1605 1906 1112 1580 1413 1089 1246 1096 1902 1564 1505 1354 1300 1278 1982 1809 1876 1574 1357 1058 1280 1165 1095 1565 1830 1277 1423 1239 1665 1404 1407 1233 1928 1269 1963 1055 1477 1769 1483 1570 1463 1647 1479 1610 1402 1790 1226 1091 1832 1439 1689 1037 1715 1739 1139 1509 1155 1488 1041 1778 1110 1253 1592 1490 1705 1217 1423 1560 1060 1335 1607 1803 2000 1396 1388 1485 1742 1836 1083 1757 1255 1182 1229 1816 1041 1490 1996 1410 1584 1036 1981 1471 1261 1054 1633 1132 1786 1567 1057 ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์ของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์ของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์

1.
ฉันรู้จักลุงครั้งแรกผ่านตัวหนังสือ "ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์" หนังสือกึ่งชีวประวัติของลุง ความยาว 562 หน้า ตอนนั้นฉันอยากทำหนังสารคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 คิดแค่ว่าอยากทำในแบบที่เล่าเรื่องราวชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่แค่ให้ข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงวิชาการ พี่ที่ไอลอว์เป็นคนแนะนำให้ฉันรู้จักคดีของลุง แล้วให้หนังสือเล่มนั้นมา ฉันตะลุยอ่านด้วยความรู้สึกผสมปนเปกันไปหมด ตอนนั้นฉันรู้แค่ว่าลุงถูกศาลตัดสินว่ามีอาการทางจิต แต่ในหนังสือหากไม่นับส่วนที่มีข้อความซ้ำหลายตอน บางตอนทำให้ฉันเศร้า บางตอนทำให้ฉันหัวเราะ และตอนจบทำให้ฉันร้องไห้
 
หนังสือเผยให้เห็นชีวิตของลุงที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบ แฝงด้วยลีลาการเล่าเรื่องเสียดสีประชดประชันแกมขบขัน และบางตอนก็ทำให้หลุดลอยเข้าไปในจินตนาการเหนือจริงของลุง  ขณะเดียวกันก็เห็นความจริงที่ลุงต่อสู้ดิ้นรน แสวงหาความรู้ ใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย แม้บางครั้งต้องทำชั่วเพื่อเอาชีวิตรอดลุงก็ยอมรับและเปิดเผยออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ
 
ที่น่าสนใจคือมุมมองของลุงที่มีต่อโลก ลุงมองลึกลงไปในใจของผู้คน กระชากหน้ากากภายนอกของพวกเขาออก เปลื้องให้เห็นถึงความจริงภายใน ลุงปฏิเสธสิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติ นั่นคือการไม่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์กับหลายๆสิ่ง ลุงตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมและการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม
ฉันรู้ในทันทีว่าอยากทำสารคดีเกี่ยวกับลุง และไม่สำคัญเลยว่าใครจะตัดสินลุงว่าอย่างไร
 
520

บัณฑิตที่เชียงดาว 
2.
ฉันพบลุงครั้งแรกในศาลทหาร ชายชราผมสีดอกเลาตัดสั้นเรียบแปล้ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงขากระบอกสีดำ และสะพายย่ามสีขาว ย่ามวิเศษที่ล้วงออกมาเมื่อไหร่มักเจอหนังสือยกชุดสี่เล่มของลุงที่ลดจาก 900 บาทเหลือ 200 บาทก็ยังไม่มีใครซื้อ
 
วันนั้นฉันและเพื่อนได้รับหนังสือมาฟรีคนละชุด เราไปนั่งคุยกันต่อที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ลุงตัวจริงก็มีส่วนคล้ายกับหนังสือที่ฉันอ่าน แต่วันนั้นฉันได้เห็นความดื้อดึงบางอย่างในตัวลุง ฉันไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียไปทั้งหมด แต่คิดว่าถ้าลุงไม่ดื้อลุงก็คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ อาจจะไม่โดนข้อหา 112 อาจจะไม่ต้องแยกทางกับครอบครัว แล้วก็อาจจะไม่ได้เขียนหนังสือ และถ้าเป็นแบบนั้นฉันคงรู้สึกเสียดาย
 
ครั้งแรกที่ฉันไปบ้านลุงพร้อมแบกกล้องวิดีโอและขาตั้งกล้องไปอย่างพะรุงพะรัง ลุงลุกจากเก้าอี้ไม้ตัวโปรดข้างชั้นวางของ คะยั้นคะยอให้ฉันดื่มกาแฟที่ลุงชงให้
ห้องของลุงเรียบง่าย โล่งตา ดูสะอาด และไม่มีเตียงนอน แต่มีหนังสือกองโตที่ลุงเขียน เอกสารเกี่ยวกับคดีและเรื่องสั้นที่ลุงแปลบ้างแต่งบ้าง วางอยู่ในกล่องอย่างเรียบร้อย แต่ลุงมักบ่นว่าหาอะไรก็ไม่ค่อยเจอ ที่โต๊ะทำงานมีเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่าแก่แต่ยังใช้การได้ดีวางอยู่ ข้างๆ เป็นดิกชันนารี่อังกฤษ-ไทยเล่มใหญ่ และปึกกระดาษเรื่อง Father and son ของ Ivan Turgenev นักเขียนชาวรัสเซีย ฉันถามว่าทำไมลุงถึงแปลเล่มนี้
 
"มันก็มีส่วนคล้ายชีวิตผมเหมือนกันมั้ง เรื่องนี้พ่อกับลูกก็ขัดแย้งกัน คล้ายๆ เตี่ยกับผม" ลุงเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ทั้งที่ในอดีตความขัดแย้งระหว่างลุงกับพ่อของลุงคงไม่อาจใช้คำบรรยายว่าราบเรียบได้
 
"ผมมาเมืองไทยตอน 6 ขวบ มาพร้อมแม่กับย่า มาอยู่โคราช เตี่ยผมมีเมียน้อยอยู่ที่นี่ ตอนเด็กๆ ผมเห็นเตี่ยตีแม่ผมด้วยด้ามไม้กวาดบ้าง ไม้ขัดหม้อบ้าง บางทีก็รองเท้ายางหนาๆ แม่เลี้ยงก็ใช้ให้แม่ผมทำงานหนัก สุดท้ายแม่ผมโดนคนข่มขืนจนท้อง ถูกเตี่ยส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลโรคจิตแล้วก็ตายในฐานะเป็นคนไข้อนาถา"
 
เมื่อได้คลุกคลีกับลุงนานเข้า ฉันจึงเข้าใจถึงความเจ็บปวดคับแค้นแสนสาหัสของลุงในเรื่องนี้ และเข้าใจได้ว่าทำไมงานเขียน ความคิด และการแสดงออกของลุง จึงมักอยู่กับเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม และการกดขี่จากผู้มีอำนาจสูงกว่า
 
ผลงานการเขียนและการแปลของลุงมีเกือบ 50 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นของ บี.ทราเวน นักเขียนชาวเยอรมัน หรือนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ผลงานขอ
งลุงส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยเพื่อนสนิทที่คบหากันมานานหลายปี บางเล่มก็พิมพ์เอง น่าเสียที่ผลงานของลุงมักขายไม่ออกและต้องเอามาขายเลหลังเล่มละไม่กี่บาท
"หนังสือผมมันไม่มีคนอ่าน พิมพ์ไปก็ขายไม่ออก" ลุงพูดเปรยๆ ขึ้นมาในบางครั้ง นอกจากเรื่องนี้ลุงก็ตัดพ้อด้วยความน้อยใจว่าผลงานของแกถูกคนอื่นขโมยไปใส่ชื่อแล้วตีพิมพ์ 
 
แต่ความท้อใจก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไฟในการผลิตผลงานของลุงได้ พอฉันเจอลุงในวันต่อมา ลุงก็ยื่นเรื่องสั้นเรื่องใหม่ที่เพิ่งแต่งจบให้ฉันอ่าน แล้วถามอย่างกระตือรือร้นว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางโอกาสเราถกเถียงกันเรื่องการเมือง สังคม ศาสนา ไปจนถึงชีวิตและวิธีคิดในบางประเด็น ความคิดเห็นของเราขัดแย้งกันบางเรื่อง แม้ลุงจะยึดมั่นในความคิดของตัวเองอย่างแน่วแน่ แต่ลุงก็ฟังความคิดเห็นของฉันเสมอ
 
ตอนนี้ลุงอายุ 75 ปี อาศัยอยู่คนเดียวบนชั้นสามของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในย่านหนองแขม ลุงเคยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต้องตัดไตออกข้างหนึ่งรวมทั้งกระเพาะปัสสาวะด้วย แทนที่ด้วยถุงปัสสาวะที่ต้องใส่ติดตัวตลอดเวลา แต่ภายนอกลุงยังดูแข็งแรงเดินเหินปกติ ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว เดินทางไปตามงานเสวนาที่ต่างๆ เป็นประจำ สะพายย่ามคู่ใจที่ภายในมีหนังสือ เรื่องสั้น หรือเอกสารเกี่ยวกับคดีของแก บ้างก็แจกจ่าย บางทีโชคดีก็ขายได้
 
3.
"ผมสงสัยมากเลยนะว่าพวกดวงดาว จักรวาลมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง"
ลุงตั้งคำถามขึ้นมาอย่างที่ชอบทำ ตอนนั้นเราสี่คนนอนดูดาวกันที่เชียงดาวระหว่างที่ไปถ่ายทำสารคดี คืนนั้นเป็นคืนฟ้าเปิด เห็นดาววาววับมากมาย เราคุยกันไปเรื่อยเปื่อย
"ทฤษฎีบิ๊กแบงไงคะ" ฉันตอบ "ไอ้หนังสือพวกนั้นผมก็อ่านมาบ้าง แต่เข้าใจยากเกินไป  ผมอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้นะ เหมือนที่ผมสงสัยว่าพืชมันเจริญเติบโตขึ้นมาจากใต้ดินได้ยังไง คิดดูสิ ดินมันก็เป็นแค่ดิน แต่ดินเป็นที่มาของพืชทุกชนิด มันเป็นความมหัศจรรย์นะ"
คำถามซื่อๆ กระตุ้นให้ฉันคิดถึงหนังสือเล่มแรกของลุงที่ฉันอ่าน ในตอนจบลุงก็ลงท้ายด้วยคำถามแบบนี้เช่นกัน
 
ความมหัศจรรย์ของลุงนั้นเรียบง่ายเหลือเกิน
 
ลุงดำรงอยู่ด้วยความคิดและความสงสัยต่อชีวิตและจุดกำเนิดของมัน เช่นที่ลุงเฝ้าสงสัยเกี่ยวกับการกำเนิดดวงดาวจักรวาลและพรรณพืช เช่นที่ลุงชอบนั่งดูคลิปเกี่ยวกับดาวอังคารในมือถือ เช่นที่ลุงเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวอาจจะมีจริง เช่นที่ลุงชอบเลี้ยงนกและเฝ้ามองพวกมันหากิน ขณะเดียวกันชีวิตลุงก็มีปมปัญหาที่ไม่อาจสลัดหลุด ลุงยึดติดอยู่กับอดีตบางอย่างอันน่าขมขื่นที่ชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งคงไม่อาจลืมได้ ลุงทำให้ฉันเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์มีความซับซ้อนและลึกลับเกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะไปตัดสินการกระทำของเขาหรือบอกให้เขาปล่อยวางได้
 
ฉันจะไม่ตัดสินและไม่บอกให้ลุงปล่อยวาง ถ้าลุงจะเขียนหนังสือหรือขึ้นไปพูดในวงเสวนาไหนๆ ฉันจะเป็นคนรับฟัง เพราะความฝันอย่างหนึ่งที่ลุงต้องการคงเป็นการได้แสดงความเห็นอย่างซื่อตรงและเปิดเผยโดยไม่ถูกปิดกั้นหรือตัดสินจากใคร
 
ชนิดบทความ: