ข้อเท็จจริงหลัง “นิ้วกลาง” กรณีบ้านดอยเทวดา

 
 
 
818 พื้นที่บ้านดอยเทวดา อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
 
 
“แค่สะบัดมือ” คือข้อเท็จจริงชุดหนึ่งจากปากของพันเอกทินชาติ สุทธิรักษ์ หัวหน้าฝ่ายข่าวมทบ.34 จังหวัดพะเยา โดยเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงท่า "ชูนิ้วกลาง" ให้กับเกษตรกรบ้านดอยเทวดา จังหวัดพะเยาและกลุ่มเดิน...มิตรภาพจากอำเภองาว จังหวัดลำปางที่มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ไม่ว่าจะบังเอิญหรือจงใจ แต่ท่าสะบัดมือดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ใครหลายคน กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเพียงข้ามคืน จนกระทั่งเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว
 
“พวกบิดเบือนข้อเท็จจริง พวกคุณบิดเบือน ผมคุยกับคุณลุงแล้ว คุณวัลลภแล้ว ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558เราไม่ดำเนินคดีแล้ว”
 
“ก็ยังไม่ได้ทำคดี คดีไม่ถึงไหนแต่พวกคุณเขียนไปลงเฟซบุ๊กว่า ดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558พวกคุณตรัสรู้ได้ยังไง”
 
“คุยกันไปหลายรอบแล้ว คุยกันดีๆไม่รู้กี่รอบแล้ว พวกชอบบิดเบือน กลุ่มสกน.(สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ) เนี่ยแหละ ผมไปโพสต์อะไรก็บิดเบือน ผมพูดไม่ได้หมิ่นประมาท พูดตรงๆ ผมเขียนโพสต์ไปห้าโพสต์เขาลบทิ้งหมด”
 
 
จากสามข้อความข้างต้น “การบิดเบือนข้อเท็จจริง” คือสิ่งที่พันเอกทินชาติกล่าวหาชาวบ้านดอยเทวดา หากใครได้ชมไลฟ์ทางเฟซบุ๊กเพจ People Go คงจะเห็นท่าทีของพันเอกทินชาติอันสะท้อนถึงความไม่พอใจของเขาต่อชาวบ้านที่มีเบื้องหลังมากกว่าความไม่พอใจเล็กๆน้อยๆ   อ่านความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและพันเอกทินชาติ และการคุกคามของทหาร ผ่านเรื่องเล่าของชาวบ้านสองคนนี้
 
 
แสง: หญิงชราผู้ท้าทายอำนาจปืน
 
แสง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ยายแสง หญิงชราวัย 67 ปี เป็นแกนหลักต่อสู้ข้อพิพาทที่ดินบ้านดอยเทวดามาตลอดและเมื่อต้องเผชิญกับคดีความที่ทหารเป็นผู้ร้องคดี ยายแสงก็เป็นคนออกหน้ารับแทนและอาจเรียกได้ว่า ถูกคุกคามจากทหารมากที่สุดในบรรดาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 
 
 
817 แสง เกษตรกรบ้านดอยเทวดา
 
 
ยายแสงเล่าว่า ตอนนั้นชาวบ้านอยากให้กำลังใจเพราะประเด็นที่การเดิน...มิตรภาพเรียกร้องสอดคล้องกับประเด็นปัญหาของชาวบ้าน แต่จะเข้าไปกรุงเทพฯก็ไม่มีเงิน จึงตกลงกันว่า จะเดินให้กำลังใจในหมู่บ้านในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 วันดังกล่าวชาวบ้านออกเดินประมาณ 11.00 น. เริ่มจากบ้านของตนไปที่ศาลากลางบ้านดอยเทวดาเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร พอตกเย็นมีกำนัน และทหารห้านายมาหา ขอให้ไปพบนายอำเภอที่สถานีตำรวจภูธรภูซาง เมื่อไปถึงกลับไม่ใช่การพูดคุย แต่เป็นการควบคุมตัว
 
 
“พอไปถึงโรงพักก็พายายไปกักขังบริเวณนั้น ไม่ได้กักขังก็เหมือนกักขัง เพราะเขาไม่ให้กลับบ้าน ยายบอกเขาว่า ขอกลับบ้าน น้ำก็ไม่ได้อาบ ข้าวก็ไม่ได้กิน ตัวยายเป็นเบาหวานจะได้กินยาด้วยก็ไม่ให้กลับบ้าน ขอสองครั้งสามครั้ง ทีนี้เขาก็ให้ทหารมาสี่คน ตำรวจคนหนึ่ง พ่อหลวงบ้านคนหนึ่ง คุมมาอย่างกับนักโทษ ฆ่าคนตาย เอาปืนคุมมา ยายมาเอายาเบาหวาน กินข้าว แค่เดินไปห้องครัวก็มีทหารพร้อมคุมไปสองคน”
 
 
ยายแสงเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาขัดแย้งโดยตรงกับทหาารและไม่เคยมีทหารเข้ามาในพื้นที่ แต่หลังจากมีคดีทหารก็เข้ามาในพื้นที่บ้านดอยเทวดา โดยครั้งหนึ่งมีนักศึกษามาจากเชียงรายเข้ามาที่บ้านประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่นั่งกินข้าวอยู่ มีทหาร 30-40 นายมากันห้าคันรถ กรูลงมาที่หน้าบ้าน ตนจึงออกไปล็อคประตูบอกว่า ไม่ให้เข้ามา ทหารถามว่า มีนักศึกษามาใช่ไหม ตนบอกว่า ไม่ใช่ เป็นหลานของตนเองมาจากกรุงเทพฯ ทหารก็ถามอีกว่า ยังอยู่ที่นี่ใช่ไหม ตนจึงบอกปัดว่าไม่อยู่ ทหารพยายามเข้ามาในบ้านทั้งๆที่เป็นกลางคืน หลังจากนั้นทหารก็ขึ้นมาคุมอยู่ตลอด มีครั้งหนึ่งเอาอาวุธมาวางหน้าบ้านและเดินทำท่าคล้ายกับมาเดินเที่ยวบ้าน
 
 
ในเรื่องความขัดแย้งกับพันเอกทินชาตินั้น ยายแสงยืนยันว่า ไม่เคยขัดแย้งกับพันเอกทินชาติ แต่เคยพูดคุยกัน โดยเล่าว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านจะไปยื่นหนังสือสองฉบับให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและทหารมทบ.34  วันนั้นไปถึงกำลังทานข้าวที่ศูนย์อาหาร อยู่ๆตำรวจทหารเข้ามาแล้วถามว่า ยายมาทำไม ยายก็อธิบายไปว่าจะไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม สักพักพันเอกทินชาติเดินเข้ามาและตบโต๊ะ ก่อนจะพูดว่า ป้าแสงคุยกันแล้วใช่ไหม นี่มันหักหลังผมนะ มีอะไรทำไมไม่ไปหาผม ตนพยายามอธิบายว่า ชาวบ้านมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไม่ให้เป็นคดี แต่พันเอกทินชาติกลับไม่ฟังและคว้าหนังสือไปฉีก ที่ว่า คุยกันแล้วคือ พันเอกทินชาติเคยคุยกับชาวบ้านที่ที่ว่าการอำเภอภูซาง พยายามต่อรองว่าคดีความตอนนี้มีผู้ต้องหาสิบคน ขอให้สารภาพสี่คน ต่อรองจนเหลือสองคนแต่ชาวบ้านไม่ยอมรับสารภาพ
 
 
“เขาถามยายว่า ทำไมไม่ไปที่ค่าย ผมอยู่ที่ค่ายก็ไปหาผมที่ค่ายสิ ร้านกระจอกแบบนี้เอาผมมาทำไม ร้านกาแฟก็มี ยายบอกไม่รู้จัก เขาก็ขึ้นเสียงบอกว่า ไม่รู้ได้ไง และถามอีกว่า ทำไมไม่ไปค่าย ยายบอกว่า ไม่ไป เชื่อใจไม่ได้ ถ้าไปค่ายยิ่งน่ากลัวใหญ่ เดี๋ยวยายก็ไม่ได้กลับบ้าน พันเอกทินชาติบอกว่า แมวที่ไหนมันจะทำ"
 
 
819 เจ้าหน้าที่ขณะเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านที่ศาลากลางจังหวัด
 
 
 
ยายแสงเล่าต่อว่า หลังจากที่พันเอกทินชาติฉีกหนังสือ ก็พยายามหาทางให้สถานการณ์ตึงเครียดน้อยลง โดยถามว่า แล้วมีคนรับสองคนจะเป็นอย่างไร พันเอกทินชาติบอก ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีปัญหา และถามต่อว่า ถ้ารับมีโทษไหม เขาบอกว่า ไม่มี ทีนี้เลยบอกว่า ถ้ารับก็เป็นยายกับพ่อยูร(ประยูร) เขาว่า ไม่เอา คนที่รับจะต้องเป็นพ่อยูรและวัลลภเพราะเขาเชื่อว่า วัลลภเป็นตัวตั้งตัวตี ถ้าถามว่า ทำไมต้องรับก็คงเพราะว่า เขาจะไม่เสียหน้าในเมื่อจับไปแล้ว เชื่อว่าเราเป็นคนที่ผิด แต่เรามาคิดแล้วว่า เราไม่ผิด เราไม่รับ!
 
 
วัลลภ: ชายผู้บิดเบือนข้อเท็จจริง?
 
816 วัลลภ เกษตรกรบ้านดอยเทวดา
 
 
วัลลภ เป็นชื่อที่พันเอกทินชาติกล่าวถึงหลายครั้งในการต่อปากต่อคำที่หน้าศาลากลางจังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 เขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องที่ดินในหมู่บ้านดอยเทวดาและเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) โดยทำงานเรื่องที่ดินในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย วัลลภเล่าว่า วันเกิดเหตุ ก่อนชาวบ้านเดินได้โทรศัพท์ไปแจ้งต่อนายอำเภอภูซางว่า ชาวบ้านจะเดินให้กำลังใจการเดิน...มิตรภาพ นายอำเภอบอกว่า ผมไม่รู้และไม่ถนัดเรื่องนี้ อย่าเดินเลย ผมไม่เข้าใจ เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่า มันถูกกฎหมาย ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองการเดิน...มิตรภาพแล้ว  แต่นายอำเภอก็ยังบอกว่า ผมไม่รู้และขอให้ยายแสงลองโทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้าน
 
 
จากนั้นพอโทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้าน เขาก็บอกว่า ติดธุระอยู่ ยังเดินทางมาไม่ได้ จนนักศึกษาโทรศัพท์กลับไปบอกว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่มาภายใน 30 นาที ชาวบ้านจะออกเดิน สุดท้ายผู้ใหญ่บ้านไม่มา เราก็เดินจากบ้านยายแสงไปที่ศาลากลางบ้านดอยเทวดา พอเดินไปถึงลุงยูรอ่านแถลงการณ์สนับสนุนการเดิน...มิตรภาพ หลังจากแถลงการณ์เสร็จเราก็ไปนั่งที่ศาลากลางหมู่บ้าน พอนั่งสักพัก ผู้ใหญ่บ้านมาถามว่า เดินอะไรกัน พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้ด้วย ต่อมาประมาณ 16.00 น. มีตำรวจและทหารประมาณสี่นายขึ้นมาที่หมู่บ้าน ถามว่า เดินทำไม เราก็อธิบายว่าเราเดินเรียกร้องสิทธิ  ส่วนนายทหารที่มาด้วยถามว่า คุณสมชายในป้ายคือใคร เราตอบว่า คุณสมชายคือนักศึกษา ตอนนั้นเราคิดไม่ถึงจริงๆว่า คุณสมชายจะหมายถึง คสช.
 
 
กระทั่ง การพบหน้ากันครั้งแรกของวัลลภและพันเอกทินชาติเกิดขึ้นในรุ่งเช้าหลังจากที่ตำรวจและทหารควบคุมตัวเขาและชาวบ้านไว้หนึ่งคืนที่สถานีตำรวจภูซาง วัลลภเล่าว่า เจอหน้าครั้งแรก เขาก็มาคุย ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือยังอยู่ที่ตัว เขาถามชื่อผมว่า คนไหนชื่อวัลลภ พอรู้ว่าเป็นผม เขาก็ถามต่อว่า คุณยังปล่อยคลิปการเดินอยู่ใช่ไหม ชายหนุ่มก็บอกว่า ไม่ได้ปล่อยแล้ว เขาก็ข่มขู่ขอโทรศัพท์ พอดีตอนนั้นทนายความอยู่ด้วย ทนายความจึงถามพันเอกทินชาติว่า จะให้เขาลบทำไม ควรจะถามเจ้าของก่อนว่า อยากลบไหมและโทรศัพท์ก็ของเขาเป็นสิทธิของเขา เขาเลยบอกว่า ไม่ลบก็ได้
 
 
วัลลภบอกว่า หลังจากนั้นก็มีเหตุได้เจอกับพันเอกทินชาติอีกครั้ง โดยเขาขอให้ชาวบ้านไปที่ที่ว่าการอำเภอภูซางเพื่อต่อรองบอกว่า ตอนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาสิบคน ขอให้รับสารภาพสักสี่คน พวกเราก็บอกว่า เราขอกลับไปคิดดูก่อนเพราะเรายังไม่รู้จะทำยังไงเพราะจะรับตอนนี้ยังคิดไม่ออก เขาก็ดูเหมือนไม่ยอม แต่ชาวบ้านก็ปลีกตัวหนีออกมาโดยยังไม่ได้ตกลงว่า จะรับสารภาพหรือไม่ อีกครั้งคือ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าฯและทหารมทบ.34 พอไปถึงเรากินข้าวเที่ยง ระหว่างนั้นมีนายทหารคนหนึ่งชื่อเล่นว่า ‘จุ่น’ มาคุย ขอให้เราไปที่มทบ.34 เราบอกว่า เราไม่อยากไป เราก็กลัวว่าเราต้องรับสารภาพ
 
 
820 บรรยากาศการควบคุมตัวเกษตรกรบ้านดอยเทวดาโดยมิชอบของทหารที่สภ.ภูซาง
 
 
เขาเล่าต่อว่า ขณะที่ชาวบ้านกับนายทหารนายนั้นจะพยายามจะตกลงหาสถานที่พูดคุย พันเอกทินชาติก็ปรี่เข้ามาทุบโต๊ะและคุยกับชาวบ้านเสียงดัง ตนพยายามจะถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน แต่ทหารสองนายที่ติดตามมาด้วยเข้ามาแย่งโทรศัพท์ ตนไม่ได้ให้และตัดบทด้วยการเก็บใส่กระเป๋า จากนั้นพันเอกทินชาติหันไปบอกกับลุงยูรว่า ชาวบ้านหักหลังเขา ลุงยูรบอกว่า ไม่ได้หักหลังจะมายื่นหนังสือสองฉบับ มีฉบับหนึ่งที่จะยื่นกับทหาร แต่นายทหารรายนี้ก็ไม่ฟังอะไรเลย ฉีกหนังสือขอความเป็นธรรมและพยายามจะทำให้เรารับสารภาพให้ได้
 
 
ตนคิดว่า ถ้าจะฟ้องก็ต้องฟ้องหมด ถ้าไม่ฟ้องก็ต้องไม่ฟ้องหมด ถ้าข้อเสนอไม่ได้ก็กลับบ้าน พูดเสร็จตนก็ลุกออกมาคนเดียว มีชาวบ้านที่เหลืออยู่ที่ศูนย์อาหาร ตนนั่งรอข้างนอก สักพักมีนักศึกษามาเรียกตนและบอกว่า เหลือแต่อ้ายวัลลภคนเดียว คนอื่นเขาใจอ่อนหมดแล้ว รู้สึกตกใจจึงเดินกลับไปอีกครั้ง ซึ่งพันเอกทินชาติบอกว่า คนอื่นเขายอมๆแล้วนะ ซึ่งตนเพิ่งทราบตอนที่กลับเข้าไปว่า จริงๆไม่มีใครยอมแต่พันเอกทินชาติทึกทักไปว่า การที่ยายแสงจะรับสารภาพคนเดียวคือการยอมแล้วและหลอกนักศึกษาให้มาบอกว่าทุกคนจะยอมรับข้อเสนอแล้ว
 
 
วัลลภเล่าต่อว่า ต่อมาก็มีเหตุให้เจอกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา พอชาวบ้านดอยเทวดาไปถึงก็มีทีมเดิน...มิตรภาพจากลำปางมาให้กำลังใจ และมีทหารนายหนึ่งมาโต้เถียงและก่อกวนแต่ชาวบ้านไม่ได้สนใจ จนกระทั่งกินข้าวเสร็จชาวบ้านจะไปยื่นหนังสือ เหตุที่พันเอกทินชาติกล่าวถึงเขาบ่อยๆคงเป็นเพราะเขาคิดว่า ตนคือแกนนำ ส่วนประเด็นที่กล่าวหาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)ว่า บิดเบือนด้วยนั้น  เนื่องจากตอนที่เขาฉีกหนังสือ ตนถ่ายรูปได้นิดหน่อย และส่งไปให้สกน.  จากนั้นสกน.จึงนำไปลงในเฟซบุ๊กว่า ทหารคุกคาม แต่เขากลับมองว่า สกน.บิดเบือน ทั้งที่จริงแล้วทหารทำกิริยาคุกคามจริงๆ 
 
 
“สิ่งที่เกิดขึ้นผมรู้สึกว่า ไม่ให้ความเป็นธรรมกับเรา ส่วนตัวผมเองทหารคือลูกหลานของชาวบ้านคนหนึ่งมีหน้าที่ปกป้องชาติ ไม่ควรที่จะมาเป็นศัตรูกับชาวบ้าน  มันไม่ใช่ การเดินเราพูดชัดเจนว่าอยากให้มีการพัฒนามากกว่า เห็นว่า น้ำไฟ ถนนมันชัดเจนว่า อยากให้พัฒนา เงินแต่ละปีมันหายไปไหนหมด สิทธิชุมชนเราอยากจะเรียกร้อง”
 
 
 
บ้านดอยเทวดา: ชีวิตอันเปลือยเปล่าและความซับซ้อนของความไร้โอกาส
 
 
บ้านดอยเทวดา ตั้งอยู่ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เดิมเป็นป่าแพะที่อยู่หัวไร่ปลายนา ไม่มีใครเป็นเจ้าของเป็นสัดเป็นส่วน กระทั่งเป็นที่รู้จักในนามพื้นที่ของการยึดแย่งที่ดินระหว่างชาวบ้านและนายทุนมาเป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว เท่าที่สัมผัส ลักษณะหมู่บ้านห่างจากถนนใหญ่ราวสองกิโลเมตร ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยอยู่ราว 41 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ โดยที่ดินลักษณะเป็นเนินหัวไร่ปลายนา เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี 2460 มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินเป็นจำนวน 300 ไร่ และมีหลักฐานการประชุมหารือเกี่ยวกับขอบเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปี 2489
 

ก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เงียบสงบ กระทั่งเริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเมื่อปี 2532-2533 ขณะที่พื้นที่ทั้งในเขต อำเภอเชียงคำ และ อำเภอภูซาง กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เพาะปลูกทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ต่อมานายหน้ากลุ่มเดิมให้นายหน้าอีกกลุ่มเข้ามาซื้อที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์จากชาวบ้าน โดยไม่มีรายละเอียดการซื้อขายหรือตำแหน่งที่ชัดเจน
 
 
กระทั่งล่วงถึงปี 2545 การปรากฏตัวขึ้นของตัวแทน ‘บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด’ ความขัดแย้งเริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น โดยชาวบ้านเล่าว่าทางตัวแทนบริษัทฯ กระทำการข่มขู่และขับไล่ให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่หลากหลายรูปแบบเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้บ้านดอยเทวดาไม่ใช่เป้าหมายปลายทางการท่องเที่ยวหรือด้านอุตสาหกรรมอะไร แม้ว่าจะตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองและถนนใหญ่มากนัก นอกจากข้อพิพาทเรื่องที่ดินแล้ว ชาวบ้านดอยเทวดายังประสบปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอีกด้วย
 
 
821 เชิญ เกษตรกรบ้านดอยเทวดา
 
 
เชิญ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีชุมนุมทางการเมืองเล่าว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านดอยเทวดาเป็นทุกข์มีสองเรื่องหลักคือ ไม่มีที่ดินทำกิน เดิมพื้นที่ทำกินเป็นของเรา แต่บริษัทเอกชนมายึดและแจ้งความว่า ชาวบ้านบุกรุก ทั้งที่ตามความจริงแล้วเป็นที่ของชาวบ้าน ตอนนี้ตนและชาวบ้านมีที่อยู่แต่ไม่มีที่ทำกิน เปรียบเสมือนว่า มีแต่ข้าวไม่มีกับข้าว ส่วนเรื่องไฟฟ้านั้นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ทุกวันนี้ชาวบ้านยังใช้หม้อแปลงของทางวัดอยู่ เราเคยส่งเรื่องให้ฝ่ายปกครองและการไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ เรื่องที่ดินเราก็ลำบากอยู่แล้วต้องมาเจอกับเรื่องไฟฟ้าราคาหน่วยละเจ็ดบาทยิ่งเป็นภาระอีก (ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าน้อย ซึ่งจะเข้าข่ายผู้ที่ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ตามประกาศของการไฟฟ้าที่ระบุว่า กรณีใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ไม่เป็นนิติบุคคล และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนจะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าในเดือนต่อไป)
 
 
“ทุกวันนี้พ่อยังมีความหวัง ทำไมถึงยังหวังเพราะเราไม่มีที่ทำกิน เรายังหวัง ที่ดินผืนนี้เป็นชีวิตสุดท้ายของเราที่เก็บไว้ให้ลูกหลานทำกิน คนเราขอให้มันได้พอกินพอใช้เป็นวันๆก็พอ ชีวิตเรามันบั้นปลายชีวิตแล้ว เราต่อสู้ไว้ไม่ใช่ว่า พอเราตายแล้วขายแล้ว แต่เราสู้เพื่อลูกหลานของเรา”
 
 
ขณะที่สมชาย นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านเล่าว่า ชาวบ้านมักจะพูดบ่อยๆว่า ถ้าไม่มีที่ดินก็ไม่มีชีวิต ซึ่งก็เห็นจริงตามที่ชาวบ้านพูด เกษตรกรไม่มีที่ดินก็จบ มันเหมือนการใช้ชีวิตของแต่ละคนอย่างคนขับรถแต่ไม่มีรถให้ขับมันก็ทำอาชีพไม่ได้ จะเห็นว่า องค์ประกอบของความไร้โอกาสมันซับซ้อนมาก ชาวบ้านไม่มีที่ดิน เหลือเพียงที่ในบ้านตารางวาจะปลูกผักยังไม่คุ้มน้ำประปาหน่วยละเจ็ดแปดบาท ไฟฟ้าในหมู่บ้านมีหม้อแปลงเดียวใช้กันทั้งหมู่บ้าน ค่าไฟเพิ่มขึ้น จากปกติที่หาใช้น้อยไม่เกิดที่การไฟฟ้ากำหนดจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจากความไม่มีอยู่แล้ว พอมาเจออะไรที่ซับซ้อนแบบนี้ก็ได้รับผลกระทบมากขึ้น