1808 1253 1748 1371 1432 1379 1917 1684 1323 1980 1322 1372 1940 1815 1608 1071 1937 1740 1580 1536 1399 1351 1615 1948 1355 1055 1468 1726 1641 1113 1451 1664 1509 1072 1514 1102 1523 1229 1488 1076 1104 1520 1559 1981 1786 1447 1278 1625 1514 1878 1304 1941 1433 1966 1346 1765 1173 1022 1530 1932 1097 1553 1489 1163 1875 1029 1021 1006 1138 1376 1014 1935 1426 1920 1962 1272 1229 1435 1003 1721 1640 1056 1720 1115 1035 1343 1633 1237 1236 1014 1008 1256 1112 1957 1289 1994 1427 1590 1113 หนึ่งปีหลังถูกจับกับ "ปาล์ม วศิน" ตัวละครที่เกือบถูกลืมในวันทำประชามติ 7 ส.ค. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

หนึ่งปีหลังถูกจับกับ "ปาล์ม วศิน" ตัวละครที่เกือบถูกลืมในวันทำประชามติ 7 ส.ค.

 
6 สิงหาคม 2559 หนึ่งวันก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภาพและชื่อของเด็กหนุ่มคนหนึ่งปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาในช่วงเย็น เขาถูกจับกุมและส่งเข้าห้องขังที่สถานีตำรวจภูธรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในข้อหาก่อความวุ่นวายในการลงประชามติ จากการไปแจกใบปลิวรณรงค์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดในอ.ภูเขียว ข่าวรายงานเพียงว่า เขาชื่อ วศิน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เขาถูกจับพร้อมกับคู่คดีของเขาอีกคนหนึ่ง คือ จตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาก่อน
 
เนื้อหาที่ปรากฏบนในสื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่การลงประชามติและผลการลงประชามติเป็นหลัก ขณะที่การที่วศินและจตุภัทร์ถูกคุมขังจนไม่ได้มีโอกาสไปลงประชามติด้วย กลายเป็นประเด็นที่คนสนใจน้อยกว่า ต่อมาวศินยื่นขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวออกไปก่อน ส่วนจตุภัทร์ยังคง "ดื้อแพ่ง" ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำและอดข้าวประท้วงต่ออีก 12 วัน ทำให้กระแสความสนใจของสังคมจับจ้องอยู่ที่การต่อสู้ของจตุภัทร์เสียมากกว่า
 
วศิน หรือ ปาล์ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จึงเป็นตัวละครตัวหนึ่งในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ถูกมองข้ามไปบ้าง ตลอดหนึ่งปีนับตั้งแต่วันถูกจับ เขายังคงต้องวนเวียนไปรายงานตัวในคดีของเขา ไปต่อสู้คดีที่ศาล และกลับมาเรียนหนังสือเพื่อใช้ชีวิตของตัวเองต่อ หนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์ เราได้มาพูดคุยกับตัวละครที่มีบทบาทในเหตุการณ์ครั้งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างน้อยเพื่อที่เราจะได้ไม่ลืมว่า การจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพต้องเอาอะไรไปแลกมาบ้าง
 
 
721
 
 
ช่วยเล่าเรื่องวันที่ถูกจับที่ตลาดภูเขียวให้ฟังหน่อย 
 
ผมเป็นคนเพชรบูรณ์ แต่ตอนมัธยมไปเรียนที่อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ทะเบียนบ้านเลยยังอยู่ที่ภูเขียว เนื่องจากเป็นช่วงลงประชามติ ผมจึงกลับไปที่ภูเขียวเพื่อเตรียมจะไปลงประชามติ
 
บรรยากาศประชามติแถวนั้นไม่มีการรณรงค์อะไรกันเลย ผมถามชาวบ้าน ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง เห็นบอกว่า "ลงอะไรไม่รู้" ดูทีวีก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะโปรโมตหรือบอกประชาชนเลยว่า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผมเลยอยากช่วยให้ข้อมูล อยากให้ความรู้เขา
 
ผมติดตามเฟซบุ๊กของ "ไผ่ ดาวดิน" อยู่พอดี เห็นเขาโพสต์ว่าอยู่ที่ภูเขียวก็เลยทักไป ผมติดตามไผ่มานานก็เลยอยากเจอ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำกิจกรรมอะไร ทักไปเพราะเผื่อจะได้ไปนั่งคุยกันเฉยๆ ไผ่ก็ตอบกลับมาว่า ตอนเย็นๆ วันนั้นเขาจะไปแจกข้อมูลและชวนไปด้วยกัน ผมก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะแถวนี้ก็เป็นบ้านที่เราอยู่มานาน คงไม่มีปัญหาอะไร คงไม่เหมือนกับความวุ่นวายที่กรุงเทพฯ
 
วันนั้นผมไปเจอกับไผ่ตรงจุดที่นัดกันแถวตลาด ประมาณ 4-5 โมงเย็น เริ่มเดินแจก ผมเดินไปไม่ถึง 300 เมตรก็ถูกจับแล้ว ผมไม่เคยทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ พอมีคนเข้ามาชาร์จผมก็ไม่ดื้อ ไม่ได้เดินต่อ เขาขอดูเอกสารผมก็เอาให้ดู แต่รู้ทีหลังว่า ตอนผมเข้าไปนั่งรอในโรงพักแล้ว ไผ่ยังเดินเข้าไปแจกเอกสารในตลาดต่อ
 
 
จริงๆ แล้วไม่ได้สนิทกับไผ่มาก่อนเหรอ?
 
ใช่ครับ ส่วนตัวผมติดตามเฟซบุ๊กของเขาอย่างเดียว พอเห็นเขามาใกล้ๆ เราก็เลยอยากคุยกับเขา ไม่เคยเจอกันมาก่อน เจอกันวันนั้นวันแรกแล้วก็ได้นอนด้วยกันสองคืนเลยครับ (หัวเราะ)
 
 
พอไปเจอไผ่แล้ว ได้คุยอะไรกันบ้าง?
 
ตอนแรกยังไม่ได้พูดอะไรเลย ไปเจอกันก็แจกเอกสารเลย จะได้คุยกันก็ตอนเข้าห้องขังที่สถานีตำรวจแล้วครับ
 
 
อยู่ในห้องขังกันสองคืน คุยอะไรกันบ้าง?
 
หลายเรื่องมากเลยครับ เช่น เรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอนอยู่ด้วยกันจนผลการทำประชามติออก ก็คุยเรื่องผลที่ออกมา แล้วก็แปลกใจด้วยกันเรื่องผลที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ตั้งคำถามกันว่า ทั้งๆ ที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชนตรงจุดนั้น แต่ประชาชนตรงนั้นกลับไม่เลือกรัฐธรรมนูญที่มาจากทหาร 
 
 
เห็นข่าวแล้วว่า มีคนถูกจับมากมาย ทำไมยังกล้าออกไปแจกใบปลิวอีก?
 
ผมคิดว่า มันเป็นบ้านตัวเอง เป็นบ้านที่อยู่มา 3-4 ปี ไม่คิดว่าจะโดนแบบนี้ ไม่คิดว่าจะโดนจับด้วยซ้ำ แค่ตั้งใจจะให้ความรู้เขา เอกสารที่ผมแจกวันนั้นก็ได้อ่านดูแล้ว ผมก็เห็นว่ามันเป็นความจริง แล้วทำไมเราจะบอกความจริงคนอื่นไม่ได้
 
 
บรรยากาศตอนที่แจก ชาวบ้านในตลาดมีปฏิกริยาอย่างไร?
 
เขาก็งงๆ นะครับ ว่า ที่มาแจกนี้คืออะไร? ผมก็บอกเขาว่า ลองพิจารณาดูนะครับ ข้อมูลเกี่ยวกับการทำประชามติพรุ่งนี้ เขาก็ยิ้มๆ
 
 
โดนจับแล้วรู้สึกอย่างไร? 
 
ตอนแรกที่โดนจับก็งงไปหมดเลย พอรู้ตัวว่าถูกจับแล้วก็กลัว กลัวคนที่บ้านรู้ครับ แต่สุดท้ายเขาก็รู้อยู่ดี หลังจากได้ประกันตัวออกมาแล้ว คนที่บ้านเล่าให้ฟังว่า มีสันติบาลไปหาผู้ปกครองที่บ้าน 30-40 คน ไปทั้งที่บ้านที่เพชรบูรณ์และที่ภูเขียว 
 
 
แล้วที่บ้านว่าอย่างไรบ้าง?
 
ตอนแรกกลัวเขาจะว่า แต่สุดท้ายเขาก็เข้าใจ ตอนผมยังอยู่ในห้องขัง เขาก็บ่นๆ ว่าทำไมต้องมาทำแบบนี้ เพราะถึงเราทำไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่พอเราได้ออกไปแล้ว เราบอกว่า อยากให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะในทีวีไม่ได้ให้ความรู้ตามจริง ให้แต่ข้อมูลเดิมๆ คนที่บ้านเขาก็เข้าใจว่า เราทำเพื่ออะไร 
 
 
ผลกระทบจากการดำเนินคดีเป็นอย่างไร?
 
ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยคิดอะไรอยู่แล้วเรื่องที่คดีล่าช้า รวมทั้งกรณีที่ช้าเพราะศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตให้ไผ่เดินทางมาพิจารณาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดภูเขียวด้วย แต่รู้สึกค่อนข้างหมดความหวังกับกระบวนการยุติธรรมที่นึกจะเอาใครไปขัง นึกจะถอนประกันใครก็ได้ ผมไปศาลมา 4-5 ครั้งแล้ว ก็ลำบากบ้าง ต้องนั่งรถทัวร์จากโคราชไปภูเขียว แต่มองโลกในแง่ดีก็ได้ว่า เวลาไปศาลแต่ละครั้งก็ได้มีโอกาสไปเจอเพื่อนๆ อีกหลายคนด้วย 
 
 
ชวนเพื่อนที่เรียนที่เดียวกันไปทำกิจกรรมทางการเมืองบ้างหรือเปล่า?
 
อยู่ที่นี่ ผมไม่ค่อยได้ทำครับ ดูเหมือนคนที่นี่ไม่ค่อยตื่นตัวทางการเมืองเท่าไร เพื่อนหลายคนที่เขาคิดเหมือนกันเข้ามาถามไถ่กันก็มีอยู่บ้าง จริงๆ ก็ไม่น้อยนะ เขาก็มาถามว่า เขาทำกับมึงแบบนี้ได้ยังไง แต่ผมเองก็ไม่ได้มียุทธวิธีในการทำกิจกรรม ผมเองไม่เคยทำเท่าไรเลยไม่รู้ว่าต้องทำยังไง คือ ผมก็อยากทำแหละแต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
 
 
มีเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยกับเราบ้างหรือเปล่า?
 
ส่วนใหญ่ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่เข้ามาคุยกับผมนะ (หัวเราะ) ที่นี่มีระบบโซตัส (SOTUS) ค่อนข้างแรง และผมก็ไม่ค่อยชอบระบบ SOTUS อยู่แล้ว พอผมโดนจับก็มีคนเอาภาพข่าวของผมไปเม้าท์กันในกลุ่มบ้าง เอาไปประจาน แต่ผมก็ไม่ค่อยซีเรียสอะไร 
 
 
สองคืนในห้องขัง ประสบการณ์เป็นอย่างไร?
 
เข้าไปตอนแรกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยต้องเข้า ก็เหงื่อตก คิดมาก กลัวที่บ้านรู้ ห่วงที่บ้านเป็นหลัก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทหารต้องไปที่บ้านแน่ แต่พอหลังจากคนที่บ้านมาหาเพื่อพูดคุยกันแล้ว ผมก็สบายใจขึ้นมาก เพราะตอนแรกคิดว่า เขาจะด่ามากกว่านั้นอีก (หัวเราะ) ตอนอยู่ในห้องขัง ไผ่ก็คุยสนุก เพิ่งได้มีโอกาสนั่งคุยกันจริงๆ จังๆ 
 
สภาพในห้องนั้นเน่ามาก ตำรวจบอกว่า ห้ามสูบบุหรี่ แต่ในรางระบายน้ำก็มีก้นบุหรี่อยู่เต็มไปหมด ห้องน้ำก็ไม่มีประตู มีแค่กำแพงกั้น ผมกับไผ่ก็เห็นกันหมดแล้ว (หัวเราะ)
 
วันแรกมีข้าวกินจากที่พ่อของไผ่ซื้อมาให้ แต่วันต่อมาคุยกันว่า ต้องมีแรงกดดันจากคนข้างในมากขึ้น เราก็เลยคุยกันว่า จะอดอาหารดีไหม เพื่อบอกตำรวจว่า ไม่ใช่พวกเขาจับเรามาแล้วจะจบนะ ผมเองไม่มีอะไรเสียอยู่แล้วก็เลยเอาตามไปด้วย ก็พยายามทำให้เขารับรู้ว่า เราไม่ยอม ไม่รู้ทำไมตอนที่อยู่ในนั้นผมไม่หิวเลย แต่พอออกมาแล้วหิวนะ 
 
 
720
 
 
ไผ่ในสายตาของปาล์มเป็นคนอย่างไร?
 
มันโคตรเข้มแข็งเลย เป็นคนที่ยิ้มตลอด เข้มแข็งตลอด เป็นคนที่ไม่ทุกข์ไม่เศร้าอะไร เท่าที่ผมติดตามมา ก็เห็นว่า เขาจะทำเท่าที่เขาสามารถทำได้ มีสิทธิเสรีภาพเท่าไรก็แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีความกลัวอะไรเลย เห็นเขาสู้แล้วก็เป็นข่าวออกมาบ่อย ทำให้คนรับรู้และรู้ว่า ประเด็นการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว
 
 
ตอนรู้ว่า ถูกดำเนินคดีแล้วรู้สึกอย่างไร?
 
ตกใจครับ เพราะเท่าที่ติดตามการทำกิจกรรมที่กรุงเทพมา เห็นว่า คดีส่วนใหญ่ก็จะยังอยู่ที่ชั้นตำรวจ แต่ของผมเหมือนจะเป็นคดีแรกที่สั่งฟ้อง ก็ตกใจว่า ทำไมอัยการกล้าสั่งฟ้อง
 
ตอนแรกกลัวอยู่บ้าง แต่หลังๆ ก็ไม่เท่าไร เพราะผมรู้สึกว่า การดำเนินคดีแบบนี้น่าจะเป็นการทำเพื่อปรามมากกว่าอยากจะลงโทษกันจริงจัง
 
 
จุดเริ่มต้นที่มาสนใจการเมือง คืออะไร?
 
เริ่มตั้งแต่ตอนอยู่มัธยมต้น มีอาจารย์คนหนึ่ง เขามีความคิดเห็นทางการเมืองไปแนวทางฝั่ง กปปส. แล้วก็ชอบแชร์ข้อมูลต่างๆ ผมก็เห็นแล้วก็มานั่งคิดว่า มันจริงหรือเปล่า ก็เลยไปหาข้อมูลเองในอินเทอร์เน็ต แล้วก็ได้เห็นความจริงหลายอย่างทั้งสองฝั่ง เห็นว่า หลายเรื่องก็ไม่ถูกต้อง เห็นการเอาประเด็นส่วนตัวมาใช้ทำลายกัน
 
ผมเคยไปคอมเมนท์ถามอาจารย์คนนั้น บางครั้งเขาก็ตอบแล้วก็โต้เถียงกัน แต่บางครั้งเขาก็ไม่ตอบ ทำให้เราต้องอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดเวลาเพื่อมาใช้ตอบ ก็คงเริ่มจากตรงนั้นเป็นต้นมา
 
 
นิยามว่า แนวคิดทางการเมืองของตัวเองเป็นคนเสื้อแดงหรือเปล่า?
 
ไม่ครับ เพราะบางอย่างของเสื้อแดงผมก็ไม่โอเค 
 
 
แล้วจะนิยามแนวคิดทางการเมืองของตัวเองยังไงดี?
 
เป็นคนที่หวงแหนในสิทธิเสรีภาพ สิทธิในการแสดงออกของตัวเองเท่านั้นครับ  
 
 
ถ้าปีหน้ามีเรื่องตั้ง จะยังไปทำกิจกรรมรณรงค์อีกไหม?
 
ไปแน่นอนครับ คงไปรณรงค์ให้เขาไม่ขายเสียงมั้งครับ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องขายเสียงเท่าไร มันเป็นประเด็นที่เข้าใจไดง่ายๆ เลย ถ้าเราไม่ชอบแม้จะมีคนเอาเงินมาให้ เราก็ไม่เลือก แต่บางคนชอบบอกว่า คนแก่เขาไม่มีความรู้ความเข้าใจ ผมคิดว่า ก็เป็นการดูถูกเขาเกินไปหน่อย เพราะจริงๆ คนชนบท ชนชั้นล่าง สนใจการเมืองมากกว่าคนชั้นสูงอีกนะครับ เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเติบโตได้ เขาต้องหาเช้ากินค่ำ เศรษฐกิจจะเป็นยังไงก็กระทบเขาเต็มๆ คนชนชั้นข้างบนต่างหากที่ไม่ต้องสนใจอะไรมาก เพราะมีกินมีใช้ มีเงินเดือนอยู่แล้ว ถ้าล้มเมื่อไรก็ล้มบนฟูก 
 
 
ถ้าย้อนเวลาได้ กลับไปยังวันที่ 6 สิงหาคม ปีที่แล้ว เราจะยังทำเหมือนเดิมอีกไหม?
 
ทำครับ เพราะว่า มันเป็นสิ่งที่ผมอยากทำจริงๆ คือ การให้ความรู้ไป ให้คนอื่นได้รู้ว่า การทำประชามติครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนทั้งประเทศอย่างไร อย่างน้อยเรารู้แล้วก็ให้คนอื่นได้รู้ด้วยก็ยิ่งดี 
 
 
แต่เราแจกได้แค่ 300 เมตรเองนะ มีคนได้รับเอกสารสัก 30 คนได้ไหม?
 
ไม่ถึงครับ 10 คนเอง (หัวเราะ)
 
 
แล้วสุดท้ายประชามติก็ผ่านความเห็นชอบอยู่ดี ยังคิดว่ามันคุ้มค่าอีกเหรอ?
 
คำว่าคุ้มหรือไม่คุ้มไม่เคยผุดขึ้นมาในหัวเลยครับ ก็ดีเสียอีกที่ได้ทำไปแล้ว เราสู้ไปแบบนี้ก็ดีกว่าไปยอมรับ 
 
 
คิดว่าการโดนจับของเราให้บทเรียนอะไรกับสังคมได้บ้างหรือเปล่า?
 
มันคงเป็นบทเรียนเฉพาะคนกลุ่มเดียว เพราะเราก็ไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงอะไรที่คนจะมารู้จัก แต่ก็ยังดีที่ได้ให้บทเรียนบ้าง ก็ดีกว่าไม่มีใครรู้อะไรเลยครับ
 
 
 
ชนิดบทความ: