1000 1114 1406 1294 1140 1541 1984 1530 1828 1922 1079 1290 1994 1423 1608 1628 1751 1851 1238 1277 1522 1841 1483 1071 1345 1836 1222 1342 1287 1505 1151 1504 1875 1059 1499 1491 1156 1526 1703 1951 1591 1472 1912 1029 1579 1094 1668 1634 1953 1655 1031 1472 1477 1827 1597 1227 1563 1000 1513 1673 1565 1824 1366 1774 1151 1771 1574 1369 1242 1230 1973 1025 1156 1009 1055 1762 1450 1852 1042 1134 1054 1375 1147 1679 1941 1228 1366 1449 1279 1192 1141 1955 1539 1407 1432 1775 1446 1114 1895 ปมร้อนราชภักดิ์: เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบความโปร่งใสของอุทยานราชภักดิ์นำไปสู่การตั้งข้อหาความมั่นคง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปมร้อนราชภักดิ์: เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบความโปร่งใสของอุทยานราชภักดิ์นำไปสู่การตั้งข้อหาความมั่นคง

ความน่าสงสัยว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  เป็นประเด็นที่คนในสังคมพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งกองทัพบกในฐานะผู้ดำเนินการจัดสร้าง ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ มีการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทุจริต และผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตในสถานที่จริง โดยจัดกิจกรรม ส่องกลโกงอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งในเวลาต่อมา มีคนจำนวนมาก ถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือทำกิจกรรมตรวจสอบความโปร่งใส
 
369
 
ในฐานะองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไอลอว์จึงเห็นความสำคัญที่จะต้องประมวลสถานการณ์การจับกุม คุกคาม รวมทั้งการตั้งข้อหาคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหว รวมทั้งผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อมูลภาพแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์และวิจารณ์กองทัพบกตั้งแต่ช่วงปลายพฤศจิกายน- ธันวาคม 2558 เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกช่วงปลายปี 2558 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 
30 พฤศจิกายน 2558 จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจในจังหวัดสมุทรสาคร และถูกส่งตัวไปควบคุมต่อที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำของวันเดียวกัน  ทั้งสองถูกควบคุมตัวระหว่างที่จะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์  เพื่อสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ และตรวจสอบการทุจริตในสถานที่จริง 
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เข้าไปพูดคุยและคุมตัวแกนนำนปช.อีก 2 คน คือ สมหวัง อัสราษี และธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ที่ร้านกาแฟภายในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ทั้งสองถูกเชิญตัวมาพูดคุยในกรุงเทพ และถูกขอความร่วมมือให้ยุติการเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองทั้งหมดก่อนจะถูกปล่อยตัว 
 
1 ธันวาคม 2558 ตำรวจสน.พระโขนงนำตัว จุฑาทิพย์ ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยต่อมาศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท
 
7 ธันวาคม 2558 ระหว่างที่กลุ่มประชาธิปไตยศึกษากำลังเดินทางโดยรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ก็ถูกทหารและตำรวจสกัดกั้นการเดินทางที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ก่อนจะควบคุมตัวผู้จัดและผู้เข้ากิจกรรมรวม 36 คน ไปสอบสวนที่พุทธมณฑลก่อนปล่อยตัวในวันเดียวกัน โดยก่อนการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ขอให้ผู้ถูกควบคุมตัวเซ็นข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็มีผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนปฏิเสธที่จะเซ็น  
 
367
"นิว" สิรวิชญ์ ใช้โทรโข่งปราศรัยบนรถไฟ
 
8 ธันวาคม 2558 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา โดย "นิว" สิรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นการทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" ว่า วันนั้น (7 ธันวาคม) เจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางไม่ให้ตนไปที่สถานีรถไฟถึง 3 ครั้ง ต่อมาแม้ตนและคณะจะโดยสารรถไฟได้ แต่รถไฟก็ถูกหยุดที่สถานีบ้านโป่ง เจ้าหน้าที่เรียกคนที่มาร่วมกิจกรรมออกไปทีละคนและตัดโบกี้ออกจากขบวนรถ "นิว" ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อมีมวลชนฝั่งตรงข้ามเข้ามา ก็ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะผ่อนคลายกับมวลชนกลุ่มนี้มากต่างจากพวกตน หลังถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ก็นำรถมารับนักกิจกรรมส่วนหนึ่งออกไป สำหรับพวกตนเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นรถก็ขับวกวนไปมา ก่อนจะพามากักตัวที่พุทธมณฑล
 
ในวันเดียวกัน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีข้อน่าสงสัยว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อาจจะทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ 
 
10 ธันวาคม 2558  เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองสมุทรปราการ จับกุมฐนกร ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า ฐนกรโพสต์รูปแผนผังเปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ต้องใช้ใบบัวปิด 5,920,000 ใบถึงจะปิดได้ หลังการจับกุม ฐนกรถูกควบคุมตัวไปที่สถานที่ไม่เปิดเผยแห่งหนึ่ง ก่อนที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจะนำตัวเขาไปฝากขังที่ศาลทหาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยตั้ง 3 ข้อหาหนัก ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังพบว่าฐนกรกดไลค์และแชร์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ภาพเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฐนกรขอประกันตัวโดยใช้เงินสด 100,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากกลัวหลบหนีคดี
 
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเป็นทหาร 3 นายและตำรวจ 1 นาย เดินทางไปที่บ้านของฉัตรมงคล  หรือ "บอส" นักกิจกรรมที่เคยร่วมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์กับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา แม่ของ "บอส" ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายเคยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่หน่วยทหารชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในเขตบางมดหลายรอบ เจ้าหน้าที่ทหารกำหนดให้เขาต้องไปรายงานตัวเป็นประจำและสั่งไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมามีกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์เกิดขึ้น "บอส" ก็เข้าร่วมและไม่ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการคุมตัวออกจากบ้าน โดย "บอส" ให้ข้อมูลภายหลังว่า เจ้าหน้าที่พาไปรับประทานอาหาร โดยระหว่างนั้นได้ยึดโทรศัพท์ของตนไว้
 
ขณะเดียวกัน เวลาประมาณ 14.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่แถลงถึงกรณีการควบคุมตัวผู้เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ โดยมีเจ้าหน้าระดับสูงเฝ้าสังเกตการณ์ อาทิ พันตำรวจเอก อรรถวิทย์ สายสืบ และตำรวจจากสน.ชนะสงคราม ซึ่งมาดูแลอยู่ห่างๆ ในชุดนอกเครื่องแบบ   
 
11 ธันวาคม 2558 พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความกับ ตำรวจ สน.รถไฟธนบุรี ต่อ 11 นักกิจกรรม ส่องกลโกงอุทยานราชภักดิ์ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การเข้าแจ้งความทำให้พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้นักกิจกรรมทั้ง 11 เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา 
 
13 ธันวาคม 2558 ธเนตร นักกิจกรรมที่เคยร่วมเดินทางไปกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาในกิจกรรมตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ถูกควบคุมตัวขณะรักษาตัวจากการป่วยที่โรงพยาบาลสิรินธร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวไปไว้สถานที่ปิดลับเพื่อสอบสวน กระทั่งในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 จึงถูกนำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เพื่อตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ในวันเดียวกันเขาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัวโดยต้องวางเงินประกัน 100,000 บาท
 
368
ธเนตรขณะถูกควบคุมตัวมาฝากขังต่อศาลทหาร
 
การวิจารณ์การทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และกองทัพบก นำไปสู่การตั้งข้อหายุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับบุคคลอย่างน้อย 3 คน และการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป 11 คน และมีอีกกว่า 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่กักตัวโดยในจำนวนนี้มีบางส่วนยอมเซ็นข้อตกลงยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวอีกส่วนหนึ่งปฏิเสธที่จะเซ็น นอกจากนี้ก็มีบุคคลอย่างน้อย 2 คน คือธเนตรและฐนกร ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่แจ้งข้อกล่าวและไม่ให้พบญาติหรือทนาย โดยอาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
ชนิดบทความ: