ฐิตินันท์: ลบหลู่พระบรมฉายาลักษณ์

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

ฐิตินันท์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2555

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

กลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญรวมตัวกันไปแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อนางฐิตินันท์ ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง

สารบัญ

ระหว่างที่มีผู้มาชุมนุมให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคม 2555 ฐิตินันท์เข้าไปในที่ชุมนุมและใช้เท้าถีบพระบรมฉายาลักษณ์ที่ชายคนหนึ่งถือไว้ ทำให้ฐิตินันท์ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นศาล ฐิตินันท์เคยถูกคุมขังที่เรือนจำระยะสั้นๆก่อนได้รับการประกันตัว การสืบพยานคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2557 ฐิตินันท์ให้การรับสารภาพว่าทำความผิดจริงแต่ต่อสู้ในประเด็นสุขภาพว่ามีปัญหาทางจิต ในการสืบพยานฐิตินันท์ไม่ได้เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาจคุกฐิตินันท์เป็นเวลาสองปี ฐิตินันท์ให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งปีแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้  ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คงโทษจำคุกหนึ่งปีเช่นเดิมแต่แก้เป็นไม่ให้รอลงอาญาเพราะเชื่อว่าฐิตินันท์รู้ตัวอยู่บ้างขณะก่อเหตุ

หลังศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุกฐิตินันท์โดยไม่รอลงอาญา ฐิตินันท์ก็ประกันตัวและสู้คดีต่อในชั้นฎีกาในเดือนมกราคม 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกฐิตินันท์หนึ่งปีโดยไม่รอลงอาญา ฐิตินันท์จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 

ในเดือนสิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559 ฐิตินันท์มีชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 สิงหาคม 2559 รวมเวลาที่ถูกคุมขัง 221 วัน
 
คดีของฐิตินันท์น่าสนใจตรงที่ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาเพราะจำเลยมีอาการป่วย แต่เมื่อคดีถึงชั้นอุทธรณ์ และฎีกาศาลก็พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษเพราะเห็นว่า แม้จำเลยจะป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้ว แต่ขณะกระทำความผิดก็พอจะรู้ตัวอยู่บ้าง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ฐิตินันท์เป็นหญิงชราที่มีอาการป่วยทางจิต (ตามหลักฐานทางการแพทย์ที่ญาตินำมายื่นต่อศาล) ไม่สามารถยืนยันได้ว่าฐิตินันท์เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เพียงแต่ทราบจากคำเบิกความของบุตรชายฐิตินันท์ต่อศาลว่า ฐิตินันท์เคยฟังรายการของคนเสื้อแดงที่สามีชอบเปิดที่บ้านอยู่บ่อยๆ  

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

13 กรกฎาคม 2555 มวลชนหลายกลุ่มจำนวนกว่า 400 คน ประกอบด้วย กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มกองทัพธรรมกลุ่มกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เดินทางมาร่วมสนับสนุนและให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สืบเนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีผู้นำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

 
ระหว่างการชุมนุม ฐิตินันท์ เดินฝ่าฝูงชน ตรงไปยังผู้ที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนที่จะแสดงท่าทีไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยการใช้เท้าเตะไปที่ “พระพักตร์” ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผู้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะร่วมให้กำลังใจและปกป้องการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมและกรูเข้ามาทำร้ายร่างกาย พร้อมกับเสียงด่าทอ แต่ฐิตินันท์กลับหัวเราะชอบใจ
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยบริเวณนั้นได้เข้าระงับเหตุ ก่อนนำตัวนางฐิตินันท์ไปสงบสติอารมณ์ที่ป้อมตำรวจ โดยเหตุการดังกล่าวมีช่างภาพสื่อมวลชนบันทึกภาพและวีดีโอเอาไว้ได้
 
ระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามฐิตินันท์ถึงสาเหตุที่เดินทางมายังศาลรัฐ ธรรมนูญ ฐิตินันท์ตอบว่า“ตั้งใจจะมาเหยียบหน้าวสันต์ (สร้อยพิสุทธิ์) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

พฤติการณ์การจับกุม

ฐิตินันท์ถูกควบคุมตัวที่จุดเกิดเหตุ การกระทำของเธอสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนที่มาชุมนุมให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนกรูเข้ามาต่อว่า

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสังเกตการณ์เกรงว่าเธอจะถูกทำร้าย จึงเข้าไปกันตัวเธอออกจากจุดเกิดเหตุ ก่อนที่ภายหลังจะนำตัวเธอไปที่สน.ทุ่งสองห้องซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ

ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนก็ตามไปร้องทุกข์กล่าวโทษฐิตินันท์ว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

 
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ข้อต่อสู้ของโจทก์
 
-แม้จำเลยจำมีอาการป่วยทางจิตและอยู่ระหว่างการรักษา แต่ในขณะที่ทำความผิดจำเลยทำไปโดยรู้ผิดชอบชั่วดี
 
ข้อต่อสู้ของจำเลย
 
จำเลยมีอาการป่วยทางจิตและรักษาตัวมานานแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องจากอาการป่วย
 
11 มีนาคม 2557
 
สืบพยานโจทก์วันแรก ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญารัชดา
 
การสืบพยานภาคเช้า
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.20 น. การสืบพยานในวันแรกมีผู้สังเกตการณ์คดีประมาณ15ถึง20คน ส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นพวกของพยานที่ขึ้นเบิกความ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ หนึ่ง สนิท ปานทอง อาชีพ ลูกจ้างส่วนราชการ
 
สนิทเบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันอายุ 52 ปี ขณะเกิดเหตุทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์ และไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
 
ตอบอัยการถาม
 
สนิทเบิกความตอบอัยการว่า ในช่วงก่อนเกิดเหตุศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดีสำคัญอยู่ และปรากฎว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงไปชุมนุมคุกคาม สนิทและพวกที่เคลื่อนไหวเรื่องเขาพระวิหาร จึงคุยกันว่าจะเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์มาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ
 
สนิทเบิกความถึงการเดินทางว่า วันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ตัวเองและพวกประมาณ 20 คน เหมารถตู้สองคัน ออกเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์เวลาประมาณ 22.00 – 23.00 น. และมาถึงศาลรัฐธรรมนูญเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2555
 
ในการเดินทางครั้งนี้ สนิทเบิกความว่าได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นภาพปฏิทินมาด้วย เหตุที่นำมาเพราะต้องการแสดงความเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
สนิทเบิกความว่า เมื่อเดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ เห็นคนประมาณ 2000 – 3000คน มารออยู่ก่อนแล้ว ประมาณ 9.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจัดแถวเพื่อถ่ายภาพหมู่ สนิทและพวกนั่งอยู่แถวหน้า คนที่มีธงชาติก็โบกธง ส่วนคนที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ก็ถือไว้ สำหรับตัวสนิทขณะนั้นก็นั่งชันเข่าพร้อมกับถือพระบรมฉายาลักษณ์ในมือ ถือในลักษณะหันพระบรมฉายาลักษณ์ออกไปด้านนอก
 
เมื่ออธิบายถึงตรงนี้สนิทลงไปนั่งคุกเข่าทำท่าถือภาพให้ศาลดูด้วย
 
สนิทเบิกความว่า ระหว่างที่ตนเองนั่งถือรูปอยู่นั้น มีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 60 ปี แต่งกายเหมือนคนธรรมดา เดินเข้ามาคนเดียว ศาลถามขึ้นว่าจำหน้าผู้หญิงคนนั้นได้ไหม สนิทรับว่าจำได้ ศาลถามถามว่าผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่นี่ไหม สนิทบอกว่าอยู่และหันไปชี้ตัวจำเลย สนิทเบิกความว่าจำเลยเดินมาหยุดที่ด้านหน้าของตนเองโดยยืนห่างไปประมาณครึ่งเมตร พร้อมกับพูดอะไรบางอย่างที่ไม่ดีออกมา
 
ศาลบอกสนิทว่าให้พูดเหมือนที่จำเลยพูดได้เลย สนิทพูดต่อว่า จำเลยบอกให้ตนเองวางพระบรมฉายาลักษณ์ลง แต่สนิทไม่ยอม จำเลยจึงใช้เท้าขวาเตะเพราะบรมฉายาลักษณ์จนร่วงและใช้เท้าเหยียบซ้ำสองครั้ง
 
สนิทเบิกความว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วมากและเกิดความชุลมุน สนิทได้ยินไม่ชัดว่าจำเลยพูดอะไรบ้าง เมื่อถูกจำเลยถีบ พระบรมฉายาลักษณ์ก็หล่นลงโดยหงายขึ้น สนิทไม่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกถีบ ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ยับแต่ไม่ขาด
 
ตัวสนิทไม่ได้ตอบโต้จำเลย หลังจำเลยถีบและกระทืบพระบรมฉายาลักษณ์สองครั้ง ก็มีคนมากันตัวจำเลยออกไป ตอนเกิดเหตุมีคนบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย
 
สนิทเบิกความว่า จำเลยมีโทรศัพท์และกล้องถ่ายรูปใช้ ศาลถามว่าเป็นกล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์หรือเป็นกล้องต่างหาก สนิทตอบศาลว่าเป็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่งและกล้องตัวหนึ่ง สนิทเบิกความว่า ขณะที่เดินมา จำเลยเดินมาเหมือนคนปกติ ตอนเดินเข้ามาไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดอะไรบ้าง เพราะขณะนั้นมีเสียงอื้ออึง และมีเสียงจากเครื่องขยายเสียงดังมาเป็นระยะๆ
 
ศาลถามว่า หลังเกิดเหตุสนิททำอย่างไรต่อไป สนิทเบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่รู้ว่าจำเลยไปไหน เพราะมีคนกันตัวออกไป สนิทจึงคุยกับพวกที่มาด้วยกันคือคือประภาวรรณ และตั้งใจจะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง แต่มีคนแนะนำว่าให้ไปแจ้งเหตุกับตำรวจในป้อมแถวนั้นก่อน
 
สนิทเบิกความว่า หลังได้รับคำแนะนำ สนิทกับพวกได้แก่ประภาวรรณและวรรณี จึงเดินทางไปที่ป้อมตำรวจที่อยู่บริเวณนั้น เมื่อไปถึงก็พบจำเลยอยู่ที่ป้อมตำรวจ ศาลถามว่าตอนนั้นจำเลยทำอะไรอยู่ สนิทตอบศาลว่า ตอนนั้นจำเลยนั่งอยู่กับตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ
 
ในเวลาต่อมา สนิทและพวกโดยสารรถตำรวจไปยังสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง จำเลยก็โดยสารรถไปพร้อมกันโดยนั่งอยู่หน้ารถ ส่วนสนิทกับพวกนั่งกระบะหลัง
 
สนิทเบิกความว่า ตอนอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยก็นั่งคุยโทรศัพท์ด้วยท่าทางปกติ แต่ไม่รู้ว่าคุยกับใครหรือพูดเรื่องอะไร ระหว่างที่สนิทให้ปากคำกับตำรวจ จำเลยนั่งอยู่ด้านหลังตำรวจ สนิทจึงถามจำเลยว่ารู้ไหมเตะรูปใคร จำเลยตอบว่าทำไมจะไม่รู้ (จากนั้นจำเลยใช้คำไม่สุภาพเป็นคำนำหน้าพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
 
หลังจากนั้นจำเลยก็เริ่มโวยวายเสียงดััง ตำรวจจึงกันตัวจำเลยออกไป เมื่ออัยการถามว่าที่จำเลยโวยวายนั้นคิดว่าจำเลยผิดปกติหรือไม่ สนิทปฏิเสธโดยบอกว่า เชื่อว่าจำเลยน่าจะแกล้งบ้ามากกว่า เพราะตอนที่จำเลยเริ่มโวยวายพอบอกให้เงียบจำเลยก็เงียบ
 
สนิทเบิกความต่อไปว่า ขณะที่จำเลยใช้คำไม่สุภาพนำหน้าพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกของสนิทที่อยู่ด้วยน่าจะได้ยินสิ่งที่จำเลยพูด แต่จำไม่ได้ว่าตอนนั้นมีใครอยู่บ้าง
 
หลังจำเลยถูกกันตัวออกไป ทราบว่าถูกส่งไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ศาลถามขึ้นว่ารู้ได้อย่างไร สนิทตอบว่าตำรวจเป็นคนบอกแต่จำไม่ได้ว่าตำรวจคนไหนบอกและจำไม่ได้ว่าโรงพยาบาลที่ว่าชื่ออะไร
 
สนิทเบิกความว่า ภายหลังมีช่างภาพตามไปที่สถานีตำรวจด้วย ตำรวจให้ดูภาพตอนเกิดเหตุ มีทั้งภาพเคลื่อนไหว และข้อความที่ถอดมาจากภาพเคลื่อนไหว สนิทไม่ได้ลงนามในเอกสารปะหน้าแผ่นซีดีที่เป็นหลักฐาน แต่ลงนามรับทราบเอกสารที่เป็นการถอดเทป สนิทไม่ทราบว่าตำรวจไปได้แผ่นซีดีหลักฐานมาจากไหน และไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน
 
หลังอัยการหมดคำถาม เครื่องบันทึกเทปของศาลมีปัญหา หน้าบัลลังก์จึงต้องแก้ไขก่อนที่การสืบพยานจะดำเนินต่อไป
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายเริ่มถามว่าโดยปกติคนที่จะไปชุมนุมมักจะไม่ไปคนเดียวใช่หรือไม่ สนิทรับว่าใช่
 
ทนายถามว่า ในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมสามกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มดาวแดง กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ถือป้ายคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ หากเดินหันหน้าเข้าศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเดินผ่านกลุ่มดาวแดงก่อน จากนั้นก็เป็นกลุ่มของสนิทที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์และสุดท้ายเป็นกลุ่มที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่
 
สนิทตอบว่าไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมเรียงกันแบบนั้นหรือเปล่า ทราบแค่ว่ากลุ่มดาวแดงทำหน้าที่เป็นการ์ด และมีสื่อมวลชนอยู่ด้านหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ส่วนตนเองกับพวกยืนอยู่แถวหน้าสุดตอนที่จะถ่ายรูปหมู่ ศาลให้สนิทเรียงลำดับการนั่งของผู้ชุมนุม สนิทตอบว่าข้อนั้นไม่ทราบ
 
ทนายถามว่าเมื่อจำเลยเดินเข้ามาก็ไม่สามารถฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นไปถึงบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ สนิทตอบว่าจำเลยเดินผ่านกลุ่มสื่อมวลชนมาหยุดตรงหน้าตนแต่ไม่น่าจะสามารถขึ้นไปถึงหน้าศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีผู้ชุมนุมอยู่เต็มบริเวณ
 
สนิทรับกับทนายว่า ในกลุ่มคนที่มาถ่ายรูปมีคนชูป้ายคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญด้วย และเบิกความต่อว่า ตอนที่จัดแถวถ่ายภาพหมู่ ตนเองนั่งอยู่ฝั่งซ้าย ส่วนจำเลยเดินมาจากทางขวาก่อนจะมาหยุดตรงหน้าของตนเอง
 
ทนายถามว่า ระหว่างที่เดินมา จำเลยเตะกล่องกระดาษหรือไม่ สนิทเบิกความว่าไม่เห็น ทนายถามว่าตอนที่เดินมา จำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งหรือไม่ สนิทตอบว่าจำเลยไม่ได้มีอาการคลุ้มคลั่ง เพียงแต่เดินมายิ้มแล้วชี้ที่พระบรมฉายาลักษณ์
 
ทนายถามว่า ตอนที่มาสถานีตำรวจ จำเลยนั่งในรถ ส่วนสนิทกับพวกนั่งท้ายกระบะรถ จึงไม่เห็นอากัปกิริยาของจำเลยใช่หรือไม่ สนิทรับว่าไม่เห็นเพราะตำรวจบัง ส่วนตอนที่อยู่ในป้อมตำรวจ ก็ไม่ได้พูดคุยกับจำเลย
 
ทนายถามว่าตอนที่อยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งใช่หรือไม่ สนิทเบิกความว่าขณะตอนแรกจำเลยยังเงียบ แต่ตอนที่สอบปากคำพยาน จำเลยมีอาการคลุ้มคลั่ง หัวเราะ พูดเสียงดัง พูดว่าตัวเองรู้จักคนโน้นคนนี้แต่จำไม่ได้ว่าพูดถึงใคร
 
ทนายถามว่าจำเลยอ้างว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญกลับชาติมาเกิดหรือเปล่า สนิทเบิกความว่าตนเองไม่ได้ยิน
 
ทนายถามว่า ในวันเกิดเหตุ ตำรวจสอบปากคำจำเลยไม่ได้และต้องส่งจำเลยไปโรงพยาบาลใช่หรือไม่ สนิทรับว่าใช่ ทนายถามว่า ช่วงที่พูดคุยกับจำเลย สนิทรู้หรือไม่ว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต สนิทรับว่าไม่ทราบ
 
ทนายถามว่า ทราบหรือไม่ว่าคำพูดของจำเลยเป็นคำพูดของผู้มีอาการป่วยทางจิต สนิทตอบว่าไม่ทราบ และไม่ทราบว่าจำเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตมาก่อน
 
ทนายถามว่า วันเกิดเหตุเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะมีคำวินิจฉัยเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองและเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีเหตุที่คนปกติจะทำสิ่งที่จำเลยทำใช่หรือไม่ สนิทตอบว่า ไม่ทราบ
 
ศาลพูดขึ้นว่า คิดเห็นอย่างไรตอบมาได้เลย สนิทตอบว่า จะเป็นคนปกติหรือคนผิดปกติไม่เกี่ยว เพราะคนปรกติก็ทำได้เช่นกัน
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ที่จำเลยคลุ้มคลั่งส่งเสียงดังโวยวายในสถานีตำรวจ คิดว่าจำเลยมีปัญหาทางจิตจริงๆ หรือจำเลยแกล้งทำ สนิทตอบอัยการว่า คิดว่าเป็นการแกล้งทำ เพราะตอนที่จำเลยส่งเสียงโวยวาย สนิทบอกให้จำเลยหยุดโวยวายจำเลยก็หยุด จำเลยจึงน่าจะเป็นคนที่พูดรู้เรื่อง
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ประภาวรรณ ศิริกุลวัฒน์ อาชีพ ประกอบธุรกิจส่วนตัว
 
ประภาวรรณเบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันอายุ 56 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว
 
ตอบอัยการถาม
 
ประภาวรรณเบิกความว่า ตัวเองเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ประภาวรรณและพวกกว่า 20 คนรวมทั้งสนิท โดยสารรถตู้สองคันมาที่กรุงเทพมหานครเพื่อมาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ ประภาวรรณเบิกความว่าตนเองและพวกเดินทางมาถึงที่ศาลรัฐธรรมนูญตอนเกือบๆ 8.00 น. เมื่อมาถึงเห็นกลุ่มดาวแดง ซึ่งเป็นกลุ่มคนจากภาคอีสานอีกกลุ่มหนึ่ง มาชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว
 
ประภาวรรณเบิกความว่า ในช่วงกลางคืนก่อนเดินทาง เห็นสนิทนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นภาพปฏิทินมาด้วย คิดว่าสนิทนำพระบรมฉายาลักษณ์มาเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี
 
ประภาวรรณเบิกความว่า มีการนัดถ่ายภาพหมู่ร่วมกันในเวลาประมาณ 9.00 น. สนิทนั่งคุกเข่าอยู่แถวหน้า ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้า ไว้ในมือโดยหันภาพออกนอกตัว
 
ศาลถามขึ้นมาว่า นั่งเรียงแถวกันอย่างไร ประภาวรรณตอบศาลว่า ตนเองและสนิทนั่งอยู่แถวหน้า มีผู้ชุมนุมคนอื่นประมาณเจ็ดถึงแปดคน นั่งคั่นระหว่างตนเองกับสนิท หรือห่างกันประมาณสามเมตร
 
มีอยู่ช่วงหนึ่งของการเบิกความ ประภาวรรณพูดต่อเนื่องต่อโดยไม่ฟังศาลพูด ศาลจึงพูดขัดขึ้นมาว่าขอให้ประภาวรรณฟังศาลด้วย
 
ประภาวรรณเบิกความต่อไปว่า ก่อนที่จะมีการถ่ายรูป มีการจัดแถว ตนเองนั่งอยู่ในแถวเพื่ิอรอให้การจัดแถวถ่ายรูปเสร็จสิ้น ระหว่างที่นั่งรอผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านไป โดยไม่ยอมนั่ง เมื่อชะโงกไปดูก็เห็นผู้หญิงคนนั้นเดินไปหยุดที่หน้าสนิท และเอามือชี้พระบรมฉายาลักษณ์
 
ประภาวรรณเบิกความย้อนไปว่า จำเลยเป็นคนอายุมาก ใส่เสื้อสีเขียว เดินมาคนเดียว ตอนแรกที่เห็นจำเลยเดินมาก็แปลกใจว่าทำไมจำเลยไม่มานั่งในแถวเพื่อถ่ายรูปร่วมกัน จึงเกิดสงสัย และมองตามจำเลยไป เมื่อมองตามไปก็เห็นจำเลยชี้พระบรมฉายาลักษณ์ที่สนิทถืออยู่พร้อมทั้งเอาเท้าถีบ ระหว่างนั้นได้ยินจำเลยพูดว่าให้เอารูปลงแต่ได้ยินไม่ชัด ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อถูกถีบก็เป็นรอยยับแต่ไม่ขาด
 
หลังถูกถีบพระบรมฉายาลักษณ์ตกลงบนพื้นในลักษณะหงายขึ้น จำเลยจึงใช้เท้ากระทืบ ตนเองเห็นดังนั้นก็พยายามจะวิ่งเข้าไปหาจำเลยเพื่อถามว่าทำอะไร ทำเพราะอะไร แต่เข้าไม่ถึงจำเลยเพราะจำเลยถูกกันตัวออกไปก่อน นอกจากนี้ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบล็อกตัวของตนเองไว้ พร้อมบอกว่าอย่าเข้าไปเลยเดี๋ยวภาพออกมาจะไม่สวย
 
ประภาวรรณเบิกความว่า หลังเกิดเหตุ ไม่มีการถ่ายรูปหมู่ ตนเองคุยกับสนิทและวรรณีที่อยู่ด้วยกันว่า จะทำอย่างไรกับกรณีที่เกิดขึ้นดี เพราะสนิทเป็นผู้เสียหายและจำเลยก็ทำไม่ถูก
 
ประภาวรรณเบิกความว่า เมื่อเดินข้ามถนนก็พบป้อมตำรวจที่ใต้ทางด่วน จึงตั้งใจจะเข้าไปในป้อมตำรวจเพื่อถามว่าจะไปแจ้งความได้ที่ไหน แต่เมื่อเข้าไปก็ไปพบจำเลย ประภาวรรณเบิกความว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมาที่ป้อมตำรวจได้อย่างไร ระหว่างที่อยู่ในป้อม ตำรวจกันไม่ให้ตนเองและพวกอยู่ใกล้กับจำเลย เพราะถ้าอยู่ด้วยกันอาจมีการทำร้ายกัน
 
ประภาวรรณเบิกความว่า ในเบื้องต้นดูเหมือนตำรวจจะไม่รับแจ้งความ แต่เมื่อตนเองและพวกยืนยันหนักแน่นตำรวจก็หน้าเสียพร้อมกับบอกให้ทุกคนใจเย็นๆ และจะรับแจ้งความ ต่อมาตำรวจจึงพาจำเลยและตนเองพร้อมกับพวกไปที่สถานีตำรวจ ขณะที่เดินทาง ตำรวจให้ตนเองและพวกนั่งแยกกับจำเลย
 
เมื่อเดินทางไปถึงโรงสถานีตำรวจ ได้ยินเสียงจำเลยโทรศัพท์ เข้าใจว่าคุยกับตำรวจทางหลวงที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสังเกตดูก็พบว่าจำเลยมีทั้งโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปอย่างดี ระหว่างที่อยู่ในสถานีตำรวจ ได้ยินสนิทถามจำเลยว่ารู้หรือไม่ว่าที่ถีบรูปของใคร จำเลยยกมือชี้รูปพร้อมตอบว่า "ทำไมจะไม่รู้….(ใช้คำไม่สุภาพนำหน้าพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)"
 
ประภาวรรณเบิกความต่อไปว่า ระหว่างที่พูดจำเลยมีท่าทางปกติ ตนเองและพวกโกรธจะเข้าไปทำร้ายแต่ตำรวจมากันเอาไว้ และนำไปสอบปากคำที่ชั้นบนของโรงพัก ประภาวรรณเบิกความตั้งข้อสังเกตว่า การสอบปากคำเป็นไปอย่างล่าช้า ตนเองและพวกไปถึงโรงพักตั้งแต่ประมาณ 10.00 น. แต่กว่าตำรวจจะสอบปากคำเสร็จก็เป็นเวลา 15.00 น.
 
ประภาวรรณเบิกความว่า หลังจากแจ้งความในวันเกิดเหตุแล้วได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี โดยการเดินทางไปในครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณหนึ่งเดือน
 
เมื่อไปตามเรื่องมีตำรวจนายหนึ่งบอกว่าอย่าไปเอาเรื่องเลยเพราะจำเลยมีอาการป่วยทางประสาท แต่ตนเองไม่เชื่ออย่างนั้น และบอกกับตำรวจว่า ถ้าไม่มีการดำเนินคดีจะแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในครั้งที่สองที่ไปสถานีตำรวจได้ดูบันทึกคำให้การของเก่าด้วย
 
ในครั้งที่สองที่มาสถานีตำรวจ ประภาวรรณได้ดูและยืนยันภาพถ่ายจำเลย ตำรวจให้ลงชื่อรับรองเอกสารที่เป็นการถอดข้อความจากวิดีโอด้วยแต่ตนเองไม่ได้อ่านและไม่ได้ดูวิดีโอต้นฉบับ นอกจากนี้ก็มีครั้งหนึ่งที่ตำรวจเดินทางไปสอบปากคำตนเองเพิ่มเติมที่ จ.สุรินทร์ สำหรับความเกี่ยวข้องกับจำเลย ตนเองและจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายถามว่าประภาวรรณจะยืนยันได้หรือไม่ว่า ข้อความในวิดีโอกับข้อความที่ปรากฎบนเอกสารถอดเทปตรงกัน ประภาวรรณตอบว่าไม่ได้เห็นวิดีโอหลักฐานและไม่ยืนยันข้อความ
 
ทนายถามว่า โดยปกติเวลาคนจะไปร่วมชุมนุมมักจะต้องมีเพื่อนมาด้วยใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะไม่มา ประภาวรรณตอบว่าสำหรับตนเอง แม้จะต้องไปคนเดียวก็จะไป ทนายถามว่า คนที่ไปในที่ชุมนุมโดยเฉพาะคนที่มีความคิดเห็นต่างจากผู้ชุมนุม ถ้าจะมาจะต้องมาเป็นกลุ่มเพราะถ้ามาคนเดียวอาจถูกคนที่เห็นต่างทำร้ายใช่หรือไม่ ประภาวรรณตอบว่า คนที่ไปในที่ชุมนุมมักจะมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
 
ทนายถามว่า วันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมสามกลุ่ม ได้แก่กลุ่มดาวแดง กลุ่มถือธงชูพระบรมฉายาลักษณ์ และกลุ่มคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ประภาวรรณรับว่าใช่ ทนายถามว่าวันเกิดเหตุประภาวรรณแต่งตัวอย่างไร ประภาวรรณตอบว่าวันนั้นใส่เสื้อลายสก็อตกับกางเกงยีนส์
 
ทนายถามว่าตอนที่เห็นจำเลยในที่ชุมนุมจำเลยทำอะไร ประภาวรรณตอบว่า เห็นจำเลยเดินวนไปวนมาอยู่บริเวณที่มีการจัดแถวถ่ายรูป จำเลยเดินไปเดินมาเหมือนจะหาอะไรบางอย่าง เห็นอยู่อย่างนั้นประมาณครึ่งนาทีถึงหนึ่งนาที ประภาวรรณก็รู้สึกสงสัยว่าทำไมจำเลยถึงไม่มานั่งเพื่อถ่ายรูปร่วมกัน จำเลยเดินวนไปวนมาและเดินเลยไปก่อนเดินย้อนกลับมาหาสนิท
 
ทนายถามว่าประภาวรรณรู้หรือไม่ว่าทำไมจำเลยจึงทำเช่นนั้น ประภาวรรณตอบว่าไม่รู้ และไม่รู้ว่าจำเลยโมโหหรือโกรธเคืองอะไรมาก่อน
 
ทนายถามถึงเหตุการณ์ที่โรงพัก ประภาวรรณเบิกความว่าตอนที่อยู่ในโรงพัก ลูกสะใภ้ของจำเลยพูดกับตนเองว่า แม่สามีดูทีวีช่องเสื้อแดงทั้งวันทั้งคืน
 
ทนายถามว่า รู้หรือไม่ว่าตอนเกิดเหตุจำเลยมากับใคร ประภาวรรณตอบว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมากับใคร ทนายความถามว่า ทราบหรือไม่ว่า จำเลยเคยรักษาอาการทางจิตมากว่าสิบปี ประภาวรรณตอบว่า ไม่ทราบ
 
ประภาวรรณกล่าวกับทนายว่า ตอนอยู่ที่สถานีตำรวจ สามีของจำเลยซึ่งตามมาทีหลังบอกว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตแต่ก็ไม่ได้มีใบรับรองแพทย์มาแสดง นอกจากนี้ ตอนที่จำเลยทำความผิดก็มีทีท่าเหมือนสะใจ
 
ทนายถามว่าที่สามีจำเลยไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงอาจเป็นเพราะใบรับรองแพทย์อยู่ต่างประเทศ ประภาวรรณตอบว่า ถ้าจำเลยสติไม่ดีจะขึ้นเครื่องบินได้อย่างไร ถึงตรงนี้ศาลตัดบทขึ้นมาว่าให้ถามในประเด็นที่อัยการถามไว้
 
ประภาวรรณเบิกความว่า ประมาณ 10.00 น. ระหว่างที่จำเลยอยู่ในห้องสอบสวน ตำรวจให้จำเลยและพวกตนเองนั่งแยกกัน เท่าที่สังเกตเห็นจำเลยโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา เข้าใจว่าโทรหาตำรวจ
 
ประภาวรรณกล่าวต่อไปว่า จำเลยหยิบกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปพวกตนด้วย ซึ่งตนเองกับพวกก็ท้วงขึ้นมาว่าไม่ให้ถ่าย มีสิทธิอะไรมาถ่าย ตำรวจเห็นว่าอาจจะมีปากเสียงกันใหญ่โต จึงแยกจำเลยไปสอบชั้นบนของโรงพัก ประภาวรรณบอกทนายว่า ตนเองกับพวกและจำเลยอยู่ในห้องเดียวกันนานเป็นชั่วโมง
 
ประภาวรรณบอกกับทนายว่า ตำรวจบอกตนเองกับพวกว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิต แต่พวกตนไม่เชื่อและเถียงว่าจำเลยปกติดี ทนายถามว่า ถ้ามีญาติที่มีอาการป่วยทางจิต จะทำอย่างไร ประภาวรรณเบิกความว่า ถ้ามีญาติที่มีอาการป่วย จะไม่ให้ออกไปข้างนอกคนเดียว แต่จะพาไปรักษา
 
ทนายถามว่าเป็นเพราะจำเลยมีอาการป่วยใช่หรือไม่จึงก่อเหตุดังกล่าว ประภาวรรณเบิกความว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป คนปกติก็ทำเช่นนั้นได้ ถ้าเป็นคนไม่ดี ทนายถามว่ารู้จักกับจำเลยหรือไม่ ประภาวรรณบอกว่าไม่รู้จักและไม่อยากรู้จัก
 
ตอบอัยการถามติง
 
ประภาวรรณตอบอัยการเรื่องการยืนยันหลักฐานการถอดเทปและวีดีโอบันทึกภาพและเสียงว่า ได้อ่านข้อความถอดเทปและได้ลงชื่อกำกับไว้
 
ประภาวรรณตอบอัยการเกี่ยวกับเหตุการณ์ระหว่างการสอบสวนว่า สนิทถามจำเลยเรื่องรูปถ่ายว่ารู้ไหมเป็นรูปใครก่อนที่จำเลยจะถูกแยกตัวไปสอบสวนชั้นบนของสถานีตำรวจ ป
 
ประภาวรรณบอกอัยการด้วยว่า หากวันเกิดเหตุสามีของจำเลยสามารถนำใบรับรองแพทย์มายืนยันอาการป่วยของจำเลยได้ ตนเองและพวกก็จะไม่ติดใจเอาความ
 
อัยการถามว่า ทำไมถึงเชื่อว่าจำเลยไม่ใช่คนป่วย ประภาวรรณเบิกความว่า ที่กล้ายืนยัน เพราะจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าป่วย ประภาวรรณเบิกความด้วยว่า ตำรวจเองก็ไม่มีทีท่าว่าจะรับแจ้งความ ประภาวรรณเถียงกับสามีของจำเลยด้วยว่า ถ้าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต จะขึ้นเครื่องบินได้อย่างไร
 
ศาลถามเรื่องการแต่งตัวตัวของประภาวรรณในวันเกิดเหตุ ประภาวรรณเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าใส่รองเท้าอะไร จำได้เพียงว่าใส่หมวกกลมๆ สีเทา เป็นหมวกผ้า ใส่แว่นดำและใส่กางเกงยีนส์ วันนั้นตนเองปล่อยผมยาวประบ่า
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่สอง
 
ระหว่างที่ศาลรอหน้าบัลลังก์พิมพ์คำเบิกความ มีผู้สังเกตการณ์คนหนึ่ง ใส่ชุดขาว ลุกขึ้นยืนและพูดกับศาลด้วยเสียงดังว่าขอแถลงอะไรบางอย่างพร้อมทั้งเริ่มพูดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดจากการปกครองระบบเผด็จการ
 
ระหว่างที่ผู้สังเกตการณ์คนนั้นกำลังพูด ศาลขัดขึ้นว่าผู้สังเกตการณ์คนนั้นเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ถ้าไม่เกี่ยวก็ไม่ให้แถลง ผู้สังเกตการณ์คนเดิมเดินไปที่หน้าบัลลังก์พร้อมกับยื่นเอกสารจำนวนหนึ่งให้กับศาล ศาลบอกกับผู้สังเกตการณ์คนนั้นว่ายื่นกับศาลโดยตรงแบบนี้ไม่ได้ ต้องยื่นมาพร้อมบัญชีพยานหลักฐานของโจทก์พร้อมทั้งถามว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับคดีหรือไม่ ผู้สังเกตการณ์ตอบว่าไม่ใช่ ศาลจึงบอกว่างั้นศาลจะฝากไว้ที่หน้าบัลลังก์แต่จะไม่รับเอกสารเหล่านั้นไว้
 
การสืบพยานภาคบ่าย
 
การสืบพยานภาคบ่ายมีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 15 คน ส่วนใหญ่มากับพยาน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 13.50 น.
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม วรรณี วงษ์ทอง อาชีพ แม่บ้าน
 
วรรณีเบิกความตอบศาลว่าตนเองเป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันอายุ64
 
ตอบอัยการถาม
 
วันเกิดเหตุ วรรณีจำไม่ได้ว่าเป็นเดือนอะไร แต่จำได้ว่าเป็นวันที่ 13 ปี 2555 ตนเองเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์มาที่กรุงเทพฯ เพื่อมาให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยออกเดินทางตั้งแต่คืนวันที่ 12 และมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันที่ 13
 
การเดินทางครั้งนั้นใช้รถตู้สองคันเป็นพาหนะ มีเพื่อนที่เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์เดินทางมาด้วยกัน ประมาณ 20 คน เมื่อมาถึงบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ก็พบว่ามีผู้มาชุมนุมอยู่ก่อนแล้วประมาณ 1000 คน
 
ในเวลาประมาณ 9.00 น. มีการถ่ายรูปหมู่ ผู้ชุมนุมนั่งเรียงแถวหน้ากระดานตามขั้นบันได วรรณีนั่งยองๆ บนขั้นล่างสุดของบันได นั่งติดกับ นายสนิท ปานทอง ซึ่งก็นั่งในลักษณะเดียวกับตนเอง สนิทถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ที่ตัดมาจากปฏิทิน มีขนาด กว้างประมาณ 30 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 60 เซ็นติเมตร โดยสนิทถือพระบรมฉายาลักษณ์ในระดับอก (อัยการให้ดูภาพถ่าย วรรณียืนยันตามภาพ)
 
วรรณีเบิกความต่อว่า ขณะที่กำลังเตรียมถ่ายรูป มีหญิงอายุประมาณ 60 ปี ซึ่งวรรณีจำรายละเอียดการแต่งกายไม่ได้ จำได้แต่ว่าแต่งสีเขียว เดินเข้ามาจากทางซ้ายมือผ่านหน้าวรรณี แล้วมาหยุดตรงหน้าสนิท ชี้นิ้วไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ แล้วพูดว่า “มึงเอาลงเดี๋ยวนี้” อยู่สองสามครั้ง แต่สนิทยังคงถืออยู่
 
หญิงคนนั้นจึงใช้เท้าขวาถีบยันพระบรมฉายาลักษณ์ จนสนิทหงายหลัง พระบรมฉายาลักษณ์หลุดจากมือหล่นไปที่พื้น จากนั้นหญิงคนดังกล่าวก็กระทืบพระบรมฉายาลักษณ์ (เมื่อเบิกความถึงตอนนี้ น้ำเสียงวรรณีบ่งบอกอารมณ์โกรธ – สังเกตโดยผู้บันทึก)
 
อัยการถามว่า ยังจำหญิงคนนั้นได้หรือไม่ และให้ชี้ตัว วรรณีตอบว่า จำได้ และหันไปชี้ตัวจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีขณะนั้นด้วยสีหน้าที่โกรธ อัยการถามต่อว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่หล่นบนพื้นมีลักษณะหงายหน้าหรือคว่ำหน้า วรรณีตอบว่า พระบรมฉายาลักษณ์หงายหน้าขึ้น จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นรูปในหลวง ก็ยังกระทืบลงไป
 
อัยการถามว่า จำเลยในตอนนั้นมีลักษณะอย่างไร วรรณีตอบว่า เต็มร้อย อัยการถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าจำเลยปกติ วรรณีตอบว่า เห็นโทรศัพท์ที่ใช้เป็นโทรศัพท์อย่างดี
 
วรรณีเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุต่อว่า หลังเกิดเหตุ วรรณีลุกขึ้นมาจะตบจำเลย แต่นักข่าวก็ช่วยกันกันตัวจำเลยออกไป แล้วพูดกับวรรณีว่า “พี่ๆ อย่าทำอะไร เดี๋ยวภาพจะออกมาไม่สวย”
 
นักข่าวพาตัวจำเลยไปที่เต็นท์กองอำนวยการ วรรณียังรู้สึกแค้นอยู่ จึงตามไปที่เต็นท์ ในตอนแรกการ์ดจะไม่ให้เข้า เพราะคิดว่าวรรณีจะเข้าไปทำร้ายจำเลย แต่วรรณีบอกว่า แค่เข้าไปถามเท่านั้น ไม่ได้จะทำอะไร การ์ดจึงยอมให้วรรณีเข้าไปคุยกับจำเลย วรรณีถามจำเลยว่า “ถามตามตรงทำไมทำอย่างนี้ รูปที่ป้ากระทืบ ป้ารู้ไหมว่าเป็นใคร” จำเลยตอบกลับมาว่า “ทำไมกูจะไม่รู้ (จำเลยเอ่ยพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยคำไม่สุภาพ)”
 
วรรณีจึงถามต่อว่า “แล้วป้ากระทืบทำไม” จำเลยตอบว่า “ถ้าไม่ให้กูกระทืบ(จำเลยเอ่ยพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยคำไม่สุภาพ) ให้กูกระทืบยอดหน้ามึงไหม” (ขณะเบิกความถึงบทสนทนาในตอนเกิดเหตุ วรรณีเบิกความด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยว – สังเกตโดยผู้บันทึก) ในขณะที่โต้ตอบกันนั้น มีคนอยู่และได้ยินกันหลายคน
 
หลังจากนั้น ตำรวจพาตัวจำเลยออกไป แต่วรรณีไม่ทราบว่าพาไปไหน มาทราบภายหลังว่าจำเลยถูกพาตัวไปสน.ทุ่งสองห้อง หลังเกิดเหตุ วรรณีอยู่ตรงหน้าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนจะมีโทรศัพท์จากประภาวรรณ ซึ่งมาด้วยกัน บอกให้วรรณีเอารถไปรับที่สน.ทุ่งสองห้อง
 
เนื่องจากประภาวรรณไปแจ้งความที่สน. วรรณีจึงเดินทางตามไป เมื่อไปถึงสน.ทุ่งสองห้อง ก็สอบถามกับตำรวจว่า “ยายบ้าไปไหน” ตำรวจตอบว่า พาไปโรงพยาบาลแล้ว
 
วรรณีเบิกความว่า ได้คุยกับสามีของจำเลย ซึ่งขอว่าอย่าเอาเรื่องจำเลยเลย เพราะจำเลยใกล้จะเดินทางไปต่างประเทศแล้ว และวรรณีได้ยินลูกสะใภ้ของจำเลยพูดว่า จำเลยดูแต่ทีวีช่องเสื้อแดง
 
ต่อมา พนักงานสอบสวนสอบปากคำวรรณีและให้เซ็นชื่อ ในภายหลัง เจ้าพนักงานยังเดินทางไปสอบปากคำวรรณีเพิ่มเติมที่จังหวัดสุรินทร์ด้วย และให้ลงลายมือชื่อไว้ อย่างไรก็ตาม ในการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนไม่ได้นำพยานหลักฐานใดๆ มาให้วรรณีดู
 
วรรณีเบิกความว่า ไม่เคยรู้จักหรือมีความโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และไม่อยากรู้จักด้วย
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
วรรณีตอบคำถามทนายจำเลยว่า ที่ไม่อยากรู้จักกับจำเลย เพราะจำเลยมาลบหลู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ใครจะอยากรู้จัก ส่วนความโกรธ ตอนนี้ไม่ได้โกรธแล้ว แต่จำเลยทำไม่ดี
 
ทนายถามว่า คนที่ไปฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีสามกลุ่ม ใช่หรือไม่ วรรณีตอบว่าคนที่ไปฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันนั้นมีทั้งที่ไปเป็นกลุ่มและไปคนเดียว ไม่รู้ว่ามีกี่กลุ่มที่ไป เพราะไม่ได้ไปสืบเสาะ
 
ทนายถามว่า จำเลยเดินผ่านหน้าวรรณีไปแล้วหยุด หรือเดินวนเวียนบริเวณนั้น วรรณีตอบว่า เดินผ่านหน้าตนเองและหยุดตรงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้เดินวนอยู่ตรงนั้นเพื่อรอถ่ายรูป
 
ทนายถามว่า จำเลยมีสีหน้าอาการอย่างไร วรรณีตอบว่า ปกติเหมือนคนทั่วไป
 
ทนายความถามว่า ก่อนที่จำเลยจะทำความผิด จำเลยพูดอะไรหรือไม่ วรรณีตอบว่า พูดคำเดียวว่าให้เอาพระบรมฉายาลักษณ์ลง ก่อนหน้าตนเองไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดอะไรมาก่อน
 
ทนายถามว่า ในชั้นสอบสวน วรรณีให้การเรื่องที่เข้าไปถามจำเลย หลังจำเลยถูกพาตัวไปที่เต็นท์อำนวยการกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ วรรณีตอบว่า ได้เข้าไปขออนุญาตการ์ดเพื่อเข้าไปถามจำเลย จำไม่ได้ว่าได้ให้การไว้หรือไม่ แต่คิดว่าให้การไปเรียบร้อยแล้ว
 
ทนายถามว่า ตอนที่ตามไปสน. เหตุใดจึงถามตำรวจว่า ยายบ้าไปไหน วรรณีตอบว่า สามีของจำเลยบอกว่าจำเลยบ้า ตนเลยประชดไปว่าบ้า และตำรวจก็บอกว่าบ้า พาไปส่งโรงพยาบาลแล้ว ทั้งที่ไม่ได้บ้า
 
ทนายถามว่า วันเกิดเหตุ จำเลยเดินเข้าไปคนเดียวหรือไม่ วรรณีตอบว่า เห็นเดินเข้าไปคนเดียว แต่ไม่รู้ว่ามากับใครหรือไม่
 
ทนายถามว่า ที่ไปโต้ตอบกับจำเลยที่เต็นท์อำนวยการก็ไม่ทราบว่าจำเลยมีอาการทางจิตมาก่อนหน้านั้น วรรณีตอบว่า ไม่ทราบ ตอนนั้นเขามีอาการเต็มร้อย ไม่ได้บ้า
 
ทนายถามว่า ถ้าวรรณีมีญาติเป็นโรคจิต จะปล่อยให้ไปไหนมาไหนคนเดียวหรือไม่ วรรณีตอบว่าไม่ จะดูแลอยู่ที่บ้าน
 
ทนายถามว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยจะมีอาการทางจิตอย่างไร วรรณีไม่ทราบใช่หรือไม่ วรรณีตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายถามว่า วรรณีเห็นอาการของจำเลยตอนอยู่ที่สน.หรือไม่ วรรณีตอบว่า ตอนที่อยู่ที่สน.ไม่พบจำเลย เพราะตำรวจพาไปโรงพยาบาลแล้ว จึงไม่เห็นอาการกิริยาของจำเลย
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการให้ดูเอกสารคำให้การในชั้นสอบสวน แล้วถามว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นในเต็นท์อำนวยการปรากฏในเอกสารคำให้การหรือไม่ วรรณีอ่านเอกสารแล้วตอบว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นในเต็นท์อำนวยการ ตนเองไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวน
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่สาม
 
สืบพยานปากที่สี่ พีรวิทย์ วัดมหายศ อาชีพนักศึกษา
 
พีรวิทย์เบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันอายุ24ปี
 
ตอบอัยการถาม
 
พีรวิทย์เบิกความว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เวลาประมาณ 11.00 น. พีรวิทย์และพี่สาวเดินทางจากย่านรามคำแหงมาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ โดยเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 7.00-8.00 น.
 
เมื่อมาถึงก็เข้าไปร่วมกับคนที่มาชุมนุมอยู่แล้ว ซึ่งมีประมาณ 1000 คน และมีคนประกาศบอกให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูป โดยผู้ชุมนุมนั่งเป็นแถวเรียงตามขั้นบันไดหน้าศาลรัฐธรรมนูญ พีรวิทย์ยืนหันหน้าเข้าหาผู้ชุมนุมเพื่อถ่ายภาพ
 
ต่อมาพีรวิทย์เห็นผู้ชายถือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั่งอยู่แถวหน้า พระบรมฉายาลักษณ์มีลักษณะเป็นกระดาษแข็ง ขนาดประมาณ 30×30 เซ็นติเมตร
 
พีรวิทย์ไม่ใช่นักข่าว เพียงแต่ถ่ายภาพผู้ชุมนุมด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือเท่านั้น พีรวิทย์ไม่ทราบว่าชายคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์เป็นใคร พีรวิทย์ยืนห่างจากชายผู้นั้นประมาณ 2 เมตร เห็นชัดเจนว่าภาพที่ชายคนนั้นเป็นภาพอะไร
 
ระหว่างนั้น มีหญิงรูปร่างอ้วนคนหนึ่ง อายุประมาณ 40-50 ปี ใส่ชุดสีเขียว ถือผ้าเช็ดหน้าโบกไปมา มาหยุดยืนหน้าชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ (อัยการให้พยานชี้ตัวจำเลย)
 
จากนั้น จำเลยก็ชี้ที่พระบรมฉายาลักษณ์และพูดอะไรบางอย่างซึ่งพีรวิทย์จับใจความไม่ได้ แล้วเตะที่พระบรมฉายาลักษณ์ จนตกลงบนพื้นหงายหน้าขึ้น แล้วจำเลยก็ใช้เท้าเหยียบที่พระบรมฉายาลักษณ์หลายครั้ง
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็เข้ามารุมด่า พีรวิทย์กับพี่สาว และชายอีกคนหนึ่งซึ่งสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวจึงกันจำเลยออกมา แล้วพาไปที่เต็นท์กองอำนวยการ ระหว่างที่จำเลยอยู่ที่เต็นท์ พีรวิทย์ก็ช่วยกันไม่ให้คนอื่นเข้าไปทำร้ายจำเลย จากนั้นก็มีคนพาตัวจำเลยออกไป
 
ขณะเกิดเหตุการณ์ พีรวิทย์สังเกตเห็นว่าจำเลยมีอากัปกิริยาเหมือนคนทั่วไป โดยก่อนที่จำเลยจะเตะรูป พีรวิทย์ได้ยินจำเลยพูด แต่ได้ยินไม่ชัดว่าพูดว่าอะไร เพียงแต่ได้ยินว่าจำเลยพูดชื่อวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และ รัชกาลที่แปด
 
หลังจากนั้น พีรวิทย์ไม่ทราบว่ามีใครพาจำเลยไปไหนต่อ หลังจากนั้น พีรวิทย์กับพี่สาวก็ไปแจ้งความที่สน.ทุ่งสองห้อง เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์
 
พีรวิทย์ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายถามว่า ตอนนั้นเห็นจำเลยมาคนเดียวหรือเห็นว่ามีใครพามาด้วย พีรวิทย์ตอบว่า เห็นจำเลยแค่คนเดียว
 
ทนายถามว่า ระหว่างที่ถ่ายรูป การเดินของจำเลย ได้เดินผ่านหน้ากลุ่มดาวแดงที่ถือรูป ถือป้ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปก่อนหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมกี่กลุ่ม
 
ทนายถามว่า จำเลยพูดอะไรก่อนที่จะพูดคำว่า วสันต์ สร้อยพิสุทธ์ กับ รัชกาลที่แปด หรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า เห็นจำเลยพูดมากกว่านี้ แต่ไม่ได้ยินว่าพูดอะไร ทนายถามต่อว่า จำเลยพูดอยู่นานหรือไม่ ก่อนที่จะพูดให้วางพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลท้วงว่า พยานไม่ได้เบิกความอย่างนี้ พีรวิทย์ตอบว่า พูดอยู่ครู่หนึ่ง น่าจะมากกว่า 10 วินาที ประมาณครึ่งนาทีได้ แล้วจึงเตะรูป
 
ทนายถามว่า ก่อนที่จำเลยจะเตะพระบรมฉายาลักษณ์และก่อนที่จำเลยจะเดินมาหยุดหน้าชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยก็เตะป้ายคัดค้านที่ทำด้วยกล่องกระดาษที่วางอยู่ขณะกำลังเดินมาหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ไม่เห็น
 
ทนายถามว่า สีหน้าอารมณ์ของจำเลยมีลักษณะเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่งหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า สีหน้าจำเลยมีอารมณ์โกรธ ทนายถามต่อว่า จำเลยโกรธอย่างไร มีอาการคลุ้มคลั่งหรือไม่ ตอนที่พีรวิทย์ไปกันตัวออกมา
 
พีรวิทย์ตอบว่า ก่อนทำจำเลยมีท่าทางโกรธ แต่หลังจากที่ทำแล้วก็ร้องไห้ เพราะมีคนเข้ามารุมด่าและจะเข้าทำร้าย ตนเองจึงพาตัวจำเลยออกไป ทนายถามต่อว่า จำเลยร้องไห้อยู่นานหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ตอนที่พาตัวไปจำเลยก็ร้องไห้ และทำสีหน้าภูมิใจ เหมือนพอใจสิ่งที่ตัวเองทำลงไป
 
ทนายถามว่า เมื่อพามาที่เต็นท์อำนวยการแล้ว พีรวิทย์อยู่ตรงนั้นตลอดหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า อยู่ตลอดเวลา
 
ทนายถามว่า ระหว่างนั้นมีคนเข้าไปคุยกับจำเลยหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ชายสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวที่พาตัวจำเลยออกมาพร้อมกัน เข้าไปถามว่าเป็นใคร มาจากไหน ทนายถามต่อว่า มีผู้หญิงเข้าไปคุยกับจำเลยหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ไม่เห็น
 
ทนายถามว่า ตอนที่เข้าไปแจ้งความที่สน.ทุ่งสองห้อง พีรวิทย์ได้พบกับจำเลยหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ไม่ได้พบ เมื่อไปถึงก็แจ้งความและตำรวจก็ลงบันทึกประจำวันไว้ให้ ทนายถามต่อว่า พีรวิทย์ถามถึงจำเลยหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า ถาม ตำรวจตอบแค่ว่าพาไปโรงพยาบาล
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ที่พีรวิทย์เบิกความว่าไม่มีผู้หญิงเข้าไปที่เต็นท์เพื่อถามจำเลย พีรวิทย์อยู่ใกล้กับจำเลยตลอดเวลา จนกระทั่งมีคนพาตัวจำเลยออกไปหรือไม่ พีรวิทย์ตอบว่า อยู่ห่างออกมา ไม่ได้อยู่ในวงที่เขาคุยกัน เพราะต้องออกมากันไม่ให้คนเข้าไปในเต็นท์เพื่อทำร้ายจำเลย
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่สี่
 
การสืบพยานโจทก์วันนี้เสร็จสิ้น เวลา 14.50 น.
 
12 มีนาคม 2557
 
สืบพยานโจทก์วันที่สอง ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญารัชดา
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30 น.
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า นภัทร บริสุทธิ์ อาชีพรับจ้าง
 
ตอบอัยการถาม
 
นภัทรเบิกความว่า ตนเองเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่จำเลยทำความผิดด้วยการเตะพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 13 กรกรฎาคม 2555 ขณะนั้นตนเองเป็นหนึ่งในทีมงานของกลุ่มเสื้อหลากสีซึ่งมีแนวคิดปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
 
นภัทรเล่าว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ตนเองเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 8.00 น. โดยนัดกับ พิชากร โชติรัตน์ เพื่อนที่เป็นทีมงานกลุ่มเสื้อหลากสีด้วยกันที่บ้าน และเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญด้วยกัน จากนั้นจึงไปพบกับทีมงานคนอื่นๆ ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อไปถึงที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองกับเพื่อนก็เข้าไปรวมกลุ่มเสื้อหลากสีคนอื่นๆ ซึ่งมีประมาณ 200 คน และเห็นหมอตุลย์อยู่ในนั้นด้วย ในที่ชุมนุม นอกจากกลุ่มเสื้อหลากสีแล้วก็มีประชาชนกลุ่มอื่นๆ เดินทางมาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน
 
เวลาประมาณ 9.00 น. มีการเรียกรวมพลเพื่อถ่ายรูปหมู่ ผู้ชุมนุมจัดแถวเรียงหน้ากระดานประมาณ 10 แถว นภัทรและพิชากรเป็นคนถ่ายรูป โดยยืนหันหน้าเข้าหาแถวผู้ชุมนุม
 
ขณะนั้นเองก็เกิดเหตุชุลมุนขึ้น มีหญิงคนหนึ่งสวมเสื้อสีเขียวผ้ามันๆ สวมกางเกงสีน้ำตาล รูปร่างใหญ่ เดินไปเดินมา และพูดบางอย่างเสียงดัง ซึ่งนภัทรจับใจความได้เพียงว่า “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อยู่ไหน” หญิงคนนี้เดินพูดอยู่ฝั่งซ้ายมือ และเดินวนไปวนมา บริเวณทางเดินระหว่าง นภัทรกับผู้ชุมนุมที่เรียงแถวถ่ายรูป หญิงคนนั้นพูดไม่รู้เรื่อง เหมือนพูดด้วยความโมโหโดย ไม่ได้ใช้โทรโข่ง ขณะนั้นไม่มีใครสนใจหญิงคนดังกล่าว
 
หลังจากเดินพูดอยู่ประมาณหนึ่งถึงสองนาที หญิงคนนั้นเดินไปหยุดหน้าผู้ชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่เก้า หยุดเหมือนหยุดคิดเพียงเสี้ยววินาที มองรูป แล้วยกเท้าเตะจนทำให้พระบรมฉายาลักษณ์ร่วงลงพื้น โดยไม่ได้พูดอะไร
 
หลังจากนั้นคนก็กรูกันเข้าไปหาหญิงคนนั้น นภัทรตะโกนว่า “อย่าไปทำเขา” ขณะที่เกิดความชุลมุน นภัทรสังเกตว่า หญิงคนดังกล่าวมีทีท่าสะใจ และมีอาการสั่น หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมถามขึ้นมาว่า “เตะรูปในหลวงทำไม” คนก็รุมเข้าไป
 
วิรัตน์ ชายใส่แว่น สวมเสื้อขาว ซึ่งผู้ประสานงานกลุ่มเสื้อหลากสี ได้พาตัวหญิงคนนั้นออกไปและพาไปนั่งที่เต็นท์ เพื่อป้องกันไม่ให้หยิงคนนั้นถูกทำร้าย นภัทรวิ่งตามไป แต่ก็ไม่ทันคนอื่น จึงตามไปห่างๆ เพราะมีคนตามไปจำนวนมาก
 
อัยการให้นภัทรดูและยืนยันภาพในวันเกิดเหตุ นภัทรยืนยันกับอัยการว่า ชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ในวันเกิดเหตุคือคนในภาพ แต่ตนเองไม่ทราบชื่อ และไม่รู้จัก ส่วนขนาดของพระบรมฉายาลักษณ์ก็เท่ากับปฏิทิน
 
เมื่อสืบพยานมาถึงตอนนี้ ศาลขอพักการสืบพยานครู่หนึ่ง เพื่ออ่านคำพิพากษาของอีกคดีอื่นโดยใช้เวลาประมาณสิบนาที เมื่อแล้วเสร็จศาลก็กลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ
 
นภัทรเบิกความว่า ชายในภาพถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะหันหน้า ออกเพื่อถ่ายรูป
 
สำหรับหญิงผู้ก่อเหตุ นภัทรเห็นว่ามาคนเดียว เบื้องต้นไม่รู้สึกเอะใจอะไร คิดว่าเป็นเพียงคนที่มาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ตนเองจำหน้าหญิงคนดังกล่าวได้ และหญิงคนดังกล่าวก็อยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เมื่อตอบคำถามอัยการถึงตรงนี้นภัทรก็หันไปชี้ตัวจำเลย
 
นภัทรเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเองอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 3 เมตร ก่อนที่จำเลยจะเตะพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดอะไร และจำไม่ได้ว่าหลังจำเลยเตะ พระบรมฉายาลักษณ์ หล่นลงพื้นในลักษณะหงายหรือคว่ำ
 
เมื่อจำเลยถูกพาตัวมาที่เต็นท์อำนวยการ นภัทรได้ยินการโต้ตอบระหว่างจำเลยกับผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่เข้าไปถามกับจำเลยว่า ทำอะไร และจำเลยตอบว่า “ฉันทำอะไรก็เห็นอยู่ ฉันเตะรูปในหลวง ไม่เตะหน้าคุณก็บุญแล้ว”
 
จากนั้นมีคนพาตัวจำเลยไปที่สน.ทุ่งสองห้อง นภัทรและพิชากรกำลังจะตามไปที่สน. แต่มีคนบอกว่า อย่าเพิ่งตามไป จากนั้นอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง นภัทรและน.ส.พิชากร จึงตามไปถึงที่สน. แต่ก็ไม่เจอตัวจำเลย นภัทรและพิชากรแจ้งความกับตำรวจไว้ด้วย
 
ศาลถามว่า ทำไมนภัทรจึงไปแจ้งความ นภัทรตอบด้วยเสียงสั่นเครือเพราะร้องไห้ว่า ทนไม่ไหวที่เขามาเตะรูปในหลวงต่อหน้า นภัทรเบิกความถึงสาเหตุที่ต้องรอถึง 2-3 ชั่วโมง จึงไปแจ้งความว่า ต้องอยู่ที่ชุมนุมเพื่อดูแลมวลชน เพราะเป็นทีมงานเสื้อหลากสี และที่ไปแจ้งความก็เพราะคิดว่าจำเลยสมควรได้รับโทษ จึงปรึกษากับพิชากรและไปแจ้งความด้วยกัน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
นภัทรตอบทนายว่า เห็นจำเลยมาคนเดียว
 
ทนายถามว่า ลักษณะของจำเลยในวันนั้นเป็นอย่างไร นภัทรตอบว่า จำเลยดูเป็นคนแก่ขี้โวยวายคนหนึ่ง นิ่ง แต่มีอาการสั่น เหมือนโกรธแค้น ตอนแรกดูมีสติมาก เดินพูดโวยวายเหมือนโกรธใคร
 
ทนายถามว่า นภัทรทราบหรือไม่ว่า วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ คือใคร นภัทรตอบว่า เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
ทนายถามว่า จำเลยเดินไปเดินมาอยู่นานแค่ไหน ก่อนที่จะหยุดหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ นภัทรตอบว่า จำเลยเดินไปเดินมาอยู่ 2-3 นาที ก่อนจะหยุดหน้าชายคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์
 
ทนายถามว่า จำเลยดูมีอาการมึนงงหรือไม่ นภัทรตอบว่า จำเลยไม่มีท่าทางมึนงง แต่ดูโกรธแค้นอะไร พอเตะพระบรมฉายาลักษณ์แล้วก็ทำหน้าสะใจ
 
ทนายถามว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยเคยรักษาอาการทางจิตมาก่อน นภัทรตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายถามว่า นภัทรเห็นเหตุการณ์ตอนที่จำเลยถูกพาไปยังเต็นท์อำนวยการ และตอนถูกพาตัวไปป้อมตำรวจหรือไม่ นภัทรตอบว่า ตนเองอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่จำเลยถูกพาตัวมาที่เต็นท์อำนวยการ แต่ตอนที่จำเลยถูกพาไปป้อมตำรวจใต้ทางด่วน ตนเองไม่ได้ตามไปด้วย
 
ทนายถามว่า ตอนที่ไปถึงสน.ทุ่งสองห้อง นภัทรพบจำเลยหรือไม่ นภัทรตอบว่า เมื่อตนเองไปถึงก็ไม่พบจำเลยแล้ว ตำรวจบอกว่า ลูกชายพากลับไปแล้ว
 
ทนายถามว่า ทำไมจึงมาแจ้งความ นภัทรตอบว่า รู้สึกโกรธจำเลยมาก อยากให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย
 
ทนายถามว่า ความโกรธทำให้นภัทรมองข้ามความเจ็บป่วยของจำเลยหรือไม่ นภัทรตอบว่า คิดว่าจำเลยปกติดีและมีสติ เพราะไปศาลรัฐธรรมนูญคนเดียวได้ พูดรู้เรื่อง และเอ่ยชื่อ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นภัทรกล่าวด้วยว่า ตนเองไม่สนใจว่าจำเลยจะเคยป่วยและเคยรับการรักษาอาการทางจิตมาก่อนหรือไม่ สนใจเพียงว่าจำเลยทำผิดกฎหมาย
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ที่นภัทรไม่ได้ยินจำเลยพูดในตอนแรก เป็นเพราะอะไร นภัทรตอบว่า ที่ไม่ได้ยินจำเลยพูดในตอนแรก เพราะไม่ได้เอะใจ คิดว่าจำเลยมาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ และตอนนั้นก็มีเสียงทรงพระเจริญดังมากจนกลบเสียงของจำเลย
 
อัยการถามว่า ตอนที่มีคนเข้าไปถามจำเลย จำเลยสามารถตอบคำถามได้หรือไม่ นภัทรตอบว่า จำเลยสามารถตอบคำถามผู้ชุมนุมรู้เรื่อง
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก ทิชากร โชติรัตน์ อาชีพรับจ้าง
 
ทิชากรเบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันอายุ 33 ปี มีอาชีพรับจ้าง
 
ตอบอัยการถาม
 
ทิชากรเบิกความว่า ตนเองเป็นมวลชนของกลุ่มเสื้อหลากสี ซึ่งเป็นกลุ่มของหมอตุลย์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ทางกลุ่มมีการนัดหมายรวมตัว เพื่อไปให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองและเพื่อนคือ นางสาว นภัทร บริสุทธิ์ จึงเดินทางไปตามนัด โดยไปถึงก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย
 
ในเวลาต่อมา ทิชากรก็เข้าไปรวมตัวกับกลุ่มเสื้อหลากสี ในขณะนั้นเห็นกลุ่มดาวแดงและกลุ่มกองทัพธรรมมาตั้งเต็นท์ทำอาหารด้วย
 
ทิชากรเบิกความว่า ในเวลาประมาณ 9.00 น. มีการประกาศให้ไปถ่ายรูปร่วมกันหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ทิชากรกับเพื่อนได้รับมอบหมายให้ถ่ายรูป จึงต้องยืนหันหน้าเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนเรียงแถวถ่ายรูป
 
ทิชากรเห็นคนถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่หลายคน มีคนที่ถือธงและถือป้ายด้วย ต่อมามีหญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 60 ปี สวมเสื้อสีเขียวเดินมาคนเดียว ทิชากรจำไม่ได้ว่าหญิงคนนี้เดินมาจากไหน รู้แต่ว่าเดินมาจากทางซ้ายมือของตนเอง หญิงคนนี้ได้ตะโกนขึ้นมาว่า “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อยู่ไหน” และพูดถ้อยคำหยาบคาย
 
อัยการถามว่า จำหญิงคนนั้นได้หรือไม่ ทิชากรตอบว่า จำได้ และหันมาชี้ตัวจำเลย
 
ทิชากรเบิกความต่อไปว่า ไม่มีคนสนใจจำเลยนัก กระทั่งจำเลยโกรธ เพราะไม่มีใครตอบ ที่คิดว่าจำเลยโกรธ เพราะสังเกตจากท่าทางยกไม้ยกมือ พูดถ้อยคำหยาบคายด้วยอารมณ์โกรธ
 
ตอนนั้นทุกคนสงสัย ว่าจำเลยเป็นใคร แต่ก็ยังคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน เห็นจำเลยทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 5 นาที จำเลยก็เดินไปถึงตรงหน้าชายผู้หนึ่งซึ่งกำลังนั่งคุกเข่าถือพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกับเตะพระบรมฉายาลักษณ์ที่ชายคนดังกล่าวถืออยู่
 
ทิชากรเบิกความว่า จำไม่ได้ว่าก่อนที่จำเลยจะเตะพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยได้พูดอะไรหรือไม่ ตอนที่เห็นก็คือตอนที่จำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว พระบรมฉายาลักษณ์หล่นลงพื้นในลักษณะหงายหน้าขึ้น จากนั้นจำเลยก็เหยียบลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยเท้าขวา
 
ทิชากรเบิกความว่าตอนนั้นเห็นจำเลยชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดอะไร เมื่อมีคนถามจำเลยว่า “เตะทำไม” ตนเองก็ไม่ได้ยินว่าจำเลยตอบว่าอะไร
 
ทิชากรกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า มีผู้ชุมนุมจะเข้าไปทำร้ายจำเลย มีคนหนึ่งจะเข้าไปตีหรือตบจำเลย แต่การ์ดเข้ามาห้าม จากนั้นมีคนนำตัวจำเลยไปที่เต็นท์กองอำนวยการ
 
ผู้ัหญิงคนหนึ่งเข้ามาในเต็นท์ ถามจำเลยว่า เป็นใคร จำเลยไม่ตอบ แต่ยิ้ม หญิงคนนั้นก็ถามขึ้นว่า “เตะรูปในหลวงทำไม” จำเลยตอบกลับว่า “ฉันเตะรูปในหลวงของคุณใช่ไหม หรือจะให้ฉันเตะหน้าคุณ”
 
ทิชากรเบิกความว่า หลังจากนั้น มีคนพาจำเลยไปที่ป้อมตำรวจ ตนเองจะตามไปแต่ถูกห้ามไว้ เพราะกลัวว่าจะตามไปทำร้ายจำเลย ต่อมาตนเองถามคนแถวนั้นว่าจำเลยถูกพาตัวไปไหน เมื่อทราบว่าจำเลยอยู่ที่สน.ทุ่งสองห้อง จึงตามไป
 
ทิชากรเบิกความว่า กว่าตนเองจะตามจำเลยไปก็เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยถูกพาตัวออกไปแล้วประมาณสองถึงสามชั่วโมง เมื่อไปถึงสน.ทุ่งสองห้อง ก็ไม่พบจำเลยแล้ว ตำรวจที่สน.บอกว่าพาจำเลยไปโรงพยาบาล
 
ทิชากรถามตำรวจด้วยว่า มีการแจ้งความไว้หรือยัง เพราะต้องการแจ้งความ
 
ทิชากรเบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลย หรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายถามว่า ทิชากรเห็นจำเลยเดินมากับใครหรือไม่ ทิชากรตอบว่า เห็นจำเลยเดินมาคนเดียว
 
ทนายถามว่า ตอนที่เดินมา จำเลยมีลักษณะท่าทางอย่างไร ทิชากรตอบว่า ตอนแรกไม่ได้สังเกตเพราะไม่ได้สนใจ มาเริ่มสนใจจำเลยก็เมื่อจำเลยเดินเข้ามาใกล้ แล้วตะโกนเรียก วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เสียงดัง
 
ทนายถามว่า ก่อนที่จำเลยจะเดินมาหยุดตรงหน้าสนิท จำเลยเตะป้ายหรืออะไรระหว่างทางมาก่อนหรือไม่ และนอกจากวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์แล้ว จำเลยพูดอะไรอีกหรือไม่ ทิชากรตอบว่า ตนเองเห็นจำเลยเดินตรงมาโดยไม่ได้เดินเตะป้ายหรืออะไรระหว่างทาง นอกจากนี้ตนเองก็ได้ยินจำเลยก็ตะโกนถามหา วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ แต่จำเลยอาจจะพูดอะไรอีกนั้นตนเองไม่ได้ยิน
 
ทนายถามว่า จำเลยเดินวนไปวนมา หรือมีอาการมึนงงหรือไม่ ทิชากรตอบว่า จำเลยไม่ได้เดินวนไปวนมา แต่เดินแบบไม่มีจุดหมาย เหมือนเดินหาอะไร แต่เพราะได้ยินจำเลยตะโกนถามหา วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์นั้น จึงคิดว่าจำเลยน่าจะเดินหาวสันต์ ส่วนอาการของจำเลยนั้น ตนเองเห็นว่าจำเลยไม่มีอาการมึนงง
 
ทนายถามว่า ตอนที่ทิชากรเห็นจำเลยเดินมา คิดว่าจำเลยมีจุดประสงค์อะไร ทิชากรตอบว่า ตนเองเพียงแต่มองหน้าเพื่อน เพราะรู้สึกแปลก แต่ไม่คิดว่าจำเลยจะทำอะไรแบบนั้นเพราะคิดว่าเป็นเพียงคุณป้าคนหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกชอบกล แต่คิดว่าถ้าจำเลยอยู่คนละฝ่ายจะมาทำไม
 
ทนายถามว่า วันที่เกิดเหตุ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มีตำแหน่งอะไร ทิชากรตอบว่า เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
ทนายถามว่า ตอนที่จำเลยยืนอยู่ตรงหน้าสนิท จำเลยยืนอยู่ตรงไหนของทิชากร ยืนบังทิชากรอยู่หรือไม่ ทิชากรตอบว่า จำเลยมายืนอยู่ตรงหน้า ไม่ได้บังตนเอง ทนายถามว่า จำเลยเดินมาหยุดอย่างไร เดินเลยไปแล้วถอยกลับหรือไม่ ทิชากรตอบว่า จำเลยเดินมาถึงจุดที่สนิทนั่งอยู่แล้วหยุด ไม่ได้เดินเลยไป จำเลยหยุดและก้มลงดู ไม่ได้พูดหรือทำกริยาอะไรก่อนจะเตะพระบรมฉายาลักษณ์
 
ทนายถามว่า หลังจากที่จำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว จำเลยมีอาการอะไรหรือไม่ ทิชากรตอบว่า หลังจากที่จำเลยเตะก็เห็นจำเลยมีอาการสั่น ท่าทางดีใจ แล้วชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ทิชากรก็พยายามตะโกนห้ามผู้ชุมนุมไม่ให้ทำร้ายจำเลย
 
ทนายถามว่า ระยะเวลาหลังจากที่จำเลยเตะและมีคนมากันตัวออกไป เป็นระยะเวลาประมาณกี่นาที ทิชากรตอบว่า ประมาณ 2 นาที
 
ทนายถามว่า กลุ่มคนที่เข้ามาชาร์จตัวจำเลยมีทั้งทหาร กลุ่มดาวแดง และกลุ่มหมอตุลย์ ใช่หรือไม่ ทิชากรตอบว่า ใช่
 
ทนายถามว่า จำเลยมีอาการอย่างไรบ้างตอนที่ทุกคนรุมเข้ามา ทิชากรตอบว่า จำเลยมีอาการปัดป้องคนที่เข้ามาจะทำร้าย น่าจะพูดจาโวยวายด้วย แต่ตนเองจับความไม่ได้ และเห็นมีหญิงคนหนึ่งมากอดจำเลยไว้
 
ทนายถามว่า ตอนที่จำเลยถูกพามาที่เต็นท์อำนวยการ และมีคนเข้ามาถามว่าเตะทำไม จำเลยมีอาการอย่างไร ได้ตอบคำถามเป็นภาษาอีสานหรือไม่ ทิชากรตอบว่า จำเลยนั่งอยู่ มีอาการปกติ และตอบคำถามด้วยภาษากลาง ไม่ใช่ภาษาอีสาน
 
ทนายถามว่า ทิชากรตามจำเลยไปที่ป้อมตำรวจหรือไม่ ทิชากรตอบว่า ไม่ได้ตามไป
 
ทนายถามว่า ทิชากรไปสน.ทุ่งสองห้องทำไม ทิชากรตอบว่า ไปเพื่อแจ้งความ
 
ทนายถามว่า ทราบมาก่อนหรือไม่ว่าจำเลยเคยรักษาอาการทางจิตมาก่อน ทิชากรตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายถามว่า ทิชากรได้ตามจำเลยไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญาด้วยหรือไม่ ทิชากรตอบว่า ตามไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพราะอยากรู้ว่าจำเลยไปที่นั่นจริงหรือไม่
 
ก่อนที่ทิชากรจะไปดูจำเลยที่โรงพยาบาลไม่กี่วัน มีข่าวว่า จำเลยจะหนีออกนอกประเทศ ก็มีคนไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้จำเลยออกไป แต่ทิชากรไปดูที่โรงพยาบาลศรีธัญญา 
 
ก่อนหน้านี้ทิชากรไปที่สน.ทุ่งสองห้องก่อนเพื่อเช็คดูว่า จำเลยอยู่โรงพยาบาลจริงหรือไม่ ตำรวจก็เอาพาสปอร์ตให้ดู แต่ตนเองไม่เชื่อ จึงไปที่โรงพยาบาลและเห็นว่าจำเลยอยู่ที่นั่นจริง
 
ทนายถามว่า ที่เห็นจำเลยคือเห็นต่อหน้าใช่หรือไม่ ทิชากรตอบว่า ไม่ได้พบจำเลยต่อหน้า แต่มองผ่านช่องกระจกเห็นจำเลยกำลังเดินไปที่เตียง โดยมีท่าทางปกติ
 
ทนายถามว่า อาการของจำเลยตอนนั้นเป็นอย่างไร ได้สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือไม่ ทิชากรตอบว่า ไม่ได้สอบถาม พอเห็นว่าจำเลยอยู่ที่โรงพยาบาลจริง ก็กลับ
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ตอนที่จำเลยเตะรูป ทิชากรอยู่ห่างจากจำเลยประมาณกี่เมตร และบรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร ทิชากรตอบว่า อยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 2 เมตร ตอนนั้นเสียงผู้ชุมนุมดังมาก และตนเองก็ไม่คิดว่าจำเลยจะเตะ จึงไม่ได้สังเกต
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่หก
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาในภาคเช้า ศาลแจ้งว่า ภาคบ่ายจะมีการสืบพยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกหนึ่งคน และแพทย์หนึ่งคน คือ พ.ญ.รัชนีกร แต่พ.ญ.รัชนีกรทำหนังสือแจ้งมาที่ศาลว่า ไม่สามารถมาได้ จึงเหลือสืบปากเดียว
 
ศาลนัดสืบพยานต่อช่วงบ่าย ในเวลา 13.30 น.
 
การสืบพยานภาคบ่าย
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 13.45 น.
 
สืบพยานปากที่เจ็ด วรรณรัตน์ จงดี อาชีพแม่บ้าน
 
วรรณรัตน์เบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันตนเองอายุ 50 ปี ประกอบอาชีพเป็นแม่บ้าน
 
ตอบอัยการถาม
 
วรรณรัตน์เบิกความว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เวลาประมาณ 6.00 น. ตนเองเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไปถึงก็พบกับเพื่อนที่นัดไว้ และเดินเรื่อยเปื่อยในบริเวณนั้น
 
ต่อมาเวลา 9.00 น. พิธีกรประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ วรรณรัตน์ไม่ได้เข้าร่วมถ่ายรูปกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ แต่เดินไปเดินมาบริเวณนั้น
 
วรรณรัตน์เบิกความว่า ตนเองเห็นผู้ชุมนุมจัดแถวหน้ากระดานหลายแถว ด้านหน้าสุดเป็นแถวนั่ง ด้านหลังก็ยืนตามขั้นบันไดลดหลั่นกันไป วรรณรัตน์ยืนอยู่ตรงหน้าชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์
 
ต่อมามีหญิงคนหนึ่งเดินมาจากซ้ายมือสุด หญิงคนนั้นเดินมาเรื่อยๆ ตนเองคิดว่าคงกำลังมองหาเพื่อน โดยเดินกวาดเท้าไปมา เตะป่ายปัดแต่ไม่โดนคน ไม่รู้ว่าทักทายหรือเตะอะไร ลักษณะของหญิงคนนั้นเป็นป้าแก่ๆ อายุประมาณ 60 ปี ใส่เสื้อสีเขียว เดินมาคนเดียว
 
วรรณรัตน์เบิกความว่า หญิงคนนั้นก็เดินมาหยุดหน้าชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเป็นจุดที่อยู่ระหว่างวรรณรัตน์กับชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์พอดี โดยวรรณรัตน์ยืนห่างจากชายคนดังกล่าวประมาณ หนึ่งถึงสองเมตร
 
เมื่อเดินมาถึง หญิงคนนั้นก็ชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ และพูดว่า ให้วางลง แต่ชายถือพระบรมฉายาลักษณ์ตอบไปว่า ทำไมต้องวาง หญิงคนนั้นจึงใช้เท้าเตะจนพระบรมฉายาลักษณ์หล่นลงพื้น จากนั้นคนก็กรูกันเข้าไปจนเกิดความชุลมุน
 
วรรณรัตน์เข้าไปจับมือหญิงคนนั้น แล้วถามว่า “ทำไมทำแบบนี้ ทำไมไม่รักในหลวง ในหลวงไปทำอะไรให้” จากนั้นก็มีเสียงคนบอกว่าให้จับตัวไว้ ให้กันตัวไว้ เดี๋ยวผู้ชุมนุมทำร้าย วรรณรัตน์จึงเข้าไปกอดแล้วพาตัวหญิงคนนั้นออกมา 
 
อัยการถามว่า ชายที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ถือในลักษณะหันภาพออกมาหรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า หันหน้าออกมา เมื่อถามว่า ชายที่ถือรูปนั่งอย่างไร วรรณรัตน์จะลุกขึ้นมาทำท่านั่งให้อัยการดูแต่อัยการบอกว่า ไม่ต้อง
 
อัยการให้ดูภาพถ่ายของชายถือพระบรมฉายาลักษณ์ในวันเกิดเหตุ วรรณรัตน์ตอบว่า ชายในภาพถ่ายคือคนเดียวกับคนที่ตนเองเห็น แต่จำไม่ได้ว่าพระบรมฉายาลักษณ์เป็นแบบเดียวกันหรือไม่
 
อัยการถามว่า วรรณรัตน์จำหญิงคนนั้นได้หรือไม่ และหญิงคนนั้นได้อยู่ในห้องนี้ด้วยหรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า จำได้ และชี้ตัวจำเลย
 
วรรณรัตน์เบิกความถึงเหตุการณ์หลังจากที่กันตัวจำเลยออกไปแล้วว่า หลังจากที่กันตัวจำเลยออกไปแล้วก็ไม่ได้ตามต่อ วรรณรัตน์ส่งตัวจำเลยให้ชายคนหนึ่งไป แต่จะไปไหนนั้นไม่เห็น เพราะกลับมาถ่ายรูปต่อ
 
วรรณรัตน์เบิกความว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน คำให้การปรากฎตามเอกสารบันทึกคำให้การ ซึ่งบันทึกว่า จำเลยกระทืบพระบรมฉายาลักษณ์ วรรณรัตน์แย้งว่า ไม่ได้ให้การแบบนี้และไม่ได้อ่านบันทึกคำให้การ แต่ได้ลงลายมือชื่อไว้ หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนพาตนเองไปทำแผน โดยให้ชี้ที่เกิดเหตุ และให้พนักงานสอบสวนถ่ายภาพไว้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายถามว่า ตอนที่จำเลยเดินมา ได้สังเกตหรือไม่ว่าจำเลยยกเท้าเตะอะไรมาตลอดทางหรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า จำเลยเดินมา ยกเท้าตั้งขึ้นเล็กน้อย (วรรณรัตน์ลุกขึ้นมาทำท่ายกเท้าให้ดู) แต่ไม่รู้ว่าจำเลยทำอย่างนี้อยู่กี่ครั้ง เนื่องจากตนเองกำลังถ่ายรูปอย่างอื่นด้วย จึงไม่ได้สังเกตการเดินของจำเลยโดยละเอียด
 
ทนายถามว่า วรรณรัตน์เห็นจำเลยเตะป้ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกล่องกระดาษ ก่อนที่จะมาหยุดยืนหน้าชายถือพระบรมฉายาลักษณ์หรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า ไม่เห็นคนถือป้ายคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกล่องกระดาษเลย
 
ทนายถามว่า ด้านหลังพระบรมฉายาลักษณ์ที่ชายคนดังกล่าวถือ มีข้อความ “คนสุรินทร์ไม่เอาพ.ร.บ.ปรองดอง” และชายคนดังกล่าวได้สลับทั้งสองด้านไปมาขณะถือ ใช่หรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า ใช่ แต่ตอนที่จะถ่ายรูป เขาก็หันด้านที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงออกมา ก่อนที่จำเลยจะเดินมาถึงประมาณ สองถึงสามก้าว
 
ทนายถามว่า จำเลยมีอาการพูดบ่นอะไรก่อนจะเดินมาหยุดตรงหน้าชายคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์หรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า ไม่ทราบเพราะไม่ได้สนใจ
 
ทนายถามว่า จำเลยเดินมาหยุดตรงหน้าชายคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์พอดี หรือเดินผ่านเลยไปแล้วเดินกลับ วรรณรัตน์ตอบว่า จำไม่ได้
 
ทนายถามว่า เป็นเวลานานหรือไม่ กว่าที่วรรณรัตน์จะเข้าไปล็อกตัวจำเลยหลังจำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ วรรณรัตน์ตอบว่า หลังจากจำเลยกระทำการไม่บังควร ตนเองเข้าไปจับแขนแล้วถามว่าทำทำไม ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นก็มีคนจะเข้ามารุม และมีคนตะโกนขึ้นมาว่าให้กันตัวไว้ อย่าให้คนรุม ตนเองจึงเข้าไปกอดจำเลยไว้
 
ทนายถามว่า ตอนนั้นจำเลยมีอาการอย่างไร วรรณรัตน์ตอบว่า ไม่ได้สังเกตว่าจำเลยมีอาการอย่างไร เพราะชุลมุนมาก ตนเองอยู่ใกล้จำเลยที่สุด แต่ไม่มีอารมณ์จะสังเกต
 
ทนายถามว่า ระหว่างที่ทำแผน มีขั้นตอนที่จำเลยใช้เท้าเหยียบพระบรมฉายาลักษณ์หรือไม่ วรรณรัตน์ตอบว่า จำไม่ได้
 
ทนายถามว่า ทำไมพยานจึงไม่ได้อ่านบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน วรรณรัตน์ตอบว่า วันนั้นไม่ได้เอาแว่นไป ตนเองสายตายาว จึงไม่ได้อ่าน
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการให้วรรณรัตน์ยืนยันว่า ตอนที่จำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ ชายคนที่ถือภาพหันด้านที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ออกมาหรือไม่ วรรณรัตน์ยืนยันว่าตอนที่จำเลยเตะภาพเป็นด้านที่มีพระบรมฉายาลักษณ์
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากที่เจ็ด ศาลขอหารือเรื่องพยาน เนื่องจากพยานที่เป็นแพทย์เวรผู้รับตัวจำเลยไม่มาเป็นพยาน จึงต้องตัดออก
 
ศาลนัดว่า ในวันที่ 13 มีนาคม ภาคเช้า จะสืบพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับตัวจำเลย ส่วนช่วงบ่ายจะสืบแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้ของจำเลย และพนักงานสอบสวน ในส่วนพยานจำเลย ทนายจำเลยประสงค์จะสืบเพียงปากเดียวคือ ลูกชายของจำเลย ไม่สืบจำเลยเนื่องจากจำเลยพูดจาไม่รู้เรื่อง
 
13 มีนาคม 2557
 
การสืบพยานวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ในวันที่สามและเป็นการสืบพยานโจทก์วันสุดท้าย วันนี้ไม่มีผู้สังเกตการณ์อื่นอยู่ในห้องนอกจากไอลอว์ ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.40 น.
 
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด ดาบตำรวจ อนุวัฒน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นำตัวจำเลยออกจากพื้นที่เกิดเหตุ (หมายเหตุ ไอลอว์บันทึกนามสกุลพยานปากนี้ไม่ทัน)
 
ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความตอบศาลว่า รับราชการตำรวจตั้งแต่ปี2538ถึงปัจจุบัน ขณะเกิดเหตุประจำอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะวันเกิดเหตุเป็นผู้พาจำเลยออกจากที่เกิดเหตุ
 
ตอบอัยการถาม
 
ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่า วันที่13 กรกฎาคม 2555 วันเกิดเหตุ ตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญที่มีการชุมนุม วันนั้นมีคนมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก่อนเกิดเหตุ ตนเองยืนอยู่ในเต็นท์ใกล้กับที่ชุมนุมโดยในวันนั้นไม่ได้สวมเครื่องแบบตำรวจ
 
ขณะที่กำลังสังเกตการณ์อยู่ก็เห็นมีคนวิ่งฮือกัน ตนเองจึงวิ่งตามไปดู เห็นผู้ชุมนุมรุมต่อว่าหญิงชราคนหนึ่งซึ่งก็คือจำเลย และไล่จำเลยคนนั้นให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว เท่าที่ดูตอนนั้นเหมือนจำเลยจะพูดไม่รู้เรื่อง ตนเองกลัวจำเลยถูกทำร้าย จึงพาตัวจำเลยมาที่ป้อมตำรวจ ระหว่างที่เดินมาที่ป้อมตำรวจ มีคนตามมาจะทำร้ายจำเลย ตนเองจึงแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงาน
 
ศาลขัดขึ้นว่าด.ต.อนุวัฒน์เบิกความขัดกับพยานคนอื่น ศาลให้อธิบายเรื่องเหตุการณ์ตอนที่ด.ต.อนุวัฒน์กันตัวจำเลยออกมา ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่า ที่ต้องพยายามพาตัวจำเลยออกมาเป็นเพราะกลัวจำเลยจะถูกทำร้าย
 
เมื่อออกจากจุดชุมนุมก็พาจำเลยไปที่ป้อมตำรวจตรงทางด่วน โดยระหว่างทางแวะพักที่เกาะกลางถนนก่อน ช่วงที่อยู่ตรงเกาะกลางถนนก็พูดคุยกับจำเลยเล็กน้อย เมื่อไปถึงป้อมตำรวจที่อยู่บริเวณนั้น ก็ถามจำเลยว่าเป็นใครมาจากไหน แต่จำเลยพูดวกไปวนมาไม่รู้เรื่อง
 
ด.ต.อนุวัฒน์ทราบพฤติการณ์ของจำเลยจากผู้ชุมนุมที่ตามมาว่า จำเลยใช้เท้าถีบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบว่าผู้ชุมนุมที่ตามมาต้องการดำเนินคดีกับจำเลย จึงเรียกรถสายตรวจมา และตนเองก็โดยสารรถไปด้วย ตอนที่นั่งรถไปตนเองจำไม่ได้ว่าจำเลยนั่งตรงไหน เมื่อไปถึงมีผู้บังคับบัญชาของตนเป็นผู้สอบปากคำ
 
ศาลถามว่า ที่ว่าจำเลยพูดจาวกวนนั้น ฟังรู้เรื่องไหม และถามคำถามอะไรกับจำเลยบ้าง ด.ต.อนุวัฒน์ตอบศาลว่า ถามชื่อ ที่อยู่จำเลย จำเลยตอบว่าชื่อฐิตินันท์ และพักอยู่แถวรามอินทรา คำตอบของจำเลยตรงกับข้อมูลบนบัตรประชาชน
 
เมื่อถามจำเลยว่ามายังไง จำเลยตอบว่านั่งแท็กซี่มา เมื่อถามว่ามาทำไม จำเลยตอบว่ามาชุมนุม ศาลถาม ด.ต.อนุวัฒน์ว่า อะไรที่ว่าจำเลยพูดรู้เรื่องและอะไรที่ไม่รู้เรื่อง ด.ต.อนุวัฒน์ตอบว่า ระหว่างที่ให้การ จำเลยมักพูดเรื่องอื่นด้วย เช่น เรื่องพ่อปู่ บ้าง ว่าตัวจำเลยเป็นรัชกาลที่แปดกลับชาติมาเกิดบ้าง
 
ด.ต.อนุวัฒน์ เบิกความว่า เนื่องจากจำเลยมีโทรศัพท์ติดมาด้วย ตนเองจึงตรวจสอบประวัติการใช้งานและโทรหาคนที่คิดว่าน่าจะเป็นญาติของจำเลย พร้อมกับแจ้งญาติจำเลยว่า ขณะนี้จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ
 
หลังจากติดต่อญาติของจำเลยแล้ว สามีและลูกชายของจำเลยก็มาที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นญาติของจำเลยนำเอกสารทางการแพทย์ติดตัวมาด้วยหรือไม่ ญาติของจำเลยแจ้งกับตำรวจว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตและเคยรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พนักงานสอบสวนจึงให้ตนเองนำตัวจำเลยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบ
 
เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าจำเลยเคยเข้ารับการรักษาจริงเมื่อ แต่จำเลยเคยรับการรักษากับโรงพยาบาลนานเกินสิบปีแล้ว หลักฐานและประวัติการรักษาจึงถูกทำลายไป สำหรับความเกี่ยวข้องกับจำเลย ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่าไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายถามด.ต.อนุวัฒน์ว่า เห็นตอนจำเลยเดินมาหน้าศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่า ไม่เห็น ทนายถามว่า ระหว่างที่กันตัวจำเลยออกไป ด.ต.อนุวัฒน์พูดคุยอะไรกับจำเลยหรือไม่ ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่าตอนนั้นไม่ได้พูดคุยกันเพราะกลัวจำเลยถูกทำร้าย เท่าที่สังเกตตอนนั้นจำเลยมีท่าทางเป็นปกติ
 
ทนายให้ด.ต.อนุวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์ขณะอยู่ที่ป้อมตำรวจ ด.ต.อนุวัฒน์ตอบว่า จำเลยพูดจาวกวน บอกว่าตนเองเป็นรัชกาลที่แปดกลับชาติมาเกิดบ้าง เป็นหลวงปู่บ้าง มีพูดอย่างอื่นด้วยแต่จำไม่ได้แน่ชัดว่าพูดอะไร ส่วนตอนที่อยู่บนรถ ก็ไม่ได้พูดคุยกับจำเลย
 
ทนายถามว่า เหตุใดจึงส่งจำเลยไปโรงพยาบาล ด.ต.อนุวัฒน์ตอบว่า ได้รับแจ้งจากญาติของจำเลยว่าจำเลยเคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และจำเลยมีอาการเหมือนเป็นโรคประสาท พูดจาไม่รู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม ด.ต.ไม่เห็นว่าจำเลยมียาอะไรติดมาหรือไม่
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการเริ่มถามแต่ศาลท้วงว่าคำถามของอัยการ ทนายไม่ได้ถามค้านไว้ (ผู้บันทึกบันทึกคำถามของอัยการไม่ทัน) ศาลจึงไม่ให้ถามและไม่บันทึก
 
เสร็จสิ้้นการสืบพยานปากที่แปด ศาลนัดสืบพยานต่อช่วงบ่าย เวลา 13.30 น.
 
การสืบพยานภาคบ่าย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า แพทย์หญิง ดวงตา ไกรภาสพงษ์ แพทย์ผู้รักษาจำเลย ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
 
พญ.ดวงตาเบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันอายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2531 ต่อมาได้รับวุฒิบัตรวิชาชีพจิตเวช ในปี 2534 เป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช
 
หลังสำเร็จการศึกษารับราชการที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเดิมชื่อโรงพยาบาลนิติจิตเวช จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันฯ
 
ตอบอัยการถาม
 
พญ.ดวงตาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 เวลา 21.38 น. ตำรวจจากสน.ทุ่งสองห้องส่งตัวจำเลยมาพร้อมกับลูกชาย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อให้พญ.ดวงตาตรวจว่าจำเลยป่วยหรือไม่ เนื่องจากจำเลยมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขณะนั้นตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ตอนที่รับตัว แพทย์เวรเป็นคนรับไว้ จากนั้นพญ.ดวงตาได้รับมอบหมายให้เป็นแพทย์เจ้าของไข้
 
พญ.ดวงตาเบิกความถึงการรักษาที่สถาบันฯว่า แพทย์จิตเวช พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์จิตวิทยา นักจิตวิทยาเคมี และนักกิจกรรมบำบัดจะทำงานร่วมกัน มีการรวบรวมประวัติส่วนตัวของคนไข้ ประวัติความเจ็บป่วย และรวบรวมข้อเท็จจริงจากตำรวจ มีตรวจสุขภาพจิตโดยการสัมภาษณ์และสังเกตพฤติกรรม ทดสอบทางจิตวิทยา และมีการสัมภาษณ์จำเลย จากนั้นจึงมีการประชุมและลงความเห็น
 
พญ.ดวงตาเบิกความว่า ได้รับแจ้งจากตำรวจว่าจำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ สำหรับตัวจำเลย จากการรวบรวมประวัติพบว่า จำเลยมีประวัติการรักษา ทั้งในประเทศไทยที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และในต่างประเทศที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่เป็นการรักษาไม่จริงจัง
 
พญ.ดวงตาทำรายงานต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยป่วยตั้งแต่ปี 2527 มีลักษณะอาการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หูแว่ว เห็นภาพหลอน ใช้จ่ายเงินเยอะ เคยไม่ใส่เสื้อผ้าวิ่งออกจากบ้าน เคยใช้อาวุธไล่ทำร้ายสามี คิดว่าตัวเองเป็นเชื้อพระวงศ์
 
ก่อนหน้านี้จำเลยเคยรักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา และเคยเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลในประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนเกิดเหตุ จำเลยก็ไม่ค่อยกินยา ทำให้อาการกำเริบ ไม่ยอมนอน หมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ต และชอบออกนอกบ้าน อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย มีความรู้สึกร่วมกับการเมือง
 
ทีมแพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งจะมีอาการสองแบบคือ ซึมเศร้า และคลุ้มคลั่ง แต่จำเลยจะเด่นในอาการคลุ้มคลั่ง เหตุการณ์ที่เป็นต้นเรื่องของคดีนี้เกิดขึ้นตอนที่จำเลยอยู่ในขั้วอารมณ์คลุ้มคลั่ง คนไข้ที่ป่วยในขั้วอารมณ์นี้จะมีเรี่ยวแรงมหาศาล ไม่กลัวอะไร หุ่นหันพลันแล่น คิดอะไรได้ก็ทำเลย อยากรู้อยากเห็น อยากทำอะไรก็ทำเลย จากประวัติการรักษาของจำเลย ถ้าไม่ได้รักษา อาการจะรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นวิกลจริต
 
ศาลถามว่า จากที่พญ.ดวงตาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นโรคคลุ้มคลั่งถึงขั้นวิกลจริต พญ.ดวงตาได้ดูวิดีโอภาพเหตุการณ์แล้วหรือไม่ ที่ศาลดูไม่มีภาพที่จำเลยขณะเตะพระบรมฉายาลักษณ์ พญ.ดวงตาตอบว่า ได้ดูแล้ว และไม่มีภาพขณะจำเลยกำลังเตะพระบรมฉายาลักษณ์เช่นกัน
 
อัยการถามว่า จากที่พญ.ดวงตาดูวิดีโอ บอกได้หรือไม่ว่าจำเลยรู้ตัวหรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า จำเลยรู้ตัวว่ากำลังเดินเข้าไป แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคไบโพลาร์ จำเลยรู้ว่าตัวเองข้องใจกับกฎหมาย อึดอัดกับการเมือง และต้องการไปค้นหาความจริงว่า กฎหมายเป็นธรรมหรือไม่ และในความคิดของจำเลย ซึ่งเกิดเป็นช่วงๆ คือคิดว่า ตัวเองเป็นรัชกาลที่แปด
 
อัยการถามว่า ขณะที่เดินไป และเตะพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยรู้ตัวหรือไม่ว่าตัวเองคือใคร พญ.ดวงตาตอบว่า จำเลยรู้ตัวว่าตัวเองเป็นใคร แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทันทีที่เห็น หากคิดจะทำ จำเลยก็จะทำเลย
 
พญ.ดวงตาเบิกความว่า หลังจากที่ตรวจและลงความเห็นว่าเป็นโรคไบโพลาร์ ก็ให้ความเห็นว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พญ.ดวงตาเบิกความตอบทนายว่า ประวัติการรักษาของจำเลยเป็นไปตามเอกสาร ล.4 ซึ่งระบุว่า จำเลยเริ่มรักษาตัวตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2551 เป็นการรักษาอย่างไม่ต่อเนื่อง
 
พญ.ดวงตายืนยันบัตรประจำตัวผู้ป่วยของจำเลยทั้งของโรงพยาบาลศรีธัญญาและสถาบันประสาทวิทยา และยืนยันเอกสารประวัติการรักษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ พญ.ดวงตาก็เคยออกใบรับรองแพทย์ที่วิเคราะห์ว่าจำเลยป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วให้ด้วย
 
ทนายถามว่า ปัจจุบัน จำเลยยังเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาณ์ฯ หรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า จำเลยยังเป็นผู้ป่วยของสถาบันฯ ตนเองยังติดตามอาการของจำเลยอยู่ แต่ในแบบผู้ป่วยนอก
 
ทนายถามว่า พญ.ดวงตาให้การรักษาจำเลยอย่างไร พญ.ดวงตาตอบว่า ให้การรักษาจำเลยโดยการให้กินยา และนัดทุก 2 เดือน
 
ทนายถามว่า โรคนี้เวลาอาการกำเริบ จะเป็นอย่างไร พญ.ดวงตาตอบว่า เริ่มแรกจะนอนไม่หลับ ใช้จ่ายเงินเก่ง ถ้าอาการไม่กำเริบจะเหมือนคนปกติ พูดคุยรู้เรื่อง คลุ้มคลั่ง ไม่นอน มีพลังมาก ตามประวัติของจำเลย เมื่ออาการกำเริบจะมีอาการรุนแรงมาก จำเลยจะไม่สามารถรับรู้สภาพความเป็นจริงได้ตามปกติ คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องเสมอ
 
ทนายถามว่า คนที่ป่วยด้วยโรคนี้สามารถอยู่คนเดียวได้หรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า ถ้าเจ้าตัวยอมรับว่าตนเองเป็นโรคนี้ และยอมรักษา ก็สามารถอยู่คนเดียวได้ ซึ่งการดูแลรักษาทำได้ด้วยการกินยาอย่างต่อเนื่อง แต่จากประวัติการรักษาของจำเลย จำเลยยังไม่ถึงจุดที่ยอมรับว่าตนเองป่วย
 
เมื่อทำการรักษา อาการของจำเลยอาจทุเลาลง แต่เพราะจำเลยไม่ยอมรับว่าป่วย เมื่อกลับบ้านจะหยุดกินยา ทำให้ไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ตอนที่จำเลยอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาติดตามให้กินยา แต่พอจำเลยอาการปกติ ก็จะบอกเจ้าหน้าที่ว่ากินยาแล้ว
 
ทนายถามว่า โรคนี้รักษาให้หายเป็นปกติได้หรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า โรคนี้สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ต้องกินยาเป็นประจำ
 
ทนายให้ดูเอกสารหมาย จ.9 แล้วถามว่า ที่พญ.ดวงตาเบิกความตอบอัยการว่า ขณะที่จำเลยกระทำผิด จำเลยอยู่ในขั้นอาการที่กำเริบมาก และที่บอกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ พญ.ดวงตาหมายความว่าอย่างไร พญ.ดวงตาตอบว่า จำเลยทำไปเพราะไม่สามารถบังคับใจตนเองได้
 
ทนายถามว่า การกระทำผิดของจำเลยมีสาเหตุมาจากอะไร พญ.ดวงตาตอบว่า การกระทำผิดของจำเลยมีสาเหตุมาจากโรคอารมณ์สองขั้ว
 
ทนายถามว่า จากที่ทำการรักษาจำเลยมาจนอาการดีขึ้น พญ.ดวงตาวิเคราะห์ได้หรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว นิสัยจริงๆ ของจำเลยเป็นอย่างไร พญ.ดวงตาตอบว่า วิเคราะห์ได้ว่า จำเลยกระทำการนี้ไปด้วยความเจ็บป่วย หลังจากที่รักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว เห็นว่าปกติจำเลยเป็นคนเรียบร้อย
 
ทนายถามว่า ตั้งแต่รับตัวจำเลยไปรักษา จนลงความเห็นว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ใช้เวลาเท่าไหร่ พญ.ดวงตาตอบว่า ประมาณเก้าสัปดาห์
 
ทนายถามว่า สาเหตุที่อาการกำเริบคืออะไร พญ.ดวงตาตอบว่า เกิดจากไม่กินยา ธรรมชาติของโรคนี้อาการจะกำเริบจากน้อยไปมาก เริ่มจากพูดเยอะ อยากออกสังคม จากการสอบถามกับลูกของจำเลยคาดว่า อาการน่าจะกำเริบตั้งแต่ออกจากต่างประเทศ คือ ไม่ยอมนอน ใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตมาก
 
ทนายถามว่า มีสาเหตุอื่นนอกจากไม่กินยาหรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า อาจมีสาเหตุอื่นนอกจากไม่กินยาได้
 
ทนายถามว่า ช่วงที่อาการกำเริบ ต้องทำอย่างไร พญ.ดวงตาตอบว่า ช่วงที่มีอาการกำเริบ ควรจะมีการรักษา แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยรู้ถึงอาการเตือนก่อนกำเริบ รายนี้มีอาการเตือนคือ ไม่นอน สนใจและหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ญาติต้องรีบพาไปหาหมอเพื่อปรับขนาดยา
 
ทนายถามว่า ตัวผู้ป่วยจะรู้ได้เองหรือไม่ว่าอาการกำลังกำเริบ พญ.ดวงตาตอบว่า ถ้าผู้ป่วยยอมรับว่าป่วย ก็จะรู้ว่าอาการเริ่มกำเริบจากอาการเตือน
 
ทนายถามว่า ตอนที่ส่งตัวจำเลยไปที่สถาบันฯ อาการของของจำเลยอยู่ในระดับไหน พญ.ดวงตาตอบว่า อาการของจำเลยอยู่ในระดับที่รุนแรง
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ตามประวัติการรักษา เอกสารหมาย ล.1-5 ไม่ได้ระบุว่าจำเลยวิกลจริต ใช่หรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า ตามเอกสารการรักษา ใช้ภาษาทางการแพทย์ ไม่ใช่ภาษาทางกฎหมาย ระบุว่า ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ขั้วคลุ้มคลั่งรุนแรง อาจมีอาการวิกลจริต
 
อัยการถามว่า ทราบได้อย่างไรว่าจำเลยกินยาไม่ต่อเนื่อง พญ.ดวงตาตอบว่า ทราบจากการสอบถามประวัติการกินยาของจำเลยไปทางโรงพยาบาลที่ประเทศนิวซีแลนด์ และนักสังคมสงเคราะห์ได้สอบถามกับลูกสาวที่อยู่กับจำเลยที่นิวซีแลนด์ ได้ความว่ายาเหลือเยอะ และทราบจากลูกชายที่กรุงเทพฯ ซึ่งบอกว่า จำเลยหมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ต แสดงว่าจำเลยไม่ได้กินยาตามสั่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบบ่อยในผู้ป่วยจิตเวชที่ยังไม่ยอมรับตัวเอง
 
อัยการถามว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยรู้สำนึกหรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า ขณะก่อเหตุ จำเลยรู้สำนึก เพราะรู้ว่าตัวเองไปที่ไหน แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
 
อัยการถามว่า ปัจจุบันจำเลยอาการดีขึ้นแล้วหรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า อาการดีขึ้นแล้ว แต่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง
 
อัยการถามว่า ถ้าไม่กินยา จำเลยจะมีอาการกำเริบจนไปทำร้ายคนอื่นหรือไม่ พญ.ดวงตาตอบว่า อาจจะทำร้ายคนได้ แต่ไม่เสมอไป
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากที่เก้า
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ พันตำรวจโท พิภพ สุขกล่ำ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง
 
พ.ต.ท. พิภพเบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันตนเองอายุ 47 ปี ประกอบอาชีพรับราชการตำรวจ
 
ตอบอัยการถาม
 
พ.ต.ท. พิภพเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเองเป็นหัวหน้างานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ขณะเกิดเหตุ ตนเองทำหน้าที่ดูแลรับแจ้งความร้องทุกข์อยู่ที่สน.ทุ่งสองห้อง
 
เวลาประมาณ 10.30 น. ดาบตำรวจ อนุวัฒน์ นำตัวจำเลยมาพร้อมรายงานว่า ขณะที่ด.ต. อนุวัฒน์ กำลังสังเกตการณ์ การชุมนุมให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญก็พบเห็นสิ่งผิดปกติ เห็นว่ามีผู้ชุมนุมจะเข้ามาทำร้ายจำเลย และมีผู้ชุมนุมบางคนกันตัวจำเลยออกมา เมื่อ ด.ต. อนุวัฒน์เข้าไปสอบถาม จึงทราบว่าจำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งถืออยู่
 
ต่อมา สนิท ปานทอง ผู้ชุมนุมที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์และถูกเตะเดินทางมาที่สน. เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.พิภพจึงสอบถามจำเลยเรื่องทั่วไป ชื่อ ที่อยู่ และ วัตถุประสงค์ที่ไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเลยสามารถตอบคำถามได้ตามปกติ
 
แต่เมื่อจะสอบถามเรื่องการเตะพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยกลับตอบไม่ได้ ตอบไปคนละเรื่อง มีอาการฉุนเฉียว ขณะที่ตนเองซักถาม สนิทก็อยู่ด้วย สนิทถามจำเลยว่า ทำไมถึงทำกับพระบรมฉายาลักษณ์อย่างนั้น จำเลยก็ตอบไปคนละเรื่อง พ.ต.ท. พิภพเห็นว่า จำเลยน่าจะมีความผิดปกติทางจิต จึงส่งตัวให้โรงพยาบาลศรีธัญญาทำการตรวจ
 
ในทางคดี พ.ต.ท. พิภพ ดำเนินการสอบปากคำผู้ชุมนุมที่ประสงค์จะร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย และให้สนิทแสดงท่าทางการถือพระบรมฉายาลักษณ์แล้วถ่ายรูปไว้ และให้สนิทชี้ตัวจำเลย
 
สำหรับจำเลย หลังจากส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญาแล้ว โรงพยาบาลก็ติดต่อกลับมา ให้นำตัวจำเลยไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
 
พ.ต.ท. พิภพ เบิกความว่า ผู้มาร้องทุกข์ นอกจากสนิทแล้ว เท่าที่จำได้ยังมีประภาวรรณ และมีคนทยอยมาร้องทุกข์เพิ่มเติม ซึ่งตนรับคำร้องไว้และรวมเป็นคดีเดียวกัน พ.ต.ท.พิภพเบิกความด้วยว่า ได้สอบปากคำ นาง วรรณรัตน์ จงดี และให้วรรณรัตน์ไปชี้จุดเกิดเหตุและถ่ายรูปไว้
 
ต่อมา มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ ซึ่งพ.ต.ท. พิภพ ก็เป็นกรรมการด้วย หลังการพิจารณา คณะกรรมการฯ มีความเห็นให้ส่งฟ้อง ภายหลัง เมื่อสถาบันกัลยาณฯ ซึ่งรับตัวจำเลยไว้รักษาก่อนหน้านี้วินิจฉัยว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ตนเองจึงขอหมายจับ และไปรับตัวจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมทั้งสอบปากคำแพทย์หญิงรัชนีกร และสอบปากคำจำเลยโดยมีลูกสะใภ้ของจำเลยร่วมการสอบสวนด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ
 
พ.ต.ท. พิภพเบิกความว่า ระหว่างที่สอบปากคำ จำเลยสามารถตอบคำถามได้ และจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ จากนั้นก็พาไปชี้จุดเกิดเหตุและถ่ายภาพ
 
เมื่อคณะกรรมการฯ มีความเห็นส่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ได้รวบรวมพยานหลักฐาน มีภาพเคลื่อนไหวที่ผู้สื่อข่าวบันทึกไว้และการถอดเทปคำพูด ช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ ตามเอกสารหมาย จ.9
 
พ.ต.ท. พิภพเบิกความว่า ผู้สื่อข่าวไม่ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะจำเลยก่อเหตุไว้ แต่เชื่อว่าจำเลยน่าจะทำผิดจริง และขณะที่ทำก็รู้สำนึกในการกระทำของตน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายให้ดูบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แล้วถามว่า ในบันทึกระบุว่า ตำรวจควบคุมตัว เพราะจำเลยมีอาการคลุ้มคลั่ง และดูคล้ายมีอาการทางจิต ใช่หรือไม่ พ.ต.ท. พิภพตอบว่า ใช่
 
ทนายถามว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 พ.ต.ท. พิภพ เบิกความต่อศาล เมื่อจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 จำเลยมีอาการโวยวาย อารมณ์ฉุนเฉียว พูดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญในอดีตมาเกิด อยู่ๆ ก็ยิ้ม บางทีก็หัวเราะ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท. พิภพตอบว่า ใช่
 
ทนายให้ดูเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน แล้วถามว่า พยานเคยถามจำเลยว่า ท่านมีความรู้สึกรักต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร แล้วจำเลยตอบว่าอย่างไร พ.ต.ท. พิภพตอบว่า จำเลยตอบกว่า รัก เทิดทูนต่อสถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดี
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ที่จำเลยคลุ้มคลั่ง เป็นเพราะอะไร พ.ต.ท. พิภพ ตอบว่า เพราะมีบางคำถามที่จำเลยไม่พอใจจนแสดงอารมณ์หงุดหงิด และแสดงอาการที่อาจจะเกิดความรุนแรงได้
 
อัยการถามว่า ที่พ.ต.ท. พิภพ เบิกความว่า จำเลยตอบไม่ตรงคำถามคืออย่างไร คำถามไหนที่ไม่ตรงคำถาม พ.ต.ท. พิภพตอบว่า ที่จำเลยตอบไม่ตรงคำถามคือคำถามเกี่ยวกับคดี แต่คำถามเรื่องทั่วไป จำเลยสามารถตอบได้ตามปกติ
 
อัยการถามว่า ที่จำเลยบอกว่าจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เป็นเวลาก่อนหรือหลังจากที่จำเลยเข้ารับการรักษาตัว พ.ต.ท. พิภพตอบว่า เป็นตอนหลังจากที่จำเลยรักษาตัวจนเป็นปกติแล้ว
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากที่สิบ พยานโจทก์ปากสุดท้าย
 
14 มีนาคม 2557
 
นัดสืบพยานจำเลย ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญารัชดา
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.40 น. ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อน และเริ่มสืบพยานจำเลยเวลาประมาณ 9.50 น. โดยทนายจำเลยยื่นขอสืบพยานจำเลยเพียงปากเดียว
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ชยานนท์ (สงวนนามสกุล) บุตรชายของจำเลย
 
ชยานนท์ เบิกความว่าปัจจุบันอายุ 38 ปี ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะเป็นบุตรชายของจำเลย
 
ตอบทนายจำเลยถาม
 
ชยานนท์เบิกความว่า จำเลยมีอาการป่วยตั้งแต่ 2540 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2540-2545 เคยพาจำเลยไปสถาบันประสาทวิทยา สามถึงสี่ครั้ง หลังจากนั้นจำเลยย้ายไปอยู่นิวซีแลนด์ในช่วงปี 2545-2549 กับพี่สาวของตนเองซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลย
 
ชยานนท์เบิกความว่า เมื่อไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ จำเลยได้รับสิทธิเป็นผู้ป่วยถาวรและได้รับการดูแลโดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ และได้รับเงินช่วยเหลือสัปดาห์ละ 400 ดอลลาร์นิวซีแลนด์หรือประมาณ 9,000 บาท ต่อสัปดาห์ ปกติจะมีพยาบาลมาดูแลจำเลยที่บ้าน แต่เนื่องจากจำเลยไม่ชอบกินยา ทำให้ต้องเข้าไปเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเป็นครั้งคราว แพทย์ที่ประเทศนิวซีแลนด์ระบุว่า จำเลยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งต้องรักษาโดยรับประทานยาต่อเนื่อง
 
ปลายเดือนมิถุนายน 2555 จำเลยกลับประเทศไทยเพื่อมางานเลี้ยงรุ่นตำรวจทางหลวงของบิดาของตนเอง ซึ่งเป็นสามีของจำเลย หลังลงจากเครื่องบิน ชยานนท์สังเกตว่าจำเลยมีอาการหงุดหงิด โมโหง่ายและทะเลาะกับบิดาของตนเองตลอด ระหว่างพักที่ประเทศไทย จำเลยและบิดาพักอาศัยที่บ้านของชยานนท์ เนื่องจากตนเองต้องทำงานเกือบทุกวันตั้งแต่เช้าจนดึกส่วนภรรยาก็ต้องทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นในวันจันทร์ถึงศุกร์ บิดาของชยานนท์ซึ่งเป็นสามีของจำเลยจึงเป็นผู้ดูแลจำเลย เนื่องจากบิดาของตนเองมีนิสัยจู้จี้ จำเลยจึงไม่ค่อยพอใจ
 
ชยานนท์เบิกความว่า บางครั้งเมื่ออยู่ที่บ้าน จำเลยมักจินตนาการว่าตนเองเป็น พญาครุฑบ้าง เป็นรัชกาลที่แปดกลับชาติมาเกิดบ้าง มีองค์บ้าง จำเลยมักไม่หลับไม่นอน บ่อยครั้งเมื่อชยานนท์กลับมาบ้านเวลาดึกจำเลยก็ยังไม่นอน เมื่อชยานนท์จะออกไปทำงาน จำเลยก็ตื่นแล้ว
 
ชยานนท์เบิกความว่า จำเลยมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 จำเลยไปงานเลี้ยงรุ่นที่จังหวัดขอนแก่น ตนเองลางานและเดินทางไปด้วยเพราะบิดามักจะเอาไม่อยู่เวลาจำเลยมีอาการผิดปกติ ระหว่างเดินทางเมื่อมีรถตำรวจขับรถผ่าน จำเลยก็พูดว่า "ตำรวจนำขบวนให้เราแล้ว"
 
ชยานนท์เบิกความว่า เมื่ออยู่ในงานเลี้ยงรุ่นที่จังหวัดขอนแก่น จำเลยมักขัดจังหวะเวลาบิดาพูดคุยกับเพื่อน ตนเองจึงต้องคอยดูแลให้จำเลยสงบสติอารมณ์ ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 จำเลยบอกว่าไม่อยากอยู่กับบิดาของตนแล้ว อยากจะขอหย่า ต่อมาจำเลยโทรหาหลานชายให้มารับไปบ้านเพื่อนที่จังหวัดสระบุรี โดยจำเลยโกหกสามีว่าจะออกไปไหว้พระ
 
ระหว่างที่จำเลยอยู่บ้านเพื่อน เพื่อนของจำเลยโทรมาหาชยานนท์เพื่อขอยา ชยานนท์บอกว่ายาน่าจะอยู่ในกระเป๋าของจำเลย หลังจำเลยไปอยู่บ้านเพื่อนเป็นเวลาสองคืน เพื่อนของจำเลยก็โทรมาหาชยานนท์ว่าเอาไม่อยู่แล้ว จำเลยเอะอะโวยวาย ขอให้ชยานนท์มารับตัวด่วน เมื่อเป็นเช่นนั้นชยานนท์จึงเดินทางไปรับจำเลย
 
ระหว่างเดินทางกลับกรุงเทพ จำเลยบอกกับชยานนท์ว่าไม่อยากอยู่กับสามีแล้วขอให้ไปส่งที่บ้านพี่สาว(ป้าของชยานนท) ซึ่งอยู่ย่านรามอินทรา หลังไปอยู่ที่บ้านของป้าได้หนึ่งคืน ป้าของชยานนท์โทรบอกชยานนท์ว่าจำเลยโวยวาย บอกว่าตนเองเป็นภรรยาของพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มีเงินมากมาย ครอบครัวจะสบายกันแล้ว
 
เมื่อชยานนท์ทราบเรื่องก็ปรึกษากันภายในครอบครัวว่าจำเลยมีอาการหนัก ควรจะเลื่อนกำหนดการเดินทางกลับนิวซีแลนด์ให้เร็วขึ้นเพื่อจะได้เข้ารับการรักษา แต่ปรากฎว่าไม่สามารถเลื่อนตั๋วเครื่องบินได้ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ครอบครัวจึงปรึกษากันว่าจะพาจำเลยไปหาหมอในวันที่ 14 กรกฎาคม เพราะชยานนท์ไม่สามารถลางานในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมได้
 
ชยานนท์เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า ในวันที่13 กรกฎาคม 2555 ระหว่างที่ตนเองกำลังทำงานอยู่ มีคนโทรเข้ามาถามตนเองว่าเป็นบุตรชายของจำเลยหรือเปล่า ชยานนท์รับว่าใช่ ปลายสายจึงแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้จำเลยอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพราะจำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตำรวจแจ้งชยานนท์ด้วยว่าให้รีบมาที่สถานีตำรวจและให้เอายาของจำเลยมาด้วย หลังทราบเรื่องชยานนท์รีบไปสถานีตำรวจโดยไม่ได้แวะไปเอายาที่บ้าน
 
เมื่อเดินทางไปถึงสถานีตำรวจเห็นว่ามีนักข่าวหลายคน ส่วนจำเลยก็โวยวายว่าตัวเองเป็นภรรยาของพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ชยานนท์จึงตัดพ้อกับจำเลยทำนองว่า เห็นไหม ไม่กินยาจนเกิดเรื่องอีกแล้ว จำเลยไม่ฟังแต่ยังโวยวายต่อ ตำรวจจึงขอให้ชยานนท์นำตัวจำเลยไปโรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อรับการรักษา ชยานนท์เบิกความว่า เมื่อถึงไปโรงพยาบาล ตำรวจถามถึงหลักฐานการรักษาของจำเลย โรงพยาบาลแจ้งว่าเอกสารถูกทำลายไปแล้ว แต่เจ้าหน้าโรงพยาบาลยืนยันว่าจำเลยเคยมารักษาจริง
 
หลังส่งตัวจำเลยให้ทางโรงพยาบาลแล้ว ชยานนท์เดินทางไปที่บ้านพี่สาวของจำเลยเพื่อหายามาเป็นหลักฐานยืนยันอาการป่วยของจำเลย ชยานนท์พูดถึงยาที่จำเลยกินว่าเป็นยาชื่อลิเทียมหรือยาเก็บความคิด โดยจำเลยต้องกินยาชนิดนี้สามแคปซูลต่อวัน เมื่อไปถึงที่บ้านของพี่สาวจำเลย ชยานนท์ไม่พบยาพบแต่กระป๋องยาเปล่า ที่เป็นเช่นนั้นเข้าใจว่า จำเลยเทยาทิ้งจนหมด ซึ่งการที่จำเลยมีการกำเริบน่าจะเป็นเพราะไม่ยอมกินยา
 
เกี่ยวกับอาการป่วยของจำเลย ชยานนท์เบิกความว่า เมื่อมีอาการป่วย จำเลยจะเป็นคนคิดไวทำไว เช่นหากอยากจะซื้ออะไรก็จะซื้อเลยโดยไม่คิดไตร่ตรองอะไร หากจำเลยกินยาก็จะไม่แสดงอาการป่วย สามารถพูดคุยหรือทำกิจกรรมประจำวันเช่นดูทีวีตามปกติ แต่พอไม่กินยาอาการของจำเลยก็จะกำเริบ
 
สำหรับการกินยา จำเลยจะกินยาเองโดยสามีของจำเลยจะช่วยดูแล แต่จำเลยมักไม่ยอมกินยาเพราะเชื่อว่าตนเองไม่ป่วย ก่อนเกิดเหตุประมาณ 11 เดือน แพทย์ที่ประเทศนิวซีแลนด์วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ส่วนที่จำเลยไปก่อเหตุตามฟ้อง เข้าใจว่าเป็นผลของอาการป่วย
 
ศาลถามชยานนท์ว่า มีเอกสารยืนยันอาการป่วยไหม และหากจบคดีแล้วผลออกมาว่าจำเลยได้รับการปล่อยตัว ทางครอบครัวจะทำอย่างไรต่อไป ชยานนท์เบิกความว่าจะพยายามจัดหาเอกสารหลักฐานมายื่นเพื่อประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม หากจำเลยได้รับการปล่อยตัว ทางครอบครัวจะส่งจำเลยไปรักษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์เพราะจะมีคนดูแลดีกว่าและมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลนิวซีแลนด์
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการให้ชยานนท์อธิบายอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว ชยานนท์เบิกความว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์ซึมเศร้าสลับกับอารมณ์โมโหฉุนเฉียว หากไม่กินยาอาการจะกำเริบหนักขึ้น ความรุนแรงของอาการมีหลายระดับ สำหรับอาการระยะเริ่มต้น คนทั่วไปจะดูไม่ออกว่าเป็นผู้ป่วย
 
ชยานนท์เบิกความว่า ก่อนจำเลยจะเดินทางกลับมา คนในครอบครัวไม่อยากให้จำเลยเดินทางกลับประเทศไทย เพราะการดูแลรักษาที่นิวซีแลนด์ดีกว่า แต่จำเลยแอบเอาบัตรเครดิตไปซื้อตั๋วกลับมาเอง ในช่วงที่กลับมาประเทศไทย จำเลยสามารถใช้ชีวิตที่บ้านโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล สำหรับวันเกิดเหตุ ชยานนท์ไม่ได้เห็นตอนจำเลยอาการกำเริบด้วยตัวเอง เพียงแต่ฟังมาจากป้า
 
อัยการถามว่า ที่จำเลยนั่งแท็กซี่มายังจุดเกิดเหตุ ใครเป็นคนเรียกแท็กซี่ให้ ชยานนท์เบิกความว่าไม่ทราบว่าใครเป็นคนเรียก
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
ศาลย้อนถามจำเลยถึงเรื่องที่จำเลยดูทีวีเสื้อแดง ชยานนท์ตอบว่า ตัวจำเลยไม่ได้ดู เป็นบิดาที่ดูทั้งวัน แต่จำเลยอาจได้ยินเพราะจำเลยอยู่ในบ้าน ศาลบันทึกว่าบิดาของชยานนท์ดูทีวีเสื้อแดงทั้งวันทั้งคืนมาจนถึงปัจจุบัน แต่ชยานนท์ท้วงศาลว่า ทราบว่าบิดาดูทีวีเสื้อแดงทั้งวันเฉพาะตอนที่อยู่ด้วยกันเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ทราบว่าดูทั้งวันหรือไม่ ศาลจึงแก้ที่บันทึกให้ตามที่ชยานนท์ทักท้วง
 
สำหรับเรื่องเอกสาร ทนายแจ้งศาลว่าขณะที่จำเลยอยู่ที่ประเทศไทย มีเอกสารจากรัฐบาลนิวซีแลนด์แจ้งมาว่าสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยของจำเลยจะขาดอายุ ให้ติดต่อทางการด่วน ทนายความจะนำเอกสารฉบับนั้นมายื่นประกอบการวินิจฉัยของศาล รวมทั้งจะขอเอกสารอื่นๆ มาจากประเทศนิวซีแลนด์ด้วย ทนายจำเลยขอเวลาศาลหนึ่งเดือนในการรวบรวมและยื่นเอกสารเพื่อประกอบการวินิจฉัย ศาลถามอัยการแล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงนัดพิพากษาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557
 
ระหว่างรออ่านกระบวนพิจารณา ศาลพูดคุยกับจำเลยเรื่องอาชีพการงานของคนในครอบครัวจำเลยด้วย
 
21 พฤษภาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษา 
 
ประมาณ 9.00 น. ฐิตินันท์และลูกสาวมาถึงห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญารัชดา เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องฐิตินันท์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ในห้องพิจารณาคดีมีสื่อมวลชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วยจำนวนหนึ่ง ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มการอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 9.30 น.
 
คำพิพากษาสรุปความได้ดังนี้
 
คดีนี้พนักงานอัยการฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
จำเลยให้การรับสารภาพแต่เป็นการกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่สามารถบังคับตัวเองได้  
 
ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยบอกให้นายสนิท ปานทอง วางพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่รัชกาลที่เก้าที่นายสนิทถืออยู่ลง พร้อมกับใช้เท้าเตะพระบรมฉายาลักษณ์จนตกพื้นและใช้เท้าเหยียบสองครั้ง จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง 
 
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีอยู่ว่า ขณะที่ทำความผิด จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตัวเองได้เพราะจิตฟั่นเฟือนจริงหรือไม่
 
โจทก์มีประจักษ์พยานหลายปากเบิกความตรงกันในสาระสำคัญว่า ระหว่างที่กำลังจัดแถวเพื่อถ่ายภาพ จำเลยเดินเข้ามาพร้อมตะโกนเรียกหานายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ก่อนจะหยุดตรงหน้านายสนิทที่นั่งชูพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ จำเลยบอกให้นายสนิทวางพระบรมฉายาลักษณ์แต่นายสนิทไม่วาง จำเลยจึงเตะพระบรมฉายาลักษณ์จนตกพื้นและเหยียบพระบรมฉายาลักษณ์ 
 
การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนไม่พอใจ เข้ามาต่อว่าจำเลย ผู้ประสานงานผู้ชุมนุมได้กันตัวจำเลยไปสอบถามที่เต็นท์อำนวยการ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่าจำเลยพูดคุยรู้เรื่องและรู้ว่าตัวเองเตะพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
คำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฎในแผ่นบันทึกภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นหลักฐานของโจทก์ แม้ในภาพเคลือนไหวจะไม่มีภาพขณะเกิดเหตุ แต่ก็มีภาพตอนจำเลยเดินเข้ามาเรียกหานายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ และภาพขณะที่จำเลยพูดคุยโต้ตอบกับผู้ชุมนุม ตอบตรงคำถามบ้าง ไม่ตรงคำถามบ้าง หัวเราะบ้าง   
 
ในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การว่าทราบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง คนทั้งสองกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ตัวจำเลยชอบกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย
 
คำให้การของจำเลยสอดคล้องกับคำเบิกความของ         นายชยานนท์ บุตรชายของจำเลยที่เบิกความว่า บิดาของตนดูช่องเสื้อแดงทั้งวัน จำเลยที่อยู่บริเวณนั้นจึงได้ดูด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าช่องดังกล่าวนำเสนอแต่ข้อมูลด้านลบของศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ผู้ชมที่ไม่มีวิจารณญาณเกิดทรรศนคติในแง่ลบต่อการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังเช่นจำเลยเป็นต้น
 
แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยเบิกความว่า คิดว่าจำเลยรู้สึกอึดอัดกับการเมือง ช่วงที่เกิดเหตุจำเลยอยู่ในภาวะที่มีอารมณ์คลุ้มคลั่ง แม้จำเลยจะรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ เพระเมื่อคิดจะทำอะไรก็จะทำเลย ในขณะที่ทำความผิดจำเลยจึงอยู่ในภาวะจิตฟั่นเฟือน แต่จากภาพเคลื่อนไหว ปรากฎพฤติการณ์ของจำเลยว่าสามารถเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเองได้ และยังตอบคำถามผู้ชุมนุมได้ว่ามาทำอะไร 
 
พยานหลักฐานทั้งหมดจึงฟังได้ว่า แม้จำเลยจะมีอาการป่วยทางจิต แต่ในขณะที่กระทำความผิด จำเลยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง 
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี
 
ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และอาการป่วยทางจิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำเลยทำความผิด เพื่อประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวและได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย
 
จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานความคืบหน้าของการรักษาจากแพทย์ทุกหกเดือนมีกำหนด 2 ปี     
 
หลังฟังคำพิพากษา บุตรชายของจำเลยซึ่งตามมาภายหลังถามศาลว่าจำเลยสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือไม่ ศาลตอบว่าได้ เพียงแต่ญาติต้องรับผิดชอบส่งรายงานการรักษาพยาบาล ตามที่กำหนดในคำพิพากษา

 

หมายเลขคดีดำ

อ.4809/2555

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕

 
"ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถ
บังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
 
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

แหล่งอ้างอิง

 

กรณี‘หญิงสติไม่ดี’เตะพระบรมฉายาลักษณ์ : คอลัมน์เส้นใต้บรรทัด โดยจิตรกร บุษบา (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

ป่วน! ฐิตินันท์ บุกด่าประธานศาล รธน.  เว็บไซต์กระปุกดอทคอม (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

ศาล ชี้ หาก'ป้า'ป่วยจิตถาวรไม่ต้องรับโทษ เว็บไซต์ข่าวไอเอ็นเอ็น (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

ออกหมายจับ ฐิตินันท์ หมิ่นสถาบันแล้ว เว็บไซต์กระปุกดอทคอม (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

จิตเวชสรุป นางฐิตินันท์ ผู้ต้องหากระทำมิบังควร ป่วยจริง! เว็บไซต์เดลินิวส์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

“ป้าแก่” เจอข้อหาหมิ่นสถาบัน อายัดตัวห้ามออกนอก เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

เผยคดี "ฐิตินันท์" หมิ่นเบื้องสูงยังอยู่ในชั้นของพนง.สอบสวน ไร้เงาเสื้อหลากสี เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

จิตแพทย์ชี้ “ป้าเห็บหมา” เข้าข่ายโรคจิตจริง มวลชนนัดบุกจี้คดีศุกร์นี้ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

ประชาชนไม่ยอม..ขึ้นแจ้งความดำเนินคดีป้าหมิ่นฯเบื้องสูงก่อนหนีไปต่างประเทศ เว็บไซต์โอเคเนชั่น บล็อก (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

แฉ “หญิงสูงวัย” หมิ่นเบื้องสูงหน้าศาล รธน.เตรียมบินหนีกลับนิวซีแลนด์อังคารนี้ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555)

“ฐิตินันท์” ป้าหมิ่นเบื้องสูงเตรียมหนีกลับนิวซีแลนด์-กัปตันบินไทยประกาศไม่รับขึ้นเครื่อง เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (อ้างอิงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555)

ระบบงานสารสนเทศสำนวนคดี ศาลอาญา, เว็บไซต์ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557)

 

 

 

13 กรกฎาคม 2555

ฐิตินันท์ เดินฝ่าฝูงชนบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ตรงไปยังผู้ที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนที่จะแสดงท่าทีไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมและกรูเข้ามาทำร้ายร่างกาย พร้อมกับเสียงด่าทอ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยบริเวณนั้นได้เข้าระงับเหตุ ก่อนนำตัวฐิตินันท์ไปสงบสติอารมณ์ที่ป้อมตำรวจ 
 
14 กรกฎาคม 2555 
 
ฐิตินันท์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่า ฐิตินันท์ เป็นบุคคลที่มีอาการทางประสาทหรือไม่ 
 
17 กรกฎาคม 2555
 
มีข่าวลือในโลกอินเทอร์เน็ตว่า ฐิตินันท์กำลังจะหนีออกนอกประเทศ ไปยังประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่  ด้วยเที่ยวบินที่ TG 491 ทำให้มวลชนกลุ่มหนึ่งประมาณ 200 คนมาประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิ  โดยถือป้าย ร้องเพลง ประท้วง ดักรอ ฐิตินันท์ โดยมีตำรวจมาควบคุมสถานการณ์ประมาณ 1 กองร้อย ทว่า ในที่สุด ฐิตินันท์ ไม่ได้ปรากฏตัวแต่อย่างใด มีเพียงสามีที่เดินทางกลับนิวซีแลนด์ เพียงลำพัง
 
ทั้งนี้ กัปตันของการบินไทย ที่ทำหน้าที่ในไฟลต์บินดังกล่าว ได้ประกาศว่า เขาและลูกเรือจะไม่ทำการบิน หาก ฐิตินันท์ มีรายชื่อเป็นผู้โดยสาร เพราะถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ ได้บอกต่อประชาชนที่มาประท้วง ว่า ฐิตินันท์ ไม่ได้มาเช็กอิน แต่อยู่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแน่ใจว่า ฐิตินันท์ ไม่ได้เดินทางกลับนิวซีแลนด์ ประชาชนที่ไปรวมตัวกันประท้วงฐิตินันท์ จึงสลายตัวในเวลาต่อมา
 
พ.ต.อ.พงษ์ สังข์มุรินทร์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ยืนยันว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมควบคุมตัวส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ต่อมาได้นำตัวส่ง สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พร้อมอายัดตัวไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพจิต ซึ่งขณะนี้แพทย์สั่งห้ามเยี่ยม เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการคลุ้มคลั่ง จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับพาสปอร์ตของ ฐิตินันท์ ยังอยู่กับพนักงานสอบสวน ส่วนตั๋วเครื่องบินเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์ ทางญาติของ ฐิตินันท์ แจ้งว่า เป็นการซื้อตั๋วแบบไป-กลับ ราคาประหยัด หากไม่ได้เดินทางจะเป็นการยกเลิกไปโดยปริยาย
 
สำหรับการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปาก รวมถึงสอบปากคำสามี และบุตรชายของ ฐิตินันท์ ซึ่งระบุว่า ช่วงหลัง ฐิตินันท์ ไม่ค่อยรับประทานยา พร้อมนำตัวอย่างยามอบให้พนักงานสอบสวน โดยหลังจากนี้ จะต้องรอผลยืนยันจากแพทย์ เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดี ก่อนเสนอให้คณะกรรมการคดีหมิ่นสถาบัน ในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล พิจารณามีความเห็นต่อไป
 
25 กรกฎาคม 2555
 
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ศาลได้ อนุมัติหมายจับฐิตินันท์แล้ว ในข้อหาหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 
 
ทั้งนี้ พล.ต.ต.ปิยะ ยังยืนยันด้วยว่า ทางตำรวจจะดำเนินคดีดังกล่าวตามขั้นตอน ซึ่งทาง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ก็ได้แต่งตั้ง พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น. เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวแล้ว และให้ พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รอง ผบก.น.2 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เข้าร่วมในการสืบสวนด้วย
 
30 กรกฎาคม 2555 
 
ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงการดำเนินคดี ว่า หากทางผู้ต้องหาอ้างว่า มีความบกพร่องทางจิตนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องส่งไปตรวจสภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคจิต หรือวิกลจริตจริงดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ เนื่องจากจะมีผลต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาล คือ หากผู้ต้องหาเป็นโรคจิตถาวร ก่อเหตุและกระทำผิดไปโดยไม่สามารถบังคับตัวเองได้ ก็อาจจะเข้าข่ายไม่ต้องรับโทษ
 
แต่ ถ้าผู้ต้องหามีอาการทางจิตชั่วครั้งชั่วคราว หรือสามารถพูดคุยรู้เรื่องบ้าง ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
 
15 สิงหาคม 2555
 
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน กล่าวถึงความคืบหน้าคดี ว่า
 
ตอนนี้คดีอยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวนส่งสำนวนเบื้องต้นให้กับทางสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำเรื่องเข้าคณะกรรมการคดีหมิ่น ส่วนกระแสข่าวที่ว่านางฐิตินันท์ ได้เดินทางหลบหนีออกไปนอกประเทศนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากได้มีการอายัดตัวฐิตินันท์ ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ และได้ส่งตัวฐิตินันท์ไปไว้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมและรักษาอาการทางจิต โดยมีการสังเกตพฤติกรรมและอาการป่วยทางจิตอย่างน้อย40วัน อีกทั้ง มีเจ้าพนักงานสอบสวนติดตามรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ
 
ในวันเดียวกัน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชของ ฐิตินันท์ ว่า ทีมนิติจิตเวชประกอบด้วยจิตแพทย์ 11 คน พยาบาลสุขภาพจิต และนักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด ที่ปรึกษากรมสุขภาพ และรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มีการประชุมเพื่อวินิจฉัยกรณีดังกล่าวด้วยความรอบคอบ ตามบทบาทและมาตรฐานวิชาชีพและเตรียมส่งผลการวินิจฉัย พร้อมทั้งให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง โดยในผลเบื้องต้นคณะกรรมการมีความเห็นว่า ฐิตินันท์ ป่วยจริง ส่วนการดำเนินการขั้นตอนต่อไปก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนในการตัดสินใจ
 
สำหรับการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปาก รวมถึงสอบปากคำสามี และบุตรชายของ ฐิตินันท์ ซึ่งระบุว่า ช่วงหลัง ฐิตินันท์ ไม่ค่อยรับประทานยา พร้อมนำตัวอย่างยามอบให้พนักงานสอบสวน โดยหลังจากนี้ จะต้องรอผลยืนยันจากแพทย์ เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดี ก่อนเสนอให้คณะกรรมการคดีหมิ่นสถาบัน ในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล พิจารณามีความเห็นต่อไป
 
17 สิงหาคม2555
 
ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้กล่าวถึงแนวทางดำเนินคดีว่า ถ้าหากเป็นโรคจิตแบบถาวร ที่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ ก็อาจจะเข้าข่ายไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าเป็นโรคจิตชั่วครั้งชั่วคราวหรือสามารถพูดคุยรู้เรื่องได้บ้าง ก็ได้มีสิทธิได้รับโทษ แต่รับโทษน้อยกว่าอัตราที่ระบุไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65
 
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ได้ระบุไว้ว่า… "ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
 
ความผิดมาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 3-15 ปี ดังนั้น หากผลตรวจของแพทย์ได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องหามีอาการทางจิต แต่รู้สึกผิดชอบ หรือบังคับตัวเองได้บ้าง ศาลก็อาจจะใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกน้อยกว่าที่กำหนดไว้ เช่น จำคุก 1 ปี หรือจำคุก 2 ปี"
 
นอกจากนี้ ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้กับคดีได้ ทางกฎหมายให้งดสอบสวนเอาไว้ก่อน และให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิตตามแต่สมควร สำหรับคดีที่ป่วยทางจิตนั้นดูไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่จะมีประวัติการป่วยและการรักษา ส่วนกรณีเดียวที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ นั่นก็คือ ต้องป่วยเป็นโรคจิตจริง ๆ และการป่วยเป็นโรคจิตนั้นไม่สามารถแกล้งป่วยกันได้
 
 
24 ธันวาคม 2555
 
นัดสอบคำให้การ
 
22 เมษายน 2556 
 
นัดประชุมคดีตรวจพยานหลักฐาน
 
11 มีนาคม 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์วันแรก 
 
ภาคเช้า
 
ศาลสืบพยานโจทก์สองปาก คือ สนิท และ ประภาวรรณ ทั้งสองเป็นประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์
 
สนิทเบิกความว่าตอนที่มีการตั้งแถวถ่ายรูปหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงไว้ ต่อมาจำเลยเดินเข้ามาหาตนพร้อมสั่งให้วางรูปลง แต่ตอนไม่ยอมวางจึงถูกถีบจนพระบรมฉายาลักษณ์ตกและจำเลยก็กระทืบซ้ำ
 
หลังเหตุการณ์สงบลงสนิทไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สน.ทุ่งสองห้อง สนิทคิดว่าขณะก่อเหตุจำเลยมีสติสมบูรณ์ ส่วนที่จำเลยแสดงอาการโวยวายควบคุมตัวเองไม่ได้ตอนอยู่ที่ สน.ก็น่าจะเป็นเพียงการแสดงละคร 
 
ประภาวรรณ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความยืนยันว่าจำเลยทำความผิดจริงและจำเลยน่าจะเป็นคนปกติไม่ได้มีปัญหาทางจิต เพราะญาติไม่มีเอกสารหลักฐานมาแสดง ประภาวรรณตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำคดีนี้อย่างจริงจัง  
 
ภาคบ่าย
 
ศาลสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานอีกสองปาก คือวรรณี และพีรวิทย์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์
 
วรรณีเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์ วรรณีได้เข้าไปถามและมีการโต้เถียงกับจำเลย พร้อมยืนยันว่า จำเลยมีอาการปกติเต็มร้อยในขณะที่กระทำความผิด
 
พีรวิทย์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์และเป็นผู้กันตัวจำเลยออกมา เบิกความว่า ก่อนที่จำเลยจะทำความ ท่าทางของจำเลยดูมีอารมณ์โกรธ แต่หลังจากเตะพระบรมฉายาลักษณ์แล้วก็ร้องไห้
 
 
12 มีนาคม 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์วันที่สอง
 
ภาคเช้า
 
ศาลสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์สองปาก คือ นภัทร และ ทิชากร ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อหลากสี
 
พยานทั้งสองเบิกความว่า ก่อนจำเลยจะเตะพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยเดินไปเดินมาในบริเวณนั้น และพูดจาเสียงดังฟังไม่รู้เรื่อง ไม่มีอาการมึนงง แต่มีท่าทางโกรธแค้นอะไรบางอย่าง หลังจากเตะพระบรมฉายาลักษณ์แล้วก็ทำหน้าสะใจ 
 
ภาคบ่าย
 
ศาลสืบวรรณรัตน์ ประจักษ์พยานที่อยู่ใกล้จำเลยที่สุดในขณะเกิดเหตุ วรรณรัตน์เป็นคนเข้าไปกอดตัวจำเลยไว้ เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ารุมทำร้าย
 
วรรณรัตน์เบิกความว่า แม้ว่าตนเองจะอยู่ใกล้จำเลยที่สุด แต่ขณะเกิดเหตุตอนนั้นชุลมุนมาก จึงไม่มีเวลาไปสังเกตอาการท่าทางของจำเลย
 
13 มีนาคม 2557 
 
นัดสืบพยานโจทก์วันที่สาม (วันสุดท้าย)
 
ภาคเช้า
 
ศาลสืบพยานโจทก์เพียงปากเดียวคือ ดาบตำรวจ อนุวัฒน์ เจ้าพนักงานที่พาจำเลยจากจุดเกิดเหตุไปยังป้อมตำรวจ
 
ด.ต.อนุวัฒน์เบิกความว่า เมื่อเกิดเหตุต้องรีบนำตัวจำเลยออกจากจุดเกิดเหตุเพราะกลัวถูกทำร้าย จำเลยน่าจะมีอาการผิดปกติจริงเพราะพูดวกวนไปมาและอวดอ้างว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญในอดีต
 
ภาคบ่าย
 
ศาลสืบพยานโจทก์สองปาก
 
ปากแรก แพทย์หญิง ดวงตา แพทย์จากสถาบันกัลายาณ์ราชนครินทร์ เจ้าของไข้ของจำเลย เบิกความว่า จำเลยป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว เด่นในด้านคลุ้มคลั่ง เมื่ออาการกำเริบจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว คิดแล้วทำเลย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ มีความคิดว่าตัวเองเป็นคนอื่น
 
ในคดีนี้ จำเลยรู้ว่าตัวเองเป็นใครกำลังทำอะไร แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อาการกำเริบของจำเลยเป็นผลจากการไม่กินยาอย่างต่อเนื่อง พ.ญ.ดวงตารักษาจำเลยจนอาการดีขึ้น จึงได้ลงความเห็นว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ 
 
พยานปากต่อมา พันตำรวจโท พิภพ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ขณะสอบปากคำ จำเลยไม่สามารถตอบคำถามได้เมื่อถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จำเลยเตะพระบรมฉายาลักษณ์
 
แต่ในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เป็นใคร มาจากไหน จำเลยตอบได้ พูดคุยรู้เรื่อง และขณะสอบปากคำจำเลยก็มีอาการผิดปกติ จึงส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อให้ตรวจ 
 
14 มีนาคม 2557
 
นัดสืบพยานจำเลย 
 
ภาคเช้า
 
ศาลสืบพยานจำเลย ซึ่งมีเพียงปากเดียว คือ ชยานนท์ บุตรชายของจำเลย ซึ่งเบิกความว่า จำเลยมีอาการป่วยและต้องรับการรักษาตัวมานานแล้ว และเคยไปรักษาตัวที่ประเทศนิวซีแลนด์อยู่พักหนึ่ง
 
ก่อนเกิดเหตุ จำเลยมักไม่ยอมกินยาจนอาการกำเริบ เมื่อจำเลยไปนอนบ้านเพื่อนที่จังหวัดสระบุรีและที่บ้านของพี่สาวของจำเลยย่านรามอินทราก็มีอาการหนักจนทั้งเพื่อนและพี่สาวของจำเลยต้องเดือดร้อน
 
21 พฤษภาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลพิพากษาว่าฐิตินันท์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1  ปี และให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี
 
 
12 พฤษภาคม 2558
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญารัชดา ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีของฐิตินันท์ ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งให้รอการลงโทษจำเลย เป็นไม่รอการลงโทษ แต่อัตรโทษให้คงตามศาลชั้นต้น ได้แก่จำคุก 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี
 
ในเวลา 17.30 น. ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวฐิตินันท์ชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท พร้อมสั่งให้ญาติของฐิตินันท์ส่งประวัติการรักษาของฐิตินันท์ 2 เดือนล่าสุด ให้ศาลภายใน 7 วัน
 
20 มกราคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกฐิตินันท์เป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่รอลงอาญา ฐิตินันท์จึงถูกส่งตัวไปรับโทษที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 
8 สิงหาคม 2559
 
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ฐิตินันท์อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการลดหย่อนโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย โดยทั้งเธอเข้าเกณฑ์ได้รับปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเดิม 
 
27 สิงหาคม 2559
 
ฐิตินันท์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลพิพากษาว่าฐิตินันท์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1  ปี และให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งให้รอการลงโทษจำเลย เป็นไม่รอการลงโทษ แต่อัตรโทษให้คงตามศาลชั้นต้น ได้แก่จำคุก 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี
 
ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผล กรณีไม่ให้รอการลงโทษจำเลยว่า "พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยมีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้การกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งขณะกระทำผิดจำเลยยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง"

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา