1882 1614 1876 1344 1430 1344 1852 1857 1587 1378 1521 1808 1893 1619 1992 1367 1165 1173 1121 1599 1793 1523 1886 1987 1872 1772 1406 1895 1234 1233 1345 1100 1582 1552 1791 1254 1093 1227 1156 1452 1578 1419 1804 1282 1828 1265 1115 1683 1638 1400 1385 1011 1432 1457 1452 1615 1132 1013 1347 1976 1811 1347 1605 1623 1264 1671 1679 1126 1922 1698 1493 1403 1346 1563 1711 1869 1778 1447 1246 1626 1093 1158 1980 1883 1870 1274 1893 1989 1092 1934 1089 1325 1018 1250 1842 1775 1172 1707 1218 "แม่จ่านิว" ถูกแจ้งข้อหาเพียงคำว่า "จ้า" เท่านั้น ถ้ามีพฤติกรรมอื่นจริงเท่ากับตำรวจกำลังทำผิดกฎหมาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

"แม่จ่านิว" ถูกแจ้งข้อหาเพียงคำว่า "จ้า" เท่านั้น ถ้ามีพฤติกรรมอื่นจริงเท่ากับตำรวจกำลังทำผิดกฎหมาย

ตำรวจอ้างว่าการกระทำผิดของ "แม่จ่านิว" มีมากกว่าคำว่า "จ้า" แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ทั้งที่ในบันทึกข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ ระบุการกระทำเพียงคำว่า "จ้า" เท่านั้น ถ้าพฤติกรรมอื่นมีจริงแต่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เท่ากับการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลต้องยกฟ้อง
 
ขณะที่โลกออนไลน์กำลังตื่นตัวกับการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หรือมาตรา 112 กับพัฒน์นรี หรือ "แม่จ่านิว" จากการตอบแชทเฟซบุ๊กว่า "จ้า" นั้น 8 พฤษภาคม 2559 พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ตำรวจที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ก็ออกมาแถลงข่าวตอบโต้กระแสในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งขู่ด้วยว่าหากใครเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอาจถูกดำเนินคดีต่างหาก
 
พ.ต.อ.โอฬาร แถลงต่อสื่อมวลชนว่า รายละเอียดแห่งคดีนี้ทางพนักงานสอบสวนแถลงออกไปไม่ได้ เพราะยังเป็นขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวน กฎหมายให้ถือเป็นความลับ ที่มีข่าวเผยแพร่ออกไปว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ขอยืนยันว่าไม่ใช่ตามนั้น การบอกว่า "จ้า" อย่างเดียวแล้วจะเป็นความผิดต้องไปติดคุกติดตารางนั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การยกแต่พฤติการณ์ตรงนั้นมาเปิดเผยต่อสาธารณชนทำให้สาธารณชนสับสนได้ว่า การพูดคำว่า "จ้า" คำเดียวทำไมจึงผิด จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันมีพฤติกรรมอื่นประกอบอีก เพียงแต่เรานำเสนอออกไปไม่ได้เท่านั้นเอง 
 
การแถลงข่าวของ พ.ต.อ.โอฬาร มีสองประเด็นหลัก คือ หนึ่ง ผู้ต้องหามีพฤติกรรมอย่างอื่นที่เข้าข่ายเป็นความผิด ไม่ใช่แค่เพียงตอบว่า "จ้า" อย่างเดียว สอง รายละเอียดการกระทำส่วนนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ระหว่างการสอบสวน
 
[ดูการแถลงข่าวได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MqRSQw_WQto
 
 
447 ขอบคุณภาพจากเพจ Banrasdr Photo
 
 
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งทนายความเข้าไปช่วยเหลือคดีนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนหนึ่งจากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งมีใจความว่า บุรินทร์ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไปก่อนหน้านี้ได้ลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจนมาให้ผู้ต้องหา โดยระหว่างที่พูดคุยกันบุรินทร์ใช้คำว่า "อย่าว่าผมนะที่คุยแบบนี้" แต่ผู้ต้องหาตอบกลับด้วยคำว่า "จ้า" ย่อมแสดงให้เห็นว่าเห็นด้วยและยอมรับกับการโพสต์ข้อความของบุรินทร์ ดังนั้น พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของผู้ต้องหาจึงมีส่วนร่วมกับบุรินทร์ในการโพสต์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ด้วย ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่เห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของบุรินทร์ ก็ย่อมจะห้ามปรามหรือตำหนิ ต่อว่าให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ตอบรับด้วยคำว่า "จ้า" ซึ่งหมายถึงการยอมรับ
 
[ดูรายงานเต็มได้ที่ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/06/janew_mom_chat_fb_112/]
 
ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ร่วมกับพัฒน์นรีในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบโดยการเอาเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฉบับนี้มาให้อ่าน โดยไม่ได้อธิบายข้อความใดเพิ่มอีก พนักงานสอบสวนได้นำภาพการสนทนาที่ถ่ายจากกล่องข้อความในเฟซบุ๊กมาให้ดู ซึ่งเป็นภาพที่บุรินทร์ลงลายมือชื่อรับทราบเอาไว้ระหว่างการสอบสวนในชั้นทหาร มีข้อความที่บุรินทร์เป็นคนโพสต์ และมีข้อความที่พัฒน์นรีตอบโต้รวม 3 ครั้ง สองครั้งแรกไม่เข้าข่ายความผิด พนักงานสอบสวนจึงไม่ตั้งข้อหาจากสองข้อความนั้น แต่ตั้งข้อหาจากคำว่า "จ้า" เท่านั้น
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ไอลอว์ ซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์การตั้งข้อกล่าวหา ก็ยืนยันลักษณะเดียวกันว่า พนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่ในวันดังกล่าวไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติมด้วยวาจา นอกจากให้รับทราบจากการอ่านบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฉบับดังกล่าวเท่านั้น และนอกจากข้อความส่วนที่เปิดเผยออกมาแล้ว บันทึกข้อกล่าวหาฉบับดังกล่าวก็ไม่มีส่วนไหนที่ระบุเกี่ยวกับการกระทำที่จะเป็นความผิดได้อีก
 
ดังนั้น ในกระบวนการการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ การกระทำที่เป็นเหตุให้พัฒน์นรีถูกตั้งข้อหาในคดีนี้มีเพียงการกล่าวคำว่า "จ้า" เพียงอย่างเดียว ไม่มีระบุถึงการกระทำอื่นใดของพัฒน์นรีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดอีก โดยมีบทสนทนาระหว่างพัฒน์นรีและบุรินทร์ก่อนหน้านั้นเป็นพฤติการณ์ประกอบ
 
อย่างไรก็ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 การตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีกับบุคคลใด ตำรวจมีหน้าที่ต้อง "แจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด" เพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจว่าตัวเองถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการกระทำใด และเพื่อให้ผู้ต้องหาให้การได้ตรงต่อความเป็นจริงและมีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานต่อสู่คดีได้อย่างเต็มที่ 
 
ในกรณีนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำเพียงแค่การกล่าวคำว่า "จ้า" เท่านั้น หากพัฒน์นรีจะได้ส่งข้อความอื่นที่ผิดกฎหมาย ตำรวจก็ไม่ได้แจ้งว่าเอามาแจ้งข้อกล่าวหาด้วย เมื่อไม่ได้ผ่านกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้การต่อสู้คดี ตำรวจก็ไม่สามารถยกการกระทำหรือการแชทข้อความอื่นๆ มาเป็นเหตุในการดำเนินคดีได้ ดังนั้น หากตำรวจจะยกเอาการกระทำอื่นขึ้นมาดำเนินคดีโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบให้ถูกต้องก็จะเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และศาลจะต้องยกฟ้องคดีนี้ ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ส่วนนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ตำรวจทุกคนทราบดีอยู่แล้ว
 
ดังนั้น ที่พ.ต.อ.โอฬาร แถลงข่าวว่า มีพฤติกรรมอื่นประกอบอีกที่เป็นความผิด ทั้งที่ไม่ได้มีอยู่ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา จึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างของพ.ต.อ.โอฬาร ระหว่างการแถลงข่าวเท่านั้น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวมีอยู่จริงตำรวจคงต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบและบันทึกไว้อย่างเป็นทางการในเอกสารแล้ว 
 
ส่วนที่พ.ต.อ.โอฬาร กล่าวว่า ไม่อาจเปิดเผยพฤติกรรมที่เป็นความผิดในคดีนี้ได้เพราะคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนนั้น ที่จริงแล้วทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีมาตราใดที่ห้ามพนักงานสอบสวนเปิดเผยการกระทำที่เป็นเหตุให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพียงแต่ในทางปฏิบัติ คดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนก็ไม่ควรนำรายละเอียดมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันการแทรกแซงหรือทำลายพยานหลักฐาน 
 
แต่ในกรณีที่สาธารณชนเกิดความสงสัยต่อการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมของตำรวจ หากมีข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้สาธารณชนคลายความกังวลใจได้ เจ้าหน้าที่ก็สามารถเลือกนำข้อมูลบางส่วนที่ไม่กระทบต่อการแสวงหาพยานหลักฐานมาชี้แจงได้ 
 
โดยสรุปแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ออกมากล่าวอ้างต่อสาธารณะว่ามีพฤติกรรมที่เป็นความผิด แต่ไม่แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบ และไม่กล้าเปิดเผยให้สาธารณชนหายสงสัยว่าพฤติกรรมนั้นคืออะไร ในทางคดีเจ้าหน้าที่อาจกำลังดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนในทางสาธารณะเจ้าหน้าที่อาจกำลังทำให้ตัวเองสูญเสียความชอบธรรม