1475 1795 1728 1888 1371 1376 1982 1071 1682 1209 1847 1505 1923 1347 1579 1848 1532 1995 1842 1690 1027 1591 1538 1901 1064 1843 1072 1053 1645 1398 1291 1277 1889 1082 1153 1944 1839 1188 1197 1596 1199 1173 1786 1267 1627 1654 1912 1742 1202 1530 1596 1535 1007 1811 1813 1467 1845 1283 1867 1061 1215 1413 1647 1927 1978 1203 1930 1008 1462 1142 1225 1285 1249 1702 1118 1611 1479 1461 1177 1975 1844 1729 1917 1711 1557 1652 1462 1853 1506 1828 1318 1959 1461 1924 1807 1794 1075 1424 1259 สามคดีศาลพิพากษาตรงกัน ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สามคดีศาลพิพากษาตรงกัน ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น


แม้ว่าทางปฏิบัติทั่วไปของตำรวจทุกสถานี เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้ หรือผู้ต้องหาไปรายงานตัวและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้วด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษเพื่อเก็บไว้เป็นเอกสารในสำนวนคดีนั้น แต่อีกด้านหนึ่งลายพิมพ์นิ้วมือก็นับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วย ทางปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ผู้ต้องหาหลายคนที่เคยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเห็นว่า ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่อยากให้นิ้วมือเลอะ ไม่อยากถูกตีตราว่าถูกดำเนินคดี หรือไม่อยากถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม เคยถูกดำเนินคดีซ้ำฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ซึ่งเคยมีคดีที่ศาลพิพากษาด้วยว่า การที่ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้นเป็นความผิด

 

แต่ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอย่างน้อยสามคดี ที่พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ในการพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วเห็นว่า การที่ผู้ต้องหาปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีเหตุจำเป็น โดยมีข้อเท็จจริงที่สำคัญทั้งสามคดีในลักษณะเดียวกัน ดังนี้

1. คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน ไม่ได้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือจากที่เกิดเหตุมาเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ และจำเลยก็รับแล้วว่าได้กระทำไปตามที่ถูกกล่าวหาจริง การเก็บลายพิมพ์นิ้วมือจึงไม่ได้ช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงใดเพิ่มเติม และไม่ช่วยให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น พนักงานสอบสวนจึงไม่ได้มีอำนาจสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132(2)

2. ผู้ต้องหาเคยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้กับพนักงานสอบสวนแล้วในคดีก่อนหน้านั้น จึงมีเอกสารเดิมให้พนักงานสอบสวนสามารถนำกลับมาใช้งานได้ และผู้ต้องหาก็ได้มอบบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อการแสดงตัวแล้ว โดยเลขประจำตัวประชาชน และชื่อนามสกุลผู้ต้องหา สามารถใช้เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลังในระบบของสำนักงานตำรวจแหง่ชาติได้

3. พนักงานสอบสวนรู้จักผู้ต้องหา และไม่ได้มีข้อสงสัยว่า จะเกิดการปลอมตัวเอาบุคคลอื่นมาสวมรอยเป็นผู้ต้องหาแทน

 

 

2874

 

โดยเบื้องหลังของการต่อสู้คดีเกี่ยวกับการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวนจนนำมาซึ่งคำพิพากษายกฟ้องทั้งสามคดี ขณะเกิดเหตุมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหา และการทำงานของภาครัฐ ดังนี้

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 แม้จะคุ้มครองชัดเจนว่าการเก็บข้อมูลใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล แต่มาตรา 4(5) ก็ยกเว้นว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่กับการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 23(1) กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และมาตรา 24(1) ให้หน่วยงานของรัฐที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้เปิดเผยให้กับหน่วยงานแห่งอื่นเพื่อนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ได้

พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มาตรา 4 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและการให้บริการ และมีมาตรา 13 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเชื่อมโยงข้อมูลในระบบดิจิทัลระหว่างกัน โดยมีมาตรา 19 กำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภายในสองปี

 

คดีของยิ่งชีพ ที่ศาลแขวงปทุมวัน

15 ธันวาคม 2565 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อตำรวจสน.ลุมพินี รวมสามครั้ง ระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในคดีนี้การให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี เพราะจำเลยรับว่า ร่วมชุมนุมและเป็นบุคคลตามภาพถ่าย

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“แม้จำเลยไม่ยินยอมให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่พนักงานสอบสวนย่อมใช้บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่จำเลยมอบให้ในการตรวจสอบประวัติอาชญากรและข้อมูลอื่นๆ ของจำเลยได้ ... ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540 มาตรา 23(1) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีย่อมนำข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาที่จัดเก็บและอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพเพื่อใช้ประโยชน์ในการสอบสวนคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่ได้”

“ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ 2554 ออกตามความพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เห็นว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เป็นบทบัญญัติที่เป็นฐานในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจฯ เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ใช่กฎหมายที่มีบทบัญญัติมุ่งใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปแต่เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ระเบียบที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่สั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือได้ทุกคดีไม่อาจใช้อ้างหรือบังคับแก่จำเลยได้...”

“การผลักภาระให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งเคยพิมพ์ลายนิ้วมือของตนไว้ครั้งหนึ่งแล้วที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนอีกครั้งเพื่อติดไว้ในสำนวนการสอบสวนจึงเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณย์ของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และแม้จำเลยจะยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์แต่อย่างใด”

 

คดีของพรเพ็ญ ที่ศาลแขวงดุสิต

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาคดีที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือต่อตำรวจสน.นางเลิ้ง ซึ่งคดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมแสดงออกในการชุมนุมสาธารณะ และถูกตำรวจดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“ศาลจำเป็นต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์เป็นรายคดีไปว่า การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าพนักงานหรือไม่ หรือการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเนื่องจากเจ้าพนักงานไม่มีทางแก้อย่างอื่นอีก ... จำเลยที่ 2 เคยตกเป็นผู้ต้องหาและเคยให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีแล้ว ดังนี้การตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือสามารถใช้ลายพิมพ์นิ้วมือที่เคยพิมพ์ไว้แล้วในคดีอื่นในการตรวสอบได้ ... ”

“เมื่อจำเลยที่ 2 กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมโดยไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ สามารถตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 2 มีประวัติเคยต้องคดีอาญา 1 รายการ ... ส่วนที่ได้ความจากพันตำรวจโทสำเนียงว่า หากไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือใหม่แต่ใช้ลายนิ้วมือเดิมพนักงานอัยการโจทก์จะไม่รับสำนวน คดีนี้กลับได้ความว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือและใช้ชื่อและชื่อสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนตรวจสอบประวัติอาชญากร และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโจทก์ ไม่ปรากฏว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่รับสำนวนแต่อย่างใด ข้ออ้างดังกล่าวจึงขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง"

“ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ใช้บังคับ และมาตรา 23(1) สรุปมีใจความสำคัญว่า หน่วยงานของรัฐต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นเพื่อการให้การดำเนินงานของหน่วยงานของตนบรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น”

 

คดีของยิ่งชีพ ที่ศาลแขวงดุสิต

22 สิงหาคม 2566 ศาลแขวดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อตำรวจสน.สำราญราษฎร์ โดยให้เหตุผลไว้ทำนองเดียวกันกับคดีก่อนหน้านี้

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“คดีนี้ร้อยตำรวจเอกรณกรไม่ได้ไปเก็บลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจุดประสงค์ในการพิมพ์ลายนิ้วมือในครั้งนี้ก็เพื่อใช้ประวัติอาชญากรของจำเลยในการเพิ่มโทษจำเลยเป็นหลัก หาใช่เพื่อจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้นไม่”

“จำเลยได้พิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 (ก่อนเกิดเหตุคดีนี้) แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถใช้ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยดังกล่าวในการดพิ่มโทษจำเลยได้ ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือจึงมีเหตุอันสมควร”

 

 

 

เอกสารแนบSize
คำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน อ191_2565 ยิ่งชีพ.pdf5.63 MB
คำพิพากษาศาลแขวงดุสิต อ703_2565 พรเพ็ญ.pdf4.39 MB
คำพิพากษาศาลแขวงดุสิต 1209_2565 ยิ่งชีพ.pdf14.63 MB
ชนิดบทความ: