ไม่ยืนในโรงหนัง

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

โชติศักดิ์ อ่อนสูง

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2551

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

นวมินทร์ วิทยากุล ผู้ร้องทุกข์

สารบัญ

โชติศักดิ์ อ่อนสูง นศ.มธ. และเพื่อนนศ.ม.รามฯ ไปชมภาพยนตร์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล ทั้งคู่ไม่ยืนทำความเคารพระหว่างที่บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนฉายภาพยนตร์ สร้างความไม่พอใจให้แก่นวมินทร์ วิทยากุล และผู้ชมภาพยนตร์ในรอบดังกล่าวอีกหลายคน นวมินทร์ตรงเข้าด่าทอ ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ และขับไล่นักศึกษาทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ ท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงโห่ จนทั้งสองคนต้องออกจากโรงภาพยนตร์ไป จากนั้นนายนวมินทร์แจ้งความว่านายโชติศักดิ์และเพื่อนหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

โชติศักดิ์ อ่อนสูง ขณะเกิดเหตุ อายุ 27 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางสังคม

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

21 กันยายน 2550 โชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เอ็ก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล ทั้งคู่ไม่ยืนทำความเคารพระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ สร้างความไม่พอใจให้แก่นวมินทร์ วิทยากุล และผู้ชมภาพยนตร์ในรอบดังกล่าวและอีกหลายคน นวมินทร์ตรงเข้าด่าทอ ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ และขับไล่นักศึกษาทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ โดยขณะเกิดเหตุผู้คนในโรงภาพยนตร์ได้ปรบมือให้และร่วมขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนการโห่ จนทั้งสองคนต้องออกจากโรงภาพยนตร์ไป

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

24 เมษายน 2551 เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานความเห็นของทองใบ ทองเปาด์ ทนายความรางวัลแมกไซไซ และอดีตส.ว.มหาสารคาม เกี่ยวกับกรณีที่ โชติศักดิ์ อ่อนสูง และพวก ถูกนวมินทร์ วิทยากุล เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี ฐานไม่ยืนตรงแสดงความเคารพในโรงภาพยนตร์ ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยทองใบได้ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้การยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องกระทำด้วยความสุภาพ ยืนตัวตรง ห้ามแกว่งแขน หรือยืนยิ้ม ต้องยืนด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งในอดีตเคยมีเหตุการณ์นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องติดคุก 2 ปี เพราะไม่ลุกขึ้นยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะไปฟังการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ ในโรงภาพยนตร์ก็มีข้อความระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า "โปรดยืนถวายความเคารพ"

"แม้จะอยู่ ณ ที่แห่งใด เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องยืนตัวตรงนิ่งทำความเคารพ" ทนายความรางวัลแมกไซไซกล่าว และยังระบุด้วยว่า หากบุคคลใดเข้าแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ไม่ลุกขึ้นยืน หรือยืนไม่สุภาพ โดยมีพยานเห็นชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับแจ้งความอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น และนำเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกามาแล้ว

นอกจากนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้ภายเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต และสถานีวิทยุบางสถานี ถึงกรณีของโชติศักดิ์ อ่อนสูง โดยเฉพาะในเว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com) โดยได้คัดลอกข้อความในกระทู้ที่โชติศักดิ์ได้เข้าไปเขียนชี้แจงและอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาลงไว้ในเวบไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ด้วย

25 เมษายน 2551 โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนถึงประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กรณีรายการยามเฝ้าแผ่นดินและสื่อในเครือผู้จัดการได้ระบุว่าโชติศักดิ์เป็นผู้ประสานงานแนวร่วมประชาธิปไตยต้านเผด็จการ (นปก.) ซึ่งต้านรัฐประหารและสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมกับนปก.หลายครั้ง โดยโชติศักดิ์ได้ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และชี้แจงว่าตนอยู่ในกลุ่ม "19 กันยาต้านรัฐประหาร" ซึ่งถูกเรียกว่า ‘สองไม่เอา’ และการลงข้อมูลเท็จดังกล่าวทำให้ตนได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ทางสภาการหนังสือพิมพ์ได้ระบุว่าหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มแล้วจะส่งเรื่องต่อไปยังอนุกรรมการร้องทุกข์เพื่อพิจารณาดำเนินการ ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ต่อเรื่องนี้ โชติศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ว่า นอกจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียน "ผู้จัดการ" ไปยังองค์กรสื่ออื่นๆ ด้วย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ และเมื่อสอบถามไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ได้รับเรื่อง

9 พฤษภาคม 2551 เวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษ ซึ่งระบุว่า ลักษณ์ เรขานิเทศ โหรคนดัง ได้นำทีมดาราออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของโชติศักดิ์อ่อนสูงอย่างเผ็ดร้อน โดยในตอนหนึ่งโหรชื่อดัง ได้กล่าวว่า "…คนพวกนี้ถ้าถูกจับด้วยคดีอะไรก็ตาม ถ้าเข้าคุกคุณอาจไม่ได้ออกมาเลยก็ได้… คุณไม่มีสามัญสำนึก เข้าไปในคุกไม่ได้ออกแน่ โดนมันเสียบแน่ ไอ้พวกอกตัญญูต่อแผ่นดิน… คุณเป็นเทวทัตกลับชาติมาเกิดเหรอ ระวังจะโดนธรณีสูบหรือโดนกระทืบตายคาแผ่นดิน…"

นอกจากนี้ ในสกู๊ปดังกล่าวยังได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ที่กล่าวตำหนิพฤติกรรมของโชติศักดิ์ อาทิ "ต๊ะ นารากร ติยายน", "กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์", "เก๋ ชลดา เมฆราตรี", "ออร์แกน ราศรี วัชราพลเมฆ

14 พฤษภาคม 2551 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.ที่ลานศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น ได้มีตัวแทนกลุ่ม "เราคนขอนแก่นรักแผ่นดิน" ซึ่ง ระบุว่า เป็นตัวแทนจากนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระในขอนแก่น ได้ออกมารวมตัวกันเพื่อประณามโชติศักดิ์ อ่อนสูง และพวก

ด้านนพ.สมชัย จึงภัทรกุล เจ้าของกิจการส่วนตัวในจังหวัดขอนแก่น หนึ่งในกลุ่มที่มา กล่าวว่า การออกมาประณามโชติศักดิ์ครั้งนี้ของพวกตน เป็นความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการปกป้องสถาบันหลักของชาติไม่ให้ใครมาดูหมิ่นได้ เนื่องจากรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่มีความเห็นต่างต่อสถาบันกษัตริย์ มีเจตนาแสดงออกถึงความไม่เคารพสถาบันเบื้องสูงในที่สาธารณะ ตนขอเชิญชวนชาวขอนแก่นและคนไทยทั่วประเทศที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกมาเคลื่อนไหวประณามกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ซึ่งตนเชื่อว่า พฤติกรรมที่โชติศักดิ์และพวกกระทำนั้น มีบุคคลบางกลุ่มให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพราะลำพังโชติศักดิ์เองไม่น่าจะกล้าสวนกระแสศรัทธาของชาวไทย ต้องมีแรงจูงใจบางประการที่ทำให้นายโชติศักดิ์ยอมเป็นแกะดำในสังคม

"พวกเรายอมรับได้หากคนในสังคมไทยจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข แต่รับไม่ได้กับพฤติกรรมที่มีความเห็นต่างต่อสถาบันกษัตริย์ ด้วยการหมิ่นฯ พฤติกรรมดังกล่าวควรถูกประณามจากคนไทย" นพ. สมชัย กล่าว

จากนั้น วสันต์ วาณิชย์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม "เราคนขอนแก่นรักแผ่นดิน" ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำเยี่ยงโชติศักดิ์ อ่อนสูง และกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่มีเจตนาในการดูหมิ่นและคิดล้มล้างสถาบันเบื้องสูง โดยเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลออกมาจัดการกับเหตุการณ์หรือกระบวนการหมิ่นเบื้องสูงอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อแผ่นดิน ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้โชติศักดิ์ อ่อนสูง และคณะ เห็นแก่ความถูกต้องและหัวใจของชาวไทย โดยยุติการกระทำ เพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ชนชาติไทยสืบต่อไปอย่างมีหลักชัยที่พึ่งทางใจ มีเอกลักษณ์ มีความภาคภูมิใจที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของแผ่นดินและเป็นที่เทิดทูนของชาวไทย

หลังจากอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว ทางกลุ่มได้ทำการเผารูปของโชติศักด์ อ่อนสูงต่อหน้าสื่อมวลชน

4 มิถุนายน 2551 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือแจ้งคำสั่ง "ไม่รับ" คำร้องเรียนของโชติศักดิ์ อ่อนสูง โดยหนังสือดังกล่าวลงชื่อโดยเชาวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาฯ ระบุว่า "พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจรับไว้พิจารณาตามข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2541 ได้เนื่องจากขัดต่อธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องเรียน"

อนึ่ง ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 หมวด 4 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 ระบุว่า

ข้อ 22 ห้ามมิให้คณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการในกรณีต่อไปนี้
(1) เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดไปแล้ว หรือ
(2) เรื่อง ที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเดียวกับเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่ สุดไปแล้วและไม่มีหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแหงข้อกล่าวหา หรือ
(3) เรื่อง ที่ล่วงเลยมาแล้วเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ผู้เสียหายทราบเรื่อง หรือเกินหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุ เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีผลกระทบต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์

10 มิถุนายน 2551 โชติศักดิ์ อ่อนสูง ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ "ไม่รับ" คำร้องเรียนว่าด้วยการถูกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและสื่อในเครือทำให้เสียหาย โดยโชติศักดิ์ได้ระบุว่า ข้อร้องเรียนของตนนั้นไม่ได้ขัดต่อธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 แต่อย่างใด เนื่องจากข้อร้องเรียนดังกล่าวไม่เคยถูกนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล และไม่ใช่เรื่องที่ศาลรับฟ้อง หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิจารณาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดไปแล้ว ตามบทบัญญัติข้อ 22 อีกทั้งยังเป็นข้อร้องเรียนครั้งแรกต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่สุดไปแล้ว ตาม ข้อ 22 (2) และร้องเรียนนี้มีขึ้นหลังเหตุการณ์เพียง 2-3 วัน จึงไม่ได้เกิน 120 วัน ตามบทบัญญัติข้อ 22 (3) ตนจึงขอใช้สิทธิคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ตามหมวด 4 ข้อ 24 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

17 มีนาคม 2552 โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกตอบโต้คำพูดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552 ซึ่งได้พาดพิงถึงคดีความของตนระบุว่า ยุติไปแล้ว โดยในจดหมายดังกล่าว โชติศักดิ์ระบุว่า คดีความของตนยังไม่ได้ถูกยกเลิกหรือยุติลงตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง หากยังอยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องในวันที่ 30 มีนาคม 2552 เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

19 กรกฎาคม 2555 หลังจากอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายโชติศักดิ์และเพื่อน นายวิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า คดีดังกล่าว ผู้ต้องหาไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ซึ่งอัยการเห็นว่าการกระทำของนายโชติศักดิ์กับพวกนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ แต่การแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิดในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้สรุปสำนวนมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องให้อัยการ โดยอัยการได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นที่สั่งไม่ฟ้อง ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทำความเห็นแล้ว และผบ.ตร. มีความเห็นพ้องกับพนักงานอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติไม่ฟ้องคดี


“พฤติการณ์ของนายโชติศักดิ์เป็นลักษณะของกิริยาที่ไม่เหมาะสม หากจะมีกฎหมายที่ให้เป็นความผิด เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยคดีมีอายุ 1 ปี หากมีการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย คดีจึงหมดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้ เพราะแต่ละคดีมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพยานหลักฐานแตกต่างกันออกไป” นายวิศิษฐ์กล่าว

แหล่งอ้างอิง

ข้อมูลจาก Article 112 : Awareness Campaign

21 กันยายน 2550 เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 19.45 น. โชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็ก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ ทั้งสองคนไม่ลุกขึ้นยืนขณะมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ ทำให้นายนวมินทร์ วิทยกุล ชายคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์ในรอบเดียวกันไม่พอใจ ตรงเข้าด่าทอและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่นักศึกษาทั้งสอง และไล่โชติศักดิ์และเพื่อนออกไปจากโรงภาพยนตร์ ขณะเกิดเหตุผู้คนในโรงภาพยนตร์ปรบมือให้และร่วมขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนด้วยการโห่ จนทั้งสองคนต้องออกจากโรงภาพยนตร์ไป

จากนั้น นายโชติศักดิ์นำผลการตรวจร่างกายเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวันให้ดำเนินคดีกับนวมินทร์ วิทยกุล อายุ 40 ปี ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายอหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า ทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถานฯ ต่อมาโชติศักดิ์เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุ ภายหลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ ตนได้โทรศัพท์แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหมายเหตุ 191 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาพบตนที่หน้าโรงภาพยนตร์ดังกล่าว ก่อนจะพาตนและเพื่อนพร้อมด้วยคู่กรณีไปยังสน.ปทุมวัน โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า หากตนแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกาย คู่กรณีก็จะแจ้งความกลับในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ อย่างไรก็ตาม ตนได้ยืนยันตามเดิม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าหากจะแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายก็จำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายก่อน ตนและเพื่อนจึงเดินทางกลับ และไปตรวจร่างกายในวันรุ่งขึ้นก่อนจะเข้าแจ้งความตามข่าว

25 กันยายน 2550 นวมินทร์ วิทยากุล อายุ 40 ปี เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจากกรณีที่คนทั้งสองไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง

5 เมษายน 2551 เมื่อเวลาประมาณ 8.30 น. พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน เจ้าของสำนวน โทรศัพท์แจ้งข้อกล่าวหาแก่โชติศักดิ์และเพื่อน ต่อมาในวันเดียวกัน สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความของโชติศักดิ์ เดินทางไปไปพบพนักงานสอบสวน ณ สน.ปทุมวัน เพื่อขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 22 เมษายน 2551 เนื่องจากตามที่เจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์แจ้งและระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันเดียวกันนั้นกะทันหันเกินไป

21 เมษายน 2551 หลายเวบไซต์เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ซึ่งมีเนื้อหาให้กำลังใจโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อนเพื่อต่อสู้คดี และไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ ราวกับคนเหล่านั้นเป็นอาชญากร รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่ว่าความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะเชื่อว่า ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องรักษาไว้

22 เมษายน 2551 เมื่อเวลาประมาณ 13.15น. โชติศักดิ์ อ่อนสูง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวัน เขาอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าสน.ปทุมวันซึ่งมีเนื้อหายืนยันว่า การไม่ยืนดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด ก่อนจะแสดงความเห็นว่า ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจำนวนมาก กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มก็ล้วนแต่หยิบกฎหมายนี้มาใช้เพื่อโจมตีกัน บางครั้งคนธรรมดาอย่างเขาก็โดนไปด้วย และยังมีการตีความตัวกฎหมายกว้างออกไปเรื่อยๆ ด้วย การได้ตัดสินรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" นี้ตนทำขึ้นโดยหวังว่า จะทำให้การไม่ยืนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำ พนักงานสอบสวนเห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นการเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง

28 เมษายน 2551 เว็บไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" และ "ไอเอ็นเอ็น" รายงานข่าวกรณีนายสุนิมิต จิระสุข อายุ 36 ปี เจ้าของกิจการส่วนตัวชาวขอนแก่น เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เพื่อดำเนินคดีกับโชติศักดิ์ อ่อนสูง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีที่ไม่ยืนถวายความเคารพเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 (2) นอกจากนี้ยังแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ "ฟ้าเดียวกัน" และเว็บไซต์ "ประชาไท" ซึ่งมีกระทู้เกี่ยวกับกรณีของโชติศักดิ์

นายสุนิมิตผู้แจ้งความระบุว่าในสองเว็บไซต์ดังกล่าว มีการแสดงความเห็นกว่า 90 ความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโชติศักดิ์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยและแสดงถึงการต่อต้านระบบกษัตริย์ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในฐานะคนไทยที่เคารพรักสถาบันกษัตริย์ และขอเรียกร้องให้กระทรวงไอซีทีออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วย

29 เมษายน 2551 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อุดม เปี่ยมศักดิ์ รองผกก.สส.สน.ปทุมวัน โดยสวมเสื้อยืดรณรงค์สีดำมีข้อความว่า "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" มาด้วย ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ให้ความสนใจไปทำข่าวเป็นจำนวนมาก

หลังจากเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว โชติศักดิ์เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ที่มาในวันนี้ เดิมตนเข้าใจว่าเป็นแค่การมารายงานตัวเท่านั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจว่าเป็นการมาให้ปากคำเพิ่มเติม ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันดังกล่าวทำให้ต้องใช้เวลาประสานงานกันนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ตนไม่ได้ให้ปากคำเพิ่มเติมใดๆ แต่ได้ตกลงนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะทำคำให้การเป็นหนังสือโดยส่งผ่านทนายความผู้รับมอบอำนาจมามอบให้พนักงานสอบสวนภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ส่วนกระบวนการหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน ว่าจะสอบปากคำเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งหากจะสอบเพิ่มก็คงจะต้องนัดอีกครั้ง แต่หากเห็นว่าพอแล้ว ครบถ้วนแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากรับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมาและข่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้ถูกข่มขู่บ้างหรือไม่ โชติศักดิ์ตอบว่า มีโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่บ้าง นอกจากนั้นยังมีผู้นำตำบลที่อยู่ของตนไปโพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคาม ตนจึงต้องย้ายไปนอนตามบ้านเพื่อน

30 เมษายน 2551 รายการ Metro Life ซึ่งออกอากาศคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน (FM 97.75 MHz) ดำเนิน รายการโดย ต่อพงศ์ เศวตามร์, วฤทธิ์ นิ่มนวลกุล และอำนาจ เกิดเทพ ได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้ฟังไปพบโชติศักดิ์ อ่อนสูง ในงานเสวนา "สิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง" ที่ จะจัดขึ้นที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2551 ซึ่งโชติศักดิ์ อ่อนสูงจะเป็นหนึ่งในผู้เสวนา โดยในตอนหนึ่งของรายการดังกล่าว ผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า มีคนถามว่า ถ้าเราตีหัวคนแล้วเราต้องจ่าย 500 หรือเปล่า ซึ่งมีการตอบในรายการว่า ต้องจ่ายค่าปรับข้อหาทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย แต่อาจถูกตีความว่าพยายามฆ่า ดังนั้นต้องใช้หมัด อย่าใช้อาวุธ และต้องไม่ให้เกิดเลือด หรือหากเลือดออกก็จ่าย 500 ค่าทำขวัญ ค่าเข็มเท่านั้น

เมื่อมีการเปิดสายให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น ก็ได้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นว่าให้กำถ่านไฟฉายไปชกปากให้แตก ไม่ต้องเสียค่าเข็มด้วย เพราะคนเจ็บไม่กล้าเย็บ เสียแค่ค่าพยาบาล กับค่าปรับ 500 บาท นอกจากนี้ ตลอดทั้งรายการมีการกล่าวย้ำบ่อยครั้งว่า การร้องไห้ เจ็บแค้น นอนไม่หลับอยู่กับบ้าน ไม่ได้เป็นการช่วยปกป้องสถาบันฯ ต้องมีการลงมือกระทำบ้าง และหวังว่าประชาชนจะช่วยกันปกป้องสิ่งที่รัก จะคิดและหวังรอให้ทหารมาทำปฏิวัติไม่ได้อีกแล้ว โดยระบุว่าจะเริ่มในวันที่ 2 และ 4 พฤษภาคม นี้ โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2551 ผู้ดำเนินรายการได้เชิญชวนให้ผู้ฟังไปชูป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรี และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่หน้าห้องส่งกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งนายกฯจะต้องไปออกรายการ "นายกฯพบประชาชน" เนื่องจากนายกฯไม่ทำอะไรเลย กรณีที่ NBTจัดให้คนที่ใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร" ไปออกรายการ

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายรายการผู้ดำเนินรายการได้ย้ำให้ประชาชนเคลื่อนไหวด้วยความสงบ มีสติ มีอารยธรรม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ หรือทำให้กระบวนการในการต่อสู้เสียหาย

2 พฤษภาคม 2551 สน.ชนะสงครามส่งหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอความร่วมมือให้งดการอนุญาตให้ใช้สถานที่ ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ ในการจัดเสวนาวิชาการ : ‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’ เนื่องจาก ผู้เสวนามี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ และหากทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมเพื่อการเสวนาดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนมองว่ารู้เห็นกับการเสวนาครั้งนี้ อธิการบดีจึงได้ส่งจดหมายดังกล่าวต่อมายังคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้รับผิดชอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งต่อมา คณบดี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ได้เดินทางไปตรวจดูความเรียบร้อยและสอบถามผู้จัดการงาน ก่อนจะอนุญาตให้การเสวนาดำเนินต่อไป

ทางด้านประตูมหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 13.00น. มีประชาชนซึ่งสวมเสื้อสีเหลืองจำนวนกว่า 30 คน ชุมนุมและชูป้าย "อย่านิ่งเฉย คนไทยโปรดช่วยกันต่อสู้กับพวกหนักแผ่นดิน" "อย่าไปหลงเชื่อคำตอแหลทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์" "เราจะไม่ยอมให้พวกมันทำร้ายในหลวงอีกต่อไป" และป้ายที่เขียนชื่อนักวิชาการ นักการเมือง ต่อท้ายด้วยคำด่า โดยตลอดการชุมนุมดังกล่าว มีการตะโกนว่า "พวกประชุมอยู่ข้างใน ตอแหล หนักแผ่นดิน ขอให้ชิบหาย" ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ปิดประตูรั้วดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 5-10 นาย และรปภ.ของมหาวิทยาลัยดูแลความเรียบร้อยอยู่

แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พวกตนเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่มาในนามกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น โดยการมาในวันนี้เป็นแบบกะทันหัน เมื่อทราบว่าจะมีการจัดเวทีเสวนาก็ได้บอกข่าวต่อๆ กันมา แกนนำคนดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า ตนทราบว่ามีประชุมกันที่นี่ (มธ.) หลายครั้ง ซึ่งมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบัน และกล่าวว่ากลุ่มที่กำลังประชุมอยู่ภายในต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้ พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นก็ไม่ลุกขึ้นยืน เคยถูกขว้างปาข้าวของมาแล้ว แต่ก็อ้างว่าเป็นสิทธิ ดังนั้น วันนี้จึงมาเพื่อตอบโต้ให้ชาวบ้านเห็น และอยากให้หยุดพฤติกรรมเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การเสวนาดังกล่าวจบลงโดยไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในระหว่างการเสวนาแต่ประการใด

19 กันยายน 2551 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีที่โชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อน ยื่นฟ้องนายนวมินทร์ วิทยกุล ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า ทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถานฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 50

20 ตุลาคม 2551 คดีความที่โชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อนตกเป็นผู้ต้องหาคดี ได้ถูกส่งต่อจาก ร.ต.ท.โสเพชร จันทร์พลงาม พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ไปยังชั้นอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ผู้ต้องหาทั้งสองเซ็นทราบหมายนัดในวันที่ 20 พ.ย. 2551 เวลา 10.00น. เพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ

20 พฤศจิกายน 2551 โชติศักดิ์ อ่อนสูง เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากทนายความว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งตนและเพื่อนตกเป็นผู้ต้องหานั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2551

25 ธันวาคม 2551 โชติศักดิ์ อ่อนสูง เปิดเผยว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่จากวันที่ 20 พ.ย. 51 เป็น 25 ธ.ค. 51 นั้น ตนได้รับแจ้งจากทนายความอีกครั้งว่า ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552

10 กุมภาพันธ์ 2552 โชติศักดิ์ อ่อนสูง เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากทนายความอีกครั้งว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 30 มีนาคม 2552

30 มีนาคม 2552 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา กรุงเทพใต้ ได้ขอเลื่อนการประกาศคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องในคดีของโชติศักดิ์และเพื่อน ไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2552
โชติศักดิ์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตนทราบมาว่าทางอัยการกำลังอยู่ระหว่างมอบหมายให้ตำรวจในพื้นที่ขอความเห็นโต๊ะอิหม่ามใน 3 จังหวัด รวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ในกรณีที่เพื่อนของตน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกัน นับถือศาสนาอิสลามและใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้

นอกจากนี้ โชติศักดิ์ยังได้แสดงความเห็นถึงกรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวพาดพิงถึงคดีของตน ที่ประเทศอังกฤษเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ว่านอกจากจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดเกี่ยวกับคดีของตนแล้ว ยังเป็นการพยายามให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ ด้วย

4 มิถุนายน 2552 โชติศักดิ์ อ่อนสูง หนึ่งในผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีไม่ยืนระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์ ออกมาเปิดเผยว่า ตามที่อัยการได้นัดตนและเพื่อนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวไปฟังคำสั่ง เมื่อ 26 พฤษภาคม 2552 นั้น ล่าสุด อัยการได้สั่งเลื่อนนัดอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 โดยให้เหตุผลว่า ทางอัยการได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้รับผลการสอบสวนดังกล่าว

11 เมษายน 2555 นายวิศิษฏ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ลงนามในคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน เพราะพยานหลักฐานอ่อนไม่พอฟ้อง

ในคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการระบุข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้ลุกขึ้นยืนขณะโรงภาพยนตร์ฉายพระบรมฉายาลักษณ์บนจอภาพยนตร์และเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จนเป็นเหตุให้นายนวมินทร์ วิทยากุล หันมาบอกให้ผู้ต้องหาทั้งสองยืนขึ้นโดยพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า "Stabd Up" แต่นายโชติศักดิ์พูดว่า "ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ" และโต้เถียงกันไปมาและต่อมานายนวมินทร์ได้กล่าวโทษผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น

พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า "การที่ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ลุกขึ้นยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และพูดว่า "ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ" เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมิได้แสดงออกซึ่งวาจาหรือกิริยาอันจะเข้าลักษณะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อัยอาย เสียหาย สบประมาท ด่าว่า และการกล่าวหรือโต้เถียงเกิดขึ้นหลังจากเพลงจบแล้ว แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปควรต้องปฏิบัติก็ตาม แต่การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา