ประจวบ อินทปัตย์

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ประจวบ อินทปัตย์ และพวก

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2547

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์

สารบัญ

นายประจวบ อินทปัตย์ถูกกล่าวหาว่า แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ เพื่อหลอกลวงผู้อื่น ต่อมาถูกดำเนินคดีข้อหาตามป.อาญา ม.112 นายประจวบถูกตัดสินจำคุกในศาลชั้นต้นและสู้คดีมาถึงชั้นศาลฎีกา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายประจวบ อินทปัตย์ เป็นนักธุรกิจในจังหวัดกำแพงเพชร โดยทำธุรกิจด้านจัดสรรที่ดินในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ หย่าร้างกับภรรยา มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน ส่วนนายพัฒนา ดีประกอบ ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นคนขับรถให้นายประจวบ อินทปัตย์

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

 

 

โจทก์ฟ้องนายประจวบ อินทปัตย์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และนายพัฒนา ดีประกอบ ในฐานะจำเลยที่ 2
 
จำเลยทั้งสองถูกฟ้องจากมูลเหตุเดียวกันจำนวน 3 คดี ใน 2 ศาล ได้แก่คดีหมายเลขดำที่ 548/2547 และคดีหมายเลขดำที่ 877/2547 ที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ และคดีหมายเลขดำที่ 2036/2547 ที่ศาลแขวงนครสวรรค์
 
คดีหมายเลขดำที่ 548/2547 โจทก์ฟ้องนายประจวบ อินทปัตย์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และนายพัฒนา ดีประกอบ ในฐานะจำเลยที่ 2 ใจความว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกล่าววาจาอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อหน้า ร.ต.ท.วิเชียร มโนธรรม และด.ต.ประเชิญ คงอินทร์ เจ้าพนักงานผู้เข้าทำการตรวจค้นและตรวจสอบพฤติกรรมของจำเลยทั้งสอง โดยกล่าวว่าพวกของตนไม่ใช่คนกระจอกมาทำกับตนอย่างนี้จะได้เห็นดีกัน พวกตนถวายการรับใช้ในวัง ทำงานให้สมเด็จพระเทพฯ เคยซื้อที่ดินให้กับสมเด็จพระเทพฯ หาเงินให้กับสมเด็จพระเทพฯ เคยนั่งเสวยกับท่าน  และจากการตรวจสอบพบภายในรถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กข 6012 กำแพงเพชร ของจำเลยที่ 1 พบจดหมาย 1 ฉบับ มีข้อความว่า “กราบทูลฝ่าพระบาททรงทราบ กระหม่อม นายสุนทร อัฑฒพงศ์ และนายประจวบ อินทปัตย์ เป็นเจ้าของสวนป่าไม้สักทองหลายพันไร่ และมีโครงการที่จะซื้อต่อในเขตจังหวัดอื่นๆ อีกนับจำนวนหมื่นไร่ และมีใบอนุญาตการตัดฟันจากหน่วยงานของรัฐแล้ว และขณะนี้ไม้สักทองมีขนาดโตใช้ประโยชน์ได้แล้ว กระหม่อมทั้งสองขอพึ่งบารมีของฝ่าพระบาท ด้วยการขอให้ฝ่าพระบาททำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่จะต้องรับทราบ เมื่อเวลาทำการเคลื่อนย้ายไม้ที่ตัดแล้ว อีกทั้งเป็นการแนะนำตัวกระหม่อมทั้งสองว่าเป็นผู้ถวายงานฝ่าพระบาทด้วย” ตอนท้ายจดหมายลงลายมือชื่อ นายสุนทร อัฑฒพงศ์ และนายประจวบ อินทปัตย์ ซึ่งจากการตรวจสอบไปยังสำนักราชเลขาธิการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และมิได้มอบหมายให้กระทำกิจการใดๆ ตามที่กล่าวอ้างทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการทำลายพระเกียรติยศของพระองค์ ให้ต้องได้รับความมัวหมอง
 
คดีหมายเลขดำที่ 877/2547 โจทก์ฟ้องใจความว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หลังเกิดเหตุตามคดีแรก ภายหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยทั้งสองมาถึงสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครสวรรค์แล้ว ระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจกำลังตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้พูดกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อหน้านางอลีนา ประวิลวรรณ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า “จำเลยที่ 1 ทำงานรับใช้สมเด็จและลูกหลานสมเด็จ” ครั้นเมื่อนางอลีนาแสดงอาการสงสัยในคำพูดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็กล่าวต่อไปอีกว่า “ก็องค์ภาลูกฟ้าชายไง” ข้อความตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวแอบอ้างดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น การกระทำและคำพูดแอบอ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการใส่ความใส่ร้าย ในทางเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ผู้ได้รับทราบข้อความซึ่งไม่เป็นความจริง ตามที่จำเลยที่ 1 ใส่ความเข้าใจผิด คิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมหลอกลวงไม่สุจริต ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร 
 
เหตุเกิดที่ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งสองคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาศาลสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
 
คดีหมายเลขดำที่ 2036/2547 คดีที่ศาลแขวงนครสวรรค์ โจทก์ฟ้องว่าระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยทั้งสองได้กล่าวอ้างกับบุคคลทั่วไปว่า จำเลยที่หนึ่งชื่อนายคฑาเทพ วงษ์วรางกูล เป็นคนสนิทใกล้ชิดกับเจ้าในวัง ต้องการมาทำธุรกิจที่จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยทั้งสองทำทีไปติดต่อขอซื้อทรัพย์สินจากประชาชนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารอพาร์ทเมนท์แสงธรรมธร อาคารอื่นๆ และหอพักอีกหลายแห่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอ้างเพื่อให้เจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์และฐานะทางสังคมมั่นคงเป็นที่น่าเชื่อถือ สามารถซื้อทรัพย์สินได้ ร้อยตำรวจเอกวิเชียร มโนธรรม เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ สืบสวนพฤติกรรมของจำเลยทั้งสองเห็นว่าอาจเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงได้เชิญทั้งสองไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ ระหว่างนั้นจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกล่าวถ้อยคำต่อหน้าร้อยตำรวจเอกวิเชียรกับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นว่า พวกจำเลยถวายการรับใช้ในวัง ทำงานให้สมเด็จพระเทพฯ เคยซื้อที่ดินให้กับพระองค์ท่าน ทำแบบนี้พวกจำเลยจะต้องเข้าเฝ้า แล้วจะได้เห็นดีกัน และจำเลยทั้งสองได้พูดต่อหน้าร้อยตำรวจเอกวิเชียรอีกว่า คุณจะเอาผมไประวังนะ เมื่อพาจำเลยทั้งสองไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ จำเลยทั้งสองได้พูดกับร้อยตำรวจเอกวิเชียรว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ถวายการรับใช้สมเด็จพระเทพฯมานานแล้ว และหาเงินให้กับพระองค์ท่าน จากการตรวจสอบพบภายในรถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กข 6012 กำแพงเพชร ของจำเลยที่ 1 พบจดหมาย 1 ฉบับ มีข้อความว่า “กราบทูลฝ่าพระบาททรงทราบ กระหม่อม นายสุนทร อัฑฒพงศ์ และนายประจวบ อินทปัตย์ เป็นเจ้าของสวนป่าไม้สักทองหลายพันไร่ และมีโครงการที่จะซื้อต่อในเขตจังหวัดอื่นๆ อีกนับจำนวนหมื่นไร่ และมีใบอนุญาตการตัดฟันจากหน่วยงานของรัฐแล้ว และขณะนี้ไม้สักทองมีขนาดโตใช้ประโยชน์ได้แล้ว กระหม่อมทั้งสองขอพึ่งบารมีของฝ่าพระบาท ด้วยการขอให้ฝ่าพระบาททำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่จะต้องรับทราบ เมื่อเวลาทำการเคลื่อนย้ายไม้ที่ตัดแล้ว อีกทั้งเป็นการแนะนำตัวกระหม่อมทั้งสองว่าเป็นผู้ถวายงานฝ่าพระบาทด้วย” ตอนท้ายจดหมายลงลายมือชื่อ นายสุนทร อัฑฒพงศ์ และนายประจวบ อินทปัตย์ ซึ่งจากการตรวจสอบไปยังสำนักราชเลขาธิการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และมิได้มอบหมายให้กระทำกิจการใดๆ ตามที่กล่าวอ้างทั้งสิ้น การกระทำและคำพูดของจำเลยทั้งสองที่กล่าวอ้างต่อหน้าร้อยตำรวจเอกวิเชียรกับเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ผู้ได้ทราบข้อความซึ่งไม่เป็นความจริงเข้าใจผิดว่า ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้จำเลยทั้งสองซึ่งมีพฤติกรรมหลอกลวง ไม่สุจริต ทำงานรับใช้ใกล้ชิด และทรงใช้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนซื้อที่ดินให้กับสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระองค์ท่าน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 326 ริบจดหมายของกลาง
 

พฤติการณ์การจับกุม

 

ก่อนหน้าวันเกิดเหตุประมาณ 10 วัน นายประจวบได้ทราบจากนายพัฒนาว่า นางพรรณราย ทรัพย์ขำ และนางสุพัตรา แสงธรรมธร เจ้าของแฟลตและอพาร์ทเมนท์แสงธรรมธร จังหวัดนครสวรรค์ มีความประสงค์จะขายอาคารที่ดินแสงธรรมธรอพาร์ทเมนท์ จึงได้เริ่มมีการเจรจาซื้อขายกัน นางสุพัตราได้มอบสำเนาโฉนดที่ดินฉบับย่อให้กับนายประจวบ ต่อมานายประจวบได้ไปติดต่อกับธนาคารเพื่อทราบหลักการในการให้สินเชื่อ และแจ้งกับนางสุพัตราว่าธนาคารต้องการสำเนาโฉนดฉบับเท่าของจริง

โดยโจทก์นำสืบในชั้นศาลว่า ก่อนเกิดเหตุ นางสุพัตรา แสงธรรมธร แจ้งกับนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ว่ามีกลุ่มบุคคลซึ่งมีพฤติกรรมน่าจะเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน มาติดต่อขอซื้ออพาร์ทเมนต์ ในราคาหกสิบล้านบาท ขอให้ผู้ว่าฯ ช่วยตรวจสอบ ต่อมาผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้นายอำเภอติดต่อประสานงานกับพ.ต.อ.รังสรรค์ คชไกร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ เพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

จนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ระหว่างนายประจวบและนายพัฒนาได้เดินทางไปพบกับนางสุพัตรา แสงธรรมธร ที่แฟลตแสงธรรมธรของนางสุพัตรา โดยมีการเจรจาเรื่องเงินมัดจำในการทำสัญญาและขอสำเนาโฉนดที่ดินฉบับย่อคืน แต่ตกลงกันไม่ได้ ในระหว่างที่นายประจวบและนายพัฒนาเดินกลับไปขึ้นรถ มีชายในชุดลำลอง 3 คน แสดงตัวและบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย ร.ต.ท.วิเชียร มโนธรรม ด.ต.ประเชิญ คงอินทร์ และด.ต.อภิชัย ปานทรัพย์ ชี้แจงว่าได้รับแจ้งว่าทั้งคู่มีพฤติกรรมน่าสงสัย จึงขอทำการตรวจค้นรถยนต์กระบะ เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงได้พาทั้งสองมาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ โดยร.ต.ท.วิเชียรนั่งมาในรถของจำเลยด้วย ส่วนตำรวจอีกสองนายขับรถยนต์กระบะของทางราชการตามมา

เมื่อถึงสถานีตำรวจได้มีการตรวจสอบและค้นรถยนต์ของนายประจวบ พบจดหมาย 1 ฉบับ โดยปรากฏว่าที่สถานีตำรวจมีนักข่าวมารอทำข่าว และมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคนอยู่ด้วย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์, อัยการจังหวัดนครสวรรค์ นายประจวบและนายพัฒนาถูกสอบสวนขณะยังไม่มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด ระหว่างการสอบสวนนายประจวบได้ติดต่อไปยังหม่อมเจ้าจันทร์จรัสศรี ยุคล ซึ่งรู้จักกันมาก่อน และยื่นโทรศัพท์ให้คุยกับพ.ต.อ.รังสรรค์ คชไกร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ เพื่อขอความเป็นธรรม

คำให้การระหว่างฝ่ายโจทก์และจำเลยถึงบทสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและจำเลยมีความแตกต่างกัน โดยฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้กล่าวอ้างกับเจ้าหน้าที่ว่าทำงานรับใช้ในวัง ส่วนจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่เคยกล่าวอ้างเบื้องสูงแต่อย่างใด

จนเวลา 21.00 น. ร.ต.ท.วิเชียร และตำรวจชั้นประทวนอีก 2 นาย ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ จึงถูกนำตัวไปห้องขังในสภ.อ.เมืองนครสวรรค์ และถูกคุมขังอยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

548/2547, 877/2547

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

 

โปรดิวเซอร์แอ๊ด (เรียบเรียง) (2554) เปิดแฟ้มปมปริศนาคดีประวัติศาสตร์เอกสารปริศนา. ปราจีนบุรี: จัดพิมพ์โดย ประจวบ อินทปัตย์ 

โปรดิวเซอร์แอ๊ด (เรียบเรียง) (2555) เปิดแฟ้มปมปริศนาคดีประวัติศาสตร์เอกสารปริศนา เล่ม 2. ปราจีนบุรี: จัดพิมพ์โดย ประจวบ อินทปัตย์  

 

19 กุมภาพันธ์ 2547

นายประจวบ และนายพัฒนา ถูกจับกุมตัว และถูกคุมขังรอการประกันตัว

 

12 มีนาคม 2547

นายประจวบและนายประกอบได้รับการประกันตัวในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 5 แสนบาท โดยก่อนหน้านี้ญาตินายประจวบได้ยื่นหลักทรัพย์ 6 ล้านบาท ขอประกันตัวต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

 

27 เมษายน 2547

...จิตรเลขา หัสดินทร์ ซึ่งจำเลยติดต่อขอความช่วยเหลือ ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ ป... ขอให้สอบสวนลงโทษ นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กับพวก ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามพระบรมเดชานุภาพ รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ กลั่นแกล้ง จับกุม ยัดเยียดข้อหา กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่น โดยไม่มีความผิด

นอกจากนั้นนายประจวบยังได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงพ...อดุล บุญเศรษฐ์ ประธานอนุกรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของวุฒิสภา 

ก่อนหน้านั้นม...จิตรเลขาได้เป็นโจทก์ร่วมกับนายประจวบ ยื่นฟ้องนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ กับพวกจำนวน 12 คน ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ ตามคดีหมายเลขดำที่ 538/2547 แต่ภายหลังมีการถอนฟ้องในคดีนี้

ทางฝ่ายนายพีรพลกับพวกก็ยื่นฟ้องนายประจวบกับนายพัฒนาเพิ่มในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รวมทั้งได้ทำหนังสือรายงานเกี่ยวกับคดีถึงสำนักงานเลขาธิการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพฯ

 

27 พฤษภาคม 2547

สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องพระราชทานมอบอำนาจให้ดำเนินคดี โดยระบุว่าจากรายงานของจังหวัดนครสวรรค์ สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานมอบอำนาจให้นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการคณะองคมนตรี เป็นผู้มีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หนังสือลงนามหนังสือโดยนายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ

 

21 กรกฎาคม 2547

อัยการโจทก์สั่งฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 877/2547 ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ส่วนข้อหาฉ้อโกงประชาชนสั่งไม่ฟ้อง

 

25 สิงหาคม 2547

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ในคดีดำที่ 547/2547 เนื่องจากโจทก์ทราบในภายหลังว่าสมเด็จพระเทพฯ มิได้ทรงสถานภาพเป็นองค์รัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่ใช่บุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จำเลยที่ 1 คัดค้านการขอถอนฟ้องคดีเดิมของอัยการ  เนื่องจากต้องการพิสูจน์ว่ามิได้เป็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้คัดค้าน คำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันตกไป

ในส่วนการสืบพยานในศาล พยานฝ่ายโจทก์ มีทั้งร...วิเชียร มโนธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมตัวจำเลย, ...รังสรรค์ คชไกร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์, นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์, นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการคณะองคมนตรี, นางอลีนา ประวิลวรรณ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นางสุพัตรา แสงธรรมธร เจ้าของอพาร์ทเมนท์แสงธรรมธร เป็นต้น ส่วนพยานฝ่ายจำเลย มีเพียงจำเลยที่ 1 เพียงปากเดียว

 

9 กันยายน 2547

อัยการศาลแขวงยื่นฟ้องนายประจวบ ต่อศาลแขวงจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2036/2547 ที่ศาลแขวงนครสวรรค์ในข้อหาหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 โดยระบุผู้กล่าวหาคือนายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการคณะองคมนตรี ร

 

29 ธันวาคม 2547

ศาลจังหวัดนครสวรรค์ พิพากษาคดีทั้งสองสำนวนรวมกัน ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทง จำคุก 10 ปี

ศาลวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 877/2547 ไม่เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 548/2547 โดยตามฟ้องหลังบรรยายว่าจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สมเด็จพระเทพฯ ในขณะที่จำเลยที่ 1 อยู่ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 1 โดย ร...วิเชียร เป็นผู้ได้ยินและรับฟัง ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างเดินทางจากแฟลตแสงธรรมธรมายังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ส่วนคดีแรกเป็นเวลาที่เดินทางมาถึงสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์แล้ว และจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยนางอลีนา ประวิลวรรณ์ และร...วิเชียร ได้ยินพร้อมกัน จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละคราวกัน ต่างเวลา ต่างสถานที่ นอกจากนี้บุคคลที่สามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างถึงก็ต่างพระองค์กัน ศาลให้รวมทั้งสองสำนวนรวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน

ศาลวินิจฉัยต่อว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่ปวงชนชาวไทยรู้ซึ้งด้วยจิตสำนึกว่าหาอาจมีบุคคลใดจะล่วงละเมิดได้ไม่ และถือเป็นศูนย์กลางแห่งชาติที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ พระบรมราโชวาทของแต่ละพระองค์ ซึ่งล้วนแต่ปราศจากผลประโยชน์ใดๆ ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความเป็นสถาบันนั้น นอกจากหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีแล้ว ยังหมายรวมถึงทุก ๆ พระองค์ที่เป็นรัชทายาท ไม่ว่าจะเป็นพระราชโอรส หรือพระราชธิดา และพระบรมวงศ์ ซึ่งอาจสืบราชสันตติวงศ์ได้ความเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ ทำให้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจใด ๆ ตามนิติธรรม ประเพณีอันมีสภาพบังคับเช่นเดียวกับกฎหมาย สอดคล้องกับสุภาษิตที่ว่า เจตจำนงพระราชานั้นประกอบด้วยพลังอำนาจแห่งกฎหมายโดยหาอาจจะลบล้าง หรือยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัว ด้วยบทบัญญัติกฎหมายธรรมดาได้ไม่

ศาลวินิจฉัยว่าคำว่า "รัชทายาท" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2542 หมายถึง ผู้จะสืบราชสมบัติ มิได้ระบุกล่าวถึงคำว่า "สิทธิ" (RIGHT) แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อประมวลประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อตีความแล้วย่อมต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกับคำว่า “พระมหากษัตริย์” และ “พระราชินี” ที่บัญญัติไว้ก่อนหน้าคำว่า “รัชทายาท” นั้นดังนี้ คำว่า "รัชทายาท" แห่งบทบัญญัติมาตรา 112 จึงหมายความถึง "พระราชโอรส" หรือ "พระราชธิดา" ทุกพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หาใช่เพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีพระองค์ท่านทรงอยู่ในความหมายของคำว่า "รัชทายาท" แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ทั้งนี้มิได้มีประเด็นก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด และเห็นว่าการแปลกฎหมายที่มีการกระทำความผิดต่อสมเด็จพระเทพฯ โดยนำมาตรา 326 มาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิอาจกระทำได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างยิ่ง การตีความดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายโดยคำนึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์หรือหลักการทางกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง

ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าได้ความชัดจากพยานโจทก์เกือบทุกปาก และโดยเฉพาะพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับนางอลีนา ประวิลวรรณ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้ความจากพยานโจทก์ว่าตั้งแต่แรกพบจำเลยที่ 1 หรือตลอดเวลาที่ควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 พูดกล่าวอ้างทำนองว่าเป็นผู้ใกล้ชิดทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพฯ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมกับแสดงการกระทำบางอย่างให้น่าเชื่อถือ เช่น พูดจาสอดรับกับจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่อยู่ในรถยนต์ตลอดจนให้ดูเอกสารที่มีข้อความเป็นราชาศัพท์ หรือทำทีโทรศัพท์ติดต่อกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนั้น ย่อมทำให้ประโยชน์เบื้องหน้าตกได้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายอาคารต่ำกว่าเกณฑ์ท้องตลาด หรือได้รับความเกรงอกเกรงใจจากเจ้าพนักงานตำรวจและปล่อยตัวไป โดยหาใช่กรณีทั้งนางสุพัตราและเจ้าพนักงานตำรวจเกิดความรู้สึกสำนึกซาบซึ้งต่อการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทไม่ หากแต่จำต้องอยู่ในความหวาดระแวงของความแท้จริงแห่งพระราชดำริหรือพระราชประสงค์นั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยสุจริตและเป็นการเทิดพระเกียรติ ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 กล่าวหรือแอบอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นคำกล่าวอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แห่งตน ไม่ว่าจะเป็นเชิงทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศโดยตรง และเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้พยานโจทก์เชื่อ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีมูลความจริงอันเป็นการเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในความเสื่อมเสียของพระเกียรติยศนั้น โดยซ้อนอยู่กับการกระทำที่จำเลยที่ 1 แสดงออกด้วยการแอบอ้างอันบ่งชี้ถึงความไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระองค์จากจิตใจที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใส่ความโดยปริยาย

การกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในเชิงทรัพย์สินหรือไม่ โดยปราศจากอำนาจหน้าที่ในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชดำริ หรือพระราชประสงค์นี้ ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในความเป็นสถาบันหรือพระเกียรติยศของพระองค์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังศาลพิพากษา จำเลยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางนครสวรรค์ โดยไม่ได้รับการประกันตัว

 

27 เมษายน 2548

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นของจำเลย

 

13 กันยายน 2548

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษายืนตามศาลแขวงนครสวรรค์ ที่วินิจฉัยว่าคดีที่ฟ้องยังศาลแขวงเป็นฟ้องซ้อนกันกับคดีศาลจังหวัดนครสวรรค์ คดีหมายเลขดำที่ 548/2547 จึงให้จำหน่ายคดี

ก่อนหน้านี้ในคดีหมายเลขดำที่ 2036/2547 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ 548/2547 ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลแขวางนครสวรรค์มีคำสั่งว่า คำฟ้องของอัยการในคดีหมายเลขดำนที่ 2036/2547 กับคดีหมายเลขดำที่ 548/2547 เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 15 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต่อไป (เพราะส่วนของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 548/2547 นั้นอัยการถอนฟ้องไปก่อนแล้ว) และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ลงโทษจำคุก 1 ปี ริบจดหมายของกลาง

อัยการโจทก์ศาลแขวงไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยศาลแขวงต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6

 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าคดีทั้งสองนี้เกิดจากมูลกรณีเดียวกัน จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯ เช่นเดียวกัน ในวันเวลา สถานที่เกิดเหตุและต่อบุคคลที่สามเดียวกัน แม้จะบรรยายในฟ้องไม่ตรงกันทุกตอน และข้อหาบทกฎหมายกับองค์ประกอบของความผิดที่ขอให้ลงโทษจะแตกต่างกัน ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำในกรรมอันเดียวกัน มิใช่ถือเอาคำบรรยายฟ้องหรือข้อหาที่โจทก์ตั้งเองแก่จำเลยที่ 1 เป็นเกณฑ์ มิฉะนั้นแล้วผู้กระทำความผิดเพียงครั้งเดียว โจทก์จะมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้คนนั้นได้หลายครั้งโดยไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้เพียงบรรยายฟ้องให้แตกต่างไป  ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก

 

2 กุมภาพันธ์ 2549

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 913-914/2548 หรือ ในคดีหมายเลขแดงที่ 144-145/2549 (เลขคดีในชั้นศาลอุทธรณ์) ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1628/2547 (หรือคดีหมายเลขดำที่ 548/2547) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (เหลือจำคุก 5 ปี)

ศาลพิเคราะห์ว่าเนื่องจากโจทก์เป็นพนักงานอัยการของรัฐได้ทำการตรวจสอบสถานะของสมเด็จพระเทพฯ แล้ว เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยอำนาจฟ้อง การถอนหรือแต่งตั้งองค์รัชทายาทเป็นไปตามกฎมณเทียรบาล อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อันเป็นกฎหมายเฉพาะเมื่อสมเด็จพระเทพฯ มิใช่องค์รัชทายาท จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ก็ได้ยื่นคำร้อง ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ว่าเนื่องจากโจทก์ทราบภายหลังว่าสมเด็จพระเทพฯ มิได้ทรงสถานภาพเป็นองค์รัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นสมเด็จพระเทพฯ จึงมิใช่บุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาเฉพาะที่โจทก์ฟ้องเป็นสำนวนแรก….จึงต้องถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ฟ้องสำนวนแรกนั้นไม่ครบองค์ประกอบความผิด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังขึ้น

ศาลวินิจฉัยประการต่อไปว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องสำนวนหลังหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าพยานโจทก์ล้วนแต่เบิกความขัดแย้งกันเองในสาระสำคัญ และยังขัดแย้งกับเอกสารคำให้การชั้นพนักงานสอบสวน จึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้ศาลรับฟัง ตลอดจนถึงว่าจำเลยที่ 1 ถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมนั้นเห็นว่าพยานทุกคนต่างยืนยันเป็นการให้ความเห็นว่าจำเลยที่ 1 อ้างเบื้องสูงทำนองเดียวกับพยานโจทก์ ซึ่งได้ยินได้ฟัง จำเลยที่ 1 กล่าวเห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายสื่อมวลชน และเป็นประชาชนที่สุจริตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ประกอบทั้งข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวตามฟ้องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปวงชนชาวไทยเคารพสักการะถือว่าสำคัญสูงสุด หากไม่ได้ยินจำเลยที่ 1 พูดจริงก็คงไม่มีพยานผู้ใดกล้าจาบจ้วงยกขึ้นมากล่าวเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 ถึงเพียงนั้นได้ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามฟ้องดังกล่าวจริงและเป็นข้อความสอดคล้องกันกับพยานทุกปาก

ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวนั้น จำเลยที่ 1 เจตนาหมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยกล่าวใส่ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด เพื่อทำให้เจ้าพนักงานตำรวจไม่กล้าดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1…ถ้อยคำเช่นนี้พยานเห็นว่าหรือประชาชนทั่วไปเมื่อได้ยินแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งพยานโจทก์ทุกปาก ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ แสดงว่าประชาชนทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยที่ 1 เจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท พยานที่จำเลยที่ 1 นำสืบไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง หักล้างพยานโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องสำนวนหลังนี้ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ส่วนที่ฟังไม่ขึ้น

 

2 มิถุนายน 2549

จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่อศาลฎีกา

 

25 ธันวาคม 2550

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแห่งคดี รวม 11 ประเด็น เช่น เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาโดยไม่มีหมายจับของศาลและได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐาน, ปัญหาการไม่ได้รับการประตัว

โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายก่อนแล้ว แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยในคำพิพากษาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการประกันตัว ศาลเห็นว่าแม้เหตุผลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวในแต่ละครั้งจะต่างกัน ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

12 กุมภาพันธ์ 2551

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาแห่งคดีเพิ่มเติม อีก 3 ประเด็น แต่ในภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำร้องของนายประจวบเป็นการขอความเห็นศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการร้องว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง

 

24 เมษายน 2552

ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

ศาลเห็นว่าปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต่อพระราชินีหรือรัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาหรือไม่พยานโจทก์ที่นำสืบไม่มีผู้ใดมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน พยานบางคนเป็นข้าราชการต่างเบิกความสอดคล้องกันโดยไม่มีข้อพิรุธ หรือน่าระแวงสงสัยว่าต้องการใส่ร้ายหรือกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ให้ได้รับโทษในความผิดที่ไม่พึงกระทำเช่นนี้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระราชินี และรัชทายาทตามที่โจทก์ฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามิได้กระทำผิดก็ดี พยานโจทก์ไม่มั่นคงและขัดแย้งกันเอง จึงไม่พอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที 1 ได้ก็ดี เห็นว่าพยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้

ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่าการจับกุมจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 โดยใม่มีหมายจับและหมายค้น รวมทั้งไม่มีการร้องทุกข์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่าการจับกุมจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นการจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) และคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว จึงไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบข้อกล่าวหาในคดีนั้นเห็นว่าพยานโจทก์ที่นำสืบปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ในการดำเนินคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์และความประพฤติของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้กระทำผิดทางอาญามาก่อน และตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 1 เสียใหม่ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

 

2 กรกฎาคม 2552

ศาลชั้นต้นจังหวัดนครสวรรค์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา รวมแล้วจำเลยถูกจองจำในเรือนจำเป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน 22 วัน ถูกจำคุกเกินกว่าคำพิพากษาศาลฎีกา 7 เดือน 22 วัน จำเลยจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

 

24 ธันวาคม 2552

นายประจวบ อินทปัตย์ ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ แห่งองค์การสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอให้สื่อต่างๆ ทั่วโลกช่วยการเผยแพร่ข่าวเรื่องคดีของตน และให้องค์กรต่างๆ จากทั่วโลกเข้ามาช่วยดูแล

 

22 เมษายน 2553

นายประจวบ อินทปัตย์ได้ยื่นฟ้องนายพีรพล ไตรทศาวิทย์, ร้อยตำรวจโทวิเชียร มโนธรรม, พันตำรวจตรีดาวเรือง ภูมิจะ, นายบุญยัง จุมพล และนายอนุกูล สวนสุข ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อความสงบสุขของประชาชน ความผิดต่อเสรีภาพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 809/2553

 

22 กรกฎาคม 2553

นายประจวบ อินทปัตย์ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมร้องเรียนขอความเป็นธรรม และให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีการกลั่นแกล้งดำเนินคดีกับตน

 

30 พฤศจิกายน 2553

กองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มีหนังสืออนุมัติเงินกองทุนสนับสนุนเงินค่าจ้างทนายความเพื่อว่าความแก่นายประจวบ อินทปัตย์ จึงได้ให้ว่าที่ร..ภพพรหม ริปูสะท้าน ทนายความกองทุนยุติธรรม เป็นทนายความ ในการฟ้องกลับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่ต่อมาถอนฟ้องในคดีแพ่งเพื่อรอฟังผลคดีอาญาก่อน

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา