1374 1388 1387 1853 1828 1195 1989 1752 1999 1136 1001 1877 1898 1534 1808 1431 1943 1242 1886 1568 1684 1895 1644 1691 1243 1462 1717 1713 1602 1261 1846 1591 1512 1118 1928 1111 1450 1284 1652 1737 1803 1138 1538 1134 1097 1549 1088 1733 1974 1998 1537 1513 1114 1081 1772 1661 1016 1093 1650 1694 1624 1692 1383 1312 1275 1258 1419 1800 1568 1299 1699 1915 1759 1269 1236 1156 1207 1572 1273 1948 1195 1361 1977 1147 1040 1886 1405 1454 1808 1572 1688 1905 1577 1485 1361 1398 1637 1170 1920 คดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวาน: ตัวอย่างคดีที่อาจไม่หวานสำหรับนักข่าวและสื่อทางเลือกบนโลกออนไลน์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวาน: ตัวอย่างคดีที่อาจไม่หวานสำหรับนักข่าวและสื่อทางเลือกบนโลกออนไลน์

เมื่อเริ่มตั้งเว็บไซต์ข่าว “ภูเก็ตหวาน”
 “ผมก่อตั้งเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเพื่อเป็นสื่อทางเลือกให้ผู้คนบนเกาะภูเก็ต โดยหวังว่าข่าวสารที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้” คำเบิกความของ อลัน มอริสัน ต่อหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต และผู้สังเกตการณ์คดีทั้งไทยและเทศกว่า 20 คน 
 
อลัน มอริสัน วัย 65 ปี เป็นนักข่าวชาวออสเตรเลียผู้มากประสบการณ์ และมีรางวัล Walkley National Awards จากประเทศออสเตรเลียการันตีความสามารถในการเป็นผู้สื่อข่าวของเขา 
 
อลันเข้ามาไทยในปี 2545 โดยเริ่มทำงานที่ Phuket Gazette สำนักข่าวท้องถิ่นแห่งเดียวของเกาะภูเก็ตในขณะนั้น ต่อมาปี 2551 เขาก่อตั้งสำนักข่าวภูเก็ตหวาน (Phuketwan.com) เว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษแห่งแรกของเกาะภูเก็ต 
 
อลันเล่าว่า ชื่อ “ภูเก็ตหวาน” แสดงถึงความต้องการของเขาที่อยากเห็นเมืองภูเก็ตที่ “หวานฉ่ำ” มีเสน่ห์ น่าดึงดูด และเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับทุกชีวิตบนเกาะแห่งนี้ โดยเขาเชื่อว่า การนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านและหลากหลายแง่มุมจะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงได้ในที่สุด 
 
“ภูเก็ตหวานเน้นการนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราอยากให้รัฐบาลทราบเรื่องราวเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” อลัน แถลงต่อศาล เมื่อทนายถามถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสำนักข่าวภูเก็ตหวาน
 
303 อลันมอบรางวัล Walkley National Award ซึ่งได้จากอาชีพสื่อ ให้ทีมทนายเพื่อขอบคุณที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเสรีภาพสื่อในไทย
 
2 ปีกับการเดินทางต่อสู้คดีของ 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่การสืบพยานจะเริ่มขึ้น สำนักข่าวภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เนื้อหาระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการไทยเกี่ยวข้องในขบวนการ โดยอ้างอิงจากรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งต่อมารายงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Pulitzer  ข้อความดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ปรากฏชื่อผู้เขียน คือ อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร 
 
20 กรกฎาคม 2556 ภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวที่กองทัพเรือปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรงฮิงญา 
 
3 เดือนต่อมา กองทัพเรือมอบอำนาจให้ น.อ. พัลลภ โกมโลทก แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย บริษัทเจ้าของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และนักข่าวของภูเก็ตหวาน 2 ราย คือ อลัน และชุติมา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน  หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
 
อ่านรายละเอียดคดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวานได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/554
 
17 เมษายน 2557 พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทีมทนายความของอลันและชุติมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้สลากออมสินมูลค่าคนละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นทุนช่วยเหลือจากศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามัน เนื่องจากทั้งคู่ไม่เตรียมเงินประกันไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการคดีดังกล่าว 
 
ระหว่างคดียังคงอยู่ที่ศาลชั้นต้น นักข่าวทั้งสองยังคงทำหน้าที่รายงานข่าวและหาทางสู้คดี ชุติมาเล่าว่า เธอไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
 
คำตอบที่เธอได้รับหลังประนีประนอมกับกองทัพเรือผ่านคนกลางเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดี คือ ภูเก็ตหวานจะต้องขอโทษเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่จะคงไว้แค่ข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายไม่สามารถถอนฟ้องได้
 
304 ทีมทนายความทั้ง 7 คน และผู้สังเกตการณ์คดีภูเก็ตหวานในนัดสืบพยาน
 
14-16 กรกฎาคม 2558 นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยวันแรกเป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วนวันที่สองและวันที่สามเป็นการสืบพยานจำเลย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันสืบพยานจำเลย อัยการไม่มาตามนัดทั้ง 2 วัน จึงไม่มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์ 
 
15 กรกฎาคม 2558 ชุติมา นักข่าวอาวุโสของภูเก็ตหวาน ขึ้นเบิกความในฐานะพยานต่อจากอลัน เธอยืนยันว่า เธอเป็นคนนำข้อความที่ถูกฟ้องจากรายงานของรอยเตอร์สมาอ้างอิงในบทความของเธอที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน แต่ตัวเธอไม่ใช่ผู้นำบทความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ก่อนการอ้างอิงข้อความที่ถูกฟ้อง เธอได้โทรศัพท์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อข่าวจากหน่วยงานทั้งจากกองทัพเรือและกองบังคับการตำรวจน้ำแล้ว 
 
ชุติมา ทำงานเป็นนักข่าวให้กับภูเก็ตหวานตั้งแต่ปี 2552 เธอเป็นผู้สื่อข่าวที่สนใจเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญา และสิ่งที่ยืนยันความสนใจของเธอได้ดีคือหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง "บทชาติพันธุ์วรรณนาชาวโรฮิงญาในบริบทสังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทย-เอเชีย" และบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา นอกจากนี้เธอยังมีส่วนร่วมโดยเป็นแหล่งข้อมูลให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์สในช่วงที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงานชิ้นปัญหาอีกด้วย
 
ภายหลังการสืบพยาน ชุติมาบอกว่า เหตุที่อ้างอิงรายงานจากรอยเตอร์สก็เพราะต้องการให้คนไทยได้รับรู้ว่าสื่อต่างชาติเขามองปัญหาเรื่องโรฮิงญาในบ้านเราอย่างไร ไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายใคร
 
การดำเนินคดีไม่ได้ทำให้เรากลัว มันแค่ทำให้เราทำงานยากขึ้นเท่านั้น 
เมื่อถามถึงผลกระทบจากการดำเนินคดี ชุติมาเล่าว่า “ตั้งแต่ถูกดำเนินคดี ภูเก็ตหวานก็ไม่เคยหยุดนำเสนอข่าวเรื่องโรฮิงญาเลย เราไม่เคยกลัว แต่การถูกดำเนินคดีมันเพิ่มความยากลำบากให้กับการทำงานของเรามากขึ้น” 
 
ชุติมาต้องเดินทางไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพเพื่อเจรจาประนีประนอมอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้ คนของกองทัพเรือภาคที่ 3 ก็เคยติดรูปของชุติมาไว้หน้ากองทัพเรือภาคที่ 3 และประกาศไม่ให้นักข่าวภูเก็ตหวานเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ด้วย 
 
นอกจากนี้ ชุติมายังบอกว่า ทั้งอลันและเธอไม่เคยเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวเรื่องโรฮิงญาเลย
 
"เราไม่รู้ว่าตัวชี้วัดในการนำเสนอข่าวสารคืออะไร แค่ไหนพูดได้ แค่ไหนพูดไม่ได้ สิ่งที่บอกได้ว่าสื่อควรพูดอะไรบ้างมีเพียงอย่างเดียวคือ มาตรฐานสื่อ นั่นคือ การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และนำเสนอข่าวสารจากทุกมุมมอง ทุกกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เราจึงยืนยันที่จะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับชาวโรฮิงญาต่อไป"
 
เราสู้คดีนี้เพื่อยืนยันเสรีภาพของสื่อทางเลือก
“จริงๆ การดำเนินคดีนี้ไม่ได้กระทบกับชาวโรฮิงญาเป็นหลัก ที่กระทบมากที่สุด คือ เสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย เพราะเรื่องโรฮิงญา ต่อให้สื่อไทยไม่รายงาน แต่สำนักข่าวของต่างประเทศก็สามารถรายงานเรื่องนี้ได้ การนำเสนอข่าวโรฮิงญาในประเทศนี้ไม่ได้ มันแสดงถึงระดับเสรีภาพสื่อที่ตกต่ำอย่างมาก เราจึงสู้คดีนี้เพื่อเสรีภาพสื่อในประเทศไทย” ชุติมาอธิบายหลักการสำคัญในการต่อสู้คดีของเธอ
 
305
 
ชุติมาอธิบายต่อไปว่า ภูเก็ตหวานคือสื่อทางเลือกของเกาะภูเก็ต เพื่อให้ผู้คนได้บริโภคข่าวสารในแง่มุมอื่นบ้าง ดังนั้น การแจ้งความดำเนินคดีกับสำนักข่าวเล็กๆ อย่างภูเก็ตหวาน คือการทำลายขวัญและกำลังใจของสื่อทางเลือกที่อยากจะทำงานเพื่อสังคม 
 
“การบังคับให้คนเรากินอะไรซ้ำๆ ติดต่อกันทุกวันมันเป็นไปไม่ได้หรอก” ชุติมากล่าวทิ้งท้าย
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับเสรีภาพสื่อทางเลือกบนโลกออนไลน์
16 กรกฎาคม 2558 วันสุดท้ายของการสืบพยาน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นพยานฝ่ายจำเลยในฐานะผู้ที่่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โดยนพ.นิรันดร์ อธิบายว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของสื่อและบุคคลทั่วไป โดยนำมาใช้ดำเนินคดีคู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
นอกจากนี้ทีมทนายยังเบิกอาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นพยานจำเลยในฐานะผู้เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเธอเบิกความว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) คือ การเอาผิดกับบุคคลที่ปลอมแปลงเอกสารหรือเผยแพร่เอกสารเท็จ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ (Phishing) ไม่ใช่การนำมาใช้คู่กับกฎหมายหมิ่นประมาท เพราะในประมวลกฎหมายอาญามีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว หากมีการแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย จะทำให้การหมิ่นประมาทในสื่ออินเทอร์เน็ตมีโทษสูงกว่าสื่อประเภทอื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ 
 
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีคดีความที่สื่อถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) อย่างน้อย 15 คดี 
 
อ่านบทวิเคราะห์การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/CCA1401
 
สำหรับคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสำนักข่าวภูเก็ตหวานสืบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 กันยายน 2558
ชนิดบทความ: