สนธิ ลิ้มทองกุล

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

สนธิ ลิ้มทองกุล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

นายสนธิปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยนำเอาคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่เคยพูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาพูดซ้ำ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด ให้ยกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดเหลือ 2 ปี และศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ให้ยกฟ้องเพราะจำเลยขาดเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพียงเรียกร้องให้มีการดำเนินคดี มีเจตนาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

(ข้อมูลจากศาลอาญา) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 นายสนธิขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเทอร์เนต โดยผ่านทางเว็บไซด์ของเอเอสทีวีให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับชมและรับฟังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีข้อความซึ่งจำเลยนำเอาคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาพูดซ้ำ

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

(หมายเหตุ:- ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ในโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ไม่เข้าสังเกตการณ์คดีในทุกนัดของการสืบพยานคดีนี้)

วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ณ ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 908
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 สนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

เวลา 9.00 น. จำเลยและทนายจำเลยมาศาล (พร้อมเสมียนผู้ช่วยผู้หญิง 1คน)
อัยการสามท่านมาศาล

ศาลนั่งบัลลังก์ผู้หญิงสองท่าน ท่านหนึ่งได้แก่ สุจิตรา โพทะยะ (ท่านเดียวกับคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข)

จำเลยขึ้นเบิกความ

สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 64 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากสหรัฐอเมริกา สาขาประวัติศาสตร์

ทนายความให้พยานดู คำปราศรัยของจำเลย (เอกสารหมาย จ.1) สนธิยอมรับว่าได้พูดถ้อยคำตามเอกสารจริง สนธิกล่าวว่า แต่มีความแตกต่างจากคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (เอกสารหมายจ.2) ที่พูดโดยมีเจตนาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ สนธิกล่าวว่า ตนนำถ้อยคำของนางสาวดารณีมากล่าวสรุป 2-3 ประโยค ไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายสถาบัน และคำพูดของจำเลยเป็นการกล่าวเพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเจตนาพูดให้กระทบกระเทือน ถือเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี

สนธิเบิกความว่านางสาวดารณีพูดปราศรัยโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์หลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นต้นมา และเป็นการพูดโดยมีการถ่ายทอดออกอากาศเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการ หรือแม้กระทั่งขึ้นไปห้ามปรามบนเวที

สนธิกล่าวต่อว่าจำไม่ได้ว่าใครนำซีดีปราศรัยของนางสาวดารณีมาให้ตน ตนดูจบแล้วรู้สึกโกรธมาก แม้จะไม่ได้อยู่ตอนที่นางสาวดารณีพูด ตนจึงนำไปพูดบนเวทีพันธมิตรฯ เพื่อกดดันและเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดี พร้อมกับนำซีดีไปแสดงบนเวที โดยกล่าวถ้อยคำของนางสาวดารณีประมาณ 5 บรรทัด จากนั้นในวันรุ่งขึ้นหลังปราศรัย กองทัพบกจึงส่งนายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความร้องทุกข์นางสาวดารณี แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยืนยันว่ามีเอกสารคำปราศรัยของนางสาวดารณีแล้ว แต่ตนเห็นว่าไม่จริง เพราะไม่ได้มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

สนธิเบิกความว่าหลังพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศไป รัฐบาลที่มีมาถึงปัจจุบันเป็นรัฐบาลตัวแทน และคดีหมิ่นฯ ของฝ่ายเสื้อแดงที่เกิดขึ้น เช่น คดีของนายจักรภพ เพ็ญแข หรือคดีของนายใจ อึ๊งภากรณ์ ก็ไม่ถูกส่งฟ้องทั้งสิ้น ทั้งที่มีความต่างจากคดีของตน และบุคคลเหล่านั้นพูดพาดพิงเกินขอบเขต แม้แต่คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวว่าถ้านายกฯ ไม่จงรักภักดี ผีที่ไหนจะจงรักภักดี หรือที่พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่าถ้าจะให้ออกนี่ไม่ยาก ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกระซิบข้างหู ก็จะกราบบังคมทูลลาออก ก็ล้วนถูกสั่งไม่ฟ้องด้วย

สนธิเบิกความว่าบนเวทีพันธมิตรฯ การอภิปรายเป็นไปในแนวทางของการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และปกป้องหลักนิติรัฐตลอดเวลา รวมทั้งให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม โดยพันธมิตรฯ มองว่าแม้กระบวนการยุติธรรมไทยจะมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็เป็นกระบวนการที่บริสุทธิ์ เมื่อแกนนำพันธมิตรฯ มีคดีก็จะมอบตัว ตามหมายเรียก และไม่เคยหลบหนี จึงไม่เป็นความจริงที่กลุ่มเสื้อแดงกล่าวอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน และดำเนินคดีแต่กับฝ่ายเสื้อแดง เพราะแม้ศาลจะพิพากษาไม่เป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรฯ เราก็น้อมรับ และสู้ในการอุทธรณ์และฎีกาต่อไป ตนมองว่าอะไรที่พิพากษาแล้วทำให้ฝ่ายนั้นเดือนร้อน ก็จะผิดทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ว่าเขาทำอะไรก็ถูกเสมอ

ทนายจำเลยถามว่าเท่าที่จำเลยทราบล่าสุดในคดีของนางสาวดารณีเป็นอย่างไร สนธิตอบว่านางสาวดารณีทำความผิดไปหลายกรรม โดยในปี 2551 มีในเดือนมกราคม 2 กรรม เดือนมิถุนายน 2 กรรม และเดือนกรกฎาคม 2 กรรม แต่ในเดือนกรกฎาคมยังไม่มีการสั่งฟ้องเลย ไม่มีในสารระบบของศาล (ทนายให้ดูเอกสารคดีของนางสาวดารณีจากเว็บไซต์ของศาลอาญา) สนธิเบิกความว่าคดีในวันที่ 18 และ 19 กรกฎาคม ได้ให้ทนายไปแจ้งความ และส่งมอบซีดีให้กับให้พนักงานสืบสวน บัดนี้ได้มอบหมายให้ทนายไปตรวจสำนวน ก็ยังไม่มีการฟ้อง

ทนายความถามว่า พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโนเบิกความว่าได้ถอดเทปคำปราศรัยของนางสาวดารณีไว้หมดและดำเนินคดีแล้ว ความจริงเป็นอย่างไร สนธิเบิกความว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น และยังมีกระบวนการกลั่นแกล้งเอาผิดตนอย่างไม่เป็นธรรม  โดยฝ่ายโจทก์และอัยการพยายามจะบอกว่านางสาวดารณีไม่ได้เอ่ยชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ตนผิดที่เอ่ยชื่อทั้งสองพระองค์ เพราะฉะนั้นถ้าฟ้องนางสาวดารณีไป แล้วศาลพิพากษาว่าผิดจริงแม้ไม่ได้เอ่ยชื่อก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อคดีของตนและการที่กองทัพบกก็แจ้งความนางสาวดารณีด้วย ก็แสดงว่าเข้าใจเช่นเดียวกับที่ตนเข้าใจ ว่านางสาวดารณีหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี อีกประการหนึ่ง อัยการส่งฟ้องคดีของนางสาวดารณีวันที่ 23 ต.ค. 2551 แต่ตามที่พล.ต.ต.อำนวยได้ดำเนินการหลังวันที่ 21 ก.ค. 2551 เป็นเวลา 3 เดือน อัยการจึงสามารถนำกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในเดือนมกราคม, มิถุนายน, กรกฎาคม ฟ้องร่วมกันหมดได้ แต่ไม่ได้ทำ

ทนายความให้ดูภาพถ่าย และถามถึงพฤติกรรมที่พยานได้กระทำเพื่อปกป้องสถาบันฯ ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนธิเบิกความว่าภาพแรก เป็นภาพคัตเอาท์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 ส.ค. เป็นพวกของตนจัดทำขึ้น เพื่อเทิดทูนพระเกียรติของพระองค์ ภาพที่สอง ตนได้อ่านบทอาเศียรวาท นำพระราชกรณียกิจของพระราชินีมากล่าวบนเวที และสวมเสื้อและผ้าพันคอสีฟ้า

ทนายความถามว่าผ้าพันคอนำมาจากไหน สนธิตอบว่าเป็นผ้าพระราชทาน ซึ่งนางสนองพระโอษฐ์ได้นำมามอบให้ สนธิเบิกความต่อว่าภาพที่ 3 เป็นภาพที่ตนให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ภาพที่ 4 เป็นการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ภาพที่ 5 เป็นภาพตนไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และภาพสุดท้ายเป็นภาพแกนนำพันธมิตรฯ ไปลงนามถวายพระพร

ทนายความถามว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่มีเหตุการณ์น้องโบว์ถูกระเบิดเสียชีวิต ในงานนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงทำอะไร สนธิตอบว่าทรงมีพระเมตตาเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ และทรงชมว่าน้องโบว์เป็นคนที่รักชาติ รักบ้านเมือง รักสถาบันพระมหากษัตริย์ ทนายจำเลยให้ดูภาพข่าวเหตุการณ์นี้จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และพยานยืนยันเหตุการณ์ตามภาพข่าว

ช่วงนี้เครื่องอัดเทปเสียงของศาลมีปัญหา ทำให้ต้องรอการเปลี่ยนเครื่อง

ทนายความถามต่อว่าน้องโบว์มีความใกล้ชิดกับพระราชวัง หรืออะไรไหม สนธิตอบว่าไม่มี เป็นประชาชนธรรมดา แต่น้องโบว์เป็นคนรักชาติบ้านเมือง มาชุมนุมกับพันธมิตรฯ และเสียชีวิตที่แยกมิสกวัน ทนายความถามว่าในภาพข่าวพระราชินีทรงรับสั่งกับใคร สนธิเบิกความว่าบิดาของน้องโบว์ นายจินดา ประดับปัญญาวุฒิ ทรงขอบคุณที่น้องโบว์รักบ้านเมือง ช่วยเหลือชาติ

อัยการแย้งว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดี ศาลอนุญาตให้สืบต่อเพราะเป็นการโยงเรื่องการรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ทนายความให้ดูภาพเหตุการณ์อีกภาพหนึ่ง สนธิเบิกความว่าเป็นภาพบิดามารดาของน้องโบว์ไปเยี่ยมตนที่โรงพยาบาลจุฬา หลังโดนยิงจากฝ่ายการเมืองที่ไม่ต้องการให้ตนมีชีวิตอยู่ ทนายความถามว่าในวันที่เสด็จงานศพ ตัวพยานได้เข้าเฝ้าหรือไม่ สนธิเบิกความว่าตอนเสด็จกลับ ได้หยุดและมีพระราชปฏิสันถารด้วย ศาลบอกว่าประเด็นนี้จะไม่บันทึก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับคดี (ตอนอ่านทวนคำเบิกความพยานในประเด็นเกี่ยวกับน้องโบว์ ศาลบันทึกเพียงว่าพระราชินีทรงเสด็จงานศพของน้องโบว์ ผู้เสียชีวิตจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ)

ทนายความให้พยานดูหนังสือเรื่อง “ปรากฏการณ์สนธิจากเสื้อเหลืองสู่ผ้าพันคอสีฟ้า” เขียนโดยคำนูญ สิทธิสมานแล้ว สนธิเบิกความว่าเป็นเรื่องการต่อสู้ของมวลชนและการต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทนายความให้ดูหนังสือ “เมืองไทยรายสัปดาห์” และถามว่าหนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องอะไรบ้าง สนธิตอบว่ารวบรวมเนื้อหาที่ตนพูดในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อปี 2548 และมีเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนออกมาปกป้องพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน โดยมีคำกล่าวตามหน้า ที่คั่นไว้

ทนายความถามว่าในเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 ที่ตำรวจทำร้ายประชาชน มีประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง สนธิตอบว่ามีคนตายเกือบ 10 คน พิการ 16 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน โดยคนไข้เหล่านี้อยู่ในพระบรมราชนุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนได้รับกระเช้าพระราชทาน

ทนายความถามว่าพยานเคยพูดเรื่องพระราชอำนาจตามเอกสาร 3 ฉบับ เป็นการพูดที่ไหนบ้าง สนธิเบิกความว่า หนึ่งคือพูดที่ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการรักษาพระราชอำนาจไว้ สองคือพูดถึงที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าหนังสือพระราชอำนาจ ท่านทรงชอบ และสาม ตนได้พูดถึงพ่อของแผ่นดิน ทำให้ถูกปลดจากรายการของช่อง 9

ทนายความให้พยานดูหนังสือ “ขบวนการล้มเจ้า” และถามว่าหนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องอะไร สนธิเบิกความว่ารวบรวมพฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวก ที่เป็นการจาบจ้วง ทนายความถามถึงปกนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีรูปแจ็ค แหม่ม และเว้นไว้ พยานเข้าใจว่าอย่างไร สนธิเบิกความว่าเป็นคิง นิตยสารเสียงทักษิณนี้จัดทำ โดยพรรคพวกของพ.ต.ท.ทักษิณ

ศาลทักขึ้นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับคดีนี้ ทนายสรุปว่าในขณะที่กลุ่มของพยานปกป้องสถาบันฯ กลุ่มเสื้อแดงและทักษิณเป็นอย่างไร สนธิเบิกความว่าทำลายล้างสถาบันฯ ทนายความให้ดูเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดีของนายจักรภพ เพ็ญแข และคดีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และถามว่าบนเวทีนปช. นายวีระพูดถึงสถาบันฯอย่างไร สนธิเบิกความว่าเข้าข่ายดูหมิ่นเบื้องสูง และไม่ถูกฟ้อง

ทนายความถามว่าพยานเคยถูกอัยการฟ้องวันที่ 27 พ.ย. 2549 จากมาตรา 112 ต่อมาอัยการถอนฟ้องเพราะอะไร สนธิตอบว่า เพราะมีพระราชดำรัสของในหลวงเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ทรงบอกว่าท่านไม่อยากให้มีการดำเนินคดี จึงมีการถอนฟ้องซึ่งกันและกัน ทั้งคดีที่ตนฟ้องทักษิณ หรือทักษิณฟ้องตนก็ตาม รวมทั้งคดีอาญาหมายเลข อ.3845/2549 ของตนด้วย

ทนายความถามว่าพยานโจทก์ที่มาเบิกความสามปาก ได้แก่นายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ พ.ต.ท.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน บอกว่าไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ความจริงแล้วเป็นอย่างไร สนธิเบิกความว่า นายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติเป็นนักการเมืองและเป็นทนายความด้วย เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคพลังประชาชน และต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เป็นคนสนิทของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งตนกับนายเนวินอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี จึงไม่เป็นความจริงที่ว่าไม่มีเหตุโกรธเคือง

ส่วนพยานโจทก์ปากพ.ต.ท.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ เคยเป็นคนทำสำนวนฟ้องคดีข้อหาว่าตนเป็นกบฏ ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ตนจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อปปช. จึงมีสาเหตุโกรธเคืองกัน และพยานโจทก์ปากพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน นั้นเป็นไม้เบื่อไม่เมากับกลุ่มพันธมิตรฯ เคยตั้งข้อหาแกนนำ 9 คนว่าเป็นกบฏ แต่ศาลยกคำร้อง พยานจึงไปร้องปปช.ให้ดำเนินคดีเช่นกัน

ทนายความถามว่าในเรื่องความจงรักภักดี การกระทำของพันธมิตรฯ เป็นที่รับทราบกันอย่างไร สนธิเบิกความว่าโดยทั่วไปในสังคมถึงกับมีคำกล่าวว่าเสื้อเหลืองเป็นผู้ที่ปกป้องสถาบันฯ เสื้อแดงเป็นผู้ล้มล้างสถาบันฯ (ศาลบันทึกเพียงว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงมีแนวคิดต่างกัน) สนธิเปรยต่อว่าคดีนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง ไม่อยากจะคิดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แต่สิ่งแวดล้อมชี้ไปอย่างนั้น

ทนายความถามว่าการกลั่นแกล้งกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มตั้งแต่สมัยใด สนธิเบิกความว่าตั้งแต่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดมาจนถึงรัฐบาลตัวแทน สมัคร สมชาย และยิ่งลักษณ์ ทนายความถามว่าเคยมีตำรวจสั่งไม่ฟ้องไหมคดีพันธมิตรฯ สนธิตอบว่าไม่มี อีกทั้งอัยการสูงสุดก็เป็นคนสนิทกับพ.ต.ท.ทักษิณ มีการสั่งอัยการได้และสั่งตำรวจได้ อัยการคัดค้านว่าประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดี

ทนายความถามว่าสรุปว่าพันธมิตรฯ ทำการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยอะไร สนธิเบิกความว่าด้วยจิตวิญญาณ ด้วยความศรัทธา ด้วยความเชื่อมั่น ถ้าต้องสละชีวิตก็จะทำ ทนายความถามว่าดังนั้นการที่ถูกฟ้องว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเป็นไปได้หรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ได้

ตอบคำถามอัยการถามค้าน อัยการที่เป็นคนถามไม่ใช่อัยการคนที่อาวุโสสูงสุด

อัยการถามว่าจำเลยเคยไปให้การต่อพนักงานสืบสวนหรือไม่ สนธิเบิกความว่าไปให้การปฏิเสธ (ให้ดูเอกสารคำให้การชั้นสืบสวน) อัยการถามว่าจากคำให้การ พยานให้การว่าไม่มีสาเหตุใดๆ โกรธเคืองกับโจทก์ในคดีนี้ สนธิตอบว่าใช่ในขณะนั้น อัยการถามว่าพยานให้รายละเอียดว่าการปราศรัยทำต่อหน้าคนจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดทาง ASTV ด้วยมีผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่

อัยการให้ดูคำปราศรัยของนางสาวดารณี (เอกสารหมายจ.2) แล้วถามว่าพยานพูดปราศรัยโดยนำข้อความของเหล่านี้ไปสรุปใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าเอาข้อความบางส่วน ไม่ได้เลียนแบบทั้งหมด อัยการถามว่าตามเอกสารหมายจ.2 ไม่มีข้อความเหมือนกับที่พยานพูดแต่อย่างใดใช่หรือไม่ สนธิเบิกความว่าตนสรุปว่านางสาวดารณีหมายถึงเช่นนี้ อัยการพยายามถามว่าลักษณะข้อความแตกต่างไปจากที่พยานพูดใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าถ้าตามตัวอักษรก็ใช่

อัยการถามว่าเหตุการณ์วันที่ 18 ก.ค. 2551 ตำรวจดำเนินคดีนางสาวดารณีไปแล้วทราบหรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ทราบ อัยการถามว่าที่พยานปราศรัยและโชว์แผ่นซีดี ในฐานะที่ทำงานสื่อสารมวลชนมายาวนาน พยานสามารถนำซีดีไปให้พนักงานสอบสวนได้ทันทีเลยใช่หรือไม่ สนธิเบิกความว่าที่ไม่นำไปเพราะคดีตั้งแต่เดือนมกราคม, มิถุนายน ตำรวจยังไม่ทำอะไรเลย อัยการถามว่ากรณีวันที่ 18 ก.ค. สามารถมอบให้ตำรวจทันทีเลยได้ไหม สนธิตอบว่าไม่ ตนรู้อยู่แล้วว่าตำรวจไม่ทำอะไร ต้องมีการกดดัน

อัยการถามว่าช่อง ASTV คือช่องที่พยานใช้พูดปลุกระดมมวลชนใช่หรือไม่ สนธิแย้งว่าใช้พูดให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร และมีหลายช่อง ไม่ใช่มีแต่ ASTV อัยการถามว่าในคดีของนางสาวดารณี ที่พยานบอกว่าไม่มีการฟ้องร้อง จะเป็นเหตุการณ์ที่อัยการฟ้องคดีรวมกันหรือไม่ พยานทราบหรือไม่ สนธิตอบว่า ไม่ทราบ

อัยการกล่าวว่าพยานเบิกความว่ามีเจตนาปกป้องสถาบัน แต่ก่อนหน้านี้พยานถูกดำเนินคดีเช่นนี้ และศาลมีคำพิพากษาว่าตัวพยานพยายามสร้างภาพใช่หรือไม่ ทนายจำเลยพยายามค้านเรื่องวิธีการถาม ศาลบอกให้รอถามติง อัยการถามต่อว่าจากคดีหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550 ศาลวินิจฉัยว่าพยานในฐานะจำเลยที่ 5 มีการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ใช่ ส่วนนี้เป็นการพูดถึงเว็บไซต์มานุษยาดอทคอม ไม่ใช่ตน อัยการถามว่าก่อนมาเบิกความ ศาลจังหวัดระยองพิพากษาคดีหมิ่นประมาทของพยานผลเป็นอย่างไร สนธิตอบว่าให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ

อัยการถามว่าตัวพยานทราบว่าข้อความที่นางสาวดารณีพูด เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าคิดว่าทราบ อัยการถามว่าข้อความดังกล่าวไม่สมควรพูดใช่ไหม สนธิตอบว่าใช่ อัยการถามว่า ข้อความที่นางสาวดารณีพูดไม่ได้ระบุชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีใช่ไหม สนธิตอบว่าถ้าตามตัวอักษรก็ใช่ แต่ผมเข้าใจว่า… (ถูกอัยการขัดขึ้น) อัยการถามว่านางสาวดารณีถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วทราบหรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในสารบบ

อัยการถามว่าตามเอกสารภาพถ่ายต่างๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ปรากฏวันเดือนปีและผู้จัดทำเอกสารใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าตนเป็นคนจัดทำเอง แต่ไม่ปรากฏวันเดือนปี อัยการถามถึงภาพที่บิดามารดาน้องโบว์มาเยี่ยมจำเลยว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดหลัง 20 ก.ค. 51 ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่ อัยการถามว่าเอกสารจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่มีนักโทษ 8 คนลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เท่าที่ทราบถูกจำคุกทั้งสิ้นใช่หรือไม่ สนธิ ตอบว่าไม่ทราบ อัยการถามว่าจดหมายจากนายสุรชัย แซ่ด่านนี้ เป็นข้อความที่ลงชื่อโดยนักโทษในคดีตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ทราบ อัยการถามว่ากรณีสั่งไม่ฟ้องนายจักรภพ จะด้วยเหตุใดพยานก็ไม่ทราบ สนธิตอบว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่าต้องมีอะไรแน่นอน

อัยการถามว่าหนังสือ “ขบวนการล้มเจ้า” ASTV เป็นผู้พิมพ์ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่ อัยการกล่าวว่าหนังสือ“ปรากฏการณ์สนธิจากเสื้อเหลืองสู่ผ้าพันคอสีฟ้า” และ“เมืองไทยรายสัปดาห์” ก็มีพยานเป็นที่ปรึกษาด้วย และนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล เป็นที่ปรึกษาด้วย สนธิตอบว่าเขาเป็นลูกชาย อัยการถามว่ากรณีนางสาวดารณีพูด เป็นความเข้าใจของพยานเองว่าตำรวจไม่ทำหน้าที่ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ใช่ มาจากหลักฐานหลายอย่างและการติดตามข่าว อัยการถามว่าก่อนหน้านี้พยานไม่เคยติดตามความคืบหน้าของคดีที่สน.ชนะสงครามใช่หรือไม่ สนธิกล่าวว่าเคยส่งนักข่าวไปถาม ซึ่งก็เหมือนตนไปติดตามเอง

อัยการถามว่าตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าบุคคลจะล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์มิได้ใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่ อัยการถามว่าถ้าเห็นบุคคลกล่าวร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ทุกคนมีหน้าที่ปกป้องและต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่ อัยการถามว่าและไม่ควรไปพูดขยายความต่อหรือไม่ สนธิเบิกความว่าตนตอบแบบใช่หรือไม่ใช่ไม่ได้ จึงไม่ขอตอบ อัยการถามว่าคำพูดที่พยานสรุปย่อไปกล่าวข้อความตรงบ้าง ไม่ตรงบ้างกับถ้อยคำของนางสาวดารณีใช่หรือไม่ สนธิกล่าวว่าเป็นความหมายเดียวกัน อัยการถามว่าพยานให้การกับพนักงานสอบสวนว่าทราบดีว่าข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งไม่บังควรใช่หรือไม่ สนธิตอบว่าใช่ อัยการถามว่าองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใดใช่ไหม สนธิพยักหน้า

ตอบทนายความจำเลยถามติง

ทนายความถามว่าข้อความที่พยานสรุปย่อ และบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร หมายถึงข้อความของใคร สนธิตอบว่าคำพูดของนางสาวดารณี และตนกล่าวเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เร่งรัดดำเนินคดีของนางสาวดารณี ทนายความถามว่าที่ให้การว่าไม่มีเหตุโกรธเคือง ตอนนั้นยังไม่รู้ว่านายธนชาติเป็นใครใช่หรือไม่ สนธิตอบว่ายังไม่ทราบ รวมทั้งพ.ต.ท.ณัฐนิติ และพล.ต.ต.อำนวย ก็ยังไม่ทราบ

ทนายความถามว่าในเอกสารคำให้การชั้นสอบสวน พูดถึงพฤติกรรมของพนักงานอัยการ เช่นกรณีเรื่องบุกรุกบ้านพลเอกเปรม, กรณีแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สนธิยืนยันจามเอกสารคำให้การ ทนายความถามว่าการให้การเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกพยานลงลายมือชื่อ ครั้งที่สองไม่ลง ทนายความก็ไม่ได้ลง เพราะเหตุใด สนธิเบิกความว่าวันที่ 21 ก.ค. 2551 และ16 ส.ค. 2551ตนให้ปากคำด้วยความสมัครใจ จึงลงชื่อ แต่ในวันที่ 8 พ.ย. 2551 นั้นไม่ได้ลงชื่อเพราะคำถามที่ตำรวจนำมาถาม เป็นการถามเพื่อจะเล่นงานตน ให้คำให้การมามัดในคดี ทนายความถามว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ชอบ มีเจตนากลั่นแกล้งแต่เริ่มต้น

ทนายความถามว่าที่พยานปราศรัยว่าจะไปแจ้งความ แต่ไม่ได้ไปเพราะเหตุใด สนธิเบิกความว่าเพราะกองทัพบกได้แจ้งความแล้ว ตนจึงทำหน้าที่เพียงส่งเอกสารและซีดีให้

ทนายความถามว่าเอกสารหมายจ.25 คำพิพากษาคดีที่ศาลสั่งจำคุกจำเลย ผู้พิพากษาคือใคร สนธิตอบว่านายอุดม มั่นมี ทนายความถามว่าบุคคลนี้เมื่อเกษียณอายุแล้วทำอะไร สนธิตอบว่าไปขึ้นเวทีเสื้อแดง และปราศรัยโจมตีสถาบันศาลว่าไม่ยุติธรรม และได้ดีไปเป็นคณะกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จากการแต่งตั้งของพรรคเพื่อไทย ทนายความถามความว่าศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำพิพากษานายอุดมหรือไม่ สนธิกล่าวว่าไม่ แก้ไขคำพิพากษาลดเหลือ 6 เดือน ยกฟ้องไปบางประเด็น และคดียังอยู่ในชั้นฎีกา

ทนายความถามว่าแล้วคำพิพากษาอีกคดีหนึ่ง ที่อัยการยื่นส่ง ผู้พิพากษาเป็นใคร สนธิตอบว่าท่านประคอง เตกฉัตร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับนายวีระ มุสิกพงษ์ และศาลอุทธรณ์ไม่เอาด้วยกับศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องไป 3 กรรม อีก 1 กรรมให้รอลงอาญา ตอนนี้คดียังอยู่ในชั้นฎีกา ทนายความถามว่าคดีที่ศาลจังหวัดระยอง ใครเป็นผู้ฟ้อง สนธิตอบว่าพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งต่อมาไปเป็นบอร์ดของธนาคารกรุงไทยได้โดยพ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นประธานบริษัท IPRC ก็โดยพ.ต.ท.ทักษิณ คดีนี้ศาลเพิ่งจะตัดสิน ยังอยู่ระหว่างเขียนอุทธรณ์

ทนายความถามว่าเมื่อตรวจเอกสารของศาล คดีของนางสาวดารณีที่ว่าไม่ทราบว่าลงโทษหรือไม่ เป็นอย่างไร สนธิตอบว่า ยังไม่โดน ทนายให้ดูเอกสารคดีของศาล และถามว่าเอกสารภาพเหตุการณ์ของพันธมิตรฯ ใครเป็นผู้จัดทำ สนธิตอบว่า ตนเป็นผู้จัดทำ โดยภาพแผ่นที่ 2 นายปานเทพเป็นผู้ถ่าย ภาพถ่ายต่างๆ ดึงมาจากคอมพิวเตอร์ วันเวลาจึงไม่ปรากฏ ทนายความถามว่าหลักฐานเอกสารหนังสือ 3 เล่มที่พยานเป็นที่ปรึกษา จะทำให้ข้อความในนั้นด้อยคุณค่าหรือไม่ สนธิตอบว่าไม่ เพราะเป็นความจริงที่เกิดขึ้น

เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ เวลาประมาณ 11.40 น.

ทนายจำเลยแถลงว่าในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ที่เดิมนัดสืบพยานจำเลยต่อนั้น จะมีการตัดสินการถอนประกันตัวในคดีแกนนำของนปช.และจะมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณหน้าศาลอาญาด้วย จึงกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับจำเลย อีกทั้งจำเลยมีปัญหาสุขภาพ นั่งติดต่อกันนานๆ ไม่ได้  จึงอยากให้ยกเลิกนัดนี้ไปก่อน ตอนแรกศาลจะไม่อนุญาต เพราะจะหาวันนัดใหม่ยาก และทำให้คดีต้องรอนัดใหม่อีกนาน แต่ทนายจำเลยตกลงว่านัดที่เหลือวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม จะบริหารจัดการการสืบพยานที่เหลือให้แล้วเสร็จ ศาลจึงอนุญาตให้ยกเลิกนัด และเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่เหลือในวันที่ 28 และ 29 ส.ค.


28 สิงหาคม 2555 ณ ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 908

สืบพยานจำเลยปากที่สอง พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

(ผู้สังเกตการณ์คดีไม่ได้เข้าฟังการสืบพยานตั้งแต่ช่วงแรก เริ่มจดบันทึกในช่วงการถามค้านของพนักงานอัยการ)

อัยการถามว่า พยานเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ใช่ไหมไม่ จำลองตอบว่า พันธมิตรไม่ได้ตั้งเป็นสัญลักษณ์แต่เริ่มต้นด้วยคนที่ใส่เสื้อเหลืองเหมือนๆ กัน อัยการถามว่า แต่สีเหลืองเป็นความหมายที่ทุกคนเข้าใจใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

อัยการถามว่า การขึ้นเวทีปราศรัยของพยานก็จะใช้วาจาสุภาพ ไม่ด่า และถ้าใครกล่าววาจาพาดพิงคนอื่น พยานก็จะตักเตือนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ตนจะท้วงติงในภายหลัง แต่ไม่ถึงขั้นจำกัดผู้อื่น

อัยการถามว่า พยานเคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทผู้อื่นหรือไม่ จำลองตอบว่า ไม่เคย อัยการถามว่า ในวันเกิดเหตุคดีนี้ นอกจากเสื้อเหลืองแล้ว คนที่มาฟังการปราศรัยก็ยังมีทหาร ตำรวจ พ่อค้า แม่ค้า ใช่หรือไม่ จำลองตอบว่า ใช่

อัยการถามว่า ตามหลักการประชาธิปไตย คนที่ดูหรือฟัง ก็อาจจะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

อัยการถามว่า เวลาที่แกนนำพันธมิตรถูกฟ้องร้อง ทางพันธมิตรฯ ให้ความช่วยเหลือหรือไม่ จำลองตอบว่า มีการให้ความช่วยเหลือเพราะประชาชนให้ความช่วยเหลือ มีการบริจาคเงินสู้คดี และไม่เพียงเท่านั้น พยานที่ทางพันธมิตรฯ ขอให้มาช่วยเบิกความก็จะช่วยอย่างเต็มที่ คือช่วยทั้งเรื่องเงินทอง และช่วยเหลือเรื่องความคิดความอ่าน

อัยการถามว่า ปกติเวลาจำเลยขึ้นปราศรัย คนก็ชอบฟัง เพราะพูดจามีหลักการใช่หรือไม่ จำลองตอบว่า เพราะจำเลยเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่มีศิลปะที่ใครๆ ก็อยากฟัง อัยการถามว่า พยานเคยตักเตือนจำเลยเวลาพูดจาบนเวทีโดยไม่สุภาพหรือไม่ พยานตอบว่า เคยในบางเรื่องที่ใช้ถ้อยคำกำกวม

อัยการถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยไม่ได้โดนฟ้องคดีนี้คดีเดียว แต่ยังมีคดีอื่นๆ อีก จำลองตอบว่า มีคดีอื่นอีก เป็นคดีหมิ่นประมาทซึ่งจำเลยไม่ได้โดนฟ้องเพียงคนเดียว แต่พยานก็ถูกฟ้องด้วย อัยการท้วงว่าพยานเพิ่งตอบว่าพยานไม่เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาท จำลองตอบว่า คดีเดี่ยวๆ ที่โดนฟ้องคนเดียวนั้นไม่มี แต่คดีที่โดนฟ้องรวมๆ กันมีเยอะจนจำไม่ได้

อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่า บางคดีศาลเคยตักเตือนจำเลยไม่ให้ดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง (อัยการยื่นเอกสารหมาย จ.23 ซึ่งเป็นรายละเอียดคดีดำที่ อ. 3845/2549 คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีกคดีหนึ่งที่ศาลตัดสินยกฟ้องจำเลย และได้ตักเตือนไม่ให้จำเลยดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องอีก) พยานตอบว่า ครับ อัยการถามต่อไปว่าวันเกิดเหตุจำเลยถือซีดี และกล่าวข้อความของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล… พยานตอบแทรกขึ้นว่าเรื่องนี้เป็นรายละเอียดที่ตนจำไม่ได้

อัยการถามว่า สำหรับพยานถ้าพูดเพียงว่า ในซีดีนี้เป็นหลักฐานสำคัญ จะนำไปเร่งรัดเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณี พูดเท่านี้พอหรือไม่ จำลองตอบว่า ไม่พอ

อัยการถามว่า หลายคนในที่เกิดเหตุอาจไม่ได้ไปฟังนางสาวดารณีพูด แต่มาฟังจำเลยแล้วอาจจะตกใจและคล้อยตาม จริงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่จริง เพราะคุณสนธิไม่ได้คิดเห็นคล้อยตามนางสาวดารณี และคนจะต้องเชื่อคุณสนธิมากกว่าจะเชื่อว่าที่นางสาวดารณีพูดนั้นเป็นความจริง

อัยการถามว่า นอกจากจำเลยแล้วก็ไม่มีแกนนำพันธมิตรฯ คนไหนพูดเรื่องนางสาวดารณีอีก พยานเบิกความว่า เพราะพูดยังไงก็ไม่มีน้ำหนักเท่าคุณสนธิพูด

อัยการถามว่า เคยมีกรณีคนอื่นๆพูดจาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แล้วทางพันธมิตรฯ ให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการดำเนินคดีเหมือนกรณีนางสาวดารณี เช่นเดียวกับที่คุณสนธิทำหรือไม่ พยานตอบว่า มี แต่อาจลงรายละเอียดไม่มากเท่า

อัยการถามว่า ในอดีต พยานเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง เช่น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยไม่ต้องมีกลุ่มม็อบใดๆ มากดดัน ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีใช่หรือไม่ จำลองตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ในกรณีนางสาวดารณี ทางพันธมิตรฯ ยังมีการประท้วงอื่นๆ เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ เพราะคดีที่พันธมิตรฯ สนใจมีเยอะแยะไปหมด

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามติง

ทนายความถามว่า พยานบอกว่า ไม่เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาท พยานตอบว่าไม่เคยถูกฟ้องเดี่ยวๆ ทนายความถามว่า พยานเคยถูกคุณทักษิณฟ้องทั่วราชอาณาจักรกี่เรื่อง พยานตอบว่า จำไม่ได้ มีมากมาย ทนายความถามว่า ทุกคดีศาลมีคำตัดสินอย่างไร พยานตอบว่า ยกฟ้องทั้งหมด

ทนายความถามถึงเอกสารหมาย จ. 23 (คำพิพากษาศาลคดีก่อนหน้าที่ระบุว่าไม่ให้นายสนธิดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง) จำลองอธิบายว่า กลุ่มต่างๆ ที่อ้างเรื่องสถาบันฯ ล้วนดึงสถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีคุณสนธิปราศรัยเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ

ทนายความถามว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ดึงเอาสถาบันฯ มาเพื่อประโยชน์ของตนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ เป็นการกระทำเพื่อสถาบันฯ ทนายความถามต่อว่า ที่พยานตอบคำถามอัยการว่า แค่มีซีดี จะไปแจ้งความฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เท่านี้ยังไม่พอ เพราะอะไร พยานตอบว่า เพราะเป็นการกระทำแบบเงียบๆ ซึ่งล้มเหลวมาหลายคดีแล้ว ทำให้ไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

เสร็จสิ้นการการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 10.50 น.

สืบพยานจำเลยปากที่สาม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เริ่มการสืบพยานในเวลา 10.53 น.

ปานเทพเบิกความว่า ตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก จากนั้นทำงานเป็นผู้ประกอบการเอกชน ต่อมาเป็นผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังของกระทรวงกลาโหม

ทนายความจำเลยเรียกพยานโดยใช้สรรพนามว่า อาจารย์ และถามว่า วันที่จำเลยขึ้นปราศรัยนั้น พยานได้ฟังหรือไม่ พยานตอบว่าได้ฟัง ทนายจำเลยขอให้พยานเล่าให้ศาลรับทราบว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยมีเจตนาอย่างไร พยานเบิกความว่า จำเลยต้องการพูดเพราะมีผู้ปราศรัยอีกเวทีหนึ่งในลักษณะด่าทอให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ฯ จำเลยจึงต้องการพูดเรื่องนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี ซึ่งก่อนหน้าวันเกิดเหตุก็ได้ยินได้ฟังมาโดยตลอดว่า นางสาวดารณีพูดจาจาบจ้วงต่อเนื่องกันหลายครั้ง จึงทำให้จำเลยมีความจำเป็นต้องปราศรัยเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ

ทนายความถามว่า พฤติกรรมของนางสาวดารณีในการจาบจ้วง มีขึ้นในเดือนมกราคมหนึ่งครั้ง มิถุนายนสองครั้ง ทุกครั้งมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการอะไรหรือไม่ พยานตอบว่า ก่อนหน้าที่จำเลยจะปราศรับยังไม่เคยปรากฏว่ามีการดำเนินคดีเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ทนายความถามว่า ถ้าพยานไม่เอาคำพูดของนางสาวดารณีมาให้ปรากฏบางตอน จะเป็นอย่างไร พยานเบิกความว่า การขึ้นเวทีปราศรัยเป็นเสมือนกระบวนการภาคประชาชน ให้มีกระแสกดดันให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดกระบวนการให้ปฏิบัติหน้าที่

ปานเทพเบิกความว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมาเป็นรัฐบาลได้เพราะมีความใกล้ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงทำหน้าที่คล้ายเป็นหุ่นเชิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ และเวลานั้นมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์เป็นพี่ชายของคุณหญิงอ้อ (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์)

ทนายความถามว่าในยุคนั้น มีเว็บไซต์ต่างๆ เช่น มานุษยะ และมีการพูดปราศรัยบนเวทีเสื้อแดงใช่หรือไม่ ปานเทพตอบว่า เวลานั้นมีการเผยแพร่ข้อความจาบจ้างสถาบันกษัตริย์ฯ โดยแพร่หลาย เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนทั่วไป ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจเท่าที่ควร หลังเกิดเหตุก็ทิ้งช่วงถึง 6-7 เดือน ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ที่รักสถาบันกษัตริย์ฯ ต้องออกมาพูด ส่งผลให้มีการดำเนินคดีกับนางสาวดารณีในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ปราศรัย โดยกองทัพบกเป็นผู้แจ้งความในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 และทราบในเวลาถัดมาว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยไม่ได้ปราศรัยในวันที่ 20 โอกาสที่จะเกิดการพูดจาจาบจ้วงสถาบันก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ทนายความถามว่า กรณีอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปราศรัย ณ สะพานชมัยมรุเชษฐ์ เกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนราชวินิตมัธยมแล้วถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ พยานเห็นว่าควรจะเป็นคดีหรือ พยานตอบว่า ไม่ควร เพราะเป็นกระบวนการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ทำให้อาจารย์สมเกียรติถูกดำเนินคดีทันที รัฐบาลขณะนั้นพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และเพิ่มข้อหาทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เช่น ข้อหากบฏ ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

ทนายความถามว่า กรณีบุกบ้านและดูหมิ่นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรี) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) กระทำการอะไร ปานเทพตอบว่า นปก.ขว้างปาสิ่งของ แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง
    
ทนายความถามว่า ในความเห็นของพยาน การดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตร กับนปก. มีความเท่าเทียมกันหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เท่าเทียมกัน เช่นกรณีเรื่องหุ้นที่แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่ามีความผิด แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ยกฟ้องที่แม้ประธานศาลอุทธรณ์ก็ยังเห็นแย้ง

ทนายความถามต่อว่า คดีพ.ต.ท.ทักษิณที่พูดว่า ถ้าตัวทักษิณเองไม่จงรักภักดีแล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดี ถ้าอยากให้ทักษิณลาออกก็ให้ในหลวงมากระซิบ และเรื่องคำพูดที่กล่าวถึง กระสุนพระราชทาน กรณีเหล่านี้อัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ ปานเทพตอบว่า ไม่ฟ้อง นอกจากนี้ อัยการยังดำเนินคดีกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีกับนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล และอัยการยังสั่งไม่ฟ้องคดีนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งปัจจุบันหลบหนีไปต่างประเทศ

ทนายความถามว่า ตำรวจที่ดำเนินคดีกับนายสนธิ เช่น พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน นั้น ทางพันธมิตรฯ เคยทำอะไรไว้ ปานเทพตอบว่า พันธมิตรฯ เคยร้องเรียนไปที่ปปช.ให้มีการตรวจสอบ ทนายกล่าวว่าฉะนั้นก็เป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งกัน

ทนายความถามว่า ส่วนกรณีนายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ ซึ่งเป็นผู้ที่ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับอ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และจำเลยนั้น เขามีความสัมพันธ์อะไรกับนายเนวิน ชิดชอบ พยานตอบว่า เขาเป็นผู้ใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ ทนายความถามว่า นายเนวิน กับจำเลยก็เป็นคู่ความกันมาก่อนถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่า การเอาข้อความหมิ่นประมาทมาพูดซ้ำ จะต้องมีลักษณะอย่างไรจึงจะมีความผิด ปานเทพตอบว่า ต้องมีเจตนาเพื่อดูหมิ่นสถาบันฯ ให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีของนางสาวดารณีนั้นพูดจาเจตนาดูหมิ่นให้ร้ายจนถูกศาลสั่งจำคุก 15 ปี ไม่มีการอุทธรณ์และยังขออภัยโทษ ซึ่งเท่ากับว่า นางสาวดารณียอมรับผิด ส่วนการพูดจาของจำเลยเป็นการตอกย้ำการทำผิด ซึ่งถูกต้องแล้ว

ทนายความถามว่า คำพูดของนายสนธินั้น จะทำให้คนฟังคล้อยตามคำพูดของนางสาวดารณีหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ชมผู้ฟังในคดีนั้นได้แสดงเสี่ยงโห่ร้องไม่พอใจนางสาวดารณี ด้วยเหตุนี้ทำให้จำเลยใช้คำหยาบคายต่อว่านางสาวดารณี เป็นไปไม่ได้เลยที่จำเลยจะคิดดูหมิ่นสถาบันฯ

ปานเทพเบิกความว่า จำเลยแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างสูงสุด แม้ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมาย ก็ยึดถือจารีตประเพณี ยกตัวอย่างในอดีตที่จำเลยเคยจัดรายการออกอากาศสดโดยไม่มีการตัดต่อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้รับความไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาล กรณีการปลดคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) จำเลยก็ยังชี้ว่า ควรคำนึงถึงพระราชอำนาจที่แต่งตั้งคุณหญิงขึ้นมาด้วย แสดงให้เห็นว่า แม้อยู่ในรายการสด จำเลยก็แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาจนมีความเสี่ยงทางธุรกิจ นอกจากนี้ จำเลยยังเคยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ และมีเนื้อหาปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ อีกมากมาย ถึงขนาดรวมเล่มเป็นหนังสือเมืองไทยรายสัปดาห์ เช่น ส่วนที่พูดถึงเรื่องพระราชอำนาจในหน้า 139

ปานเทพเบิกความต่อว่า ต่อมาจำเลยถูกให้ถอดรายการออกจากช่อง 9 อสมท. เพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายเรื่อง ต่อมาจำเลยก็แถลงข่าวโดยพูดถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช วันดังกล่าวจำเลยใส่เสื้อ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จำเลยจะมีความคิดจาบจ้วงสถาบันฯ ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จำเลยก็พูดเรื่องพระราชอำนาจและการปกป้องสถาบันฯ มาโดยตลอด

ทนายความถามถึงถ้อยคำที่ว่า จะขอเป็นยามรักษาแผ่นดิน ว่ามีความหมายอย่างไร พยานตอบว่า หมายถึงจำเลยและคณะจะเอาชีวิตของตนเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์

ทนายความถามว่า ในการชุมนุมของพันธมิตรฯ หนังสือ “ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” นั้น ผ้าพันคอสีฟ้ามีความหมายอย่างไร พยานตอบว่า จากหนังสือดังกล่าวซึ่งเขียนโดยนายคำนูญ สิทธิสมาน ผ้าพันคอสีฟ้าได้รับพระราชทานมาจากสำนักงานในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึง “สตรีผู้สูงศักดิ์” ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง

ปานเทพเบิกความต่อไปว่า กรณีนางสาวดารณี มีความน่าสงสัยว่าคดีนี้ดำเนินคดีเพียงแค่สามกรรม โดยไม่ได้ดำเนินคดีกับการกระทำในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2555 ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามกลั่นแกล้งจำเลย และการฟ้องคดีตามที่ตำรวจกล่าวอ้างก็เป็นการเร่งรีบหลังจากที่จำเลยปราศรัยให้เร่งรัดคดี
    
ปานเทพกล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 มีเนื้อหาว่า ไม่ทรงเห็นด้วยกับการดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในปีนั้น ตำรวจทั้งประเทศฟ้องจำเลย หลังมีกระแสพระราชดำรัส ก็ส่งผลให้ยุติการดำเนินคดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมกลั่นแกล้งจำเลยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว

ทนายความถามว่า คิดอย่างไรกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ในปีนั้น ปานเทพตอบว่า การวิจารณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ยิ่งกว่านั้น คนที่ออกมาปกป้องสถาบันฯ กลับถูกดำเนินคดี การลงโทษคนวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็กระทบต่อสถาบันอยู่แล้ว แต่การลงโทษคนที่ปกป้องสถาบันกลับยิ่งทำให้กระทบต่อสถาบันยิ่งขึ้น

ปานเทพกล่าวต่อว่า จำเลยปราศรัยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 จากนั้นรัฐบาลยิงอาวุธสงครามใส่ประชาชนในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบว์ เสียชีวิต ซึ่งในงานศพของน้องโบว์ พระราชินีพร้อมพระเจ้าลูกเธอฯ ทรงทอดผ้าตรัยในงานพระราชทานเพลิงศพ และยังกล่าวชมน้องโบว์ว่าเป็นเด็กดีที่รักษาสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ ในข่าววันที่ 15 ตุลาคม 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับเสนอข่าวตรงกันว่า ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงมีปฏิสันฐานกับจำเลยด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และประจักษ์ชัดว่าไม่ได้ทักใคร ทักแต่จำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จำเลยจะไปดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ
    
พยานจำเลย ยกเครื่อง ipad ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นหน้าเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และอ่านคำปฏิญาณตนที่นายสนธิเคยให้ไว้ว่า จะพลีชีพเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยอมพลีแม้ชีวิตเพื่อสู้กับอริราชศัตรู

ศาลท้วงว่า การบรรยายถึงกิจกรรมเทิดพระเกียรตินั้นใช้เวลายาวนานแล้ว ให้รวบรวมแล้วแจ้งเป็นเอกสาร ศาลจะบันทึกให้ ทนายความจึงแถลงหมดคำถาม
    
ตอบคำถามอัยการถามค้าน

อัยการถามว่า พยานเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าตนเป็นโฆษก และเพิ่งมาเป็นแกนนำในปี 2555 นี้เอง อัยการถามว่าพยานยังทำงานที่เอเอสทีวีโดยเป็นคอลัมนิสต์ตั้งแต่ปี 2548 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

อัยการถามว่า ตามเอกสารที่พยานได้อ้างถึงมานั้น ล้วนเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในเครือผู้จัดการทั้งหมดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เข้าใจว่าเป็นคนละบริษัทกัน มีทั้งของเอเอสทีวี และของบุ๊คดอทคอมซึ่งมีจำเลยเป็นที่ปรึกษา

อัยการถามว่า การปราศรัยบนเวทีนั้นมีการถ่ายทอดไปทั่วโลกใช่หรือไม่ พยานตอบว่าถ้ามีจานรับก็รับชมได้

อัยการถามว่า ก่อนพยานจะเป็นแกนนำ พยานเคยขึ้นปราศรัยด้วย ซึ่งไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีในมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคย

อัยการถามว่า จากเอกสารหมายจ. 1 ซึ่งเป็นถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยนั้น คนทั่วไปที่ได้ยินอาจจะตกใจที่เพิ่งทราบเรื่องราวที่ได้ยินกรณีหมิ่นสถาบันฯ จากจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า อาจจะไม่พอใจ อัยการถามว่าเรื่องนี้นอกจากตัวจำเลยแล้วก็ไม่มีแกนนำคนใดมาพูดอีกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
    
อัยการให้พยานดูเอกสารหมาย จ. 4 ซึ่งเป็นรายละเอียดคดีตามมาตรา 112 คดีอื่นๆ อีกรวม 14 คดี แล้วถามพยานว่าคนที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้เป็นใคร บางคนเป็นเสื้อแดงใช่หรือไม่ ปานเทพตอบว่า ไม่มีสักคนที่เป็นเสื้อเหลือง เพราะคนเหล่านั้นกระทำการจาบจ้วง อัยการถามว่า ไม่มีแกนนำของพันธมิตรฯ คนใดที่เร่งรัดให้ตำรวจเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีในอีก 14 คดีใช่หรือไม่นอกจากคดีดารณี พยานตอบว่า เพราะขณะนั้น คุณสนธิไม่มีหลักฐาน มีเพียงหลักฐานกรณีนางสาวดารณีซึ่งเป็นการกระทำซึ่งหน้า

อัยการถามว่า ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ ใครก็แจ้งความก็ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ อัยการถามว่า การวิเคราะห์การกระทำเรื่องหมิ่นสถาบันฯ พยานวิเคราะห์ในฐานะบุคคลทั่วไป พยานไม่ได้เรียนจบนิติศาสตร์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์ก็รู้ได้ด้วยสามัญสำนึก

ตอบคำถามทนายจำเลยถามติง

ทนายความถามว่า ความผิดตามมาตรา 112 ถือว่าใครเป็นผู้เสียหาย พยานตอบว่า รัฐเป็นผู้เสียหาย

สิ้นสุดการสืบพยานปากนี้เมื่อเวลาประมาณ 12.20 น. (ตลอดการสืบพยานปากนี้ จำเลยขออนุญาตศาลออกไปนอกห้อง ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดีเลย)

สืบพยานจำเลยปากที่ 4 พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรอง

ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์เวลา 14.25 น.

พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อายุ 67 ปี อาชีพข้าราชการบำนาญ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการทหารอยู่ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย มีหน้าที่ด้านข่าวกรอง และเป็นกรรมาธิการของสภาหลายชุด รวมถึงเป็นประธานอนุกรรมการการป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์ของวุฒิสภา ติดต่อกันสามสมัยจนถึงปัจจุบัน

ทนายความถามว่า พยานมีหน้าที่สืบข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร พยานตอบว่า มีหน้ารวบรวมและติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

(จำเลยขออนุญาตศาลเดินออกไปจากห้องพิจารณาคดี)

พลโทนันทเดช เบิกความว่า เกี่ยวกับกรณีของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นั้น เนื่องจากเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด แล้วเข้าไปเป็นรองประธานคณะกรรมการติดตามงานตามคำสั่งคณะรัฐมนตรีสมัยที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ดูและและติดตามปัญหาตามคำสั่ง รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ฯ สิ่งหนึ่งที่ได้รับรายงานคือการปราศรัยของนางสาวดารณีที่เวทีนปช. ซึ่งมีอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ที่ปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ และมีคนอื่นที่ปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ เช่นกัน พยานจึงสอบถามไปยังหน่วยข่าวที่ไปปฏิบัติงานว่าทำไมถึงไม่เรียนผู้ใหญ่ว่ามีการปราศรัยเช่นนี้ ก็ได้รับรายงานว่ารายงานไปแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการอะไร จนกระทั่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลย ขึ้นพูดบนเวที กองทัพบกจึงเข้าแจ้งความ

ทนายความถามว่า ที่ว่าไม่มีใครดำเนินการอะไรนั้น หมายความว่าอย่างไร พลโทนันทเดชตอบว่า หน่วยข่าวรายงานว่ามีการรายงานผู้ใหญ่ไปแล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งอะไร

ทนายความถามว่า ในฐานะที่ทำงานด้านข่าวกรอง พบว่า การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันจะเกิดจากกลุ่มไหนมากระหว่างกลุ่มของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) พยานตอบว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีการจาบจ้วง แต่จะเกิดในกลุ่มของนปก. ที่ปราศรัยในบริเวณใกล้เคียงกัน

พลโทนันทเดชเบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ที่จำเลยปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณีนั้น ตนมาทราบเอาหลังจากจำเลยขึ้นพูดบนเวทีแล้ว ตนเห็นว่าคำพูดของจำเลยและนางสาวดารณี มีเจตนาต่างกันอยู่แล้ว

พลโทนันทเดช เบิกความว่าด้วยหน้าที่การงาน ตนพยานติดตามจำเลยมาตลอด ข้อมูลที่พบ คือ จำเลยเป็นคนรักชาติและรักสถาบันกษัตริย์ฯ แน่นอน สิ่งนี้ยืนยันได้ ดังนั้นการพูดครั้งนี้น่าจะไม่มีเจตนาให้กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ฯ แต่ส่วนของนางสาวดารณีนั้น มีการพูดจาลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง

ทนายความถามว่า พยานมีอะไรจะเพิ่มเติมหรือไม่ พยานตอบว่า ผมมาเป็นพยานให้คุณสนธินั้น ผมไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ที่ยอมมาตามหมายเรียกเพราะติดตามผลงานมาตลอด แม้กระทั่งดักฟังโทรศัพท์คุณสนธิผมก็เคยทำ ขณะที่กรณีนางสาวดารณีนี้ ขณะนั้นผมเป็นกรรมการพิทักษ์สถาบันฯ พบว่ามีเอกสารโจมตีไปทั่วโลก ทั้งต่อว่ากรมราชทัณฑ์ ทั้งเรื่องการพิจารณาลับ การถูกขังเดี่ยว ถูกดักฟังโทรศัพท์ ถูกแขวนป้ายว่าเป็นผู้ต้องหาหมิ่นฯ (ศาลบันทึกข้อมูลนี้ว่า สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อความเท็จ) เนื่องจากนางสาวดารณีไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดี จึงทำให้ต้องให้นางสาวดารณีมานั่งที่หน้าห้องธุรการเพื่อจะได้ไม่ถูกคนอื่นๆ ทำร้าย ส่วนเรื่องการดักฟังโทรศัพท์นั้นก็ไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่องการติดป้ายผู้ต้องหาหมิ่นฯ นั้นเป็นแนวที่ปฏิบัติมานานแล้ว ผู้ต้องหาหมิ่นฯ คนอื่นๆ ก็ต้องติดบัตร ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกทนายความของนาวสาวดารณีเอามาใช้เพื่อให้ร้ายต่อสถาบันฯ

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

อัยการถามว่า พยานลาออกก่อนเกษียณอายุกี่ปี พยานตอบว่า สองปี คือลาออกเมื่ออายุ 58 ปี อัยการถามว่า พยานลาออกเพราะมีเหตุขัดแย้งกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ พยานมีความขัดแย้งกับพ.ต.ท.ทักษิณเรื่องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ภาคใต้ ที่พ.ต.ท.ทักษิณเอาค่าใช้จ่ายด้านนี้ไปทำเรื่องอื่นๆ แทน จึงเกิดเป็นความขัดแย้งและลาออก

อัยการถามว่า ที่ว่าการกระทำผิดมาตรา112 นั้น คนทำผิดจะเป็นคนเสื้อแดง แต่เสื้อเหลืองไม่มีนั้น พยานทราบหรือไม่ว่า จำเลยเคยถูกฟ้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ซึ่งบางเรื่องศาลมีคำพิพากษาแล้ว บางเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา บางเรื่องมีบันทึกตักเตือนว่าไม่ให้จำเลยนำสถาบันกษัตริย์ฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง พยานตอบว่า เคยได้ยินบ้าง แต่ไม่ได้จำ แต่การปฏิบัติในกรณีของจำเลยนั้น พยานถือว่าแตกต่างจากคดีอื่นๆ เป็นการถูกกดดันจากกลุ่มคนเสื้อแดง และผลักดันโดยรัฐบาลของคนเสื้อแดง จึงทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดความสับสน และพยานเห็นว่าจำเลยเป็นประทีปที่เริ่มต้นให้มีการดำเนินคดีกับนางสาวดารณี

อัยการกล่าวว่า คำตอบของพยานไม่เกี่ยวกับคำถาม คำถามคือ พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยมีคดีมาตรา 112 คดีอื่น และบางคดีจำเลยก็ถูกตักเตือน พยานตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามว่า พยานมีหน้าที่รวบรวมข่าวที่กระทบต่อสถาบันฯ พยานทราบเรื่องการดำเนินคดีอีก 15 คดี (อัยการยื่นเอกสาร ล. 4) ทั้งหมดต้องโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ ทราบเรื่องบางคน เช่น รู้จักรายชื่อลำดับที่หนึ่ง สอง สาม แต่คนอื่นๆ ไม่ทราบ อัยการถามว่า รายชื่อในลำดับที่หนึ่ง สอง และสาม ที่พยานรู้จักนั้น ไม่ปรากฏว่า แกนนำพันธมิตรฯ เร่งให้เกิดการดำเนินคดีเช่นเดียวกับกรณีนางสาวดารณีใช่หรือไม่ พยานตอบว่า คดีเหล่านั้นเป็นคดีที่เกิดขึ้นหลังกรณีนางสาวดารณี อัยการกล่าวว่า เกิดก่อนหรือหลังผมไม่ใส่ใจ แต่คดีเหล่านี้ เคยปรากฏหรือไม่ว่า ทางแกนนำพันธมิตรฯ เคยเร่งรัดให้เกิดการติดตามคดีหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ปรากฏ

อัยการถามว่า ปกติพยานทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับนปก.หรือไม่ พลโทนันทเดชตอบว่า ตนไม่ทำกิจกรรมการเมือง กิจกรรมที่ทำมีแต่การปกป้องสถาบันฯ อัยการถามว่า ที่ผ่านมา พยานปฏิบัติหน้าที่ตามราชการ พยานก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี จำเป็นไหมที่จะต้องมีม็อบมากดดัน พลโทนันทเดชตอบว่า ไม่จำเป็น

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามติง

ทนายความถามว่า ท่านกล่าวว่า ขณะเป็นข้าราชการ ไม่จำเป็นต้องมีม็อบมากดดัน แต่กรณีนางสาวดารณี สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร พยานตอบว่า ในช่วงนั้น ผมสงสารผู้ต้องหาสามคน คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายใจ อึ๊งภากรณ์ ทั้งสามคนถูกตำรวจแจ้งข้อหาทั้งที่ไม่ควรจะแจ้ง กรณีอาจารย์สุลักษณ์ ผมทำหนังสือแจ้งเพื่อประกอบการพิจารณาคดีไปด้วย กรณีอาจารย์ใจนั้นยังไม่น่ามีปัญหาแต่ก็ถูกตำรวจเรียกไปสอบ จนต้องหนีออกนอกประเทศ ผมมาเป็นพยานให้คดีนี้ เพราะไม่อยากให้เกิดตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคมในการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากล่าวหาบุคคลที่ไม่มีความผิด

ทนายความถามว่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในด้านไหน พยานตอบว่า การใช้มาตรา 112 มาเอาผิดคนที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นสถาบันฯ และถือโอกาสเอาเรื่องนี้ไปยกเลิกมาตรา 112 เมื่อมีนักการเมือง (พยานเอ่ยถึงชื่อนักการเมืองคนหนึ่ง แต่ศาลบอกว่า ศาลจะไม่บันทึกชื่อเพราะอาจจะทำให้พยานถูกฟ้องได้) บอกว่าจะเข้ามาดูแลคดีหมิ่น ตำรวจก็พยายามเอาใจ ทุกวันนี้ใครโพสต์อะไรในอินเทอร์เน็ตตำรวจก็จะเรียกเข้าไปคุย

ทนายความถามว่า ฝ่ายการเมือง ผู้มีอำนาจ ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปทำอะไรบ้าง พลโทนันทเดชตอบว่า ตนไม่ได้หมายความว่านักการเมืองคนที่พาดพิงถึงนั้นมีเจตนาใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้อง นักการเมืองท่านนั้นอาจจะมีเจตนาดี แต่คำสั่งของเขาส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำคดีมากขึ้นซึ่งกลับเป็นผลร้ายต่อสถาบันฯ

ทนายความถามว่า ถ้าจำเลยไม่ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณี กองทัพบกจะมีปฏิกิริยาหรือไม่ พยานตอบว่า สุดท้ายก็คงจะมีปฏิกิริยา เพียงแต่อาจจะช้าไป อัยการถามว่า ถ้าช้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายความถามว่า ตอนแรกนางสาวดารณีปราศรัยในเดือนมกราคมซึ่งก็ไม่มีใครออกมาทำอะไร ต่อมาในเดือนมิถุนายนก็ปราศรัยอีก ถามว่าทำไมจำเลยต้องออกมาทำแบบนี้ คุณเพรียวพันธ์เป็นอะไรกับจำเลย พยานตอบว่า ก็รู้กันดีอยู่แล้ว คุณพัชรวาทก็เป็นคนรักสถาบัน แต่ตอนนั้นคงรอดูทิศทางอยู่

อัยการท้วงขึ้นว่า คำถามเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการถามค้านเลย
 
ทนายความถามว่า ในปี 2551 ขณะนั้นเป็นรัฐบาลสมัยของใคร พยานตอบว่า เป็นสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องไปยังสมัยของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งทำงานให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ

ทนายความถามว่า ที่ท่านอัยการถามถึงรายชื่อคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หนึ่งในรายชื่อที่พยานรู้จักก็คือ นายสุรชัย แซ่ด่าน คดีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือหลังคดีของนางสาวดารณี พยานตอบว่า หลัง ทนายความถามว่า ที่อัยการนำเอกสารหมาย จ. 23 (เอกสารคดีที่นายสนธิถูกฟ้องมาตรา 112 ที่ศาลยกฟ้องแต่มีคำตักเตือนว่าให้ระวังอย่ากล่าวพาดพิงสถาบันฯ โดยมิบังควร) มาถาม ท่านเคยเห็นหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคย ทนายความถามว่า พยานคิดว่าคำเตือนดังกล่าวกับการกระทำของจำเลยในคดีนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะจำเลยทำเพื่อสถาบันฯ

จบการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 15.10 น.

สืบพยานจำเลยปากที่ 5 นายประพันธ์ คูณมี อาชีพทนายความ แนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นายประพันธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบเนติบัณฑิตสมัยที่ 31 และจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประพันธ์เบิกความว่า ตนเคยเป็นเลขาฯ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในปี 2549-2550 เป็นประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และรองประธานกรรมาธิการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ประพันธ์เบิกความว่า ตนไม่ได้รู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว แต่มีเพื่อนสนิทคือ นายคำนูญ สิทธิสมาน ที่ทำงานอยู่กับจำเลย ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโปรดิวเซอร์รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และเมื่อจำเลยจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทางช่อง 9 อสมท. เปิดเผยเรื่องราวการทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบ ตนก็มีความชื่นชมจำเลยเป็นการส่วนตัว และเมื่อรายการปิดตัวลง แล้วไปจัดเวทีที่สวนลุมพินี ตนก็ติดตามจำเลย เมื่อจำเลยได้เห็นพฤติกรรมว่าในบ้านเมืองนอกจากจะมีฝ่ายการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ยังมีคนละเมิดสถาบันฯ จำเลยก็ใส่เสื้อ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” การกระทำเหล่านี้ตรงกับความคิดและอุดมการณ์ของตน ตนจึงไปร่วมกิจกรรมตั้งแต่ที่จัดที่สวนลุมพินี เป็นต้นมา

ทนายความถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าเหตุใดช่อง 9 อสมท. จึงให้เลิกรายเมืองไทยรายสัปดาห์ พยานตอบว่า จำเลยพูดในรายการเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ กรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เข้าใจว่าจากกรณีนี้ทำให้บอร์ดช่อง 9 อสมท. สั่งปิดรายการ

ทนายความถามว่า ตั้งแต่พยานร่วมกิจกรรมกับจำเลยมา เคยพบการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ฯ หรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคยปรากฏ กิจกรรมต่างๆ ล้วนแต่แสดงความชัดเจนและแน่วแน่จริงใจในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในระดับที่พยานเองก็ยังตกใจ ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมบนเวทีก็จะมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มีโต๊ะหมู่บูชา มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติมาโดยตลอด ครั้งสุดท้ายที่พยานเห็นก็คืองานพระราชทานเพลิงพระศพของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ซึ่งสมเด็จพระราชินีเสด็จมา พยานยังตั้งแถวรอรับเสด็จ พระราชินียังมีพระราชเสาวนีย์กับจำเลยด้วย

ทนายความถามว่า ระหว่างการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ผ้าพันคอสีฟ้าได้รับพระราชทานมาอย่างไร พยานเบิกความว่า ทราบว่าได้รับพระราชทานจากพระบรมราชินีนาถ

ประพันธ์กล่าวด้วยว่า แม้กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมกันที่สะพานมัฆวาน แต่ก็ยังมีการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินี โดยจำเลยเป็นคนนำอ่านคำถวายพระพรของผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนที่จะจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ฯ การจัดงานวันที่ 12 สิงหาคม 2551 ก็เป็นช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยปราศรัยในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกฟ้องในคดีนี้
    
ทนายความถามว่าพยานได้ฟังคำปราศรัยในคดีนี้ของจำเลยหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ได้ฟังในช่วงที่ปราศรัย แต่เคยได้ฟังคำปราศรัยของนางสาวดารณีจากเทปวีดีโอและอ่านจากข่าว พบว่าคำปราศรัยของนางสาวดารณีหลายครั้งตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ในเวทีคู่ขนานกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็ชัดเจนว่ามีเจตนาจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ฯ

ศาลเงยหน้ามาและพบว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณา จึงถามว่าจำเลยไปไหน จากนั้นมีคนเดินออกไปตามให้จำเลยกลับเข้ามานั่งในห้องพิจารณา)

ทนายความถามว่า กรณีคำปราศรัยของจำเลยกับของนางสาวดารณีนั้นมีความต่างกันอย่างไร พยานตอบว่า ของนางสาวดารณีมีลักษณะหมิ่นประมาท เจตนาอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความจงรักภักดีเลยแม้แต่น้อย ส่วนการกล่าวของจำเลย วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมรู้ว่า จำเลยกล่าวโดยมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ และประนามนางสาวดารณีด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเร่งดำเนินการตามกฎหมาย

ทนายความถามว่า เกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ ในหลวงเคยมีพระราชดำรัสไว้อย่างไร พยานเบิกความว่า เนื้อหาโดยสรุปคือ พระมหากษัตริย์ก็ย่อมจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะถ้า The King can do no wrong เลยนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ถ้ามีคดีมากๆ ก็เหมือนว่าสถาบันกษัตริย์ฯหรือตัวท่านนั้นมีปัญหา โดยวัตถุประสงค์ของตนก็ไม่อยากเห็นคดีมีจำนวนมาก ในช่วงที่ตนเป็นสนช. มีการเผยแพร่ข้อมูลมิบังควรเป็นอันมาก ตนเคยไปสอบถามนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าทำไมไม่มีการดำเนินคดี ซึ่งนายกฯ สุรยุทธ์ตอบทำนองว่า ท่านก็ไม่ประสงค์จะดำเนินการเรื่องนี้สักเท่าไรนัก

ทนายความถามว่า หลังจากที่มีพระราชดำรัสแล้ว พยานทราบหรือไม่ว่า อัยการก็มาถอนฟ้องคดีมาตรา 112 ที่ฟ้องจำเลย พยานตอบว่าพอทราบว่ามีการถอนคดี

ทนายความถามว่า คดีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย (อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทย) (คดีหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550) ฟ้องร้องจำเลยนั้น ต่อมาศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ทราบว่านายภูมิธรรมเคยฟ้องจำเลย และทราบว่านายภูมิธรรมฝักใฝ่ในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ลดโทษแต่ไม่รอลงอาญา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างฎีกา

ทนายความถามว่า พยานมีอะไรจะเสริมหรือไม่ ประพันธ์กล่าวว่า คดีนี้พยานมีความเกี่ยวข้อง เนื่องจากจำเลยเองเคยมาปรึกษา ตนได้เสนอให้จำเลยทำฎีกาเสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยมีประสบการณ์ที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิชถูกฟ้องจากการนำเอาคำพูดของท่านมาเผยแพร่เป็นสติ๊กเกอร์ ซึ่งครั้งนั้นเมื่อทำฎีกาแล้วสุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง กรณีของจำเลยก็มีการทำฎีกาเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดทั้งๆ ที่น่าจะอยู่ในวิสัยที่สั่งไม่ฟ้องได้

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

อัยการถามว่าพยานเคยเป็นโฆษกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเป็นพิธีกรรายการปากกล้าขาไม่สั่นของเอเอสทีวีด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเคยเป็นโฆษกกรณีการปกป้องดินแดนปราสาทเขาพระวิหาร และเป็นพิธีกรรายการปากกล้าขาไม่สั่นเฉพาะวันเสาร์

อัยการถามว่า พยานเคยตั้งกลุ่มไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เคยตั้งกลุ่มชื่อ กลุ่มพิทักษ์ชาติและราชบัลลังก์

อัยการถามว่า การปราศรัยของพันธมิตรฯ มีการถ่ายทอดสดด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า บางครั้งมี บางครั้งไม่มี ศาลถามว่า แล้วครั้งที่จำเลยปราศรัยในคดีนี้มีการถ่ายทอดหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ

อัยการถามว่า ในการปราศรัยของเวทีพันธมิตรฯ นั้น นอกจากผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองแล้ว ยังมีพ่อค้า แม่ค้า และคนที่ผ่านไปผ่านมาได้ฟังใช่หรือไม่ และบางคนอาจจะเข้าใจและบางคนอาจจะไม่เข้าใจในเจตนาใช่หรือไม่ พยานตอบว่า คิดว่าไม่ เพราะถ้าคนที่รู้จักจำเลยก็จะรู้เจตนา เว้นแต่ถ้าผู้ฟังมีอคติต่อผู้พูดก็จะไม่เข้าใจว่าผู้พูดพูดว่าอะไร อัยการถามว่า คนที่ฟังแล้วก็อาจจะเกิดความคล้อยตามใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จะรู้สึกรังเกียจผู้พูด (หมายถึงเจ้าของคำพูด)

อัยการถามว่า คดีมาตรา 112 นั้นประชาชนสามารถไปฟ้องคดีได้เองเลยใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ใช่ หากเป็นพลเมืองดี แต่โดยส่วนใหญ่ การปราศรัยของจำเลยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปนั่งเฝ้าตลอดเวลา เวลามีการชุมนุมก็จะมีเจ้าหน้าที่สันติบาลเอารถมาตั้งเครื่องบันทึกการปราศรัย ผู้ที่ได้ฟังคำปราศรัยจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ฟังการบันทึกเทปตลอดเวลา

อัยการถามว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติเป็นความประสงค์ของพันธมิตรฯ ทั้งหมด ไม่ใช่แกนนำคนใดคนหนึ่งใช่ไหม พยานตอบว่า มาจากแกนนำทั้งหมดแต่มีจำเลยเป็นแกนหลัก

อัยการถามว่า กรณีการถวายฎีกาที่พยานแนะนำจำเลยนั้น มีการยื่นเรื่องส่งถึงกองงานราชเลขาฯ เมื่อปี 2552 ใช่หรือไม่ ประพันธ์ตอบว่า ตนให้คำแนะนำอย่างเดียว ส่วนจะได้รับการพิจารณาอย่างไรไม่ทราบ แต่พยานได้ตามเรื่องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดและแจ้งว่า มีการทำฎีกาเรื่องนี้ไปแล้ว และส่งสำเนาฎีกาไปให้สำนักงานอัยการแล้ว ซึ่งภายหลังส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพียงไม่กี่วัน ก็มีการเร่งเรื่องดำเนินคดีกับจำเลยโดยเร็ว เรื่องจึงถูกดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้รอการพิจารณาใดๆ และจนปัจจุบัน ฎีกาเรื่องนี้ก็ยังไม่ตกลงมา ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อเรื่องผ่านไปถึงขั้นอัยการแล้ว สำนักพระราชวังย่อมไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง และสำนักพระราชวังจะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อการพิจารณาคดีถึงที่สุดแล้วพยานเห็นว่าเรื่องนี้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทนายความไม่ถามติง เสร็จสิ้นการสืบพยานเวลาประมาณ 16.00 น.

วันที่ 29 สิงหาคม 2555 ณ ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 908

สืบพยานจำเลยปากที่ 6 นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สรรหา

นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สรรหา เบิกความเป็นพลายจำเลย สรุปว่า การพูดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 112 แต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ซึ่งน.ส.ดารณี พูดจาจาบจ้วงและพาดพิงสถาบันเบื้องสูงหลายครั้ง เป็นความผิดซึ่งหน้า หากไม่มีใครจับกุม และถ้าปล่อยให้พูดอยู่เช่นนั้น ก็เท่ากับว่ากฎหมายบ้านเมืองเป็นหมัน

นายคำนูญ เบิกความว่า ภายหลังนายสนธิถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดี นายคำนูญเป็นคนที่ใช้ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาประกันตัวให้ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งนี้เมื่อปี 2548-2549 พบข้อความการหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูงปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์จำนวนมาก ซึ่งจำเลยพูดในการจัดรายการทางโทรทัศน์รวมทั้งพูดบนเวทีการปราศรัยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการอย่างจริงจัง

สืบพยานจำเลยปากที่ 7 นายจินดา ประดับปัญญาวุฒิ บิดา น.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551

นายจินดา ประดับปัญญาวุฒิ เบิกความเป็นพยานจำเลยสรุปว่า ครอบครัวเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะมีความรักต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐธรรมนูญ และความถูกต้อง ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา น.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ ลูกสาวคนโต ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาเข้าที่ลำตัวบริเวณสีข้าง เสียชีวิตที่รพ.รามาธิบดี ขณะที่ภรรยาของตนเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส นิ้วเท้าขาด และมีบาดแผลที่ขาทั้งสองข้าง รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช โดยสมเด็จพระราชินีทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมป์

สืบพยานจำเลยปากที่ 8 ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ขึ้นเบิกความเป็นปากสุดท้ายว่า ได้อ่านเนื้อหาถอดเทปคำปราศรัยของนายสนธิแล้ว วิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าผู้พูดมีเจตนาที่จะถ่ายทอดคำพูดของ นางสาวดารณี เพื่อสื่อให้ประชาชนเห็นว่า นางสาวดารณี มีพฤติกรรมจาบจ้วงเบื้องสูง อันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ใช่ลักษณะของนำข้อความดังกล่าวมาพูดโดยตรง เป็นการบอกเล่าและถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ผู้พูดรับรู้มา เพื่อให้ผู้ฟังทราบเนื้อหาสาระของบุคคล

การสืบพยานนัดสุดท้ายเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 26 กันยายน นี้ เวลา 09.00 น./

 

26 กันยายน 2555 ณ ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 908

อัยการ ทนายความจำเลย และตัวจำเลยมาศาล พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 2 คน วันนี้มีผู้มาสังเกตการณ์คดีกว่า 50 คนส่วนหนึ่งเป็นนักข่าว และส่วนหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองของจำเลย เต็มห้องพิจารณา ทำให้มีผู้สังเกตการณ์บางส่วนต้องยืน หรือนั่งกับพื้น โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3-4 คนคอยดูแลความเรียบร้อยทั้งในและนอกห้องพิจารณาคดี

เวลาประมาณ 9.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบกระดาษเปล่ายื่นให้ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งและแจ้งว่า ขอให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความกรอกชื่อ นามสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชนไว้ด้วย

เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์คดีว่า ยังไม่ถึงเวลาฟังคำพิพากษาในคดีนี้ แต่มีคดีอื่นจะต้องพิจารณาก่อน ขอที่นั่งให้จำเลยในคดีอื่น ซึ่งเดินเข้ามาให้ห้องพร้อมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

เวลาประมาณ 10.10 น. ผู้พิพากษาหนึ่งท่านขึ้นบัลลังก์และแจ้งว่า คำพิพากษาในคดีนี้ยังไม่มา ศาลจึงจะสืบพยานในคดีอื่นก่อน ผู้สังเกตการณ์และนักข่าวที่มารอฟังคดีนี้สามารถออกไปรอข้างนอกได้ จากนั้นจำเลยแจ้งต่อศาลว่าตนขออนุญาตออกไปรอข้างนอก ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากจึงเดินออกไปนอกห้องพิจารณา

เวลาประมาณ 10.35 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ว่าเลขานุการศาลอาญาขอพูดคุยกับนักข่าวที่ห้องศูนย์นัดความ บริเวณหน้าโถงลิฟท์ชั้น 9 นักข่าวประมาณ 20 คนจึงเข้าไปให้ห้องนั้น แต่ผู้สังเกตการณ์คดีจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องดังกล่าว เพราะไม่มีบัตรนักข่าว

ซึ่งทราบภายหลังว่า นางอรอุษา กฤษณะโลม จรัญรัตนศรี เลขานุการศาลอาญา ขอความร่วมมือกับนักข่าวว่าอย่านำข้อความที่เป็นความผิดตามคำฟ้องไปเผยแพร่ซ้ำ มิเช่นนั้นอาจจะเป็นความผิดเองได้ และตัวคำพิพากษาจะมีแจกให้กับสื่อมวลชนบริเวณโต๊ะประชาสัมพันธ์ชั้น 1 

เวลาประมาณ 11.40 ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีอื่นเสร็จ ผู้พิพากษาสุจิตรา โพทะยะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในคดีนี้ขึ้นบัลลังก์ ขณะที่จำเลย ทนายความ และผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเข้ามาในห้องพิจารณาก่อนหน้านั้นประมาณ 5 นาที

เวลาประมาณ 11.50 ผู้พิพากษาสุจิตรา โพทะยะ เริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสรุปได้ว่า

พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยปราศรัยถ้อยความของนางสาวดารณี ให้ประชาชนฟังบนเวทีกลุ่มพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีเอเอสทีวีและอินเทอร์เน็ต ในช่วงเวลานั้นมีเว็บไซต์ที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์จริง จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
เห็นว่า การพูดของจำเลยไม่เป็นการขยายความคำพูดของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล แต่เป็นการพูดโดยถอดข้อความบางตอนมาสรุปให้ประชาชนฟัง เพราะพยานโจทก์เองก็เบิกความว่า ทราบว่าคำพูดของนางสาวดารณีหมายถึงทั้งสองพระองค์แม้ไม่มีการระบุพระนาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหลายนายก็ยืนยันว่าเป็นการปราศรัยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณี
 
ในขณะที่ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เบิกความว่า จำเลยต้องการบอกเล่าความไม่ดีของนางสาวดารณี เพราะฉะนั้นแม้คำพูดของจำเลยจะหมิ่นเหม่ หรืออาจใช้วิธีอื่นในการดำเนินการเรื่องเดียวกันนี้ได้ก็ตาม แต่วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับคำยืนยันของพลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านข่าวกรองว่า วันเกิดเหตุจำเลยปราศรัยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณีที่ได้กระทำการลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว 
 
การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
 
อ่านคำพิพากษาเสร็จเวลาประมาณ 11.53 สิ้นเสียงอ่านคำพิพากษามีเสียงปรบมือและโห่ร้องจากผู้สนับสนุนนายสนธิ ลิ้มทองกุล จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเข้ามาปราม
 
หลังการอ่านคำพิพากษานายสนธิ มีสีหน้าแจ่มใส่และกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ

 

 

หมายเลขคดีดำ

อ.2066/2553

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ศาลรับฟ้องคดีสนธิหมิ่น แพร่คำดาตอร์ปิโด, เว็บไซต์กระปุก (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555)
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี "สนธิ ลิ้ม" หมิ่นเบื้องสูง 26 ก.ย.นี้ 9 โมง, เว็บไซต์มติชนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555)
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 3 เมษายน 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555)
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 3 มีนาคม 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555)
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555)
อุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก 2 ปี “สนธิ” ปราศรัยซ้ำคำพูดดา ตอร์ปิโด, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, 1 ตุลาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 1 ตุลาคม 2556)

17 พฤศจิกายน 2552 อัยการเลื่อนนัดสั่งคดี เนื่องจากนายสนธิยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด และยังไม่มีคำสั่งใดๆ ลงมา อัยการจึงให้เลื่อนฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2552

3 มีนาคม 2553 นายกายสิทธิ์ พิศวงปรา​การ อธิบดีอัย​การฝ่ายคดีอาญา มีหนังสือ​แจ้งมายังพนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ให้ส่งตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล มาส่งฟ้องศาล ​โดยได้ออกหมาย​เรียก​ให้มาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ​แต่​เลื่อนนัด​เพราะ​เป็นวันหยุดราช​การ ​และยัง​ไม่มาพบ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษมีคำสั่งให้เลื่อนนัดเป็นวันที่ 2 เมษายน 2553

2 เมษายน 2553 สำนักงานอัยการสูงสุดนัดให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งฟ้อง ทนายความแจ้งขอเลื่อนนัด พร้อมแจ้งรายละเอียดการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ​โดยขอ​ให้สอบพยาน​เพิ่มอีก 1 ปากคือ นาย​เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง​ในประ​เด็น​ใหม่ที่ยัง​ไม่อยู่​ในสำนวน ​สำนักงานอัยการจึงมีคำสั่ง​ให้​เลื่อนนัดออก​ไปอีก 1 ​เดือน ​แต่อัยการจะพิจารณาว่า หาก​ผู้ต้องหาจะขอ​ให้สอบสวนพยาน​เพิ่ม​เติมอีก จะถือเป็นการประวิง​เวลา​หรือ​ไม่ หาก​เห็นว่าจง​ใจ​ไม่​เข้าพบอัย​การจะสั่ง​ให้พนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับ​เพื่อนำตัวมาส่งฟ้องศาลต่อ​ไป

5 กรกฎาคม 2553 นายสนธิเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความยื่นขอประกันตัวด้วยวงเงิน 3 แสนบาท ทั้งนี้ ในประเด็นที่นายสนธิยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมและระบุว่าขาดเจตนาที่จะกระทำผิดตามข้อกล่าวหานั้น อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติม เพราะข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ในสำนวนครบสมบูรณ์แล้ว ส่วนข้ออ้างเรื่องการขาดเจตนานั้นเป็นเรื่องที่จะต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล

16 สิงหาคม 2553 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน

1 พฤศจิกายน 2554
นัดสืบพยานโจทก์ พยานไม่มาศาล

2,8,9,15,16,29,30 พฤศจิกายน และ 7,8 ธันวาคม 2554
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย แต่ยกเลิกนัดแล้วเลื่อนไปสืบพยานในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2555

10,11,12,13,25 กรกฎาคม 2555
นัดสืบพยานโจทก์

21 สิงหาคม 2555
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองว่า ตนได้กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำตามคำฟ้องจริง ด้วยเจตนาเพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเจตนาพูดให้กระทบกระเทือน หรือใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยแนวทางของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด ตนนำคำกล่าวของนางสาวดารณีไปปราศรัยเพื่อกดดันให้มีการดำเนินคดีกับนางสาวดารณี เพราะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการอะไร และหลังจากที่ตนปราศรัย วันรุ่งขึ้นกองทัพบกก็นำเรื่องนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สนธิกล่าวว่า คดีนี้ตนโดนกลั่นแกล้งทางการเมือง การดำเนินคดีนี้เกิดจากผู้มีอำนาจต้องการกลั่นแกล้งกลุ่มพันธมิตร พยานโจทก์สามปากที่มาเบิกความปรักปรำตนก็เพราะอยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเคยมีคดีความขัดแย้งกันมาก่อนหน้านี้

28 สิงหาคม 2555
สืบพยานจำเลยปากที่สอง พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการปกป้องและรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในการชุมนุมทุกครั้งจะมีการร้องเพลงเทียนแห่งธรรม มีเนื้อหาท่อนสำคัญว่า “จะขอเป็นยามรักษาแผ่นดิน ขอเอาชีวินพิทักษ์ราชัน” ตลอดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยมีใครพูดจาจาบจ้วงสถาบัน และตนก็ไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะตนถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และหากนายสนธิไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ตนก็คงจะไม่คบหากับนายสนธิมาจนถึงปัจจุบัน

พล.ต.จำลองเบิกความต่อว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีต่อนางสาวดารณี ที่ปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวงและพูดจาจาบจ้วงสถาบันด้วยถ้วยคำหยาบคาย ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม เดือนมิถุนายน และวันที่ 18 -19 กรกฎาคม 2551 รวมทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งช่วงนั้นพบว่ามีการเผยแพร่ข้อความจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากมาย ทั้งในเว็บไซต์ และบทความต่างๆ ทำให้จำเลยต้องออกมาพูดเพื่อกดดันไปยังเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งการพูดบนเวทีปราศรัยของนายสนธินั้น เป็นการสรุปคำพูดของนางสาวดารณี สั้นๆ เพียงแค่ 5 บรรทัด เพื่อให้คนฟังทราบและให้ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่ได้ขยายความแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อนายสนธิพูดเสร็จ ตนก็เห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์และจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดี และคาดว่าหากไม่มีการดำเนินคดีใดๆ นางสาวดารณี ก็คงจะกระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ เห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ไม่ได้มีการปฏิบัติต่อแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากในคดีหมิ่นเบื้องสูง กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. นายจักรภพ เพ็ญแข รวมทั้งกรณีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง

สืบพยานจำเลยปากที่สาม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เบิกความว่า เจตนาของการปราศรัยของจำเลยสืบเนื่องมาจากที่นางสาวดารณีปราศรัยที่เวทีสนามหลวงมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จึงต้องขึ้นพูดบนเวทีพันธมิตรฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดี  เพราะก่อนหน้านี้พบว่านางสาวดารณีได้ปราศรัยในลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยเป็นข่าวว่ามีการดำเนินการใดๆ จนเมื่อนายสนธิได้พูดกับประชาชนให้รับรู้ จึงมีการแจ้งความดำเนินคดี จนภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก ซึ่งจะเห็นได้ว่านายสนธิไม่ได้มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพราะคนที่ได้รับฟังการปราศรัยนั้นไม่ได้คล้อยตามหรือเห็นด้วยกับการกระทำของนางสาวดารณี แต่แสดงความไม่พอใจกับคำพูดของนางดารณีและในการปราศรัยครั้งนั้นนายสนธิก็ได้ว่ากล่าวนางสาวดารณี ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนที่แตกต่างกัน

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่นายสนธิปราศรัยนั้นเป็นช่วงเวลาในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะมีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และปรากฏว่ามีการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงแพร่หลาย ทั้งทางการปราศรัย และเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ตำรวจ และอัยการ ไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร

สืบพยานจำเลยปากที่ 4 พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรอง เบิกความว่า ตนทำงานด้านข่าวกรอง มีหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนติดตามจำเลยมาตลอด ข้อมูลที่พบ คือ จำเลยเป็นคนรักชาติและรักสถาบันกษัตริย์ฯ แน่นอน ดังนั้นการพูดครั้งนี้น่าจะไม่มีเจตนาให้กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ฯ เคยได้รับรายงานถึงการปราศรัยของนางสาวดารณีอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ และมีคนอื่นที่ปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ เช่นกัน แต่เมื่อสอบถามไปยังหน่วยข่าวที่ไปปฏิบัติงาน ก็ได้รับรายงานว่ารายงานไปแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการอะไร จนกระทั่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลย ขึ้นพูดบนเวที กองทัพบกจึงเข้าแจ้งความ

สืบพยานจำเลยปากที่ 5 นายประพันธ์ คูณมี อาชีพทนายความ แนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เบิกความว่า ตั้งแต่ตนร่วมกิจกรรมกับจำเลยมา ไม่เคยปรากฏกิจกรรมที่ล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ กิจกรรมต่างๆ ล้วนแต่แสดงความชัดเจนและแน่วแน่จริงใจในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ คำปราศรัยของจำเลยกับของนางสาวดารณีนั้นแตกต่างกัน ของนางสาวดารณีมีลักษณะหมิ่นประมาท เจตนาอาฆาตมาดร้าย ส่วนการกล่าวของจำเลย วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมรู้ว่า จำเลยกล่าวโดยมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ

ประพันธ์กล่าวด้วยว่า คดีนี้ได้ทำฎีกาเสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยมีคดีอื่นที่ทำแล้วสุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่กรณีของจำเลยก็มีการทำฎีกาเช่นกัน กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดทั้งๆ ที่น่าจะอยู่ในวิสัยที่สั่งไม่ฟ้องได้ ซึ่งภายหลังส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพียงไม่กี่วัน ก็มีการเร่งเรื่องดำเนินคดีกับจำเลยโดยเร็ว จำเลยจึงถูกดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้รอการพิจารณาใดๆ ซึ่งเมื่อเรื่องผ่านไปขั้นตอนของอัยการแล้ว สำนักพระราชวังย่อมไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

29 สิงหาคม 2555
สืบพยานจำเลยปากที่ 6 นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สรรหา เบิกความเป็นพยานจำเลยสรุปว่า การพูดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 112 แต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ซึ่งน.ส.ดารณี พูดจาจาบจ้วงและพาดพิงสถาบันเบื้องสูงหลายครั้ง เป็นความผิดซึ่งหน้า หากไม่มีใครจับกุม และถ้าปล่อยให้พูดอยู่เช่นนั้น ก็เท่ากับว่ากฎหมายบ้านเมืองเป็นหมัน

นายคำนูญ เบิกความว่า ภายหลังนายสนธิถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดี นายคำนูญเป็นคนที่ใช้ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาประกันตัวให้ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งนี้เมื่อปี 2548-2549 พบข้อความการหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูงปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์จำนวนมาก ซึ่งจำเลยพูดในการจัดรายการทางโทรทัศน์รวมทั้งพูดบนเวทีการปราศรัยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการอย่างจริงจัง

สืบพยานจำเลยปากที่ 7 นายจินดา ประดับปัญญาวุฒิ บิดาของน.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เบิกความเป็นพยานจำเลยสรุปว่า ครอบครัวเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะมีความรักต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐธรรมนูญ และความถูกต้อง ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา น.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ ลูกสาวคนโต ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาเข้าที่ลำตัวบริเวณสีข้างเสียชีวิตที่รพ.รามาธิบดี ขณะที่ภรรยาของตนเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส นิ้วเท้าขาด และมีบาดแผลที่ขาทั้งสองข้าง รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช โดยสมเด็จพระราชินีทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมป์

สืบพยานจำเลยปากที่ 8 ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้อ่านเนื้อหาถอดเทปคำปราศรัยของนายสนธิแล้ว วิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าผู้พูดมีเจตนาที่จะถ่ายทอดคำพูดของ นางสาวดารณี เพื่อสื่อให้ประชาชนเห็นว่า นางสาวดารณี มีพฤติกรรมจาบจ้วงเบื้องสูง อันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ใช่ลักษณะของนำข้อความดังกล่าวมาพูดโดยตรง เป็นการบอกเล่าและถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ผู้พูดรับรู้มา เพื่อให้ผู้ฟังทราบเนื้อหาสาระของบุคคล

26 กันยายน 2555
ศาลนัดฟังคำพิพากษา 

 

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลาประมาณ 11.50 สรุปใจความสำคัญได้ว่า  พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยปราศรัยถ้อยความของนางสาวดารณี ให้ประชาชนฟังบนเวทีกลุ่มพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีเอเอสทีวีและอินเทอร์เน็ต … ในช่วงเวลานั้นมีเว็บไซต์ที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์จริง จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
การพูดของจำเลยไม่เป็นการขยายความคำพูดของนางสาวดารณีชาญเชิงศิลปกุล เพราะพยานโจทก์เองก็เบิกความว่า ทราบว่าคำพูดของนางสาวดารณีหมายถึงทั้งสองพระองค์แม้ไม่มีการระบุพระนาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหลายนายยืนยันว่าเป็นการปราศรัยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณี
 
ในขณะที่ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เบิกความว่าจำเลยต้องการบอกเล่าความไม่ดีของนางสาวดารณี เพราะฉะนั้นแม้คำพูดของจำเลยจะหมิ่นเหม่ หรืออาจใช้วิธีอื่นในการดำเนินการเรื่องเดียวกันนี้ได้ก็ตาม แต่วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้าย โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับคำยืนยันของพลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านข่าวกรองว่า วันเกิดเหตุจำเลยปราศรัยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนางสาวดารณีที่ได้กระทำการลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว 
 
การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
 
 
19 พฤศจิกายน 2555
ฝ่ายโจทย์โดยพนักงานอัยการยื่นอุธรณ์
 
 
1 ตุลาคม 2556
ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ห้อง 814 ศาลอาญา รัชดาภิเษก
 
ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นสถาบันหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยโต้แย้งกันในศาลล่างฟังได้ว่า จำเลยนำคำพูดของ น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด ที่พูดพาดพิงสถาบันเบื้องสูง มาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการนำคำพูดมาหมิ่นประมาทซ้ำ ที่จำเลยอ้างว่าไม่เจตนา แต่เอาคำพูดมาปราศรัยเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับ น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า น.ส.ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด พูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระวังระวังอย่างเพียงพอ การกระทำเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
       
หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความได้นำหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 300,000 บาท ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ต่อมานายสุวัตรเพิ่มหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ วงเงิน 500,00 บาทต่อศาล ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในศาลฎีกาต่อไป

 

10 กุมภาพันธ์ 2560 
 
นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยในวันนัดอ่านคำพิพากษาสนธิ ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในคดีท่ีนำเอกสารเท็จไปขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย กว่า 1 พันล้านบาท
 
สำนักข่าวทีนิวส์ รายงานเหตุผลของศาลฎีกาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลใดจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยประมาท” สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่เจตนา 
 
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการกล่าวอ้างถึงคำปราศรัยของดารณี ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี เป็นการสรุปเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญจากคำปราศรัยของดารณีที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯดังกล่าว โดยมิได้กล่าวข้อความอื่นใดที่จะส่อให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด แต่จำเลยยังเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ดารณี เนื่องจากเชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดี แก่ดารณี เพราะเหตุที่ดารณีอยู่ในกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น โดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 70 
 
การกระทำของจำเลยย่อมขาดองค์ประกอบความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา