ดา ตอร์ปิโด

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2551

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ดารณีหรือ ดา ตอร์ปิโด นักกิจกรรมซึ่งมักขึ้นปราศรัยต่อต้านการรัฐประหาร 2550 ถูกจับกุมที่บ้านและถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการปราศรัยที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รวมสามครั้ง

ดารณีถูกควบคุมตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาลโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลนัดดารณีสอบคำให้การในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ก่อนที่ต่อมาจะนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 เท่ากับว่าดารณีต้องถุกคุมขังเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีก่อนจะเริ่มมีการสืบพยาน

ในเดือนธันวาคม 2554 ศาลอาญาพิพากษาว่าดารณีมีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการปราศรัยรวมสามกรรม ลงโทษจำคุกความผิดกรรมละห้าปีรวม 15 ปี ดารณีอุทธรณ์คดี ในเดือนมิถุนายน 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนจำคุกดารณีเป็นเวลา 15 ปี ดารณีตัดสินใจไม่สู้คดีในศาลฎีกาคดีจึงเป็นที่สิ้นสุด

ในเดือนสิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559 ดารณีมีชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 สิงหาคม 2559 รวมเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสองคดี 2,958 วัน
 

 

 

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ฉายา: ดา ตอร์ปิโด อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี อดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

กล่าวคำปราศรัยด้วยถ้อยคำที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และ ราชวงศ์ที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551

 

พฤติการณ์การจับกุม

22 กรกฎาคม 2551 พ.ต.ท.สมิงพร้อมเจ้าหน้าที่นำหมายศาลบุกเข้าจับกุมตัวดารณีที่ห้องพัก หอพักสตรีชุลีพร เลขที่ 16 พหลโยธิน 13 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. และควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง รวมเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัว

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

 อ.3959/2551

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

http://lmwatch.blogspot.com/2009/04/blog-post_5453.html

http://prachatai.com/journal/2011/12/38334
 
http://news.voicetv.co.th/thailand/25619.html
 
http://www.dailynews.co.th/politics/3228
 
 
จำคุกครบ 5 ปี ‘ดา ตอร์ปิโด’ ไม่สู้ชั้นฎีกา เตรียมขออภัยโทษ. ประชาไท. 24 กรกฎาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2556)

22 กรกฎาคม 2551

กรณีถูกจับกุม และไม่ได้รับการประกันตัว

 
25 กรกฎาคม 2551 
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณี ชาญเชิงศิลปกุลอีกครั้ง หลังจากที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยยังคงใช้ตำแหน่งข้าราชการระดับ 8 เป็นหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศาลอาญารับคำอุทธรณ์ไว้ โดยจะแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้นายประกันทราบภายใน 7 วัน 
 
1 สิงหาคม 2551  
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก
 
9 ตุลาคม 2551  
ราว 1 สัปดาห์ ก่อนจะครบอำนาจฝากขังของพนักงานสอบสวน (84 วัน) ศาลได้รับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) ซึ่งยื่นเป็นโจทก์ฟ้อง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้สอบสวนแล้ว เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ
 
16 ตุลาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องออกมาในวันเดียวกัน 
 
1 ธันวาคม 2551 

ประชาไทรายงานว่า ศาลอาญา กรุงเทพฯ นัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การคดีของดา่รณี โดยศาลสั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2551 เนื่องจากทางดารณีเพิ่งแต่งตั้งทนายช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2551
 
ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
4 ธันวาคม 2551 
 
ทนายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลย จะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัย ข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์ 
 
เอกสารคำร้องขอปล่อยชั่วคราวยังระบุอีกว่า การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโทษคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ศาลก็ยังเคยปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว หรือแม้แต่คดีของบุคคลมีชื่อเสียง อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ศาลก็เคยให้ปล่อยชั่วคราว โดยสั่งอนุญาตตั้งแต่ยังอยู่ในห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ในชั้นฝากขังพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ขณะที่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลที่กำลังดำเนินอยู่นี้ พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว จึงร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี 
ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และยกคำร้อง
 
15 ธันวาคม 2551  
 
นับสอบคำให้การ
 
ในการสอบคำให้การ ดารณีให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่23-25 มิถุนายน 2552 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 26-30 มิถุนายน 2552
 
23 มิถุนายน 2552   
 
นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
24 มิถุนายน 2552   
 
ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ตนตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ 22 ก.ค. 51 และถูกขังมาเกือบ 1 ปี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ผู้ต้องคดีในข้อหาเดียวกันหลายคนได้รับการประกันตัว 
 
ในคำแถลงดังกล่าว ดารณีตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดี ซึ่งศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟังว่า เหตุใดในคดีอื่นๆ "ในข้อหาเดียวกันประเภทเดียวกัน" การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกรณีอื่นๆ จึงไม่มีการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้ ซึ่งตนเห็นว่าการพิจารณาคดีโดยลับเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง ตนจึงไม่อาจยอมรับการพิจารณาคดีโดยลับนี้ได้ และขอประกาศว่า ไม่ว่าผลจะเป็นประการใดจะไม่ขอยอมรับ ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด
 
25 มิถุนายน 2552
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ยื่นคำร้องต่อศาลให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยระบุว่า การที่ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกให้พิจารณาเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น ฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่า การที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
 
ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดี ลับนั้นขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ
 
ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ทนายของดารณีแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต
 
28 สิงหาคม 2552 
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม จำคุก 3 กระทงๆ ละ 6 ปีรวมจำคุก 18 ปี
 
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
 
9 กุมภาพันธ์ 2554 
 
ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้ว พบว่าไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี และให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี
 
17 ตุลาคม 2554 
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40(2) มีข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ว่า 
 
“การพิจารณาคดีลับ มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการ ยุติธรรม และมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความโจทก์ จำเลยและทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อูยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่ บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น มิได้กระทบเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)”
 
จากนั้นศาลอาญา จึงได้นัดพิพากษาคดีใหม่ 
 
15 ธันวาคม 2554
 
ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 801 เวลาประมาณ 9.40 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี
 
16 มีนาคม 2555
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวนางสาวดารณีด้วยเงินสด 1.44 ล้านบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลชั้นต้น สั่งคำจำคุกจำเลย มีกำหนด 15 ปี จำเลยเคยยื่นคำร้องของปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต จำเลยมายื่นในครั้งนี้อีก ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณามาแล้ว นับว่าร้ายแรง หากให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยอาจหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้จำเลยทราบโดยเร็ว"
 
12 มิถุนายน 2556
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์นัดดารณีฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณคาคดี 801 ศาลอาญา รัชดา
 
ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลาประมาณ 10.00 น. โดยไม่ได้อ่านคำพิพากษาทั้งหมด อ่านเพียงคำสั่งพิพากษาเท่านั้น
 
ซึ่งคำสั่งมีเนื้อหาว่า  ยังเชื่อว่าจำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ สมควรให้ลงโทษสถานหนักเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และที่จำเลยอุทธรณ์มาฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 15 ปี
 
โดยก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้ถามดารณีว่า ต้องการให้ศาลอ่านคำพิพากษาไล่เรียงตามเหตุผล หรือสรุปทั้งหมดสั้นๆ ดารณีตอบว่าขอให้อ่านทั้งหมด แต่ศาลก็อ่านเพียงสรุปคำพิพากษาสั้นๆ เท่านั้น โดยใช้เวลาเพียงสองนาที
 
26 กรกฎาคม 2556

หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก ดารณี 15ปี โดยให้เหตุผลว่า "ต้องลงโทษสูงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น" ดารณีตัดสินใจไม่สู้คดีต่อในชั้นฎีกา เพราะไม่มีความหวังว่าศาลฎีกาจะพิพากษาเป็นอื่น ทั้งการออกคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ใช้เวลา 5-6ปี ขณะเดียวกันสุขภาพของตนก็แย่ลงทุกวัน จึงตัดสินใจไม่สู้คดีต่อและคิดที่จะเลือกแนวทางการขอพระราชทานอภัยโทษแทน

9 กันยายน 2556

วันครบกำหนดเวลาที่ขอขยายระยะเวลาการยื่นฎีกา จำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ไม่สามารถฎีกาเป็นอย่างอื่นได้อีก
 
8 สิงหาคม 2559
 
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ดารณีอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการลดหย่อนโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย โดยทั้งเธอเข้าเกณฑ์ได้รับปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเดิม 
 
27 สิงหาคม 2559
 
ดารณีได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา