1235 1040 1551 1911 1073 1073 1700 1134 1655 1923 1346 1416 1009 1233 1612 1113 1276 1538 1125 1605 1355 1764 1649 1097 1343 1073 1951 1760 1938 1247 1464 1397 1513 1568 1383 1838 1853 1794 1500 1805 1911 1533 1367 1821 1284 1855 1427 1489 1187 1579 1231 1309 1017 1585 1995 1360 1267 1765 1185 1940 1654 1219 1046 1021 1766 1804 1017 1080 1216 1552 1054 1115 1806 1956 1466 1461 1689 1201 1388 1969 1824 1151 1887 1876 1896 1313 1340 1271 1309 1137 1120 1895 1279 1545 1319 1822 1286 1983 1204 มกราคม 2559: ลักพาตัว 'จ่านิว' อุกอาจหน้า มธ., บีบคั้นการชุมนุมต่อเนื่องแม้เรื่องปากท้อง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มกราคม 2559: ลักพาตัว 'จ่านิว' อุกอาจหน้า มธ., บีบคั้นการชุมนุมต่อเนื่องแม้เรื่องปากท้อง

 

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร 
31-มกราคม
2559
ยอดรวมเฉพาะเดือนมกราคม 
2559
คนถูกเรียกรายงานตัว 884 55
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
214 2
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 155 3
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 47 -
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
62 4
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนมกราคม 2559
50
 


ความเคลื่อนไหวคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ในเดือนแรกของปี 2559 คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นถือว่าไม่คึกคักในเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ในเชิงเนื้อหาแล้วนั้น ความคืบหน้าล่าสุดที่เกิดขึ้นในสองคดีของเดือนมกราคม กลับน่ากังวลด้วยกันทั้งคู่
 

คดีฐนกร ศาลทหารยกอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะไม่ยื่นอุทธรณ์ในระหว่างฝากขังผลัดเดียวกับคำสั่งไม่อนุญาตครั้งแรก

15 มกราคม 2559 ฐนกร ถูกนำตัวมาศาลเพื่อฝากขังต่อเป็นผลัดที่สี่ ในวันนี้ศาลทหารกลางยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลทหารกรุงเทพ โดยให้เหตุผลว่าศาลทหารฯ สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฝากขังผลัดแรก แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่สามแล้วจึงไม่ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์นี้ซึ่งได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559

แนวการให้เหตุผลนี้ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาการขอประกันตัว เพราะก่อนหน้านี้ คดีทางการเมืองที่ขึ้นศาลทหารส่วนใหญ่มาจากการกระทำในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ กระทั่งในคดีฐนกร จำเลยมีโอกาสยื่นคำอุทธรณ์นี้ต่อศาลทหารชั้นสูงเป็นกรณีแรกในฐานะพลเรือน แนวปฏิบัตินี้แตกต่างไปจากศาลพลเรือนที่จำเลยมีสิทธิขอประกันตัวหรืออุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้ประกันตัวได้ตลอดตราบที่ยังถูกคุมขังอยู่

ฐนกร ถูกจับเมื่อ 8 ธันวาคม 2558 และถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการกดไลค์รูปที่มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และการโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และข้อหามาตรา 116 จากการโพสต์ภาพแผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เขาถูกฝากขังต่อศาลทหารผลัดแรกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เขายื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 900,000 บาท และศาลทหารกรุงเทพสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

อ่านรายละเอียดคดีฐนกร ในฐานข้อมูลได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/702

 

ปิยะกับสถิติใหม่! โทษจำคุกสูงสุดของศาลอาญา เชื่อพยานโจทก์โดยไม่มีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์

20 มกราคม 2559 ศาลอาญาตัดสินจำคุกปิยะ 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีนี้โจทก์มีเพียงภาพแคปเจอร์จากโทรศัพท์เป็นเป็นหลักฐาน โดยไม่มีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์อื่นใด ซึ่งตามคำพิพากษาศาลเลือกเชื่อถือปากคำพยานคนหนึ่งที่มาแจ้งความ ก่อนหน้านี้ศาลอาญาเคยเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาจากวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ด้วย เพราะเป็นคดีสำคัญจึงนำเข้าปรึกษากับอธิบดีศาลอาญาก่อน

ปิยะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “พงศธร บันทอน’ ที่มีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ปิยะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก่อนยอมรับต่อศาลว่าเคยสวมสิทธิเข้าใช้ชื่อพงศธรมาก่อน แต่ยืนยันไม่ได้โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหานี้ ซึ่งถูกถ่ายด้วยวิธีแคปเจอร์ (capture) และปรากฏรูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว ทั้งถูกแชร์กันในอินเทอร์เน็ต โดยเป็นภาพย่อยสี่ภาพ ผู้พบเห็นภาพดังกล่าวนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อตำรวจในหลายพื้นที่ เช่น ที่นครปฐมและน่าน ในคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานทางเทคโนโลยีอย่างหมายเลขไอพีแอดเดรส ทั้งไม่สามารถตรวจสอบกับผู้ให้บริการอย่างเฟซบุ๊กได้เพราะมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ การตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ยึดจากจำเลยโดยหน่วยพิสูจน์หลักฐานก็ไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว

การกำหนดโทษจำคุกในคดีของปิยะ 9 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม เป็นสถิติสูงสุดของโทษในคดีมาตรา 112 ที่ตัดสินโดยศาลพลเรือนจากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์ อ่านรายละเอียดคดีปิยะ ในฐานข้อมูลได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/645

 

สถานการณ์คดีของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง

5 นักกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ ประกาศไม่ร่วมกระบวนการยุติธรรมแบบ คสช.

8 มกราคม 2559 นักกิจกรรมแปดคนที่ทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์และถูกออกหมายเรียก เดินทางมาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี โดยห้าคน ได้แก่ สิรวิชญ์, ชนกนันท์, อภิสิทธิ์, ชลธิชา และกรกช ได้ประกาศแสดงจุดยืนไม่ร่วมกระบวนการยุติธรรมภายใต้อำนาจรัฐบาลของ คสช. ยืนยันไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก ส่วนอีกสามคน คือ วิศรุต อานนท์ และกรกนกได้มาที่สถานีตำรวจฯ ในวันเดียวกันเพื่อเข้ารายงานตัว รับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และจะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นในภายหลัง เช่นเดียวกับวิจิตรและกิตธัช สองนักกิจกรรมที่ได้มารายงานตัวไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558

จากนักกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ทั้งหมด 11 คนที่ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจรถไฟบ้านโป่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม และถูกแจ้งข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้ารายงานตัวไปแล้วห้าคน ส่วนอีกห้าคนมาที่สถานีตำรวจฯ แต่ไม่รายงานตัว อีกหนึ่งคน คือ ธเนตร ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย ไม่ปรากฎตัว

 

บุกอุ้ม ‘จ่านิว’ อุกอาจหน้ามธ. พร้อมตามจับรวบครบห้าคน ก่อนศาลทหารปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไข

20 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 22.45 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รายงานว่า มีกลุ่มบุคคลแต่งกายคล้ายทหาร 8 คน เข้าคุมตัวสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือจ่านิว นักศึกษาและกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร จากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งประตูเชียงราก โดยกลุ่มคนดังกล่าวใช้รถยนต์กระบะสองคัน ป้ายทะเบียนถูกถอดออก มีรายงานเบื้องต้นขณะเกิดเหตุจากบีบีซีไทยว่าผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสิรวิชญ์แต่ปลายทางระบุว่าไม่มีสัญญาณตอบรับ  ทั้งไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารในขณะนั้นว่ารถยนต์คันดังกล่าวนำสิรวิชญ์ไปที่ใด

วันต่อมา (21 มกราคม 2559) พ.อ. วินธัย สุวารี โษฆก คสช. แถลงว่า การควบคุมตัวครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ไม่มีความรุนแรง  ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสิรวิชญ์กระทำผิดหลังครั้ง การจับกุมสามารถทำได้หลายรูปแบบ

 

แซม พรชัย นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้

404

11 มกราคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การและฟังคำสั่งศาลเรื่องขออนุญาตออกนอกประเทศในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ซึ่งนัดนี้เป็นนัดของผู้ต้องหาคนเดียว คือ แซม พรชัย ซึ่งถูกกล่าวว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
 

แซมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อัยการโจทก์แถลงขอสืบพยานพร้อมขอรวมคดีกับนัชชชาและธัชพงษ์ ในการนี้พรชัยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงให้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีของทั้งสองเพื่อขอให้สั่งรวมคดี ส่วนที่พรชัยยื่นหนังสือขออนุญาตออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ศาลอนุญาตเพราะเห็นมีเหตุสมควร แต่พรชัยต้องมาตามนัดพิจารณาคดีทุกครั้ง

คดีนี้สืบเรื่องจากกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมร่วมชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในโอกาสครบหนึ่งปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ในเหตุการณ์นี้มีคนถูกจับกุม 38 คน และถูกดำเนินคดีสิบเอ็ดคน ซึ่งผู้ต้องหาอีกแปดคนที่ถูกออกหมายจับยังไม่ถูกจับกุม แต่พรชัย ถูกดำเนินคดีก่อนเนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ หากไม่ไปขออนุญาตก็จะติดหมายจับทำให้เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้

อ่านรายละเอียดคดี ชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ในฐานข้อมูลได้ที่  http://freedom.ilaw.or.th/case/687  

 

ความเคลื่อนไหวกรณีถูกเรียกรายงานตัวและส่งทหารเยี่ยมบ้าน

เจ้าหน้าที่บุกเยี่ยมนักกิจกรรมที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนเดิม

14 มกราคม 2559 สองนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ในต่างพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกเยี่ยมบ้าน เวลา 10.30 น. สายสืบจากสถานีตำรวจภูธรคอนสาร จังหวัดชัยภูมิและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรวม 3 นายไปที่บ้านของพายุ บุญโสภณ ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ โดยมีการขอถ่ายภาพพายุพร้อมครอบครัว และนำตัวพายุไปพบผู้กำกับที่สถานีตำรวจฯ โดยไม่มีหมาย ซึ่งผู้กำกับฯ ได้ขอให้งดเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ภายใต้รัฐบาล คสช. 

จากนั้นเวลา 16.30 น. ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์' หนึ่งในนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่พึ่งถูกออกหมายจับ หลังไม่เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กรณีทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทรงธรรมระบุว่า เจ้าหน้าที่เข้าค้นห้องของสิรวิชญ์และยึดตั๋วรถไฟที่เป็นของสะสมของสิรวิชญ์ไปด้วย โดยขณะทำการตรวจค้น มียายของสิรวิชญ์อยู่บ้านคนเดียว (จาก https://goo.gl/GTVUPn และhttps://goo.gl/u5l8dt)

25 มกราคม 2559 เฟซบุ๊กกลุ่มลูกชาวบ้านรายงานว่า ประมาณ 11.30 น. จักรพล ผลละออ หรือ กันกัน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่สาม มหาวิทยาลัยบูรพา ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไม่ทราบแน่ว่าเป็นตำรวจหรือทหารราว 10 นายมาพบที่บ้านพัก ก่อนถูกคุมตัวขึ้นรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ โดยไม่มีการแสดงหมายเรียก ทางเจ้าหน้าที่แจ้งเพียงว่าจะพาไปพูดคุยที่ตึกบัญชาการค่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 14 ชลบุรี ก่อนถูกปล่อยตัวออกมาในเวลา 16.00 น.ของวันเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ วันที่ 21 มกราคม 2559 กลุ่มลูกชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐต่อสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังจัดกิจกรรมส่องทุจริตราชภักดิ์ด้วย

 

เดินหน้าปรับทัศนคติประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง โดนกันถ้วนหน้าทั้งเกษตรกรและแรงงาน

6 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 02.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทยกว่า 500 คนเดินทางมาใช้พื้นที่กระทรวงแรงงานเป็นที่ชุมนุม หลังล้มเหลวในการเจรจาเรื่องการปิดงานกับนายจ้าง โดยในวันดังกล่าวมีการพูดคุยระหว่างตัวแทนแรงงานกับตัวแทนจากกระทรวงแรงงานในเวลา 10.20 น. ก่อนตัวแทนฝ่ายนายจ้างเดินทางมาร่วมเจรจาในเวลา 16.30 น. เมื่อการเจรจาไม่พบข้อยุติ ราว 19.20 น. กระทรวงฯ จึงแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าหากไม่เลิกชุมนุมจะแจ้งให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ยี่สิบนาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญประธานสหภาพฯ และรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเข้าไปพูดคุยโดยใส่กุญแจมือ มีการประกาศให้สลายการชุมนุมร่วมกับท่าทีข่มขู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าสองกองร้อยและทหารจำนวนหนึ่งที่มาประจำการ แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักต่อเพราะห่วงแกนนำ ในที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแกนนำทั้งสองออกมา แกนนำก็แจ้งกับผู้ชุมนุมให้เดินทางกลับ โดยมีการจัดรถส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาด้วย

 

7 มกราคม 2559 วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบราวสี่ถึงห้านายติดตามขณะเดินทางกลับจากที่ทำงาน ในวันรุ่งขึ้น ยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธานคณะกรรมการชุดเดียวกันก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไม่ทราบสังกัดติดตาม จึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานซึ่งคาดว่าการติดตามนี้เป็นผลจากการเข้าร่วมชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 13 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 20.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบหลายนายเดินทางมาที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เพื่อขอพูดคุยกับวิไลวรรณ แซ่เตียด้วย

403

11 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารเรียกแกนนำชาวสวนยางจากภาคใต้ราว 50 คน เข้าปรับทัศนคติที่ค่ายวิภาวดีรังสิต โดยเป็นการร่วมพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ครั้งนี้มีการเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดยางพาราในปัจจุบัน ด้านพ.อ.สมเกียรติ รัตนเจริญพรชัย รอง ผอ.รมน. ประธานการประชุม ขอร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกโดยไม่ใช้การชุมนุมกดดันรัฐบาล การเรียกปรับทัศนคตินี้น่าจะเป็นผลจากความพยายามในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเกษตรกรจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่สุดในรอบสิบปีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ต่อต้นเดือนมกราคม 2559 ซึ่งราคาซื้อขายยางแผ่นดิบชั้นสามในท้องถิ่นเหลือเพียงกิโลกรัมละ 25 บาทเท่านั้น

 

สถานการณ์เสรีภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน อานดี้ ฮอลล์ ในคดีหมิ่นประมาทบริษัทเนเชอรัลฟรุต แต่ให้ยึดหนังสือเดินทาง

13 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิด้านแรงงานข้ามชาติ เดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพ เพื่อมอบตัวและทำเรื่องประกันตัว ในคดีที่ถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุตฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่รายงานเรื่อง "Cheap Has a High Price" กล่าวหาว่าบริษัทละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในเวลาประมาณ 13.30 น. และสั่งให้ยึดหนังสือเดินทางของจำเลยไว้ด้วย หากจำเลยต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ให้มาติดต่อขออนุญาตศาลเป็นกรณีไป

405

หลังทราบคำสั่งศาล เรื่องการยึดหนังสือเดินทาง อานดี้ ฮอลล์ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่าตนจะประสานกับทางสถานทูตอังกฤษเรื่องการขอหนังสือเดินทางคืน

นอกจากคดีนี้ อานดี้ ฮอลล์ยังถูกฟ้องโดยบริษัทเดียวกันนี้อีก 3 คดี ซึ่งรวมถึงการถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 400 ล้านบาทด้วย

ติดตามรายละเอียดของคดีนี้ในฐานข้อมูลของ iLaw ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/469

 

คดีกองทัพเรือ ฟ้อง สำนักข่าวภูเก็ตหวานสิ้นสุด ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษายกฟ้องและอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์

หลังจากศาลจังหวัดภูเก็ตได้ยกฟ้องคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 และอัยการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาหลายครั้ง จนกระทั่งอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 จึงเป็นผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง โดยศาลฝากบรรทัดฐานการตีความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไว้ว่า เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา

คดีนี้เริ่มต้นจากปี 2556 เมื่อสำนักข่าวภูเก็ตหวานคัดลอกข้อความบางส่วนจากรายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา กองทัพเรือรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยอลัน มอรริสัน และชุติมา สีดาเสถียร ตกเป็นจำเลย

ในการต่อสู้คดี จำเลยอธิบายว่ากองทัพเรือแปลข่าวภาษาอังกฤษผิดไปเพราะคำว่า Naval Forces ที่ปรากฏในข่าวหมายถึงหน่วยงานทางน้ำทั่วๆไปไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกองทัพเรือ เนื้อหาของรายงานนี้ไม่ใช่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไม่ได้มุ่งโจมตีให้กองทัพเรือเสียหาย และมีการนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตั้งข้อหาในทางที่ผิด เพราะกฎหมายนี้ไม่ใช่บังคับกับการหมิ่นประมาท

 

อ่านรายละเอียดย้อนหลังถึง การต่อสู้คดีนี้ ได้ที่ฐานข้อมูลของไอลอว์ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/554

ประเภทรายงาน: