สุนีย์ VS วันฉัตร (แพนทาวน์ พันทิป)

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

วันฉัตร ผดุงรัตน์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2552

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สุนีย์ ศรีทะวงศ์ ภริยาศิษยาภิบาลของคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ (Hope Bangkok Church) เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาของคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์(มนุษยศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำเร็จการอบรมพระคริสตธรรมคัมภีร์ทางด้านศาสนศาสตร์ จากประเทศนิวซีแลนด์ เป็นอาจารย์สอนพระคัมภีร์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมด้านจริยธรรม อบรมคู่สมรสก่อนและหลังแต่งงานในคริสตจักรความหวังทั่วประเทศ สุนีย์เป็นโจทก์ฟ้องคดีหมิ่นประมาทด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งสิ้น 8 คดี ที่กรุงเทพฯ 7 คดี และที่อำนาจเจริญ 1 คดี

สารบัญ

นายวันฉัตรถูกฟ้องในฐานะเจ้าของและผู้ให้บริการเว็บไซต์ pantown ซึ่งยินยอมให้มีผู้นำเอกสารเรื่องมาตรการคริสตจักรความหวัง กรุงเทพฯ ซึ่งมีข้อความที่ทำให้โจทก์รู้สึกว่าตนถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม โดยละเลยเพิกเฉยไม่นำข้อความที่ใส่ความลงจากเว็บไซต์เป็นเวลา 9 เดือน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลเว็บไซต์ pantip.com เจ้าของเว็บไซต์  www.pantown.com  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการเว็บบอร์ดฟรีภายในเครือของพันทิป ทั้งนี้ พันทิปเป็นชุมชนเว็บบอร์ดแห่งแรกๆ ของเมืองไทย เป็นพื้นที่กระดานข่าวสาธารณะที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

นายวันฉัตร ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดการปัญหาสังคมบนระบบไอที เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นายวันฉัตรถูกฟ้องในฐานะเจ้าของและผู้ให้บริการเว็บไซต์ pantown ซึ่งยินยอมให้มีผู้นำเอกสารคำชี้แจงเรื่องมาตรการของคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ มูลนิธิความหวังของชาวไทย ซึ่งมีข้อความที่ทำให้โจทก์รู้สึกว่าตนถูกดูหมิ่น เหยียดหยามว่าเป็นคนที่มีความประพฤติเลวร้าย

โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ว่ามีหน้าที่ควบคุมดูแลกำกับติดตามตรวจสอบ ได้ยินยอมให้มีการนำข้อความขึ้นเว็บไซต์ของตน และรู้อยู่แล้วว่ามีข้อความอันเป็นเท็จ ได้ละเลยเพิกเฉยไม่นำข้อความที่ใส่ความโจทก์ลงจากเว็บไซต์ของจำเลยเป็นเวลา 9 เดือน จำเลยจึงร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณา และจงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้โจทก์เสียหายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14, 15

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14,15 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2913/2552

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

29 ธันวาคม 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิด โดยศาลพิเคราะห์ว่าที่โจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทจำเลย แล้วอ้างมาตรา 14 (1) เรื่องข้อมูลปลอมหรือเท็จนั้น หากเป็นการนำเอกสารที่มีอยู่แล้วนำลงเว็บไซต์โดยไม่ได้แก้ไข จะเรียกว่าเป็นข้อมูลเท็จไม่ได้ หากโจทก์เห็นว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวกับผู้ทำเอกสารต่างหาก ซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความในเอกสารเป็นเท็จหรือไม่

ย่อคำพิพากษา มีรายละเอียดดังนี้ :
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของเว็บไซต์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบ ได้ยินยอมให้มีการนำข้อความเข้าสู่เว็บไซต์ของตน และรู้อยู่แล้วว่ามีข้อความอันเป็นเท็จ แต่จำเลยละเลยเพิกเฉยไม่นำข้อความที่ใส่ความโจทก์ออกจากเว็บไซต์ของจำเลย จำเลยจึงร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาและจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้โจทก์เสียหายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14, 15 ขอให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์และประกาศทางโทรทัศน์ติดต่อกันมีกำหนด 10 วันและขอให้ปิดเว็บไซต์ของจำเลย

โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก และให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ pantown.com เอาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ออกไปจากเว็บไซต์ของจำเลย จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวของทนายโจทก์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2552 และได้เอาออกไปเพียง 1 หน้า แต่ยังคงเหลืออีก 1 หน้า หน้าเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยไม่ยอมเอาออก ทนายโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทางจดหมายอิเล็คทรอนิกส์พร้อมเอกสารแนบอีก 1 ครั้ง แต่จำเลยก็ยังคงเพิกเฉยไม่นำเอาข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ออกไปจากเว็บไซต์ของจำเลย จนกระทั่งมีนัดไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 หลังจากวันดังกล่าวจำเลยจึงดำเนินการเอาข้อความออกไปจากเว็บไซต์ของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ pantown.com ยินยอมให้มีการนำข้อความอันเป็นเท็จขึ้นไว้ที่เว็บไซต์ของจำเลย รวมทั้งยังละเลยเพิกเฉยไม่นำพาเอาข้อความออกไปจากเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2551 นับถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นเวลา 11 เดือน จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันกับบุคคลที่ไม่ทราบชื่อ หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณา และกระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนยินยอมให้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14,15 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ทางนำสืบของจำเลยได้ความว่า จำเลยเปิดเว็บไซต์ให้บุคคลทั่วไปมาขอเปิดเว็บบอร์ดภายใต้เว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งผู้มาขอเปิดเว็บบอร์ดเรียกว่า ผู้ควบคุมดูแล จำเลยมีเพียงหน้าที่ตรวจสอบว่า ผู้ควบคุมดูแลให้ข้อมูลบัตรประชาชนถูกต้องและยอมรับเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ส่วนผู้ควบคุมดูแลมีหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ของตนให้เนื้อหาอยู่ภายใต้กฎหมาย จำเลยไม่มีหน้าที่เข้าไปลบข้อความที่ผิดกฎหมายเอง และการเข้าไปลบข้อความต้องใช้อีเมล์ส่วนตัวและรหัสผ่านของผู้ควบคุมดูแลโดยเฉพาะ

คดีนี้เมื่อจำเลยทราบเรื่องจากโจทก์ ได้ติดต่อไปยังผู้ควบคุมดูแล แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยจึงปิดเว็บไซต์ของผู้ควบคุมดูแลนั้นหลังได้รับจดหมายจากโจทก์ 2 วัน ข้อความตามฟ้องจึงถูกลบไปด้วยในทันที นอกจากนั้น ข้อความที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแล จำเลยก็ได้ลบออกแล้วในเวลา 4 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากโจทก์ เหตุที่ไม่ได้ลบทันทีเพราะเป็นวันหยุด ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความอยู่ในเว็บไซต์ถึง 11 เดือนนั้น จึงไม่เป็นความจริง

นายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กรรมการร่างกฎหมายประจำผู้ทรงคุณวุฒิ สำานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะเป็นผู้ตรวจและยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเป็นกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าข้อความที่มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากมีเอกสารต้นฉบับและมีการนำต้นฉบับไปลงไว้ในเว็บไซต์ก็จะถือว่าข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นเท็จไม่ได้ ส่วนโจทก์จะเห็นว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวกับผู้ทำเอกสารต่างหาก และโจทก์ยังไม่สามารถ
พิสูจน์ว่าข้อความในเอกสาร เป็นเท็จหรือไม่ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 14 (1) จะต้องมีการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหมายถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นจะเป็นการแก้ไขทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหมายถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ของจริง

นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาครอบคลุมองค์ประกอบความผิด คือ ผู้กระทำต้องมีเจตนานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกัน ผู้กระทำต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงในองค์ประกอบความผิดว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลเท็จ และต้องรู้ว่าการกระทำาดังกล่าวเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย

คดีนี้เมื่อพิจารณาเอกสารตามฟ้องเทียบกับเอกสารชี้แจงที่นาง ร. ทำขึ้นแล้ว เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ดังนั้น การที่มีผู้นำเอกสารตามฟ้องไปประกาศไว้ในเว็บไซต์ จึงไม่เป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ ประกอบกับพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความรับรองว่า ข้อความที่มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากมีเอกสารต้นฉบับและมีการนำต้นฉบับไปลงไว้ในเว็บไซต์จะถือว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเท็จไม่ได้ โจทก์จะเห็นว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวกับนาง ร. ซึ่งผู้ทำเอกสารต่างหาก โจทก์จึงยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าข้อความในเอกสารตามฟ้องเป็นเท็จหรือไม่ คดีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

พิพากษายกฟ้อง

27 เมษายน 2554 โจทก์ยื่นอุทธรณ์

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา