บก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

นายสมบัติ บุญงามอนงค์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

หลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53 สมบัติ บุญงามอนงค์ปราศรัยในที่ชุมนุมวิจารณ์การสลายการชุมนุมของทหารที่ใต้ทางด่วนรามอินทราซึ่งเป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  

 

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่น หนูหริ่ง หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด เป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา

กิจกรรมด้านสังคมในอดีต สมบัติ เคยเป็นอาสาสมัครของกลุ่มละครมะขามป้อม เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เป็นผู้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน "บ้านนอกทีวี" เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอาสาสมัครในช่วงภัยพิบัติสึนามิปี 2546 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554

กิจกรรมด้านการเมือง สมบัติ เป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ต่อต้านการทำรัฐประหารและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของ คมช. โดยก่อนหน้านั้น เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และต่อมามีชื่อกลุ่มที่ตั้งใหม่ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยนายสมบัติ เป็นแกนนำ นปก.รุ่น 2 ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกคุมขัง อีกทั้งยังเป็นผู้เสนอการรณรงค์ "แดงไม่รับ" เป็นสีตรงข้ามกับ สีเขียว ในการรณรงค์การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะคณะรัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินนิยมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน

หลังจากการเลือกตั้งและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเมืองไทย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลับออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อ้างว่าอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในช่วงเวลานั้น นายสมบัติ ร่วมจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังเป็นผู้จัดทำสติกเกอร์ข้อความ "เบื่อม๊อบ พันธมิตร"
ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 แกนนำหลายคนถูกจับกุมตัว สมบัติมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนแกนนอน และจัดตั้งกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในทุกวันอาทิตย์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนไม่ลืมเหตุการณ์นองเลือดจากการสลายการชุมนุม
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

21 พ.ค. 2553 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และประชาชนประมาณ 1,000 คน ร่วมชุมนุมบริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์  โดยนายสมบัติได้ใช้โทรโข่งพูดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 กันยายน 2553 ในทำนองว่าไม่เห็นด้วย และนายสมบัติยังได้ชวนคนอื่นขึ้นพูดในที่ชุมนุม โดยตัวเองเป็นผู้ดำเนินรายการ  นอกจากนี้ก็มีการปิดภาพถ่ายการสลายการชุมนุมของประชาชนที่เสาและผนังใต้ทางด่วน  ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง

พฤติการณ์การจับกุม

26 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 17.00 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นัดสมาชิกกลุ่มในเฟซบุคไปผูกผ้าสีแดง ที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนถูกสลายการชุมนมุวันที่ 19 พ.ค.

ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุยกับนายสมบัติ และเชิญตัวไปสอบถามเพิ่มเติมที่ สน.ลุมพินี ขณะที่ภายนอก สน.ลุมพินี มีกลุ่มผู้สนับสนุน และเพื่อนของนายสมบัติมาให้กำลังใจจำนวนมาก

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี นำนายสมบัติเดินทางไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ต.คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อให้พนักงานสอบสวนของ ศอฉ. เดินทางมาสอบสวนนายสมบัติที่นั่น

นายสมบัติ ศอฉ.ควบคุมตัว โดยอ้างอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเเดน ภาค 1 คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2553 ก่อนได้รับประกันตัวในวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 รวม14วัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

7 สิงหาคม 2556

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์
ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ห้องพิจารณาคดี 25 จำเลย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และทนายจำเลย นายอานนท์ นำภา มาศาล ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.20 น. โดยผู้พิพากษาหนึ่งท่าน พิจารณาคดีอื่นก่อน จากนั้นเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 9.50 น.

ศาลอ่านทวนฟ้องของโจทก์และคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยสรุป ก่อนจะอ่านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ดังนี้

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนคดีปรึกษาแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่  จากที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ทราบว่า บริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ มีประชาชนมาชุมนุมประมาณ 1,000 คน บางส่วนอยู่บนผิวถนน และมีการนำภาพถ่ายการสลายการชุมนุมมาติดที่เสาและผนังของใต้ทางด่วน จำเลยใช้โทรโข่งพูดวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุม นอกจากนี้ก็เชิญชวนผู้อื่นให้พูดด้วย โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ขณะนั้นไม่ได้เข้าไปจับกุมทันที เพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก เกรงว่าจะเกิดการปะทะกัน ในชั้นสอบสวนได้ตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเลยให้ปฏิเสธ

จำเลยสู้ว่า ตนไปห้างอิมพีเรียลที่ปกติเป็นที่รวมตัวของคนเสื้อแดงอยู่แล้ว แต่ตำรวจไปปิดล้อม จึงไปที่สวนสาธารณะบริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ พบประชาชนอยู่ก่อนแล้ว ตนก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่นๆ ภาพถ่ายการสลายการชุมนุมก็เป็นภาพที่ประชาชนนำมาจัดนิทรรศการ ไม่ใช่ของตนและไม่ทราบว่าเป็นของใคร  ตนอยู่จนถึงเวลา 16.00 น. มีประชาชนประมาณ 100 คน มีรถชะลอจอดบ้าง แต่ไม่ได้ปิดกั้นการจราจร  จำเลยได้แสดงความเห็นอย่างสงบ ส่วนโทรโข่งที่ใช้ก็มีประชาชนเป็นผู้นำมาให้ ไม่ได้ใช้เพื่อการยั่วยุหรือมีเหตุการณ์ความวุ่นวายอะไร  จำเลยเชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสงบ ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมเพื่อมีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์เป็นพนักงานของรัฐซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความจริง และจำเลยก็เบิกความว่าตนใช้โทรโข่ง และการชุมนุมเกิน 5 คน ก็ทำให้รถชะลอจอดกีดขวางการจราจร และจำเลยได้เชิญชวนให้ผู้อื่นพูดต่อต้านรัฐบาล การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง  ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างโจทก์ ส่วนข้ออ้างอื่นๆ ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงการคำวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เวลา 10.00 น.

 

หมายเลขคดีดำ

1189/2553

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

9 กรกฎาคม 2553

ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับระยะเวลาการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคำสั่งไม่รับคำร้องให้ขยายเวลาควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ยื่นให้คุมขังต่อเป็นผลัดที่สอง แต่ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการขยายระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายสมบัติไปยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในวันนั้น

ศาลแขวงพระนครเหนือ อนุญาตให้ประกันตัวนายสมบัติในวงเงินประกัน 3 หมื่นบาท และกำหนดนัดวันพร้อมหรือชี้สองสถาน ในวันที่ 9 ส.ค. 53 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ

เมื่อเวลา 15.00 น. นายสมบัติเดินออกจากที่คุมขังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขากล่าวว่าอยากรีบกลับไปออนไลน์เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนทั่วไปสามารถใช้แสดงความคิดเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ

 

วันนัดสืบพยาน

ที่ศาลแขวงพระนครเหนือโดย นายธิติพันธ์ ฉายบาง ผู้พิพากษา ขึ้นนั่งบัลลังก์คำพิพากษาในคดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ จากเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณแยกใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ใกล้ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 (คดีดำที่ 1189/2553)

อัยการโจทก์ระบุว่า นายสมบัติและผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คนได้ชุมนุมบริเวณทางเท้าและพื้นผิวถนน มีการกล่าวปราศรัยโดยใช้โทรโข่งรวมถึงมีการแสดงภาพถ่ายผู้เสียชีวิต ภาพทหารถืออาวุธสงคราม และภาพพระภิกษุถูกจับกุมโดยทหาร ในบริเวณดังกล่าว เป็นการขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และก่อให้เกิดความเดือดร้อน เนื่องจากกีดขวางทางจราจร โดยนายสมบัติเป็นผู้กล่าวปราศรัยและดำเนินการให้มีผู้อื่นมากล่าวปราศรัย

ทนายจำเลยโต้แย้งว่า นายสมบัติ(จำเลย)เห็นว่าการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เป็นการกระทำโดยมิชอบของรัฐ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Right- ICPR ) และอ้างว่าจำเลยเป็นอนุกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม 10 เมษยน 2553 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในหน้าที่ของอนุกรรมการสิทธิฯ ในการสอบหาข้อเท็จจริง และนิทรรศการภาพไม่ใช่ภาพของจำเลย แต่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ในการปราศรัย มีผู้นำโทรโข่งมาให้ ซึ่งได้ปราศรัยแนวคิดทางการเมืองเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและสันติวิธี

 

14 กันยายน 2554

ศาลพิพากษา ว่าการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีเรื่องการที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวน การที่รัฐใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดี  นอกจากนี้นายสมบัติไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าในวันเกิดเหตุ ตนเองได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจริง และที่นำสืบว่าขาดเจตนานั้น ก็เห็นว่านายสมบัติทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุม จึงถือว่านายสมบัติมีเจตนา  คดีนี้ ศาลจึงได้สั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา

หลังจากที่เสร็จสิ้นการพิพากษา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความได้ยืนยันที่จะขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ พร้อมทั้งเดินทางไปจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 6,000 บาท เพื่อที่จะไม่ต้องประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยในการฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว มีผู้ร่วมฟังประมาณ 20คน

 

21 พฤศจิกายน 2555

นส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ยกเหตุผลว่า

1. จำเลยไม่ได้กระทำการอันถือเป็นความผิดฝ่าฝืนประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมแต่อย่างใด   การที่จำเลยไปร่วมกิจกรรมบริเวณสวนสาธารณะใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์  ไม่ได้ทำหรือประสงค์ให้การจราจรติดขัดจนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและไม่ได้เป็นลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่อง  ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุม ตามข้อ ๑. (๑) ถึง (๔) แต่อย่างใด  

2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การอ้างว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นเกิดจากมีการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป  ไม่ถือเป็นเหตุตามที่กฎหมายกำหนด  อีกทั้งข้อเท็จจริง  ยังไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น  การที่ประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามวิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  

3. การห้ามประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือดำเนินกิจกรรมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยเกินจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร  และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะห้ามชุมนุมได้จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป  หาใช่เมื่อมีกฎหมายห้ามชุมนุมแล้วไม่ว่าการชุมนุมใดๆ ก็เป็นความผิดทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

7 สิงหาคม 2556

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำวินิจฉัยศาลชั้นต้น เห็นว่า การที่จำเลยใช้โทรโข่ง ชุมนุมเกิน 5 คน ทำให้รถชะลอจอดกีดขวางการจราจร และเชิญชวนให้ผู้อื่นพูดต่อต้านรัฐบาล เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา