กล่าวมา ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
อีกคดีที่ต้องจับตา คือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานและหมิ่นประมาทผู้พิพากษา หลังแกนนำกลุ่มกวป.จัดชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายนและปราศรัยโจมตีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากถูกแจ้งความดำเนินคดี แกนนำกวป.ตอบโต้โดยการแจ้งความกลับ ต่อมาทั้งสองฝ่ายแจ้งความตอบโต้กันหลายคดี
 
มีข้อสังเกตว่าช่วงปีนี้ การแสดงความเห็น ความเชื่อ และข่าวลือ ลงบนพื้นที่เฟซบุค ก็นำไปสู่คดีความจำนวนมาก และเช่นเคยที่ลักษณะการฟ้องคดีล้วนมาจากบุคคลผู้มีอำนาจหรือเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีฟ้องคดีข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนชื่อดังจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังเขียนข้อความวิจารณ์นายกรัฐมนตรี  บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด (ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร) ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้ดำเนินรายการ ฅนค้นฅน หลังโพสต์เรื่องข้าวเน่า (ต่อมาถอนฟ้อง)  และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ออกหมายเรียกนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังเขียนสเตตัสเกี่ยวกับกระแสการรัฐประหารว่าอาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และความผิดอันทำให้เกิดความปั่นป่วนภายในราชอาณาจักร
 
คดีการชุมนุม
การเมืองบนท้องถนนยังเป็นพื้นที่สื่อสารที่สำคัญของประชาชน และรัฐธรรมนูญก็ให้การคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองดังกล่าวก็ไม่สามารถป้องกันการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 
 
สำหรับคดีการชุมนุมที่น่าสนใจที่มีคำพิพากษาในปี 2556 ได้แก่ คดีปีนสภาสนช. ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2550 ผู้ชุมนุมคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนปีนเข้าไปในอาคารรัฐสภาส่งผลให้มีผู้ชุมนุมสิบคนถูกดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นแกนนำให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน และจำคุกจำเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นผู้เข้าร่วม 8 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปัจจุบัน จำเลยอยู่ระหว่าอุทธรณ์คดี
 
คดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ ซึ่งมาชุมนุมขอความเป็นธรรมหลังถูกเลิกจ้างที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้ารัฐสภาในปี 2552 ผู้ชุมนุมสามคนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยชี้ว่า แม้การชุมนุมจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่การชุมนุมครั้งนี้ก็เป็นไปโดยสงบและไม่เกินกว่าเหตุ ปัจจุบัน พนักงานอัยการอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี
 
คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถูกดำเนินคดีหลังจัดการชุมนุมใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ในเดือนพฤษภาคม 2553 ระหว่างที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายสมบัติเป็นเวลา 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
 
สำหรับความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในคดีการชุมนุมที่เกิดขึ้นรอบปีทีผ่านมา มีกรณีที่อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปี 2551
 
โดยรวมจะเห็นว่า แม้เสรีภาพในการชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแต่การใช้เสรีภาพในชุมนุมก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น ถูกจำกัดในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง หรือจำกัดด้วยข้อกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายการจราจร หรือกฎหมายควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง ทำให้หลายครั้งผู้ชุมนุมต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพด้วยการถูกจองจำ
 
กฎหมายและนโยบายใหม่ๆ ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา
ต้นปี 2556 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายที่อาจกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพออกมาหลายอย่าง โดยมีทั้งร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา และการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมการชุมนุมหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเข้าไปสอดส่องประชาชนในโลกออนไลน์ด้วย 
 
เริ่มต้นปีมาด้วยข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการกำหนดความผิดและโทษฐานการทำซ้ำด้วยการบันทึกภาพ หรือเสียง หรือภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ต่อมาในเดือนเมษายน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้เผยแพร่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับสพธอ.กำหนดให้การทำสำเนาข้อมูลเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ในข้อกฎหมายนี้ว่า ในทุกๆ ครั้งที่เปิดดูข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบก็ทำสำเนาโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่การใช้อินเทอร์เน็ตจะไม่มีการทำสำเนาข้อมูลเลย นอกจากนี้ก็มีการบัญญัติความผิดเรื่องการครอบครองภาพโป๊เด็ก ที่ระบุว่าการครอบครองภาพโป๊เด็ก แม้ไม่ได้เผยแพร่ก็มีความผิดแล้ว และมีการกำหนดเพิ่มระยะเวลาในการเก็บล็อกไฟล์ของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้ให้บริการอย่างมาก
 
ไม่กี่เดือนต่อมา เดือนกรกฏาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ก็เปิดเผยร่างประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หลังจากเปิดเผยออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลักเกณฑ์ในร่างประกาศฉบับนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่ออย่างมาก เนื่องจากมีการขยายขอบเขตเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศให้กว้างขวางออกไปนอกเหนือจากตัวบทมาตรา 37  ทั้งอำนาจของกสทช.ในการออกประกาศนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าชอบธรรมหรือไม่
 
ต่อมาเดือนสิงหาคม ประเด็นร้อนแรงที่ต้องจับตา คือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งในปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอแล้วและมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยการพิจารณาเรื่องนี้เกิดขึ้นบนความเห็นต่างของหลายฝ่าย ทั้งประเด็นที่ว่าจะให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลกลุ่มใดบ้าง โดยจุดร่วมที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันคือ นิรโทษกรรมให้ประชาชนทั่วไป แต่จุดต่างที่ถกเถียงอย่างมาก คือ จะนิยามนักโทษทางการเมืองให้รวมถึงนักโทษคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นนักโทษทางความคิดด้วยหรือไม่ จะนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีบทบาทสั่งการและปฏิบัติงานในเหตุการณ์ปี 2553 หรือไม่ และจะนิรโทษกรรมให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ บนข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ยังมีข้อโต้เถียงในการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในหลักการการแสวงหาความยุติธรรม กับฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลช่วยเหลือนักโทษการเมืองโดยเร็ว
 
ล่าสุด ต้นเดือนตุลาคม กระทรวงวัฒนธรรมก็คลอด ร่างพ.ร.บ.มรดกวัฒธรรมจับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการและเห็นชอบส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป  โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า การนำวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปดัดแปลงในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จากข้อกำหนดนี้เองทำให้เกิดกระแสต่อต้านร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากคนทั่วไปเข้าใจว่าวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะไม่สามารถดัดแปลงได้เลย แต่ก็ต้องจับตาต่อไป เพราะลักษณะที่ข้อกฎหมายนี้ห้ามต่างก็เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าต้องเป็นแบบใด
 
นอกจากร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแล้ว ก็มีการประกาศใช้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยปีนี้มีการประกาศใช้ถึงสองครั้งภายในระยะเวลาไม่ห่างกัน คือช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เนื่องจากมีการชุมนุมหลายกลุ่มด้วยกัน ในเดือนสิงหาคม มีการประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร และป้อมปราบฯ เนื่องจากมีการชุมนุมของประชาชนหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมสภาในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ต่อมาในเดือนตุลาคม มีการประกาศใช้ใน 3 เขตเช่นเดิม เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่ทำเนียบรัฐบาล  โดยผลจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี สามารถจัดการกับฝูงชนได้อย่างทันท่วงที สามารถสั่งให้ปิดการจราจร หรือสั่งไม่ให้เข้าออกในพื้นที่ที่ประกาศได้ ซึ่งอาจเสี่ยงเกิดความรุนแรงต่อประชาชนที่มาชุมนุม
 
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายหรือนโยบาย แต่ก็เป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจ เมื่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท. ออกมาให้ข่าวว่า ปอท.กำลังขอความร่วมมือจากบริษัท Naver Japan ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น Line ซึ่งเป็นโปรแกรมแชทชื่อดัง เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการสนทนาผ่านแอพ Line รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้รายนั้นๆ ที่ถูกสงสัยว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หลังจากปอท.ออกมาให้ข่าวไม่นาน ก็มีกระแสต่อต้านมากมาย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวอย่างมาก  ภายหลังบริษัท Naver Japan ก็ออกแถลงการณ์ว่า ยังไม่ได้รับคำขอจากปอท.อย่างเป็นทางการ และยืนยันว่าบริษัทมีนโยบายรักษาข้อมูลผู้ใช้อย่างเป็นมาตรฐานสากล
 
ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา
คดีสำคัญที่สามารถใช้ชี้วัดมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมไทยและวัดระดับเสรีภาพ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2556 นี้ มีหลายคดีด้วยกัน ได้แก่ 
 
คดีผู้ชุมนุมปิดถนนที่อ.หนองแซง จ.สระบุรีเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าและบ่อขยะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี จำเลยสู้คดีต่อในชั้นฎีกา โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาปลายเดือนตุลาคม 
 
สำหรับหมิ่นประมาทนั้น มีคดี กทค. (หน่วยงานย่อยของกสทช.) ฟ้องดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสนั้น ก็มีกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 และคดีที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้องกองบรรณาธิการเว็บไซต์ไทยพับลิก้า มีกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งทั้งสองคดีมีเหตุให้ต้องลุ้นว่า ศาลจะรับฟ้องว่ามีมูลในคดีหมิ่นประมาทหรือไม่ และโจทก์ผู้ฟ้องจะตัดสินใจถอนฟ้องหรือไม่
 
ด้านคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ยังมีประเด็นต้องจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ คดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานะตัวกลางเว็บไซต์ที่ปล่อยให้มีข้อความกระทบต่อความมั่นคง คดีนี้จำเลยถูกฟ้องจากการลบความเห็นทั้งสิ้น 10 ความเห็นในเว็บบอร์ดไม่เร็วพอ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดใน 9 กรรมเพราะข้อความเหล่านั้นถูกลบภายใน 1-11 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่รับฟังได้ แต่ลงโทษฐานที่ลบกระทู้หนึ่งช้าเกินไปโดยปล่อยทิ้งไว้นาน 20 วัน  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 8 เดือนและให้รอลงอาญา ทั้งอัยการและจำเลยอุทธรณ์คดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556
 
คดีนายกิตติธน หรือ เคนจิ ซึ่งแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ตฟรีดอมจนถูกดำเนินคดีนั้น น่าจับตาว่าเป็นคดีใหม่อีกคดีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและถูกจับกุมตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการกระทำใด ทั้งนี้ อัยการมีกำหนดต้องสั่งฟ้องภายในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือให้สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี
 
คดีบัณฑิต อาณียา ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เขาแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในงานสัมมนาวิชาการ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้มีความผิด 2 กระทงรวมจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำการโดยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตัวเองได้ ไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลฎีกามีกำหนดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 11 ธันวาคมนี้
 
 
  
ประเภทรายงาน: