พระเกษมดูหมิ่นศาสนา

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

พระเกษม อาจิณฺณสีโล หรือ นายเกษม ดวงแพงมาต

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2551

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์มอบอำนาจให้นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นคนแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดี พนักงานอัยการจังหวัดหล่มสัก เป็นผู้ดำเนินคดีในชั้นศาล

สารบัญ

พระเกษมถูกกล่าวหาว่าเหยียดหยามวัตถุทางศาสนาตามกฎหมายอาญามาตรา 206 โดยการเอาป้ายติดที่ฐานของพระพุทธรูปว่า “ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องไปกราบมัน” ใช้เท้าเหยียบที่ฐานพระพุทธรูปและใช้มือตบบริเวณพระพักตร์ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 2ปี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พระเกษม อาจิณฺณสีโล ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์วัดป่าสามแยก หรือชื่อเดิมว่าสำนักสงฆ์ห้วยผึ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยยางทอง ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

พระเกษมอุปสมบทเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ที่วัดไชยารม ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี สังกัดนิกายธรรมยุติ

นอกจากคดีนี้แล้ว พระเกษมยังเคยบันทึกเทปของตนแสดงอาการยกเท้า เตะข้าวของ พูดจาเสียงดังหยาบคาย และโพสลงเว็บไซต์ยูทูปด้วยตนเอง จนกลายเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลัก ออกรายการเรื่องเล่าเช้านี้ในวันที่ 21 กันยายน 2554 และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม  ต่อมามีผู้นำเหตุการณ์นี้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่เจ้าคณะอำเภอเมืองอุดรธานีมีคำสั่งให้สึกภายใน 3 วัน แต่เมื่อครบกำหนดเวลาพระเกษมยังดื้อดึงไม่ยอมสึกและแต่งกายในชุดพระสงฆ์ พระเกษมจึงถูก นายเอนก สนามชัย ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วยนายวิโรจน์ ไผ่ย้อย รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.)เพชรบูรณ์ แจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรน้ำหนาวในข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พระเกษม ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เป็นผู้นำแผ่นป้ายข้อความว่า “ทองเหลืองหล่อนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องไปกราบมัน” ไปติดไว้ที่ฐานพระพุทธรูป ในวัดป่าสามแยก และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธชินราชจำลองและใช้มือตบบริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูป การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาพุทธ อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

943/2551

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ข่าว พระเกษม วัดสามแยก  (เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555)

‘พระเกษม’ ควงทนายพบตร.ตามหมายเรียก   (เข้าถึงเมื่อ 4 ตุลาคม 2555)

เดือนพฤษภาคม 2551

พระเกษมจัดทำแผ่นป้ายเขียนว่า "ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องไปกราบมัน” ไปติดไว้ที่พระพุทธรูปที่วัดป่าสามแยก  ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามีผู้พบเห็นและถ่ายภาพไป ภาพที่มีป้ายข้อความนั้นได้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์

 

28 พฤษภาคม 2551

พระเกษมเห็นว่าภาพข่าวได้ออกไปโดยที่ไม่ได้มีการอธิบายถึงข้อความดังกล่าว จึงเชิญเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์หลายช่องมาทำข่าวและอธิบาย โดยให้นักข่าวอ่านพระไตรปิฎก  ขณะเดียวกันพระเกษมได้แสดงท่าใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธรูปและใช้มือตบพระพักตร์ของพระพุทธรูป นักข่าวที่มาบันทึกภาพไว้ และการกระทำของพระเกษมกลายเป็นข่าวในเวลาต่อมา

ต่อมา คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ประชุมและมีมติให้พระเกษมนำแผ่นป้ายข้อความออก และมีหนังสือแจ้งให้พระเกษมออกจากพื้นที่ แต่พระเกษมไม่ปฏิบัติตาม คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์จึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี ฐานเหยียดหยามวัตถุทางศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206

 

31 กรกฎาคม 2551

คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุติ) ลงมติมีคำสั่งให้ พระเกษม อาจิณฺณสีโล จำเลยและพระภิกษุทุกรูปที่พักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ป่าสามแยก ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกจากพื้นที่ทางปกครองคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ และกลับต้นสังกัดเดิมภายในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ และมีมติมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ พระเกษม อาจิณฺณสีโล จำเลย ในเหตุการณ์กระทำการอันเป็นการเหยียดหยามศาสนา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๖ ต่อไป แต่พระเกษมกับพระภิกษุทุกรูปที่สำนักสงฆ์ป่าสามแยก ได้ลงมติร่วมกันในที่ประชุมสงฆ์ป่าสามแยกว่า จะไม่ยอมออกไปจากที่พักสงฆ์ป่าสามแยกโดยเด็ดขาด เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักของพระธรรมวินัย เนื่องจากไม่ได้ทำการสอบสวนระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยอย่างพร้อมเพรียงและพร้อมหน้า พร้อมกับยกหลักของธรรมวินัยออกมาตัดสิน เพราะฉะนั้นการลงมติครั้งนี้จึงเป็นโมฆะ

 

20 ตุลาคม 2552

พระเกษม ยื่นคำให้การจำเลย ความยาว 12 หน้า โดยมีนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ เป็นทนายความผู้ร่างเอกสารให้ สรุปใจความสำคัญได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 ไม่ได้บัญญัติให้พระพุทธรูปเป็นวัตถุในทางพุทธศาสนา และพระพุทธรูปก็ไม่ใช่วัตถุในทางพุทศาสนา ตามที่มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกว่า พระพุทธเจ้าบัญญัติให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงบัญญัติไว้อีกว่า ผู้ใดจะสร้างรูปเหมือนหรือรูปเปรียบให้เป็นดั่งพระองค์ด้วยวัตถุใดๆ ก็ตาม แต่วัตถุรูปปั้น รูปหล่อนั้นๆ ก็ไม่มีทางที่จะเหมือนพระองค์และต้องไม่ใช่พระองค์อย่างแน่นอน สำหรับวัตถุในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเอาไว้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปโลหะ พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปดิน หิน ปูน ทราย ใดๆ เลย และพระพุทธเจ้าก็ไม่ให้เอาวัตถุทั้งหลายเป็นที่พึ่งหรือเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ แต่ให้ยึดเอาพระรัตนตรัยที่ ไม่มีวัตถุ ซึ่งก็คือพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกเท่านั้น

 

ไม่มีพระธรรมวินัยข้อใด ๆ หรือหมวดใดๆ ที่จะบ่งชี้ชัดลงไปว่าการติดป้ายหรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการห้ามกราบไหว้และเคารพพระพุทธรูปปฏิมากรรมทั้งหลายนั้น เป็นความผิดตามพุทธศาสนบัญญัติ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฯ และกฎมหาเถรสมาคมก็ไม่มีข้อความใดที่ได้บัญญัติระบุว่า พระพุทธรูปเป็นวัตถุในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นการเหยียดหยามพระพุทธรูปที่สร้างกันขึ้นมาด้วยวัตถุทั้งหลายนั้นจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๖

การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ความเชื่อในทางศาสนา ที่จำเลยได้แสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ ในการนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เพื่อปกป้องพระธรรมวินัยให้คงอยู่อย่างยืนยาวและมั่นคง การกระทำของจำเลยนี้กระทำได้อย่างสอดคล้องถูกต้องตรงกับบทบัญญัติในพุทธธรรมนูญ จำเลยจึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ประกอบกับมาตรา ๓๗ และมาตรา ๗๐ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกในการถือพระพุทธศาสนา และทำหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐมิใช่ถูกกระทำการใด ๆ

 

สำหรับพระพุทธรูปทองเหลืององค์ที่โจทก์ฟ้อง ไม่ใช่พระพุทธรูปที่สร้างหรือหล่อออกมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก แต่มีผู้ซื้อมาจากโรงหล่อที่จังหวัดสระบุรี นำมาถวายให้แก่ที่พักสงฆ์ป่าสามแยก จึงไม่ใช่องค์พระพุทธชินราชจำลองดังที่โจทก์ฟ้อง แต่เป็นพระพุทธรูปทองเหลืององค์ธรรมดา ที่สามารถหาซื้อขายกันอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด เมื่อมีผู้นำมาถวายให้แก่ที่พักสงฆ์ป่าสามแยก ก็ถือได้ว่าเป็นสมบัติหรือเป็นสิทธิขาดของหมู่ชน หรือของสำนักสงฆ์ป่าสามแยก หมู่ชน ณ ที่พักสงฆ์ป่าสามแยกได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเกิดความรู้และทราบได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธรูปนี้เป็นวัตถุสิ่งของที่ผิดพระธรรมวินัย พระพุทธรูปทองเหลืองบนศาลาของสำนักสงฆ์ป่าสามแยก จึงไม่มีผู้ใดในหมู่ชนให้ความเคารพบูชาและกราบไหว้มาเป็นเวลานานแล้ว จึงเท่ากับเป็นวัตถุอันหนึ่งที่ถูกทิ้งร้างแล้ว ไม่ใช่วัตถุอันเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนแห่งหมู่ชนสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

อีกทั้งจำเลยก็กระทำกับพระพุทธรูปทองเหลือง ณ ที่พักสงฆ์ป่าสามแยก ไม่ได้ไปกระทำต่อพระพุทธรูปของผู้อื่นๆ หรือวัดอื่นๆ อันเป็นการกระทำต่อวัตถุในทางศาสนาของหมู่ชนนั้นๆ ที่เขายังเคารพกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปกันอยู่ และในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีความเห็นเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งให้เอาออกไปเดี๋ยวนั้นเลย อีกฝ่ายหนึ่งให้ใจเย็นๆ เพราะสังคมเขายังยอมรับในเรื่องนี้กันไม่ได้ในการปรึกษาก็เริ่มมีความรุนแรงทางความเห็นมากขึ้นๆ จำเลยจึงได้ให้ติดป้ายห้ามกราบพระพุทธรูปทองเหลืองไว้

จำเลยได้แสดงการตบหน้าและเหยียบฐานพระพุทธรูปทองเหลืองโดยออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้สาธารณชนดู ก็เป็นการเปิดเผยพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าออกสู่สาธารณชน ซึ่งเป็นการกระทำโดยสุจริตใจ และสอดคล้องตรงกับหลักของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ และเป็นการกระทำเพื่อยกย่องและเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งแปลว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่เหยียดหยามพระพุทธศาสนาหรือเหยียดหยามคำสอนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งจำเลยก็ไม่บังคับให้ผู้ใดต้องถือตามในสิ่งที่จำเลยเชื่อมั่น

การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด และไม่เข้าองค์ประกอบในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๖

 

 

27 ตุลาคม 2552

พระเกษมยื่นคำแถลงการณ์เปิดคดี ความยาว 31 หน้า โดยมีนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ เป็นทนายความผู้ร่างเอกสารให้ สรุปใจความสำคัญได้ว่า เมื่อครั้งข้าพเจ้าขอบวชเพื่อเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ความหมายของคาขอบวชนั้น ไม่มีบอกให้กราบพระพุทธรูปเลย แต่มีบอกให้กราบระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานไปนานแล้ว ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าปฏิเสธพระพุทธรูป ในขณะเดียวกันก็เห็นผู้คนเขาค้าขายพระพุทธรูป ก็เป็นเรื่องที่ขัดเคืองในความรู้สึกของข้าพเจ้ามาก จึงได้ค้นดูในพระไตรปิฎก ก็ได้พบเรื่อง บุคคลผู้เอก กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่มีใครเสมอ ไม่มีใครเหมือน ไม่มีรูปปั้น รูปหล่อที่เปรียบเหมือน ไม่มีรูปร่างใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครและอะไรเสมอได้

แต่เมื่อข้าพเจ้าแปลบทสวดมนต์ที่ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร ข้าพเจ้าค้นพบคำสอนว่า แม้ชาวพุทธทั้งหลายจะปฏิบัติผิดไปจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ให้เขาถือของเขาไปเช่นนั้น ส่วนเราเกิดความขัดเคืองในข้อปฏิบัติที่ผิดไปจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ถือของเราไปอย่างนี้ เราต้องเรียนรู้มันเท่านั้น

ข้าพเจ้าก็ค้นคว้าตามตำราพระไตรปิฎกมากขึ้นเรื่อยๆ และค้นคว้าดูที่กายและจิตของตนเองเพื่อจะได้รู้ว่า เราสามารถจะเอาอะไรไปด้วยได้บ้าง ทำให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาคำนวณดูสติปัญญาของผู้ที่ข้าพเจ้าต้องการจะบอกความจริงนี้ ก็ทราบว่ายังไม่สามารถจะบอกพวกเขาให้เข้าใจได้

เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่อาศัยที่หมู่บ้านห้วยยางทอง ก็มีชาวบ้านที่ให้ความสนใจอยากจะรู้ว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็เริ่มสั่งสอนพวกเขา เมื่อทุกคนได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกมากขึ้นๆ ก็เข้าใจได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแล้วแต่ดำเนินไปในทิศทางที่ปฏิเสธรูปธรรมทั้งนั้น พวกเขาพากันขนพระพุทธรูป และเครื่องรางของขลังที่มีอยู่เป็นของส่วนตัว เอาออกมาทิ้งและทำลายมีทั้งทุบ, เผา, ฝัง ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นมีแผ่นดินสูบเอาผู้ใดไปนรกอเวจี และก็ไม่เห็นมีผู้ใดได้รับภัยพิบัติ เมื่อข้าพเจ้าได้นาพาชาวบ้านให้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องเช่นนี้ แต่ละคนก็สามารถเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ และกล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า พระพุทธรูปและเครื่องรางของขลังเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายต่อชีวิตและจิตใจของพวกเราเลย

จนอยู่มาวันหนึ่ง ก็มีผู้หวังดีถ่ายภาพพระพุทธรูปทองเหลือง ที่ตั้งอยู่บนศาลาของวัดสามแยกพร้อมกับติดป้ายที่หน้าฐานพระพุทธรูปไปลงข่าวในหนังสือพิมพ์ให้เป็นเรื่องครึกโครมใหญ่โต ข้าพเจ้าและคณะจึงตกลงกันว่าต้องสอนชาวพุทธเราอีกครั้งด้วยการแสดงกิริยาทางกายประกอบคำพูดให้เห็นกันชัดๆ ข้าพเจ้าจึงได้ทำการเหยียบฐาน และยื่นมือไปตบตีพระพุทธรูปทองเหลืองหล่อ เพื่อให้คนทั้งหลายได้รู้ว่ามันเป็นรูปร่างที่หล่อมาจากทองเหลือง โดยฝีมือของมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้กระทำลงไปต่อพระพุทธรูปทองเหลืองนั้น ข้าพเจ้ากระทำไปด้วยความเทิดทูน และบูชายิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะปรินิพพานนานแล้ว อีกทั้งข้าพเจ้ายังเคารพในพระธรรมคำสอนที่มีปรากฏอยู่ เหมือนกับเคารพในตัวพระองค์ซึ่งเป็นพระศาสดาของข้าพเจ้า และเคารพในพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ตามพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง

ข้าพเจ้าตั้งใจเหยียบพระพุทธรูปทองเหลืองอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และแสดงให้บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เห็น ได้สะทกสะท้าน เพี่อเรียกสติชาวพุทธ

โดยส่วนตัวและส่วนความคิดของข้าพเจ้าเองแล้วปฏิเสธอย่างเด็ดขาด และไม่มีความยินดีใดๆ ในพระพุทธรูปที่เป็นประติมากรรมทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีก็แต่กับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วเท่านั้น นี่ก็เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าและคณะต้องต่อสู้คดีความ โดยไม่ยอมขอขมาต่อพระพุทธรูปทองเหลืองหล่อ ตามที่เจ้าคณะฝ่ายปกครองสงฆ์แนะนาแก่ข้าพเจ้า อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อจะได้เปิดเผยความจริงของพระพุทธศาสนาออกไปอย่างเต็มที่ จะได้เปิดเผยไปถึงไหนก็ให้ไปถึงนั้นแหละ

คำกล่าวยืนยันของข้าพเจ้าที่เป็นไปตามพระไตรปิฎก แต่ว่าไปกีดขวางจิตใจของคนชาวพุทธส่วนมากนั้น ข้าพเจ้าก็ทราบดี แต่ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวยืนยันไปตามนั้น เพราะมีหลักฐานปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่ เมื่อข้าพเจ้ายืนยันตามพระไตรปิฎกแล้ว แม้จะมีคนเขาตำหนิข้าพเจ้าหมดทั้งโลกนี้ก็ตาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกตัวดีว่าข้าพเจ้าไม่ได้ถึงความลำบากใดๆ เลย เพราะข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ มิได้ขาดตกบกพร่องในการประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา ค้นคว้าดูก็ได้พบใน มาตรา ๕๙ ว่า ผู้กระทำผิดตามมาตรา ๒๐๖ จะต้องมีเจตนาเหยียดหยามวัตถุทางศาสนา และรูปหล่ออย่างพระพุทธรูปประติมากรรมทั้งหลายก็ขัดขวางกับคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง เป็นวัตถุนอกพระพุทธศาสนาอย่างเด็ดขาดเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องของข้าพเจ้านี้ คณะสงฆ์คณะไหนๆ ก็ไม่มีมาสอบสวนเลย และไม่ได้เรียกตัวข้าพเจ้าให้ไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใดๆอีกด้วย แต่มีคณะสงฆ์ประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องของข้าพเจ้าที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไม่มีข้าพเจ้าร่วมรับทราบเหตุการณ์ด้วย จนถึงขณะนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ยินไม่ได้เห็นท่านผู้ใดจะสามารถชี้แจงให้ข้าพเจ้ารับทราบและยอมรับตามหลักฐานของพระธรรมวินัยได้ว่า ข้าพเจ้ากระทำต่อพระพุทธรูปหล่อเช่นนี้ เป็นการกระทำความผิดตามศาสนบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

เมื่อข้าพเจ้าทำการพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาด้วยความเหนื่อยยากถึงเพียงนี้ แต่ต้องประสบกับการถูกดำเนินคดีจากฝ่ายบ้านเมืองให้ยุ่งยากกายและใจเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าพระเกษม อาจิณฺณสีโล ขอความเป็นธรรมจากชาวพุทธทั้งหลายให้กับพระพุทธเจ้าด้วย ส่วนคดีความของข้าพเจ้าที่ถูกส่งให้ศาลเพื่อพิจารณาพิพากษานั้น ข้าพเจ้าขอให้คณะผู้พิพากษาตัดสินคดีความของข้าพเจ้าด้วยความถูกต้อง โดยยึดถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักสำคัญ

ส่วนบรรดาผู้ที่ทราบเรื่อง และต้องการให้ข้าพเจ้าลาสิกขาแล้วให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับข้าพเจ้าขังคุกตะราง ข้าพเจ้าก็ต้องถามท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่าเป็นเพราะข้าพเจ้าต้องโทษทางพระวินัยหนักหนาถึงระดับอาบัติปาราชิกข้อไหน? มีพระบัญญัติไว้ในสูตรไหน? ถ้าต้องการให้ข้าพเจ้าลาสิกขาจริง ก็ต้องหาพุทธบัญญัติมาอ้างให้สมเหตุสมผล ถ้าข้าพเจ้ามีความผิดในพระศาสนาถึงกับต้องลาสิกขาจริง ข้าพเจ้าก็จะลาสิกขาจริง แต่ข้าพเจ้ายังไม่เห็นความผิดของข้าพเจ้า ในโทษของความผิดที่จะต้องลาสิกขาเลย

ข้าพเจ้าใคร่ขอความเป็นธรรมให้พระพุทธศาสนาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขอความเป็นธรรมให้พระพุทธเจ้าด้วย แม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้วกี่พัน กี่หมื่นปีก็ตามเถอะ ขอชาวพุทธทั้งหลายได้โปรดรับฟังและพิจารณาเสียงร่าร้องของข้าพเจ้า 

ถึงแม้จะมีการข่มขู่ที่จะฆาตกรรมข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ต้องสู้ชี้แจงและเปิดเผยพระธรรมวินัยที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าออกไปให้ชาวโลกได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงต่อไป แม้จะต้องตายเพราะการกระทำเช่นนี้ข้าพเจ้าก็ยอมรับได้ เพราะพระธรรมวินัยนี้เป็นพินัยกรรมอันสมบูรณ์ที่พระพุทธเจ้ามอบไว้ให้ พระธรรมวินัยนี้จึงต้องถูกเปิดเผยตามความเป็นจริงออกไปเรื่อย

เรื่องราวของศาสนาพุทธนั้น คนไทยไม่รู้เรื่องเอาเลย หรือที่รู้ก็รู้ไปแบบผิดๆ ส่วนที่พอจะรู้เรื่องบ้าง ก็มีจำนวนเล็กน้อย ไม่กล้าที่จะเอ่ยอ้างในสิ่งที่ถูกต้องออกมา เพราะกลัวกระแสสังคมจะโจมตีอย่างหนัก เหมือนกับที่ข้าพเจ้ากำลังประสบอยู่ ณ เวลานี้ บรรดาผู้ที่ปฏิญาณตนต่อพระพุทธศาสนา จึงกระทำผิดต่อพระพุทธศาสนามากมายก่ายกองเต็มทั้งแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ แม้การกระทำเช่นนี้ข้าพเจ้าและคณะ จะประสบความยากลำบาก และเหน็ดเหนื่อยในการอธิบายชี้แจงต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ตาม แต่ก็เห็นควรว่าต้องทำการสอนพุทธศาสนาเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนถึงวันตาย

 

 

18 พฤศจิกายน 2552

พระเกษมยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี ความยาว 45 หน้า โดยมีนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ เป็นทนายความผู้ร่างเอกสารให้ สรุปใจความสำคัญได้ว่า ข้อ 1. พยานโจทก์ปาก นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ไม่มีอำนาจในการมาตรวจสอบพระสงฆ์ที่กระทำการอันไม่สมควร เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะสงฆ์ด้วยกัน พยานไม่มีอำนาจหน้าที่ เนื่องจากพยานไม่ได้ศึกษาในเรื่องของพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า หรือเป็นเจดีย์ได้หรือไม่ พยานปากดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักหรือสามารถยืนยันได้ว่า การกระทำของจำเลยต่อพระพุทธรูปนี้จะเป็นความผิด

ขณะที่พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือ นายสว่าง พุทธิวงศ์ กำนันตำบลวังกวาง อำเภอน้าหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ยืนยันว่า การกระทำต่อพระพุทธรูปของจำเลยนี้ ไม่ได้เป็นการเหยียดหยามศาสนา อันจะเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง เพราะได้เบิกความว่า จำเลยได้สั่งสอนให้ญาติโยมทำความดี ไม่ให้ยึดติดกับวัตถุ แม้กระทั่งพระพุทธรูปก็ถือว่าเป็นวัตถุเช่นกันไม่ต้องกราบไหว้ การที่จำเลยนำป้ายมาติดที่พระพุทธรูปนั้น เพื่อไม่ต้องการให้คนมากราบไหว้และจะได้ถูกต้องตรงกับธรรมวินัยที่จำเลยได้สั่งสอนแก่ญาติโยม พยานยืนยันว่าการที่จำเลยกระทำไปนั้น เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จำเลยจึงไม่มีเจตนาที่จะเหยียดหยามพระพุทธศาสนาดังที่โจทก์ฟ้อง

ส่วนพยานโจทก์ปาก พระวิสุทธินายก (ถนอม ศรีภักดิ์) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุต) เบิกความว่า พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สามารถทราบได้ว่า ใครเป็นคนบัญญัติ พยานโจทก์จึงไม่มีหลักฐานในพระสูตรหรือในข้อธรรมวินัยใดๆ ที่จะให้การรับรองหรือยืนยันได้ และยังเบิกความตอบคำถามค้านจำเลย ยอมรับอีกว่า ในพระไตรปิฎกที่พยานศึกษามาไม่เคยพบว่ามีข้อความใด ที่บัญญัติว่า ให้สร้างพระพุทธรูปไว้แทนองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าได้ เนื่องจากพระพุทธรูปเกิดขึ้นภายหลัง และสร้างขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินพิพานแล้ว ประมาณ ๕๐๐ ปี

เมื่อจำเลยถาม พระวิสุทธินายก ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการที่ไม่นับถือพระพุทธรูป พยานไม่ขอตอบว่า การกระทำที่ไม่นับถือพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองเหลือง ทองแดง หรือปูน ทั้งหลายนั้น จะเป็นการผิดวินัยหรือไม่

สำหรับพยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือ พระครูวิชัยพัชรกิจ มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลหลักด่าน(ธรรมยุต) ผู้นำหนังสือจากเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ มาส่งให้กับจำเลยจำนวน ๒ ฉบับ เลี่ยงจะตอบคำถาม เช่น เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ขออธิบายว่าไม่เหมาะสมอย่างไร พยานไม่แน่ใจว่าการที่คณะสงฆ์ให้พระภิกษุออกจากพื้นที่นั้น ทางพระธรรมวินัยจะเรียกว่า เป็นการทำนิคหกรรมหรือไม่ ทั้งที่จำเลยได้ถามถึงความเป็นจริง อันมีบัญญัติไว้อยู่แล้ว ในหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก

พยานโจทก์ปากสุดท้ายคือพันตารวจโทพิทักษ์ คาผง พนักงานสอบสวน ก็ดำเนินการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่เนื่องจากถูกบีบ ซึ่งได้เบิกความไว้ว่า พยานไม่ได้ออกหมายเรียกให้มาพบก่อน โดยให้ศาลออกหมายจับ แต่พยานไม่ขอตอบเหตุผลเพราะเหตุใดจึงไม่ออกหมายเรียก และพยานปากนี้ยังเบิกความว่า พระพุทธรูปไม่ใช่ตัวแทนของพระพุทธเจ้า

ข้อ 2. การปกครองของคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุต) ไม่ได้ดำเนินการปกครอง คณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ

การทำตัชชะนียกรรม (การข่มขู่) และปัพพาชนียกรรม (การขับไล่) ที่คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ (ฝ่ายธรรมยุติ) กระทำนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักของพระธรรมวินัย เนื่องจากไม่ได้ทำการสอบสวนระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจาเลยอย่างพร้อมเพรียงและพร้อมหน้า พร้อมกับยกหลักของธรรมวินัยออกมาตัดสินกันอย่างชัดเจน ก่อนจะกล่าวโทษและลงโทษตามที่สมควรต่อไป เพราะฉะนั้นการกระทำกรรมที่คณะสงฆ์เพชรบูรณ์กระทำต่อจำเลยและพระภิกษุที่อยู่ ณ ที่พักสงฆ์ป่าสามแยกเช่นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการกระทำกรรมเช่นนี้เป็นโมฆะ และคณะสงฆ์ที่ทากรรมเป็นโมฆะเช่นนี้ก็มีโทษทางพระวินัย

เมื่อนิคหกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ มติที่ประชุมสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุติ) ที่มีมติมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมาย รวมทั้งไม่ชอบด้วยกฎของมหาเถรสมาคม ผู้อานวยการพระพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ

มาตรา ๒๐๖ เป็นความผิดเกี่ยวกับพระศาสนา การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยจะมีความผิดอันเป็นการเหยียดหยามพระศาสนานั้น ก็จะต้องดูพระพระธรรมวินัยควบคู่กันไปด้วย กฎหมายจะต้องตีความไปในทางเอื้อเฟื้อเพื่อรักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเอาไว้ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการหักหรือทำลายพระธรรมวินัย หรือไม่เช่นนั้น พระพุทธรูปก็จะปิดบังพระธรรมของพระพุทธเจ้า

ข้อ 3. สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็คือ ผ้ากาสาวพัสตร์และความเป็นพระภิกษุสามเณรและต้องเป็นพระภิกษุสามเณรที่ได้บวชในประเพณีการบวชที่มีติดต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย อีกทั้งพระภิกษุและสามเณรนั้นต้องกล่าวเปิดเผยพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากพระภิกษุสามเณรไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้ทั่วถึง ก็เป็นไปได้แค่สัญลักษณ์จอมปลอม

เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุกาลหลายร้อยปี บรรดามหาชนที่ศรัทธาพระพุทธเจ้าเริ่มจะไขว้เขว จึงริเริ่มทำการปั้นรูปขึ้นมา แล้วก็สมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า และให้เป็น สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาด้วย วัฒนธรรมการปั้นรูปก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ และเข้าใจต่อไปอีกว่าสามารถขอพรให้ประสบความสำเร็จในกิจการต่างๆ ได้

ส่วนพระพุทธรูปทองเหลือง ที่จำเลยตั้งใจเหยียบและตบหน้านั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธชินราชจำลอง แม้แต่ชาวพิษณุโลกที่เดินทางมาแบกหาม และนำขึ้นรถจากวัดสามแยกกลับไปจังหวัดพิษณุโลก เมื่อเดินทางไปถึงแล้ว ทั้งเจ้าอาวาสและคณะญาติโยมที่วัดพระศรีฯ กลับไม่ยอมรับ และผลักดันให้ไปตั้งไว้ที่อื่นแทน เพราะพระพุทธรูปทองเหลืองนี้ไม่ได้สร้างและออกโดยคณะวัดพระศรีฯ

พระพุทธรูปหล่อ ปั้น แกะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์ไหนๆ ก็ตามก็ไม่สามารถจะเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แน่นอน เพราะถ้าหากเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าได้จริง บรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย ก็คงจะไม่กล้าทำการละเมิดพระธรรมวินัยต่อหน้าองค์แทนพระพุทธเจ้า โดยไม่มีความละอายอย่างเช่นที่ทำกันอยู่ เพราะปัจจุบันนี้พระภิกษุสามเณรกราบไหว้ สักการะ บูชา นอบน้อมต่อพระพุทธรูปปั้น หล่อ แกะ แต่ในขณะเดียวกันก็รับเงิน ทองและสิ่งของที่ผิดวินัยอื่นๆ อีก

จำเลยจึงอยากให้ท่านทั้งหลายได้ขบคิดกันขึ้นมาว่า เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึง ณ ขณะนี้แล้วท่านทั้งหลายที่ได้ปฏิญาณตนไว้นั้นจะยอมรับไหมว่า พระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้แนะนำสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายศึกษา แหล่งรวบรวมพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ คือ พระไตรปิฎก แต่เมื่อจำเลยและคณะได้เปิดเผยพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องตามพระไตรปิฎกออกไปสู่สาธารณชน ก็ถูกกล่าวหาอย่างหนักว่าจำเลยและคณะกระทำการขัดขวางผลประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ของกลุ่มชนชาวพุทธ ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วจำเลยได้เปิดแผนที่เพื่อนำทางมหาชนให้ไปพบกับขุมมหาสมบัติทั้งที่เป็นของส่วนตัวและเป็นของส่วนรวมต่างหาก

จำเลยมีความเข้าใจชัดอย่างนี้และไม่มีสิ่งใดในโลกธาตุทั้งหลายจะมาทำให้จำเลยเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้อีก แม้จำเลยจะถูกบังคับ กดขี่ ข่มเหงด้วยประการใดๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้จำเลยเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้

ข้อ 4. การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ความเชื่อ ในทางศาสนา ที่จำเลยได้แสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ ในการนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อปกป้องพระธรรมวินัยให้คงอยู่อย่างยืนยาวและมั่นคง การกระทำของจำเลยนี้กระทำได้อย่างสอดคล้องถูกต้องตรงกับบท บัญญัติในพุทธธรรมนูญ จำเลยจึงย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ประกอบกับมาตรา ๓๗ และมาตรา ๗๐

พระพุทธรูปไม่ใช่วัตถุที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา ตามที่จำเลยได้ต่อสู้ไว้แล้วในคำให้การของจำเลย และในชั้นพิจารณาคดีของศาล ขอศาลผู้ทรงสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาและพิพากษาให้เป็นคุณต่อจำเลย เพื่อเป็นการพลิกฟื้นพระพุทธศาสนา ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองและขาวสะอาดบริสุทธิ์หมดจดพ้นจากมลทินอีกครั้งหนึ่งในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ด้วยเถิด

 

 

19 กุมภาพันธ์ 2553

ศาลจังหวัดหล่มสักอ่านคำพิพากษา ซึ่งเขียนโดยผู้พิพากษาสมิต ยอดพรหม และผู้พิพากษาจารุนันท์ อุยานันท์ สรุปใจความสำคัญได้ว่า จำเลยยอมรับว่าได้กระทำการต่างๆ ตามคำฟ้องโจทก์จริง แต่มิได้มีเจตนาลบหลู่หรือเหยียดหยามพระพุทธศาสนา จำเลยมีเจตนาทำเพื่อจะเผยแพร่ศาสนาที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยไม่ต้องการให้พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อที่ผิด ปัญหาจึงมีต้องวิเคราะห์เพียงว่า

หนึ่ง โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้ แม้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ที่รับมอบหมายมาจากคณะสงฆ์ด้วยมติที่ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจร้องทุกข์ แต่สำหรับความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 นั้น เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินไม่ใช่ควาามผิดต่อส่วนตัว เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องสอบสวนดำเนินคดี ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจห้อง

สอง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาพุทธอันเป็นการเหยียดหยามศาสนาพุทธหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยนำสืบได้ว่า ในประไตรปิฎกฉบับภาษาไทยทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีฉบับใดบัญญัติว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า แต่พระไตรปิฎกที่จำเลยกล่าวอ้างมากล่าวถึงสถานที่อันควรบูชาเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจาริกยังสถานที่อื่นอยู่ด้วย และจำเลยเองก็ยังเคยกราบผ่านพระพุทธรูปผ่านไปยังพระพุทธเจ้าเมื่อคราวกล่าวคำอุปสมบท บรรดาพุทธศาสนิกชนย่อมเข้าใจดีอยู่แล้วว่าพระพุทธรูปที่หล่อจากทองเหลืองนั้นย่อมไม่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ว แต่พุทธศาสนิกชนกราบไหว้พระพุทธรูปเป็นการแสดงความเคารพสักการะ เพื่อระลึกถึงคุณความดีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั่วประเทศหรือทั่วโลกต่างก็เคารพกราบไว้กัน ดังนั้นพระพุทธรูปจึงถือเป็นวัตถุอันเป็นที่เคารพในทางพุทธศาสนา

สาม การกระทำของจำเลยเป็นการเหยียดหยามศาสนาโดยเจตนาหรือไม่ เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่เอาป้ายไปติดที่ฐานพระพุทธรูป และการเรียกนักข่าวมาชี้แจงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจให้การกระทำนั้นเผยแพร่ไปยังบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกตามคำสอนของจำเลย จำเลยศึกษาพระไตรปิฎกแล้วพบว่าไม่มีคำสอนให้กราบไหว้พระพุทธรูป คงมีแต่คำสอนไม่ให้ยึดติดกับวัตถุ ขณะที่ด้านข้างของพระพุทธรูปมีพระธาตุตั้งอยู่พร้อมป้ายเขียนข้อความติดว่าส่วนนี้คือพระธาตุของผู้ประเสริฐ กราบไว้ได้ แต่ต้องระลึกถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ แสดงให้เห็นว่าการเขียนป้ายข้อความติดไว้ที่ฐานพระพุทธรูปนั้นจำเลยมีเจตนาที่จะสั่งสอนผู้ที่มาวัดให้เปรียบเทียบของสองสิ่งที่กราบไหว้ได้แลไม่ให้กราบไวหว้ อันเป็นวิธีการสอนธรรมะอย่างหนึ่งของจำเลย จำเลยจึงไม่มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา

ส่วนการใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธรูปและใช้มือตบพระพักตร์นั้น ที่จำเลยอ้างว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่จึงต้องใช้เท้าเหยียบค้ำไว้ไม่ให้ล้มนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะมีภาพถ่ายปรากฏว่าจำเลยสามารถขึ้นไปยืนบนไม้กระดานและใช้มือตบพระพักตร์ได้โดยไม่ต้องใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธรูปแต่อย่างใด แต่การจะพิจารณาถึงเจตนาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจต้องพิจารณาการกระทำของจำเลยประกอบ ทั้งก่อนและหลังขณะกระทำ ซึ่งพบว่าเจตนาของจำเลยที่เชิญนักข่าวมานั้นเพื่อจะให้อ่านพระไตรปิฎกและอธิบายถึงเหตุผลของการติดป้ายข้อความ ไม่ได้มีเจตนาเชิญนักข่าวมาบันทึกภาพการเหยียบฐานพระพุทธรูปและตบพระพักตร์ แต่เนื่องจากมีนักข่าวขอให้จำเลยพาขึ้นไปบนศาลา จำเลยจึงพาขึ้นไปและมีการอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ว่าพระธาตุนี้ให้กราบไหว้ได้ แต่พระพุทธรูปนี้ไม่ใช่พระศาสดา โดยเจตนาที่พยายามอธิบายและสอนธรรมะแก่นักข่าว จำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ากำลังกระทำแก่ทองเหลืองที่เป็นวัตถุ มิใช่กระทำแก่สิ่งอันเป็นที่เคารพในทางพุทธศาสนา เจตนาโดยแท้จริงของจำเลยต้องการแสดงไม่ให้ชาวพุทธยึดติดกับวัตถุ

เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำก่วัตถุอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาอันเป็นการเหยียดหยามศาสนา พิพากษายกฟ้อง

 

13 มีนาคม 2555

ศาลจังหวัดหล่มสักนัดอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษา ในคดีดำหมายเลข 839/2553 หรือคดีแดงหมายเลข 3943/2554 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2554

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงชื่อผู้พิพากษาธรรมนูญ สิงห์สาย ผู้พิพากษาเบญจมาศ ปัญญาดิลก และผู้พิพากษาจรูญ โชครุ่งวรานนท์ มีใจความสรุปได้ว่า การที่จำเลยต่อสู้ว่าในพระไตรปิฎกที่เผยแพร่ในประเทศไทยทั้ง 5 ฉบับไม่มีฉบับใดบัญญัติว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความเข้าใจและความเชื่อส่วนตัวของจำเลยเองจากการที่ศึกษาพระธรรมวินัยและพระไตรปิฎก ซึ่งยังมีความเห็นที่แตกต่างอยู่ ความเชื่อของจำเลยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะหยิบยกขึ้นอ้างโดยลำพังเพื่อปฏิเสธความเชื่อของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ที่มีมาช้านานแล้ว

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยมีความผิดตามห้อง จำเลยบวชเป็นพระมานานแล้วย่อมรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร การอธิบายว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดติดในวัตถุควรมีวิธีสอนหรือยกตัวอย่างให้เห็นโดยไม่จำต้องกระทำดังที่จำเลยกระทำมา จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าพระพุทธรูปเป็นที่เคารพในทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยอันเป็นการเหยียดหยามต่อพุทธศานา

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไป กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทงจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดแล้วเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำลยมีกำหนด 2 ปี

ในวันเดียวกันพระเกษมให้สัมภาษณ์ตอบคำถามนักข่าวว่า ยืนยันว่าจะสู้ต่อไปจนถึงชั้น ฎีกา เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเกี่ยวเนื่องกับการไม่ให้ยึดติดกับรูปเคารพ

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา