1249 1970 1665 1931 1154 1768 1804 1471 1119 1827 1688 1991 1250 1501 1394 1162 1457 1181 1486 1188 1775 1542 1252 1037 1531 1820 1515 1285 1822 1300 1222 1860 1595 1803 1152 1722 1947 1504 1276 1569 1405 1026 1199 1687 1099 1236 1450 1001 1136 1126 1795 1214 1111 1939 1260 1195 1897 1587 1534 1115 1260 1955 1447 1756 1760 1872 1730 1294 1806 1228 1741 1732 1646 1733 1592 1812 1200 1562 1722 1231 1199 1035 1188 1770 1563 1060 1423 1941 1110 1247 1522 1554 1826 1370 1433 1029 1703 1561 1394 “สิ่งที่กฟผ.ทำในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมและโรงไฟฟ้ายุติลง...” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“สิ่งที่กฟผ.ทำในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมและโรงไฟฟ้ายุติลง...”

 

 

30 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 -12.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในวงเสวนา “การฟ้องคดีปิดปาก กรณีโรงไฟฟ้าและทางออก” มีผู้ร่วมเสวนาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยถูกฟ้องคดีจากการแสดงออกในประเด็นสาธารณะเรื่องพลังงาน ประเด็นที่ร่วมพูดคุยคือ ความเป็นมาในการถูกดำเนินคดี ความรู้สึกและผลกระทบหลังจากการถูกดำเนินคดี

 


ประสิทธิ์ชัย หนูนวล : “...ตนอยากสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่กฟผ.ทำในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมและโรงไฟฟ้ายุติลง...”
 

909


ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตั้งแต่เรียนจบตนทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ตอนแรกทำพื้นที่อ่าวไทยก่อน จากนั้นจึงมาทำงานทางฝั่งอันดามัน งานที่ทำเกี่ยวกับกระบวนการที่รักษาเรื่องความมั่นคงทางอาหารไว้ ไม่ว่าจะทำเรื่องประชาคม บ้านปลา หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำมามันกำลังจะหายไป ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมา ฉะนั้นจึงเริ่มศึกษาข้อมูลการสร้างท่าเรือและโรงไฟฟ้าบริเวณชายฝั่งอันดามันว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และอาหารอย่างไร ใช้เวลาการศึกษาไปไม่น้อยกว่าห้าปี โดยศึกษาจากงานวิจัยทั่วโลก จนมีความชัดเจนว่า กระบวนการตั้งแต่ขนส่ง ผลิตไฟฟ้าและขี้เถ้าถ่านหินจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางออกเรื่องโรงไฟฟ้ามีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อเทียบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศน์ และอาหารและระบบเศรษฐกิจอื่นๆ
 


ที่ผ่านมากระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีการโฆษณาการให้ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลด้านเดียว หน้าที่ของตนและภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้คือ ต้องพูดข้อมูลที่ไม่ถูกพูดออกมา เนื่องจากประชาชนจะต้องรับข้อมูลสองด้านเพื่อชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ ในฐานะที่ตนเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์การที่ได้รับข้อมูลไม่เท่ากันและข้อมูลเบี่ยงเบนส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล
 


กระบวนการสื่อสารอาศัยช่องทางเฟซบุ๊ก หวังว่า ข้อมูลที่กระจายออกไปจะทำให้คนในพื้นที่และสังคมจะรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ทำหน้าที่ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม  คือในการสื่อสาร หากมีข้อมูลด้านเดียวความเป็นธรรมจะไม่เกิด พื้นฐานที่สุดคือความเป็นธรรมจะต้องมีกระบวนการสื่อสารอย่างน้อยสองด้านเพื่อให้คนมีข้อมูลมากพอในการตัดสนิใจ มีข้อมูลอย่างน้อยสองด้าน การสื่อสารเพื่อให้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง มิฉะนั้นสังคมเราจะมีกระบวนการพัฒนาที่มันบิดเบี้ยวไปหมด
 


ประเด็นคดีที่กฟผ.ฟ้องร้องนั้น ประสิทธิ์ชัยอธิบายว่า จุดยืนของการโพสต์ข้อมูลคือความต้องการสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ แต่ไม่ได้มีเจตนาในการโพสต์เพื่อทำลายกฟผ. เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรมองว่า องค์กร[กฟผ.]เป็นของตนเอง ประชาชนมีสิทธิเต็มที่ในการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับองค์กรรัฐที่ทำโครงการกระทบต่อประชาชน  หนึ่งในโพสต์ที่ถูกฟ้องเป็นโพสต์ที่มีนัยต่อการทำความเข้าใจ การแชร์บทความและเขียนว่า ฆาตกรเงียบ ซึ่งคำนี้มาจากงานวิจัยที่เป็นผลกระทบจากถ่านหิน กล่าวแทนถ่านหินว่าเป็นฆาตกรเงียบ เขาคงคิดว่า คำดังกล่าวเป็นการด่ากฟผ.
 


ส่วนตัวรู้สึกว่า ช่วงเวลาในการฟ้องแปลกๆ เพราะฟ้องในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ ทั้งโพสต์ที่โดนฟ้องเป็นโพสต์ที่แชร์บทความมาจากที่อื่น แต่โพสต์ของตนที่วิพากษ์วิจารณอย่างเป็นระบบกลับไม่โดนฟ้อง การกล่าวหาครั้งนี้เป็นเหมือนกลไกบางอย่างที่จะทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวสะดุด เมื่อแกนนำโดนฟ้องก็อาจจะมีผลต่อคนอื่นๆ แต่เรารู้สึกว่า ยิ่งฟ้องสังคมจะยิ่งพิพากษาคนฟ้อง การฟ้องจะให้ข้อมูลสองด้าน คุณฟ้องกี่คดีสังคมก็จะพิพากษาเท่านั้น ส่วนตัวตนคิดว่า ตนเสียอย่างเดียวคือ เสียเวลามากรุงเทพฯหลายรอบ ตนก็ขี่จักรยานมาไมได้ด้วย แต่มันทำให้สังคมตื่นรู้ ตนมองว่า ที่ผ่านมาข้อถกเถียงออนไลน์ถูกขจัดลงไปเยอะ สังคมชัดเจนว่า ถ่านหินสะอาดหรือไม่สะอาด ฉะนั้นการโดนฟ้องสองสามคดี มองในประโยชน์สาธารณะคือโคตรจะคุ้มเลย ตนอยากสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่กฟผ.ทำในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมและโรงไฟฟ้ายุติลง
 


กรณีที่การลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ให้คดีความระหว่างนักเคลื่อนไหวและกฟผ.เลิกแล้วต่อกัน  ปรากฏว่า มาจนถึงวันนี้ยังไม่มีการถอนฟ้องคดีตามที่ลงนามไป แต่กฟผ.กลับมีการยื่นเงื่อนไขในการถอนฟ้องคือ ให้ตนยุติการสื่อสารและให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว กฟผ.จึงถอนฟ้อง ตอนนั้นตนทะลุปรุโปร่งเลยว่า กฟผ.ฟ้องเพื่ออะไร เงื่อนไขยิ่งกว่าคำพิพากษาศาล และรัฐมนตรีที่ลงนาม[ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงพลังงาน หนึ่งในผู้ร่วมเจรจาและลงนาม MoU]ก็ไม่มีความกล้าหาญใดๆที่จะสั่งการให้กฟผ.ถอนฟ้อง
 

อัครเดช ฉากจินดา : "...การฟ้องทุกคนให้สงบปากสงบคำนั้นไม่มีผลอะไรแต่จะทำให้เราเจอกันบ่อยขึ้นเท่านั้นและตนยังวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเดิม..."

 

907

 

อัครเดช ฉากจินดา กล่าวว่า  ตั้งแต่ปี 2555 ตนเป็นกลุ่มคนเมืองกระบี่ที่รวมตัวกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม Save Krabi มีเรื่องหลักคือ การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและกระบวนการมีส่วนร่วม, สิทธิชุมชนกับการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมกับการปราบปรามการคอร์รัปชั่น ตลอดระยะเวลาทำงานพบว่า เฟซบุ๊กง่ายที่สุดในการสื่อสารสาธารณะที่บอกว่า โครงการของรัฐควรคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม กรณีของโรงไฟฟ้ากระบี่ชัดที่สุดเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมว่า มันเป็นการจัดตั้งมากกว่าการรับฟังที่ถูกวิธี พยายามสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ใช้เฟซบุ๊ก

 

การโดนคดีหมิ่นประมาทครั้งนี้เป็นเรื่องประหลาด เพราะตั้งแต่ปี 2555 ตนก็โพสต์เรื่องพลังงานมาตลอด แต่เพิ่งมาเป็นคดีตอนปี 2561 โดยเป็นการแจ้งความในเดือนกันยายน 2559 ก่อนหน้าที่ตนจะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งเนื่องจากคณะกรรมการไตรภาคีระหว่างรัฐ กฟผ. และภาคประชาสังคมไม่สามารถวางข้อสรุปเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบี่ได้ เท้าความกลับไปคือ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ตนและประสิทธิ์ชัยได้ไปอดอาหารที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแสดงการอารยะขัดขืนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ครั้งนั้นจบลงด้วยข้อตกลงให้กลับไปตั้งคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบี่
 


แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการฯไม่ได้ข้อสรุป คณะกรรมการฯชุดที่หนึ่งของอาจารย์เรณูก็ไม่ได้ข้อสรุป เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการฯชุดที่สามที่ตนเข้าร่วมด้วยนั้นก็ไม่ได้สรุป มีเพียงคำกล่าวจากกรรมการที่เป็น ‘นายพล’ บอกว่า จะสรุปเอง ตนมองว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมจึงประกาศว่า จะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งทำให้เกิดข้อสังเกตเรื่องบริบทของการฟ้องร้อง

 

นอกจากนี้ก่อนการวางข้อสรุปของคณะกรรมการฯ กฟผ.ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมในลักษณะที่เรียกว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) ไปมอบสิ่งของ ตนขอถามว่า ประธานองค์กรที่รับของเข้าใจหรือไม่ว่า ถ่านหินมันมีผลกระทบอย่างไร ทั้งบริบทตอนนั้นกฟผ.ไปทำการตลาดเพื่ออะไร นำไปสู่การโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อตั้งคำถามถึงวิธีการว่า การแจกจ่ายสิ่งของเพื่อนำไปสู่การยอมรับหรือไม่?  ตอนนี้มีการจัดทำรายงานผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) กฟผ.ก็ทำ CSR เหมือนเดิม ป้ายไวนิลเต็มเมืองกลับมาอีกครั้ง

 

ในประเด็นการฟ้องร้อง อัครเดชกล่าวว่า การฟ้องทุกคนให้สงบปากสงบคำนั้นไม่มีผลอะไรเพียงแต่จะทำให้เราเจอกันบ่อยขึ้นเท่านั้นและตนยังวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเดิมส่วนเงื่อนไขที่ระบุใน MoU ที่คดีความระหว่างกฟผ.และภาคประชาสังคมขอให้เลิกแล้วต่อกันนั้น พูดกันตรงๆ ผมเป็นคนขอรัฐมนตรีฯเองในเงื่อนไขดังกล่าว คำว่า ให้เลิกแล้วต่อกัน มีความหมายกว้างมาก ประกอบกับหลังจากนั้น กฟผ.ได้ส่งเงื่อนไขเพิ่มเติมการถอนฟ้อง โดยให้ตนเลิกการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นมองอีกมุมคือมันเป็นการเล่นเกมส์การเมือง
 


เรณู เวชรัชต์พิมล : “...ไม่อยากให้คดีของตนทำให้นักวิชาการคนอื่นไม่กล้าออกมาช่วยชุมชน เพราะการปกป้องชุมชนเป็นการทำเพื่อประโยชน์โดยภาพรวมสาธารณะ อาหารทะเลปนเปื้อนไม่ได้หยุดแค่กระบี่ เทพา มันกระจายไปทั่ว...”
 

906

 

เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องถ่านหิน ตนได้เคยไปช่วยตั้งแต่เหตุการณ์ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ค้นคว้าข้อมูลจนรู้สึกว่า ความรู้แบบนี้ไม่ได้ยากสำหรับตนและน่าจะช่วยให้ข้อมูลได้ วันหนึ่งดูทีวีช่องไทยพีบีเอสมีการออกข่าวว่าที่มาบตาพุด มีคนเป็นมะเร็งมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้ครั้งนั้นได้ออกไปทำงานแบบนักวิทยาศาสตร์ พอไปตรวจก็พบว่า คนที่ระยองมี DNA ผิดปกติเยอะ
 


กรณีของกระบี่ ภาคประชาสังคมได้เชิญไปให้ความรู้ว่า ถ้าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดอะไร จึงให้ความรู้ทางมุมวิทยาศาสตร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่ได้ข้อมูลที่บอกว่า ทุกอย่างดีหมด สิ่งที่ทำคือลงไปในพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ การสื่อสารเรื่องของถ่านหินบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเรื่องมวลสารโลหะหนัก รวมถึงการให้ข้อมูลที่เจ้าของโครงการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน
 


ในฐานะนักวิชาการ ถ้าถามว่าถูกแจ้งความแล้วรู้สึกยังไง บอกเลยว่าไม่ได้ตกใจเลย ตนไม่ตกใจเลยเพราะเคยไปเป็นพยานในศาลแล้ว ตนแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นำมาเสนอเราไม่ได้บิดเบือน สิ่งที่โพสต์ ไม่มีอะไรที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง ทุกอันมีหน่วยงานที่เข้มแข็งเช่น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA), เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก(National geographic) หรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือระดับโลก ตนได้เปิดประเด็นในเรื่องที่การไฟฟ้าไม่ได้ศึกษาไว้ โดยเรียนรู้จากงานวิจัยของคนอื่นและอยากจะนำสิ่งเหล่านี้มารองรับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งหมดจึงทำให้ไม่รู้สึกกังวลใจ
 


ที่สำคัญคือ ตนไม่อยากให้กรณีของตนทำให้นักวิชาการคนอื่นไม่กล้าออกมาช่วยชุมชน เพราะการปกป้องเป็นการทำเพื่อประโยชน์โดยภาพรวมสาธารณะ พูดให้ชัดเจนคือ ถ้าอาหารทะเลปนเปื้อน อาหารทะเลนั้นก็ไม่ได้อยู่แค่ที่กระบี่หรือเทพา เวลากินแกงจะรู้ไหมว่ากะปิที่เขาแกงให้กินมาจากไหน ทุกคนมีโอกาสต้องประสบกับการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น ต้องช่วยกัน นักวิชาการต้องสามารถทำงานสบตาสังคมได้
 


กฟผ. ต้องมีความรับผิดชอบธรรมมาภิบาล ถามว่าใครจะประเมินผู้ให้บริการ [กฟผ.] ได้ดี คือผู้ใช้บริการ หรือผู้สนใจจะประเมินเราได้ดี สิ่งที่ตนทำจึงเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. การบอกว่า กฟผ. ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เป็นการกระตุ้นให้ กฟผ.ต้องให้ข้อมูลกับประชาชนที่ครบถ้วน ถามว่า กฟผ.มายื่นฟ้องเพราะอะไร ก็คือทำให้ตนกลัว แต่ตั้งแต่ถูกฟ้องตนก็โพสต์ตลอดเวลาเหมือนเดิม รัฐเขาต้องรู้ว่าการทำงานที่ดีต้องปกป้องประชาชน
 


ประโยชน์อีกประการของการทำงานเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านมาคือ การที่ทักท้วงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง  กฟผ.โฆษณาเรื่องว่า ระบบโรงไฟฟ้าดี แต่ระบบที่เป็นใช้ซัลเฟอร์ไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโลหะหนัก พอเราให้ความเห็นไป เขาก็ไปแก้เพิ่มเติม อีกครั้งคือช่วงไตรภาคีที่ กฟผ. วางแผนติดตั้งระบบเพิ่มคือ ชุดดักจับสารปรอท ซึ่งสารปรอทเป็นอันตรายมาก จะเห็นได้ว่า การทักท้วงของภาคประชาสังคม ทำให้เกิดข้อดีและประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามกฟผ.ได้วางแผนติดตั้งชุดดักจับสารปรอทที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วย ใช้เงินประมาณ 9,300 ล้านบาท แต่กลับขอไม่เปิดระบบต่อเนื่อง ทั้งที่จากข้อมูลการทำสมดุลปรอท หากไม่เปิดระบบจะทำให้ปรอทถูกปล่อยออกมาจากเกณฑ์มาตรฐานสามเท่า การติดตั้งแล้วแต่ขอไม่เดินเครื่องเช่นนี้ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ใช้ชุดดักจับปรอทเปิดระบบนี้หรือไม่
 

 


ธารา บัวคำศรี : “…พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพภายใต้สถานการณ์ของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้หดแคบไปเรื่อย…คดีปิดปากเกิดขึ้นแล้วไม่พูดออกไปอีก เรากลัวที่พูด สังคมนี้ก็ไม่ไปไหนมันก็จะจบแค่นี้ ฉะนั้นเราต้องลุกขึ้นมาพูดต่อ…”
 


905


ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า คดีของตนดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเพราะเป็นการไปแชร์โพสต์ของนักข่าวท้องถิ่นที่ให้ความเห็นเรื่องการดำเนินการของ กฟผ. ที่แม่เมาะ ถ้าดูประเด็นถ่านหินที่แม่เมาะ สะท้อนให้เห็นระบบการดำเนินการจัดการเรื่องพลังงานของประเทศไทยได้ดีทีเดียว เอาเข้าจริงแล้วการแชร์ข้อความตนทราบว่า มีความล่อแหลมเพราะเห็นด้วยกับคนที่โพสต์  แต่โพสต์นี้เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกว่าเรื่องมันใหญ่กว่านี้ในอีกหลายโพสต์ที่น่าจะดำเนินคดีมากกว่า ประเด็นคือว่า หากจะสู้ในเรื่องข้อมูล เราสามารถยกระดับคุณภาพในการถกเถียงได้โดยไม่ต้องใช้ช่องทางการดำเนินคดี
 


กรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม บางครั้งใช้วิธีเข้าไปเผชิญหน้าเช่นในสหรัฐอเมริกามีคดีปิดปากที่ทางกลุ่มบริษัทพลังงานใหญ่ทำท่อส่งน้ำมันจากพื้นที่ชนเผ่าตัดไปยังแคนาดา ประชาชนและนักเคลื่อนไหวมีการไปขัดขวางการทำท่อน้ำมัน ผลคือถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 900 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่โชคดีที่มีการยกฟ้อง ส่วนของประเทศไทยหลายครั้งการทำงานของกรีนพีซสุ่มเสี่ยงในการดำเนินคดี เคยมีการรณรงค์หลายเรื่องรวมทั้งเรื่องโรงไฟฟ้า เมื่อเสร็จกิจกรรมมาตรการทางกฎหมายที่พบอย่างมากที่สุดคือ ไปลงบันทึกประจำวันที่โรงพัก ไม่มีเป็นคดีความ
 


ในประเด็นเรื่องภูมิทัศน์ในการสื่อสารที่เปลี่ยนไป สื่อเก่าอย่างโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์มีบทบาทน้อยลง มีสื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่เพิ่มขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ [การสื่อสาร] มีประสิทธิภาพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทุกครั้งที่ตนจะโพสต์อะไรนั้น พยายามจะอ่านสามรอบเพื่อหวังว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประเด็นที่ทำให้คนรับรู้มากขึ้น
 


ส่วนคดีที่ฟ้องร้อง ตนไม่ได้กังวลอะไร เนื่องจากมันเป็นเรื่องของการที่ต้องเปิดเวทีให้มากขึ้นกล่าวคือ พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภาพภายใต้สถานการณ์ของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้หดแคบไปเรื่อย 16-17 คดีที่กฟผ.ฟ้องไม่รู้ว่ามีใครบ้าง คดีปิดปากเกิดขึ้นแล้วไม่พูดออกไปอีก เรากลัวที่พูด สังคมนี้ก็ไม่ไปไหนมันก็จะจบแค่นี้ ฉะนั้นเราต้องลุกขึ้นมาพูดต่อ และถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในการที่จะทำงานรณรงค์ต่อไป
 


บทเรียนการฟ้องร้องเรื่องมะละกอจีเอ็มโอมาก่อน ตอนนั้นศาล พนักงานของศาล ไม่รู้ว่า มะละกอจีเอ็มโอคืออะไร แต่กระบวนการศาลเปิดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่า จริงๆแล้วจีเอ็มโอคืออะไร กรณีนี้ก็เช่นกันเป็นการเปิดเวทีให้ดีเบตเรื่องถ่านหินสะอาดมากขึ้น ถ้าทางผู้ฟ้องคิดถึงตรงนี้และคิดจะสู้ต่อ เขาต้องคิดดีๆเพราะการดำเนินคดีก็เป็นเวทีที่ก่อให้ความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมได้