1356 1117 1962 1418 1420 1267 1207 1196 1927 1426 1330 1739 1350 1889 1562 1026 1616 1895 1055 1400 1039 1948 1661 1427 1658 1791 1360 1532 1442 1323 1597 1923 1495 1791 1129 1026 1859 1417 1117 1108 1698 1764 1427 1769 1717 1874 1442 1526 1614 1488 1507 1913 1489 1886 1173 1382 1892 1929 1443 1189 1790 1473 1860 1168 1315 1216 1171 1189 1459 1266 1068 1503 1796 1279 1128 1398 1531 1149 1870 1864 1975 1007 1209 1806 1271 1300 1721 1300 1234 1754 1047 1281 1022 1971 1750 1076 1915 1871 1281 #Attitude Adjusted? ดีเจนินจา : ตามกฎของ คสช. ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ความจริง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

#Attitude Adjusted? ดีเจนินจา : ตามกฎของ คสช. ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ความจริง

หนึ่งวันหลัง คสช. เข้ายึดอำนาจ ทหารบุกเข้าไปที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เพื่อสลายการรวมตัวของประชาชนประมาณ 20 คน ที่ฝ่ายทหารเรียกปฏิบัติการนี้ว่า"ขอนแก่นโมเดล" พร้อมกับตรวจยึดข้าวของอุปกรณ์และค้นพาหนะทั้งหมดในบริเวณนั้น ราวกับฉากหนังบู๊ที่น่าตื่นเต้นของความพยายามใช้กำลังทหาร หยุดความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้

 
คดี “ขอนแก่นโมเดล” กลายเป็นเป็นคดีมหากาพย์ที่ซับซ้อนที่สุดคดีหนึ่งในยุค คสช. มีจำเลยรวม 26 คน ทั้งหมดเป็นชาวอีสานมีภูมิลำเนาในหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร ฯลฯ ประกอบอาชีพหลากหลายตั้งแต่ข้าราชการยันชาวนา ส่วนใหญ่อายุมากระหว่าง 50-60 ปี แต่ทุกคนบอกว่า พวกเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้รวมกันเป็นขบวนการต่อต้าน คสช. มีเพียงประธิน จำเลยที่หนึ่ง เพียงคนเดียวที่เขียนภาพร่างและบรรยายเรื่องราวต่างๆ ไว้ความยาว 38 หน้า เป็นแผนการสร้างประเทศไทยตามความฝันของเขา แต่คนอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเห็นพ้องด้วย
 
เบื้องต้นทั้งหมดถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ต่อมาถูกเชื่อมโยงกับอาวุธที่บางคนเอาติดมาในรถด้วย จนคดีนี้กลายเป็นคดีข้อหาหนัก คือ เตรียมก่อการร้าย
 
พฤติการณ์การบุกจับกุมผู้ที่สงสัยว่า เกี่ยวข้องกับแผนการ “ขอนแก่นโมเดล” ของประธินมีความซับซ้อน มีคนถูกจับกุมหลังจากนั้นและเอาตัวไปสอบสวนอีกจำนวนมาก บางคนถูกปล่อยตัวโดยรวดเร็วบาคนก็ถูกควบคุมตัวอยู่นาน และเชื่อมโยงไปเป็นคดีที่สองและที่สามต่อเนื่องกัน จำเลยแต่ละคนต้องติดคุกระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้ประกันตัวระหว่าง 5-9 เดือน ก่อนทยอยได้รับประกันตัวทีละคน การไปขึ้นศาลแต่ละครั้งที่ศาลทหารขอนแก่นซึ่งห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็ก จำเลยและทนายความเข้าไปในห้องก็เกินความจุแล้ว ทำให้คนนอกแทบไม่ได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์หรือทำความเข้าใจความเป็นไปของคดีเลย คดีนี้ใช้เวลาพิจารณาอยู่นานกว่าห้าปี ก็สืบพยานฝ่ายโจทก์ไปได้เพียง 5 ปากจาก 90 ปาก จนกระทั่ง คสช. หมดอำนาจเสียก่อน และสั่งให้โอนคดีกลับไปพิจารณาต่อที่ศาลปกติ
 
ผ่านมาห้าปี ความตึงเครียดของคดีจึงค่อยๆ ลดลง
 
และเรื่องราวจากปากของจำเลยจึงค่อยๆ มีโอกาสเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ
 
1171
 
 
จุดกำเนิด “ดีเจนินจา” คนดังเมืองขอนแก่น
 
กัลยรักษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ดีเจนินจา” จำเลยที่ 23 ในคดี “ขอนแก่นโมเดล” เปิดใจเล่าเรื่องของเธอแบบเต็มๆ ครั้งแรกหลังรู้สึกโล่งใจเมื่อคดีถูกจำหน่ายออกจากอำนาจของศาลทหาร
 
กัลยรักษ์เล่าเรื่องของตัวเองว่า สมัยที่เรียนอยู่ม.ต้น ใช้ชื่อจริงว่า ชนินทร ครูที่โรงเรียนก็เรียกว่า ชนิน ประกอบกับบุคลิกของเธอที่เป็นคนกระตือรือร้น ชอบทำกิจกรรม ช่วยงานโรงเรียน ครูก็บอกว่า จะเรียกว่านินจาฮาโตริดีกว่า เพราะตอนนั้นการ์ตูนเรื่องนี้เพิ่งเข้ามา ต่อมาเพื่อนก็เรียกตาม ระหว่างที่ยังเรียนอยู่ก็ไปสอบใบอนุญาตผู้ประกาศฯ ของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อสอบผ่านก็เริ่มทำงานไปด้วยระหว่างเรียนเพื่อหาเงินเรียน เลยตัดสินใจใช้ชื่อ “ดีเจนินจา” จัดรายการคลื่นวิทยุท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น
 
ดีเจนินจา จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานเป็นนักจัดรายการวิทยุหลายรายการ โดยส่วนใหญ่เป็นรายการเพลง บันเทิง และพูดเรื่องในจังหวัด จนะกระทั่งในช่วงการเมืองร้อนแรงมากขึ้นจึงมีคนมาชวนไปจัดรายการพูดเรื่องการเมือง และเป็นสถานีของกลุ่มคนเสื้อแดง เธอทำหน้าที่ในรายการนี้อยู่ประมาณหนึ่งปีก่อนเกิดการรัฐประหารโดย คสช.
 
“ตอนจัดรายการเสื้อแดง ใช้ชื่อว่า นินจา ที่โดนคดีนี้ก็เพราะจัดรายการนั่นแหละ เพราะเขาหมายหัวเราไว้เลย ทั้งที่เราไม่ได้เป็นแกนนำอะไร แต่เรามีชื่อเสียง เป็นนักประชาสัมพันธ์ เสื้อแดงในขอนแก่นจะรู้จักเราและฟังรายการเรา” กัลยรักษ์ หรือดีเจนินจา เล่า
 
 
เมื่อ คสช. เข้ามาชีวิตก็เปลี่ยนไปทันที
 
ก่อนเกิดคดีขอนแก่นโมเดล กัลยรักษ์อายุ 44 ปี และมีลูกสามคนและมีหน้าที่ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งรายได้หลักของเธอก็มาจากการจัดรายการวิทยุ กัลยรักษ์เล่าว่า วันที่ถูกจับแม่ของเธอนอนพักอยู่ที่โรงพยาบาล เธอต้องไปเฝ้าแม่ จึงไม่ได้สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากนัก เพียงรู้ว่า มีการทำรัฐประหาร
 
"ตอนค่ำของวันรัฐประหารมีอาการเวียนหัวเลยกลับมานอนอยู่ที่บ้าน เรามีโรคประจำตัว มีอาการวูบง่าย ความดันแปรปรวน ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือถ้าเกิดอะไรขึ้นมา มีเรื่องดีใจ เสียใจก็จะวูบไปก่อนเพื่อนเลย แล้วก็ได้รับหมายเรียกบอกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายร.8” กัลยรักษ์เล่า
 
วันรุ่งขึ้นเธอจึงเดินทางไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกที่ กรมทหารราบที่ 8 ค่ายสีหราชเดโชไชย หรือที่เรียกกันว่า “ค่าย ร.8” ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทหารที่รับรายงานตัวเพียงให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่ามารายงานตัวแล้ว แล้วก็ให้กลับบ้านได้
 
เธอเล่าต่อว่า วันต่อมาก็มีทหารโทรศัพท์มาหาตอนเจ็ดโมงเช้า แล้วก็ส่งทหารมาตามถึงหน้าบ้าน เอารถมารับให้กลับไปที่ค่าย ครั้งที่สองนี้เมื่อไปถึงก็ถูกควบคุมตัวเลย เมื่อเข้าไปข้างในก็เห็นคนที่ถูกจับมาก่อนถูกจับมัดมือนอนอยู่ในห้องโถง ซึ่งมีแต่คนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน
 
ดีเจนินจา อธิบายว่า ในบรรดาคนที่ถูกจับทั้งหมด เธอรู้จักอยู่สองคน ซึ่งเป็นคนที่ติดตามรายการของเธอ และเคยมาถามให้ช่วยทายหวย สำหรับความสัมพันธ์กับประธิน จำเลยที่หนึ่ง ผู้ยกร่างแผนการประเทศไทยที่เขาฝันอยากเห็น ดีเจนินจาเล่าว่า เคยติดต่อกันเรื่องการซื้อขายที่ดิน
 
“มีเสี่ยที่กรุงเทพบอกว่า จะมาดูบ้านของประธินเพื่อติดต่อซื้อ เราเลยโทรบอกประธินในช่วงคืนวันรัฐประหารพอดี เราไม่เคยเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่มีการนัดไปคุยกันด้วย ทหารเห็นว่า โทรศัพท์ติดต่อกันบ่อยจึงสงสัยว่า เป็นแนวร่วมระดับแกนนำ ทหารเอาภาพของใครก็ไม่รู้ที่เดินเข้ารีสอร์ทมาคนนึง แล้วกล่าวหาว่า เป็นเรา ทั้งที่คนในรูปนั้นอ้วนกว่ามาก” ดีเจนินจาเล่าถึงความเชื่อมโยงที่เธอต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้
 
 
1176
 
ชีวิตสามคืนแรกในค่าย พร้อมการสอบสวนที่มีทหารถือปืนยืนคุม
 
ระหว่างอยู่ที่ค่าย ร.8 เป็นเวลาสามวัน ดีเจนินจาเล่าว่า เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ใครมาเยี่ยมเลย ห้องที่เข้าไปพักอยู่เป็นห้องทำงานที่เอาเก้าอี้ เอาโต๊ะออก โดยมีทหารถือปืนอาวุธสงครามสี่คนคอยยืนคุมอยู่ ดีเจนินจาคาดการณ์ว่า สาเหตุที่เธอถูกแยกมาควบคุมตัวต่างหากคนเดียวเพราะมีโรคประจำตัว จึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
 
“จะเข้าห้องน้ำหรือทำอะไรต้องอยู่ในสายตาของเขาตลอด เราต้องใส่ชุดเดิมตลอดสามวัน ก็ขออนุญาตซักเสื้อชั้นใน เขาก็ให้ซักในห้องน้ำแล้วก็ตากไว้ตรงเก้าอี้ทำงานตรงนั้น แล้วเปิดพัดลมเป่า”
 
“เรามีเงินติดตัวมาอยู่ เขายึดกระเป๋าไปทั้งหมดแล้วให้เอาเงินออก เขามีข้าวกล่องและมีน้ำมาให้กิน ระดับพลทหารก็เคยฟังรายการของเรา รู้จักเรา พอนายไม่อยู่พวกพลทหารก็ถามว่า “พี่สิเอาหยัง ผมสิออกไปซื่อให่”” ดีเจนินจา เล่า
 
ดีเจนินจา เล่าว่า ทหารเอารูปผู้หญิงคนหนึ่งมาถามซ้ำๆ หาว่าเป็นรูปของเธอ แล้วก็เอาข้อมูลการโทรศัพท์ที่ติดต่อเรื่องขายที่ดินกับประธินมาเป็นประเด็น ซึ่งเธอก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการติดต่อกันทางโทรศัพท์ เมื่อถูกถามว่า รู้เรื่องการเมืองและโมเดลที่ประธินเขียนขึ้นหรือไม่ เธอก็ตอบว่า รู้ เพราะประธินก็เอาเอกสารนี้มาแจก แต่เธอไม่ได้อ่านทั้งหมดเพราะดูไปก็เหมือนนิยาย เมื่ออ่านคร่าวๆ เธอเองก็ยังเคยคิดว่า ประธินนี้บ้าหรือเปล่า แล้วก็เอาคืนไป
 
“ตอนอยู่ในค่าย ร.8 นี่เขาอัดแน่นเลย บางทีมา สามทุ่ม สี่ทุ่ม ให้กินข้าวห้าทุ่ม แล้วเอาทหารสี่คนพร้อมปืนยืนจี้ เอาสายน้ำเกลือรัดข้อมือ แล้วเอาปืนจ่อ เรากลัวสิ เพราะเราสามารถเป็นลมสลบไปได้ตลอด เราก็สวดมนต์ตลอดเวลา แม้จะตกใจอยู่แต่ก็มีสติ” ดีเจนินจา เล่า
 
“ผมขออนุญาตนะครับ คุณนินจาคุยมาสองวันยังไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย อาจจะทำอะไรที่รุนแรงกว่านี้ ทหารพูดอย่างนี้แล้วก็เอาผ้ามาปิดตา แล้วยังบอกว่า พวกผมจะทำอะไรคุณก็ได้ตามกฎของ คสช. ที่ยึดอำนาจ ทำได้ทุกอย่างเพื่อจะเอาความจริง” ดีเจนินจา เล่า
 
ดีเจนินจา ยังจำได้ว่า ทหารคนหนึ่งบอกกับเธอว่า คนที่ถูกจับมาพร้อมกันอีก 25 คนได้ซัดทอดมาถึงเธอแล้ว ในระหว่างที่เธอถูกปิดตาและถูกมัดมืออยู่เป็นเวลาประมาณสามชั่วโมง ทหารก็ทำเสียงขึงขังและทำให้รู้สึกเหมือนเอาปืนมาจ่อหัวอยู่ตลอด จนสุดท้ายเมื่อเธอไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่ม ทหารก็ยอมเปิดตาให้ แล้วเอาน้ำมาให้กิน
 
 
" ให้ดูภาพคนอื่นนอนคว่ำถูกมัดมือไพล่หลัง "
 
ดีเจนินจา เล่าด้วยว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในค่าย ร.8 ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้คุยกันเลย แต่วันหนึ่งเธอถูกพาเดินไปดูภาพชะตากรรมของคนอื่นอีก 25 คน ภาพที่เธอเห็นและจำติดตา คือ ทุกคนถูกจับมัดมือไพล่หลัง ผู้ชายทุกคนถูกจับนอนคว่ำ ผู้หญิงได้นั่งพิงกำแพงและถูกมัดขาด้วย สำหรับคนแก่ที่ป่วยแล้วก็ถูกมัดมือและนั่งพิงข้างฝาไว้ โดยมีทหารยืนคุมทุกจุด ซึ่งสำหรับเธอภาพที่เห็นวันนั้นเหมือนกับในหนังสงคราม
 
“บางคนที่เราไม่รู้จักเขาเงยหน้าขึ้นมามอง ถามว่า "คุณนินจาแม่นบ่คับ" เราก็ตอบได้แค่ว่า "แม่นๆ" แล้วก็น้ำตาไหลกับภาพที่เห็น เห็นพี่ประธินหน้าซีด เลยถามพี่ประธินไปว่า "เป็นจั๋งได๋?" พี่ประธินก็ตอบเพียงว่า "บ่เป็นหยัง ยังสู้อยู่...."” ดีเจนินจา เล่า
 
ตามคำบอกเล่าในเวลากว่าห้าปีให้หลัง เมื่อทหารพาเธอไปดูภาพชะตากรรมของคนอื่นแล้ว ทหารก็พามานั่งลงในบริเวณเดียวกันและถามว่า อยากจะโดนแบบเดียวกันหรือไม่ และยังขู่ว่า ถ้าหากยังไม่ให้ความร่วมมือจะถูกจับแยกไปไว้ค่ายที่โคราช แต่เธอก็ยืนยันไปว่า สิ่งที่เธอไม่รู้ ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถตอบให้ได้ตามที่ทหารต้องการ
 
เธอพอจำได้ว่า ในคืนวันที่สามได้รับแจ้งว่า ต้องเคลื่อนย้ายสถานที่ในคืนนั้น โดยไม่รู้ว่า จะพาไปที่ไหน ก่อนจะถูกย้ายมีทหารระดับผู้พันคนหนึ่ง เดินมายื่นมือถือให้แล้วถามว่า อยากโทรหาที่บ้านไหม แล้วให้ลูกน้องดูข้างนอกให้ ทหารคนนั้นยกมือไหว้บอกว่า “ผมขอโทษ ผมช่วยคุณไม่ได้ ผมพูดอะไรไม่ได้มาก” นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอมีโอกาสได้ติดต่อไปยังครอบครัวเพื่อบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง
 
“ก่อนออกจากค่าย ร.8 มีนายร้อยคนหนึ่งเอากระดาษเขียนด้วยดินสอมาให้พี่เซ็น บอกว่า ให้เซ็นรับรองข้อมูลให้หน่อย ทั้งที่เขาไม่ได้ข้อมูลอะไรไปจากเรา และบอกว่า ขอร้องให้เซ็น ไม่งั้นจะปิดสำนวนไม่ได้ แล้วเขาเองจะลำบาก เราก็จะโดนดึงเกมเอาไปไว้ที่อื่นอีก เราเลยเซ็นไป แต่ข้อมูลทั้งหมดเป็นดินสอ” ดีเจนินจา เล่า
 
หลังจากนั้นเธอก็ถูกเอาตัวขึ้นรถจีเอ็มซี โดยต้องใส่ผ้าปิดตาตอนเดินขึ้นรถ เมื่ออยู่บนรถแล้วก็ได้เปิดผ้าออกจึงรู้ว่า ทั้ง 26 คนอยู่ด้วยกันครบบนรถคันนั้น
 
 
ย้ายไปค่าย มทบ.23 ไปสถานีตำรวจ และเข้าเรือนจำ
 
เมื่อมาถึงสถานที่ควบคุมตัวที่ใหม่ ดีเจนินจาและคนที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดได้ทราบว่า สถานที่นั้น คือ ค่ายมณฑลทหารบกที่ 23 หรือ มทบ.23 หรือที่เรียกว่า ค่ายศรีพัชรินทร์ เป็นค่ายทหารขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ห้องพักที่พวกเขาได้อยู่ ก็คือคุกของทหารในค่ายทหาร ที่มีนักโทษคนอื่นที่ถูกคุมขังอยู่ด้วย
 
ดีเจนินจา เล่าถึงสภาพการคุมขังที่นี่ว่า ผู้หญิงสองคนที่ถูกจับในคดีนี้ถูกจับให้อยู่ห้องเดียวกัน และมีนักโทษคดีลักทรัพย์อีกสองคนอยู่ด้วย แต่ผู้ชายคดีนี้อีก 24 คน ได้อยู่ห้องเดียวกันทั้งหมด ซึ่งสามารถเกาะหน้าต่างเล็กๆ ปีนหากันเพื่อคุยกันได้ โดยมีพลทหารมาถามว่า ใครอยากได้อะไรจะออกไปซื้อให้
 
“ระหว่างอยู่ที่นี่ไม่ได้ถูกสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เราก็นอนอยู่เฉยๆ คุยกันได้ และมีคนมาเยี่ยมได้ ตอนนั้นลูกกับน้องชายก็แวะเอาเสื้อผ้ามาให้ได้ โดนขังอยู่ที่นี่ 4-5 วัน แล้วก็ถูกพาไปขังที่สถานีตำรวจอีกหนึ่งคืน จนตอนเช้าประมาณตีห้าก็มีทนายความมาตามหา” ดีเจนินจาเล่า
 
“ตำรวจในโรงพักก็เป็นคนที่เคยฟังรายการของเรา และพยายามช่วยให้เราติดต่อญาติได้ ตำรวจเขาส่งซิกให้โดยการส่งกระดาษมา เราไปแกะอ่านในห้องน้ำ เขาบอกว่า จะส่งโทรศัพท์มือถือให้โทรหาที่บ้าน แล้วเขาก็หันกล้องวงจรปิดหนีก่อนเอาโทรศัพท์มาให้เรา หลังจากนั้นผู้กำกับสภ.เมืองขอนแก่น กับรองผู้กำกับก็โดนสั่งย้ายทั้งชุดด้วย” ดีเจนินจา อธิบายถึงความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่เธอได้รับ
 
ตามกฎอัยการศึกเมื่อทหารจับกุมตัวบุคคลไว้ก็จะมีอำนาจควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเมื่อดีเจนินจาและคนอื่นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ “ค่ายร.8” รวมกับ “ค่ายมทบ.23” ครบ 7 วันแล้ว อำนาจควบคุมตัวของทหารจะหมดลง และในทางปฏิบัติทหารก็จะส่งตัวต่อให้ตำรวจ ซึ่งมีอำนาจควบคุมตัวต่ออีกไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากยังต้องการควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อต้องให้ศาลสั่ง “ฝากขัง” และควบคุมตัวผู้ต้องหาในเรือนจำปกติรวมกับผู้ต้องหาทั่วๆ ไป
 
ดีเจนินจา เล่าต่อว่า เมื่อถูกส่งตัวไปควบคุมในเรือนจำขอนแก่น ยังมีทหารไปเยี่ยมที่เรือนจำและไปพูดคุยอีกสามครั้ง เป็นนายร้อยคนเดิมที่เคยเอาเอกสารมาให้เซ็น มาหาเดือนละครั้งเราก็ถูกเบิกตัวออกมาในห้องรับรองของเรือนจำ
 
“คุณเป็นคนที่ดื้อมาเลยนะ ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับพวกคุณแล้วผมช่วยอะไรคุณไม่ได้ อย่ามาโทษพวกผมที่เป็นเจ้าหน้าที่นะ” เป็นถ้อยคำที่นินจาจดจำได้ว่า ทหารยศนายร้อยคนดังกล่าวฝากเอาไว้  
 
ชีวิตของดีเจนินจาระหว่างที่อยู่ในเรือนจำขอนแก่นประมาณ 5 เดือน เธอบอกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่า เธอพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ให้ช่วยต้อนรับแขกที่มาดูงาน และเมื่อทราบว่า เธอเป็นนักจัดรายการวิทยุ ก็เปิดเสียงตามสายช่วงเที่ยงให้เธอจัดรายการกับผู้ต้องขังทุกวัน เธอได้กลายเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ได้ใช้ความรู้ที่มีสอนเจ้าหน้าที่และเพื่อนนักโทษให้จัดรายการ เมื่อเรือนจำจัดงานใหญ่ก็ให้เธอเป็นพิธีกร ซึ่งเป็นงานที่เธอทำแล้วมีความสุข ก่อนที่เธอจะเป็นหนึ่งในสามผู้ต้องหาในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ชุดแรกที่ได้ประกันตัวออกจากเรือนจำ ในเดือนตุลาคม 2557
 
 
ชีวิตใหม่ที่ต้องใช้มาแล้วนานกว่าห้าปี
 
หลังจากได้รับประกันตัวออกมา ดีเจนินจาก็ไม่กล้ากลับไปทำงานจัดรายการวิทยุเหมือนเดิม แม้จะมีคนมาชักชวนบ้าง และเลิกการทำงานเป็นนายหน้าขายที่ดิน เธอตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ โดยไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ไม่ไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่เคยคบหากัน มีแต่การไปทำบุญที่วัดที่เป็นงานอดิเรก เพราะเธอรู้ตัวว่า ยังมีคดีความติดตัวและมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามสังเกตความเคลื่อนไหว แวะเวียนมาเยี่ยมที่บ้านบ่อยๆ จึงไม่อยากให้คนอื่นต้องเดือดร้อน หรือถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเธอด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ
 
ก่อนหน้านี้ ชีวิตครอบครัวของเธอก็ไม่ได้ง่ายนักอยู่แล้ว ในวันก่อนถูกจับกุม ดีเจนินจามีลูกสามคน เธอหย่ากับสามีแล้ว และต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกทั้งสามคน คนโตอายุ 16 ปี คนกลางอายุ 12 ปี คนเล็กอายุ 11 ปี นอกจากลูกๆ แล้ว แม่ของดีเจนินจา ซึ่งอายุ 70 ปี เป็นโรคเบาหวานและความดัน เส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ส่วนพ่อของดีเจนินจาเป็นโรคขาลีบ เดินไม่ได้อยู่ก่อนแล้ว พี่สาวของเธอที่อยู่บ้านเดียวกันป่วยเป็นโรคทางจิต เป็นไบโพลาร์ และเรียนหนังสือไม่จบ
 
ดีเจนินจายังมีน้องชายที่ทำงานราชการในตำแหน่งช่าง ซึ่งช่วงที่เธออยู่ในเรือนจำน้องชายต้องกลายเป็นกำลังหลักที่ดูแลทั้งเด็กและคนแก่ในบ้านเพียงคนเดียว ทั้งทำงานราชการตอนกลางวันและเปิดร้านอาหารตอนกลางคืน หลังได้รับการปล่อยตัวเธอจึงช่วยกับน้องชายทำอาหารขายอยู่ที่บ้านเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และพยายามทำงานหลายอย่างทางออนไลน์ เช่น รับดูดวง ขายอาหารเสริม ขายวัตถุมงคล ฯลฯ  
 
“ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นความเจ็บปวดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราตั้งคำถามว่า เราทำอะไรผิด? เอกสาร 38 หน้ากระดาษกลายเป็นคดีก่อการร้าย เป็นเรื่องซ่องโจรไปได้ ครอบครัวเราเจ็บปวดมากๆ เราสูญเสียคุณพ่อไปคนหนึ่ง เพราะเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก คุณแม่พิการ ลูกคนโตเกือบเสียอนาคต เป็นซึมเศร้าไปพักนึง” ดีเจนินจารำลึกถึงความยากลำบากระหว่างการต่อสู้คดีอันยาวนานของเธอ
 
กัลยรักษ์ หรือ ดีเจนินจา ยังคงมีความหวังว่า เมื่อคดีของเธอเปลี่ยนไปพิจารณาที่ศาลปกติ การพิจารณาคดีจะรวดเร็วขึ้น และหากได้ผลคดีที่เป็นใจในเร็ววันเธอจะสามารถกลับไปทำอาชีพที่เธอถนัดที่สุดได้เหมือนเดิม และมีรายได้มากกว่าเดิมมาเลี้ยงดูครอบครัว
 
พร้อมกันนั้น เธอยังมีความฝันด้วยว่า ภาพติดตาที่เธอเห็นคนร่วมชะตากรรมถูกมัดมือไพล่หลัง และถูกจัดให้นอนคว่ำหน้าเรียงกัน จะเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีใครต้องพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก พร้อมกับการรัฐประหารที่เป็นครั้งสุดท้ายด้วย
 
 
 
ชนิดบทความ: