คดีปิดเว็บประชาไท

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

เว็บไซต์ประชาไท

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกคำสั่งในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งตั้งขึ้นตามอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สารบัญ

7 เมษายน 2553 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอฉ.) ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งปิดเว็บไซต์ 36 แห่ง หนึ่งในนั้นคือเว็บไซต์ประชาไท และประชาไทตัดสินใจยื่นฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งปิดเว็บครั้งนี้ต่อศาลแพ่ง และเรียกค่าเสียหาย 350,000 บาท

วันเดียวกับที่ยื่นฟ้องศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟัง โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์และต่อมาศาลอุทธรณ์สั่งให้รับฟ้อง จำเลยยังสู้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าไม่ควรรับฟ้องและยื่นคัดค้านว่าคดีนี้ศาลแพ่งไม่มีเขตอำนาจ ทำให้คดียืดเยื้อมากว่า 6 ปี จึงได้เริ่มพิจารณาครั้งแรก

คดีนี้ประชาไทฟ้องโดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ขณะที่จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าเนื้อหาใดเป็นเหตุของการปิดเว็บไซต์และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างไร ศาลในคดีนี้จะต้องวางแนวการตีความคำว่า "ความมั่นคงของรัฐ" และคดีนี้ยังเป็นคดีตัวอย่างที่หาได้ยากที่รัฐตกเป็นจำเลยจากการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกด้วย

อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ศาลแพ่งก็มีคำสั่งยกฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของโจทก์เรื่องนายกอภิสิทธิ์ขึ้นสู่ตำแห่งด้วยการแต่งตั้งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุม จำเลยจึงเล็งเห็นว่าการปิดเว็บเป็นมาตรการที่จำเป็น จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เกินกว่าเหตุ หลังศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เตรียมอุทธรณ์คดีต่อ
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

“ประชาไท” คือหนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บ ที่คณะผู้ก่อตั้งมีแนวคิดที่จะจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนต่าง ๆ ได้มีโอกาสรับรู้และรู้ทันสถานการณ์ของสังคมไทยในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางด้านการพัฒนาสุขภาวะ วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาครอบครัวและชุมชน ตลอดจนการขยายโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศตามเจตนาของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

ประชาไทดำเนินงานในระยะแรก โดยการจดทะเบียนนิติบุคคลในนามคณะบุคคล ร่วมดำเนินโครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ต เพื่อการศึกษาและสุขภาวะของชุมชน และได้มีการดำเนินการจดทะเบียนมูลนิธิ ที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ไม่แสวงกำไรควบคู่ไปด้วย โดยจดทะเบียนมูลนิธิในชื่อ มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน
 
มีวัตถุประสงค์เพื่อ
 
– ส่งเสริมการศึกษาของชุมชนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง กฎหมาย หน้าที่และสิทธิพลเมือง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข การศึกษา ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข็มแข็งของชุมชนและการพัฒนาสังคมโดยรวม
– ส่งเสริมสนับสนุนการสื่อสารข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองและชุมชนที่เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณชนในด้านการพัฒนาสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 
– ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางสังคม
– ส่งเสริมการยอมรับและเคารพสิทธิของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข
– เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ
– เพื่อสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเป็นกลางและไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงิน หรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด
 
ได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ตามทะเบียนเลขที่ กท ๑๔๐๙ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559

 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

7 เมษายน 2553 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอฉ.) ออกหนังสือที่ กห.0417.45/1 เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยอ้างอำนาจตามาตรา 9 (2) ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร คำสั่งฉบับดังกล่าว ลงนามโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศอฉ.

 
Prachatai blocked order 3 pages
(คลิกที่ภาพ เพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น)
 
 
ในชั้นพิจารณาคดีที่ศาลแพ่ง จำเลยในคดีนี้ คือ กระทรวงเทคโลโยนีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ยื่นหลักฐานเข้ามาในคดีโดยระบุว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์ประชาไทที่เป็นเหตุในการสั่งปิดเว็บไซต์มี 3 ส่วนคือ
 
1.บทความเรื่อง "ธาตุแท้นายอภิสิทธิ์" เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 เขียนโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า สมสุริยะ ทองสุกใส ซึ่งเป็นบทความที่คนภายนอกส่งเข้ามาให้เผยแพร่บนเว็บไซค์ประชาไท สรุปเนื้อหาได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะชื่นชมระบอบอำมาตยาธิปไตย และเป็นรัฐบาลที่แต่งตั้งในค่ายทหาร ซึ่งศอฉ.เห็นว่ามีเนื้อหาบิดเบือนความจริง เพราะนายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมติสภาผู้แทนฯ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง
 
2. รายงานข่าวชื่อ "เสื้อแดงเตรียมร้องค้านหาก ศอ.รส. ฟ้องศาล ด้าน AOC ยันการชุมนุมไม่กระทบท่องเที่ยว" ลงวันที่ 4 เมษายน 2553 ที่รายงานความเคลื่อนไหวการชุมนุมจากหลายจุด และมีส่วนหนึ่งที่ระบุว่า กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ขึ้นป้ายเรียกร้องให้ยุบสภา และแกนนำรุ่นสองของ นปช. พร้อมจะเดินทางไปสร้างแรงกดดันที่ศาลากลางภายใน 2 ชั่วโมง หากมีการส่งสัญญาณจากแกนนำที่กรุงเทพฯ ซึ่งศอฉ.เห็นว่า เป็นข้อความที่บีบบังคับให้นายอภิสิทธิ์ต้องยุบสภาสถานเดียว ไม่ใช่การเรียกร้องคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
 
3. ภาพข่าวการชุมนุม ซึ่งบนเวทีมีป้ายข้อความ "โค่นรัฐบาลอำมาตย์" ที่ปรากฏในเว็บบอร์ดของประชาไท ซึ่งศอฉ.เห็นว่า บิดเบือนต่อความเป็นจริง เพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่รัฐบาลอำมาตย์ และการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นการชุมนุมเพื่อโค่นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีปิดเว็บประชาไท โดยสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ สมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) 

 

แหล่งอ้างอิง

ประชาไทแถลง ศอฉ. ปิดเว็บ เสียหาย 5 ล้าน กระทบเสรีภาพสื่อและประชาชน, เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 22 ธันวาคม 2553 (อ้างอิงเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555)

7 เมษายน 2553
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยออกหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อ้างอำนาจตามมาตรา 9 ข้อ2 แห่งพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ปิดเว็บไซต์ www.prachatai.com พร้อมกับเว็บไซต์อื่นอีกรวม 36 แห่ง ด้วยเหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง ทำให้ www.prachatai.com ไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 เป็นต้นมา 
 
และเมื่อทางประชาไทได้แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยน Domain names เป็นชื่ออื่น เช่น www.prachatai.info, www.prachatai1.info, www.prachatai2.info, www.prchatai3.info รวมถึงใช้ช่องทางสื่อสารผ่าน Social Network อย่าง Facebook และTwitter ก็พบว่ามีการถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยไม่ได้รับทราบถึงเอกสารคำสั่งหรือเหตุผลในการปิดกั้นแต่อย่างใด 
 
ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุม และก่อนที่รัฐบาลจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุมการชุมนุม วันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และออกมาตรการเพื่อควบคุมสื่อต่างๆ ที่เห็นว่ามีข้อมูลสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าว
 
23 เมษายน 2553
ประชาไท ในนามของ มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน  โดย นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นจำเลยที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นจำเลยที่ 3, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นจำเลยที่ 4, กระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 5 ฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 350,000 บาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553
 
คำฟ้องสรุปได้ความว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 จำเลยที่ 3  และจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวประชาไท (http://www.prachatai.com) ของโจทก์ โดยปรากฏข้อความว่า This website has been block by ICT  ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เว็บไซต์นี้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”  และปรากฏภาพสัญลักษณ์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำเลยที่ 4 บนเว็บไซต์ของโจทก์แทน  โจทก์จึงไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ข่าวประชาไทได้  ส่งผลให้ให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ จากเว็บไซต์ของโจทก์ได้อีกต่อไป 
 
ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีพระราชกำหนดให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้แต่รัฐก็ไม่สามารถกระทำการใดๆอันเป็นการจำกัด  ลิดรอน หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองคุ้มครองไว้ ตามอำเภอใจ  โดยไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลที่มีน้ำหนักสนับสนุน และไม่อาจจำกัดสิทธิจนกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิคือทำให้สิทธิดังกล่าวหมดไปอย่างสิ้นเชิงได้
 
โดยที่จำเลยที่ 1, ที่ 2 ,ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลและพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจการหรือการกระทำของโจทก์เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงนามสั่งการให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์อาศัยข้อเท็จจริงใดหรือพฤติการณ์ใดเป็นหลักในการพิจารณาว่าเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์  มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว  หรือเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร   ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน   อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสี่มีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้  และคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือจำเลยที่ 2  ก็ไม่เคยแจ้งหรือบอกกล่าวในทางใดๆให้โจทก์ทราบถึงเหตุแห่งการมีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ หรือเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งที่โจทก์อยู่ตกในฐานะเสมือนผู้ถูกกล่าวหา และได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว
 
การที่คณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินมีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 36 เว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์ด้วย  ทั้งที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข่าวสาร เหตุการณ์ บทความ หรือความคิดเห็น ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์  มีเรื่องใด ตอนใด ข้อความใด ที่เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นข้อความที่นำเสนอโดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน     จึงเป็นการใช้วินิจฉัยสั่งการโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำโจทก์ได้รับความเสียหาย
 
การกระทำของจำเลยที่ 1,ที่ 2 ,ที่ 3 และที่ 4  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด  เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กระทำต่อโจทก์ โดยผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม  ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายสากล  เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 ได้รับรองและคุ้มครองไว้  เป็นเหตุให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย 
 
จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ร่วมกระทำละเมิดและฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 3  และที่ 5 ในฐานะกระทรวงการคลังซึ่งต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีสังกัดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539  จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด
 
คดีนี้เป็นคดีปกครองซึ่งควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง  แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 16 ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โจทก์จึงจำต้องนำคดีมาฟ้องยังศาลยุติธรรมเพื่อขออำนาจศาลยุติธรรมในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของโจทก์
 
หากศาลจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลไว้โดยไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่าการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของจำเลยที่ 2 อันเป็นอำนาจและดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะศาลไม่อาจเข้าไปทบทวนหรือตรวจสอบได้  ก็จะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนชาวไทย  เพราะจะเป็นการยอมรับว่าหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้ว  ฝ่ายบริหารสามารถอ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ตามอำเภอใจ  โดยไม่จำต้องผูกพันกับเงื่อนไขหรือองค์ประกอบของกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนด หรือไม่จำต้องคำนึงว่าการใช้อำนาจของตนจะขัดต่อกฎหมายฉบับอื่นหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของโจทก์และประชาชนชาวไทยย่อมไม่มีความหมายใดๆเลย  เพราะเท่ากับว่าประชาชนไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ  ฝ่ายบริหารอยู่เหนือการควบคุมตตรวจสอบ
 
ค่าแห่งความเสียหายดังกล่าวไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้  แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจหรือใช้ดุลพินิจไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพื่อละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกต่อไป  โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าเป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
 
คำขอท้ายฟ้อง
1. ขอศาลได้โปรด เพิกถอนคำสั่ง ให้ปิดกั้นเว็ปไซต์ประชาไท
2. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  เปิดการเข้าถึงเว็ปไซต์ข่าวประชาไท หากจำเลยไม่กระทำการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
3. ให้จำเลยที่ 4  และที่  5 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
4. ให้จำเลยที่ 4  และที่  5 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายวัน วันละ 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
5. ให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์ 
 
ในวันที่ 23 เมษายน 2553 วันเดียวกับที่ยื่นฟ้องนั้นเอง
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 โดยผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์เวลา 16.30 น. สรุปใจความได้ว่า
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาการณ์ฉุกเฉิน กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 2/2553 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 
 
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 15 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามมาตรา 45 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้
 
ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้
 
พิพากษายกฟ้อง
 
ลงชื่อ ผู้พิพากษา นางสาวณัชชา น้อยเชื้อเวียง  นายชัยวัฒน์ ธนวัฒนตระกูล
 
หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เว็บไซต์ประชาไทในฐานะโจทก์ ยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป
 
 
21 ธันวาคม 2553
คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป เป็นเหตุให้อำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์หมดไป อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ประชาไท ภายใต้โดเมน www.prachatai.com ยังไม่สามารถเข้าชมได้ตามปกติกับผู้ให้บริการทุกราย
 
5 มีนาคม 2556
 
ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 703 เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 
 
นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และนายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ เดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลย มีตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1-4 มาศาล พร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารถสนเทศและการสื่อสาร 1 คน จำเลยที่ 5 ไม่มาศาล
 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2555 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ตามคำฟ้องโจทก์ยืนยันว่าเว็บไซต์ของโจทก์ไม่ได้นำเสนอข่าวสารที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าข้อเท็จจริงเป็นตามฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
 
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง 
 
ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำเลยที่ 4 และ กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 5 ให้รับผิดได้ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้
 
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันปัจจุบันมีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และประชาชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของโจทก์ได้ ในประเด็นที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิจารณา
 
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อไปตามกฎหมาย 
 
ลงชื่อ นายนิติ เอื้อจรัสพันธุ์  นายประพันธ์ ทรัพย์แสง  นายราเชนทร์ เรืองทวีป ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประกอบไปด้วย นางสาวณัชชา น้อยเชื้อเวียง นางสาววรินทร ม่วงมิ่งสุข และนายณัฐพงษ์ ตั้งสากล
 
ศาลกำนหนดวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 แต่ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้รับฟ้องคดีต่อศาลฎีกา
 
20 กุมภาพันธ์ 2558
 
เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามคำสั่่งของศาลอุทธรณ์ให้รับฟ้องคคีนี้ ผลคือให้ส่งคดีกลับไปยังศาลแพ่งและให้ศาลแพ่งเริ่มต้นการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ต้น
 
ต่อมาจำเลยยื่นอคำร้องคัดค้านเขตอำนาจของศาลแพ่งในคดีนี้ อ้างเหตุว่าคดีนี้เป็นการกระทำทางปกครอง เป็นอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง แต่จำเลยโต้แย้งว่าเห็นว่าคดีนี้เป็นอำนาจของศาลแพ่ง เพราะขณะเกิดเหตุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้กำหนดไว้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลปกครองทำความเห็นประกอบ
 
14 ธันวาคม 2558
 
ศาลแพ่งนัดฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล โดยทั้งศาลแแพ่งและศาลปกครองมีความเห็นตรงกันว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง คดีนี้จึงพิจารณาที่ศาลแพ่ง
 
 
1 มิถุนายน 2559 
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลแพ่ง นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ประชาไทรายงานว่า ก่อนเริ่มการสืบพยาน ผู้พิพากษาได้เรียกคู่ความมาสอบถามโดยแจ้งว่า หากชนะคดีเงินที่ฟ้องร้องนั้นมาจากภาษีประชาชน จะขัดกับจุดประสงค์ของมูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามฟ้องก็ได้พ้นตำแหน่งและเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงเลยไปแล้ว เว็บไซต์ของโจทก์ก็เข้าถึงได้แล้ว 
 
ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทระบุว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ได้หวังจำนวนเงิน อย่างที่เห็นแล้วว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงินไม่มาก การฟ้องคดีไม่ได้พุ่งเป้าที่ตัวบุคคล แต่อยากต่อสู้ในเชิงหลักการว่าการปิดสื่อโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำได้หรือไม่ เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้ององค์กรด้วย หากได้ค่าเสียหายมาแล้ว มูลนิธิก็จะพิจารณาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป
 
การสืบพยานโจทก์วันนี้ ประกอบด้วยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบสามปาก ได้แก่ จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ และ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
 
จีรนุช ยื่นคำเบิกความเป็นเอกสาร และอัยการซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยได้ถามค้านถึงบทความในเว็บไซต์ประชาไทที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯที่ได้รับการแต่งตั้งในค่ายทหาร จีรนุชรับว่าบทความนี้ปรากฏในเว็บไซต์จริง อัยการถามว่า ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ระบุว่า นายกฯ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น การเขียนว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตั้งในค่ายทหารจึงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จีรนุช ตอบว่า งานชิ้นนี้คือบทความ ความเห็นในบทความไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการและขอสงวนไม่ตอบคำถามดังกล่าว 
 
อัยการถามต่อว่าการเขียนว่า เป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อต้องการล้มล้างรัฐบาลใช่หรือไม่นั้น จีรนุช ตอบว่า ไม่สามารถอ่านเจตนาของผู้เขียนได้ และว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวเกินเลย เพราะเป็นการเชื่อมโยงบทความกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
 
จีรนุชรับด้วยว่า รายงานข่าวที่แกนนำรุ่นที่สองระบุว่าหากมีการส่งสัญญาณก็พร้อมจะมากดดันรัฐบาลนั้นปรากฏในเว็บไซต์จริง ส่วนการชุมนุมโดยกดดันรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
 
อัยการถามถึงภาพเวทีชุมนุมที่มีข้อความ 'โค่นรัฐบาลอำมาตย์' จีรนุช ตอบว่า เนื้อหาดังกล่าวปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ด (prachataiwebboard.com) ซึ่งอยู่ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน แต่ไม่เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ โดยภาพนี้เป็นภาพที่มีผู้ใช้งานนำมาโพสต์และภาพลักษณะนี้ปรากฏในสื่อทั่วไปที่รายงานการชุมนุม
 
จีรนุชตอบคำถามทนายโจทก์ถามติงว่า บทความที่เผยแพร่ในประชาไท มีกองบรรณาธิการเป็นผู้พิจารณา โดยผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงคือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหาร และผู้ที่ส่งบทความมามีหลากหลายอาชีพ กรณีมีผู้ไม่เห็นด้วยกับบทความใดๆ อาจโต้แย้งด้วยการส่งบทความมาเผยแพร่ได้เช่นเดียวกัน หรือแสดงความเห็นท้ายบทความ หรือเขียนจดหมายถึงกองบรรณาธิการ โดยบทความที่เผยแพร่ในประชาไทไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นเหมือนกองบรรณาธิการ และประชาไททำหน้าที่เป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งวัตถุประสงค์นี้ก็ได้เขียนกำกับไว้ด้วยในหน้าบทความนั้นๆ
 
จีรนุช เบิกความว่าการกล่าวถึงเรื่องการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีทั้งจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และคอลัมน์ในสื่อต่างๆ ส่วนรายงานข่าวที่แกนนำย่อยของ นปช.ระบุว่าหากแกนนำส่งสัญญาณมาก็พร้อมไปกดดันที่ศาลากลางนั้น เป็นการประมวลข่าวจากสำนักข่าวอื่นๆ ได้แก่ มติชนออนไลน์ คมชัดลึก สำนักข่าวไทย พีเพิลชาแนล เว็บไซต์ประชาไทและเว็บบอร์ดประชาไท อยู่ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนเหมือนกัน แต่แยกการดำเนินงานกันชัดเจน โดยกองบรรณาธิการดูแลเว็บไซต์ประชาไท ส่วนเว็บบอร์ดประชาไทเป็นพื้นที่แสดงความเห็นของผู้ใช้ทั่วไปและเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคม-การเมือง ทั้งนี้ คำสั่งปิดเว็บไซต์ของ ศอฉ.ไม่ได้ระบุ URL ของเว็บบอร์ดประชาไท
 
พยานโจทก์ปากที่สอง ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท ยื่นเอกสารคำเบิกความต่อศาล อัยการถามค้านว่า การตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ใช่หรือไม่ ชูวัสตอบว่า เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แต่ตรงกับข้อเท็จจริงที่มีการนำเสนอในสื่อไม่ต่ำกว่า 20 สำนัก อัยการถามว่าข้อความจากบทความ 'ธาตุแท้นายอภิสิทธิ์' เป็นข้อความที่เป็นจริงไม่บิดเบือนหรือไม่ ชูวัสตอบว่า เป็นความเห็นที่อ้างจากข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตใจจากที่เห็นในหนังสือพิมพ์ทั่วไป ส่วนกรณีแกนนำรุ่นสองบอกว่าจะรวมพลที่ศาลากลาง เป็นการกดดันรัฐบาลซึ่งเป็นการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ
 
ทนายโจทก์ถามติงว่า การที่บทความเขียนว่ารัฐบาลแต่งตั้งในค่ายทหารนั้น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมที่รวมเสียงข้างมากในค่ายทหาร เนื่องจากขณะนั้น พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก โดยธรรมชาติก็ต้องให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้นำรัฐบาล แต่สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าก่อนการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมของแกนนำพรรคการเมืองภายใน ร.1 พัน 1 รอ.
 
นอกจากนี้ชูวัสตอบคำถามทนายโจทก์ด้วยว่า เว็บประชาไทและมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และโจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยไม่ว่าการชุมนุมจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามหลักวิชาชีพของสื่อเห็นข้อเท็จจริงอย่างไรก็ต้องรายงานไปตามนั้น
 
พยานปากที่สาม อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า บทบาทของสื่อมวลชนเป็นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง บทความธาตุแท้นายอภิสิทธิ์นั้นสามารถนำเสนอได้ เพราะบทความทำหน้าที่แสดงความเห็นทั่วไป อาจจะไม่ตรงกับความเห็นของผู้อ่านก็ได้ กรณีที่มีผู้ถูกพาดพิงในสังคมประชาธิปไตย ผู้ถูกพาดพิงอาจโต้แย้งด้วยการส่งบทความหรือจดหมายชี้แจงไปที่สื่อเดียวกัน หรือฟ้องหมิ่นประมาทก็ได้ 
 
ส่วนการรายงานข่าวนัดชุมนุมและภาพเวที ก็เป็นสิ่งที่นำเสนอได้ และที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ก็รายงานจำนวนมาก ทั้งนี้ การปิดเว็บไซต์จะส่งผลต่อผู้อ่านและความหลากหลายของสื่อในสังคม โดยรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างรับรองไว้ว่าห้ามปิดสื่อ
 
อุบลรัตน์ตอบอัยการถามค้านด้วยว่า บทความที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์ชื่นชมระบอบอำมาตย์นั้นสามารถทำได้เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมาจากการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อทนายโจทก์ถามติงว่า บทความจำเป็นต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วหรือไม่ อุบลรัตน์กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะข้อเท็จจริงอาจยุติแล้วในความเห็นของผู้เขียน และแสดงความเห็นตามที่ผู้เขียนได้ข้อมูลมา การแสดงความเห็นถึงที่มาของนายกฯ ว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทำได้ในสังคมประชาธิปไตย
 
ศาลนัดสืบพยานจำเลย 1 ปากในนัดต่อไป วันที่ 2 มิ.ย. เวลา 9.00 น.
 
2 มิถุนายน 2559
 
ศาลแพ่งนัดสืบพยานจำเลย โดยจำเลยที่ 4 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ส่งอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานด้านความมั่นคง อดีตผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็นพยาน
 
อารีย์ ยื่นคำเบิกความเป็นเอกสาร สรุปใจความได้ว่า ขณะเกิดเหตุอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยข้อกำหนดข้อที่ 2 ได้ห้ามนำเสนอข่าวที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและกระทบต่อความมั่นคงได้ โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ลงข้อความบิดเบือนว่านายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะทหารตั้ง อำมาตย์อุ้ม ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมติของสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ความเห็นชอบซึ่งมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 
 
นอกจากนั้นเว็บไซต์ของโจทก์ยังนำเสนอข้อความที่บีบบังคับให้นายอภิสิทธิ์ต้องยุบสภา ทั้งเว็บไซต์ข่าวประชาไทและเว็บบอร์ดยังเผยแพร่ภาพการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ที่มีการปิดป้ายข้อความว่า “โค่นรัฐบาลอำมาตย์” ซึ่งบิดเบือนต่อความเป็นจริง โดยกระทรวงไอซีที เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรีในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศมาตรา 11 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
ทนายโจทก์ถามค้านถึงกระบวนการทำงานของกระทรวงไอซีที ซึ่งอารีย์ชี้แจงว่า รองนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเว็บไซต์ที่ขัดประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยเฉพาะ แต่กระทรวงไอซีทีไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วย เป็นเพียงผู้ดำเนินการปิดเว็บไซต์เท่านั้น 
 
ทนายโจทย์ถามว่าในเดือนธันวาคม 2551 มีสื่อมวลชนหลายแขนงที่วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ว่ามาจากการแต่งตั้งโดยทหาร ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในบทความ “ธาตุแท้นายอภิสิทธิ์” ที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์เป็น “นายกฯ ทหารตั้ง อำมาตย์อุ้ม” นั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกันหรือไม่ นายอารีย์ตอบว่าไม่ทราบ โดยมองว่าคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความนี้เป็นเท็จ จึงต้องดำเนินการตามนั้น
 
ด้านการรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มรักเชียงใหม่และแกนนำรุ่น 2 ของ นปช. ว่า พร้อมจะไปกดดันที่ศาลากลาง อารีย์เบิกความว่า ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่ แต่มองว่าไม่สมควรที่จะระบุรายละเอียดเรื่องการนัด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทบความมั่นคง จึงดำเนินการตามนั้น
 
สำหรับภาพถ่ายการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินกลางที่ติดข้อความ “โค่นรัฐบาลอำมาตย์” บนเวทีที่ปรากฏในเว็บบอร์ดประชาไท นายอารีย์ไม่ทราบว่ามีการตัดต่อภาพหรือไม่ และไม่สามารถตอบได้ว่าข้อความบรรยายเป็นการยั่วยุ บิดเบือนหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องไปดูคลิปวิดีโอเหตุการณ์แล้วถามคณะกรรมการพิจารณาดู
 
เมื่อถามถึงการปิดเว็บไซต์ประชาไททั้งเว็บไซต์แทนการจำกัดการเข้าถึงเฉพาะเนื้อหาที่มีปัญหานั้น อารีย์ตอบว่าจากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2551 พบว่าเว็บประชาไทมีเนื้อหาหมิ่นฯ หลายอย่างจึงทำการปิดทั้งเว็บ ส่วนการปิดเว็บบอร์ดประชาไทนั้น พยานจำเลยมองว่าเป็นเว็บเดียวกันกับ prachatai.com ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ เมื่อทนายฝ่ายโจทก์แย้งว่าตามเอกสารจำเลยฉบับที่ 5 ระบุให้ปิดเฉพาะเว็บไซต์ประชาไท ไม่รวมเว็บบอร์ดซึ่งเป็นคนละเว็บกัน อารีย์ตอบว่าเอกสารจริงมีมากกว่านี้
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลย ศาลนัดฟังคำพิพากษา 11 กรกฎาคม 2559 เวลา 9.00 น.
 
11 กรกฎาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 09.30 น. ศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนหรือเว็บไซต์ประชาไท ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะเกิดเหตุ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกระทรวงการคลังในความผิดฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยในห้องพิจารณาคดีตัวมีตัวแทนจากเว็บไซต์ประชาไทฝ่ายโจทก์รวมห้าคนและตัวแทนของจำเลยที่สามและที่สี่ร่วมฟังคำพิพากษา
 
ศาลแพ่งให้เหตุผลประกอบการยกฟ้องว่า การนำเสนอข่าวกลุ่มรักษ์เชียงใหม่และบทความธาตุแท้อภิสิทธิ์ อาจทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจผิดว่ารัฐบาลของอภิสิทธิ์มาจากการแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง บทความทั้งสองทำให้จำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการปิดเว็บไซต์เป็นมาตรการจำเป็น จึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาล 
 
หลังฟังคำพิพากษา เฟซบุ๊กเพจประชาไทรายงานว่า จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทกล่าวว่า จะอุทธรณ์คำพิพากษา เพราะคำพิพากษาไม่ได้อธิบายข้อต่อสู้ในแง่ที่ว่า ข้อความที่ยกมาเป็นข่าวปรากฏในสื่อทั่วไป การปิดประชาไทในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้การอุทธรณ์ก็เป็นไปเพื่อยืนยันการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพสื่อ

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา