1051 1098 1391 1634 1822 1392 1496 1805 1337 1146 1763 1203 1592 1280 1224 1007 1019 1156 1301 1587 1019 1308 1927 1795 1715 1786 1578 1105 1101 1187 1277 1601 1300 1707 1546 1724 1274 1081 1145 1464 1818 1338 1238 1564 1829 1665 1946 1403 1021 1847 1404 1133 1603 1879 1090 1609 1592 1302 1390 1169 1618 1324 1099 1809 1838 1689 1226 1921 1036 1578 1141 1035 1133 1563 1204 1742 1566 1384 1793 1786 1848 1873 1297 1904 1592 1461 1668 1465 1834 1324 1760 1860 1131 1992 1436 1556 1252 1358 1221 มิถุนายน 2558 1 ปี 1 เดือน รัฐประหาร: กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ "อารยะขัดขืน" เข้าคุก 14 คน ขณะที่ทหารเข้มขึ้นหลายพื้นที่ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มิถุนายน 2558 1 ปี 1 เดือน รัฐประหาร: กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ "อารยะขัดขืน" เข้าคุก 14 คน ขณะที่ทหารเข้มขึ้นหลายพื้นที่

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร - 30 มิถุนายน 2558 ยอดรวมเฉพาะเดือนมิถุนายน 2558

คนถูกเรียกรายงานตัว

772 33
คนถูกจับกุมคุมขัง 475 21
คนถูกจับกุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ 209 14
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 143 18
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 46 -
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) 51 2
 

ความเคลื่อนไหวคดีชุมนุมภายใต้การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เดือนมิถุนายน มีความเคลื่อนไหวคดีชุมนุมอย่างน้อย 3 คดี ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกฯ และมีคดีเกิดขึ้นใหม่อย่างน้อย 4 คดี ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 
 

4 มิถุนายน อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งมีจำเลยคือ อานนท์ พันธ์ศักดิ์ สิรวิชญ์ และวรรณเกียรติ ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แต่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 4 คน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 10,000 บาท 

19 มิถุนายน อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องคดีพลเมืองรุกเดิน ซึ่งมีจำเลยคือ พันธ์ศักดิ์ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุ และมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,000 บาท 

ทั้ง 2 คดี เป็นเหตุมาจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายก่อนมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 
 
293 จำเลย 4 คนจากคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก (จากซ้ายไปขวา): วรรณเกียรติ อานนท์ สิรวิชญ์ พันธ์ศักดิ์
 
10 มิถุนายน ศาลแขวงปทุมวันนัดตรวจพยานหลักฐานคดีของอภิชาต ผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เป็นรายแรก จากการชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 โดยศาลนัดสืบพยานนัดแรกวันที่ 11 กันยายน 2558
 
เมื่อทางการตามจับกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรม หลังการชุมนุมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร  
ภายหลังการชุมนุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมนักศึกษาในกรุงเทพฯ 38 คน และที่ขอนแก่น 13 คน และตั้งข้อหากับกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ จำนวน 9 คน และนักศึกษากลุ่ม “ดาวดิน” ที่ชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น จำนวน 7 คน 
 

8 มิถุนายน พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน นัดกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ 9 ราย ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้ารายงานตัว เช่นเดียวกับที่ขอนแก่น พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น นัด 7 นักศึกษากลุ่มดาวดินที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้ารายงานตัว 

นักศึกษาทั้ง 2 ไม่ไปรายงานตัว เนื่องจากเห็นว่าการถูกจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่กลุ่มดาวดินจัดกิจกรรมรวมตัวที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นอีกครั้ง ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านในภาคอีสานหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และประกาศเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่”

ดูรายละเอียดเหตุการณ์นี้ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/NDM8June2015
 
294 การชุมนุมของชาวบ้านและนักศึกษากลุ่มดาวดินที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น
 

19 มิถุนายน เป็นวันสุดท้ายของการผ่อนผันให้นักศึกษาทั้งที่กรุงเทพและขอนแก่นเข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจตามท้องที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งหากไม่มารายงานตัว ทางตำรวจมีอำนาจขอศาลออกหมายจับได้ทันที อย่างไรก็ดี นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มยืนยันไม่เข้ารายงานตัวกับทางตำรวจ 

22 มิถุนายน ธัชพงศ์ หรือชาติชาย หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ เข้ารายงานตัวที่สน.ปทุมวัน จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งตัวฝากขังต่อศาลทหารในเวลา 13.30น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินประกัน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมืองและห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 

24 มิถุนายน นักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ 7 ราย พร้อมกลุ่มผู้สนับสนุน เดินทางไปสน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความเจ้าหน้าที่ฐานทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุม ขณะที่นักศึกษาดาวดิน 7 คน เดินทางมาให้กำลังใจด้วย โดยการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวใช้วิธีการส่งตัวแทนนักศึกษาที่ไม่มีหมายจับเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ โดยกิจกรรมทั้งหมดเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 21.40 น. และไม่มีการจับกุม แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมกลับไปจนถึงที่พักและเฝ้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
 
295 นักศึกษากลุ่มดาวดินเดินทางมาให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาที่กรุงเทพ
 

ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ควบคุมตัวนัชชชา ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวิภาวดีมาที่ศาลทหารกรุงเทพ ในเวลาประมาณ 13.00 น. เพื่อขอฝากขัง ทั้งนี้ นัชชชาได้ยื่นเรื่องคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าตนกำลังไม่สบาย อยู่ระหว่างการศึกษา และเป็น transgender แต่ศาลให้เหตุผลว่า จำเลยเลยมีท่าทีปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ และมีมวลชน จึงอนุญาตให้ฝากขัง อย่างไรก็ดี ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 10,000 บาท นัชชชาถูกส่งไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (เรือนจำชาย) และถูกปล่อยตัวในช่วงค่ำ 

25 มิถุนายน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ทั้งกลุ่มดาวดิน จากจังหวัดขอนแก่น และกลุ่มหน้าหอศิลป์ฯ ที่กรุงเทพฯ เดินทางจากที่พักที่สวนเงินมีมา มายังบริเวณลานประติมากรรม 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สู่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปิดท้ายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการชุมนุมสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 19.00 น. โดยไม่การจับกุมตัวนักศึกษาทั้ง 14 รายแต่อย่างใด  ขณะที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมกลับไปจนถึงที่พักเช่นเคย
 
การจับกุมตามอำเภอใจ การใช้ศาลทหารยามวิกาล และการดำเนินคดีนักศึกษาข้อหาชุมนุมและปลุกปั่นยั่วยุ

26 มิถุนายน เวลาประมาณ 17.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร กว่า 50 คน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เดินทางไปยังสวนเงินมีมา พร้อมหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เพื่อเข้าจับกุมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 ราย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุ โดยทั้งหมดยอมให้ถูกจับโดยไม่มีการต่อสู้ขัดขืนและถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พระราชวัง

เวลา 21.35 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพานักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ไปศาลทหารเตรียมฝากขัง โดยศาลทหารเริ่มไต่สวนการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ในเวลา 22.52 น. ทั้งหมดยื่นคัดค้านการฝากขัง อ้างเหตุไม่มีเหตุจำเป็นต้องฝากขังเพราะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ยืนยันว่ากฎหมายที่ใช้ตั้งข้อหานั้นไม่ชอบธรรม การจับกุมครั้งนี้ไม่มีการแจ้งสิทธิและทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน โดยศาลห้ามไม่ให้ผู้อื่นนอกจากทนายความเข้าภายในห้องพิจารณา

เวลา 00.15 น. ศาลทหารได้อนุญาตฝากขัง ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นเวลา 12 วัน โดยผู้ชาย 13 คนจะถูกไปตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและผู้หญิง 1 คนจะถูกพาไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ไม่ขอยื่นประกันตัวแต่อย่างใด 
 
296 14 นักศึกษา-นักกิจกรรม ที่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร (ภาพจาก: http://www.citizenthaipbs.net/node/5700)
 
ในช่วงดึก เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นรถยนต์ของทนายความที่จอดอยู่หน้าศาลทหาร โดยสงสัยว่ามีหลักฐานที่เป็นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา ทั้งนี้ ทนายความยืนกรานไม่ให้ค้น เนื่องจากไม่มีหมายค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะใช้วิธียกรถไปยัง สน.ชนะสงคราม แต่ไม่สามารถยกรถไปได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านเทคนิค จึงล็อกล้อและซีลปิดที่จับประตูรถยนต์ทุกด้าน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้ารถอยู่ที่ศาลทหารแทน เพื่อรอหมายค้น การตรวจค้นรถจึงมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น
 
29 มิถุนายน อัยการศาลทหารสั่งฟ้องนัชชชาและธัชพงษ์ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากเหตุการณ์การชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยศาลอนุญาตให้ทั้งคู่ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 10,000 บาท พร้อมวางเงื่อนไขห้ามชุมนุมหรือยุยงปลุกปั่นให้ผู้อื่นร่วมชุมนุมทางการเมือง
 
ศาลทหารเชียงใหม่ยกฟ้องคดีปลุกปั่นยั่วยุกรณีการนำเสนอภาพข่าวการประท้วงต้านรัฐประหาร

9 มิถุนายน ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดีของชัชวาลย์ ในข้อหา ปลุกปั่นยั่วยุ ตามกฎหมายอาญา จากการนำเสนอภาพข่าวการประท้วงต้านรัฐประหารที่จังหวัดลำพูนโดยลงวันที่ผิดวัน ศาลให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

 

ความเคลื่อนไหวคดี 112: มีคดีใหม่เพิ่ม 4 คดี ศาลพิพากษาแล้ว 1 คดี  

เดือนมิถุนายน มีคดี 112 เกิดขึ้นใหม่อย่างน้อย 4 คดี โดยเกิดจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างน้อย 2 คดี ทำให้ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 30 มิถุนายน 2558 มีผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการใช้เสรีภาพการแสดงออกแล้วอย่างน้อย 51 ราย
 

23 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) เจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยความมั่นคง ร่วมกันจับกุม ชญาภา ผู้ต้องหากรณีโพสต์ข่าวลือเรื่องปฏิวัติซ้อนบนเฟซบุ๊ก ที่บ้านพักของเจ้าตัวใน จ.สมุทรปราการ

ภายหลังการสืบสวนพบว่า ชญาภา ได้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ลงบนเฟซบุ๊กด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้พาตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังแล้วเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ขณะนี้ ชญาภาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 

ขณะเดียวกัน ทางตำรวจยังคงตามจับกุมและแจ้งข้อหา 112 กับผู้ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูง โดยในเดือนมิถุนายน มีอย่างน้อย 1 คดี คือกรณีของ มนตรี โสตางกูล อดีตข้าราชการกรมวังผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ทำให้ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการแอบอ้างเบื้องสูงแล้วอย่างน้อย 31 ราย

ดูรายละเอียดผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ที่ >> http://freedom.ilaw.or.th/blog/Royalclaim112
 
พิพากษาจำคุกผู้ป่วยโรคจิตหวาดระแวง 3 ปี 4 เดือน
25 มิถุนายน ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี 112 ของ "ธเนศ" ชายชาวเพชรบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ซึ่งมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไปยังอีเมล์ของชาวอังกฤษ คดีนี้จำเลยมีอาการป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากในชั้นพิจารณาจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
นัดสอบคำให้การ 3 นัด ยังไม่มีรายใดรับสารภาพ

8 มิถุนายน คดีของชาญวิทย์ ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสอบคำให้การ เจ้าตัวให้การปฏิเสธ นัดสืบพยานโจทก์ 15 กันยายน 2558 

9 มิถุนายน คดีของ "สิริรัตน์" ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่นัดสอบให้การ เจ้าตัวให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 กรกฎาคม 2558 

26 มิถุนายน คดีของพงษ์ศักดิ์ จำเลยขอเลื่อนให้การเนื่องจากต้องการปรึกษาคดีกับทนายก่อน ศาลจึงเลื่อนสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2558 

ส่วนคดีของ สมัคร และ บัณฑิต ยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ
 

FCCT อ่วม ถูกทหาร “ขอความร่วมมือ” งดจัดเสวนาเดือนเดียว 3 ครั้ง – ทหารจังหวัดเลยสั่งห้ามจัดค่ายเยาวชน เกรงเกี่ยวข้องดาวดิน

เดือนมิถุนายนมีอย่างน้อย 6 กิจกรรม ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น - แทรกแซง โดยงานเสวนาที่จัดขึ้นที่ FCCT ในเดือนนี้ถูกปิดกั้นมากที่สุดถึง 3 งาน รวมตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมามีกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้ารัฐปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 85 ครั้ง
 
4 มิถุนายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหาร แต่ในเช้าวันงาน ทาง FCCT ถูกเจ้าหน้าที่ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้ใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าว และแจ้งว่าหากทาง FCCT ยืนยันจัดงาน จะปิดไม่ให้ขึ้นตึก ทั้งนี้ โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT ยืนยันว่า หาก คสช. จะสั่งยกเลิกงานดังกล่าวต้องมีหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการ ทางเจ้าหน้าที่จึงออกหนังสือคำสั่งและทางศูนย์ทนายฯ ได้เปลี่ยนจากเวทีสาธารณะเป็นการยืนแถลงข่าวแทน
 
297 เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนแถลงข่าวหน้าลิฟต์
 

17 มิถุนายน งานเสวนาหัวข้อ "Article 112: Its role in Thai society" ซึ่งจัดโดย FCCT มีวิทยากรคือ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์, เดวิด สเตรกฟัสส์, สาธิต เซกัล และ สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ก่อนหน้าวันงานเพียง 2 วัน FCCT ออกแถลงการณ์ระบุว่า มีคำสั่งจาก คสช.ผ่านมาทางตำรวจว่า ขอให้ยกเลิกงานเสวนาดังกล่าว หากไม่ยกเลิกจะนำกำลังมาปิดล้อมอาคารที่ตั้งของ FCCT โดยมีเพียงการบอกเป็นคำพูด เพราะทางคสช.ไม่ยอมออกหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้

26 มิถุนายน งานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "Vietnam: End  Evil Way” Persecution of Montagnard Christians" ซึ่งเป็นการศึกษาการละเมิดสิทธิของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม จัดโดยฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ FCCT ถูก “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้จัดงานเสวนาดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ทั้งนี้ทาง FCCT ได้ขอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการ และเมื่อได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว สุนัย ผาสุข ผู้แทน ฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทย จึงยกเลิกงานดังกล่าว พร้อมแสดงหนังสือคำสั่งเพื่อชี้แจงสื่อมวลชน
 
28 มิถุนายน ทหารจากค่ายศรีสองรัก จังหวัดเลย สั่งห้าม เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดค่ายเยาวชน “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ” เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ไม่ปกติ โดยให้เหตุผลว่ามีการเข้ามาของนักศึกษากลุ่มดาวดิน เกรงว่าจะมีการปลุกปั่นเยาวชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ และยุยงให้ชาวบ้านแตกแยกกัน
 
นอกจากนี้ ยังมีงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นโดยนักศึกษารามฯ และงานประชุมของชาวบ้านในต่างจังหวัดถูกเจ้าหน้าที่รัฐแทรกแซงอีกอย่างน้อย 2 งาน คือ งานประชุมสมัชชาคนจน ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.หนองยายโต๊ะ จ.ลพบุรี และงานของเอ็นจีโอในภาคใต้
 

เจ้าหน้าที่ยังคงเรียกรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง

การเรียกตัวบุคคลไปปรับทัศนคติ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มคนที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ดงมูล กรณี ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และกรณี สกน.ภาคเหนือ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มการเมือง เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถาวร เสนเนียม วัฒนา เมืองสุข ซึ่ง คสช. เข้าพูดคุยที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต

นอกจากการเรียกรายงานตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารยังเปลี่ยนวิธีการหาข้อมูล โดยการเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านพักแบบทั้งโดยนัดหมายและไม่ได้นัดหมาย โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารหลายพื้นที่ได้เข้าพูดคุยกับครอบครัวของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ทั้ง 16 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา และอีกจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะการพูดมีทั้งการเกลี้ยกล่อมผู้ปกครองให้พาลูกมารายงานตัวกับทางตำรวจ ไปจนถึงการขมขู่ โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2558 มีการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 33 คน รวมตั้งแต่หลังการรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน2558 มีบุคคลถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย  772 คน

 
ประเภทรายงาน: