ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

อัปเดตล่าสุด: 20/11/2561

ผู้ต้องหา

ภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary)

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

คณะะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ คณะที่ 2 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นคณะกรรมการตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีอำนาจพิจารณาและวินิฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาภายนตร์และวีดิทัศน์ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 เป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีอำนาจตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์

สารบัญ

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหาร ถูกคณะอนุกรรมการภาพยนตร์ฯ สั่งห้ามฉาย เพราะเหตุขัดต่อความมั่นคงของรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วันรุ่งขึ้นคณะกรรมการฯ กลับคำสั่งอนุญาตให้ฉายได้ในเรต 18+

ภูมิหลังผู้ต้องหา

 

ภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หรือ Boundary เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหาร ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ถ่ายทอดผ่านภาพของการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ และความสูญเสียของมวลชนดังกล่าว

ในอีกส่วนของภาพยนตร์มีการนำเสนอวิถิชีวิตประชาชนในหมู่บ้านภูมิซรอล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการปะทะกันของทหารไทย-กัมพูชา อันเนื่องมาจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร สะท้อนมุมมองและทัศนคติของประชาชนในพื้นที่ "คนกัมพูชามองไทยอย่างไร" หรือ "คนชายแดนมองคนในเมืองอย่างไร"

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง กำกับการแสดงโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งเริ่มต้นทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2554 โดยได้แรงบันดาลใจจากการพูดคุยกับทหารหนุ่มที่เพิ่งปลดประจำการและกำลังจะเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณติดชายแดนไทยกัมพูชา นนทวัฒน์ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อเข้าไปถ่ายทำหนังในกัมพูชา เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของคนไทยและคนกัมพูชาที่อยู่คนละฝั่งกันบนพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้

ก่อนได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เคยได้ทุนสนุบสนุนจากองค์กรศิลปะระหว่างประเทศ หรือ Art Network Asia ทุนจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ปูชาน และได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 63 ซึ่งเป็นการฉาย “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ออกสู่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรก

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 26 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง โดยให้เหตุผลว่า มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ และมีเนื้อหาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง / ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย , แฟนเพจ Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในเว็บไซต์เฟซบุค, 23 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 24 เมษายน 2556)

เปิดคำพิจารณา หนัง 'ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง' ห้ามฉายในราชอาณาจักร, เว็บไซต์ประชาไท, 24 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 25 เมษายน 2556)

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง / มติใหม่ให้ภาพยนตร์เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป, แฟนเพจ Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในเว็บไซต์เฟซบุค, 25 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 25 เมษายน 2556)

'ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง' ยอมให้ฉายแล้ว เรต18+, เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์, 26 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 29 เมษายน 2556)

www.facebook.com/boundarymovie

 

17 เมษายน 2556

อนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในราชอาณาจักรไทย โดยอ้างเนื้อหาของภาพยนตร์โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผลการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาสาระโดยรวม…เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนใช้เป็นสถานที่จัดงานฉลองปีใหม่ รวมไปถึงการชุมนุมของมวลชนและความสูญเสีย จนกระทั่งนำเสนอภาพวิถีชีวิตของคนในต่างจังหวัดและชีวิตของคนชายแดนทั้งหมู่บ้านภูมิซรอล ติดกับเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณปราสาทตาควาย ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์

เนื้อหาสาระและข้อสังเกตของภาพยนตร์ มีรายละเอียดดังนี้

1. บทบรรยายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง ดังเช่น ในนาที 0.29 "งานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา" เมื่อนำเหตุการณ์มาเชื่อมโยงกับสถาบันฯ แล้วให้ชื่อว่า "ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง" อาจทำให้ผู้ดูแปลความหมายไปในทางที่คลาดเคลื่อน เพราะรายละเอียดของภาพยนตร์ไม่ได้สอดรับกับชื่อ หรือผู้สร้างคิดและต้องการสื่ออะไร? เหตุการณ์ที่นำมาเผยแพร่อ้างว่าเป็น สารคดี แต่เป็นการสรุปความเห็นโดยผู้จัดทำ ซึ่งบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นเอกสารอื่นใดมาประกอบการอ้างอิงให้ชัดเจนและเหตุการณ์เหล่านั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่? เช่น นาที 1.48 พื้นที่นี้ "เคยมีการปิดล้อมสังหารหมู่ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด" นาที 1.58 "มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน" นาที 2.04 "ชาวกรุงเทพและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยหลายคนสนับสนุน และรู้สึกสะใจกับการปราบปรามการชุมนุมในครั้งนี้” นาที 2.09 รัฐบาลไทยในสมัยนั้นอ้างว่าเป็นการกระทำของมือที่ 3 เพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายรัฐบาล” นาที 2.17 “กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและผู้สนับสนุนเชื่อว่เป็นการกระทำของรัฐบาลและทหาร” นาที 2.29 “ชาวกรุงเทพฯและผู้ไม่สนับสนุนหลายคนกล่าวชื่นชมรัฐบาลและทหาร”นาที 2.44 “ชาวต่างจังหวัดถูกปรามาสว่าโง่ เห็นแก่เงิน” นาที 45.00 “รัฐบาลไทยและกัมพูชา จดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก” ฯลฯ การบรรยายด้วยตัวอักษรในภาพยนตร์ ที่ให้ข้อสังเกต ในบางช่วงขัดแย้งกับภาพ เพราะในภาพเป็นวิวในชนบท

2. เนื้อหามีความหมายในลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างคนในชาติ ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรวง ข้อ 7(3)

3. เนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ในกรณีที่มีการนำภาพทหารชายแดนยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม และการนำภาพลักษณะที่ตั้งของหลุมหลบภัย และการพูดถึงทหารเขมร ทำการย้ายหลักเขตแดน เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรวง ข้อ 7 (4)

คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาและภาพของภาพยนตร์ดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ และไม่ควรอนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงเรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ7 (3) และ 7 (4)

 

23 เมษายน 2556

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง รายงานผลการพิจารณาในกรณีที่บริษัท โมบิล แลบ โปรเจค จำกัด  ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หรือ Boundary ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยขออนุญาตให้จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ผ่านเฟซบุคเพจ "Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ มีมติไม่อนุญาตให้เผยแพร่ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ในไทย เพราะเนื้อหาขัดความมั่นคง และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ การนำเสนอข้อมูลบางอย่างยังอยู่ในการพิจารณาของศาล ด้านผู้กำกับจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป และแม้ภาพยนตร์จะไม่ได้ฉายก็จะเดินหน้าถ่ายทอดสิ่งที่ได้พบเห็น

 

25 เมษายน 2556

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง แจ้งข่าวผ่านเฟซบุคเพจ "Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ว่า สำนักงานพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ติดต่อมาว่า กรรมการชุดใหญ่มีมติให้เผยแพร่ภาพยนตร์ดังกล่าวได้ โดยจัดประเภทเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เรท น 18+) และมีคำร้องขอให้ดูดเสียงความยาว 2 วินาทีในฉากงานเฉลิมฉลองที่แยกราชประสงค์ออก ซึ่งเป็นตอนที่มีพิธีกรกล่าวบนเวทีว่า "เรามาร่วมเคาท์ดาวน์และร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา" ทั้งนี้ทีมยินดีจะดูดเสียงในช่วงดังกล่าวออก เพราะเห็นว่าเสียงในช่วงนั้นเป็นเสียงบรรยากาศที่ไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญของเนื้อหาภายในภาพยนตร์

 

26 เมษายน 2556

นายสมบัติ ภู่กาญจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติออกมาว่าให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในเรต 18+ ตามที่ผู้สร้างเสนอ แต่ให้ดูดเสียงบรรยากาศในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเสียงการประท้วงต่อต้านการชุมนุมประกอบกับมีเสียงอ้างอิงถึงสถาบันฯ ออกไป โดยผู้สร้างก็ยินดีจะดำเนินการตามทั้งหมดจึงอนุญาตให้ฉายได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์

นายสมบัติได้กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวถูกสั่งห้ามฉายว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะผู้สร้างภาพยนตร์ได้ส่งภาพยนตร์มาในรูปแบบหนังแผ่นไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาหลายชุด และเมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วก็จะต้องส่งมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชุดใหญ่พิจารณาตัดสินอีกครั้ง แต่ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่เขียนมติการประชุมของคณะกรรมการภาพยนตร์ว่า ให้ยืนตามคณะอนุกรรมการฯ ที่พิจารณาในช่วงแรกมาก่อน ทั้งที่คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ยังไม่ได้พิจารณาหนังเรื่องดังกล่าว ทำให้ผู้สร้างเกิดความเข้าใจผิดถึงผลพิจารณา

ภายหลังจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกมติใหม่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ก็ถูกเชิญไปฉายตามที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เป็นต้น


24 มิถุนายน 2556 

ภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมคับคั่ง
 

28 มิถุนายน 2556

หลังจากกำหนดรอบฉายภาพยนตร์เรื่อง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" เรียบร้อยและดำเนินการประชาสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีกำหนดฉายที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เชียงใหม่, อีจีวี เทสโก้ โลตัส ขอนแก่น, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อุดรธานี ที่ละ 7 วัน และกลับมาฉายต่อที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ที่กรุงเทพฯอีกไม่มีกำหนดว่ากี่รอบและกี่วัน

ทางเพจเฟซบุ๊คของภาพยนตร์เรื่อง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" แจ้งว่า  

"เนื่องจาก #ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง นั้นกระเด็นออกจากระบบการขายตั๋วปกติแบบวินาทีสุดท้าย ด้วยเกรงว่าจะสร้างผลกระเทือนทางสังคม ผู้สร้างจึงต้องเช่าโรงภาพยนตร์และขายตั๋วเอง 
 
ทำให้รอบฉายที่วางไว้เดิมจังหวัดล่ะ 7 วัน ลดลงและเปลี่ยนไป เนื่องจากผู้สร้างไม่สามารถบริหารจัดการหาทีมงานมาขายตั๋วได้ทัน และไม่สามารถไปนั่งขายเองได้ 7 วัน ในทุกจังหวัด จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัย มาณ.ทีี่นี้ ด้วยครับ"

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้ฉายจริงตามกำหนดการใหม่ คือ
27 – 30 มิ.ย. 2556 ที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เซนทรัลแอร์พอร์ท เชียงใหม่
6 – 7 ก.ค. 2556 ที่ อีจีวี เทสโก้ โลตัส ขอนแก่น
13 – 14 ก.ค. 2556 ที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อุดรธานี
18 – 21 ก.ค. เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา กรุงเทพฯ
กำหนดฉายวันละ 1 รอบ คือ เวลา 19.00 น.

โดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้สร้างภาพยนตร์ และทีมงานเป็นคนเช่าโรงภาพยนตร์ และตั้งโต๊ะขายตั๋วเอง เปิดขายตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ ในราคา 150 บาทก่อนหนังฉายจริง 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า สาเหตุที่ภาพยนตร์เรื่อง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ถูกโรงภาพยนตร์ยกเลิกรอบฉายในเวลากระชั้นชิดเนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันมีภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง และมีปัญหาในประเด็นเรื่องการถูกเซ็นเซอร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในเวลาไล่เลี่ยกัน 2 เรื่อง คือ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" กับ "ประชาธิปไทย" การที่มีภาพยนตร์ลักษณะดังกล่าวพร้อมกัน 2 เรื่องในตารางรอบฉายทำให้โรงภาพยนตร์ถูกจับตามองและได้รับแรงกดดัน จึงตัดสินใจฉายแค่เรื่องเดียว คือ เรื่อง "ประชาธิปไทย" ซึ่งผู้สร้างมีชื่อเสียงกว่า และอาจมียอดจำหน่ายตั๋วมากกว่า

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา