ถอนประกันเจ๋ง ดอกจิก

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ยศวริศ ชูกล่อม

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

ยศวริศ ชูกล่อมหรือเจ๋งดอกจิกหนึ่งในแกนนำนปชที่ได้รับการประกันตัวจากคดีก่อการร้ายถูกฟ้องถอนประกันเพราะพูดปราศรัยส่อไปในทางคุกคามต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

 

 

ศวริศ ชูกล่อม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เจ๋ง ดอกจิก เป็นนักแสดงตลกและเป็นแกนนำคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในอดีตเจ๋งเป็นหนึ่งในผู้ก้อตั้งคณะตลกสี่ดอกจิกและได้กลายเป็นนักแสดงตลกที่มีชื่อเสียง เจ๋งเป็นคนที่สนใจการเมืองการแสดงตลกของเจ๋งจึงมักสอดแทรกการเสียดสีการเมืองไว้ด้วย นอกจากจะแสดงตลกแล้วเจ๋งยังทำงานกับบริษัทไปรษณีย์ไทยในช่วงเวลากลางวันด้วย
 
ช่วงที่นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นนายกรัฐมนตรี เจ๋งเคยถูกขอให้มาช่วยงานร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น นอกจากนี้เจ๋งยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสมาคมตลกในเวลาเดียวกันด้วย
 
ปี2548 เจ๋งเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัวโดยสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีในนามพรรคชาติไทยแต่ก็ไม่ได้รับเลือก หลังจากนั้นเจ๋งได้มาช่วยงานพรรคไทยรักไทยจนมีชื่อเข้าไปพัวพันกับการจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงแข่งขันเลือกตั้งจนเป็นเหตุที่ทำให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบ
 
หลังรัฐประหาร19กันยา2549 เจ๋งได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มนปชและได้นำคณะตลกของตนไปแสดงในที่ชุมนุมด้วย หลังจากนั้นเจ๋งก็เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนปชมาโดยตลอดและมีบทบาทมากขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญ เจ๋งถูกคุมขังพร้อมกับแกนนำคนอื่นๆหลังประกาศยุติการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 เจ๋งได้รับการปล่อยตัวก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี2554 หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเจ๋งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 เจ๋งตกเป็นข่าวว่าเป็นผู้ยึดเรือบริจาคและทำกิริยาไม่เหมาะสมต่อสื่อมวลชนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว
 
กลางปี 2555 เจ๋งถูกตัดสินจำคุกจากการยื่นฟ้องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โดยเจ๋งถูกกล่าวหาว่าเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์และชื่อที่อยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในที่ชุมนุม ซึ่งผิดเงื่อนไขของการปล่อยตัวจากคดีการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่ได้ถูกประกันตัวออกมาจากการยื่นขอของกรุณา มอริส ภรรยาที่เป็นนักแสดง ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 600,000 บาท

 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

 

 

เมื่อระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลากลางวัน และกลางคืน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวกอีกหลายคนซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง และพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ประธานกลุ่ม (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม (นปช.) ได้ยุยง ปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทยให้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรม โดยมีความมุ่งหมายที่จะต่อต้านรัฐบาล
 
จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม,จำเลยกับพวกได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง ,จำเลยกับพวกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน,จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสถานที่ต่างๆและยิงระเบิดใส่สถานที่ต่างๆ ,ปิดถนนตั้งด่านสกัดตรวจค้นยานพาหนะ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง เหตุเกิดที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย เกี่ยวพันกัน
 
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2

พฤติการณ์การจับกุม

 

19 พฤศจิกายน 2553
หลังประกาศยุติการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ แกนนำนปช. 6 คน ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์  ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย(พท.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายขวัญชัย ไพรพนา นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายนิสิต สินธุไพร  และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก เข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2542/2553

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 
“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
 
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่การให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
 
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
 
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”
 
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวม 3 ฉบับ คือ
1. ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลให้มี ส.ส.ร.จำนวน 99 คน , ส.ส.ร. จะมาจาก 1.การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนใน 77 จังหวัด รวม 77 คน และ 2.มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 6 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือ การร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 10 คน
 
2. ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล กำหนดให้มี ส.ส.ร. จำนวน 99 คน มาจาก1.การเลือกตั้ง 77 คน และ 2.มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 7 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 7 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 8 คน
 
3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยให้แก้ไขในมาตรา 291 โดยมี ส.ส.ร. ทั้งหมด 99 คน โดย ส.ส.ร.จะมาจาก1.การเลือกตั้ง จำนวน 77 คน 2.อีก 22 คนมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา แต่ ส.ส.,ส.ว. และ รัฐมนตรีจะต้องไม่อยู่ในจำนวนนี้ โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ นปช. กำหนดให้มี สสร.100 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยกำหนดพื้นที่ 1 ส.ส.ร. ต่อประชากร 400,000 คน และรัฐสภาเลือกนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน
 
สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างคือ การแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เข้ามาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยกำหนดให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน แบ่งเป็น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน และ มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภา 22 คน โดยเงื่อนไขเวลาได้กำหนดไม่ต่างกันคือให้ ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก่อนส่งร่างให้กับประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนจัดทำประชามติ
 
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของร่างแก้ไขจากภาคประชาชนด้วย ซึ่งมี 2 ฉบับ ยื่นโดยนายสงวน พงศ์มณี สส.เพื่อไทย จังหวัดลำพูน พร้อมรายชื่อประชาชน 60,000 รายชื่อ โดยมีเนื้อหาแก้มาตรา 291 ให้มี สสร. 101 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน นักวิชาการ 24 คน และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่นายชาตวิทย์ มงคลแสน ผู้ประสานงานสภาประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 และคณะราษฎร 2555 ยื่นแก้มาตรา 291 โดยเสนอให้มี ส.ส.ร. 375 คน ตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบเขต

แหล่งอ้างอิง

ระบบงานสารสนเทศสำนวนคดี ศาลอาญา. เว็บไซด์ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อ 5 ธันวาคม 2555)

"เจ๋ง ดอกจิก"จำเลยคดีก่อการร้าย ขอศาลประกันตัว อ้างสำนึกผิด-ไม่ยุ่งการเมือง. มติชน 25 กันยายน 2555 (อ้างอิงเมื่อ 5 ธันวาคม 2555)

 

 

 
เปิดคำสั่งศาล ถอนประกัน"เจ๋ง ดอกจิก" 18 แกนนำนปช.รอด. 23 สิงหาคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 5 ธันวาคม 2555)
 
ระบบงานสารสนเทศสำนวนคดี ศาลอาญา. เว็บไซด์ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อ 5 ธันวาคม 2555)
 
คำต่อคำ เจ๋ง ดอกจิก สั่งเสื้อแดงล่าตุลาการศาล รธน.-ครอบครัว. สำนักข่าวเจ้าพระยา 7 มิถุนายน 2555 (อ้างอิงเมื่อ 17 ธันวาคม 2555)
 
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งสภาฯชะลอแก้รธน. กรุงเทพธุรกิจ 1 มิถุนายน 2555 (อ้างอิงเมื่อ 4 มกราคม 2556)
 
มติสภาผ่านร่างแก้ รธน.3 ฉบับ 399 เสียง. Voice TV 25 กุมภาพันธ์ 2555 (อ้างอิงเมื่อ 13 มกราคม 2556)
 
40 ส.ว.- ปชป.ยื่นค้านแก้รธน.291. Voice TV 29 พฤษภาคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 13 มกราคม 2556)
 
พรรคร่วมรัฐบาลยื่นแก้ไข รธน.ม.291 แล้ว ปธ.สภาพร้อมบรรจุเข้าที่ประชุม. ผู้จัดการ 9 กุมภาพันธ์ 2555 (อ้างอิงเมื่อ 13 มกราคม 2556)
 
นิพิฏฐ์เตรียมซีดีเล่นงานเจ๋งดอกจิกถอนประกัน. INN 21 สิงหาคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 13 มกราคม 2556)
 
"เจ๋ง ดอกจิก" จังหวะตบมุข "ตลก คาเฟ่" สู่ "เลขารัฐมนตรี". มติชน 15 เมษายน 2555 (อ้างอิงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2556)
 

 

 

22 กุมภาพันธ์ 2554   
ศาลนัดอ่านคำสั่ง อนุญาตให้ประกันตัว 7 แกนนำ นปช.และ 1 แนวร่วม  ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลย  ส่วน 1 แนวร่วมคือนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง
สร้างความยินดีแก่กลุ่มคนเสื้อแดง จากนั้น ได้เดินทางไปรับตัวแกนนำ นปช. ที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร
 
คำสั่งศาลระบุว่า  ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้วเห็นว่ากรณีมีข้อเท็จจริงบางประการที่จะให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งเดิมได้ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 3,4,5,6,7,8,10 และ 11 โดยตีราคาประกันคนละ  600,000  บาท ทั้งนี้ห้ามมิให้จำเลยดังกล่าวกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
 
9 กุมภาพันธ์ 2555
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลยื่นหนังสือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังรวบรวมรายชื่อ ส.ส.รัฐบาล ที่ให้การสนับสนุนได้กว่า 270 รายชื่อ โดยได้ข้อสรุปตรงกันในการใช้ร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย ในการนำเสนอที่รัฐสภา
 
25 กุมภาพันธ์ 2555
การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังใช้เวลาพิจารณา 2 วัน รวมเวลาอภิปราย 32  ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติ โดยวิธีการขานชื่อให้ลงมติพร้อมกันทั้ง 3 ร่าง  โดยใช้วิธีขานชื่อเพื่อลงคะแนน มีผู้ร่วมลงคะแนนทั้งสิ้น 648 คนแบ่งเป็น ส.ส. 496 คน ส.ว. 149 คน โดยผลการลงคะแนนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ผ่านการรับรองจากที่ประชุมในวาระที่ 1 โดยมีผู้เห็นชอบรับหลักการ 399 คน ไม่รับ 199 คน งดออกเสียง 14 คนเท่ากันทั้ง 3 ร่าง โดยยึดร่างแก้ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก และมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน ในสัดส่วน พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา,พรรคชาติพัฒนา, พรรคพลังชล พรรคละ 1 คน และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 10 คน ใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน และนัดหมายให้มีการประชุมนัดแรก ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์
 
 
29 พฤษภาคม 2555
ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ระบุให้แก้ไขเป็นรายมาตรา แต่รัฐบาลกลับแก้ไขโดยการยกร่างทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ยิ่งกว่าการรัฐประหาร และยังไม่มีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนกว่า 76 ล้านคน จึงถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มล้างทั้งฉบับเช่นนี้ เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย
 
นอกจากนี้กลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งนำโดย พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ก็เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ต่ออัยการสูงสุดด้วยเช่นกัน โดยพลเอกสมเจตน์ ระบุว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมองว่าร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภา ซึ่งการดำเนินการของกลุ่ม 40 ส.ว. ทำไปด้วยความมุ่งหวังที่ดีต่อประเทศชาติ   จากนั้นกลุ่ม 40 ส.ว. ได้เดินทางไปยื่นหนังสือในกรณีเดียวกันต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
 
 
1 มิถุนายน 2555
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงถึงผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องรวม 5 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวันธงชัย ชำนายกิจ ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ,รวมทั้งนายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมมีสิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว จึงมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาทั้ง 5 คำร้อง โดยให้รวมพิจารณาคำร้องไปในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งรัฐสภารอการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
 
 
7 มิถุนายน 2555
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 5 คำร้อง กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และ นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ สร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จนนำมาสู่การเรียกชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณหน้ารัฐสภา 
 
นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีและมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยการปราศรัยของนายยศวริศ มีเนื้อหาส่อว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทและคุกคามตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด โดยการปราศรัยดังกล่าวได้เปิดเผยข้อมูลครอบครัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ แจกกลุ่มคนเสื้อแดงออกอากาศ ระบุ ให้ไปเยี่ยมบ้านและเอาอาหารไปฝากก่อนตาย
 
ต่อมา ราว 19.00 น.นายยศวริศ ได้ขึ้นปราศรัยที่หน้ารัฐสภา แก้ตัวว่า เมื่อสักครู่ตนไม่มีเจตนาคุกคามลูกเมียตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงการเอาเอกสารมาอ่าน ถ้าสิ่งที่ตนทำไปทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ก็ขอโทษ และยืนยันไม่มีเจตนาอย่างอื่น จึงขอให้พี่น้องเสื้อแดงอย่ายุ่งอย่าแตะต้อง หรือคุกคามลูกเมียตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
 
13 กรกฎาคม 2555
เวลา 14.44 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 โดยศาลรัฐธรรมนูญแบ่งประเด็นในการวินิจฉัย 4 ประเด็นดังนี้
 
1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 การให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา69
 
2.การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการผ่านการประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ 291 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติ จึงควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข จะเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์มาตรา 291
 
3.การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขเป็นรายมาตรา และปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ผ่านวาระ 2 และเตรียมลงมติในวาระ 3 ของรัฐสภา จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งยังไม่มีรูปธรรม เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ร้อง
 
4. เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อไม่กระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5
 
 
21 สิงหาคม 2555
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นหลักฐานประกอบคำร้องเพิ่มเติม คดีขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช. ว่า ในวันนี้ตนได้นำวีซีดีการปราศรัยของ นายยศวริศ ที่ปราศรัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จำนวน 5 ครั้ง มาเพื่อยื่นให้ศาลตรวจสอบ เพื่อชี้ให้เห็นว่า นายยศวริศ มีพฤติกรรมการปราศรัยซ้ำซากในการโจมตีองค์กรต่างๆ ซึ่งผิดเงื่อนไขการประกันตัว ส่วนศาลจะถอนประกันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจ แต่ตนมั่นใจในหลักฐานของตนมาก ส่วนที่มีข่าวว่า นายยศวริศ จะมีการเบิกพยานมาเบิกความนั้น ตนก็จะขออนุญาตต่อศาลใช้สิทธิ์ในการซักค้านด้วย
 
 
22 สิงหาคม 2555
เมื่อเวลา 15.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งให้ถอนประกันนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก เพียงคนเดียว ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อีก 18 คน ศาลไม่มีคำสั่งให้ถอนประกัน ทั้งนี้การพิจารณาคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นไปตามคำร้องของนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายยวริศ กับพวกเพราะทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จากกรณีที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีหน้ารัฐสภากล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
 
ซึ่งศาลพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานการปราศรัยของนายยศวริศ ที่มีการเปิดเผยรายชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัว เห็นว่ามีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย อีกทั้งยังเป็นการแสดงเจตนาร้ายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ถึงแม้จะขอโทษในภายหลัง แต่ก็ถือว่าผิดเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว จึงเห็นสมควรให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 7
 
ทั้งนี้ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ของจำเลยทั้งหมดให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยห้ามไม่ให้กระทำการอันเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่นปลุกระดม หรืออาจก่อให้อันตรายต่อคนอื่น และห้ามไม่ให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้อนุญาต
 
 
25 กันยายน 2555
ศาลนัดไต่สวนนายยศวริศ ชูกล่อมหรือ "เจ๋ง ดอกจิก" เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยที่ 7 ในคดีก่อการร้ายที่ถูกศาลสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ภายหลัง  นางกรุณา มอริส ภรรยาของนายยศวริศ   ใช้เงินสดจำนวน 6 แสนบาท เป็นหลักขอประกันตัว
 
นายยศวริศ  ขึ้นเบิกความแถลงต่อศาลว่า สำนึกในความผิดที่กระทำลงไป หากได้ประกันตัวจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก ขณะที่อยู่ในเรือนจำ ตนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆแ ละต่อไปหากศาลมีคำวินิจฉัยอย่างไรต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาล  ถ้าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ตนจะไม่หลบหนีและจะไม่ขึ้นเวทีปราศรัยและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงและทางการเมืองอีก และจะไม่กระทำการใดที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและองค์กรอิสระ
 
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนจำเลยแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตปล่อยชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 28 กันยายนเวลา 09.00น.
 
 
28 กันยายน 2555
ศาลอาญา รัชดา  มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสำนึกผิดแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม การปล่อยตัวดังกล่าวภายใต้เงื่อนไข ห้ามดูหมิ่น ปลุกระดม ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งกำชับห้ามขึ้นเวทีปราศรัยตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ต่อศาล และไม่แสดงความคิดเห็นใดๆทางการเมือง โดยจะมีการปล่อยตัวที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ( โรงเรียนพลตำรวจบางเขน )
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ทำหนังสือขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และได้ลงคำขอโทษในหนังสือพิมพ์มติชน และ ข่าวสด ติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 ก.ย. รวมถึงให้สัจจะว่าจะไม่ขึ้นเวทีปราศรัยต่อสาธารณชนและจะแถลงข่าวเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประกอบกับศาลเห็นว่าจำเลย ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 1 เดือนเศษน่าจะเพียงพอที่จะทำให้จำเลยหลาบจำ และสำนึกตัวได้ จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา