ไทยพีบีเอสชะลอเทป ตอบโจทย์ประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด: 07/02/2561

ผู้ต้องหา

รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นผู้สั่งชะลอการออกอากาศเทปรายการตอนที่5 ในแถลงการณ์ของสถานีลงชื่อ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

สารบัญ

รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตอนที่ 5 ซึ่งมีแขกรับเชิญ คือ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และส. ศิวรักษ์ ถูกชลอการออกอากาศหลังมีกลุ่มคนบุกประท้วงที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

สามวันต่อมาผู้บริหารไทยพีบีเอสมีมติให้รายการตอนดังกล่าวออกอากาศได้ ท่ามกลางกระแสไม่เห็นด้วย และมีประชาชนไปแจ้งความให้ดำเนินคดี ต่อมากสท.มีมติสั่งปรับสถานี 50,000 บาท

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

รายการตอบโจทย์ประเทศไทย เป็นรายการสัมภาษณ์ประเด็นสังคมการเมือง ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ออกอากาศทุกวัน เวลา 21.45 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
 
โดยเทปรายการตอบโจทย์ฯ ที่ทำให้เกิดกระแสทั้งต่อต้านและตอบรับเป็นตอนที่ชื่อว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 เทป กำหนดออกอากาศวันที่ 11-15 มีนาคม 2556  แต่เทปที่ 5 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ชะลอการออกอากาศหลังจากที่มีการชุมนุมของประชาชนที่ไม่พอใจหน้าสถานี และกลับมาออกอากาศในวันที่ 18 มีนาคม 2556
 
เทปที่ 1 สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ออกอากาศ 11 มีนาคม 2556
 
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แสดงความเห็นในรายการว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดจากการใส่ร้ายจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นมาก ต่างก็เป็นความเท็จ คนที่ไม่เข้าใจว่าพูดถึงสถาบันฯ ไม่ได้ก็เกิดความคับแค้นไปเองและอันที่จริงแล้วในสังคมเอเชียก็มีเรื่องมากมายที่เราไม่ชอบให้พูดในที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันฯเท่านั้น และที่จริง คนก็พูดเรื่องสถาบันฯกันทั่วไป เพียงแต่ไม่นำมาพูดในที่สาธารณะ ที่บอกว่าพูดไม่ได้จึงไม่ใช่เรื่องจริง ชาวต่างชาติเข้าใจผิดไปว่าพูดได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องสถาบันฯ
 
ฉะนั้นต้องหยุดขบวนการใส่ร้ายจาบจ้วงอย่างไม่เป็นธรรมนี้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอีกฝ่ายก็จะออกมาต่อต้าน ปกป้อง ซึ่งอาจทำไปด้วยความจริงใจหรือมีเป้าหมาทางการเมือง แน่นอนว่าถ้าไม่มีการใส่ร้ายจาบจ้วงเกิดขึ้นก่อน ก็ย่อมไม่มีการต่อต้านเกิดตามมา
 
ส่วนมาตรา 112 จะเป็นอย่างไรก็สามารถพูดคุยกันได้ด้วยสติปัญญา ไม่ควรที่ฝ่ายใดจะนำไปเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่น สังคมต้องคุยกันว่าจะมีกฎหมายลักษณะใดที่เทิดทูนปกป้องรักษาสถาบันฯ เพราะสถาบันฯ ไม่มีความสามรถปกป้องตัวเองจึงต้องมีกฎหมายให้คนอื่นฟ้องแทน อาจจะคุยกันเรื่องโทษขั้นต่ำ ควรมีหรือไม่ ใช้โทษปรับได้หรือไม่ ดูที่เจตนาว่ามีเจตนาอย่างไร  สำนักงานอัยการสูงสุดก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งฟ้อง
 
การพูดถึงการปรับตัวของสถาบันฯ อันที่จริงแล้วเราก็ไม่ควรมุ่งเน้นแต่สถาบันพระมหากษัตริย์เพราะทุกสถาบันก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่จะให้เปลี่ยนทันใจก็ไม่ได้  นอกจากนี้เราไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงกับประเทศไหนเลย เราต้องถวายความจงรักภักดี ด้วยการไม่ดึงพระเจ้าอยู่หัวมายุ่งกับการเมือง ไม่ต้องคิดว่าท่านมีความเห็นอย่างไร เพราะท่านเป็นเหมือนพ่อ ดูแลลูกทุกคน ไม่เช่นนั้นก็ถามกันปากต่อปาก จนเกิดความเข้าใจผิดกันไปเอง
 
เทปที่ 2 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  ออกอากาศ 12 มีนาคม 2556
 
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความเห็นต่อกฎหมายอาญามาตรา112 และสถานะของสถาบันกษัตริย์ ว่า การที่รัฐบาลยืนยันไม่แก้ไขมาตรา112 เป็นความผิดของรัฐบาลแต่ไม่ใช่ตัวแทนความต้องการของประชาชนว่าไม่ต้องการแก้ไข เพราะประชาชนได้เสนอชื่อกันไปแล้ว ที่รัฐบาลไม่กล้าทำก็เพราะถูกโจมตีประเด็นนี้ตลอดเวลา สมศักดิ์เชื่อว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ชนชั้นนำต้องแสดงความกล้าหาญ ลุกขึ้นมาพูดความจริง ไม่ใช่พูดกับต่างชาติอย่างหนึ่ง พูดในประเทศอีกอย่างหนึ่ง การพูดตรงไปตรงมาจะแก้ปัญหาได้ ไม่ได้ทำให้เกิดการปะทะแตกหัก แต่ถ้าพยายามหลีกเลี่ยงไปซุบซิบนินทา พอถึงเวลาก็ต้องทะเลาะกัน ที่สำคัญต้องยกเลิกมาตรา112 ไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาเพราะถ้ากฎหมายธรรมดาดีพอสำหรับประชาชนก็ต้องดีพอสำหรับทุกคนที่อยู่ในอำนาจรัฐเหมือนกัน ประมุขของรัฐไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองพิเศษ เพราะขัดแย้งกับประชาธิปไตยและโลกสมัยใหม่ ประเทศอื่นในโลกก็ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้  ถ้ามีก็ไม่ใช้จริง หรือกำลังเรียกร้องให้เลิก อันที่จริงแล้ว กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐควรจะยืดหยุ่นกว่าคนธรรมดาอีกด้วย เพราะมีอภิสิทธิ์ มีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป
 
อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์แสดงจุดยืนว่า ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย ส่วนหลังปฏิรูปจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง การเมืองสมัยใหม่ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการมีเสรีภาพ ไม่ใช่สร้างความจงรักภักดีด้วยการบังคับ การให้ข้อมูลด้านเดียวในโรงเรียน ในสื่อสาธารณะ และห้ามแสดงออกอีกด้าน แบบนี้เป็นการฝืนธรรมชาติ และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดำเนินมาแต่ไหนแต่ไรอย่างที่เข้าใจกัน หากเพิ่งเริ่มขึ้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์เข้ายึดอำนาจนี่เอง
 
เทปที่ 3 วสิษฐ เดชกุญชร ออกอากาศ 13 มีนาคม 2556
 
วสิษฐ เดชกุญชร แสดงความเห็นต่อการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ว่าเป็นคดีที่ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่ความผิดส่วนบุคคล แต่เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงแห่งรัฐ สถานะของพระมหากษัตริย์ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นภาพสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ว่าทรงเป็นที่ยอมรับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นต้นมาพระกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือการเมือง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง หากมีการล่วงละเมิดพระองค์  ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้กฎหมายนี้จัดการ วสิษฐเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีคณะบุคคลตั้งใจดึงพระมหากษัตริย์ลงมา เพื่อทำให้ตกต่ำไม่มีคุณค่า จึงมีปรากฏการณ์การย่ำยีสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น โดยทำผ่านสงครามไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ เลิกระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์นับเป็นเรื่องน่ารำคาญใจที่ไม่ยุติลงเสียที เพราะมีทั้งการคอร์รัปชั่นและการหลบหลู่สถาบันซึ่งก็ทำโดยคนคณะเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อหาประโยชน์ให้ตนเองได้เป็นประมุขของประเทศแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเคารพนับถือพระมหากษัตริย์
 
เทปที่ 4 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  ออกอากาศ 14 มีนาคม 2556
 
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความเห็นต่อการที่นายสุลักษณ์สนับสนุนม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอ หากนายสุลักษณ์ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันฯ จะสนับสนุนพรรคการเมืองนี้ได้อย่างไร เพราะการจะปฏิรูปสถาบันฯซึ่งกำลังไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องไม่กล่าวหาคนอื่นว่าทำลายสถาบันฯ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการตอกย้ำสถานะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวสถาบันฯเอง นอกจากนี้สมศักดิ์ยังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่สุลักษณ์กล่าวหาว่าทักษิณล้มเจ้า ทั้งที่จริง การล้มหรือไม่ล้มควรเป็นสิทธิ์ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยปัจจุบัน มีกฎหมายห้ามไม่ให้พูดถึงพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ดี ประชาชนพูดถึงพระมหากษัตริย์ได้เฉพาะในแง่ดี ซึ่งก็ไม่มีความหมายอะไร และไม่อาจรู้ว่าจริงหรือไม่จริง เพราะไม่มีทางเลือกอื่นให้พูดถึง หากจะพูดก็ผิดกฎหมายอาญามาตรา112  นายสุลักษณ์ได้ตอบข้อสงสัยของสมศักดิ์ว่า ต้องสนับสนุนสุขุมพันธุ์ แม้ว่าจะน่าเอือมระอา ไม่มีอะไรดี แต่ก็ไม่เลวร้าย ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้นิยมสถาบันกษัตริย์ ก็จะเลือกสุขุมพันธุ์เพราะเลวน้อยกว่าทักษิณ และสุขุมพันธุ์ก็เป็นหลานของทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งมีคุณต่อบ้านเมือง แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะโหนเจ้า ทำลายประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2490 และไม่เคยเปลี่ยนจนตอนนี้ก็ตาม
 
สุลักษณ์กล่าวว่าใครจะล้มสถาบันฯก็ทำได้ แต่ตนจะโจมตีเฉพาะคนที่มีอำนาจ มีเงินอย่างทักษิณเพียงคนเดียว เพราะทักษิณมีอำนาจเหนือกฎหมาย เป็นศัตรูที่ร้ายแรงของประชาชน ทั้งนี้ การล้มสถาบันฯ ล้มได้เฉพาะตัวสถาบันฯเอง และผู้อยู่แวดล้อมสถาบันฯ โดยเฉพาะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากเกินไป มีอำนาจมากเกินไป ควรต้องให้ขึ้นกับรัฐบาล รวมไปถึงทหาร และองคมนตรีที่มีสถานะอยู่เหนือกฎหมาย คนกลุ่มนี้ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เมื่อมีปัญหาก็ไม่กราบบังคมทูลหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อหน้าพระพักตร์ด้วยถ้อยคำที่นุ่มนวลเพื่อให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ทั้งที่สถานะของสถาบันฯในเวลานี้ไม่ใช่สถาบันฯในอุดมคติ หรืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับยุโรปและญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์มีพระราชกระแสรับสั่งได้โดยไม่มีคนรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งไม่ถูกต้อง หากมีรับสั่งเองก็แสดงว่าเป็นคนรับผิดชอบคำพูดตัวเอง ก็ต้องถูกคนวิจารณ์ ด้วยความอ่อนน้อม ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะตักเตือนพระองค์ แม้จะเป็นคำพูดที่ดีก็ตาม แต่เวลานี้มีการยกย่องสถาบันฯมากเกินไป จนกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 เพราะมีบทลงโทษหนักเกินไป ให้อำนาจตำรวจมากไป เป็นการทำลายสถาบันฯ รังแกพระเจ้าอยู่หัว หากมีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริง ก็ต้องไขตามที่สมศักดิ์เสนอไว้
 
เทปที่ 5 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ต่อ) ออกอากาศ 18 มีนาคม 2556
 
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวว่า จะต้องพูดความจริง ต้องชี้ให้เห็นว่า การมีสถาบันฯดีกว่าไม่มี สถาบันฯมีเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่ใช่เพื่อคนในสถาบันฯเอง สถาบันฯต้องอยู่เหนือความขัดแย้ง หากพระมหากษัตริย์จะทรงพระปรีชาก็ต้องไม่ใช่ทางการเมือง เช่น การอนุรักษ์วัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อประคับประคองสถาบันให้มั่นคง ซึ่งก็แทบไม่มีใครกล้าทำเลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ หรือองคมนตรีที่รู้ดีว่าสถาบันฯไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมากับรัฐประหาร2490 องคมนตรีเองก็มาพร้อมกับความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถูกแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์  ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
 
สมศักดิ์มีข้อเสนอว่า หากจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับสถาบัน ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา8 กฎหมายอาญามาตรา112 ยกเลิกองคมนตรี เพราะขึ้นกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งที่เป็นข้าราชการของรัฐ แต่สภาควบคุมไม่ได้ และนอกจากนี้ตามกฎหมาย รัฐบาลก็เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ต้องโอนการดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐให้ไปอยู่ที่รัฐบาลซึ่งจะควบคุมได้โดยสาธารณชน ยกเลิกการถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ยกเลิกการมีพระราชดำรัสสด ยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านเดียวถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ตอนนี้  สมศักดิ์เห็นว่า การจะยกเลิกแต่ตัวกฎหมายอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ จึง ต้องทำทั้งหมดพร้อมๆกันนอกจากนี้สมศักดิ์ได้เชื่อมโยงสถานะอำนาจของสถาบันเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ ว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว คนจะต้องตัดสินใจเองว่าจะคิดอย่างไร แต่สถาบันฯกลับยังเป็นศูนย์กลางของคนไทย ขัดกับโลกสมัยใหม่ หรือโลกของประชาธิปไตย ที่พลเมืองควรมีสิทธิ์แสดงความเห็นต่อระบอบที่เป็นอยู่ แต่ก็ทำไม่ได้  หากไม่แก้ไขภาวะนี้ สังคมก็เผชิญความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
 
ต่อข้อเสนอของสมศักดิ์ สุลักษณ์เห็นด้วยทุกประการ แต่เชื่อว่าตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะคนยังไม่มีความกล้าหาญมากพอ ก่อนอื่นต้องทำให้คนกล้าเผชิญความจริง เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วยได้พูด หลังจากนั้นสถาบันต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น สถาบันศาล  สถาบันสงฆ์ ก็จะเปลี่ยนด้วย  แต่หากทำตามที่สมศักดิ์เสนอก็จะเกิดผลสะเทือนกับคนทั่วไป ข้อเสนอก็จะถูกต่อต้านกลับมารุนแรง
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ. กสทช.

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ผอ.ไทยพีบีเอสแจงเหตุชะลอ‘ตอบโจทย์’ไม่มีแรงกดดันจากสถาบัน-หน่วยงานใด, เว็บไซต์ประชาไท, 17 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 18 มีนาคม 2556)

ภิญโญ ประกาศ"สละรายการ รักษาหลักการ" ถอนรายการตอบโจทย์ ฯ, เว็บไซต์ประชาไท, 16 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 18 มีนาคม 2556)

เปิดใจ ผอ.ไทยพีบีเอส ปมร้อนถอด "ตอบโจทย์", เว็บไซต์มติชน, 18 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 18 มีนาคม 2556)

กสท.ตั้ง กก.สอบปมยกเลิก "ตอบโจทย์" ชี้เข้าข่ายเดียวกับ "เหนือเมฆ" คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้, เว็บไซต์มติชน, 18 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 20 มีนาคม 2556)

หลากทรรศนะ ปฏิกิริยา "คนทำสื่อ" วิพากษ์ "ตอบโจทย์" ถูกแบน ฟ้าผ่ามาเหนือเมฆ!!, เว็บไซต์มติชน, 17 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 20 มีนาคม 2556)

แถลงการณ์คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เรื่อง การชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2556, เว็บไซต์ไทยพีบีเอส, 18 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 20 มีนาคม 2556)

"ผอ.ไทยพีบีเอส"ชี้แจงกรณีออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์"ตอน 5, เว็บไซต์ไทยพีบีเอส, 18 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 20 มีนาคม 2556)

40สว.รุมสับ 'ตอบโจทย์' แอบแฝงล้มสถาบัน, เว็บไซต์ไทยรัฐ, 18 มีนาคม 2556 (20 มีนาคม 2556)

'ประชาชนทนไม่ไหว' นัดประท้วง 'ไทยพีบีเอส' – 'รสนา' ท้าให้เชิญไปออกทีวีเรื่อง ปตท., เว็บไซต์ประชาไท, 19 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 20 มีนาคม 2556)

ตำรวจสอบแล้ว “เทปตอบโจทย์” พบ ‘บางคน’ เข้าข่ายผิด! – เตรียมตั้งคณะสอบสวน, เว็บไซต์มติชน, 21 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 21 มีนาคม 2556)

แจ้งความตอบโจทย์ ทีวีไทย ผิด ป.อาญา ม. 112 ทั้งดอนเมือง ทุ่งสองห้อง, เว็บไซต์โอเคเนชั่นบล็อก, 28 มีนาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2556)

ข่าวเที่ยงDNN แจ้งความดำเนินคดีผู้บริหารTPBS หมิ่นสถาบันฯ, เว็บไซต์ยูทูบ, 27 มีนาคม 2556 (4 เมษายน 2556)

ยังไม่จบ กสท.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ตอบโจทย์ฯ', เว็บไซต์ประชาไท, 4 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 4 เมษายน 2556)

ข้อมูลอีกด้าน หลัง “สนข.อิศรา” เสนอว่ามี บก. 2 คนตบเท้าพบ ผอ.ไทยพีบีเอส ก่อนรายการ “ตอบโจทย์” จะถูกยุติ เผยประชุม 3 รอบ หลังม็อบรักชาติกดดัน รอบสุดท้ายมีคนเข้าประชุมราว 11-14 คน ไม่มีใครตบเท้า และ “ณัฎฐา” ไม่เกี่ยวข้อง, เว็บไซต์สำนักข่าวอิสรา, 17 มีนาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 4 เมษายน 2556)

ชมรมคนรักในหลวง เคลื่อนใหญ่ประณาม 'ตอบโจทย์-ไทยพีบีเอส' ค้านแก้ ม.112, เว็บไซต์ประชาไท, วันที่ 7 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 9 เมษายน 2556)

11 มีนาคม 2556
 
รายการตอบโจทย์ประเทศไทย เริ่มแพร่ภาพเทปรายการในชุด “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งแบ่งออกเป็นห้าตอน 
 
ตอนที่หนึ่ง เป็นการสนทนากับ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  
 
12 มีนาคม 2556
 
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สอง มี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแขกรับเชิญ
 
13 มีนาคม 2556
 
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สาม มี พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแขกรับเชิญ
 
14 มีนาคม 2556
 
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สี่มี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาออกรายการพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน
 
15 มีนาคม2556
 
เวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเดินทางไปร้องเรียนและปักหลักอยู่ที่สถานี
 
ต่อมานายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส นำข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุมเข้าไปในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย หลังการพิจารณาผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าเทปรายการตอบโจทย์ตอนที่ห้าสามารถออกอากาศได้
 
ในช่วงข่าวภาคค่ำ ทางสถานีจึงชี้แจงการออกอากาศว่า จะเผยแพร่เทปรายการตอบโจทย์ตอนที่ห้าตามปรกติและจะเปิดพื้นที่สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างเพิ่มขึ้น จากนั้น ทางสถานีนำความเห็นของที่ประชุมมาแจ้งให้กับผู้ชุมนุมซึ่งยังปักหลักอยู่ที่ทำการของไทยพีบีเอสรับทราบ ผู้ชุมนุมมีท่าทีไม่พอใจและประกาศว่า หากไทยพีบีเอสเผยแพร่เทปรายการดังกล่าว ผู้ชุมนุมจะกระจายข่าวทางโซเชียลมีเดียเชิญชวนให้ผู้ไม่เห็นด้วยมาค้างคืนกันที่อาคารไทยพีบีเอส
 
หลังการเจรจากับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวและฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสประชุมกับนายสมชัยเพื่อแจ้งท่าทีของผู้ชุมนุมและหาทางออก ที่ประชุมกังวลว่า การทำหน้าที่ของสื่ออาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรง นายสมชัยจึงตัดสินใจชะลอการออกอากาศเทปดังกล่าวก่อนเวลาออกอากาศเพียง 15 นาทีเท่านั้น เพื่อรอให้คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนพิจารณาเทปรายการอีกครั้ง
 
ต่อมา สำนักข่าวอิศรารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในไทยพีบีเอสว่า มีพนักงานของสถานีไทยพีบีเอส ระดับบก. สองคน คือ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ  และนายบุตรรัตน์ บุตรพรหม บก.รายการข่าว เข้าพบนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก่อนรายการตอบโจทย์ ตอน สถาบันพระกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย 5 จะถูกสั่งให้ยุติการออกอากาศ ส่วน น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ไม่ได้เข้าพบ แต่แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ เทปดังกล่าว
 
16 มีนาคม 2556
 
นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการ ประกาศยุติบทบาทการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและเพื่อแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยต่อการระงับการออกอากาศเทปรายการตอบโจทย์ฯ 5
 
17 มีนาคม 2556
 
ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะของไทยพีบีเอสโพสต์ข้อความบน facebook ส่วนตัวสรุปความได้ว่า การนำเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องยากที่จะทำอย่างฉาบฉวย สื่อจึงต้องทำเรื่องนี้ด้วยความรับผิดชอบ เพื่อหาวิธีการนำเสนออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องความศรัทธาของคนส่วนใหญ่นั้นจะอันตรายหากจะหาคำตอบจากคนไม่กี่คน และไม่มีวันที่จะได้คำตอบที่ดีพอ
 
ในวันเดียวกันสำนักข่าวอิศรา เสนอข่าวว่า จากที่สำนักข่าวอิศราเคยเสนอข่าวว่ามีพนักงานระดับบก.ตบเท้าเข้าพบนายสมชัย สุวรรณบรรณ ไม่เป็นความจริง  โดยสำนักข่าวอิสราได้อ้างถึงแหล่งข่าวในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เป็นการเรียกประชุม ไม่ใช่การตบเท้าเข้าพบ โดยก่อนที่นายสมชัยจะตัดสินใจเลื่อนการออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ เทปดังกล่าว ก็มีผู้ร่วมประชุมอยู่ในห้องราว 11-14 คน นอกจากนายสมชัยก็มีนายมงคล ลีลาธรรม รองผอ.ไทยพีบีเอส ฝ่ายกฎหมาย บก.จำนวนหนึ่ง และผู้ประสานงานกับทีมตอบโจทย์ ที่เดินเข้าเดินออก โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นการสั่งเลื่อนเพื่อพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่การยุติ และในที่ประชุมไม่มีใครเสนอให้ยุติหรือแบนแต่อย่างใด และที่ข่าวเสนอว่า น.ส.ณัฏฐา เป็นหนึ่งในบก. ที่เข้าพบนายสมชัยก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เนื่องจากเวลานั้นกำลังจัดรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นรายการสดอยู่
 
18 มีนาคม 2556
 
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้เทปของรายการตอบโจทย์ยังไม่ได้ถูกแบนอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ทางสถานีเพียงแต่ชะลอการออกอากาศไว้เพื่อให้อนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้พิจารณาเทปรายการอย่างรอบคอบเสียก่อน   
 
ขณะเดียวกัน พันเอก.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณากรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ไม่ให้เทปรายการตอบโจทย์ฯ 5 ออกอากาศแล้ว โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าวคล้ายกับกรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยกเลิกการออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ประเด็นซึ่งต้องมีการพิจารณา คือ 1. เนื้อหาไม่ได้ออกอากาศ จึงไม่ต้องพิจารณาว่าเนื้อหาผิดหรือถูก 2. ผู้อำนวยการสถานีเป็นผู้ออกคำสั่งให้ยุติการออกอากาศ จึงต้องมีการพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ และมีอำนาจในการสั่งยุติหรือไม่ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคมนี้
 
เวลาต่อมาของวันเดียวกัน คณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สรุปความว่า คณะอนุกรรมการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนวินิจฉัยว่า การชะลอการแพร่ภาพรายการตอบโจทย์เป็นการผิดข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 6.1  คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรเผยแพร่เทปที่ถูกชะลอการออกอากาศโดยเร็วเพื่อเยียวยาผู้ชมที่ได้รับผลกระทบ
 
เวลา 21.45 น. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอนที่ห้า ตามมติคณะอนุกรรมการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสกล่าวถึงการเสนอประเด็น “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ของไทยพีบีเอสว่า เป็นการทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะเพื่อให้ประเด็นที่กำลังโต้เถียงกันมาปรากฏอยู่ในที่สาธารณะพร้อมระบุว่า เป็นการปลอดภัยกว่าที่จะถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประเด็นมาตรา 112 ในที่แจ้ง 
 
19 มีนาคม 2556
 
สว.สรรหา อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นางตรึงใจ บูรณสมภพ และสว.สรรหาท่านอื่นๆ ให้ความเห็นในทางลบกับเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ชี้ว่าเนื้อหาของรายการทำร้ายจิตใจประชาชนชาวไทยและตั้งข้อสงสัยว่าเนื้อหาของรายการอาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล หนึ่งในกลุ่ม 40 สว.กล่าวว่ากรณีนี้ ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยเชิญบุคคลคนเดียวมาออกรายการถึงสามตอน แม้สองตอนหลังมีผู้อื่นร่วมสนทนาแต่ทั้งสองก็มีแนวคิดที่เหมือนกันรายการจึงเป็นเหมือนการสนทนาของลูกคู่ 
 
ขณะเดียวกันด้านภาคประชาชนก็มีการเคลื่อนไหว กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มประชาชนทนไม่ไหว" ประกาศจัดชุมนุมที่หน้าสถานีไทยพีบีเอสในวันที่ 20 มีนาคม 2556  ระบุว่าชุมนุมเพราะไทยพีบีเอสไม่ทำตามที่รับปาก 
 
20 มีนาคม 2556
 
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “ตอบโจทย์เรื่องตอบโจทย์ : ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย” นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้ร่วมการเสวนายืนยันว่าการตัดสินใจชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์เป็นความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อป้องกันการเผชิญหน้า ต้องดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของสถานที่ราชการ ไม่ให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พร้อมชี้ว่าเป็นหน้าที่ของสื่อสาธารณะที่จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างมาแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน 
 
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลุ่ม "ประชาชนทนไม่ไหว" ประมาณ 50-100 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดี เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการที่สถานีตัดสินใจออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ห้า
 
โดยเวลาประมาณ 12.15 น. ตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเดินทางออกมารับหนังสือ ตัวแทนของกลุ่มประชาชนทนไม่ไหวอ่านแถลงการณ์ประนามการออกอากาศรายการเทปดังกล่าว เห็นว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย เพราะบุคคลที่ร่วมในรายการมีแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อสถาบันอันเป็นที่รักและเทิดทูนของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมเรียกร้องให้คณะผู้บริหารสถานีรับผิดชอบด้วยการลาออก และขอโทษสังคมไทยโดยเร็วที่สุด หากข้อเรียกร้องดังกล่าวนี่ไม่เป็นผลจะขอดำเนินการตามกฎหมายตามที่เห็นสมควรในกระบวนการยุติธรรมต่อไป 
 
21 มีนาคม 2556
 
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคำกล่าวของผู้ร่วมรายการบางท่าน ในรายการดังกล่าวบางช่วงบางตอน เป็นการกระทำที่มีลักษณะเข้าข่ายน่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ให้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้เสร็จสิ้นโดยด่วน และหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการกระทำผิดฐานอื่น หรือมีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดก็ให้มีอำนาจดำเนินการและหาตัวผู้กระทำผิด แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทุกระยะ 30 วัน นอกจากนี้หากมีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่อื่นใด ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งนี้เป็นพนักงานผู้รับผิดชอบ
 
25 มีนาคม 2556
 
ในเว็บไซต์เฟซบุคมีการแชร์ภาพบันทึกประจำวัน ที่บุคคลหนึ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา  นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์  และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยระบุข้อหาว่า “ในความผิดทางอาญาและเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามมาตรา 37”  กับนายสมชัย สุวรรณบรรณ ระบุข้อหาว่า “ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157”
 
27 มีนาคม 2556
นายกิตติ นิลผาย แจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 5 คน ได้แก่ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ  นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  นายวุฒิ ลีลากุศลวงศ์  นายมงคล ลีลาธรรม  และนายพุทธิศักดิ์ นามเดช ฐานปล่อยให้รายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกอากาศ จากการแพร่ภาพรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 4 ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556
 
1 เมษายน 2556
 
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายการดังกล่าว โดยการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการที่มี พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวประกอบด้วย นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว นายวีระ อุไรรัตน์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะทำงานชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่ออกอากาศในบริบทของสังคมไทยทุกมิติ รวมทั้งพิจารณาเนื้อหาว่าขัดกฎหมายฉบับใดบ้าง
 
5 เมษายน 2556
 
มีการชุมนุมของชมรมคนรักในหลวงในหลายๆ จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิษณุโลก และสระบุรี จุดประสงค์ของการชุมนุมคือเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประณามรายการตอบโจทย์ฯ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีออกอากาศรายการที่มีการดีเบตระหว่างนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาของรายการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อคนรักในหลวงทั่วประเทศ ทำให้เกิดความเห็นต่างและแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกัน  รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  นอกจากนี้ที่จังหวัดชุมพร ชมรมคนรักในหลวงได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำทหาร เพื่อประณามสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย
 
6 เมษายน 2556
 
ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสงขลาจัดกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ โดยมีชมรมคนรักในหลวงทั้ง 16 อำเภอ และประชาชนสวมเสื้อสีชมพูเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีตัวแทนของชมรมฯ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การกระทำของไทยพีบีเอสมีวัตถุประสงค์เคลือบแฝงที่ต้องการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ชมรมคนรักในหลวงขอประณามการกระทำของไทยพีบีเอส พร้อมจะดำเนินการเอาผิดทั้งทางกฎหมายและทางสังคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
 

4 สิงหาคม 2557
 
กสท.มีมติปรับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีออกอากาศรายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเงิน 50,000 บาท เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องห้ามออกอากาศ ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ มาตรา 37 

ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์
 
10 มีนาคม 2559
มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ ในกรณีนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายฉบับ จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าด้วยการทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในองค์การของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 11 ก่อน
 
ทั้งนี้ คณะพนักงานฯ เห็นว่าในรายการตอนที่ 2, 4 และ 5 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันฯ ชัดเจน โดยอ้างตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ กสทช. ที่มีมติสั่งปรับไปแล้ว
 
ผู้ที่อาจถูกดำเนินคดีประกอบไปด้วยนิติบุคคล 2 ราย และบุคคลอีก 9 คน รวมถึงพิธีกร อดีตผู้บริหารสถานีและสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลด้วย
 
8 มกราคม 2561
 
หลังจากที่ไทยพีบีเอสยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติของ กสท. ที่สั่งให้ปรับเป็นเงิน 50,000 บาท โดยไทยพีบีเอสอธิบายในคำฟ้องว่า พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ เข้าร่วมลงมติโดยไม่เป็นกลาง และกสท. ไม่ได้ฟังความรอบด้าน เพราะฟังผู้ที่มาชี้แจงแต่จากฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้ฟังนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ที่เป็นกลาง
 
ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีนี้เห็นว่า พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งในฐานะประธานอนุกรรมการฯ และกรรมการ กสท. ทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาไว้ จึงต้องนำเอาพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาบังคับใช้ ซึ่งมีมาตรา 3 กำหนดว่า กรรมการผู้พิจารณาต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณี และไม่มีพฤติการณ์อื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้ไม่เป็นกลาง 
 
 
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พลโท พีระพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะทำงาน และในการประชุมลงมติของคณะอนุกรรมการซึ่ง พลโท พีระพงษ์ เป็นประธาน พลโท พีระพงษ์ ก็ยังเข้าลงมติฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่า รายการนี้ขัดต่อมาตรา 37 เมื่อพลโท พีระพงษ์ ยังเข้าประชุมในฐานะกรรมการ กสท. ก็ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิม ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่า จำเป็นเร่งด่วนไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ คำวินิจฉัยของ กสท. ที่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
 
ศาลปกครองพิพากษาให้ เพิกถอนคำสั่งของ กสท. และให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา