“ซัลมาน”: คดีหุ้นตก

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

“ซัลมาน”

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ: บริษัท หลักทรัพย์ คันทรี กรุ๊ป ผู้ฟ้อง: พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3

สารบัญ

"ซัลมาน"ถูกฟ้องว่านำข้อมูลเท็จที่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสามปีแต่ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุกสองปี   

สงวนชื่อจริงตามความประสงค์ของเจ้าตัว

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"ซัลมาน" เป็นชาวซาอุดิอาระเบีย ก่อนถูกจับกุมทำงานซื้อขายหุ้นอยู่กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยอาศัยอยู่กินฉันสามีภรรยากับหญิงชาวไทยที่จังหวัดหนึงในภาคเหนือ จากคำบอกเล่าของภรรยา "ซัลมาน"มักทำงานด้านการกุศลอยู่เป็นประจำ 

 

รู้จัก ซัลมาน ให้มากขึ้น อ่าน 'ซัลมาน': คำพิพากษาและการจากลา [112 The Series]

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 20  สิงหาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเนื้อหาแสดงความเชื่อมโยงระหว่างกรณีหุ้นตกกับอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้ลูกค้าของบริษัท หลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พบเห็นข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์  

โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) (3)                                                          


 

พฤติการณ์การจับกุม

"ซัลมาน"ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สาย ระหว่างเดินทางไปต่ออายุวีซ่า 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ด.4038/2553

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภรรยาของ”ซัลมาน”ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีว่า “ซัลมาน”เป็นคนต่างชาติ ไม่เข้าใจภาษาไทย เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับอาการพระประชวรและข่าวลือในทางที่ไม่ดีก็เพียงแต่โพสต์บนเว็บไซด์เพื่อแจ้งข่าวเพราะเข้าใจว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริงและเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยที่ไม่ได้มีเจตนาจะกระทำการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา112แต่อย่างใด
 
เมื่อ”ซัลมาน”ทราบว่าสิ่งที่โพสต์ไปเป็นเพียงข่าวลือ ก็รีบโพสต์ข้อความขอโทษและชี้แจงความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น แต่ก็ถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีจนต้องประสบความยากลำบากอยู่ในปัจจุบัน ภรรยาของ”ซัลมาน”ยืนยันว่า”ซัลมาน”มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของทั้งในหลวงและพระราชินี “ซัลมาน”มักส่งไปรษณีย์บัตรไปร่วมถวายพระพรด้วย  
 
 
 

คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
สมเจตน์ อ. / Red_Ghost (คดีหุ้นตก).

ทัศพร ร. / MOM (คดีหุ้นตก).

คธา ป. / Wet Dream (คดีหุ้นตก).

ธีรนันต์ว. / bbb (คดีหุ้นตก).


 

แหล่งอ้างอิง

ระบบงานสารสนเทศสำนวนคดี, เว็บไซด์ศาลอาญา, อ้างอิงเมื่อ 19 กันยายน 2556 

20 สิงหาคม 2553

โจทก์อ้างว่า วันนี้ เป็นวันที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

6 ตุลาคม 2553

"ซัลมาน"ถูกจับตัวและถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

พฤศจิกายน 2553

"ซัลมาน"ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งแรกหลังถูกควบคุมตัวตั้งแต่ถูกจับกุม

8 พฤศจิกายน 2554      

สืบพยานโจทก์

9 พฤศจิกายน 2554

สืบพยานโจทก์

15 พฤศจิกายน 2554

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง "ซัลมาน"เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง

เนื่องจาก"ซัลมาน"เป็นชาวซาอุดิอาระเบีย ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ถนัด การสืบพยานจึงต้องทำผ่านล่าม โดย"ซัลมาน"เบิกความเป็นภาษาอารบิก 
 
"ซัลมาน"เบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันอายุ 38 ปี ประกอบอาชีพค้าหุ้น
 
"ซัลมาน"เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เดินทางเข้ามาประเทศไทยในปี 2543 ในฐานะนักท่องเที่ยว จากนั้นก็เดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียเป็นประจำ ในปี 2549 "ซัลมาน"แต่งงานอยู่กินกับหญิงชาวไทยแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเอกสาร 
 
"ซัลมาน"เบิกความว่า หลังแต่งงาน "ซัลมาน"และภรรยาตั้งรกรากที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ภรรยาของ"ซัลมาน" ประกอบอาชีพเป็นช่างเสริมสวย ส่วน"ซัลมาน"ประกอบอาชีพค้าหุ้น โดยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ซึ่งการซื้อขายหุ้นทำอยู่สองวิธี วิธีแรกคือซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง อีกวิธีคือซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ 
 
"ซัลมาน"เบิกความถึงการซื้อขายหุ้นผ่านเว็บไซต์ว่า เว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือ www.cgsec.co.th ผู้ที่สามารถใช้กระดานสนทนาของเว็บไซต์นี้ต้องเป็นลูกค้าของบริษัทเท่านั้น ขณะที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ 
 
"ซัลมาน"เบิกความถึงงานด้านการกุศลที่เคยทำมาว่า เคยบริจาคเงินจำนวน 545,000 บาทเพื่อสร้างมัสยิด เคยร่วมกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน นอกจากนี้ อิหม่ามจากเครือข่ายมุสลิมรักมนุษยชาติ (ประเทศไทย) ก็เคยออกหนังสือรับรองความประพฤติให้"ซัลมาน"ด้วย ซึ่งศาลรับเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว
 
"ซัลมาน"เบิกความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เขานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
 
"ซัลมาน"รับสารภาพว่าเป็นผู้นำเข้าข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์จริง แต่ไม่มีเจตนาจะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และยืนยันว่า ให้ความเคารพต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาโดยตลอด ที่บ้านก็มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ด้วย
 
"ซัลมาน"เบิกถึงเหตุแห่งคดีว่า ขณะเกิดเหตุ "ซัลมาน"คุยโทรศัพท์กับโบรกเกอร์และได้ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ต่อมา"ซัลมาน"เปิดเว็บไซต์วิกิลีกส์ก็พบข้อความว่า พระมหากษัตริย์ไทยสวรรคต จึงได้ลงข้อความตามฟ้องลงในเวปไซต์ www.cgsec.co.th หลังจากโพสต์ข้อความตามฟ้องแล้ว อิบราฮิมได้ขอโทษโบรกเกอร์และได้เดินทางไปที่บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ปเพื่อขอโทษบริษัทโดยตรง
 
“ซัลมาน”เบิกความว่า โพสต์ข้อความตามฟ้องเพราะกลัวว่าหุ้นจะตก เมื่อโพสต์ข้อความไปแล้วไม่ปรากฎว่าหุ้นตกทั้งในวันที่โพสต์และวันต่อๆ มา นอกจากนี้ ข้อความที่โพสต์ไปก็ไม่มีใครเชื่อ

“ซัลมาน”เบิกความตอบอัยการถามค้านว่า ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องเท็จ สำหรับความรู้เรื่องภาษาไทย “ซัลมาน”เบิกความว่า พอเข้าใจคำพื้นๆ บ้าง แต่อ่านภาษาไทยไม่ออก เมื่อทราบข่าวจากเว็บไซต์วิกิลีกส์และอัลจาซีรา ก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลกับเว็บไซด์อื่นแต่ไปโพสต์ข้อความเลย เมื่อโพสต์ข้อความไปแล้ว โบรกเกอร์ที่”ซัลมาน”ติดต่อด้วยก็ถามว่าเหตุใดจึงโพสต์ข้อความดังกล่าว “ซัลมาน”จึงขอโทษโบรกเกอร์และแจ้งว่าจะเข้าไปขอโทษบริษัทหลักทรัพย์คันทรี่กรุ๊ป ด้วย เกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้ “ซัลมาน”ไม่ทราบเรื่องจนกระทั่งถูกจับกุม

“ซัลมาน”ตอบทนายจำเลยถามติงว่า ในการดูข่าว จะนั่งดูกับภรรยาเพื่อให้ภรรยาเป็นผู้แปล 

16 พฤศจิกายน 2554

นัดสืบพยานจำเลย

28 มีนาคม 2555

นัดฟังคำพิพากษา

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาซึ่งสรุปความได้ว่า

บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป ให้บริการพื้นที่กระดานสนทนาไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทชื่อ www.cgsec.co.th เพื่อให้ลูกค้าใช้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทและใช้ติดต่อระหว่างกัน ในวันที่ 20 สิงหาคม 2553 มีการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จและเข้าข่ายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางบริษัทตรวจพบจึงระงับการสนทนา เมื่อทำการตรวจพบว่า ข้อความดังกล่าว โพสต์โดยลูกค้าของบริษัท ทางบริษัทจึงทำการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งต่อมามีการจับกุมตัวจำเลยในวันที่ 6 ตุลาคม 2553

จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรจริง แต่จำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อจำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จริง คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ มาตรา 70 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ พิจารณาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญย่อมเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะทั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และโดยความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นข้อความที่สร้างความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท ทั้งจำเลยบังอาจเผยแพร่ข้อความทั้งที่ทราบว่าเป็นความเท็จ จึงเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์

แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นคนต่างชาติไม่เข้าใจธรรมเนียมไทย แต่ตามปกติวิสัยของวิญญูชน ย่อมไม่มีใครอยากให้บุคคลชาติอื่นมาดูหมิ่นประมุขของชาติตน ทั้งจำเลยก็อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่าสิบปี และมีครอบครัวกับชาวไทย ย่อมต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนไทยที่มีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ทราบธรรมเนียมไทยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และตามมาตรา 14(2) และ(3) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 2 ปี

หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา “ซัลมาน”ยื่นอุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งภายหลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ 

7 มิถุนายน 2555

“ซัลมาน”ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยอุทธรณ์ว่า

“ซัลมาน”ไม่ได้มีเจตนาจะเผยแพร่ข้อความเป็นเท็จ ครั้งแรกเมื่ออ่านข้อความบนเว็บไซด์วิกิลีกส์ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง จึงได้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวเพื่อเตือนนักลงทุนโดยไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการปล่อยข่าวหลอกลวงประชาชน

เมื่อทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง “ซัลมาน”จึงขอโทษบริษัทคันทรีกรุ๊ปและเข้าไปขอโทษผู้จัดการสาขาที่”ซัลมาน”เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยตนเองด้วย

ข้อความที่”ซัลมาน”โพสต์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายปั่นป่วน พยานโจทก์เป็นผู้เบิกความยืนยันเองว่าข้อความดังกล่าวถูกบล็อคไว้ทัน และผู้ที่เห็นข้อความก็มิได้เชื่อในสิ่งที่จำเลยโพสต์ จึงไม่มีความเสียหายปั่นป่วนเกิดขึ้น

สำหรับความเข้าใจต่อวัฒนธรรมไทย แม้”ซัลมาน”จะอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสิบปี แต่ก็มิได้เข้าใจธรรมเนียมประเพณีไทยโดยละเอียดดังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพราะแม้”ซัลมาน”จะอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสิบแต่ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยตลอดเวลาหากแต่ต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียเพื่อดูแลแม่ผู้ชรา

นอกจากนี้แม้จะอยู่ประเทศไทยเป็นเวลาสิบปีแต่การติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ของ”ซัลมาน”ก็เป็นไปอย่างจำกัด ดังจะเห็นได้จากการที่”ซัลมาน”ต้องอาศัยล่ามช่วยแปลภาษาในการสื่อสารกับศาลและพนักงานสอบสวน ขณะที่ในชีวิตประจำวัน”ซัลมาน”ก็ต้องอาศัยภรรยาเป็นผู้ช่วยเหลือในการติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

ก่อนต้องคดีนี้ “ซัลมาน”แสดงออกถึงความจงรักภักดีมาโดยตลอด ที่บ้านมีการตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถไว้เพื่อเทิดทูนพระบารมี นอกจากนี้”ซัลมาน”ยังเคยส่งไปรษณียบัตรไปถวายพระพรทั้งสองพระองค์เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ และเคยเดินทางลงมาลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย นอกจากแสดงความจงรักภักดีด้วยการถวายพระพรแล้ว “ซัลมาน”ยังทำงานการกุศลเพื่อแทนคุณแผ่นดินอีกหลายอย่างเช่นบริจาคเงินสร้างมัสยิด เลี้ยงอาหารคนด้อยโอกาส รวมทั้งสอนภาษาอาหรับให้โรงเรียนหรือชุมชนที่ต้องการด้วย

การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ทำให้”ซัลมาน”ต้องประสบกับความลำบากอย่างยิ่ง เพราะ”ซัลมาน”ปัญหาสุขภาพเป็นโรคภูมิแพ้และต่อมลูกหมากโต ไม่เพียงเท่านี้ การลงโทษจำคุกยังทำให้ครอบครัวของ”ซัลมาน”ก็ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย เพราะ”ซัลมาน”เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครอบครัว ที่สำคัญ”ซัลมาน”เป็นชาวต่างชาติ ตามกฎหมายชาวต่างชาติที่ก่อคดีอาชญากรรมที่มีโทษตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เมื่อพ้นโทษจะถูกเนรเทศออกจากราชอาณาจักรและขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศเป็นเวลา 99 ปี หาก”ซัลมาน”ถูกลงโทษย่อมทำให้ครอบครัวประสบภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด

เนื่องจาก”ซัลมาน”กระทำการโดยปราศจากเจตนา ประกอบกับมีภาระครอบครัวต้องรับผิดชอบดูแล ทั้งก็เคยทำคุณความดีให้กับแผ่นดินไทยและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลทั้งหมด “ซัลมาน”จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีเมตตายกฟ้องพิพากษายกฟ้องเพื่อยังประโยชน์แห่งความยุติธรรม

29 สิงหาคม 2556

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงดำรงอยู่ในฐานะประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ไม่เพียงแต่ในกฎหมาย แม้ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล

การที่จะกล่าววาจาหรือนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในลักษณะจาบจ้วง ล่วงเกิน เสียดสี หรือก่อให้เกิดความเสียหาย ให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่

จำเลยเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีภริยาเป็นคนไทย ยกย่องเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาโดยตลอด จำเลยย่อมทราบดีถึงฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อความซึ่งไม่เป็นความจริง แล้วข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่มิบังควร ทั้งเป็นข้อความที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงเป็นการลบหลู่พระเกียรติยศชื่อเสียงขององค์พระมหากษัตริย์ ถือเป็นการดูหมิ่น

แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นคนต่างชาติ แต่ตามปกติวิสัยวิญญูชนไม่ว่าชาติใด ก็ไม่อยากให้บุคคลชาติอื่นดูหมิ่นพระประมุขของประเทศตน จำเลยอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเกือบ 10 ปี ย่อมต้องรู้และเข้าใจสำนึกของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อจำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จเผยแพร่ในเว็บไซต์ จึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติและถูกดูหมิ่น จึงเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

30 ตุลาคม 2556

ครบกำหนดการยื่นฎีกา “ซัลมาน”ตัดสินใจไม่ยื่นฎีกา คดีถึงที่สุด

6 พฤศจิกายน 2556

ภรรยา”ซัลมาน”ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

22 มกราคม 2557

“ซัลมาน”ได้รับการปล่อยตัวหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังถูกปล่อยตัว “ซัลมาน”ถูกส่งตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี อันเป็นที่ที่เขาถูกควบคุมตัวครั้งแรก เพื่อรอส่งต่อไปควบคุมตัวที่สถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู ก่อนดำเนินการส่งตัวกลับประเทศ

23 มกราคม 2557

ภรรยาของ”ซัลมาน”ยื่นขอประกันตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วยเงินประกัน100,000บาท

24 มกราคม 2557

“ซัลมาน”ได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันคนต่างด้าว โดยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ 30 วัน และต้องมารายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557

19 กุมภาพันธ์ 2557

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้”ซัลมาน”ประกันตัวเพื่ออยู่ต่อในราชอาณาจักรอีกหนึ่งเดือน โดยต้องมารายงานตัวกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในวันที่ 18 มีนาคม 2557

18 มีนาคม 2557

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้”ซัลมาน”ประกันตัวเพื่ออยู่ต่อในราชอาณาจักรอีกหนึ่งเดือน โดยแจ้งว่าครั้งนี้จะให้ประกันตัวเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหากไม่มีคำสั่งใดๆเปลี่ยนแปลงภายใน30วัน “ซัลมาน”จะถูกเนรเทศออกนอกราชอาณาจักร

8 พฤษภาคม 2557

ภรรยาของ”ซัลมาน”โทรมาแจ้งกับไอลอว์ว่า  “ซัลมาน”จะเดินทางกลับประเทศซาอุดิอาระเบียประเทศ ในคืนวันนี่ 8 พฤษภาคม เวลาประมาณ 20.00 น. หลังจากที่ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไม่อนุญาตให้”ซัลมาน”ประกันตัวเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรอีกแล้ว

“ซัลมาน”และภรรยาเดินทางจากบ้านมาที่กรุงเทพตั้งแต่เช้าวันที่7พฤษภาคม เพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอการส่งตัวกลับประเทศ โดย”ซัลมาน”ซื้อตั๋วเครื่องบินไว้แล้วและนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อเดินทางไปถึงสนามบิน “ซัลมาน”ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง เพราะสายการบินที่”ซัลมาน”จองตั๋วมีนโยบายไม่อนุญาตให้ผู้ถูกขึ้นบัญชีดำเดินทาง “ซัลมาน”ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่และรอการเดินทางในวันถัดไป(8พฤษภาคม) โดยในคืนวันที่ 7 พฤษภาคม  “ซัลมาน”ถูกควบคุมตัวที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ภรรยาของ”ซัลมาน”เล่าให้ฟังด้วยว่า ในวันที่7พฤษภาคม “ซัลมาน”ถูกควบคุมตัวไปส่งที่สนามบินโดยไม่ต้องสวมกุญแจมือ แต่ในวันที่ 8 พฤษภาคม “ซัลมาน”ต้องสวมกุญแจมือในระหว่างการเดินทางไปสนามบิน  

 

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา