1576 1619 1550 1817 1246 1912 1230 1708 1221 1678 1685 1351 1876 1554 1545 1054 1377 1948 1680 1793 1727 1513 1089 1523 1940 1027 1434 1131 1908 1646 1196 1573 1374 1500 1285 1980 1998 1970 1713 1398 1694 1277 1804 1437 1094 1163 1784 1863 1257 1211 1656 1555 1684 1740 1016 1048 1563 1838 1734 1077 1357 1118 1978 1298 1344 1778 1701 1653 1857 1782 1531 1582 1155 1460 1694 1718 1778 1192 1817 1990 1000 1160 1099 1086 1206 1828 1698 1830 1831 1744 1828 1576 1297 1361 1259 1274 1118 1962 1248 อัยการ-ศาล สร้างนิยามใหม่ ความผิดฐาน “พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อัยการ-ศาล สร้างนิยามใหม่ ความผิดฐาน “พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ”

 
วันที่ 12 ธันวาคม 2556 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายกิตติธนถูกฟ้องว่า เป็นผู้ใช้นามแฝงว่า “เคนจิ” โพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีลงในเว็บไซต์ dangddดอทcom หรือเว็บไซต์ internetfreedom โดยศาลตัดสินว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) ทั้งหมด 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี
 
นอกจากนี้นายกิตติธนยังมีความผิดฐาน “ตระเตรียมและพยายาม” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทด้วย จากการที่มีภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเทพฯ และองค์เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ รวมทั้งองค์รัชทายาทของแต่ละพระองค์ที่เสด็จไปสถานที่ต่างๆ ในพระอิริยาบถต่างๆ โดยจำเลยเขียนพิมพ์ข้อความต่างๆ ประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเป็นข้อความในลักษณะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งจำเลยตระเตรียมภาพถ่ายพร้อมข้อความดังกล่าวและบันทึกไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าว ในบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดไว้ก่อนที่จำเลยจะโพสต์ในอินเทอร์เน็ต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดมาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
รวมทั้งหมด นายกิตติธนถูกศาลตัดสินให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน เนื่องจากรับสารภาพในทุกข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นศาล ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี 20 เดือน
 
 
รับสารภาพไม่ใช่ผิดอัตโนมัติ ศาลยังคงมีหน้าที่ต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
เป็นหลักการทั่วไปว่า ศาลเป็นผู้มีหน้าที่วินิจฉัยคดีความ โดยหน้าที่ของศาลคือการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง คือศาลต้องอธิบายว่าการกระทำของจำเลย เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหมายอย่างไร เพื่อตอบคำถามว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
 
กรณีที่จำเลยรับสารภาพในชั้นศาล หมายความว่า จำเลยรับสารภาพว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่โจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้อง และข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้นเป็นความจริงทุกประการ มีผลให้ประเด็น “ข้อเท็จจริง” ในคดีนี้ยุติแล้ว ศาลสามารถใช้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องวินิจฉัยคดีและพิพากษาคดีได้เลย แต่ทั้งนี้ ศาลยังมีหน้าที่ต้องนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายอีกครั้งว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วนั้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหหมายมาตราใด หรือไม่
 
ตัวอย่างเช่น หากเป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ยังคงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลย ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” บุคคลที่กฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองหรือไม่ หากการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ต้องสั่งยกฟ้อง
 
แต่คำพิพากษาในคดีของนายกิตติธนนั้น ศาลไม่ได้วิเคราะห์ปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับตัวบทกฎหมายเลย เพียงแต่กล่าวไว้สั้นๆ ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใดและมีโทษอย่างไร โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ให้ชัดเจน
 
“ตระเตรียมการ” หมิ่นฯ ไม่นับเป็นความผิดตามกฎหมาย
ในคำฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยตระเตรียมการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวดหนึ่ง แต่ความผิดข้อนี้จะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อจำเลยกระทำไปถึงขั้น “ลงมือกระทำความผิด” แล้ว เพียงแค่ขั้นตอนการตระเตรียมการยังไม่เป็นความผิด
 
แต่ตามหลักกฎหมายอาญา ความผิดที่แม้เพียงการ “ตระเตรียมการ” ก็ถือเป็นความผิดนั้น กฎหมายต้องเขียนระบุเอาไว้เป็นการเฉพาะว่าการตระเตรียมการนั้นๆ เป็นความผิด เช่น ความผิดฐานลอบปลงพระชนม์ ตามมาตรา 107 ความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 114 ความผิดฐานก่อการร้าย ตามมาตรา 135/2 (2) หรือความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ในมาตรา 219 เป็นต้น
 
ดังนั้น แม้มาตรา 112 จะอยู่ในหมวดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งความผิดหลายมาตราในหมวดนี้กฎหมายบัญญัติไว้ว่าการตระเตรียมการเป็นความผิดก็ตาม แต่ในเมื่อไม่มีกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่าการ “ตระเตรียมการ” ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดด้วย การตระเตรียมการของจำเลยในคดีนี้จึงย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้เช่นนี้ ศาลผู้มีหน้าที่วินิจฉัยปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง ควรจะวินิจฉัยกรณีนี้ไว้ด้วย แต่ศาลในคดีนี้ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นการตระเตรียมการ
 
“พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ” แนวพิพากษาคดีแบบใหม่ล่าสุด
 
ขณะที่ความผิดฐาน “ตระเตรียมการ” จะเป็นความผิดเฉพาะกรณีที่ระบุเอาไว้ในกฎหมาย แต่ความผิดฐาน “พยายาม” นั้นต่างออกไป กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 กำหนดว่า
 
         “มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้น พยายามกระทำความผิด
         ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
 
จะเห็นว่า การกระทำใดที่จะถือเป็นความผิดฐานพยายามได้ ต้องมีลักษณะ “ลงมือกระทำความผิดแล้ว” แต่กระทำไปไม่ตลอด เช่น หลอกลวงให้คนเอาเงินมาให้ เมื่อคนเอาเงินมาให้แล้วแต่ปรากฏวันนั้นไม่ว่างจึงยังไม่ได้รับเงิน แม้การกระทำนั้นยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฉ้อโกงแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ “กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล” เช่น เอาปืนยิงไปคู่อริ ยิงไปแล้วแต่หมอช่วยชีวิตไว้ทัน จึงไม่ตาย แม้ยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฆ่าคนตาย แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายแล้ว ซึ่งได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล
 
กรณีความผิดตามมาตรา 112 อันประกอบด้วยการ “หมิ่นประมาท” “ดูหมิ่น” “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” นั้น สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการหมิ่นประมาทต้องมีลักษณะ “ใส่ความ” ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการดูหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายก็ต้องมีลักษณะของการ “แสดงออก” ซึ่งความคิดความรู้สึกออกมา จึงจะถือว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว
 
การที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายคำฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยมีภาพถ่าย แล้วเขียนข้อความประกอบรูปไว้ในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เพื่อเผยแพร่เข้าไปในสื่ออินเทอร์เน็ต ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดภาพถ่ายและข้อความต่างๆ เสียก่อน การวินิจฉัยนี้น่าจะไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง เพราะจำเลยเพียงแค่ “มี” ไว้ในครอบครอง และ “เขียน” ถ้อยคำประกอบรูป แต่ยังไม่มีข้อมูลใดชี้ให้เห็นถึงการกระทำในลักษณะของการแสดงออก เผยแพร่ หรือใส่ความ ให้ข้อความเหล่านั้นไปถึงยังผู้รับสารคนอื่นเลย กรณีนี้จึงไม่ใช่ลักษณะที่จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล แต่เป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย
 
กรณีที่จะถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปแล้ว จนเป็นความผิดฐานพยายามได้นั้น ต้องถึงขั้นที่จำเลยได้ลงมือกระทำ “ขั้นตอนสุดท้าย” ของความผิดนั้นแล้ว เช่น กดโพสต์เข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่มีความขัดข้องทางเทคนิคทำให้โพสไม่สำเร็จ หรือส่งไปให้บุคคลอื่นดูแล้วแต่คนที่ดูอ่านภาษาไทยไม่ออกจึงไม่เข้าใจข้อความนั้น เป็นต้น
 
ข้อเท็จจริงเท่าที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้องนั้น จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย ยังไม่ใช่การกระทำขั้นตอนสุดท้ายของความผิดตามมาตรา 112 ยังเป็นการกระทำที่ไม่ใกล้เคียงต่อผล เพราะจำเลยอาจมีรูปและข้อความเอาไว้ใช้เพื่อเจตนาอย่างอื่นก็ได้ ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนที่จำเลยอาจเปลี่ยนใจไม่กระทำความผิด หรือไม่เผยแพร่รูปและข้อความเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ จึงยังไม่เป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 80
 
 
กล่าวโดยสรุป การที่จำเลยมีรูปไว้ในครอบครองพร้อมเขียนข้อความประกอบ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดฐานพยายาม กระทำความผิดตามมาตรา 112 แม้การกระทำของจำเลยอาจจะถือได้ว่า เป็นการตระเตรียมการกระทำความผิดแล้ว แต่เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายกำหนดให้การตระเตรียมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และแม้จำเลยจะรับสารภาพว่าได้กระทำไปตามฟ้องจริง แต่ศาลก็ยังมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยด้วยว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ การที่คำพิพากษาของศาลเพียงแค่กำหนดโทษให้จำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง โดยไม่นำหลักกฎหมายใดๆ มาวินิจฉัยด้วยนั้น จึงน่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่หลายประการ