โยนธงลงน้ำ

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

“ธงชัย”

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

สารบัญ

กฤษดา ส. เข้าร่วมการชุมนุมที่เชียงใหม่ในวันที่มีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ด้วยความไม่พอใจกฤษดาขว้างปาสิ่งของ และปาธงสัญลักษณ์สีเหลืองลงในแม่น้ำ เขาถูกถ่ายวีดีโอไว้ ถูกนำชื่อนามสกุลมาเปิดเผย เขาและครอบครัวถูกคุกคาม ต่อมาถูกตำรวจตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะและฐานหมิ่นประมทกษัตริย์ฯ 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายกฤษดา ส. อายุ 49 ปี ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายกับข้าวในตลาดสดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันกับภรรยา โดยยังมีลูกๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียนจำนวน 3 คน 

 
นายกฤษดาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้เริ่มติดตามข่าวสารทางการเมือง เริ่มใส่เสื้อแดงร่วมการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา โดยเข้าร่วมในลักษณะที่ไม่ได้สังกัดหรือขึ้นอยู่กับกลุ่มใดๆ โดยเฉพาะ เคยไปร่วมกิจกรรมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นายกฤษดาได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และมีเหตุการณ์วุ่นวายในบริเวณนั้นเนื่องจากความพอใจการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล เช่น การเผายางรถยนต์ และการเผารถดับเพลิง เป็น ด้วยความไม่พอใจการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเทพฯ ทำให้นายกฤษดาขว้างปาสิ่งของบริเวณนั้น และได้ขว้างธงสีเหลืองซึ่งมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ลงไปในแม่น้ำด้วย โดยได้ถูกถ่ายวีดีโอการกระทำในขณะนั้นไว้ เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อนายกฤษดา

พฤติการณ์การจับกุม

นายกฤษดาตัดสินใจเดินทางเข้ามอบตัวเอง ด้วยความเป็นห่วงครอบครัว 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

18 สิงหาคม 2557 
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 16
 
ศาลนัดไต่สวนคำร้องของฝ่ายจำเลย ที่ยื่นขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากปัญหาอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตกของจำเลย ทำให้ไม่สามารถพูดและสื่อสารได้ และไม่สามารถต่อสู้คดีในช่วงนี้ได้ โดยนัดไต่สวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาอาการป่วยและออกใบรับรองให้จำเลย 
 
ฝ่ายอัยการโจทก์ไม่มาศาล ภรรยาของจำเลยพาจำเลยที่นั่งบนรถเข็นมาศาล และทีมงานของทนายจำเลยมาศาล 
 
เวลา 9.35 น. ผู้พิพากษาหญิงขึ้นนั่งบัลลังก์ และเวลาประมาณ 9.52 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนขึ้นนั่งบัลลังก์ ในระหว่างนี้พิจารณาคดีอื่นๆ ที่มีนัดในวันนี้ไปก่อน เพื่อรอแพทย์ที่ยังเดินทางมาไม่ถึง
 
เวลา 11.30 น.เมื่อเห็นแพทย์ยังเดินทางมาไม่ถึง ศาลได้สอบถามภรรยาของจำเลยถึงอาการของจำเลย ภรรยาของจำเลยกล่าวว่าจำเลยต้องไปทำกายภาพและไปรับยาป้องกันอาการชักที่โรงพยาบาลประสาทเป็นประจำ และไปพบแพทย์เพื่อฟื้นฟูร่างกายสัปดาห์ละสองครั้ง ปัจจุบันอาการดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังสื่อสารได้ลำบาก โดยไม่สามารถสื่อสารถึงความคิดของตนเองได้เลย และอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูอาการทั้งหมดราว 5 ปีขึ้นไป
 
เวลา 11.50 น.เจ้าหน้าที่ศาลนำโทรศัพท์มาให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพูดคุยกับแพทย์ ก่อนศาลซึ่งลงไปพูดคุยโทรศัพท์ในห้องด้านหลังบัลลังก์ จะแจ้งฝ่ายจำเลยว่าได้นัดแพทย์ให้มาเบิกความในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น.
 
เวลา 14.29 น. แพทย์หญิงปรัชญพร คำเมืองลือ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาราชนครพิงค์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ขึ้นให้การต่อศาล โดยศาลเป็นผู้สอบถามพยานเอง
 
แพทย์หญิงปรัชญพรให้การว่าตนเริ่มเป็นแพทย์ด้านนี้ตั้งแต่ปี 2553 เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท โดยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต และอาการบาดเจ็บทางไขสันหลังหรือสมอง โดยให้การรักษาคนไข้ประเภทนี้ราว 3-4 รายต่อสัปดาห์ ส่วนจำเลยนั้นมาตรวจและรับคำปรึกษากับตนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำเลยได้รับบาดเจ็บทางสมองและได้รับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านอื่นมาก่อน โดยตนเป็นคนตรวจประเมินถึงความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ของจำเลย และมีนักกายภาพบำบัดคอยทำงานช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวต่างๆ 
 
ศาลได้สอบถามถึงการพูดและการสื่อสารของจำเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แพทย์หญิงปรัชญพรให้การว่าจำเลยสามารถพูดได้เป็นคำๆ แต่ไม่สามารถจับใจความการพูดของจำเลยได้ และจำเลยยังไม่สามารถเข้าใจคำถามได้ โดยอาการของจำเลยเกิดจากปัญหาอาการบาดเจ็บของสมองซีกซ้าย ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมร่างกายซีกขวา และการควบคุมการพูดและการสื่อสาร 
 
แพทย์หญิงปรัชญพรประเมินว่าในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา จำเลยมีพัฒนาการเรื่องการเคลื่อนไหวดีขึ้น สามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วย แต่มีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วทักษะการพูดนี้จะค่อยๆ ฟื้นฟูเอง แต่จากพัฒนาการของจำเลยที่เป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีในการพัฒนา ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและการช่วยฝึกกระตุ้นจากครอบครัวด้วย 
 
ในช่วงนี้ศาลได้พูดติดตลกขึ้นด้วยว่าจำเลยมาฝึกพูดโดยสู้คดีในศาลไหม แพทย์หญิงปรัชญพรเบิกความตนว่าไม่รู้จักจำเลยมาก่อน และไม่ใช่ญาติของจำเลย
 
ศาลเปิดโอกาสให้ทนายจำเลยสอบถามพยาน ทนายสอบถามถึงการออกบัตรคนพิการให้จำเลย แพทย์หญิงปรัชญพรเบิกความว่าตนเป็นผู้วินิจฉัยอาการและออกใบรับรองแพทย์ให้จำเลย ซึ่งครอบครัวจำเลยได้นำไปให้หน่วยงานอื่นออกบัตรนี้เอาไว้ ทนายจำเลยจึงได้อ้างส่งสำเนาบัตรคนพิการของจำเลยเป็นหลักฐานให้ศาล 
 
ภายหลังพยานเบิกความ ศาลวินิจฉัยว่าเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยของศาล ควรต้องให้นายแพทย์อีกท่านหนึ่งและนักจิตวิทยาที่ตรวจประเมินอาการของจำเลยจากโรงพยาบาลสวนปรุงมาเบิกความเพิ่มเติมด้วย โดยให้ออกหมายเรียกพยานทั้งสองปากมาศาลในวันที่ 3 กันยายน 2557 เวลา 13.30 น.
 
3 กันยายน 2557 
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 16
 
จำเลย และทนายจำเลยมาศาล พนักงานอัยการโจทก์มาศาล อัยการแจ้งต่อศาลว่าตนติดการพิจารณาในคดีอื่น และไม่ติดใจค้านคำร้องของฝ่ายจำเลยในคดีนี้ 
 
เวลา 13.45 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั่งบัลลังก์ และนายแพทย์ กิตติพงศ์ สานิชวรรณกุล แพทย์จิตเวชประจำโรงพยาบาลสวนปรุงขึ้นให้การต่อศาล โดยศาลเป็นผู้ซักถามเอง แล้วใช้วิธีเรียบเรียงเป็นบันทึกคำให้การในช่วงท้ายหลังซักถามเสร็จ 
 
นายแพทย์กิตติพงศ์แจ้งแก่ศาลว่านักจิตวิทยาที่ศาลออกหมายเรียกมาให้การนั้น ไม่ได้มาในวันนี้ เพราะเป็นเพียงผู้ตรวจประเมินเฉยๆ ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ ไม่สามารถประเมินอะไรได้ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถจะสื่อสารได้ 
 
นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การว่าจำเลยมีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกข้างขวา สมองซีกซ้ายถูกทำลาย โดยปกติสมองซีกซ้ายจะควบคุมเรื่องความคิด ภาษา การวางแผน และควบคุมร่างกาย ซีกตรงกันข้าม คือซีกขวา ซึ่งสาเหตุเกิดจากจำเลยมีอาการเลือดออกในสมอง ทำให้เส้นประสาทส่วนนั้นถูกทำลาย ซึ่งทำให้ไม่สามารถตีความเสียงต่างๆ ที่เป็นภาษา และไม่สามารถพูดเป็นถ้อยคำออกมาได้ 
 
ศาลสอบถามถึงวิธีการแก้ไขรักษาอาการ นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การว่าไม่มีวิธีการแก้ไข ทำได้เพียงอาศัยเวลาให้สมองส่วนที่เสียหายฟื้นฟูตัวมันเอง โดยอาศัยแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และคนรอบข้างช่วยฟื้นฟูได้ระดับหนึ่ง โดยหลักจะพยายามให้สมองอีกข้างทำงานแทน แต่ผู้ป่วยบางคนก็ทำไม่ได้ หรือฟื้นฟูขึ้นมาได้เพียงระดับหนึ่ง ในระดับที่พอใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ 
 
ศาลถามว่าจะสามารถใช้วิธีการเขียนหรือวิธีอื่นๆ ในการสื่อสารแทนได้หรือไม่ นายแพทย์กิตติพงศ์กล่าวว่าไม่ว่าจะสื่อสารโดยการพูดหรือเขียน จำเลยก็ต้องฟังก่อนแล้วรับรู้ ตีความ จึงค่อยสื่อสารกลับไป แต่การฟังและการเข้าใจความของจำเลยยังมีปัญหา ส่วนของความคิดที่จะวางแผน กะเกณฑ์ คำนวณ บวกลบเลข การตัดสินใจต่างๆ จำเลยไม่สามารถทำได้เลย 
 
ศาลสอบถามทนายจำเลยเรื่องการสอบข้อเท็จจริงของคดีว่าได้ทำมาก่อนหรือไม่ ทนายจำเลยกล่าวว่าจำเลยมีอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะคดียังอยู่ในชั้นอัยการ และตนไม่ได้สอบข้อเท็จจริงไว้ เพราะตอนนั้นจำเลยเดินทางไปพบอัยการด้วยตนเองอยู่
 
ศาลแจ้งแก่คู่ความว่าตามองค์ประกอบการดำเนินคดี ศาลก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้เสียหายคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจำเลยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหานี้ โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยต้องถึงขนาดวิกลจริต ถึงจะทำให้จำหน่ายคดีออกชั่วคราวได้ 
 
นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การเพิ่มเติมแก่ศาลว่า ตามหลักวิชาการ คำว่าวิกลจริต ซึ่งเป็นอาการทางสมอง สามารถแยกเป็นสามรูปแบบ คือโรคจิต เป็นอาการทางจิตเวชโดยตรง ที่ผู้ป่วยจะมีความคลุ้มคลั่ง อาละวาด หรือไม่รู้สึกตัว, อาการจิตบกพร่อง เป็นอาการที่สมองผิดปกติมาตั้งแต่เกิด หรือมีปัญหาในการพัฒนาการจากวัยเด็ก เช่น กรณีเด็กปัญญาอ่อน หรือพิการทางสมอง, อาการจิตฟั่นเฟือน เป็นอาการที่คนปกติ แต่ต่อมาได้รับโรคหรือประสบอุบัติเหตุที่กระทบต่อสมอง รวมทั้งกรณีคนสูงวัยที่ความจำเสื่อม โดยอาการจำเลยเข้าข่ายการอาการจิตฟั่นเฟือนนี้ นอกจากนั้นจำเลยยังมีโรคแทรกซ้อนอยู่ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องตรวจอาการเป็นระยะๆ โดยตนเคยมาให้การต่อศาลถึงผู้ป่วยที่มีลักษณะนี้หลายครั้ง ศาลก็จะให้จำหน่ายคดีชั่วคราว แล้วให้ดูอาการไปเรื่อยๆ ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี 
 
ศาลได้สอบถามภรรยาจำเลย ถึงสภาวะของครอบครัว รายได้ในปัจจุบัน และสาเหตุที่ถูกดำเนินคดี โดยภรรยาของจำเลยกล่าวว่าตนคิดว่าสามีไม่ได้มีเจตนาในการหมิ่นฯ เพราะในวันเกิดเหตุ ถ้าคนจะไปก่อเรื่องอะไร จะมีการพรางตัวไปก่อน แต่อารมณ์ในตอนนั้นคล้ายๆ กับเขาไม่พอใจฝ่ายที่ความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน พอเห็นสีเหลืองก็โมโห โดยไม่ทันได้ดูด้วยซ้ำว่าเป็นอะไร 
 
ศาลแจ้งให้คู่ความนัดมาฟังคำสั่งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เวลา 10.00 น.
 
1 ตุลาคม 2557 
 
เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 16 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลนัดฟังคำสั่งเรื่องการงดพิจารณาคดีเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาสุขภาพของจำเลย จำเลย ภรรยาของจำเลย และทนายจำเลยมาศาล แต่พนักงานอัยการไม่มาศาล
 
เวลา 11.10 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งให้ย้ายไปฟังคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดีพิเศษ 1 เนื่องจากศาลติดการพิจารณาในคดีอื่นอยู่
 
เวลา 11.35 น. ศาลเริ่มอ่านคำสั่งคดีนี้ว่า อาการป่วยของจำเลยเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองซีกซ้าย ทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกทางด้านขวา และไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคนปกติทั่วไป
 
จากความเห็นของแพทย์ถือได้ว่าจำเลยเป็นโรคจิตฟั่นเฟือน เป็นอาการของคนที่เคยปกติ แต่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองในภายหลัง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นบุคคลวิกลจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ขณะนี้จำเลยยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูอาการ จึงยังไม่สามารถสอบคำให้การได้
 
ในการดำเนินคดี จำเลยย่อมต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้ต่อสู้คดีได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะนี้ ศาลจึงมีอำนาจงดการพิจารณาคดีของเขาไว้ชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง และให้จิตแพทย์ที่ดูแลอาการของจำเลย ทำรายงานเสนอต่อศาลภายใน 180 วัน ให้มีหนังสือถึงโรงพยาบาลสวนปรุงทราบถึงคำสั่งศาล และให้มีการนัดพร้อมเพื่อดูอาการของจำเลยอีกครั้ง ในวันที่ 22 เมษายน 2558 เวลา 10.00 น. 

 

หมายเลขคดีดำ

อ.1954/2557

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

คลิปวีดีโอที่มีคนบันทึกไว้ได้ และถูกเผยแพร่ต่อในอินเทอร์เน็ต http://www.youtube.com/watch?v=tyV2ZT0hxTY

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

หลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 

คลิปเหตุการณ์ที่นายกฤษดาทิ้งธงสีเหลืองลงแม่น้ำได้รับการเผยแพร่ในสื่อหลายประเภท ทั้งโทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว และแบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยไม่ทราบผู้ที่ถ่ายทำไว้ ทำให้เขาและครอบครัว ถูกนำชื่อนามสกุลจริงและข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยโดยคนที่ไม่พอใจการกระทำนี้ พร้อมกับมีการโพสต์ข้อความด่าทอ และข่มขู่จะทำร้ายหากเจอตัว ในท้ายข่าวและตามเว็บไซต์ต่างๆ 

 
26 พฤษภาคม 2553
 
มีการออกหมายจับโดยตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โดยแจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ไม่มีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด นายกฤษดาตัดสินใจหลบหนีการจับกุมเดินทางออกนอกประเทศไทย โดยตั้งใจไปหลบในประเทศเพื่อนบ้าน จนกว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะเลิกปฏิบัติงาน และกระแสโจมตีทางสื่อต่างๆ จะเงียบลงกว่านี้ก่อนจึงจะเดินทางกลับ
 
ธันวาคม 2553
 
นายกฤษดาตัดสินใจเดินทางกลับเข้ามอบตัว ด้วยความเป็นห่วงครอบครัว เนื่องจากภรรยาทั้งถูกติดตาม ดักฟังโทรศัพท์ และถูกหมายค้นบ้าน พร้อมกับสังเกตเห็นว่าในหมายเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมจากข้อหาเดิม นายกฤษดาได้เข้ามอบตัว โดยมีการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า พร้อมได้นำโฉนดที่ดินจำนวน 8.5 ล้านบาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน และได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ 
 
มิถุนายน 2554
 
ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการให้ไปรายงานตัวยังสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายกฤษดาได้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการพิจารณาพยานและหลักฐานเพิ่มเติม จากนั้นในการนัดรายงานตัวครั้งต่อๆ มา พนักงานอัยการได้สั่งเลื่อนการแจ้งผลการสั่งฟ้องเรื่อยมา จนครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2555 อัยการได้สั่งเลื่อนการแจ้งผลการสั่งฟ้องอีกครั้ง พร้อมกับนัดหมายใหม่ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2555
 
22 พฤษภาคม 2557
 
อัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ 
 
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน นายอรรณพ ศักดิ์ศิริญาคากุล
 
18 สิงหาคม 2557 
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดไต่สวนคำร้องของฝ่ายจำเลย ที่ยื่นขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากปัญหาอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตกของจำเลย ทำให้ไม่สามารถพูดและสื่อสารได้ และไม่สามารถต่อสู้คดีในช่วงนี้ได้ 
 
แพทย์หญิงปรัชญพร คำเมืองลือ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาราชนครพิงค์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ให้การต่อศาลว่า จำเลยมาตรวจและรับคำปรึกษากับตนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำเลยได้รับบาดเจ็บทางสมองและได้รับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านอื่นมาก่อน โดยตนเป็นคนตรวจประเมินถึงความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ของจำเลย และมีนักกายภาพบำบัดคอยทำงานช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวต่างๆ 
 
แพทย์หญิงปรัชญพรให้การว่าจำเลยสามารถพูดได้เป็นคำๆ แต่ไม่สามารถจับใจความการพูดของจำเลยได้ และจำเลยยังไม่สามารถเข้าใจคำถามได้ โดยอาการของจำเลยเกิดจากปัญหาอาการบาดเจ็บของสมองซีกซ้าย ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมร่างกายซีกขวา และการควบคุมการพูดและการสื่อสาร ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา จำเลยมีพัฒนาการเรื่องการเคลื่อนไหวดีขึ้น สามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วย แต่มีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วทักษะการพูดนี้จะค่อยๆ ฟื้นฟูเอง แต่จากพัฒนาการของจำเลยที่เป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีในการพัฒนา ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและการช่วยฝึกกระตุ้นจากครอบครัวด้วย 
 
3 กันยายน 2557 
 
ศาลนัดสอบนายแพทย์ กิตติพงศ์ สานิชวรรณกุล แพทย์จิตเวชประจำโรงพยาบาลสวนปรุง 
 
นายแพทย์กิตติพงศ์เบิกความต่อศาลว่า จำเลยมีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกข้างขวา สมองซีกซ้ายถูกทำลาย โดยปกติสมองซีกซ้ายจะควบคุมเรื่องความคิด ภาษา การวางแผน และควบคุมร่างกาย ซีกตรงกันข้าม คือซีกขวา ซึ่งสาเหตุเกิดจากจำเลยมีอาการเลือดออกในสมอง ทำให้เส้นประสาทส่วนนั้นถูกทำลาย ซึ่งทำให้ไม่สามารถตีความเสียงต่างๆ ที่เป็นภาษา และไม่สามารถพูดเป็นถ้อยคำออกมาได้ 
 
จำเลยไม่ว่าจะสื่อสารโดยการพูดหรือเขียน การฟังและการเข้าใจความของจำเลยยังมีปัญหา ส่วนของความคิดที่จะวางแผน กะเกณฑ์ คำนวณ บวกลบเลข การตัดสินใจต่างๆ จำเลยไม่สามารถทำได้เลย 
 
นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การเพิ่มเติมแก่ศาลว่า ตามหลักวิชาการ คำว่าวิกลจริต ซึ่งเป็นอาการทางสมอง สามารถแยกเป็นสามรูปแบบ คือโรคจิต เป็นอาการทางจิตเวชโดยตรง ที่ผู้ป่วยจะมีความคลุ้มคลั่ง อาละวาด หรือไม่รู้สึกตัว, อาการจิตบกพร่อง เป็นอาการที่สมองผิดปกติมาตั้งแต่เกิด หรือมีปัญหาในการพัฒนาการจากวัยเด็ก เช่น กรณีเด็กปัญญาอ่อน หรือพิการทางสมอง, อาการจิตฟั่นเฟือน เป็นอาการที่คนปกติ แต่ต่อมาได้รับโรคหรือประสบอุบัติเหตุที่กระทบต่อสมอง รวมทั้งกรณีคนสูงวัยที่ความจำเสื่อม โดยอาการจำเลยเข้าข่ายการอาการจิตฟั่นเฟือนนี้ นอกจากนั้นจำเลยยังมีโรคแทรกซ้อนอยู่ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องตรวจอาการเป็นระยะๆ โดยตนเคยมาให้การต่อศาลถึงผู้ป่วยที่มีลักษณะนี้หลายครั้ง ศาลก็จะให้จำหน่ายคดีชั่วคราว แล้วให้ดูอาการไปเรื่อยๆ ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี 
 
ศาลแจ้งให้คู่ความนัดมาฟังคำสั่งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เวลา 10.00 น.
 
1 ตุลาคม 2557
 
นัดฟังคำสั่งเรื่องการจำหน่ายคดีชั่วคราว
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา